ภูมิปัญญาวัฒนธรรมและประเพณีไทย
แอ่วสาว อู้สาว
วิถีหนุ่มสาวล้านนาในอดีตกว่าจะได้แต่งงานที่สาบสูญ
ชุมพล ศรีสมบัติ
4930123101344
รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชาการจัดความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ศูนย์การเรียนรู้ อำเภอดอยสะเก็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550
คำนำ
รายงานเรื่อง แอ่วสาว อู้สาว วิถี หนุ่มสาวล้านนาในอดีตกว่าจะได้แต่งงานที่สาบสูญ นี้ จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการศึกษารายวิชา การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนวัตถุประสงค์คือ เพื่อฝึกปฏิบัติการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบของรายงานทางวิชาการ โดยผู้เขียนได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างจิตสำนึก เห็นถึงคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ซึ่งได้สูญหายไปจากการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน
เนื้อหาของรายงาน สะท้อนให้เห็นวิถี การดำเนินชีวิต ของคนพื้นเมืองทางล้านนา ที่มีความงดงาม ความเคร่งครัด การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ระหว่างหญิงชาย และผู้อาวุโส ที่มีการควบคุมพฤติกรรมของคนโดยผ่านทางความเชื่อ โดยผ่าน ผี ปู่ ย่า ไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นกุสโลบาย ภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน
ขอขอบคุณ ครูภูมิปัญญา ท่านอำนวย กลำพัด(หรือกรัมพัด) บุคลากรทางวัฒนธรรม ระดับจังหวัด ประจำปี 2519 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ที่กรุณาได้รวบรวมเรื่อง คำคมแห่งล้านนา และได้รวบรวมเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต ของคนล้านนายุคก่อนมาเป็นตำรับตำรา จนทำให้รายงานฉบับนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนขอน้อมรับเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบรูณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
7 สิงหาคม 2550
บทนำ
กระแสความเสื่อมทรามทางเศรษฐกิจและสังคม ด่ำลึกลงสู่ผู้คนในระดับรากหญ้า เป็นความล่มสลาย ที่เกิดจากระบบผลประโยชน์ อันเป็นสาเหตุให้ชนบทจนลงและอ่อนแอจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้
การลืมรากเหง้าของตนเอง ด้วยการแสวงหาความสุขที่เห็นแก่ตัวทางวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่นำมา สู่การทำลายล้างตนเองและสังคม สภาพสังคมมีแต่ความแตกแยกในครอบครัว ชุมชนก็หมดความหมาย ความเป็นคนก็หมดไป เหลือไว้แต่ความเป็นอมนุษย์ที่เน้นการเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสุดขอบ
วิถีแห่งภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ของคนรุ่นก่อนได้ถูกกลึงจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดมา เป็นการเบิกทางแห่งปัญญา สร้างทักษะชีวิต สามารถเข้าถึงจิตใจของชุมชน ที่สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ก้าวทันความรู้ พร้อมปรับตัวในยุคโลกไร้พรหมแดน ด้วย เป็นวิถีชีวิต
บทที่ 1
ประวัติความเป็นมา
