“เนื้อสะเต๊ะลุงลี”ตำนานหนึ่งของอาหารมุสลิมในอดีต

 “เนื้อสะเต๊ะลุงลี”ตำนานหนึ่งของอาหารมุสลิมในอดีต 

     


สภาพลังไม้เดิมของลุงสีที่บรรจุอุปกรณ์ต่างๆและปรับเป็นโต๊ะวางของได้
ย่านเจริญประเทศต่อเนื่องกับย่านช้างคลานที่เรียกว่าชุมชนมุสลิมแห่งนี้ เป็นที่เริ่มต้นสร้างสรรค์เนื้อสะเต๊ะรสชาติเยี่ยมที่ศิษย์เก่ามงฟอร์ตรุ่นเก่าๆ ย่อมรู้จักและเคยลิ้มรสมาแล้วทั้งสิ้น ชาวมงฟอร์ตเรียกกันว่า “เนื้อสะเต๊ะลุงลี”ลุงลี สร้างบ้านหลังเล็กขอปลูกสร้างในที่ดินของญาติที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน

ลุงลีขายเนื้อสะเต๊ะอยู่หน้าโรงเรียนมานานหลายปี จึงคุ้นเคยกับนักเรียน มงฟอร์ต หลายต่อหลายรุ่น นอกจากนี้รสชาติเนื้อสะเต๊ะของลุงลีรสชาติอร่อยและไม่แพงอีกด้วย

นึกเห็นภาพลุงลี รูปร่างผอมสูง ผิวดำ ตัดผมสั้น ท่าทางใจดี

สถานที่ขายเนื้อสะเต๊ะของลุงลี คือ บริเวณร่มเงาต้นฉำฉาที่ลำต้นอยู่ในบริเวณโรงเรียนมงฟอร์ต แต่ร่มเงาทอดมานอกรั้วโรงเรียน ลุงลีนั่งขายเนื้อสะเต๊ะอยู่บริเวณทางเท้าริมถนนนอกรั้วโรงเรียน หาบมาตั้งวางขายตั้งแต่เช้าจนบ่าย สมัยนั้นทางโรงเรียนยังไม่มีกฎห้ามซื้อของนอกโรงเรียน ช่วงเช้ามักมีนักเรียนมานั่งกินเนื้อสะเต๊ะลุงลี บางครั้งชั่วโมงว่างหรือชั่วโมงพลศึกษา เด็กนักเรียนปีนรั้วออกมากินเนื้อสะเต๊ะลุงลีก็เห็นกันบ่อยๆ

   pppp
   ppoi

ราคาขณะนั้น คือเมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อน คือ ๘ ไม้ ๑ บาท ลุงลีจะมีเก้าอี้เล็กๆ เตี้ยๆ ๖ ที่สำหรับให้ลูกค้านั่ง แล้วหยิบเนื้อสะเต๊ะที่เสียบไม้ปิ้งอยู่บนเตา รูดกับร่องตะปู จิ้มน้ำจิ้ม นำเข้าปาก ไม้ที่ใช้แล้ววางเรียงไว้เพื่อสะดวกในการนับจำนวนไม้และจ่ายเงินลูกค้าเก่าๆ ที่เป็นศิษย์เก่ามงฟอร์ตบางคนเล่าว่า บางครั้งอาศัยลูกมั่ว ขณะลุงลีเผลอ นำไม้ที่กินเนื้อสะเต๊ะแล้วหักครึ่งและซ่อนไว้ที่พื้น หรือไม่ก็แทงลงใต้พื้นดิน คราวจ่ายเงินก็มักจ่ายเงินน้อยกว่าที่เป็นจริงอยู่เสมอ ภายหลังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ร่ำรวยย้อนไปถามลุงลีเรื่องนี้ ลุงลีบอกอย่างใจดีว่า ฮู้ก่ะ แต่หันเป็นละอ่อน เงินน้อย ก็เลยบ่ะว่าอะหยัง
นี่คือจิตใจที่ดีงามของลุงลี

