เรียนรู้ราชวงค์สุดท้ายของจีน ฮ่องเต้ ราชวงศ์ชิง พ.ศ. 2187-2454 (ค.ศ. 1644-1911) รวม 267 ปี

 เรียนรู้ราชวงค์สุดท้ายของจีน 

Posted by HOF ,

ฮ่องเต้ ราชวงศ์ชิง พ.ศ. 2187-2454 (ค.ศ. 1644-1911) รวม 267 ปี


แผนที่ยุคราชวงศ์ชิง

เป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดก็ว่าได้ครับ เนื่องจากมีภาพยนตร์ทำเรื่องราวยุคนี้ออกมาค่อนข้างมากทีเดียว เราจะเห็นได้ชัดจากการแต่งตัวในยุคนี้ ที่จะโกนหัวครึ่งหัวและไว้เปีย

            ราชวงศ์ชิงก่อตั้งโดยชาวแมนจู บางทีจึงอาจจะได้ยินคนเรียกว่า ราชวงศ์แมนจู คำว่าชิง เป็นคำของแมนจูครับ เรียกว่า อาณาจักรต้าชิง แต่ภาษาจีน เรียก ราชวงศ์ เชง : 大清帝國

ชาวแมนจูเดิมเป็นเพียงกลุ่มเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ต่อมาเมื่อราชวงศ์หมิง ของชาวฮั่นอ่อนแอ เกิดจลาจล และกลุ่มกบฏชาวนา ชาวแมนจูถือโอกาสรวบรวมกำลังพล โดยผู้นำตระกูลอ้ายซินเจวี๋ยโหล เข้าบุกปักกิ่ง

เริ่มแรกในพุทธสตวรรษที่ 22 นูรฮาชี เป็นขุนนางของ ราชวงศ์หมิง ครองดินแดนทางตะวันออกฉียงเหนือ และตั้งตนเป็น จักรพรรดิไท่จู และตั้งรัฐแมนจูขึ้นใน พ.ศ. 2152 สถาปนาเมือง เสิ่นหยาง เป็นเมืองหลวง

ผู้สืบต่อจาก จักรพรรดิไท่จู คือ หวงไท่จี๋ หรือจักรพรรดิไท่จง เมื่อลิงตันข่าน ข่านองค์สุดท้ายของมองโกลสิ้น ในปี 2177 บุตรของเขาได้มาสวามิภักดิ์กับกองทัพแมนจู ในปี 2179 จักรพรรดิไทจ่ง ก็เปลี่ยนชื่อรัฐเป็น อาณาจักรต้าชิง (แปลว่า บริสุทธิ์ ) และ ขยายอาณาเขตออกไป สามารถชนะ มองโกเลีย และเกาหลี และครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาร์มู หรือมณฑลเฮยหลงเจียงในปัจจุบัน

        เมื่อราชวงศ์หมิงอ่อนแอ หลี่จื้อเฉิง (กบฏชาวนา ) เข้าตีเมืองปักกิ่ง จนเหลือแค่ฐานที่มั่นของอู่ชานกุ๊ย เมื่อจวนตัว อู๋ซานกุ๊ยเลือกที่จะสวามิภักดิ์กับฝ่ายแมนจู ซึ่งเป็นยุค จักรพรรดิ ซุ่นจื้อ (ขณะนั้นอายุ 6 ชันษา ) เมื่อปี 2187 บางตำราก็ถือเอา จักรพรรดิซ่นจื้อ เป็นปฐมราชวงศ์ชิง เนื่องจากได้ประทับในวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่ง และ ราชวงศ์หมิงถึงกาลสิ้นสุดอย่างแท้จริง โดย พระเจ้าหมิงซือจง (明思宗) แห่งราชวงศ์หมิง ผูกพระศอปลงพระชนม์ตัวเอง ในปี 2187

ในเอนทรีนี้ ผมจะไม่ขอลงในรายละเอียดมากนัก และจะเจาะลึกแต่ละองค์ อีกครั้ง รวมทั้งยกหนังอิงประวัติศาสตร์ช่วงนั้น มาเล่ากันครับ

1. จักรพรรดิ ซุ่นจื้อ 顺治 Shunzhi พระนามเดิม ฟู่หลิน (福臨) ครองราชย์ 2187 -2204 ( 1644-1661) รวม 17 ปี

