ชาติพันธ์มาลายู ความเป็นมา วิถี ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี

บรรยายเรื่องชาติพันธ์มลายู
จากเอกสารการบรรยายของ มะสุกี กือเต๊ะ ปธ.ชมรมมาลายูล้านนา
1.ประวัติโดยย่อ
มลายู เป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแหลมมลายูและหมู่เกาะมลายู  ในประเทศไทยมีชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา คนกลุ่มนี้มีวิถีการดำรงชีพที่หลากหลาย ชาวมลายูที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมักจะทำอาชีพประมงชายฝั่ง และบางส่วนไปรับจ้างในเรือประมงพาณิชย์  ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพารา และผลไม้ท้องถิ่น เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และอื่นๆ ในส่วนของวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชาวมลายูจะมีการประกอบพิธีตะละบาลา  เพื่อขจัดปัดเป่าเหตุร้ายต่างๆจากตนเอง ครอบครัว และชุมชน
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มลายู
ชื่อเรียกตนเอง : มลายู, ออแฆนายู, มลายูมุสลิม, ไทยมุสลิม
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : มุสลิม, อิสลาม, แขก
 
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มลายู/ยาวี
ภาษาพูด : มลายู
ภาษาเขียน : ยาวี, รูมี
 
ศาสนา โดยทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสามจังหวัดนับถือศาสนาอิสลาม และประกอบศาสนกิจตามหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด ชาวมุสลิมในพื้นที่ดำเนินชีวิตโดยมีหลักศาสนาเป็นข้อยึดเหนี่ยว และยังต้องการถ่ายทอดความรู้และข้อปฏิบัติเหล่านั้นแก่คนรุ่นถัดไปอีกด้วย
มลายู หมายถึง ผู้คนในดินแดนมลายู ผู้คนในดินแดนนี้จึงเรียกตัวเองว่ามลายู หรือ ออแฆนายู นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังเรียกตัวเองว่า มลายูมุสลิม และไทยมุสลิมตามโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆขณะที่คนนอกวัฒนธรรมมักเรียกพวกเขาแบบเหมารวมว่า อิสลาม มุสลิม หรือแขกซึ่งเป็นการเรียกที่มีความคลาดเคลื่อนและไม่ได้ หมายถึง คนมลายูมุสลิม
กลุ่มชาติพันธุ์มลายูจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู ภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันชาวมลายูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
 
จากประวัติศาสตร์นักโบราณพบหลักฐานว่า ชาวมลายูอาศัยอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง เป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำปัตตานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแหล่งชุมชนโบราณทางภาคใต้ คาดว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13
กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงย้ายศูนย์กลางของเมืองไปที่ชายฝั่งทะเล
ต่อมาใน ช่วงศตวรรษที่ 19-23 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอาณาจักรปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างทางทะเลและทางบกที่รุ่งเรือง ระหว่างนี้ได้เกิดความขัดแย้งและสงครามระหว่างเมืองปาตานีกับสยาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2330-2334 สยามได้เข้าปกครองปาตานี แต่ทว่า ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของปาตานีกับข้าราชการสยามในเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
กระทั่ง ปี 2359 สยามยกเลิกระบบการปกครองระบบสุลต่านหรือราชามาเป็นการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ
1.เมืองปัตตานี 2.เมืองยิริง (ยะหริ่ง) 3.เมืองสายบุรี 4.เมืองหนองจิก 5.เมืองรามัน 6.เมืองระแงะ 7.เมืองยะลา แต่ละหัวเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าเมืองที่มีอำนาจในการปกครองกันเองอย่างเป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองสงขลา กระทั่งเมื่ออำนาจของราชาหรือสุลต่านปาตานีและเจ้าเมืองยุติลง คนมลายูในพื้นที่ต่อสู้กับอำนาจสยามอย่างต่อเนื่อง การต่อจึงสู้ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน (PULO) จนกระทั่งปัจจุบัน
 
ภายหลังจากการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ
      สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน รัฐบาลได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาเป็นการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มณฑลปัตตานีเดิมมี 4 จังหวัด จัดแบ่งเหลือเพียง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อัตลักษณ์ความเป็นมลายูมีความชัดเจนในด้านการผสมผสานระหว่างจารีตดั้งเดิมกับศาสนาอิสลาม เนื่องจากผู้คนในคาบสมุทรมลายูนั้นประกอบด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ความเป็นมลายู จึงสะท้อนผ่านรูปแบบบ้านเรือน สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกิดจากการผสมผสานของแนวคิดพราหมณ์-ฮินดูและแนวคิดอิสลามาภิวัตน์ที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นอิสลามบริสุทธิ์ เป็นมุสลิมเดียวทั่วโลก ส่งผลให้พิธีกรรมท้องถิ่นหลายประการได้ถูกเลิกปฏิบัติ
 
ในที่นี้จึงจะนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ได้เรียบเรียงจากเอกสารต่างๆ ตามช่วงเวลา แบ่งออกเป็น ยุค ดังต่อไปนี้
ยุคแรก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักโบราณคดีที่พบหลักฐานว่ามีเมืองโบราณในบริเวณเมืองประแว อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และบริเวณสนามบินหรือทุ่งกาโล บริเวณใกล้เคียงกับบ้านท่าสาป ตลอดไปถึงถ้ำคูหาภิมุข จังหวัดยะลา
ยุคที่สอง ประวัติศาสตร์รายาแห่งปาตานีดารุสลาม

