พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘

 พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘    

                      โดยที่เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประชาชนชาวไทยย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และเมื่อได้คำนึงถึงประชาชนชาวไทยในบางท้องที่ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ก็สมควรที่จะสงเคราะห์ และคุ้มครองอิสลามศาสนิกของพระองค์ให้ประกอบศาสนกิจตามศรัทธา สมกับที่เป็นประชาชนของประเทศไทยอันเป็นประเทศเอกราช 
                          มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้ให้เรียกว่า  "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม  พุทธศักราช ๒๔๘๘" 
                          มาตรา ๒  พระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป 
                          มาตรา ๓  ให้จุฬาราชมนตรี มีหน้าที่ปฎิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม 
                          มาตรา ๔  เมื่อเห็นสมควรกระทรวงศึกษาธิการ อาจจัดตั้งสถานการศึกษาเรียกว่า "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" เพื่ออิลามศาสนิกจะได้ศึกษา และรับการอบรมในทางศาสนา ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้มีสิทธิเข้ารับเลือก เพื่อรับพระราชทานเงินทุนส่งไปเข้าศาสนาจารีต ณ นครเมกกะ ตามจำนวนที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดขึ้นเป็นคราว ๆ 
                          มาตรา ๕  รัฐบาลอาจจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย" มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแก่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ในกิจการที่เกี่ยวแก่ศาสนาอิสลาม 
                          มาตรา ๖  คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งเป็นอิสลามศาสนิก มีจำนวนไม่ต่ำกว่าห้านาย แต่งตั้งและถอดถอนโดยพระบรมราชโองการ ตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่า กระทรวงมหาดไทย จุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง 
                          มาตรา ๗  จังหวัดใดมีประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนพอสมควร กระทรวงมหาดไทยอาจจัดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแก่คณะกรรมการจังหวัด ในกิจการที่เกี่ยวแก่ศาสนาอิสลามในจังหวัดนั้น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งเป็นอิสลามศาสนิก มีจำนวนไม่ต่ำกว่าห้านาย แต่งตั้งและถอดถอนโดยกระทรวงมหาดไทย 
                          จังหวัดใดที่มิได้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น ๆ 
                          มาตรา ๘  คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อาจจัดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำสุเหร่า ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัด โดยให้โต๊ะอิหม่ามเป็นประธาน 
                          มาตรา ๙  บรรดากรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามประจำสุเหร่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอิสลามมีสิทธิสวมเสื้อครุย และประดับเข็มพระปรมาภิไธยตามระเบียบที่จะทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดขึ้นไว้ 
                          มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ รักษาการตามพระกฤษฎีกานี้ 
                          ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการปรึกษาหารือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อการระเบียบอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม เพื่อปฎิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ 
                      พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ 
                      โดยที่เป็นการสมควรให้ใช้กฎหมายอิสลาม ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่ง เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้น ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์ - จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท 
                          มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ 
                          มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป 
                          มาตรา ๓  ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัว และมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้น ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทย์ จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก บังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ทั้งนี้ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อน หรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ 
                          มาตรา ๔  การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความในมาตรา ๓ ให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนาย นั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา 
                          ให้ดาโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษา ตามคำชี้ขาดนั้นด้วย 
                          คำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลาม ให้เป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น 
                          มาตรา ๕  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษามาใช้บังคับ แก่การคัดค้านดะโต๊ะยุติธรรมโดยอนุโลม 
                          เมื่อมีเหตุที่ดะโต๊ะยุติธรรมปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้คู่ความตกลงกันเลือกอิสลามศาสนิกหนึ่งนาย ปฎิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะคดี ถ้าตกลงไม่ได้ ให้ฝ่ายเสนอชื่ออิสลามศาสนิกที่สมควรต่อผู้พิพากษา หัวหน้าศาลฝ่ายละเท่า ๆ กัน แต่ไม่ให้เกินฝ่ายละสามนาย เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเลือกผู้ใด จากรายชื่อที่คู่ความเสนอนั้น ให้ผู้นั้นปฎิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะคดีนั้นได้ 
                          มาตรา ๖  บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบถึงคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่คดีนั้นเป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น และคู่ความหรือผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาทแล้วแต่กรณี ได้ร้องขอต่อศาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันนับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บังคับในกรณีเช่นนี้ให้ศาลสั่งให้มีการเสนอคำฟ้อง หรือคำขอใหม่ และให้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ 
                          มาตรา ๗  ให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ 
                      พระราชบัญญัติ มัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ 
                          มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐" 
                          มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
                          มาตรา ๓  ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ 
                          มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้ 
                          "มัสยิด" หมายความว่า สถานที่ซึ่งอิสลามิกชนมีสิทธิใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามลัทธิศาสนาอิสลามในวันศุกร์เป็นปกติ 