        เป็นพระโอรสของ จักรพรรดิ ไท่จง เมื่อทรงครองราชย์เมื่ออายุเพียง 6 ขวบ จึงมีผู้สำเร็จราชการ คือ อ๋องทอร์คุน พระอนุชาต่างพระมารดาของพระราชบิดา ซึ่งมีอิทธิพลมาก แต่ถูกคานจาก พระนางเสี้ยวจวง พระมารดา ในยุคนี้ยังต้องปราบปรามการต่อต้านจากชาวฮั่นอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเมื่ออ๋องทอร์คุนตาย พระองค์จึงได้มีอำนาจเต็มที่ แต่ก็ทรงเสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษในปี 2204 เมื่อมีอายุเพียง 24 พรรษา

2. จักรพรรดิคังซี 康熙 Kangxi ครองราชย์ 2204 -2265 (1661- 1722) รวม 61 ปี


        พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ของจักรพรรดิ ซุ่นจื้อ ครองราชย์ตั้งแต่อายุ เพียง 7 พรรษา ถูกดูแลมาด้วย พระนางเสี้ยวจวง ( ในยุคนี้ได้เป็น ไท่หวงไทเฮา ) ทรงมีความสามารถตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่ออายุ ได้ 13 พรรษา ก็ออกว่าราชการด้วยพระองค์เอง ในยุคนี้มีการต่อสู้ระหว่างชาวฮั่นที่ต้องการกู้ราชวงศ์หมิง รวมถึงชนเผ่าอื่น ๆ ที่ต้องการก่อกบฏ จักรพรรดิคังซี ทำสงครามภายในประเทศยาวนานถึง 8 ปี จึงพิชิตแคว้นต่าง ๆ ได้ราบคาบ ก่อนที่พระองค์จะมีพระชนมายุ 30 พรรษา ทั้งขยายอาณาเขตถึงมองโกเลียและทิเบต และได้ทำสงครามกับรัสเซียในยุคสมัยของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช และได้รับชัยชนะด้วย ซึ่งสงครามได้จบลงที่การสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน รวมถึงการยกทัพบุกพม่า ทำให้จีนในยุคนี้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ทรงจัดทำ พจนานุกรมคังซี ซึ่งรวบรวมตัวอักษรจีนได้ครบถ้วนที่สุดสมัยนั้น
พระองค์นับเป็นฮ่องเต้ที่ครองราชย์ยาวนานมากที่สุดพระองค์หนึ่ง มีสนมถึง 35 คน บุตรและธิดารวม 55 องค์ ทำให้ปลายสมัยของพระองค์เกิดการแย่งชิงราชสมบัติของพี่น้องด้วยกันเอง ที่เรารู้จักในนาม ศึกสายเลือด
รัชสมัยของจักพรรดิคังซีตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอาณาจักรอยุธยา

     

3 .จักรพรรดิหย่งเจิ้น 雍正 Yongzheng มีพระนามเดิมว่า อิ้นเจิน พ.ศ. 2265-2278 (1722-1735 ) รวม 13 ปี

        เป็นองค์ชายที่ 4 ของจักรพรรดิ์คังซี เป็นเรื่องเล่ากันต่อมาว่าพระองค์ชิงราชบัลลังก์จากองค์ชาย 14 โดยแก้ไขลายพระหัตถ์ของพระบิดา ทำให้รัชสมัยของพระองค์มีเรื่องราวแย่งชิงกันระหว่างพี่น้องจนพระองค์ได้ชื่อว่า เป็น " จักรพรรดิบัลลังก์เลือด " หรือ " จักรพรรดิทรราช "
คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งตั้งองค์รัชทายาท จากการแต่งตั้งโดยเปิดเผยอันเป็นสิ่งปฏิบัติมาแต่อดีต เป็นทรงแต่งตั้งโดยเป็นความลับ โดยจารึกพระนามขององค์รัชทายาทใช้หลังป้ายแผ่นหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า เจิ้งต้ากวางหมิง (正大光明) ซึ่งเก็บลับไว้ในหีบ ซึ่งธรรมเนียมนี้จักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มาก็ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาด้วย
พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ในปี พ.ศ. 2278 (ค.ศ. 1735) เล่ากันว่าพระองค์ทรงโปรดที่จะเสวยยาอายุวัฒนะ และผลจากการเสวยยาทำให้พระองค์มีพระชนม์ชีพสั้น

 