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-23 ภาคกลางของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยา ส่วนพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศไทยมีรัฐที่มีความเจริญและเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างทางทะเลและทางบก คือ เมือง หรืออาณาจักรปัตตานี อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้มีนักวิชาการออกความเห็นหลากหลาย บางท่านก็เล่าว่า จัดเป็นเมืองแห่งหนึ่งที่เคยมีสถานะยิ่งใหญ่เท่ากับอาณาจักร ขณะที่นักโบราณคดีบางคน เชื่อว่า พื้นที่ปัตตานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 – 21 เป็นที่รู้จักกันในชื่อลังกาสุกะซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งในอดีต เมื่อชื่อลังกาสุกะหายไป และรัฐปัตตานีได้เข้ามาแทนที่ ทั้งสืบทอดบทบาทการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลในพุทธศตวรรษที่ 21-23

ปัตตานีจึงนับได้ว่าเคยเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในยุคการคมนาคมการค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 พ่อค้าชาวต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และโปรตุเกส ตามมาด้วยชาวยุโรปชาติอื่นๆ ที่เข้ามาค้าขายที่ปัตตานี ชาวต่างชาติเหล่านี้บางคนเพียงเข้ามาค้าขายแล้วกลับออกไป แต่บางคนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในปัตตานีเป็นการถาวร
ปัตตานีมีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องหลายราชวงศ์ ในสมัยที่มีกษัตริย์ปกครองนั้นปัตตานีสามารถขยายตัวทางด้านการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจได้นานกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัตตานีจึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของโลกมาเลย์ กษัตริย์องค์แรกที่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ปาตานี คือ พญาตู กรุป มหายานา ผู้ซึ่งนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ปกครองอาณาจักรลังกาสุกะหรือนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกเมืองนี้ว่า โกตามะลิฆัย ในช่วงประมาณก่อน พ.ศ. 2043
พญาตู กรุป มหายานา มีโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า พญาตู อันตารา หรือ พญาอินทิรา หรือพญาตู นักปา0ซึ่งได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในเวลาต่อมา แล้วได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ชายทะเล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการย้ายเมืองว่าเกิดจากสภาพแม่น้ำลำคลองที่เคยใช้เป็นทางสัญจรจากเมืองโกตามะลิฆัยมาที่อ่าวปัตตานีเกิดตื้นเขินทำให้ไม่สะดวกในการลำเลียงสินค้า กษัตริย์ปาตานีต้องการขยายการติดต่อทางการค้า เพราะเมืองปาตานีในอดีตอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ทั้งทองคำ ดีบุก เกลือ หนังสัตว์ นอแรด ไม้ฝาง หวาย สมุนไพรต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผลไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ทำเลที่ตั้งใหม่บริเวณอ่าวปัตตานีที่พญาอินทิราเลือกจึงมีความเหมาะสมในการสร้างเมืองเพราะมีแหลมโพธิ์เป็นที่กำบังลม เรือสินค้าที่เข้ามาจอดจะปลอดภัย นอกจากนี้สาเหตุของการย้ายเมืองยังเกี่ยวข้องกับการนับถือศาสนา เนื่องจากพญาอินทิราเป็นกษัตริย์องค์แรกที่นับถืออิสลาม เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมาะที่จะยังคงอยู่ในเมืองเก่าที่มีวัตถุและสถานที่ตามความเชื่อฮินดูและพุทธ

ตามตำนานการนับถือศาสนาอิสลามของพญาอินทิรา ระบุว่า พญาอินทิราได้ล้มป่วยเป็นโรคผิวหนังแตก หมอต่างชาติต่างเข้าไปรักษาแต่ไม่หาย ชีคซาอีด เป็นชาวปาไซ เมืองหนึ่งในเกาะสุมาตราได้ทราบข่าวจึงอาสาไปรักษาพญาอินทิรา แต่ขอสัญญาว่าหากพระองค์หายจากโรคผิวหนังนี้จะเข้ารับอิสลาม ชีคซาอีดจึงรักษาพญาอินทิราจนหายแต่พระองค์ไม่ได้ทำตามสัญญา ทำให้กลับมาเป็นโรคผิวหนังอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง ในที่สุดพญาอินทิราจึงยอมรับนับถือศาสนาอิสลามและให้ราชวงศ์ทุกคนเข้ารับอิสลามด้วย พญาอินทิราได้เปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม และชีค ซาอีด ได้ตั้งชื่อเมืองปาตานีเป็น “ปาตานี ดารุส สาลาม” แปลว่า ปาตานีนครแห่งสันติ
 
อาณาจักรปาตานีดารุสสาลาม เริ่มต้นด้วยผู้ปกครองของราชวงศ์ศรีมหาวังสาของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ มีกษัตริย์ปกครอง 9 รัชกาล รวมเวลา 186 ปี ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรปาตานีมีความเจริญมั่งคั่งจากการค้าขายด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ เช่น เปอร์เชีย อาหรับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อีกทั้งประเทศตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและการแต่งงานกับกษัตริย์ของเมืองและรัฐใหญ่น้อยในแหลมมลายู เช่น มะละกา ปาหัง ปาเล็มบัง ยะโฮร์
 
กษัตริย์แต่ละองค์มีกรณียกิจในแต่ละสมัยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามในที่นี้จะขอกล่าวถึงเห็นเหตุการณ์สำคัญที่ยังคงทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้พบเห็นในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สมัยของสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ 
   ในรัชสมัยนี้มีชาวจีนคนหนึ่งได้นำกระสุนปืนใหญ่มาถวายสุลต่าน พระองค์จึงสนพระทัยที่จะสร้างปืนใหญ่ขึ้นเพื่อไว้ป้องกันเมือง จึงได้มีการระดมทองเหลืองจากประชาชนเพื่อมาสร้างปืนและห้ามไม่ให้มีการค้าขายทองเหลืองให้ชาวต่างชาติ แต่กลับมีชายผู้หนึ่งชื่อว่า ชีค ก็อมบ็อก หรือ แชะห์ก็อมบ็อค ลักลอบนำทองเหลืองไปขายจึงถูกสั่งประหารชีวิตพร้อมลูกศิษย์หนึ่งคน แล้วโยนศพลงในแม่น้ำ แต่ศพไม่จมน้ำ ชาวบ้านจึงช่วยกันนำศพขึ้นมาฝังที่หมู่บ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนจะฝังศพ ศพยาวออกมาจำนวนถึง 3 ครั้ง กุโบร์แห่งนี้จึงมีชื่อว่า กุโบร์ดาโต๊ะปาแยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในสมัยของสุลต่านอิสมาอีลได้สร้างปืนใหญ่ 3 กระบอก ชื่อว่า ศรีนครี ศรีปาตานี และมหาเลลา เมื่อครั้งสยามทำสงครามกับปัตตานีได้ยึดเอาปืนใหญ่ไป 2 กระบอก คือ ศรีนครี และศรีปาตานี เล่ากันว่า ศรีนครีนั้นตกลงไปในน้ำที่ปากอ่าวปัตตานี ส่วนศรีปาตานี ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ

ต่อมาในสมัยสุลต่านมูศ็อฟฟัร ชาห์ มีอูลามะห์ จากประเทศเยเมน ได้เข้ามาที่ปาตานีชื่อว่า ชีค ซาฟี ยูดดีน ได้แนะนำให้สร้างมัสยิดเพื่อเป็นสถานที่ให้ชาวมุสลิมสักการะบูชาองค์อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) สุลต่านมูศ็อฟฟัรจึงรับสั่งให้สร้างมัสยิดขึ้นหน้าประตูวัง เชื่อกันว่าเป็นมัสยิดก่ออิฐถือปูนศิลปกรรมแบบอาหรับแห่งแรกในแหลมมลายู

สุลต่านมูศ็อฟฟัรได้เดินทางไปช่วยอยุธยารบกับพม่า ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ระหว่างที่พักอยู่ที่อยุธยา กองทัพมลายูเกิดความขัดแย้งกับทัพสยามจนถึงขั้นสู้รบกัน และทหารมลายูเข้ายึดพระราชวังได้ แต่สุดท้ายทหารสยามได้ต่อสู้แย่งชิงคืนในที่สุด เชื่อกันว่า สุลต่านมูศ็อฟฟัรสิ้นพระชนม์ในการสู้รบ เหตุการณ์ครั้งนั้นในสายตานักประวัติศาสตร์ไทยมองว่าเป็นการกบฏ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรียกว่าเป็นความขัดแย้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
 
ต่อมาในสมัยรายาฮิเยา เป็นสมัยที่ปาตานีมีความมั่นคงทางการเมืองและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ช่วงเวลาดังกล่าวปาตานีมีสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศและรัฐต่างๆ พระขนิษฐาของรายาฮิเยา ชื่อว่า รายาอูงู ได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งปาหัง นอกจากนี้รายาฮิเยายังมีบทบาทด้านการพัฒนาการเกษตรด้วยการขุดคลองระบายน้ำและปล่อยน้ำจืดลงในคลองกะดี ให้น้ำจืดไล่น้ำเค็มเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำจืดในการทำการเกษตร ทั้งยังสร้างฝายทดน้ำถาวรด้วย แต่ทว่า ในสมัยของรายาบิรู ชาวบ้านได้มาร้องเรียนว่าคลองแห่งนี้ทำให้น้ำเค็มเจือจางจนชาวบ้านที่กรือเซะไม่สามารถทำนาเกลือได้ อีกทั้งน้ำไหลเชี่ยวจนทำให้ตลิ่งพัง รายาบีรูจึงสั่งให้ทำทำนบกั้นน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า “กำปงทาเนาะบาตู” ที่ยังคงเหลือร่องรอยจนถึงปัจจุบัน
 
ตั้งแต่สมัยรายาฮิเยา เป็นต้นมา มีการบันทึกถึงความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานีเป็นระยะ เช่นใน พ.ศ. 2146 ออกญาเดชา แม่ทัพของพระนเรศวรมหาราช ได้เข้าโจมตีปาตานี แต่มีชาวต่างชาติเข้าช่วยทำให้สยามล่าถอยไป สมัยรายาอูงู เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ รายาอูงูไม่ทรงยอมรับจึงตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ไม่ส่งดอกไม้ทองไปบรรณาการ อีกทั้งรายาอูงูยังได้ส่งกองทัพไปโจมตีเมืองพัทลุงจนถึงนครศรีธรรมราชทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างปาตานีและอยุธยาต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2177 ได้เกิดสงครามระหว่างอยุธยาและปาตานีขึ้นอีกครั้ง แต่ในที่สุดสยามได้ล่าถอยไป
 
กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ศรีมหาวังสา เป็นผู้หญิงมีพระนามว่า รายากูนิง (พระนางเหลือง) ต่อมารายาบากัล ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์กลันตันมาปกครองปาตานี จึงได้เปลี่ยนราชวงศ์เป็นราชวงศ์กลันตันจนถึง พ.ศ. 2272 ปาตานีได้ประสบความวุ่นวายทางการเมืองเป็นเวลานาน ระหว่างนี้สยามได้ส่งกองทัพมาโจมตีเป็นระยะ
 
 
สมัยของรายามัส กลันตัน พระเพทราชาได้ส่งกองทัพมาที่ปาตานี ต่อมาภายหลังความสัมพันธ์ปาตานีกับสยามดีขึ้น จนกระทั่งสยามส่งข้าวสารมาขายที่ปาตานี จากนั้นในสมัยรายามัส ชายัม สยามได้เข้ามาโจมตีปาตานีอีกครั้ง แต่ก็ล่าถอยไป
 
กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ได้ปกครองปาตานี คือ สุลต่านมูฮัมหมัด สยามได้บุกโจมตีปาตานีอีกครั้ง เป็นครั้งแรกที่ปาตานีแพ้สงครามกับสยาม ทหารสยามได้เผาพระราชวัง มัสยิดกรือเซะ และบ้านเรือน ยึดปืนใหญ่ 2 กระบอก รวมทั้งควบคุมราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ และประชาชน ระหว่างเดินทางไปกรุงเทพฯ

หลังจากสยามเข้าครอบครองปาตานี จึงแต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นปกครอง คือ ราชาเติงกู ลามีเด็น (พ.ศ.2330-2334) ซึ่งมีความโกรธแค้นสยามจากการทำสงครามระหว่างกัน จึงได้ส่งสาส์นกลับไปยังกษัตริย์อันนามหรือเวียดนามเพื่อขอให้โจมตีสยามพร้อมกัน แต่เจ้าองเชียงสือได้นำสาส์นไปให้กับกษัตริย์สยามซึ่งเมื่อทรงทราบเรื่องได้จัดทัพเข้าปราบปรามปาตานีทันที ต่อมาสยามได้แต่งตั้งดาโต๊ะปังกาลัน (พ.ศ.2334-2353) เป็นเจ้าเมืองปาตานี แต่เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของปาตานีกับข้าราชการสยามในเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ดาโต๊ะปังกาลันจึงได้ร่วมกับชาวมลายูขับไล่ขุนนางสยามออกจากปาตานี

จากนั้นสยามจึงแต่งตั้งคนสยามเชื้อสายจีนสลับกับคนสยามเชื้อสายไทยมาเป็นผู้ปกครองเมืองปาตานี จนกระทั่ง พ.ศ. 2359 สยามยกเลิกการปกครองระบบสุลต่านหรือราชา มาเป็นการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองหรือพระยาเมืองปกครองกันเองอย่างเป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองสงขลา อำนาจของราชาหรือสุลต่านปาตานีจึงหมดสิ้นลง ภายหลังจากสยามเข้าครอบครองปาตานีและแยกออกเป็น 7 หัวเมือง เจ้าเมืองที่เป็นคนมลายูในพื้นที่ต่อสู้กับอำนาจสยามอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเชื้อสายและอำนาจของเจ้าเมืองเริ่มเจือจางลงเรื่อยๆ การต่อจึงสู้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนถึงปัจจุบัน

#ยุคที่สาม ประวัติศาสตร์ปัตตานี ในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย
    พงศาวดารเรื่องเมืองปัตตานี ซึ่งเขียนโดยพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลา และประวัติศาสตร์ 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเขียนโดยกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร หนังสือเล่มที่สอง เริ่มเรื่องราวประวัติศาสตร์ของของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ว่า....
“....ดินแดนของ 4 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) เป็นของประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีปรากฏข้อความอยู่ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่ามีอาณาเขตลงไปทางทิศใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราชและใต้ลงไปจดฝั่งมหาสมุทรตอนใต้สุดด้วย กล่าวกันว่าได้มีคนไทยอพยพลงมาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้และบริเวณใกล้เคียงเมื่อราว 1,000 ปีมาแล้ว...”
ซึ่งตรงกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอธิบายถึงเรื่องพงศาวดารเมืองปัตตานี ตามสำนวนที่พระยาวิเชียรคิรีได้เรียบเรียงขึ้นว่า “ที่จริงเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงทรงครองนครเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธศาสนาภายหลังเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม”
 
 
 
#ยุคที่สี่ ปัตตานีในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
      จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีบันทึกถึงเมืองปัตตานีในฐานะเมืองประเทศราชของอยุธยา แต่สมัยนั้นอยุธยาไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด ประกอบกับปัตตานีอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้อยุธยาไม่สามารถควบคุมปัตตานีได้อย่างเข้มงวดมากนัก ชาวพื้นเมืองจึงมีอิสระ ภายใต้การดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชอีกชั้นหนึ่ง ปัตตานีทำหน้าที่ในการส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปอยุธยาทุก 3 ปี และส่งคนไปร่วมรบในช่วงที่เกิดศึกสงคราม
     พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปัตตานีได้ก่อการกบฏต่ออยุธยาครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2106 ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิแต่ไม่สำเร็จ ภายหลังจากการกบฏในครั้งนั้นจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่ปรากฏชื่อปัตตานีในประวัติศาสตร์อยุธยาอีก ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้นักประวัติศาสตร์ตีความว่าปัตตานีอาจตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาและไม่ได้มีปัญหาหรือมีบทบาทที่ชัดเจน ในขณะที่อีกมุมมองหนึ่ง เห็นว่า ปัตตานีเป็นรัฐอิสระที่อยุธยาไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้
 
     ยุคที่ห้า ปัตตานีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกทัพไปปราบพม่า “มีข่าวเข้ามาว่าเมืองปัตตานีก่อการกำเริบขึ้นมาก” จึงได้ส่งกองทัพหลวงไปปราบปัตตานีจนประสบความสำเร็จ นับว่าเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ปัตตานีและสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การปกครองของรัฐสยาม โดยการควบคุมดูแลของเมืองสงขลา
ผู้ปกครองเมืองปัตตานีคนใหม่ คือ ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ได้รับการแต่งตั้งจากสยามในสมัยการปกครองของพระยาปัตตานีคนที่สอง (พ่าย) ปกครองเมืองปัตตานี พวกสาเหยด และรัตนาวง ซึ่งเป็นชาวมลายูได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งพระยาสงขลาได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยิริง (ยะหริ่ง) เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองยะลา แต่ละหัวเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของพระยาเมืองหรือเจ้าเมือง
 