ในเรื่องของวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวล้านนาในอดีตนั้น การที่จะตกลงปลงใจยินยอมมาใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา จะต้องเริ่มต้นจากการได้พบปะพูดจา ดูอุปนิสัยใจคอซึ่งกันและกันนามพอสมควร ครั้นเห็นว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน ก็มีการหมายหมั้นแต่งงานกันในที่สุด การไป แอ่วสาว นั้น ก็หมายถึงการเสาะแสวงหาคู่ครองนั่นเอง
การหาคู่ครองนั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์โลกทุกชนิด แต่มนุษย์ย่อมมีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ยึดถือปฏิบัติสืบๆ กันมา ดังนั้นการเสาะแสวงหาเนื้อคู่ของมนุษย์แต่ละภาษาแต่ละเผ่าพันธุ์นั้น จึงไม่เหมือนกัน แต่ของคนล้านนาเรานั้น เป็นประเพณีที่ไม่เหมือนกับเผ่าอื่น ๆ และบัดนี้ก็ได้หายสาบสูญไปหมดสิ้นแล้ว เพราะความเจริญแผนใหม่เข้ามา ประเพณีการแอ่วสาวอันเป็นประเพณีของคนเมืองก็ถูกลบเลือนไป คนสมัยใหม่หันไปนิยมการเลือกคู่ตามอารยะธรรมแบบตะวันตก ตามวัฒนธรรมของพวกฝรั่ง คู่ชีวิตแต่ละคู่มักจะไม่มีใครที่จะครองรักกันนานจนถึงเฒ่าถึงแก่ด้วยกันเลข ส่วนมากมักจะจบด้วยการหย่าร้าง
บทที่ 2
องค์ความรู้ที่ศึกษาและรวบรวม
ด้านสาระคุณค่า วัฒนธรรมประเพณีของคนรุ่นเก่าผ่านการสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานกล่อมเกลาด้วยวิทยปัญญา คุณค่าในเชิงประเพณีวัฒนธรรมการหาคู่ของชาวล้านนาสมัยก่อน ปรัชญาในการดำเนินชีวิตส่งผลให้ผู้คนดำเนินชีวิตอยู่ในครรลองของศีลธรรม จริยธรรมอันดีงาม ไม่ทำตนเองออกนอกลู่นอกทาง
ในปัจจุบัน ความเป็น “สากล” แบบตะวันตกถูกชูให้เหนือวัฒนธรรมอื่น มีอิทธิพล ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมไทย ที่ร้อยรัดด้วยความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เครือญาติ เพื่อนฝูง มิตรสหาย ที่มีความเคารพในความเป็นอาวุโส และความเป็นกันเองอย่างเสมอภาค มาเป็นความความสัมพันธ์ ทางสังคมที่แตกต่างทางชนชั้นในลักษณะสูงต่ำ ระหว่างผู้มีความมั่งคั่งกับอำนาจ กับผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัย ใครควบคุมเข้มแข็งที่สุด กว้างขว้างที่สุด ผู้นั้นก็มีอำนาจมากที่สุด เร่งรับเอาของวิเศษ คือความเป็น “สากล” ด้วยกับการละทิ้ง “ภูมิปัญญา” “คน” มีสภาพเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า คนได้ถูกค่อนขอดว่าเป็น “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน” ด้วยกับความเป็นทุนนิยมและบริโภคนิยม ระบบศีลธรรม จริยธรรม ถูกมองข้าม ทุกๆ การตัดสินใจในทุกเรื่องราว คนรอบข้างต่างสอดประสานด้วยกับสามประโยค “ถูกครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” (ยูซุพ บินอับดุลฮามิต หนังสือคนขายเครา;BANG-AW:2540) เมื่อเราย้อนไปดูวิถีการหาคู่ครองของคนลานนาในอดีตเห็นได้ว่า วิถี การดำเนินชีวิตของคนเมือง เรียบง่าย มีการ ที่เอื้ออาทรต่อกัน มีภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี ที่งดงามยากหาจากคนในยุคนี้ได้
ด้านการปฏิบัติและขั้นตอนการแอ่วสาวของผู้ชายในอดีต
การอู้สาวจะเริ่มต้นขึ้นก็เมือพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าทุกคนนั้นเสร็จจากภาระกิจการงานต่างๆ แล้ว และไม่ปรากฏว่าในตอนกลางวันนั้น จะมีการ แอ่วสาว เลย พวกสาว ๆ ก็จะหลบหน้าหลบตาไม่ยอมพบพวกหนุ่มๆ และพวกหนุ่มก็เหมือนกัน จะไม่ยอมไปเยี่ยมกรายกรายใกล้บ้านสาวเหมือนกัน ในช่วงกลางวันนั้น พวกหนุ่ม ๆ ก็จะไปทำงาน อาจจะเป็นการทำไร่ ทำนา หรือพวกที่เป็นช่างฝีมือ ก็จะไปทำงานตามแนวที่ถนัดของแต่ละคน