                          มาตรา ๕  ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เป็นนิติบุคคล 
                          มาตรา ๖  ในการขอจดทะเบียนมัสยิด ให้อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นผู้ขอโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 
                          มาตรา ๗  แต่ละมัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ให้มีกรรมการคณะหนึ่งไม่น้อยกว่า ๗ คน เรียกว่า คณะกรรมการมัสยิด มีหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการและทรัพย์สินของมัสยิด 
                          มาตรา ๘  ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิด 
                          มาตรา ๙  ให้การดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดเป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิด 
                          มาตรา ๑๐  มัสยิดใดมีสัปบุรุษน้อย หรือมีพฤติการณ์อย่างอื่นอันไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ หรือเลิกร้างไป ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้รายงานไปยังคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคำสั่งให้เลิกมัสยิดนั้น ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ก็ให้คณะกรมการจังหวัดเป็นผู้รายงาน 
                          เมื่อคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ได้สั่งให้เลิกมัสยิดนั้นแล้ว ก็ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรมการจังหวัด แล้วแต่กรณี แจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับจดทะเบียนมัสยิดนั้น 
                          มาตรา ๑๑  บรรดาทรัพย์สินของมัสยิด ซึ่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้สั่งให้เลิกไปแล้ว ให้โอนไปยังมัสยิดที่ใกล้ที่สุด  และถ้าไม่มีทางจะทำได้ ให้โอนไปยังนิติบุคคล หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน 
                          มาตรา ๑๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐  จังหวัดใดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 
                          มาตรา ๑๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงกำหนดวิธีการจดทะเบียนมัสยิด 
                          กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ 
                      พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๑ 
                          มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๑" 
                          มาตรา ๒  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
                          มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
                          "มาตรา ๓  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" 
                      ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนาของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ.๒๔๙๒ 
                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ และด้วยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กำหนดระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจขอวมัสยิด (สุเหร่า) ขึ้นไว้สำหรับเป็นระเบียบถือปฏิบัติดังต่อไปนี้ 
                          ข้อความเบื้องต้น 
                              ข้อ ๑  ระเบียบการนี้ให้เรียกว่า "ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนาของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ.๒๔๙๒" 
                              ข้อ ๒  ระเบียบการนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ เป็นต้นไป 
                              ข้อ ๓  ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้รักษาระเบียบการนี้ 
                          หมวด ๑ กรรมการอิสลามประจำมัสยิด 
                              ข้อ ๔  คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จะพึงมีได้แห่งละไม่เกิน ๑๕ คน ประกอบด้วยอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ 
                              ข้อ ๕  ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
                                  ก. เป็นอิสลามิกชน 
                                  ข. อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ 
                                      ค. ความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย 
                                  ง. กระทำพิธีกรรมในวันศุกร์ตามพระธรรมวินัยเป็นเนืองนิจ 
                                  จ. ไม่เป็นบุคคลที่มีร่างกายทุพพลภาพ เสมือนคนไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคอันสังคมรังเกียจ 
                                  ฉ. ไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เว้นแต่สัปบุรุษประจำมัสยิดนั้นมากกว่าครึ่งให้ความไว้วางใจ 
                                  ช. ไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลในความผิดอาญา เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือกระทำโดยความประมาท หรือสัปบุรุษประจำมัสยิดนั้นมากกว่าครึ่งให้ความไว้วางใจ 
                                  ซ. มีชื่อในทะเบียนสัปบุรุษประจำมัสยิดนั้นไม่น้อยกว่า ๖ เดือน 
                                  ฌ. มีความรู้ความสามารถประกอบพิธีนมัสการได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และรักษาจารึตประเพณีอันดีงามของศาสนาอิสลาม 
                                  ญ. ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต้องเป็นชาย 
                              ข้อ ๖  กรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีหน้าที่ดังนี้ 
                                  ก. จัดการบำรุงรักษามัสยิดและศาสนสมบัติ (วากั๊ฟ) ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย ระเบียบและมติของที่ประชุม ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยมั่นคง และเกิดผลประโยชน์ 
                                  ข. แนะนำตักเตือนปวงสัปบุรุษ ให้ปฏิบัติศาสนกิจโดยเคร่งครัด และมีความสามัคคี 
                                  ค. จัดทำเอกสารบัญชีต่าง ๆ ของมัสยิด ให้ถูกต้องและครบถ้วน 
                                  ง. จัดทำทะเบียนสัปบุรุษ รักษาสมุดทะเบียน และจำหน่ายแก้ทะเบียนให้ถูกต้องอยู่เสมอ 
                                  จ. วางระเบียบปฏิบัติภายในมัสยิด เพื่อให้การบำเพ็ญศาสนกิจและพิธีกรรมเป็นไปโดยเรียบร้อย 
                                  ฉ. ระงับข้อพิพาทเรื่องศาสนาของปวงสัปบุรุษ 
                                  ช. แจ้งการเห็นเดือนซะอ์บาน รอมฎอน เซาวาล ซุลฮิจยะห์ ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 
                                  ซ. จัดการเรื่องครอบครัวและมรดก ตามพระธรรมวินัย 
                                  ฌ. แสดงงบยอดบัญชีรับจ่ายเงิน และทะเบียนศาสนสมบัติ ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภายในเญ. กรรมการแต่ละคน ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และต้องรับผิดชอบร่วมกันในกิจการทั่วไปของมัสยิด 
 ข้อ ๗  อิหม่ามมีหน้าที่ดังนี้ 
        ก. ปฎิบัติหน้าที่อิหม่ามตามพระธรรมวินัย 
          ข. ปกครองและสอดส่องให้สัปบุรุษในมัสยิดปฎิบัติตามพระธรรมวินัยข้อบังคับ และระเบียบการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 
              ค. อำนวยความสะดวกแก่บรรดาสัปบุรุษในการบำเพ็ญกุศล 
       ง สั่งสอนอบรมวิทยาการทางศาสนาอิสลามแก่ปวงสัปปุรุษ