     เมืองที่มีคนไทยพุทธจำนวนมากจะให้เจ้าเมืองเป็นไทยพุทธ ส่วนเมืองที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากให้เจ้าเมืองเป็นคนมุสลิม ในขณะนั้นมีเพียงยะหริ่งเมืองเดียวเท่านั้นที่เจ้าเมืองเป็นคนไทยพุทธ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ว่า “แลทรงตั้งข้าราชการไทยบ้าง แขกซึ่งมีความสวามิภักดิ์ ให้เป็นเจ้าเมืองทั้ง 7 เมืองเพื่อจะมิให้เมืองปัตตานีมีกำลังคิดขบถได้อย่างแต่ก่อน”

       ประเด็นการแบ่งแยกเมืองออกเป็น 7 หัวเมืองนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์จักรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ แต่เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์ปัตตานีที่จากเดิมในสมัยสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้ถูกควบคุมทางการเมืองการปกครอง ปัตตานีมีผู้ปกครองของตนเองที่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองราชวงศ์ต่างๆ ภายหลังจากการที่ปัตตานีถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 7 หัวเมือง ผู้ปกครองเมืองทั้ง 7 เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนได้จากส่วนกลาง ถือเป็นจุดเริ่มเริ่มต้นของการมีผู้ปกครองเป็นคนต่างศาสนาของชาวปัตตานี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยายะลา (ต่วนบางกอก) พระยาหนองจิก พระยาระแงะ และพระยาปัตตานี ได้ร่วมกันกบฏกบฏต่อสู้กับพระยายิริง (พ่าย) (พระยายิริงคนนี้เป็นสายตระกูลของปลัดจะนะที่ถูกแต่งตั้งมาจากเมืองสงขลา) ทางกรุงเทพฯ จึงส่งกำลังจากเมืองเพชรบุรีมาสมทบเมืองสงขลาปราบปรามกบฏดังกล่าวได้และได้ประหารชีวิตเจ้าเมืองกบฏและแต่งตั้งหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) รักษาการเมืองยะลา
 
ยุคที่หก สมัยปฏิรูปการปกครองและสร้างทางรถไฟ
สภาพการณ์ที่สงบของหัวเมืองมลายูเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากปัญหาการคุกคามของมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะรวมอำนาจหัวเมืองสู่ศูนย์กลาง เจ้าเมืองหรือพระยาเมืองของหัวเมืองมลายูต่างไม่พอใจในการปฏิรูปครั้งนี้ พระยาเมืองบางคนจึงได้เขียนจดหมายหรือเดินทางไปร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษที่สิงคโปร์หลายครั้งเพื่อให้อังกฤษช่วยยับยั้งไม่ให้ส่วนกลางส่งข้าหลวงไปจัดการการปกครอง ข้าหลวงที่ถูกส่งไปยังหัวเมืองเหล่านี้จะเป็นผู้ตรวจตราและเก็บเงินส่วยอากร พระยาเมืองจะได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บส่งเข้าท้องพระคลัง
พ.ศ. 2445 พระยาวิชิตภักดี (อับดุลกาเดร์) เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้ายเป็นผู้นำการต่อต้านอำนาจรัฐ แต่ถูกจับตัวไปยังเมืองพิษณุโลก 2 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษกลับมาอยู่ปัตตานีและได้คิดการกบฏอีกครั้ง เมื่อทางราชการทราบเรื่อง พระยาวิชิตภักดีจึงหนีไปยังรัฐกลันตัน และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งถึงแก่กรรม
ปี 2449 รัฐบาลสยามประสบความสำเร็จในการตั้งมณฑลปัตตานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระยาศักดิเสนี (หนา บุนนาค) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี โดยไม่ต้องขึ้นต่อมณฑลนครศรีธรรมราช หัวเมืองทั้ง 7 จึงถูกยุบรวมกันเป็น 4 เมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง รวมเป็นเมืองปัตตานี เมืองรามันรวมกับเมืองยะลา เป็นเมืองยะลา เมืองระแงะ กับเมืองสายบุรี คงไว้เช่นเดิม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัวได้ทรงวางแผนการสร้างทางรถไฟสายใต้ยาวไปถึงหัวเมืองมลายูเพื่อประโยชน์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทางรถไฟสายใต้นี้สร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การสร้างทางรถไฟจึงก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองในการเดินทางไปยังมณฑลปัตตานีได้สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งทำให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้ชาติตะวันตกที่ต้องการเมืองขึ้นไม่มีข้ออ้างที่จะเข้ามายึดครองเพื่อสร้างความเจริญได้อีก ส่วนประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับชาวจีนเพื่อกระจายประชากรชาวจีนอพยพทั้งหลายให้ไปตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ตามสองข้างทางรถไฟ และสนับสนุนให้แรงงานชาวจีนที่มีฝีมือในการทำเหมืองเข้าไปบุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้ออ้าง ในการปฏิเสธการให้สัมปทานการทำเหมืองแร่แก่ชาวตะวันตก ซึ่งกำลังพยายามแสวงหาเมืองขึ้น
 
ยุคที่เจ็ด สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ยกเลิก การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนเป็นการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มณฑลปัตตานีเดิมมี 4 จังหวัด จัดแบ่งเหลือเพียง 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
 
พ.ศ.2476 เป็นปีที่อับดุลกาเดร์ผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนสิ้นชีวิตที่รัฐกลันตัน ตนกูมะไหยิดดีนบุตรชายของอับดุลกาเดร์ ได้สืบทอดเจตนารมณ์โดยการสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ได้จัดตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะแยกจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับการปกครองของรัฐบาลไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ตนกูมะไหยิดดีนผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนและผู้นำคนอื่นๆ ได้หันไปร่วมมือกับอังกฤษ รวมตัวกับชาวมลายูต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยคาดหวังความช่วยเหลือของอังกฤษเข้ามาบีบบังคับให้รัฐบาลไทยยินยอมให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของ “บริติช มลายา”
 