หนุ่มล้านนาในสมัยก่อนนั้น ไม่นิยมที่จะมา “อู้สาว” ในเขตละแวกหมู่บ้านเดียวกัน เพราะเคยเห็นกันมาตั้งแต่ยังเล็กๆ เคยเล่นหัวด้วยกันมา มีความนับถือกันเหมือนญาติพี่น้องแต่ก็อาจจะมีบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อย อีกประการหนึ่งนั้นการที่จะมา “อู้สาว” หมู่บ้านเดียวกันนั้นมักจะถูกล้อเลียนว่า “แอ่วสาวบ้านเดียวเหมือนเตียวไปขี้” (จีบสาวบ้านเดียวกันเหมือนเดินไปหาส้วม)
ค่ำลงแล้วพวกหนุ่ม ๆ ก็จะผัดหน้าทาแป้ง หวีผมเสียเรียบแปร้ ผู้ที่มีนิสัยรักดนตรี ก็จะ “สปายซึง” ไปด้วย หรือ บางคนถนัด “สะล้อ” ก็จะถือสะล้อติดมือไปด้วย เมื่อได้เวลาก็จะเกาะกลุ่ม ดีดซึงสีสะล้อ ,, เดินไปจนกว่าจะถึงบ้านสาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านอื่นไม่ใช่หมู่บ้านเดียวกัน การไปแอ่วสาวมักจะไปกันเป็นกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 2-3 หรือ 3-5 คน
การแอ่วสาว มักจะนิยมแอ่วกันหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว ซึ่งจะเป็นช่วงกลางฤดูหนาว เพราะช่วงนี้งานภารกิจต่าง ๆ ก็ทำเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงมีเวลาว่างพอที่จะให้หนุ่ม ๆ ออกแสวงหาคู่ครอง การแอ่วสาวนี้จะมีตั้งแต่หมดฤดูเก็บเกี่ยวเรื่อยไปจนถึงหลังปี่ใหม่เมือง(วันสงกรานต์) หลังสงกรานต์แล้วก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ในช่วงฤดูฝนนี้มักจะไม่มีใครไปแอ่วสาว นอกเสียจากคนที่เป็นคนรักกันเท่านั้น ที่ยังไปมาหาสู่กันจนกว่าจะตกลงปลงใจอยู่กินร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน
ส่วนฝ่ายสาว เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วก็จะแต่งตัวอย่างประณีต นั่งอยู่บน “เติ๋น” (กลางบ้าน) มักจะหางานจุกๆ จิกๆ มาทำพอแก้เขิน บางรายก็จะเอา “เผี่ยน” มานั่งปั่นฝ้าย หรือบางรายก็อาจจักตอกทำเครื่องจักสาน ซึ่งงานประเภทนี้ก็ขึ้นแต่ละบ้านว่า ในละแวกนั้นมีงานประเภทใดทำเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน สาวๆ ก็จะเอาของสิ่งนั้นๆ มาทำรอพวกหนุ่ม ๆ ที่มาแอ่ว
การ แอ่วสาว นี้จะไม่นิยมไปกันตั้งแต่หัวค่ำ เพราะเกรงว่าการไปในช่วงนี้จะไป “ย้ำถ้วยน้ำพริก” ซึ่งหมายถึง การไปบ้านสาวแล้ว ไปเจอเวลาอาหารเย็นของบ้านสาวเข้านั่นเอง เพราะคนเมืองเรานั้น ส่วนใหญ่มักจะ รับประทานอาหารเย็นกันในเวลาประมาณ 19.00-20.00 น. การแอ่วสาวจึงมักจะไปกันหลังเวลาดังกล่าว ล่วงเลยไปแล้ว และการแอ่วสาวนี้จะมีไปถึง ตี 2 ตี3 และพวกที่แอ่วสาวกลับมาในช่วงนี้ ก็จะมีการ “จ๊อย” (โคลงกลอนคนล้านนา) ไปตาม “กอง” (ถนน) ในหมู่บ้าน โดยมีเสียงสะล้อสีคลอไปตามทำนองของจ๊อย ถ้อยคำของจ๊อยนั้นอาจจะกล่าวถึงผู้หญิงในเชิงตัดพ้อต่อว่า หรือออดอ้อนขอความเห็นใจจากสาวๆ ก็ได้ ตามแต่ผู้ที่ขับร้องจ๊อยนั้น จะเลือกบทร้อยกรองบทไหนออกจาก จ๊อย
ภาพจากอินเตอร์เน็ตการ “แอ่วสาว” นี้ มีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งคือ ในตอนหัวค่ำนั้น บ่าวผู้เป็น “ตั๋วป้อ” ของสาวๆ นั้น จะไม่มาหา “ตั๋วแม่” ของตนเลย คงปล่อยโอกาสให้พวกบ่าวต่างบ้านที่มาแอ่วขึ้นไปเกี้ยวคู่รักของตน ส่วนตนเองนั้นก็ไป “แอ่วสาว” ที่บ้านอื่นก่อน และบ่าวๆ ในสมัยนั้นไม่มีการนแสดงอาการหึงหวงต่อกันเลย และบางครั้งก็อาจจะพาเอาเพื่อนต่างบ้านไป “แอ่วสาว” อันเป็นคนรักของตนก็มี และไม่เคยปรากฏว่ามีการทำร้ายกันถึงเลือดตกยางถึงในในเชิงหึงห่วงผู้หญิงอีกด้วย และทำให้เห็นว่าจิตใจของบ่าวๆ ในสมัยนั้นมีความใจกว้างและแฟร์พอในเรื่องอย่างนี้