4 .จักรพรรดิเฉียนหลง 乾隆 Qiánlóng 2278 -2338 (1735-1795) รวม 60 ปี

รูปวาดสมัยยังหนุ่มของจักรพรรดิ์ เฉียนหลง

        ชื่อเดิม เจ้าชายหงลี่ องค์ชายที่4 ในจักรพรรดิหย่งเจิ้น และเป็นหลานโปรดของ จักรพรรดิคังซี เพราะมีความเฉลียวฉลาดตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงครองราชย์เมื่ออายุ 25 ปี
จักรพรรดิเฉียนหลงได้สร้างความเจริญมากมายให้กับประเทศจีน โดยเฉพาะการจัดทำสารานุกรม ซื่อคู่เฉวียนซู ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2316 (ค.ศ. 1773) - พ.ศ. 2325 (ค.ศ. 1782) ถือเป็นมรดกโลกที่สำคัญชิ้นหนึ่ง


        จักรพรรดิเฉียนหลงมีคนสนิทที่ทรงใกล้ชิดอยู่คนหนึ่ง ชื่อ เหอเซิน ที่มักคอยเอาอกเอาใจอยู่ตลอด และมักชวนจักรพรรดิเฉียนหลงเสเพลอยู่เสมอ ๆ จักรพรรดิเฉียนหลงทรงโปรดเหอเซินมาก ทำให้เหอเซินเหิมเกริม กระทำการทุจริตต่าง ๆ นานา ยิ่งโดยเฉพาะในปลายรัชสมัยมีการจับจ่ายใช้เงินทองจำนวนมากเพื่อความสำราญของคนในพระราชวัง ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีพระโอรสที่ปรีชาสามารถมากคือเจ้าชายหย่งฉี พระโอรสองค์ที่ 5 ซึ่งประสูติแต่ฮองเฮาองค์ที่ 2 เจ้าชายหย่งฉีเป็นผู้ที่ปรีชาสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ เป็นความหวังว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ แต่กลับสิ้นพระชนม์เสียก่อนตั้งแต่ยังหนุ่ม
        ในปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) ปีที่ 60 ที่ทรงครองราชย์จักรพรรดิเฉียนหลงได้สละราชสมบัติให้พระโอรส ด้วยไม่ทรงปรารถนาจะครองราชย์ยาวนานเกินกว่าจักรพรรดิคังซีผู้ทรงเป็นพระอัยกา อย่างไรก็ตามแม้จะสละราชบัลลังค์แล้วแต่อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่กับพระองค์ โดยทรงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น พระบิดาหลวง หรือ จักรพรรดิสูงสุด (ไท่ซั่งหวง, 太上皇帝) พระองค์สวรรคตเมื่อปี 2342


5. จักรพรรดิเจี่ยชิ่ง 嘉庆 Jiaqing พ.ศ. 2339–พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1796- 1820) รวมระยะเวลาที่ได้ทรงครองราชย์ 24 ปี


        พระโอรสองค์ที่ 15 ของ จักรพรรดิฉียนหลง ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนม์ 37 พรรษา ปี พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) จักรพรรดิเฉียนหลงได้สวรรคต พระองค์จึงได้อำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง
สิ่งแรกที่ทำคือทรงได้กำจัดเหอเซิน ที่เป็นขุนนางกังฉิน โกงกินชาติ ซึ่งเป็นคนสนิทของจักรพรรพิเฉียนหลง ทรงรวบรวมขุนนางและบรรดาผู้ที่จงรักภักดีเพื่อกำจัดเหอเซิน โดยบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการครั้งนี้คือ อ๋องเฉิน ซึ่งเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย ) ของพระองค์และเป็นพระโอรสลำดับที่ 11
ตลอดรัชสมัย ทรงพบกับการก่อกบฏและเรื่องทางความมั่นคงมากมาย เช่น กบฏพรรคบัวขาว, กบฏโจรสลัดไต้หวัน กบฏพรรคเที่ยงธรรม เป็นต้น ซึ่งกบฏเหล่านี้ส่วนใหญ่ เป็นกบฏชาวฮั่นที่รวบรวมคนไว้เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิงกอบกู้ราชวงศ์หมิงนั่นเอง จากการปราบกบฏนี่เอง ทำให้พระองค์เกิดความไม่ไว้พระทัยในตัวขุนนางและบรรดาคนใกล้ชิดหลายคน และแม้แต่อ๋องเฉินด้วย ทำให้อ๋องเฉินลาออกจากราชการไป
พระองค์ทรงใช้ทั้งนโยบายที่ผ่อนปรนและแข็งกร้าวสลับกันไป เช่น การห้ามชาวแมนจูแต่งงานกับชาวฮั่นเด็ดขาด หรือ การห้ามชาวคริสต์เผยแพร่ศาสนาเด็ดขาด รวมทั้งการห้ามราษฎรสูบฝิ่นด้วย เป็นต้น ซึ่งสิ่งทั้งหมดเหล่านี้จะส่งผลต่อความมั่นคงตามมาในภายหลัง
ในปลายรัชสมัย ทรงมีพระพลานามัยอ่อนแอ ด้วยทรงสูงพระชันษาประกอบกับการกลัดกลุ้มพระทัยอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับราชภารกิจ ทรงสวรรคตในปี พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1820) พระชนมายุ 61 พรรษา