ยุคที่แปด สมัยการเปลี่ยนแปลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณี ชาวมุสลิมในดินแดนของไทย ทำให้ผู้นำในกรุงเทพฯ ต้องรีบเร่งหาหนทางแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อย รัฐบาลชุดต่อมาจึงมีนโยบายมาดึงการมีส่วนร่วมของชาวมลายูมุสลิม
รัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนได้ประกาศใช้มาตรการหลายประการเพื่อลดกระแสความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติอุปถัมภ์อิสลาม ที่ได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนและพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ประชาชนไทยในบางท้องถิ่นที่นับถือศาสนาอิสลามจะได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองและอุปถัมภ์กิจการศาสนา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันต่างๆ ขึ้นหลายระดับเพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างชาวมุสลิมกับรัฐบาล นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามภายใต้การบริหารของมุสลิม และระบุเนื้อความที่มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวกับการ“อุปถัมภ์” และ“ควบคุม”กิจการฝ่ายศาสนาอิสลาม ในมาตรา 5 มาตรา6 และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ในจังหวัดที่มีประชาชนนับถืออิสลามอยู่มากให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง “กรรมการอิสลามประจำจังหวัด” ขึ้น เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลและกรรมการจังหวัดในข้อราชการที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมโดยตรง การออกกฎหมายดังกล่าวสะท้อนความพยายามที่จะแสดงความเคารพต่อผู้คนที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันและพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนมลายู
 
2.การกระจ่ายตัว
คนมลายูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บางส่วนอยู่ในจังหวัดสงขลาจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯคือ เขตหนองจอก บางกะปิ มีนบุรี และหนองจอก ซึ่งกลุ่มคนมลายูในกรุงเทพฯ ที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่สามารถพูดภาษามลายูได้ อีกทั้งอาจไม่ได้สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมของปัตตานีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนคนมลายูที่โยกย้ายเข้ามาทำงาน หรือ ศึกษาต่อในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงพูดภาษามลายูและสืบทอดวัฒนธรรมของมลายูปัตตานี
จำนวนประชากรมลายูในประเทศไทยมีความแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลต่างๆ หากใช้ข้อมูลจากรายงานประจำปีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า จำนวนประชากรมลายูประมาณ 1,613,000 คน
 
(คำนวนจากข้อมูลประชากรของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี (พ.ศ.2558) ยะลา (พ.ศ.2557) และ นราธิวาส (พ.ศ.2555) ทั้งนี้ยังคงมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มลายูดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ประเมินว่าในปี 2547 มีประชากรมลายูประมาณ 900,000 คน
 
2.วัฒนธรรมประเพณี
การดำรงชีพ
เนื่องจากคนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากรเป็นจำนวนมาก จึงประกอบอาชีพที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามในอดีตคนมลายูที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมักจะทำอาชีพประมงชายฝั่ง บางส่วนประกอบอาชีพเป็นแรงงานรับจ้างในเรือประมงพาณิชย์ ส่วนคนที่อาศัยเข้ามาในแผ่นดินใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ คือ ยางพารา และผลไม้ท้องถิ่น เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และอื่นๆ
ปัจจุบันจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้คนมลายูมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งค้าขาย ประมง เกษตรกรรม และรับราชการในหน่วยงานต่างๆ
 
 
ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
 
ศาสนาและความเชื่อ
คนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ประเพณีในรอบปีจึงเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ หากแต่มีประเพณีบางส่วนที่ปฏิบัติกันมานับตั้งแต่อดีต นับได้ว่าเป็นประเพณีเดิมของท้องถิ่น อันได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มุสลิมสายจารีตยังคงถือปฏิบัติกันอยู่
 