สำหรับบ้านของสาวนั้น จะต้องมีหิ้งกระจก มีแป้งผัดหน้า มีหวี เตรียมเอาไว้สำหรับให้บ่าวๆ ที่มาแอ่วหานั้น ไปผัดหน้า หวีผม ส่วนสาวนั้นก็นั่งบน “เติ๋น” ใกล้ๆกับประตูห้องทั้งนั้นก็เพื่อที่จะเอาไว้ป้องกันพวกบ่าวมือเร็วที่มาแอ่ว กระทำการล่วงเกิน เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น สาวก็จะได้หลบเข้าไปในห้อง ไปปลุกบิดามารดาให้รู้ถึงการล่วงเกินของพวกบ่าวเหล่านั้น
บริเวณที่สาวนั่งนั้น จะต้องนั่งใกล้กับประตูห้อง ด้านบนประตูระหว่างวงกบนั้น จะมีแผ่นไม้สี่เหลี่ยมสลักลวดลายติดกั้นเอาไว้ ซึ่งเรียกแผ่นไม้นั้นว่า “หำยนต์” หรือ “หำโยน” ซึ่งบ้านของคนเมืองที่มีฐานะ เป็นบ้านไม้สักนั้น มักจะมีแผ่นไม้นี้ติดเอาไว้ทุกบ้าน ทั้งนี้ก็เพราะเอาไว้ป้องกันหรือเอาไว้เพื่อเป็นการ “ข่ม” ตามพิธีไสยศาสตร
บนบ้านของฝ่ายสาวอาจจะ “ต๋ามผางมันโกม” เอาไว้ แสงสว่างนั้นไม่สว่างมากนักแบะจะนำผางมันโกมนั้นมาไว้ตรงกลางๆ “เติ๋น” ส่วนสาวนั้นก็จะนั่งบังเงาเสา ไม่ให้พวกบ่าว ๆ ที่มาแอ่วนั้นได้เห็นหน้าถนัด ซึ่งการนั้งลับเงาเช่นนี้ พวกบ่าวที่มาแอ่วหาก็จะพยายามที่จะยลโฉมหน้าให้ถนัด ๆ ก็มีการลุกขึ้นจากที่นั้งไปดื่มน้ำจากหิ้งน้ำ กลับมานั้งใหม่ก็ย้ายที่นั่งจากที่เดิมมาอยู่ใกล้ๆ สาวและทำทียกผางมันโกมขึ้นมาจุดบุหรี่ แล้วก็วางโกมนั้นให้เลื่อนไปจากที่เดิมให้แสงสว่างส่องเห็นหน้าสาวชัดๆ ฝ่ายสาวก็จะกระเถิบลับบังเงาอีก ฝ่ายหนุ่มก็จะทำทีลุกขึ้นดื่มน้ำอีก แล้วกลับมาย้ายแสงไฟอีก สาวก็จะกระเถิบเข้าไปบังเงามืดอีก นับเป็นการหยอกเย้ากัน ค่อนข้างจะสนุกสนานทีเดียว
พอตกดึกกะว่าพวกหนุ่มต่างบ้านที่มาแอ่วนั้นกลับไปแล้วก็จะมาหา “ตั๋วแม่ของตน” ซึ่งจะมาหาในราวประมาณ ตี 2 ตี 3 ช่วงนี้ทั้งสองก็จะคุยกันเพียงลำพังฉันท์คนรัก จนเวลาผ่านไปจนใกล้จะรุ่งสางจึงลากลับบ้านไป และสาวนั้นก็จะเข้าครัว “นึ่งข้าว” ต่อไป
การอู้สาวแบบคนที่รักกันนั้นไม่นิยมพูดกันในแบบ “กำค่าวกำเคลือ” แต่จะพูดกันในแบบธรรมดาๆนี่เอง “กำค่าวกำเคลือ” นั้นเอาไว้พูดตอบโต้กันกับพวกบ่าวต่างบ้าน หรือกับ “บ่าว” ที่เพิ่งมารู้จักกับ “สาว” เป็นครั้งแรกนั้นเอง
ความเชื่อในเรื่อง ผี
ตามปกติบิดามารดาของฝ่ายสาว จะให้เสรีภาพในการเลือกคู่ครองของลูกสาวอย่างกว้างขวาง แต่ต้องมีขอบเขตจำกัด ไม่ให้กระทำสิ่งใดๆ ที่เป็นการ “ผิดผี” อย่างเด็ดขาด การผิดผีนั้นก็คือการล่วงเกินฝ่ายสาว จะเป็นด้วยเจตนาหรือไม่ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง
การนั่งอู้สาวจะไม่มีการล่วงเกินกันเลย จนกว่าจะได้รับการฝากรักและฝ่ายหญิงก็เต็มใจด้วยซึ่งหมฟฟายความว่าทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงนั้นพร้อมที่จะตกแต่งเป็นสามีภรรยากันแล้ว จึงมีการ “ผิดผี” กันขึ้น
การผิดผีนี้ ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ ก็เข้ามานั่งคุยด้วยสักครู่ก็ตรงเข้าไปล่วงเกินอันเป็นการกระทำที่ผิดผีนั้น ก็ไม่ได้หมายความถึงการได้เสียซึ่งกันและกันแต่เพียงอย่างเดียว แม้เพียงการแตะเนื้อต้องตัว จับมือถือแขนหรือล่วงล้ำเข้าเขตหวงห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกภายในครอบครัวก็นับว่าเป็นการผิดผีแล้ว และเขตหวงห้ามนั้นห้ามไว้เฉพาะผู้ชายที่ญาติสนิทเท่านั้น สำหรับผู้หญิงหรือเด็กเล็ก ๆ ที่อายุยังไม่ถึงสิบห้าปี แม้นจะผ่านเข้าออกเขตหวงห้ามก็ไม่นับเป็นการผิดผี