ศิษย์เก่าร่ำรวยได้ยินก็น้ำตาซึม หยิบแบ็งค์ ๕๐๐ บาทมอบให้ลุงลี แจ้งให้ทราบว่าเป็นค่าเนื้อสะเต๊ะและดอกเบี้ยที่เคยซ่อนไม้สะเต๊ะไว้หลายครั้งหลายครา

ประวัติของลุงลีนั้น รุ่นหลานที่ขายเนื้อสะเต๊ะตำรับลุงลีสืบมา เล่าว่าลุงลีเป็นมุสลิม ขออยู่อาศัยตามที่ว่างหรือสวนลำไยของชาวมุสลิมด้วยกันที่ย่านเจริญประเทศซึ่งสมัยก่อนมักมีน้ำใจต่อกัน คิดสูตรเนื้อสะเต๊ะใส่หาบเร่ขายไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่คือหน้าโรงเรียน มงฟอร์ต จนต่อมาเมื่อเก็บเงินได้ก็ซื้อบ้านอยู่ถนนประชาสัมพันธ์ ด้านหน้าสำนักงานแขวงเม็งราย ต่อมาย้ายไปอยู่อำเภอสารภี ลุงลีมีภรรยาชื่อ ป้าผัด ไม่มีลูกด้วยกัน ได้นำหลานของภรรยามาช่วยงานและสืบทอดทำและขายเนื้อสะเต๊ะสืบมา ลุงลีเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ เรื่อยมา ได้เปลี่ยนจากหน้าโรงเรียนมงฟอร์ตมาขายที่ใต้ต้นงิ้ว ถนนระแกง ใกล้โรงเรียนเทพประสาทเดิม ต่อมาโรงเรียนเทพประสาทเลิกกิจการ เปลี่ยนมาขายใต้ต้นข่อยใกล้บริเวณเดิม ขายตั้งแต่ ๘ นาฬิกาถึงประมาณบ่ายโมง

ปัจจุบันคนขายเป็นหลานของภรรยาลุงลี ชื่อ รุ่งนภา พุทธรรม ปัจจุบันราคาเนื้อสะเต๊ะ ไม้ละ ๓ บาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอดีตนักเรียนมงฟอร์ตเดิมที่เคยลิ้มรสเนื้อสะเต๊ะสมัยลุงลียังขายอยู่ บางคนเมื่อมีงานเลี้ยงก็มาสั่งไปออกร้านในงานก็มี ลูกค้าร่ำรวยคนหนึ่ง คือ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์

   ppp

เสน่ห์ของเนื้อสะเต๊ะลุงลี นอกจากเนื้อสะเต๊ะสูตรเดิมแล้ว อุปกรณ์ต่างๆยังเหมือนเดิม คือ ลังไม้คู่ที่ลุงลีหาบไปทั่ว ลังคู่นี้เป็นที่เก็บเนื้อสะเต๊ะ ถ่าน ถ้วยชามและสามารถเปลี่ยนมาเป็นที่ตั้งน้ำจิ้มและวางของอื่นได้ทันที ส่วนอุปกรณ์อื่นก็ใช้วิธีเสียบ เหน็บ ห้อยไว้รอบลังไม้สิ่งที่เปลี่ยนนอกเหนือจากไม่มีขนมปังหั่นเป็นชิ้นๆ แบบสมัยก่อนเพราะนักเรียนมงฟอร์ตบางคนเน้นการกินขนมปังมากกว่ากินเนื้อสะเต๊ะ ส่วนไม้เสียบเนื้อสะเต๊ะที่เคยเป็นไม้จากก้านมะพร้าวเปลี่ยนเป็นไม้ที่เหลาจากไม้ไผ่แทน นอกจากนี้มีข้อแนะนำว่าควรกินจากเตาขณะร้อนๆ จะอร่อยกว่าเมื่อปล่อยให้เนื้อเย็นเพราะจะเกิดไขจากมันของเนื้อได้ง่าย

และที่สำคัญมากคือ ไม่ควรซ่อนไม้

——————————————————————————-

 พ.ต.อ.อนุ เนินหาด ผกก.จร.เชียงใหม่
(ข้อมูลเพิ่มเติมแจ้งได้ที่ anunernhard@hotmail.com)

http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=310

ความคิดเห็น