กุโบร์สุสานช้างเผือกของชาวมุสลิมกับวิสัยทัศน์บรรพชน สี่แยกสันติธรรม เชียงใหม่…

 กุโบร์สุสานช้างเผือกของชาวมุสลิมกับวิสัยทัศน์บรรพชน สี่แยกสันติธรรม เชียงใหม่…

       #กุโบร์สุสานมุสลิมสี่แยกสันติธรรม ของมัสยิดช้างเผือกเชียงใหม่

  ชุมพล​ ศรีสมบัติ​       

        การส่งศพหรือส่งมัยยิดเป็นความจำเป็นที่มุสลิมเมื่อได้ยินข่าวการเสียชีวิตของพี่น้อง ต้องไปส่ง เคยได้ยินถึงกับว่าชุมชน หรือหมู่บ้านใด หากได้ยินข่าวการเสียชีวิต อย่างน้อยก็ต้องมีตัวแทนร่วมส่งมิเช่นนั้น ก็จะได้รับโทษทางศาสนาประมาณนั้นถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ (ข้อบังคับที่จักต้องทำแต่ต้องมีผู้กรทำแทนจึงทำให้พ้นผิด) ประเด็นนี้พอจะมีผู้รู้พอจะให้ความกระจ่าง ขอความกรุณาช่วยชี้แนะเพื่อประโยชน์ด้วยนะครับ

       ในส่วนผลบุญ สำหรับผู้ไปส่งมัยยิดหรือศพ ..น้อย ซะเมื่อไหร่ละครับ มีบันทึกที่แข็งแรงเชื่อถือได้ ที่ว่า

“ผู้ใดละหมาดให้แก่ผู้ตาย (ญะนาซะฮฺ) เขาจะได้รับผลบุญมีน้ำหนักเท่า หนึ่งกิร็อฏ และถ้าเขาไปร่วมฝังศพก็จะได้รับผลบุญเท่ากับ สองกิร็อฏ(ผลบุญ หนึ่งกิร็อฏ มากมายยิ่งใหญ่เท่ากับภูเขาอุฮุด)

     ดูเอาแล้วกันว่าผลบุญการส่งศพของพี่น้องมุสลิมยิ่งใหญ่ขนาดไหน ลงทุนก็น้อย เพียงตั้งเจตนา หวังรางวัลจากอัลลอฮ์ ร่วมส่งศพหรือมัยยิด ขอดูอาอฺ กลับบ้านมีของติดมือมาอย่างมากมาย ถ้ามองเห็นเป็นตัวเงิน คนเมืองล้านนาว่ากิ๋นบ่เสี้ยง กินไม่รู้หมดนั้นแหละครับ

       พูดถึงกุโบร์มุสลิมในพื้นที่เทศบาลเมืองสองแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกุโบร์ที่แยกแสงตะวัน ของมัสยิดบ้านฮ่อ หรือจะเป็นกุโบร์ ที่ช้างเผือก ล้วนตั้งอยู่ในทำเลทองของเมืองเชียงใหม่ ยิ่งของมัสยิดช้างเผือก ถ้าจะให้ผมคาดคะเนพื้นที่ สิบกว่าไร่น่าจะมี  

        หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยทำไมที่ดินป่าช้าจึงมาตั้งอยู่กลางบ้านกลางเมือง เชียงใหม่เช่นนี้ นั้นซิครับทำไมเป็นเช่นนี้ ครับสะท้อนให้เห็น ความยาวนานที่พี่น้องมุสลิมเข้ามาอยู่ในเมืองล้านนา ในส่วนสุสานแถวแสงตะวัน แถวนั้นในยุคก่อนน่าจะอยู่ในส่วนของทุ่งหรือโต้งจ้างกาน เป็นพื้นที่สีเขียวทำไร่ทำนากัน...ที่ดินราคาไม่แพงมากนัก มีเจ้าของที่ดินเป็นของมุสลิมหลายผืนหลายเจ้าของในบริเวณนี่เนื่องจากเป็นพ่อค้าวาณิช จึงมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดิน...ท้ายสุดมอบให้มัสยิดเป็นที่ฝั่งศพไป

       ส่วนที่ดินในย่านสุสานช้างเผือกยิ่งหนัก แถวสันติธรรมเปี่ยวรกร้าง เพาะปลูกไม่ได้เนื่องจากใต้ดินส่วนใหญมีแต่หินด้วยเป็นที่ดินบริเวณเชิงเขา ยุคนั้นบางทีถามยกให้ไปอยู่ ยังไม่อยากอยู่ด้วยซ้ำไป  ปัจจุบันบริบทพื้นที่ การไปมาสัญจรสะดวกสบาย.. เมือง..คนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สุสานมุสลิมช้างเผือก ถ้าจะพูดถึงมูลค่าในการซื้อขาย ณ เพลานี้ ก็หลายร้อยล้านอยู่ 

        เหล่านี้คือวิสัยทัศน์ ของบรรพชนคนมุสลิมรุ่นแรก ๆ  มองการณ์ไกล จัดเตรียมความสะดวกสบายไว้ให้ลูกหลาน เรียกว่าเราลูกหลานนั่งกินบุญเก่ากันแหละ..ปัจจุบันวิธีคิดคน สังคมเปลี่ยนไป บางแห่ง บางที่ รุ่นปู่ รุ่นพ่อ "วากัฟ"(การยกให้เพื่อใข้เป็นสาธารณะ) รุ่นลูกรุ่นหลาน หาช่องทาง "ว่ากลับ" นำมาเป็นของส่วนตัว ทำให้มองเห็นระดับศีลธรรมการเสียสละในเรื่องการทะนุบำรุงรักษาศาสนาของผู้คนแต่ละยุค คนยุคเก่าพูดไม่เก่ง ทำเก่ง เราจึงเห็นอิสลามตราบเท่าวันนี้

ข่าวมุสลิมเชียงใหม่

www.muslimchiangmainews.com

ความคิดเห็น