การล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามคือ การลุกล้ำเข้าไปในเขตห้องนอนของฝ่ายหญิง ซึ่งแต่ละบ้านนั้นจะมี “ข่มประตู” กั้นเอาไว้ที่ประตูห้องนอน เมื่อฝ่ายชายได้ผ่านเข้าข่มประตูไปแล้ว จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็นับเป็นการผิดผี จะต้องมีการ “ขอสูมา” และเสียค่าผิดผีตามประเพณี แม้นว่าจะไม่ได้แตะต้องตัวของฝ่ายหญิงเลยแม้นแต่น้อยก็ตามและการ เสียผี นั้นก็ไมได้หมายความว่า ฝ่ายชายที่เสียผีนั้นจะได้ลูกสาวของบ้านนั้นเป็นภรรยา เพราะการผิดผีนั้นไม่ได้หมายความถึงการแต่งงาน หากฝ่ายหญิงไม่ยินยอม
การผิดผีนั้น มีอยู่สองประเภทคือ ประเภท”ใส่เอา”และประเภท “ใส่ไม่เอา” ประเภทแรกนั้น เมื่อฝ่ายชายไปผิดผีแล้วและได้รับการยินยอมจากฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายหญิงนั้นยินยอมที่จะร่วมชีวิตเป็นสามีภรรยากัน อีกประเภทคือ ใส่ไม่เอา ก็หมายถึงฝ่ายหญิงไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะล่มหัวจมท้ายด้วย ฝ่ายชายก็ต้องเสียค่าผีเหมือนกัน แต่อาจจะเสียเพียงครึ่งเดียว พร้อมกับต้อง ขอสูมา
การใส่ผีนั้นจะต้องมี หัวหมูหนึ่งหัวพร้อมทั้งเท้าทั้งสี่ข้าง และหางหมู รวมทั้งเครื่องในหมูตัวนั้น อย่างละเล็กละน้อยนำมาประกอบกันให้พอเป็นพิธีว่า เลี้ยงทั้งตัวนั้นเอง นอกจากนี้ก็จะต้องมี ข้าวต้มหัวหงอก ผลไม้ ดอกไม้ธูปเทียนและสุราขาวอีก 1 ขวด บางแห่งก็ไม่ใช้หัวหมู แต่ใช้ปลาซิวแทนหัวหมูก็มี สำหรับเงินค่าผีนั้น จะเรียกกันตั้งแต่ 3 บาท 6 บาท 12 บาท 24 บาท 36 บาท หรือบางทีก็อาจจะเรียกร้องเป็นจำนวนมาก ๆ เป็นร้อยเป็นพันก็มี ตามแต่ฐานะของฝ่ายชาย ซี่งฝ่ายหญิงจะเรียกร้องโดยอ้างว่าเป็นค่า “ข้าวม่ำน้ำนม” หรืออาจจะเรียกว่าเป็นสินสอดทองหมั้นก็ได้
อาจมีบางรายที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงพึงพอใจในความประพฤติ ด้วยเห็นว่าฝ่ายชายเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เป็นคนขี้เหล้าเมายาหมกมุ่นในการพนัน แม้ว่าจะมีตัวเปล่า ๆ ไปหาพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็อาจจะยกให้โดยไม่เรียกร้องสินสอดทองหมั้นเลยแม้แต่สตางค์เดียวก็มี
บทที่ 3
การถ่ายทอด สืบทอด เผยแพร่รวมทั้งการจัดเก็บความรู้
ปัจจุบันเรื่องราวการแอ่วสาวตามวิถีล้านนา ได้หายไปจากการดำเนินชีวิตของผู้คนล้านนายุคปัจจุบัน จะมีก็แต่ผู้ที่สนใจถามผู้แก่ผู้เฒ่าในชุมชนที่ได้ผ่านวิถีการหาคู่ครองด้วยลักษณะดังรายงานข้างต้น และจากหนังสือเท่าที่หาได้ในปัจจุบัน เป็นหนังสือเรื่อง คำคมแห่งล้านนา (กำบ่ะเก่า) รวบรวมโดย อำนวย กล่ำพัด จัดพิมพ์จำหน่าย โดย ร้านประเทืองวิทยา 253-255 ถนนวิชยานนท์ ในตลาด นวรัฐ เชียงใหม่ โทร. 053-235684 หรืออาจหาได้ในหอสมุดประจำจังหวัด
บทที่ 4
ลักษณะของความรู้
ความรู้ที่ชัดแจ้ง
รายงานเรื่องนี้ เราจะเห็นภาพความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมของคนล้านนาในอดีต ซึ่งครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิติ ของผู้คนในยุคนั้น ความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงของสังคมที่มีให้ซึ่งกันและกัน พฤติกรรม การให้เกียรติ แก่แขกผู้มาเยือน ผ่านบทกลอนที่ เพิ่มพูนสติปัญญา สามารถโต้ตอบกันด้วยภาษาที่งดงาม
