ว่าด้วยการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย สำหรับกรรมการอืสลาม

    เข็มพระปรมาภิไธย  ชั้น ๒

คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

 

              ภาพจากกูลเกิ้ล

     ระเบียบกระทรวงมหาดไทย

   ว่าด้วยการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย

   พ.ศ. ๒๕๔๘

                       

   โดยที่เป็นการสมควรเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ของจุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ผู้มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธยจึงสมควรวางระเบียบว่าด้วยการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย 

   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ 

   ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย พ.ศ. ๒๕๔๘” 

   ข้อ ๒[๑]  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

   ข้อ ๓  ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจวินิจฉัยตีความวินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามในระเบียบนี้

    

   ข้อ ๔  ลักษณะเสื้อครุยและเข็มพระปรมาภิไธยตามระเบียบนี้ ให้ใช้เช่นเดียวกับที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ เรื่อง ระเบียบการสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธยตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ กำหนดไว้ ดังนี้

   (๑)  ครุย มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมเปิดอก

   (๒)  เข็มพระปรมาภิไธย มี ๒ ชั้น คือ 

   ชั้นที่ ๑ มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ลงยาสีเหลืองเบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองลงยาสีเหลืองและเขียว ภายในพระมหามงกุฎเหนืออักษร มีเลข ๙ ลงยาสีขาวประดับบนแพรแถบขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร สีแดงริมเขียวมีริ้วเหลืองริ้วน้ำเงินขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง

   ชั้นที่ ๒ มีลักษณะเช่นเดียวกับชั้นที่ ๑ แต่ไม่ลงยาและประดับบนแพรแถบขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร สีน้ำเงินริมเขียวมีริ้วเหลืองริ้วแดงขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง  

   ข้อ ๕  ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำเข็มพระปรมาภิไธยและมอบแก่ผู้มีสิทธิได้รับโดยให้ผู้มีสิทธิสวมเสื้อครุยจัดหาเสื้อครุยด้วยตนเอง 

   ข้อ ๖  ผู้มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย คือ

   (๑)  จุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ชั้นที่ ๑

   (๒)  กรรมการอิสลามประจำมัสยิด มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ชั้นที่ ๒ 

   ข้อ ๗  ผู้มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ตามข้อ ๖ (๑) และ (๒) มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ในขณะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

   หากผู้มีสิทธิประดับเข็มพระปรมาภิไธยพ้นจากตำแหน่งให้ส่งคืนเข็มพระปรมาภิไธย หรือชดเชยเป็นเงินตามวงเงินที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย  

   ข้อ ๘  การสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย

   (๑)  การสวมเสื้อครุยให้สวมทับเครื่องแต่งกายที่สุภาพ ประดับเข็มพระปรมาภิไธย ณ อกเบื้องซ้ายและจะสวมเสื้อครุยได้ในโอกาสต่อไปนี้

   ก.  งานสำคัญทางศาสนาอิสลาม คือ วันเมาลิดินนบีมุฮัมมัด ซ.ล. วันอีดิ้ลฟิฏร์ และวันอีดิ้ลอัฎฮา

   ข.  งานพระราชพิธี หรือรัฐพิธีที่มีหมายกำหนดการ

   ค.  งานที่ทางราชการเชื้อเชิญ โดยกำหนดให้สวมเสื้อครุย

   (๒)  การประดับเข็มพระปรมาภิไธยนั้น อาจประดับกับเครื่องแต่งกายที่สุภาพเฉพาะในโอกาสอันเป็นมงคลต่อไปนี้ 

   ก.  วันทำพิธีทางศาสนาอิสลาม คือ วันขึ้นปีใหม่ วันนิสฟูชะอ์บาน และวันเมียะราจ

   ข.  การไปในงานพิธีที่บุคคลจัดให้มีขึ้น 

   ข้อ ๙  ให้กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่กำกับ ดูแล และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด  

   ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

   โภคิน พลกุล

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

    

ที่มา http://law.longdo.com/law/88/sub12064

มุสลิมเชียงใหม่ดอทเน็ต

ความคิดเห็น