การอยู่ร่วมกันในสังคมของชนต่างศาสนิกในมุมมองของอิสลาม

 ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ

การอยู่ร่วมกันในสังคมของชนต่างศาสนิกในมุมมองของอิสลาม

 (แปลและเรียบเรียงโดย อ. มุหำหมัด  บินต่วน จาก ข้อเขียนของ ฏอริค มูฮัมมัด)

       อิสลามได้วางกฎระเบียบที่ชัดเจนในการพิทักษ์สังคมของมนุษยชาติ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้ออกห่างจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความหายนะวุ่นวาย ที่มาจากการมีแนวคิดสุดโต่งในสังคม ดังที่อิสลามได้ประกาศอย่างชัดเจนจากแกนคำสอนหลักของอิสลามที่ว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ถูกสร้างมาจากชีวิตเดียวกัน เพื่อเป็นการสื่อให้รู้ว่า ต้นกำเนิดของมนุษย์ทั้งหมด มาจากสิ่งเดียวกัน ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ว่า 

{يَاأَيُّهَا النَّاسُ اتَّقُوا رَبَّكُمُ الَّذِي خَلَقَكُمْ مِنْ نَفْسٍ وَاحِدَةٍ وَخَلَقَ مِنْهَا زَوْجَهَا وَبَثَّ مِنْهُمَا رِجَالًا كَثِيرًا وَنِسَاءً وَاتَّقُوا اللَّهَ الَّذِي تَسَاءَلُونَ بِهِ وَالْأَرْحَامَ إِنَّ اللَّهَ كَانَ عَلَيْكُمْ رَقِيبًا } النساء/الآية:2

      ความหมาย “มนุษย์ชาติทั้งหลาย จงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าที่ได้ทรงบังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้น ซึ่งคู่ครองของเขา และได้ทรงทำให้แพร่หลายไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชาย และบรรดาหญิงอันมากมาย และจงยำเกรงอัลลอฮฺที่พวกเจ้าต่างวิงวรขอต่อพระองค์ และพึงรักษาเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮฺทรงสอดส่องดูพวกเจ้าอยู่เสมอ” ซูเราะฮฺอันนิสาอฺ โองการที่ 2 

        ดังนั้นมนุษย์ที่อยู่บนโลกนี้ทั้งหมดต่างก็มีส่วนร่วมในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน นอกจากนั้นอิสลามได้ให้หลักประกันกับพวกเขาถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ โดยมิได้แบ่งแยกในระหว่างพวกเขา ตามหลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามคือมนุษย์มีเกียรติและศักดิ์ศรีในพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ตั้งแต่ต้นกำเนิดโดยไม่ได้มองไปยังความแตกต่างของศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ชาติพันธุ์ สีผิว และแหล่งกำเนิด ดังนั้นทุกคนต่างก็เป็นสมาชิกของสังคมที่เป็นครอบครัวเดียวกัน โดยแต่ละคนต่างก็มีสิทธิและหน้าที่ด้วยกันทั้งหมด พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า

{ وَلَقَدْ كَرَّمْنَا بَنِي آدَمَ وَحَمَلْنَاهُمْ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ وَرَزَقْنَاهُمْ مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَفَضَّلْنَاهُمْ عَلَى كَثِيرٍ مِمَّنْ خَلَقْنَا تَفْضِيلًا } الإسراء الآية:70

       ความหมาย “และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม (หมายถึงมนุษย์) และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล  และเราได้ประทานปัจจัยยังชีพที่ดีแก่พวกขา และเราได้เทอดเกียรติพวกเขาเหนือสิ่งอื่นๆอีกมากมายจากบรรดาสรรพสิ่งต่างๆที่เราได้สร้างขึ้นมา” ซูเราะห์อัลอิสรออฺ โองการที่ 70

        สำหรับความแตกต่างของมนุษย์ด้านภายนอก เช่น ความแตกต่างด้านรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ สีผิว เชื้อชาติ ภาษา ซึ่งทั้งหมดมิใช่อิ่นใดนอกจากมันคือ สีสันแห่งการสร้างสรรค์ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงสร้างอันวิจิตร และพระผู้ทรงเดชานุภาพยิ่ง พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า 

{ وَمِنْ آيَاتِهِ خَلْقُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَاخْتِلَافُ أَلْسِنَتِكُمْ وَأَلْوَانِكُمْ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِلْعَالِمِينَ }- الروم/الآية 22

        ความหมาย “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ การสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และความแตกต่างทางด้านภาษาของพวกเจ้า และทางด้านผิวพรรณของพวกเจ้า แท้จริงสิ่งต่างๆเหล่านี้ แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณสำหรับบรรดาผู้มีความรู้” ซูเราะห์อัรรูม โองการที่ 22