อิทธิพลความเชื่อเรื่องผี เป็นกลไกที่สามารถควบคุม พฤติกรรมของคนในสังคม ให้อยู่ในระบบกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ผ่านทางความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งปฏิบัติได้ยากในสังคมยุคปัจจุบัน ที่ถูกกล่อมและมอมเมาจากลัทธิความเชื่อแบบทุนนิยมเสรี ให้กลายเป็นบุคคลที่มองอะไรเพื่อตนเอง เพื่อพวกพร้องของตนเองในลักกษณะปัจเจกบุคคลจนตกขอบ ชื่นชมลุ่มหลงต่อความต้องการทางวัตถุ จนกลายเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ดุลยภาพของมนุษย์ไป
ความรู้โดยนัย
เรื่องราวเกี่ยวกับหำยนต์และกาแลเอกลักษณ์หรือเครื่องหมายแห่งทาส
จะเห็นได้จากรายงานว่าคนเมืองจะมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องของ หำยนต์ หรือหำโยน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ว่ามันเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถี การดำเนินชีวิตของคนล้านนาอย่างไร
**ลักษณะของหำยนต์เป็นไม้กระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเรียบ ด้านล่างฉลุเว้าเป็นรูปเสี้ยววงกลมสองรูปมาชนกัน ตรงกลางทำเป็นส่วนย้อยแหลมออกมาทางช่องประตู หำยนต์หรือหำโยนนี้ ทำเอาไว้เพื่อเป็นการข่ม ตามพิธีไสยศาสตร์ คำว่า หำ แปลว่า อัณฑะอาจจะเป็นได้ของสัตว์หรือคนเพศผู้ คำว่ายนต์นั้นคงจะหมายถึงศาสตร์อันลี้ลับแขนงหนึ่ง เพราะคนโบราณนั้น กระทำสิ่งไหนที่เป็นศาสตร์อันลึกลับแล้ว มักจะมีคำว่ายนต์ปะปนอยู่ด้วย เช่นคำว่ายนต์ฟัน ยนต์ฟ้าผ่า ยนต์น้ำท่วมและยนต์คัน ซึ่งคนโบราณจะทำเอาไว้ในสถานที่ต้องห้าม เช่นอุโมงค์เก็บสมบัติ
ในกรุฝังสมบัติของเจ้าพระยามหากษัตริย์ในสมัยก่อน ๆ เล่ากันว่า เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปในที่ซ่อนสมบัติแล้ว ยนต์ต่าง ๆ นั้นก็จะทำงานทันที ยนต์ฟันก็จะฟันจนร่างของคนที่บุกรุกขาดเป็นสองท่อน ยนต์ฟ้าผ่าก็จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ยนต์น้ำท่วมก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นมา ยนต์คันก็จะทำให้ผู้บุกรุกเข้าไป มีอาการคันคะเยอไปทั่วร่างกาย และเกาจนขาดใจก็มี
สำหรับหำยนต์หรือหำโยนนั้นเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งนครเชียงใหม่ได้สูญเสียเอกราชให้กับพม่าแล้ว พม่ามีความเกรงกลัวว่า ในนครเชียงใหม่จะมีผู้มีบุญญาธิการมาจุติกอบกู้เอกราช จึงบังคับให้ชาวเชียงใหม่ทุกครอบครัวสร้างบ้านให้มีลักษณะข่มตนเอง หรือข่มอาถรรพณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นภัยต่อพวกพม่าให้หมดสิ้นลงไป จึงบังคับให้บ้านแต่ละหลังนั้นต้องสร้างให้มี “กาแล” อันแปลว่า อีกาชำเลือง บางแห่งเรียก “แก๋แล” แปลว่า นกพิราบชำเรือง
กาแลนั้นต้องให้หน้าจั่วบ้านนั้น ยื่นไม้ให้พ้นจากหลังคาออกไปเป็นรูปตัว v ซึ่งการไขว้ไม้ลักษณะนี้ จะพบเห็นในการปักไขว้กันบนหลุมฝังศพเด็กที่ตายลงไปอายุยังไม่ถึงสามขวบ นัยว่าเป็นการปักไม้เพื่อสะกดวิญญาณ
นอกจากนี้ไม่ว่าทารกแรกเกิดจะถือกำเนิดออกมาที่ไหนในนครเชียงใหม่แล้ว จะต้องบังคับให้ฝังรกที่ใต้บันใดทางขึ้นบ้าน เพื่อข่มบุญบารมีให้หมดสิ้นไป ไม่ให้มีโอกาสมาซ่องสุมกำลังผู้คนกอบกู้เอกราช เพราะใต้บันใดนั้นเป็นที่ข้ามเหยียบของผู้คนทั้งคนผู้หญิงและชาย