6. จักรพรรดิเต้ากวง 道光Daoguang ปี พ.ศ. 2363 -พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1820-1850) ระยะเวลา 30 ปี


         มีพระนามว่า เหมี่ยนหนิง เป็นองค์ชายรองในจักรพรรดิเจี่ยชิ่ง ซึ่งประสูติจากมเหสีที่มีชื่อว่า พระนางเสี้ยวซู (孝淑皇后) แต่พระมารดาได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ยังเยาว์วัย จักรพรรดิเจี่ยชิงพระราชบิดาจึงได้สถาปนาเจ้าจอมองค์ใหม่ขึ้นเป็น พระนางเสี้ยวเหอ (孝和皇后) ซึ่งเป็นบุตรสาวของขุนนางพวกเดียวกับเหอเซิน ที่ทรงไม่ไว้วางพระทัย แต่ทรงทำไปด้วยด้วยเหตุผลทางการเมือง นั่นทำให้จักรพรรดิเต้ากวงเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็ไม่โปรดในตัวพระนางด้วยเช่นกัน แม้จะมีศักดิ์เป็นพระมารดาเลี้ยงก็ตาม แต่ภายหลังจึงได้ยอมรับพระนาง
           ในรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวง ได้ทรงหาทางกำจัดขุนนางกังฉินและบรรดาขุนนางที่ไม่เอาการเอางาน จึงทำให้เหล่าขุนนางลับหลังจะนินทาพระองค์อยู่เสมอ ๆ และทำให้ขุนนางแบ่งแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่ายต่างก็สนับสนุนพระโอรสอันเกิดจากพระมารดาที่เป็นชนเผ่าเดียวกับตน แต่พระองค์ก็ได้หาทางบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศเป็นปึกแผ่น ดูเหมือนเข้มแข็ง แต่ภายในอ่อนแออันเกิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ สงครามฝิ่นกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) และ พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และนำมาสู่การสูญเสียเกาะฮ่องกงและการล่มสลายของราชวงศ์ชิงในภายหลัง ในรัชสมัยนี้พระองค์ได้ออกนโยบายให้ทุกคนในวังประหยัด โดยมีพระองค์เป็นแบบอย่าง
ได้สวรรคตในปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) เมื่อมีพระชนม์มายุ


7.จักรพรรดิเสียนเฟิง咸豐帝 Xianfeng พ.ศ. 2393 – 2404 (ค.ศ. 1850- 1861) รวม 11 ปี

            ปี มีนามเดิมว่า อ้ายซินเจวี๋ยหลัว อี้จู่ หรือองค์ชาย อี้จู่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2374 (ค.ศ. 1831) ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนม์ 19 พรรษา เป็นราชโอรสองศ์ที่ 4 ของจักรพรรดิเต้ากวง
ซึ่งในระหว่างที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ พระราชประเพณีจีนห้ามจักรพรรดิองค์ใหม่มีมหเสีหรือพระสนม และต้องไว้ทุกข์เป็นเวลานานถึง 27 เดือน เมื่อผ่านช่วงไว้ทุกข์ไปแล้ว จึงมีการเลือกพระสนม และได้ พระมหเสีองค์แรกของจักรพรรดิเสียงฟง คือ พระนางหนิวฮู่ลู่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระนางหวางไท่โฮ่ว
            ในสมัยพระองศ์เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลให้เกาะฮ่องกงตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษโดยสมบูรณ์ และมาเก๊าตกเป็นของโปรตุเกส และกบฏไท่ผิง โดย หง ซิ่วฉวน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและราชวงศ์
จักรพรรดิเสียนฟง มีพระมหเสีองค์รองอีกหนึ่งพระองค์ ที่ต่อมามีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ภายหลัง คือ พระนางซูสีไทเฮา
พระองค์สวรรคตในปีพ.ศ. 2404(ค.ศ. 1861) ด้วยพระชนมายุเพียง 30 พรรษา ด้วยพระโรคที่รุมเร้าจากทรงกลัดกลุ้มในปัญหาของบ้านเมือง


