โครงการมัสยิดครบวงจร มัสยิดอัลฟัรฎริ ดอยสะเก็ด

 #มัสยิดอัลฟัฏลิ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่กับการพัฒนาสู่มัสยิดครบวงจร

โดย ชุมพล  ศรีสมบัติ

#มัสยิดดอยสะเก็ด เชียงใหม่

      ศูนย์กิจกรรมภาคเหนือ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) มุ่งสู่เป้าหมายของโครงการมัสยิดครบวงจร โดย อยากเห็นผู้นำในชุมชนมุสลิม เป็นทั้งผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ พร้อมกันนั้นก็เป็นนักพัฒนา นักปกครอง ไปพร้อม ๆ กัน เข้าใจบริบทของชุมชน ผู้คนภายใต้การนำ ทำงานชุมชนอย่างมืออาชีพ ซึ่งการทำงานในพื้นที่ ต้องยอมรับว่า ต้องใช้ความอดทนสูง สำคัญคือต้องได้รับการยอมรับ นี่ประเด็นสำคัญ ที่จะทำให้การทำงานขับเคลือนได้อย่างรวดเร็ว

        เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า  มัสยิดในยุคปัจจุบันคงจะมิใช่เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นสถานที่เอนกประสงค์ที่กิจกรรมทุกอย่างที่มีเป้าหมายของความดี งามและเพื่อเชิดชูศาสนาของเราบทบาทของมัสยิดที่พึงประสงค์เป็นหน้าที่และ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการมัสยิดจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนในการพัฒนาชุมชน ส่งเสริม และสนับสนุนคนในชุมชนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่วางไว้

        มัสยิดอัล-ฟัฏลิ ดอยสะเก็ต ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นมัสยิดเล็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการมัสยิดครบวงจร ของ สสม.    แนวคิดของผู้นำชุมชนที่นี่ไม่ได้เล็ก เหมือนอาคารมัสยิด ได้คุยกับ นายนิรุตต์ (ซอและห์)  แสงซอน กรรมการมัสยิดผู้ผ่านการฝึกอบรม นักเรียนผู้นำของ สสม. รุ่นที่ 13ณ ห้วยฮ่องไคร้ เชียงใหม่  เป็นผู้รับผิดชอบคุตะบะฮฺ(เทศนาธรรม) และเป็นแกนนำในการทำงานชุมชน ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และอีกหลาย ๆ หน้าที่ ที่ถูกมอบหมาย  เขาเล่าให้ฟังว่า

        "ชุมชนมุสลิมมัสยิดดอยสะเก็ด     เดิมที มีชาว อินเดียและบังคลาเทศส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากที่อำเภอดอยสะเก็ด  แต่ก็มีไม่มากนัก  ยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม  ส่วนใหญ่จะประกอบศาสนกิจที่มัสยิดช้างเผือกซึ่งอยู่ในเมือง  ต่อมาหลายครอบครัวได้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปในเมืองคงเหลืออยู่เพียงสามครอบครัว คือครอบครัวของฮัจยีบาบูและนางคำมูล  อาลีซอน  กับครอบครัวของอับดุลกุฟูร (อุดม)  เจริญศรี และครอบคัวนายเดช  อารีชาติ

       ต่อมามีก็มีมุสลิมจากชุมชนมุสลิมหนองแบน อ.สารภี ย้ายเข้าไปอีก ๕-๖  ครอบครัว  และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย   ในยุคต้น ๆ บ้านใช้ของฮัจยีบาบู(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ  เมื่อท่านได้เสียชีวิตลง นางคำมูลภริยาท่านก็ได้ยกที่ดิน  ๑ ไร่ ๓ งาน  ๓๕  ตารางวา  สำหรับเป็นสถานที่สร้างมัสยิดเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน  โดยมี ฮัจยียง  ฟูอนันต์ และมุสลิมจากอำเภอเมือง เป็นหลักช่วยกันสนับสนุนการก่อสร้างอาคารมัสยิดได้เริ่มสร้างเมื่อ  ๑๕  สิงหาคม  ๒๕๑๕  ทำพิธีเปิดเมื่อ  วันที่  ๑๕  มกราคม  ๒๕๑๕  โดยมีอดีต ท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน  สุวรรณศาสตร์ และมีนายเดช  อารีชาติ เป็นอีหม่ามคนแรก  ปัจจุบันมีนายอิบราฮิม  แสงซอนเป็นอิหม่าม