ข้อ ๘  คอเต็บมีหน้าที่ดังนี้ 
      ก. ปฎิบัติการในหน้าที่ของคอเต็บ ตามพระธรรมวินัย 
         ข. การแสดงธรรมกถาอบรมสั่งสอนธรรม และพระธรรมวินัยแก่ปวงสัปบุรุษ 

ข้อ ๙  บิหลั่นมีหน้าที่ดังนี้ 
       ก. ปฎิบัติการในหน้าที่บิหลั่น ตามพระธรรมวินัย 
        ข. คอยดูดวงจันทร์ของเดือนซะอ์บาน รอมฎอน เซาวาล และซุลฮิจยะห์ ในเวลาพลบค่ำของวันต้นเดือนนั้น 
           หมวด ๒ การแต่งตั้งและถอดถอน 
      ข้อ ๑๐  ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นประธานในที่ประชุม ปวงสัปบุรุษเลือกผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ ขึ้นเป็นอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด 
   วิธีเลือกจะกระทำโดบยลับ หรือโดยเปิดเผยก็ได้ 
     ในกรณีผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก 
          เมื่อสัปบุรุษส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดขึ้นเป็นกรรมการตำแหน่งใดแล้ว ให้ประธานที่ประชุมทำบันทึกหลักฐานไว้ แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญตามแบบท้ายระเบียบการนี้ 
       จังหวัดใดยังไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการโดยอนุโลม 
               ข้อ ๑๑  หนังสือแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้ติดไว้ ณ มัสยิด 
             ข้อ ๑๒  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด นอกจากอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๕  ปี

