สืบค้นรากเหง้าบรรพชน กุโบร์(สุสาน)ชาวจีนมุสลิม ป้ายบนหลุมกับสายสัมพันธ์สกุล
ครั้งแรกในชีวิตในการเยือนประเทศจีน เพื่อเยี่ยมญาติที่สิบสองปันนา บ้านต๋าเป่ยยี เมืองเออซางและ เมืองวุยยซางประเทศจีน เป้าหมายคือการไปพบญาติและทำความรู้จักกันเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ อันเป็นคำสั่งใช้ที่อิสลามส่งเสริมสนับสนุน เพราะผลบุญคุณค่าในการนี้มีมากมาย
อีกประการหนึ่ง เพื่อสืบค้นรากเหง้าบรรพชน อันเป็นถิ่นก่อกำเนิด ก่อนที่คุณปู่ คุณลุงและคุณพ่อจะอพยพเข้าสู่เมืองล้านนา
การเยี่ยมเยือนสุสานหรือคนมุสลิมเรียกกุโบร์ เป็นการสืบค้นที่สามารถระบุได้ว่าบรรพชนของเรามาจากไหน ลูกหลานของตระกูลใด
ด้วยบนแผ่นป้ายหน้าสุสาน ของชาวจีนมุสลิมจะมีชื่อผู้เสียชีวิต บ้านเกิด พ่อแม่ และยังมีชื่อลูกหลานของผู้เสียชีวิต ประมาณว่ามีลูกกี่คนชื่ออะไรบ้าง มีหลานกี่คน เขียนบนแผ่นป้ายด้วย
ความแตกต่างระหว่าง ป้ายบนหลุมของพี่น้องชาวจีนทั่วไป ก็คงจะมีภาษาอาหรับ เขียนติดด้านบนสุดของป้าย ส่วนใหญ่ จะเขียนด้วยคำว่า บิสมินลา ฮิรเราะมานิรรอฮีม ซึ่งแปลได้ว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตาเสมอ
#กุโบร์หลุมฝั่งศพคุณย่า
เราเริ่มเยี่ยมกุโบร์ สุสานคุณย่าและคุณอา ที่เมืองไฮและเมิ้งเจอ
ชาติหนึ่งพึงรู้ ใครจะอยู่ ค้ำฟ้า มุ่งใจ ใฝ่หาศรัทธา และไมตรี ทุกคนต้องตาย ร่างกลายเป็นผี สถิตย์แต่ชั่วดี ไม่มีวัน ดับ สูญ(เรือมนุษย์)
อินนาลิลลาฮิ วะอินนาอิลัยฮิรอยีอูน แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราต้องกลับคืนสู่พระองค์
มีโอกาสได้มาเยี่ยมสุสานของคุณย่า ก็แม่ของพ่อไง (เกิดปี 1902) สุสานของมุสลิมจีนส่วนใหญ่ จะมีการก่อปูน มีลักษณะเหมือนคนจีนทั่วไป ต่างกันก็คือไม่มีการกราบไหว้ หรือขอความช่วยเหลือบรรพชน บนป้าย เขียน วันเดือนปีเกิดวันตาย มีชื่อลูก หลาน มีลูกเขย ลูกสะใภ้ เพื่อการบ่งบอกให้รู้ลำดับชั้นของเครือญาติ และสามารถสืบค้น ญาติจากป้ายหน้าหลุมได้ เป็นวิถีของชาวจีนมุสลิมที่นี
ในมุมมองของตัวเราเอง การก่อสุสาน ทำให้พื้นที่ในการฝั่ง ต้องใช้พื้นที่มาก การจะขุดซ้ำ ฝั่งซ้ำ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่พื้นที่ กุโบร์ในพื้นที่มีค่อนข้างมากเป็นสิบไร่ จึงยังไม่มีปัญหาในการฝั่ง ณ ปัจจุบัน
ความตายเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องได้พบ หนีไม่พ้น จงอยู่ในโลกนี้เสมือนคนเดินทาง ที่ต้องตื่นตัวเสมอในการเดินทางสู่เป้าหมาย โดยสวัสดิภาพ
#พบกุโบร์บรรพชน ยืนยันรากเหง้า
อัลฮัมดุลิลลา วันนี้ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ ด้วยตักดีร จึงมีผู้ชี้ทางและนำพาเรามาถึงบ้าน เจ้หน่าฟางญิง ซึ่งท่านเชิญพวกเราเข้าไปพูดคุยกันในบ้าน. ท่านผ่านการทำพิธีฮัจย์ เป็นฮัญยะฮฺ อันนี้บอกให้ทราบเพราะการทำฮัจญ์ในประเทศจีน มีการจำกัดโค้วต้า ของรัฐบาล
พูดคุยลำดับเครือญาติ เป็นลูกหลานใครอยู่ที่ไหน เจ้หน่าฟางญิง ก็เอารูปเก่า ๆ มาให้ดู พบรูป ท่านลุง ม้าเสอหยิ่ง ซึ่งท่านถ่ายไว้คราเมื่อกลับมาเยี่ยมญาติหลายสิบปีก่อน
เจ้หน่าฟางญิง เป็นผู้รักษาและดูแลกุโบร์ คุณปู่ทวด น้องชายบอกว่าภาษาจีนเรียก อาจู้ กุโบร์มีอายุร่วมร้อยปีกว่าปี ได้เจ้หน่าฟางญิง ต่อสู้กับผู้ลุกล้ำพื้นที่สุสาน ซึ่งพื้นที่ถูกขยายเป็นเมืองจึงมีผู้ต้องการที่ดินถึงกับมีการปักหลักแย่งชิงกัน ก็ไดเจ้ท่านเป็นคนปกป้องรักษา
บนหลุ่มฝั่งศพ มีป้ายบอกชื่อคุณปู่ทวด นามท่าน หม่าเลาหยู้ บอกว่าท่านมีบุตรชาย สามคน หนึ่งในสามชื่อ หม่าถ่งสูน เป็นท่านปู่ของผม
และชื่อบนป้ายหลุมยังบอกถึงหลานชายของคุณปู่ทวดอีกสามคน ท่านพ่อ ท่านลุง และท่านอา ซึ่งมีสามท่านในป้ายนี้ อพยพมาอยู่เมืองเชียงใหม่ คือ หม่าถ่งสูน คุณปู่ หม่าเสอหยิ่ง คุณลุงและท่านพ่อ หม่าเสอช่าย ส่วนท่านอาอยู่ในจีน สืบต่อเครือญาติให้พบกันในครั้งนี้ เอาเป็นอันยันยันได้ว่า รากเหง้าบรรพชนของเรามีรกรากอยู่ที่เมืองต๋าเป่ยยี ประเทศจีน ซึ่งมีกุโบร์บรรพบุรุษ์ เป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจน อัลฮัมดุลิลลา
ท่านนบีได้สอนเราว่า
ความว่า “จงเรียนรู้เกี่ยวกับสายตระกูลของพวกท่าน (ให้มากพอ) เพื่อที่ท่านจะสามารถเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ เพราะการรักษาเครือญาติจะทำให้เกิดความรักระหว่างครอบครัว ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นและยืดอายุขัย”
หวังเป็นอย่างยิ่ง สิ่งดีงามเหล่านี้จะประสบกับตัวเรา ครอบครัว เครือญาติ และพี่น้องที่เชื่อมโยงเครือญาติ อามีน
13 พ.ย.66
#บันทึกการเดินทาง #ชุมพล ศรีสมบัติ
ตำบลต๋าเป่ยยี่นี้อยุ่ในเมืองฮายหรือปล่าวครับ
ตอบลบ