ชุมชนมุสลิมเข้มแข็งเก็บตกประสบการณ์การดูงานที่บางโรงภูเก็ต

 ชุมชนมุสลิมเข้มแข็งเก็บตกประสบการณ์การดูงานที่บางโรงภูเก็ต

โดย ชุมพล  ศรีสมบัติ

      เมื่อปี 2015 ทีมงาน ของเรา เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต สิ่งที่อยากเห็นอยากดู เป้าหมายคงไม่ใช่ทะเลอย่างเดียว ตั้งใจไว้ตั้งแต่จะออกทริปเทียวครั้งนี้ คือ บ้านบางโรง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่พวกเราตั้งใจจะมาเยือน  เราได้รับการต้อนรับ จาก อ.จีระศักดิ์ ช่อทิพย์  บังเษมและทีมทำงาน ที่แข็งขัน ในการแก้ปัญหาของชุมชนที่กำลังล้มสลาย ป่าโกงกางถูกทำลาย ชาวบ้านติดบ่วงแห่งหนี้สิน คนกลุ่มนี้จึงลุกขึ้นมาชวนชาวบ้านช่วยดันทำ ให้เป็นชุมชนจัดการตนเอง

        “บ้านบางโรง” เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งบนเกาะภูเก็ต ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองที่มีชื่อว่าเมืองถลางบางโรงในอดีตเกือบ 200 กว่าปี ชาวบ้านบางโรงที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ทำสวน และรับจ้างทั่วไป แต่ด้วยความที่บ้านบางโรงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาและทะเล ทำให้บ้านบางโรงมีทรัพยากรทั้งภูเขา และทะเลที่หลากหลาย มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ


       ชุมชนบ้านบางโรงมีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็งขององค์กรมัสยิด โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในนาม “กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์บ้านบางโรง” เกิดจากแนวคิดของผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่ต้องการปลดเปลื้องหนี้สินของชาวบางโรง ช่วงแรกได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนปลดเปลื้องหนี้สินโดยระดมทุนทุกๆ เดือนจากบรรดาแกนนำและเงินของมัสยิด 


      จากกองทุนปลดเปลื้องหนี้สินพัฒนาเป็น “กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์บ้านบางโรง” กิจกรรม คือ ดำเนินธุรกรรมทางการเงินตามหลักอิสลามในระบบหุ้นส่วน (ซะรีกะฮฺ) การร่วมลงทุน (มูฎอรอบะห์) การฝากรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) การซื้อขายสินค้าโดยบวกกำไร (อัลมูรอบาฮะห์) ภายใต้หลักการเหล่านี้ทำให้กลุ่มออมทรัพย์ฯ มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านบางโรงและชุมชนใกล้เคียง 

        ในที่สุดสถาบันการเงินแห่งนี้จึงกลายเป็น “ธนาคารของชุมชน” ที่ให้บริการด้านการเงินแก่คนในชุมชน และมีระบบสวัสดิการ กองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนสวัสดิการสมาชิก ช่วยเหลือสมาชิกในกรณีที่เจ็บป่วยและต้องพักรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลอดบุตร ช่วยเหลือญาติสมาชิกในกรณีที่สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ฯ เสียชีวิต ในแต่ละปียังมีการจ่ายซากาตประจำปี ในนามของกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์บ้านบางโรงด้วย 

         นอกจากนั้น ทางมัสยิดยังมีท่าเรือ ที่เช่าจากเทศบาล มีการจัดการบริหาร มีรายได้ที่สามารถมาสร้างมัสยิด ได้ มีร้านอาหารทะเลสดๆ ราคาถูก มีการรักษาสิงแวดล้อม ป่าโกงก้างที่สมบรูณ์แห่งหนึ่งในพื้นที่  และอีกหลาย ๆ อย่างที่ชุมชนแห่งนี้ทำ ด้วยวิธีคิด ที่ไม่เหมือนใคร นี่ยังเล่าไม่หมด เอาเป็นว่า มีเวลาจะลองรวบรวม มาให้ได้อ่านกันอีกครั้ง อินชาอัลลอฮ


ขอบคุณภาพจาก

คุณสุทธิดา วิชัยชาติฺ

ชุมพล  ศรีสมบัติ เขียน

บันทึกเมื่อ 30 มีนาคม 2015

ความคิดเห็น