มัสยิดอัล-อันซอรี “กองทุนซะกาต” หนึ่งเดียวในลำพูน

 บทความตีพิมพ์ในนิตยสารดิอะลามี่ ปีที่ 4 ฉบับที่41 

มุสลิมล้านนา/ฉบับมกราคม59

มัสยิดอัล-อันซอรี 

“กองทุนซะกาต” หนึ่งเดียวในลำพูน 

โดย ชุมพล ศรีสมบัติ


        มัสยิดอัล-อันซอรี บ้านแม่สารป่าแดด ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน  เคยเป็นมัสยิด หนึ่งในสอง ที่อยู่ภายใต้การดำเนิน งานของมูลนิธิ แสงทองอัลซอรี ก่อตั้งมานานกว่า30ปี   ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ ยกเป็น ฮาดียะห์(ของขัวญ)ให้กับพี่น้องมุสลิมลำพูน เป็นผู้บริหารจัดการ และ จดทะเบียนขึ้นกับกรมศาสนา เมื่อ ปี 2538 

มัสยิด อัลซอรี อาจถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตของผู้คนหลายคนที่กำลังสับสน ค้นหาที่พึ่ง  ค้นหาชีวิตใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตในด้านศาสนาศรัทธา นับเป็นความเมตตาของอัลลลอฮฺ (ซบ.) นำทางแก่ ตระกูลอัลซอรี จากประเทศซาอุดิอาระเบีย มาสร้างไว้โดยมี อัลมัรฮูมยง ฟูอนันต์ (ขออัลลอฮ์เมตตาท่าน)เป็นผู้ประสานงานในการก่อสร้างศูนย์รวมหัวใจของพี่น้องในพื้นที่ เพื่อสร้างมัสยิดไว้เป็นศูนย์กลางพบปะ และเป็นศาสนสถาน สร้างที่อยู่อาศัยให้พี่น้องมุสลิมที่ยากจน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีห้องพัก 16 ห้อง แต่ ณ ปัจจุบัน แม้ว่าจะเรียกเก็บบ้าง แต่ก็เก็บค่าเช่าในราคาถูก

     ถึงแม้นในจังหวัดลำพูน จะมีมุสลิมอาศัยจำนวนน้อย  ผู้คนในพื้นที่ต่างมีแหล่งที่มาจากหลายจังหวัด ความคิดที่ต่างกันจากพื้นฐานที่มา แต่ด้วยมีความเชื่อความศรัทธาเดียวกัน. เขาก็ต่างมุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงศาสนาสู่ทางนำในการดำเนินชีวิตส่งต่อสู่ลูกหลาน..ยืนหยัดอยู่ในสังคมเมืองลำพูนได้อย่างมั่นคง และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี  ด้วยการประพฤติปฏิบัติตน ให้อยู่ในครรลองตามแบบอย่างของท่านศาสดา สะท้อนภาพอิสลามอันมีความหมายว่า "สันติ" 

           น.ท.สมคิด  ลัทธิศักดิ์

           ทีมงาน สสม.ภาคเหนือ นำโดย น.ท.สมคิด ลัทธิศักดิ์ และทีมงาน พร้อมเชิญ อ.ยะฟัร ศรีสมบัติ นักวิชาการ ของกองทุนซะกาตเชียงใหม่  เพื่อนัดแกนนำมุสลิมในพื้นที่ลำพูนเพื่อชวนคุยและผลักดันการจัดตั้งกองทุนซะกาตและบัยตุลมาล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อ ร่วมสร้างหัวใจ ใส่ใจอุมมะฮ์ ช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้คนที่ลำบากในพื้นที่ 

        อ.ยะฟัร (ชาญชัย) ศรีสมบัติ

          ซะกาต คือ บทบัญญัติคำสั่งใช้ให้มุสลิมที่มีเงินครบอัตราที่ศาสนากำหนดในรอบปี จะต้องชักออกมา จำนวน 2.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดูแลสังคม โดยกำหนดจ่ายให้กับบุคคล 8 ประเภท ซึ่งมีการแยกประเภทชัดเจน ตามตัวบท

       "สังคมใดที่มีประชาชนที่ยากจน ขาดการเหลียวแลจากผู้มีฐานะเหนือกว่า สังคมนั้นย่อม ขาดความมั่นคง และอาจจะเกิดความหายนะได้ แต่..หากสังคมใดดูแลประชาชนผู้ใต้ปกครอง เป็นอย่างดี มีข้าวให้กินได้อิ่มท้อง มีความสามรถในการช่วยเหลือตัวเอง ผู้นำย่อมวางใจได้และความจำเริญ ความเมตตา จากเอกองค์อัลลฮ์ #ก็จะครอบคลุมทั้งดินแดน”

        เราพูดคุยกันในประเด็น ของกองทุนสวรรค์ กองทุนซะกาต อันเป็นคำสั่งจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้คนมากมาย รักและห่วงกับทรัพย์สินเงินทอง แต่เกลียดกลัวความตาย ซึ่งแน่นอน ทุกคนหาพ้นมันไม่ เราลืม คำว่า อิควะฮฺ -อุมมะฮฺ ความเป็นพี่น้อง ความเป็นอุมมะฮ 

“ รากศัพท์ มาจากอุมมู ซึ่งแปลว่า แม่ วันนี้ พี่น้อง ถูกสถาปนา ให้เป็นอุมมะฮฺ เป็นลูก ของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อส่วนใดเจ็บแน่นอนส่วนอื่นก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย” อ.ยะฟัร กล่าว

       จากการพูดคุยในวันนั้นได้นำไปสู่เจตนา โดยหลังจากการพูดคุย ผู้เข้าร่วมเสวนาในวันนั้น  ได้วางหมวกละหมาดหงายขึ้น ทุกคนในวงสนทนา หยิบเงินออกจากกระเป๋าคนละ ร้อย ครึ่ง ร้อย เพื่อเป็นทุนเริ่มต้น ในการก่อตั้งกองทุนฯ  ซึ่ง ณ วันนั้น เราสามารถรวบรวมเงินในครั้งแรกได้เกือบห้าพันบาท 

      หวลให้นึกถึงคำกล่าวของท่านศาสดามูฮัมมหัด ซึ่งรายงานจาก อบีฮุรอยเราะห์ 

     ” ผู้ใดขจัดความเดือดร้อนหนึ่งจากความเดือดร้อนทั้งหลายในดุนยาออกจากผู้ศรัทธาอัลเลาะห์จะทรงขจัดความเดือดร้อนหนึ่งจากความเดือดร้อนทั้งหลายในวันกิยามะห์ของเขา

       ผู้ใดให้ความสะดวกง่ายดายแก่ผู้ที่ได้รับความยุ่งยาก อัลเลาะห์จะทรงให้ความสะดวกง่ายดายแก่เขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ 

     ผู้ใดปกปิดให้แก่มุสลิม อัลเลาะห์ จะทรงปกปิดให้แก่เขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ อัลเลาะห์นั้นทรงช่วยเหลือบ่าวตราบใดที่บ่าวได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเขา...” 

บันทึกโดยมุสลิม : 2699

     นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการก่อเกิด กองทุนซะกาต จากจุดเล็ก ณ มัสยิดอัล-อันซอรี จังหวัดลำพูน แต่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ความคิดเห็น