หำยนต์หรือหำโยนนี้ ก็เช่นกัน ก็คงมีไว้สำหรับข่มชาวเชียงใหม่ไม่ให้มีโอกาสดิ้นรนต่อสู้กับพวกพม่าต่อไป การข่มโดยเอาของต่ำไปไว้บนที่สูงให้ผู้คนชาวเชียงใหม่ได้ลอดผ่านไปมานั้น ก็เท่ากับกดให้เป็นเบี้ยล่างตลอดไป
คนรุ่นต่อ ๆ มาไม่ทราบถึงเหตุผลในข้อนี้ ก็คิดว่าเป็นของดี เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงใหม่ ก็พากันสร้างสิ่งเหล่านี้มาประดับบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็คือเครื่องหมายของความเป็นทาสของชนชาติต่างเผ่าพันธุ์ที่เข้ามากดขี่ข่มเหงเรามาก่อนนั่นเอง
(**หนังสือคำคมแห่งล้านนา(กำบะเก่า) อำนวย กล่ำพัด รวบรวม เอื้องผึ้ง ระมิงค์พันธ์ เรียบเรียง : 2530)
บทที่ 5
ความรู้เพิ่มเติมและผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการทำรายงานภูมิปัญญาแอ่วสาวล้านนา
หลังจากที่ได้ทำรายงานความรู้ที่ได้ความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของผู้คนล้านนาในอดีต เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ที่ร้อยรัดคนในสังคม ให้มีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ความมีน้ำใจเอื้อเฝือเผื่อแผ่ มองเห็นคุณประโยชน์ในสุภาษิตของคนเมืองบ่ะเก่า(คนโบราณ)ท่านได้ผูกถ้อยคำขึ้นมาผ่านโคลงกลอนของล้านนาให้มีสัมผัสคล้องจองกัน เพื่อแนะนำ สั่งสอนลูกหลานทุกวิถีการดำเนินชีวิตของคนล้านนามีความหมาย
ที่สามารถนำมาสั่งสอนอนุชนรุนหลังได้ทุกยุคทุกสมัย และเราทุกคนควรจะมีความภาคภูมิใจที่คนเมืองของเรานั้นมีของดีมากมายที่ควรนำมาอวดให้คนภาคอ่านได้รู้ว่า ของดีเหล่านี้เป็นของคนโบราณได้สั่งสอนลูกหลานสืบๆ กันมา ถ้อยคำผูกกันขึ้นมานั้น มีความสละสลวย หนักแน่นและลึกซึ่ง มีความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผ่านความรู้สึกเกี่ยวกับไสยศาสตร์ต่าง ๆ ในอดีต ซึ่งได้สูญหาย ไปพร้อมกับกาลเวลา ที่ขาดการสืบทอด ไม่เห็นความสำคัญของภูมิปัญญา จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ประเพณีวัฒนธรรมที่สวยสดงดงามได้หายไปจากสังคมล้านนาแล้ว
ระบบชีวิตที่ภูมิปัญญาปักยึดอยู่บนพื้นฐาน ที่เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญแก่การศึกษา นำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจ พร้อมมุ่งมั่นในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องสอดคล้อง กับ คุณธรรม จริยธรรม ที่ส่งผ่านมายังคนรุ่นเก่า ความสัมพันธ์และความรู้สึกของผู้คนภายใต้กรอบคิดของศีลธรรม ได้แก่การพยายามวางพื้นฐานของการสร้างความเจริญ ด้วยกับการที่จะสื่อผู้คนได้ตระหนักเห็นถึงวิถีชีวิตที่เพียบพร้อมไปด้วย การละอายต่อบาป
การล่มสลายของ ประเพณี วัฒนธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่ หลงเหลืออยู่แค่ความทรงจำ ด้วยสาเหตุที่ผู้คนได้หลงทางเดินออกนอกแนวทางกรอบคิดดั่งเดิม สู่กรอบคิดวัตถุ เงินตรา บารมี อำนาจวาสนา จนใช้ชีวิตอย่างไร้การไตร่ตรอง กลายเป็นช่องว่างแห่งความอ่อนแอ
การหันกลับมา ทบทวนระบบชีวิต โดยพัฒนาชีวิตใต้กรอบความคิดแบบพอเพียง พอมีพอกิน ไม่อดอยากและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับชุมชน การผลิต ความสมดุลทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นำมาซึ่ง วิถีวัฒนธรรมและประเพณี เข้าใจและอยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุข เป็นความมั่นคงปลอดภัย ภายใต้วิถีคิดและสำนึกที่เป็นพลังแห่งความพอเพียง
