งานวิจัยชุมชน สมาคมมุสลิมเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาศิรินธร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเก็บข้อมูลในมิติมานุษยวิทยา
งานวิจัยชุมชน ผลกระทบที่ได้จากชุมชนสมาคมมุสลิมเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาศิรินธร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเก็บข้อมูลในมิติมานุษยวิทยา
ระหว่าง วันที่ 12 - 14 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารละหมาดหญิง มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จ.เชียงใหม่
โดยกิจกรรมของโครงการ ให้ความรู้ ระเบียบวิธีวิจัยชุมชน 7 ข้อ แบ่งทีมทำงานลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยชุมชนช้างคลาน ชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ และชุมชนมุสลิมอัตตักวา
* การวิจัยชุมชนเป็นกระบวนการศึกษาอย่างเป็น ระบบ เพื่อความเข้าใจชุมชนในมิติต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เป็นจริงมากที่สุด มิติที่จะพึงเข้าใจชุมชน สามารถแยก เป็นมิติด้านกายภาพ มิติด้านการประกอบอาชีพ มิติ ด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ มิติด้านความสัมพันธ์กัน มิติด้านการศึกษาอบรม มิติด้านความปลอดภัย มิติ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร
งานวิจัยโดยชุมชนคือสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาในปัจจุบัน: คู่มือสำหรับผู้นำการเคลื่อนไหวในชุมชนทั่วโลก
“เมื่อสมาชิกชุมชนทำวิจัยของตนเอง พวกเขาอาจค้นพบสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถพบได้ ชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของพวกเขาเป็นอย่างดีซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้วางแผนไม่อาจรู้ได้ บ่อยครั้งที่กระบวนการวิจัยช่วยให้ ชุมชนเข้าใจปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญได้ดีมากขึ้น การทำวิจัยช่วยสร้างความ มั่นใจในความรู้และแนวคิดของชุมชน เสริมสร้างความสามัคคี การตรวจสอบและรับผิดรอบระหว่างสมาชิกของชุมชน รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนชุมชน”*ที่มา
https://bit.ly/3PpeDK3)
นายวิฑิต แสวงศิริผล หนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวถึงความรู้สึกกับการสัมผัสงานวิจัยชุมชนครั้งนี้ว่า
"การได้ลงพื้นที่ชุมชนมัสยิดอัตตักวา จ.เชียงใหม่ นอกจากการได้มาซึ่งข้อมูลหลักเพื่อการนำมาใช้วิเคราะห์และสังเคราะห์ในเชิงวิชาการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเก็บข้อมูลชุมชนในมิติมานุษยวิทยา นำโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตามรูปแบบเครื่องมือและกรอบการดำเนินงานวิจัยที่คณาจารย์ได้กำหนด การลงปักหมุดในพื้นที่วันนี้ สำหรับผมมีความพิเศษมากไปกว่านั้นคือการได้กลับมาเยือนชุมชนสุดพิเศษและแสนอบอุ่น ที่ผมเติบโตและมีความทรงจำในวัยเยาว์มากมาย"
"การลงพื้นที่ในวันนี้ผมจึงขออนุญาตใช้คำว่า"กลับบ้าน"แม้ว่าการมาในวันนี้ของพวกเราทีมวิจัยทุกคน มาในฐานะนักวิชาการ แต่ผมคงเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่มองเห็นภาพตัวเองตอนเล็กๆ วิ่งเล่นกับเพื่อน ปั่นจักรยานสนุกสนานด้วยเสียงหัวเราะเริงร่ากลางฤดูร้อน หรือแม้กระทั่งภาพจำที่พวกเราเด็กๆ เดินไปซื้อขนมและไอศครีมที่ร้านชำ มานั่งกินกันที่ลานมัสยิด ภาพตัวเองปีนขึ้นไปบนดาดฟ้ามัสยิดในช่วงเดือนรอมฎอนเพื่อตามไปดูผู้ใหญ่ตีระฆังกังสดาลที่กังวานก้องในความทรงจำในวันนั้นก็ผุดขึ้นมาชัดเจนราวกับเพิ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน
ชุมชนแห่งนี้ วันนี้ยังคงเข็มแข็ง มีองค์กรหลายองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนงานที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้อง เป็นภาพของการพัฒนาจากอดีตถึงปัจจุบัน ในฐานะนักวิชาการ การได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับบรรดาผู้อาวุโส, ชาวบ้าน และผู้นำองค์กรในชุมชน ยืนยันถึงปณิธานที่แน่วแน่ในการทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่อบอุ่นในการดูแลกันและกันอย่างชัดเจน วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้กลับบ้าน บ้านที่ยังคงบรรยากาศแห่งความสุข ที่ที่ทำให้ผมมีรอยยิ้มเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว และยังทำให้ยิ้มได้อย่างเป็นสุขในทุกๆครั้งที่มาเยือนครับขอขอบคุณข้อมูลดีๆและมิตรไมตรีที่งดงามครับ"
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานของผู้ใหญ่ในสังคม ที่ต้องการเห็นทิศทางของชุมชน ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทาง มีงานวิจัยจากชุมชน เป็นคู่มือในการพัฒนา เป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น