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี
ศาสนาอิสลามไม่ได้ใช้ปฏิทินหรือนับวันเวลาตามแบบสากล ที่นับเดือนมกราคมเป็นเดือนแรกของปี แต่จะนับเวลาตามระบบจันทรคติโดยใช้เหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺ หรือ การอพยพของนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) จากนครมักก๊ะฮฺไปสู่มะดีนะฮฺมาเป็นจุดเริ่มต้นของปี และเรียกศักราชว่าเป็นปีฮิจญ์เราะฮฺศักราช เดือนฮิจญ์เราะฮฺมีความสำคัญสำหรับมุสลิมเป็นอย่างมาก
การกำหนดวันเริ่มต้นและการสิ้นสุดของเดือนตามจันทรคติทำให้วันที่และเดือนไม่ตรงกับปฏิทินสากลของไทย เนื่องจากเดือนของอิสลามจะมี 30 วันทุกเดือน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่บางปีมีจำนวน 28 วันบางปีมีจำนวน 29 วัน การปฏิบัติศาสนกิจสำคัญของชาวมลายูมีรายละเอียดดังนี้
1) วันอาซูรอ ตรงกับวันที่ 9 – 10 ของเดือนมูฮัรรอม จะมีการถือศีลอดสุนัตหรือการถือศีลอดตามแบบอย่างของท่านนบี (ซ.ล.) สำหรับคนมลายูบางพื้นที่จะมีการกวนข้าวอาซูรอ การกวนอาซูรอไม่ใช่ประเพณีของศาสนาอิสลาม แต่เป็นประเพณีของคนในท้องถิ่น ตามตำนานระบุว่า ในสมัยท่านนบีนุฮฺหรือในศาสนาคริสต์ คือ ศาสดาโนอาห์ ซึ่งมีผู้ศรัทธาจำนวนน้อย พระผู้เป็นเจ้าจึงได้สั่งให้ท่านนบีต่อเรือ แล้วท่านจะบันดาลให้น้ำท่วมโลกเพื่อลงโทษผู้ไม่ศรัทธา นบีนุฮฺได้พยายามบอกแก่ผู้ศรัทธาให้ขึ้นเรือแล้วเอาสัตว์อย่างละคู่รวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ ขึ้นบนเรือด้วย เมื่อน้ำท่วมโลก นบีนุฮฺ คนและสัตว์ได้อยู่บนเรือจนกระทั่งน้ำลดลง นบีนุฮฺได้สั่งให้เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลืออยู่ในเรือมากวนรวมกันในกะทะใบใหญ่ เรียกว่ากวนอาซูรอ ปัจจุบันนี้ อาซูรอ ประกอบด้วย ข้าว กะทิ เกลือ น้ำตาลโตนด มัน กล้วย ฟักทอง เม็ดผักชี (ตูมา) และอื่นๆ บางพื้นที่มีการใส่ไก่เข้าไปด้วย ในอดีตจะรับประทานอาซูรอโดยใส่ในกะลาแล้วนำใบมะพร้าวมาทำเป็นช้อนตัก ปัจจุบัน การรับประทานอาซูรอจะใช้จานช้อนทั่วไป วันสำคัญถัดมาเป็นวันเมาลิดตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอัล-เอาวัล ตรงกับวันเกิดของท่านบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) เรียกในภาษาถิ่นว่า “วันเมาะโล๊ะ”
2) เดือนรอมฎอน หรือเดือนที่ 9 เป็นเดือนแห่งการฝึกความอดทนของชาวมุสลิม คนมลายูจะเรียกการถือศีลอดว่า “ปอซอ” การถือศีลอดนับเป็นหลักปฏิบัติ 1 ใน 5 ประการของศาสนาอิสลาม เป็นการละและการงดเว้นจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ การรักษาอวัยวะทุกส่วนให้พ้นจากการทำความชั่วทั้งทางด้านร่างกาย คำพูดและจิตใจ ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นกระทั่งถึงหลังพระอาทิตย์ตกดิน ช่วงเดือนนี้คนมุสลิมจะตื่นตั้งแต่ตี 3 ตี 4 เพื่อเตรียมตัวทำอาหารและรับประทานอาหารก่อนที่พระอาทิตย์ขึ้น กระทั่งตอนเย็นเมื่อสิ้นแสงพระอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่จะมีเวลาที่คลาดเคลื่อนกันไม่มากนักจะเปิดปอซอหรือละศีลอดด้วยการทานผลไม้ ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานอินทผลัมตามแบบอย่างท่านนบี (ซ.ล.)ทำให้อินทผลัมหรือผลไม้แห้งรสหวานมักกลายเป็นของฝากหรือของขวัญที่ดีสำหรับคนมุสลิมในเดือนถือศีลอด หลังจากรับประทานผลไม้จะละหมาดมัฆริบก่อนที่จะรับประทานอาหารต่อไป
คืนวันที่ 29 ของการถือศีลอดคนในชุมชน จะมารวมกันที่มัสยิดเพื่อดูดวงจันทร์และกำหนดวันอีดิลฟิตรี ในคืนนี้จะมีการบริจาคซะกาตฟิตเราะฮฺให้กับมัสยิด เป็นข้าวสารคนละ 3 ลิตร กับ 1 กระป๋องนม คิดเป็น 2.7 กิโลกรัม คิดเป็นเงินจำนวน 30 บาท
3) วันตรุษอีดิลฟิตรี ในภาษามลายูถิ่นว่า ฮารีรายอปอซอมุสลิมภาคกลางจะเรียกกันว่าวันอีดเล็ก ตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล เป็นวันเฉลิมฉลองที่ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ก่อนวันฮารีรายอปอซอหนึ่งวัน ผู้หญิงจะเตรียมทำข้าวต้มห่อใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกกันว่า “กะตูป๊ะ” ลักษณะเหมือนกับต้มที่ใช้ในการทำบุญเดือนสิบของชาวไทยพุทธ สำหรับแจกให้เครือญาติและเพื่อนบ้านในวันรายอ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมอาหารทั้งคาวหวานจำนวนมาก เช่น ข้าว แกง ข้าวหมก ตาแป (ข้าวหมาก) ขนมหวาน ประมาณ 7 - 9 โมงเช้าของวันรายอทุกคนจะไปมัสยิดเพื่อละหมาดร่วมกัน เสร็จจากการละหมาดแล้วจะไปที่กุโบร์ช่วยกันทำความสะอาด อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและดุอาร์ (ขอพร) แก่บรรพบุรุษ ขอให้อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ลดโทษแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว คนที่มีฐานะดีจะแจกเงินให้เด็กและคนชรา
หลังจากนั้นจึงไปเยี่ยมเยียนพบปะญาติพี่น้องเพื่อขออภัยในสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดต่อกัน รวมทั้งการเชิญเพื่อนบ้านมาร่วมรับประทานอาหารและแจกอาหารให้แก่กัน หลังจากวันรายอหนึ่งวันมุสลิมบางคนจะถือศีลอดต่ออีก 6 วัน ซึ่งการถือศีลอดนี้ไม่ใช่ข้อบังคับบางคนจะถือโอกาสหยุดงานพักผ่อนและพาครอบครัวไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ผู้หญิงจะเตรียมเสื้อผ้าที่ดีที่สุด หรือเสื้อใหม่ให้ทุกคนในครอบครัวสวมใส่ในวันสำคัญนี้
4) เดือนซุ้ลเก๊าะดะฮ์ หรือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เรียกว่า ซูลแกะเดาะห์ หรือเดือนฮายี หลังจากวันฮารี
รายอปอซอและเดือนซูลแกะเดาะห์ เป็นช่วงเวลาสำหรับคนที่มีทรัพย์สินเพียงพอจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จนกระทั่งถึงวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจเยาะห์เป็นวันตรุษอีดิลอัฎฮาหรือรายอฮายี สำหรับคนมลายู ส่วนคนมุสลิมภาคกลางจะเรียกวันอีดใหญ่ กิจกรรมต่างๆ ในวันนี้จะเหมือนกับวันรายอปอซอ แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่แตกต่างกันคือ การทำกุรบั่น คนมีฐานะ 7 คน จะมาร่วมกันซื้อวัว 1 ตัว เพื่อนำมาเชือด แล้วเอาเนื้อสดไปแจกจ่ายกับผู้ที่ยากจนในหมู่บ้านเป็นการฝึกความเสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่ด้อยโอกาส
 