 ข้อ ๑๓  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 
      ก.ตาย

ข. ลาออก

ค. ขาดคุณสมบัติ

ตามหมวด ๑ 
               ง. สัปบุรุษในเขตมัสยิด เกินกว่ากึ่งหนึ่งยื่นคำร้องและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสอบสวน พิจารณาสั่งให้ออกจากตำแหน่ง 
               จ. คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด วินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่า มีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแกมัสยิด

ฉ. คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด วินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่าเป็นผู้ดำเนินกิจการของมัสยิด ไปในทางไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อพระธรรมวินัย หรือกระทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด 
       ช. มัสยิดสิ้นสภาพลงโดยถูกยุบ หรือเพิกถอน 
        ข้อ ๑๔  ถ้าตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดว่างลง เพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามที่กล่าวมาในข้อ ๑๓ ถ้ามีเหตุอันสมควรก็ให้ประชุมสัปบุรุษ เลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนตามวิธีการที่กล่าวมาในข้อ ๑๐ 
   กรรมการซึ่งเข้ามาแทนนั้น ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของตำแหน่งที่ตนดำรงแทนเหลืออยู่      ข้อ ๑๕  อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น คนใดดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อย เมื่อชราภาพทุพพลภาพ หรือพิการ ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง และยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งเดิม 
         ข้อ ๑๖  กรรมการอิสลามประจำมัสยิดคนใด พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ต้องมอบทรัพย์สินและสรรพบัญชีต่าง ๆ เท่าที่ครอบครองอยู่ ในขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้แก่ผู้ได้รับตำแหน่งใหม่ 
        หมวด ๓ จริยาของกรรมการอิสลามประจำมัสยิด 
               ข้อ ๑๗  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต้องเคารพ และปฎิบัติตามพระธรรมวินัย กฎข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน คำสั่งแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 

ข้อ ๑๘  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมสุจริต ห้ามมิให้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร และระมัดระวังไม่ให้เสียหายแก่หมู่คณะ

ข้อ ๑๙  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้อาวุโส และต่อประชาชน 
           ข้อ ๒๐  กรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องเป็นผู้นำ ปฎิบัติศาสนกิจเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ชักจูง ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 
         ข้อ ๒๑  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด ละเมิดจริยาดังกล่าวมในหมวดนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีอำนาจสอบสวนพิจารณาสั่งการลงโทษ ให้ออกจากตำแหน่ง หรือภาคทัณฑ์ตามสมควรแก่กรณี 
          กรรมการอิสลามประจำมัสยิดที่ถูกลงโทษ เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่ได้รับทราบคำสั่งลงโทษ ต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อวินิจฉัยคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นที่สุด 
              หมวดที่ ๔ ทะเบียนสัปบุรุษ 
           ข้อ ๒๒  ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จัดทำทะเบียนสัปบุรุษประจำมัสยิดขึ้นไว้มีรายการดังนี้ 

  ก. สัปบุรุษที่มี - อยู่ในเขตมัสยิด

 ข. สัปบุรุษที่นมัสการในวันศุกร์เป็นปกติ 
     ค. สัปบุรุษที่ไม่ต้องนมัสการในวันศุกร์ 
     ง. การเกิด การตาย การย้ายเข้า และการย้ายออกของสัปบุรุษ 
          ข้อ ๒๓ ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด นำสำเนาทะเบียนสัปบุรุษ ซึ่งลงทะเบียนอยู่เมื่อสิ้นปี ส่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ๒ ชุด ภายในเดือนมกราคม ของปีใหม่ทุกปี เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเก็บรักษาไว้ ๑ ชุด ส่งไปยังคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ๑ ชุด 
           ข้อ ๒๔  สัปบุรุษคนหนึ่ง พึงมีชื่อในทะเบียนสัปบุรุษของมัสยิดได้เพียงแห่งเดียว และต้องไปนมัสการในวันศุกร์ ที่มัสยิดนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นชั่วคราว 
        ข้อ ๒๕  สัปบุรุษที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปบุรุษของมัสยิดใ มีสิทธิคัดเลือก หรือรับเลือกให้เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนั้น 
            ข้อ ๒๖  สัปบุรุษใดไม่ประพฤติตนตามพระธรรมวินัย หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดก็ดี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็ดี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ดี อาจถูกคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด สั่งให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสัปบุรุษเสียก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ห้ามมิให้รับขึ้นทะเบียนสัปบุรุษผู้นั้น 
          ข้อ ๒๗  สัปบุรุษที่ถูกลบชื่อ เมื่อสารภาพผิดและให้ทัณฑ์บนไว้ต่อคณะกรรรมการอิสลามประจำมัสยิด ก็ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ขึ้นทะเบียนสัปบุรุษผู้นั้นไว้ได้ 
            ข้อ ๒๘  สัปบุรุษที่ถูกลบชื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีสิทธิยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับทราบคำสั่งให้ลบชื่อ ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อวินิจฉัย คำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นที่สุด