        ดังนั้นเมื่อมีความแตกต่างในสังคมของมนุษย์ก็บังควรที่จะนับว่ามันคือความแตกต่างด้านกายภาพ ตามธรรมชาติปกติ และไม่บังควรที่กลุ่มชนหนึ่งกลุ่ชนใด จะกระทำการละเมิด ต่ออีกกลุ่มชนหนึ่ง เพราะการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเป็นศัตรู ความกริ้วโกรธในระหว่างสมาชิกของสังคม หรือเป็นการกระตุ้นกระแสความเป็นชาตินิยม ชาติพันธ์นิยม ที่สุดโต่งในสังคม แต่บังควรให้ความแตกต่างดังกล่าว เป็นสาเหตุของการสร้างความรัก ความเมตตา การทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ในระหว่างสมาชิกของสังคมเดียวกัน เพื่อเป็นแรงผลักดันที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน พระองค์อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)ได้ทรงตรัสว่า

{ يَاأَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُمْ مِنْ ذَكَرٍ وَأُنْثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ }-.الحجرات الآية:13

        ความหมาย “โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ทำให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อที่จะได้รู้จักกัน  แท้จริงผู้ที่มีเกียรติมากที่สุดในหมู่สูเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้ามากที่สุดในหมู่สูเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” ซูเราะฮฺอัลหุญุรอต โองการที่ 13

        จากโองการดังกล่าว พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงชี้ให้รู้ว่า มนุษย์ไม่มีความเลอเลิศในระหว่างพวกเขาด้วยกัน ยกเว้นบนพื้นฐานของความศรัทธา ความยำเกรงและการเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามคำสอนและบทบัญญัติต่างๆ ที่ท่านศาสนทูตได้นำมาจากพระองค์  ดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้ตรัสว่า “แท้จริงผู้ที่มีเกียรติมากที่สุดในหมู่สูเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้ามากที่สุด” สำหรับบุคคลที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หรือผู้ศรัทธาในศาสนาอื่น ซึ่งเป็นศาสนาที่มาจากอัลลอฮฺ ก่อนการมาของอิสลาม และเขาไม่ได้ศรัทธาต่ออิสลาม แท้จริงอัลกุรอานไม่ได้มองพวกเขาในเชิงลดรอนทางคุณค่าของการเป็นมนุษย์ หรือในเชิงประหนึ่งว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ หรือพวกเขาไม่มีสิทธิ์เยี่ยงเดียวกับมุสลิม แต่อัลกุรอานมองพวกเขาในเชิงผ่อนปรน และอ่อนโยน ดังนั้นจึงไม่บังควรสำหรับมุสลิมที่มีหลักความเชื่อต่ออิสลาม จะต้องไปเผชิญหน้ากับผู้ที่มีหลักความเชื่อที่ตรงกันข้ามกับเขา หรือผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมยกเว้นจะต้องอยู่ในรูปของการชักชวน เผยแพร่ ตามแนวทางของการตักเตือนที่ดี หากพวกเขาเชื่อฟังและยอมรับ ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา แต่หากพวกเขาปฏิเสธ และพวกเขาเลือกที่จะคงอยู่ในหลักความเชื่อเดิมของพวกเขา ก็ไม่มีการบังคับในเรื่องของการนับถือศาสนา ตราบใดที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์และทำสงครามกับศาสนาของอัลลอฮฺ พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ว่า

{ لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ أَنْ تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ }-.الممتحنة/ الآية:8

          ความหมาย “อัลลอฮไม่ได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อสู้(สงคราม)กับพวกเจ้าในเรื่องของศาสนา และพวกเขาก็มิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม” ซูเราะฮฺอัลมุมตะฮินะฮฺ โองการที่ 8

         แต่ในลักษณะเดียวกันอิสลามก็ให้ความสำคัญในการคำนึงถึงสิทธิของชนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้การทำสัญญาไม่รุกรานกัน(มุอาฮัด)หรือชนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอิสลาม(ซิมมีย์) โดยที่อิสลามห้ามละเมิดต่อชนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้พันธสัญญา หรือชนต่างศาสนิกที่อยู่ในรัฐอิสลามอย่างเด็ดขาด โดยที่ท่านศาสนทูต มูฮัมมัด (ซ้อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า 

قَالَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «مَنْ قَتَلَ مُعَاهَدًا لَمْ يَرِحْ رَائِحَةَ الجَنَّةِ، وَإِنَّ رِيحَهَا تُوجَدُ مِنْ مَسِيرَةِ أَرْبَعِينَ عَامًا» أخرجه البخاري رقم 3166- عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ عَمْرٍو رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا

        ความหมาย “ผู้ใดได้สังหารชนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้สัญญา (มุอาฮัด) เขาจะไม่ได้รับกลิ่นไอของสวนสวรรค์ ซึ่งกลิ่นไอของมันจะกระจายไปถึงระยะทางสี่สิบปี” บันทึกโดยอัลบุคคอรีย์ หมายเลข 3166

       ดังนั้นความปลอดภัยของชนต่างศาสนิกที่มิใช่คู่สงครามจึงได้รับการประกันจากคำสั่งของท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ซ้อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) และการละเมิดต่อพวกเขาถือเป็นอาชญากรรมที่มีบทลงโทษตามบทบัญญัติของอิสลาม

ความคิดเห็น