ชุมชนมุสลิมช้างคลานเชียงใหม่ ละหมาดวันศุกร์

 ละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดช้างคลาน

โดยชุมพล ศรีสมบัติ

         นับอดีตจวบจนปัจจุบันมัสยิดช้างคลานยังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่มีความหลากหลายในเรื่องชาติพันธ์ที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างกลมกลืน

       ถ้าพูดถึงชุมชนช้างคลาน คนเชียงใหม่ ก็นึกภาพออกว่าเป็นชุมชนมุสลิม ที่เป็นแหล่งส่งออกเนื้อวัว เนื้อควาย เป็นภาพใหญ่ที่มองเห็น

       ในปัจจุบัน เห็นภาพชัดขึ้น นอกจากอาชีพค้าเนื้อแล้ว ยังมีแพทย์ วิศวกร อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ นักวิชาการศาสนาอิสลาม และอีกมากมายหลากหลายอาชีพ ซึ่งเป็นผลผลิตจากบรรพชน ที่มีความพยายามส่งลูกหลาน ได้เล่าเรียน และประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งคุณูปการ ที่ร่วมกันสร้างบ้านสร้างเมืองเชียงใหม่



       วันศุกร์นี้ อาจารย์อนันต์ ปัญญาวีร์ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ชวนไปร่วมละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้ อาจารย์อนันต์ ถือเป็นบุคคลอันทรงคุณค่าท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันทั้งในสังคมส่วนรวมและสังคมมุสลิม 


             รูปสมัยรับราชการ


        โดยเฉพาะอาชีพ อดีตท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ สร้างคุณูปการมากมาย จนทางมหาวิทยาลัยจัดทำลานอนันต์ปัญญาวีร์ เพื่อรำลึกในคุณงามความดีที่มอบให้กับหน่วยงาน อีกทั้งคนรุ่นหลัง จะได้นำแบบอย่างอันงดงามของท่านนำสู่การปฏิบัติต่อไป ขออัลลอฮฺอำนวยพรท่าน

      มาว่ากันต่อที่มัสยิดช้างคลาน กับการคุตบะห์ ซึ่งมีอาจารย์เฉลิม ไวยศิลป์ ดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิด ท่านเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในพื้นที่แห่งนี้ โดยนโยบายการเทศนาธรรม หรือคุตบะห์ในวันศุกร์ ท่านจะเชิญผู้รู้ทางด้านศาสนา ในพื้นที่หมุนเวียนมาให้ความรู้อันพึงจะมีประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

      ศุกร์นี้ เชิญนักเรียนศาสนา จากโรงเรียนจิตต์ภักดี นามยะยาห์ วารีย์ ลูกหลานของชุมชนช้างคลาน 


     นามสกุล วารีย์ เป็นอีกหนึ่งสายสกุลในช้างคลาน ที่มีบรรพชนทำงานศาสนามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะรุ่นคุณปู่ เป็นถึงประธานคณะกรรมการอิสลามท่านแรกของจังหวัด ปัจจุบัน มีลูกหลานเรียนจบจากซาอุดีอาระเบีย 4 ท่าน ในครอบครัวเดียวกันกลับมาสอนศาสนาสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชน และยะยาห์ เป็นรุ่นเหลนรุ่นหลานของสายสกุลนี้ที่กำลังจะสืบต่อในการทำงานศาสนาอิสลาม



      การจัดคุตบะห์ มัสยิดช้างคลาน สะท้อนให้เห็น ความใจกว้าง วิสัยทัศน์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ในการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ในการแสดงธรรมเทศนา ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์ทั้งหลายทั้งมวลย่อมเกิดกับชุมชนอย่างแน่นอน

      การบริหารจัดการชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งร่างกาย ความเป็นอยู่และจิตวิญญาณให้เจริญเติบโตแน่นอนหน้าที่นี้ต้องตกเป็นภาระของ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นและคณะกรรมการที่ชาวบ้านเสนอชื่อคัดเลือกให้เป็นผู้แทนในการดูแลมัสยิดและชุมชน ถือเป็นอามานะห์ หรือความรับผิดชอบ ที่หาปฏิเสธได้ ตั้งแต่วันที่ได้รับตำแหน่ง



     เสร็จจากการละหมาด อาจารย์อนันต์ อ.เฉลิม ท่านอิหม่ามมูฮำหมัด อิหม่ามมัสยิด พาไปเลี้ยงชากับโรตีมะตะบะ ที่ร้านอาหารโกบ้อลอิควาน นั่งคุยแลกเปลี่ยน กันในหลายเรื่องราว ส่วนใหญ่ เป็นปัญหาทิศทางในการจัดการบริหารชุมชน ในเรื่องการสร้างความเข้าใจของผู้บริหารมัสยิดเอง ให้เป็นไปในทิศทาง เป้าหมายของศาสนา อย่างน้อย การปฏิบัติ ตาม พรบ.อิสลามให้ครบถ้วนก็ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง

     ขอขอบคุณท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีขออัลลอฮ ซุบฮาฯ ทรงให้ท่านทั้งหลายมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ การงานของทุกท่านเป็นที่รีฎอพอทัยของเอกองค์อัลลอฮ ด้วยเทอญ..อามีน



ความคิดเห็น