       รายได้ของ มัสยิดก็มาจาก การจัดงานประจำปี เงินบริจาค และค่าเช่าอาคารพาณิช(ห้องแถว) หน้ามัสยิด ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์ การก่อสร้างจาก มูลนิธิอัลญามาล ร่วม กับฮัจยียง ฟูอนันต์ ฮัจยียูซุฟคาน (แม่สอด) ศ.นพ.สนาน  สิมารักษ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕  ขออัลลอฮฺตอบแทนทุกท่านที่เกี่ยวข้อง

      นายนิรุตต์ (ซอและห์)  แสงซอน เล่าให้ฟังว่า

        “ที่มัสยิดของเรา ทำงานการเป็นทีมครับ  เอาตามความถนัด เท่าที่ทำกันได้ เพราะรู้ ๆ กันอยู่การทำงานศาสนาไม่มีค่าตอบแทน หวังอย่างเดียวคือ การรีฏอ พอพระทัยจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ)  การประชุมหรือการมุเชาวะเราะฮฺ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน เพราะทุกคนได้มีโอกาสเสนอแนวคิด แสดงความคิดเห็นสิ่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการตัดสินของอามีรหรือผู้นำในชุมชน  จึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของคำสอนในอิสลาม

       เราทำงานประสานกับหลายหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเครือข่ายมัสยิด ในจังหวัดเชียงใหม่  หน่วยงานภาครัฐ เช่น เทศบาล อบจ.  เราให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เห็นว่ามัสยิด น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและควรจะได้รับการดูแล จากองค์กร์นั้น ๆ  ในพื้นที่เราส่งพี่น้องมุสลิมของเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทศบาล เกือบทุกเรื่อง ที่เขาขอมา  เรามีมุสลิมเป็น อ.ส.ม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน)  หลายคน ทำงานจนเป็นที่ยอมรับ ของ คนในพื้นที่    ทั้งไทยพุทธและมุสลิม จนได้รับรางวัล อสม.ดีเด่น

        เรามีเพื่อน เรามีผู้ใหญ่ ที่ให้ความเมตตาเรา ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา  เราได้รับทุนจากภายนอกซึ่งเป็นทุน ของพี่น้องมุสลิม มาสร้างอาคารละหมาดผู้หญิง  ให้กับมัสยิด  และในส่วนของ อปท. ก็ได้สร้างลานเอนกประสงค์  และที่กำลังสร้างปัจจุบันคือ อาคารหอประชุม ของมัสยิด ซึ่งทางมัสยิดได้รับงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ จาก งบประมาณของ เทศบาลตำบลเชิงดอย  อ.ดอยสะเก็ด"

      #นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา ภายใต้การภาวะการนำแบบชูรอของพี่น้องที่นี่ สิ่งที่เห็นสะท้อนถึงการทำงานอย่างการมีภาคีเครือข่าย ไม่ว่ากับหน่วยงานภาครัฐ หรือ กับเครือข่ายของพี่น้องมุสลิมเราเอง จำ เป็นอย่างยิ่ง กระบวนการทำงานในสังคม ต้อง พึงพาซึ่งกันและกัน เราไม่สามารถไปถึงฝัน หากขาดเพื่อนร่วมทางเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน  ดังคำสอนของท่านนบีศ๊อลฯ  ที่เราคุ้นหูกันดีว่า “อุปมา มุสลิมในความรักใคร่กันในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน และในการเอ็นดูเมตตาต่อกันนั้นอุปมัยดั่งร่างกายเดียวกัน เมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บป่วย ไม่สบายก็พลอยทำให้อวัยวะส่วนอื่นๆในร่างกายพลอยเป็นไข้ อดหลับอดนอนไม่สบายไปด้วย


มุสลิมเชียงใหม่นิวส์

www.muslimchiangmai.net

ความคิดเห็น