ข้อ ๒๙  การปฎิบัติเกี่ยวกับทะเบียนในหมวดนี้ ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น

หมวด ๕ ศาสนสมบัติ 

ข้อ ๓๐  ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จัดทำบัญชีบรรดาศาสนสมบัติของมัสยิดขึ้นไว้ ๒ ชุด เก็บรักษาไว้ ณ มัสยิด ๑ ชุด ส่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ๑ ชุด เมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้รีบรายงานให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทราบ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตรงกัน 
       ข้อ ๓๑ ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีอำนาจตรวจควบคุม และสั่งการอันเกี่ยวกับบรรดาเอกสาร การเงิน ศาสนสมบัติของมัสยิด ให้เป็นไปตามวาระนี้

  หมวด ๖ บทเฉพาะกาล 
          ข้อ ๓๒  ในวาระเริ่มแรกประกาศใช้ระเบียบการนี้ กลุ่มอิสลามิกชนใดมีมัสยิดมากกว่าหนึ่งแห่ง ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พยายามแนะนำชี้แจงชักจูงให้บรรดาสัปบุรุษของกลุ่มอิสลามิกชนนั้น มีความศรัทธา เลื่อมใส ปฎิบัติศาสนกิจตามพระธรรมวินัย ให้มีความร่วมใจสามัคคีชุมนุมร่วมกัน ทำพิธีนมัสการในวันศุกร์ ณ มัสยิดใดมัสยิดหนึ่ง ที่เห็นสมควรเพียงแห่งเดียว 
         สัปบุรุษของมัสยิด ที่ไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดังกล่าวในวรรคก่อน มัสยิดนั้นอาจไม่ได้รับความเห็นชอบ ในการจดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐

     ข้อ ๓๓  ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว เป็นกรรมการประจำจังหวัด และเริ่มนับอายุตำแหน่งตามข้อ ๑๒ ตั้งแต่วันประกาศใช้ระเบียบการนี้เป็นต้นไป

   
         กฎหมายอิสลามเป็นรากฐานความเชื่อมั่น และเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติศาสนกิจที่มุสลิมทุกคนจะละเลยมิได้ กฎหมายอิสลามปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ดังรายละเอียด ประวัติ แหล่งกำเนิด และการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย ต่อไปนี้ 
        แหล่งกำเนิดและประวัติกฎหมายอิสลาม  กฎหมายเริ่มใช้ครั้งแรกที่นครเมกกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในสมัยของท่านนบีมุฮำมัด ผู้ประกาศศาสนาและปกครองประเทศเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปี มาแล้ว ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปยังประเทศมุสลิมต่าง ๆ โดยประเทศเหล่านั้นได้ถือกฎหมายอิสลามเป็นหลัก ในการพิจารณากระบวนการยุติธรรม บางประเทศก็ใช้อย่างครบถ้วน บางประเทศก็ใช้เฉพาะเรื่องครอบครัวและมรดก 
      กฎหมายอิสลามมาจากหลักฐานทางศาสนา ๔ ประการคือ พระคัมภีร์อัลกุรอาน ฮะดิส (หรือซุนนะห์) อิจญ์มะอ์ และกิยาส 
         คัมภีร์กุรอาน  เป็นข้อบัญญัติจากอัลเลาะห์ แก่ท่านนบีมุฮำมัด ต่างกรรมต่างวาระที่ทรงเห็นสมควร ท่านนบีได้ถ่ายทอดจากความจำให้แก่บรรดาสาวกจดบันทึกไว้ และได้รวบรวมเป็นเล่มสมัยคอลีฟะห์อบูบักร์ ครองราชย์มีทั้งหมด ๖,๖๖๖ ข้อ  บัญญัติ (อายะห์) จัดแบ่งเป็น ๓๐ ส่วน (ยูซุอ์) และ ๑๑๔ บท (ซูเราะห์) 
   
