คุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษา ในอิสลาม ทางออกหนึ่งของผู้คน

คุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษา ในอิสลาม ทางออกหนึ่งของผู้คน

เขียนโดย อบูตัยมียะฮฺ   

       การปรึกษาคือการหาทางออกให้กับตัวเอง แต่บางครั้งการปรึกษากลับกลายเป็นการเอาปัญหา   มาทับถมให้ชีวิต ซึ่งสาเหตุมาจากการยัดเยียดตำแหน่งผู้ให้คำปรึกษากับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ             ส่วนคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษามีดังนี้  

1.   มีความถนัดในเรื่องที่ปรึกษา   ทุกคนที่เราไว้ใจและเชื่อใจไม่สามารถที่จะให้คำปรึกษาได้ทั้งหมด เพราะทุกคนล้วนมีความถนัด  ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในการเลือกผู้ให้คำปรึกษาเราต้องคำนึงว่า เขาสามารถให้คำปรึกษาได้หรือไม่  

     ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺอลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามท่านหญิงซัยนับเกี่ยวกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ    ในครั้งเกิดฟิตนะฮฺการใส่ร้ายป้ายสีนาง และท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺอลัยฮิวะสัลลัมก็ไม่ได้ถามคนอื่น     ท่านอุมัรฺ อิบนุอัล-ค็อฏฏอบได้ถามลูกสาวของนาง–หัฟเศาะฮฺ– ถึงระยะเวลาของผู้หญิงที่สามารถอดทนจากสามีของนางได้  

   2.   มีความรู้ศาสนา  

        ในการตัดสินปัญหาทุกปัญหา เราต้องเอาหลักการของอิสลามมาใช้เพราะอิสลามคือวิถีของ 

    การดำรงชีวิต  ฉะนั้นเมื่อต้องการให้ใครตัดสินหรือแนะนำทางออก เขาผู้นั้นต้องมีหลักการอิสลาม

       เพราะผู้ที่มีความรู้ย่อมมองการณ์ไกลกว่าผู้ที่ไม่รู้ และการแนะนำทางออกของเขาก็ย่อมอยู่บนหลักการอิสลาม  

   3.   มีอะมานะฮฺและเก็บความลับ  

       การปรึกษาปัญหาบางครั้ง ก็เป็นเรื่องลับๆที่ผู้ขอคำปรึกษาไม่อยากให้ใครรู้ แต่เมื่อต้องการทางออกเลยต้องหาบุคคลที่สองเพื่อหาทางออกให้ ฉะนั้นการมีอะมานะฮฺและการเก็บความลับถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับผู้ให้คำปรึกษา กี่มากน้อยเท่าไรแล้วที่ความลับของพี่น้องมุสลิม

   ต้องถูกเปิดเผยเพราะผู้ให้คำปรึกษา เมื่อความลับถูกถ่ายทอดไปยังบุคคลที่สามความลับก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป  

   ท่านนบี ศ็อลลัลอฮฺอลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า:

   المستشار مؤتمن 

   ความว่า: ผู้ให้คำปรึกษาคือผู้ที่ถูกไว้วางใจ

   (หะดีษบันทึกโดยอบูดาวูด, เลขที่ 5128)  

      และการทำลายความไว้วางใจคือลักษณะของพวกกลับกลอก (มุนาฟิก) 

      ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺอลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า:

   آية المنافق ثلاث …وإذا ائتمن خان 

   ความว่า: สัญลักษณ์ของมุนาฟิกมีสามประการ ... และเมื่อเขาถูกมอบความไว้วางใจเขาก็ทำลายมัน

 (หะดีษบันทึกโดยมุสลิม, เลขที่ 107) 

      ดังนั้นระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับคุณลักษณะมุนาฟิกอยู่ไม่หางกันเลย แค่ล้ำเส้นอะมานะฮฺเขาก็ได้ก้าวสู่แดนมุนาฟิกแล้ว  

     ยิ่งในยุคสุดท้ายของโลก การมีอะมานะฮฺจะลดน้อยลงฉะนั้นการจะเลือกใครมาปรึกษาควร

     ตรึกตรองให้หนัก โดยเฉพาะมุสลิมะฮฺที่บางครั้งไม่ได้ต้องการคำปรึกษาเพียงแต่ต้องการคนรับฟัง

    ซึ่งไม่ควรไว้ใจใครง่าย ๆและแน่นอนว่าผู้ที่ให้คำปรึกษาได้ดีและไว้ใจได้ดีที่สุดคือครอบครัว 

       4. เป็นผู้ที่ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ(ตักวา)และสำรวมตน(วัรอฺ) 

   ผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮฺและสำรวมตนอยู่เสมอ ย่อมมีความระมัดระวังในการคิดและตรึกตรอง

   ไม่ใช้อารมณ์ตัวเองเป็นหลักในการตัดสินปัญหา

   อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่อัลลอฮฺทรงรัก ดังที่พระองค์ตรัสว่า:

   إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَّقِينَ  

   ความว่า: แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ที่มีความยำเกรง

   (อัต-เตาบะฮฺ, 9:4)

   

   เมื่ออัลลอฮฺทรงรักอัลลอฮฺก็จะทรงช่วยเหลือเขา และคำแนะนำหรือคำปรึกษาของเขาก็ย่อมมีความน่าเชื่อถือ  

   ท่านอุมัรฺอิบนุ อัล-ค็อฏฏอบกล่าวว่า 

   شاور في أمرك من يخاف الله عز وجل 

   “จงปรึกษากิจการงานของท่านกับผู้ที่ซึ่งเกรงกลัวอัลลอฮฺอัซซะวะญัล”

 ที่มา http://www.alhadeeth.net/index.php?option=com_content&view=article&id=44:tprueksa&catid=25:akhlaktahzeeb&Itemid=72

ความคิดเห็น