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับชีวิต
การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
1.อากีเกาะห์ ลูกชาย แพะ 2 ตัว ลูกสาวแพะ 1 ตัว
การเปลี่ยนช่วงวัย
2.มาโซะยาวี
มาโซะยาวี หรือ สุหนัดหรือสุนัต มาโซะยาวี เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง พิธีกรรมการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ความหมายตามคำศัพท์ มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวีหรือยาวา แปลว่าชวา หรือชาวชวาที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำเอาศาสนาอิสลามมาเผยแผ่ ส่วนคำว่า สุหนัด หรื สุนัต มาจากคำว่า “สุนนะฮฺ” ในภาษาอาหรับ แปลว่าแบบอย่าง หรือแนวทาง ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดา เด็กผู้ชายมักจะเข้าสุหนัดตั้งแต่อายุ 7 - 10 ปี สำหรับผู้หญิงจะมีการเข้าสุหนัดเช่นกัน โดยจะทำตั้งแต่คลอดใหม่ๆ กระทั่งไม่เกิน 2 ขวบ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมทำพิธีระหว่าง7 – 10 ขวบ ถ้าไม่ทำสุนัตถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์
การแต่งงานและการหย่าร้าง
1.นิกะห์
2.จือรา
ความตายและการทำศพ
การจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมการจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมจะใช้วิธีการฝัง โดยปกติแล้วจะต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมงมีทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังนี้คือ
1. อาบน้ำให้ศพ
2. การกะฝั่น(ห่อ)
3. ละหมาดให้แก่ผู้ล่วงลับ
4. ฝังศพ ชาวมุสลิมจะใช้วิธีการฝังศพเพื่อให้ร่างสลายไปตามธรรมชาติเท่านั้น
 
 
 
 
การเปลี่ยนสถานภาพ
พิธีตัมมัตอัลกุรอาน “ตัมมัต” มาจากภาษาอาหรับแปลว่า “จบ” หรือเสร็จสิ้นสมบูรณ เป็นพิธีที่เกิดหลังจากการเรียนจบของเด็กมุสลิมเป็นการแห่เด็กเข้าพิธีตัมมัตอัลกุรอาน เพื่อเป็นความภูมิใจของพ่อแม่ ครู อาจารย์ และคนในชุมชนว่ามีเมล็ดพันธุ์ของคนในหมู่บ้านได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาได้สมบูรณ์แล้ว(สุนิติ จุฑามาศ 2564 )
 
การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ
อิซิกุโบร์และอารวะฮ์: การทำบุญอุทิศแก่วิญญาณผู้วายชนม์ คือ พิธีการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย หรือที่ “ทำอิซิกุโบร์” หรือ “ทำอา รวะฮ์” (สุนิติ จุฑามาศ 2564 )
 
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ตือรี การบรรเลงดนตรีประกอบการเข้าทรงเพื่อให้คนทรงกับหมอได้สื่อสารกับเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือดวงวิญญาณเพื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะรักษาผู้ป่วยให้ หายจากการเจ็บป่วยนิยมแสดงเพื่อรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่ามีมูลเหตุมาจากการถูกคุณไสย เวทมนตร์คาถา การฝังรูป ฝังรอย เลขยันต์ ถูกเข็ม ถูกหนังอาคมเข้าท้อง ถูกวิญญาณ (อางิน) เช่น การละเล่นเซ่นไหว้ครูศิลปิน (สำหรับผู้มีเชื้อสายโนรา - มะโย่งและวายัง) โดยอาศัยโต๊ะตือรีเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณนำมาบอกกล่าวกับโต๊ะมี โนะ แนะแนวทางให้ทราบกรรมวิธีเพื่อรักษาคนไข้หรือถอดถอนอาถรรพณ์อย่างไร เช่นการเซ่นไหว้ ใช้บน ทำพิธีพลีกรรมขอขมาลาโทษความเชื่อเรื่องนี้แต่เดิมมีอยู่ในหมู่คนไทยมุสลิมในดินแดนกันดารบริเวณ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส แต่ปัจจุบันการแพทย์เจริญขึ้นประกอบทั้งเห็นว่าความเชื่อนี้ขัดกับหลักการ ทางศาสนา ความเชื่อนี้จึงแทบไม่เหลืออยู่อีกเลย
 
5.การศึกษา
ในยุคสมัยของราชาอาลง ยูนุส ปาตานีได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะด้านศาสนา ปาตานีกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่ศาสนาอิสลามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้รู้ทางศาสนาได้เดินทางมายังปาตานีทั้งเพื่อศึกษาเล่าเรียนและร่วมกันเขียนตำราศาสนาที่เรียกว่า “กีตาบยาวี” จนปาตานีได้ชื่อว่าเป็นระเบียงแห่งมักกะฮฺ
เมื่อราชาอาลงยูนุส สิ้นพระชนม์ ปาตานีว่างเว้นกษัตริย์ปกครองถึง 40 ปี บ้านเมืองอยู่ภายใต้การดูแลของขุนนาง ดาโต๊ะ และอูลามะอ์ (ผู้รู้ศาสนา) ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชวงศ์ต่างๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสื่อมสลายของรัฐปัตตานีอันมั่งคั่ง
ปัจจุบันการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ระบบ
-ปอเนาะ
-สายสามัญ
-รร เอกชนศาสนาอิสลาม

ความคิดเห็น