8. จักรพรรดิถงจื้อ 2404 -2418 ( 1861-1875) รวม 14 ปี

               มีพระนามเดิมว่า อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หรือ องค์ชายไจ้ฉุน เป็นราชโอรสองศ์เดียวในจักรพรรดิเสียนเฟิงกับซูสีไทเฮา ว่ากันว่าเมื่อพระองค์เติบโต พระองค์ได้ระบายอารมณ์กับเหล่าขันทีและมักจะเข้าซ่องเสมอ ทำให้พระองค์เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิส
แต่ในยุคสมัยของพระองค์ บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุด คือ พระนางซูสีไทเฮา และฉืออันไทเฮา ซึ่งเป็นการว่าราชการหลังม่าน พระองค์เพียงแต่พูดตามคำของพระนางเท่านั้น
ลองอ่านรายละเอียดในเอนทรีที่แล้ว สตรีที่โลกไม่ลืม ซูสีไทเฮา ราชินีหลังม่าน เหนือมังกร
http://www.oknation.net/blog/moviehall/2008/03/29/entry-1


9. จักรพรรดิกวางซวี (กวางสู้ หรือ กวางสู) 光绪帝 Guāngxù 2418-2451 ( 1875-1908) รวม33 ปี

            พระนามเดิมว่า อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ไจ้เถียน เป็นบุตรของเจ้าชายจุนที่ 1 ซึ่งเป็นอนุชาของจักรพรรดิเสียนเฟิง พระราชมารดาคือน้องสาวของซูสีไทเฮา ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ การขึ้นครองราชย์ของพระองศ์เป็นการผิดกฎมณเฑียรบาล เพราะจักรพรรดิถงจื้อก่อนสิ้นพระชนม์ได้แต่งตั้งเจ้าชายไซ่ชูพระญาติรุ่นหลังให้เป็นรัชทายาท แต่ในเมื่อพระนางซูสีไท่เฮาต้องการให้กวางสูขึ้นครองราชย์ก็ไม่มีใครกล้าขัด
            ในรัชสมัยของพระองค์อำนาจยังคงอยู่ในมือของพระนางซูสีไทเฮา
บทบาทที่สำคัญของพระองค์คือการปฏิรูป 100 วัน แต่ไม่สำเร็จ และถูกพระนางซูสีไทเฮาจับขังในพระราชวังฤดูร้อน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
ลองอ่านรายละเอียดในเอนทรีที่แล้ว สตรีที่โลกไม่ลืม ซูสีไทเฮา ราชินีหลังม่าน เหนือมังกร
http://www.oknation.net/blog/moviehall/2008/03/29/entry-1


10.จักรพรรดิซวนถง (ปูยี ) 溥儀 Pǔyí 2451-2455 ( 1908-1912 ) รวม 4 ปี

            มีพระนามเต็มว่า อ้ายซิน เจี๋ยหลอ ปูยี ( พระราชสมภพ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 สวรรคต 17 ตุลาคม พ.ศ. 2510 เป็นบุตรขององค์ชายชุน หลานของพระนางซูสีไทเฮา และขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 2 ปี และขึ้นครองราชยืได้ไม่นาน พระนางซูสีไทเฮาก็สวรรคต และพระองค์ เป็นจักรพรรดิ์องค์สุดท้าย (末代皇帝) ของประเทศจีน
            ปูยีดำรงตำแหน่งจักรพรรดิของประเทศจีนระหว่าง ค.ศ. 1908 - ค.ศ. 1912 และอภิเษกกับจักรพรรดินีว่านหยง (婉容皇后) หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) ปูยีถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามและดำรงชีวิตดุจสามัญชน

อ่านรายละเอียดใน เอนทรี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน
http://www.oknation.net/blog/moviehall/2008/03/25/entry-1

credit   http://www.oknation.net/blog/moviehall/2008/04/06/entry-1
muj

ความคิดเห็น