บทที่ 6
ปัญหาอุปสรรค์
ปัญหาคือ วิธี คิดของผู้คนยุคปัจจุบัน เห็นว่า ประเพณีและวัฒนธรรมดั่งเดิม เป็นเรื่องที่ล้าสมัย สร้างชนชั้นที่เป็นตัวแทนแห่งความรู้สึก ความคิด จริยธรรมและสติปัญญา มองพวกตนเองว่าต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี ไร้เกียรติ ไร้อำนาจ ตกต่ำ ล้าหลัง ไม่พัฒนา ไม่มีความทันสมัย หัวโบราณ ไร้การพัฒนาทำตัวและความคิดเป็นกระบอกเสียงของอารยะธรรมตะวันตก
ประณามคนรุ่นเก่า ถูกครอบงำอย่างเป็นระบบ ตกเป็นทาสทางวัฒนธรรมและสติปัญญา เหยียดหยามและทำลายประเพณีขนบธรรมเนียม ประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ เป็นปัญญาชนที่ได้รับการศึกษา ที่ถูกหล่อหลอมในเบ้าของการศึกษา ที่พยายามทำลายล้างวิถีชุมชนที่ผ่านการกลึงจากคนรุ่นเก่า เราต่างถูกทำลายโลกทัศน์แห่งภราดรภาพ ไม่เข้าใจแก่นแท้ของตนเอง กาลฉะนี้จึงเป็นเหตุให้วิถีประเพณีที่งดงามถูกลืมเลือน
รายงานโดย นายชุมพล ศรีสมบัติ
โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์การเรียนรู้ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่
เพื่อให้ได้สัมผัสกับวิธีแอ่วสาวของคนเมืองผู้เขียนได้แนบไฟล์ซีดีเพลงแอ่วสาวบ่ะเก่ามาพร้อมกับซีดีรายงานนี้ด้วย
บรรณานุกรม
1.กำอู้บ่าวสาว หน้า92-96 หนังสือคำคมแห่งล้านนา รวบรวมโดย อำนวย กล่ำพัด จัดพิมพ์จำหน่ายโดยร้านประเทืองวิทยา 253-255 ถ.วิชยานนท์ ในตลาดนวรัฐ เชียงใหม่โทร.053-235684
2.ซีดีเพลง วงการันตี ชุด น้ำตาไก่ไข้กวัดนก เพลงที่ 4 ชื่อเพลง แอ่วสาวบ่าเก่า
3.อภิธานศัพท์
บ่าว หนุ่มที่ยังไม่ได้แต่งงาน
สาว ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
อู้สาว การพูดคุยกับหญิงสาว ในลักษณะเกี้ยวพาราสี
ผิดผี การกระทำอันถือว่าเป็นการล่วงเกินฝ่ายหญิง
สปายซึง การเอาเชือกผูกกับซึง ป้องกันไม่ให้หลุดจากมือเวลาดีด
จ๊อย ลำนำอันเป็นบทร้อยกรอง ที่ขับร้องทำนองเสนาะวิเวก
แหบโหยเผี่ยน เครื่องมืออย่างหนึ่งไว้สำหรับกรอด้าย
ตั๋วป้อตั๋วแม่ คู่รักกัน ฝ่ายชายเรียกว่าตั๋วป้อ ฝ่ายหญิง เรียก ตั๋วแม่
กำค่าวกำเคลือ คำพูดที่มีการสัมผัสคล้องจอง เป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะ
เติ๋น ที่รับแขก อยู่เหนือชานบ้านเล็กน้อย
หำยนต์หรือหำโยน ไม้กระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเรียบ ด้านล่างฉลุเว้าเป็นเสี้ยววงกลมสองรูปมาชนกัน ตรงกลางทำเป็นส่วนย้อยแหลมออกมาทางช่องประตู
ผางมันโกม ตะเกียง หรือกระออมที่บรรจุน้ำมันเอาไว้ มีใส้เป็นฝ้ายที่ปั่นเป็น เส้นแล้วนำมาควั่นเป็นตีนกา หย่อนลงไปแช่ในกระออม
กอง ถนน, อาการรอคอยการกลับมา
ข่มประตู๋ บริเวณประตูห้องนอนของฝ่ายหญิง ซึ่งจะมีไม้ขนาด 3 นิ้ว ตอกตะปูขวางไว้ระหว่างวงกบส่วนล่าง เป็นแนวบอกให้รู้ถึงเขตหวงห้ามของบ้านนั้น ๆ
ข้าวม่ำน้ำนม เป็นสำนวนคล้องจ้อง อันหมายถึงการเลี้ยงลูกสาวมานานต้องเสียเวลาป้อนข้าวม่ำ ข้าวม่ำคือ ข้าวที่เคี้ยวให้ละเอียดสำหรับป้อนทารก
ขอสูมา ขอโทษ (การขอขมาต่อผีปู่ย่าตาทวดของฝ่ายหญิง ที่ได้กระทำล่วงเกิน)
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นคลิปเพลงแอ่วสาวบ้านเฮาจากวงการันตี ศิลปินล้านนา
https://youtu.be/fASrMKvY_9s
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น