         ฮะดิส (ซุนนะห์)  คือ ข้อบัญญัติที่มาจากการกระทำ หรือปฎิบัติการต่าง ๆ และจากคำสอน ตลอดถึงวินิจฉัยปัญหากฎหมายบางเรื่อง รวมทั้งการดำเนินตามวิถีทางความเป็นอยู่ทุกอิริยาบทของท่านศาสดามุฮำมัด ซึ่งได้บันทึกและจดจำโดยผู้ใกล้ชิด แล้วเก็บรักษาไว้เป็นหลักการทางศาสนา และปฎิบัติตามกันมาโดยตลอด 
   
        อิจญ์มะอ์  คือ ความเห็นอันเกี่ยวกับปัญหากฎหมายอิสลามที่สอดคล้องต้องกันของนักนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาวกของท่านนบี หรือยุคถัดมาความเห็นเหล่านี้เอง ปรากฎในกุรอานและฮะดิส (หรือซุนนะห์) ให้ถือความเห็นและการพิจารณาอันสอดคล้องต้องกัน ในหมู่สาวกผู้ใกล้ชิดว่าเป็นการแนะแนวที่ดีที่สุดเช่นกัน 
          กิยาส  คือ การเปรียบเทียบโดยอาศัยเหตุผลที่มาจากกฎหมายอิสลามทั้ง ๓ ประการ ที่กล่าวแล้วนั้น ทั้งนี้ เพราะหลักการที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ แก่ความต้องการของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องอาศัยการเปรียบเทียบจากกฎหมายอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง แต่ไม่ขัดต่อหลักฐานทั้ง ๓ ที่กล่าวแล้วข้างต้น 
          กฎหมายอิสลามได้วิวัฒนาการตามยุคตามสมัย เมื่อประมาณฮิจเราะห์ศักราชที่ ๔๐ ได้มีการจัดตั้งสำนักกฎหมายอิสลามนิกายซุนนีขึ้น ๔ แห่ง ดำเนินการโดยอิหม่าม (ผู้นำทางศาสนา) ซึ่งเป็นปราชญ์ชั้นสูงที่มีชื่อเสียงของมุสลิม จึงบังเกิดแนวการวินิจฉัยรับ ๔ วิถีทางคือ วิถีทางของอิหม่าม ฮานาฟี อิหม่ามมาลิกี อิหม่ามซาฟีอี และอิหม่ามฮัมบาลี ทั้ง ๔ วิถีทางในส่วนสำคัญไม่แตกต่างกันมากนัก จะแตกต่างกันบ้างก็ในเรื่องปลีกย่อย อันเป็นวินิจฉัย และความเห็นจากส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายอิสลามทั้ง ๔ วิถีทางนี้ วิถีทางของอิหม่ามซาฟีอี มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากในประเทศแถบเอเซีย เช่น อินเดียตอนใต้ มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย 
    หลังจากฮิจเราะห์ศักราชที่ ๓๐๐ แล้ว ทุกอย่างไม่มีการแก้ไขประการใด คงใช้หลักการทั้ง ๔ ประการข้างต้น เป็นหลักในการพิจารณาตีความ มุสลิมทุกคนจะต้องถือปฎิบัติโดยตลอด ไม่มีการใช้แนวความคิดของตนเองมาแก้ไข นอกจากการตกลงของคู่กรณีเอง 
       การใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย  ประเทศไทยได้ใช้กฎหมายอิสลามในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๔ ทั้งนี้ โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถในรัฐประศาสโนบายเป็นอย่างยิ่ง ทรงหยั่งถึงจิตใจ ลัทธิประเพณี และความสงบสุขของประชาชน ผู้นับถือศาสนาอิสลาม จึงทรงโปรดให้มีกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ ขึ้นเป็นพิเศษ และใน ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๔) ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งศาลชั้นต้น โดยมี โต๊ะกอฎี (กาสี) เป็นผู้พิพากษาชำระคดี 
      ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งคณะกรรมการแปลกฎหมายอิสลามเป็นภาษาไทยขึ้น เพื่อใช้ในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้บังเกิดความเรียบร้อยในการพิจารณาคดี คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ผู้พิพากษาทางศาสนา ซึ่งเรียกว่า ดาโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา โดยมีอธิบดีศาลที่จังหวัดสงขลา เป็นประธาน และได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ขึ้นใช้บังคับเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ 
         ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๔ จังหวัด มีสิทธิใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยมรดกและครอบครัว แทนบทบัญญัติตรมมาตราที่เกี่ยวข้องในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และบรรพ ๖ ในกรณีที่ทั้งโจทก์ และจำเลยเป็นมุสลิม หรือมุสลิมเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่มีข้อพิพาท นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการแต่งตั้งดะโต๊ะยุตธรรม จากชาวไทยมุสลิมให้ประจำศาลจังหวัดทั้งสี่ดังกล่าว จังหวัดละ ๒ คนอีกด้วย ให้ดะโต๊ะยุตธรรมเป็นผู้พิพากษาวินิจฉัยชี้ขาด ในข้อกฎหมายอิสลามดังกล่าวข้างต้น และคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรม ในข้ฎหมายอิสลามเป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น 
           ดะโต๊ะยุติธรรม เป็นตำแหน่งเทียบเท่าผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมุสลิมเป็นจำนวนมากคือ ศาลจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จังหวัดละ ๒ คน เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยและตัดสินชี้ขาด กรณีพิพาทของมุสลิม ณ ศาลชั้นต้นในเขต ๔ จังหวัดนี้ ในการพิจารณาอรรถคดีตามที่กำหนด ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ดะโต๊ะยุติธรรมจะทำการพิจารณาความ พร้อมด้วยผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะเป็นผู้เรียบเรียงคำพิพากษา ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรม ผลของการตัดสินนี้ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป 
     ตามหลักการของศาสนาอิสลาม คุณสมบัติของดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องเป็นชายมุสลิมผู้มั่นคงในพระธรรมวินัย มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความฉลาดรอบรู้ในบทแห่งคัมภีร์กุรอาน ฮะดิส (หรือซุนนะห์) อิจญ์มะอ์ และกิยาส ไม่ทุพพลภาพ หรือไร้ความสามารถ และเป็นที่เคารพนับถือของมุสลิมส่วนใหญ่ จึงจะต้องมีการคัดเลือกจากมุสลิมในจังหวัดเหล่านั้น โดยให้อิหม่ามหรือผู้นำของมัสยิดเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง แล้วจึงเสนอกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลแต่งตั้งต่อไป จึงนับเป็นวิธีการที่แสดงออกถึงประชาธิปไตยประการหนึ่ง การกระทำเช่นนี้นับว่ารัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้การอุปถัมภ์แก่ศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางศาสนายิ่งขึ้นประการหนึ่งด้วย 
     มุสลิมในประเทศไทยที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ก็ดำเนินชีวิตตามกฎหมายอิสลามทุกประการเช่นเดียวกัน โดยมีอิหม่ามหรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน ในการพิจารณาโดยคู่ความมอบอนุญาโตตุลาการให้หรือมิฉะนั้นก็เป็นการยินยอมกันเอง ในระหว่างสามีภริยา หรือคู่ความนั้น ผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา จะดำเนินชีวิตตามกฎหมายอิสลามทุกประการ จึงไม่เป็นการแปลกในการที่ประเทศมุสลิมจะหันมาใช้กฎหมายอิสลามทุกมาตรา ไม่เพียงเฉพาะกฎหมายครอบครัว และมรดกเท่านั้น และไม่เป็นการหวั่นวิตกในบทลงโทษ อันรุนแรงบางประการ เพราะเขาตระหนักในความผิดในการที่เขาไม่ปฎิบัติตามหลักการทางศาสนา ทำให้คดีอาชญากรรมและเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ น้อยลง

    

ความคิดเห็น