อิสลามกับความหลากหลายของมุสลิม โดย ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 อิสลามกับความหลากหลายของมุสลิม

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข


คำนำ ( Introduction )

โลกมุสลิมปัจจุบันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธ์ แต่ละเชื้อชาติและเผ่าพันธ์ต่าง มีภาษา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นของตนเอง ธรรมชาติของการแตกต่างเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้า(อัลลอฮุ์)ทรงเป็นผู้กำหนด และในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเป็นผู้วางกฎเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ใน สังคมของความหลากหลายอย่างสันติ กฎดังกล่าวนั้นคือ??อิสลาม?

ความหมายของอิสลาม ( The Meaning of Islam )
อิสลาม? เป็นศัพท์ภาษาอาหรับ แปลว่า การยอมจำนนการนอบน้อมยอมตนต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ผู้ใดปฏิบัติเช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม ซึ่งใช้เรียกสำหรับชาย และมุสลิมะฮ์ที่ใช้เรียก สำหรับผู้หญิง ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลับฮิวะซัลลัม) ได้อธิบายคำว่าอิสลาม ในหะดีษบทหนึ่งความว่า
อิส ลาม คือ การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้า ที่ถูกกราบไหว้โดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เป็นศาสนทูตของพระองค์ และคือการดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์ ณ บัยตุ้ลลอฮ์ และการถือศีลอด ในเดือนรอมาฎอน? บันทึกโดย อิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม

นอกจากนั้นคำว่าอิสลามยังสามารถอธิบายในความหมายอื่นๆ อีก เช่น
ก. ระบอบแห่งการดำเนินชีวิต ของมนุษย์อันสมบูรณ์แบบที่พระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) เป็นผู้ทรงกำหนด โดยผ่านท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮวะซัลลัม)
ข. ประมวลกฏหมายที่อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงให้มีบัญญัติคลอบคลุมทั้งหลักศรัทธา จริยธรรม นิติธรรม การประกอบศาสนกิจและการอยู่ร่วมกัน ในสังคมโดยมีท่านศาสดาเป็นผู้ได้รับบัญชานำมาเผยแผ่แก่มนุษยชาติ
ค. ประมวลคำตอบอันถูกต้องและเป็นสัจจะต่อคำถามของมนุษย์ทั้งอดีตและปัจจุบันคือ เขามาจากไหน? เขามาเพื่ออะไร? และเขากำลังไปไหน?
การให้ความหมาย??อิสลาม?ว่าหมายถึง??ความสันติ?นั้น เป็นการให้ความหมายในเชิงภาษาศาสตร์สามารถ นำมาอธิบายอิสลามได้ เนื่องจากความสันตินั้นจะเกิดขึ้นจาก การมอบหมายตนเองอย่างสิ้นเชิง ยังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์)
สิ่ง ที่ยังมีหลายคนเข้าใจผิดก็คือ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาใหม่ที่มูฮำหมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)เป็นผู้นำ มาในคริศตวรรษที่7 ณ คาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งจริงๆแล้วมิใช่เช่นนั้น เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่อัลลอฮ์ประทานให้แก่ศาสดาอาดัม ( อะลัยฮิสลาม ) ซึ่งเป็นมนุษย์และเป็นศาสดาคนแรกของอัลลอฮ์ และอิสลามคือศาสนาของศาสดาทุกคน ที่อัลลอฮ์ส่งมาสู่มวลมนุษยชาติ ศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสดาคนสุดท้ายของอัลลอฮฺ อิสลามจึงเป็นศาสนาของอัลลอฮ์ที่ได้นำมากล่าวถึงอีกในรูปแบบสุดท้าย ซึ่งเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด

คุณลักษณะพิเศษของอิสลาม (Characteristics of Islam)

อิสลามมีคุณลักษณะพิเศษหลายประการดังจะกล่าวพอสังเขป ดังต่อไปนี้ คือ
คุณลักษณะประการที่ ๑
แหล่งที่มาของอิสลาม
อิสลามมีแหล่งที่มาจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงสร้างมวลมนุษย์และทรงกำหนดอิสลาม ให้เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิต อิสลาม จึงมีความแตกต่างกับระบบอื่นๆอย่างสิ้นเชิง เพราะระบบที่มาเหล่านั้นล้วนมีที่มาจากมนุษย์ผู้ถูกสร้างทั้งสิ้น

ผลจากที่อิสลามมีแหล่งที่มา จากพระผู้เป็นเจ้านี้เองอิสลามจึงมีเอกลักษณ์ ดังต่อไปนี้
ก. มีความสมบูรณ์ ไร้ข้อบกพร่องทั้งปวง
ข. มีความเหมาะสมกับทุกกาลสมัย
ค. มีพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่จากผู้ยึดถือปฏิบัติ ( มุอฺมิน )?
คุณลักษณะประการที่ ๒
ขอบข่ายของอิสลาม (Intrusive Doctrine of Islam)
อิสลามครอบคลุมทุกกระบวนการของชีวิตมนุษย์
บทบัญญัติของอิสลามนั้นครอบคลุมหลักต่างๆดังต่อไปนี้คือ
1. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การเชื่อ การศรัทธา (อะกีดะฮ์)
2. หลักที่เกี่ยวข้องกับ จริยธรรม (อัคล๊าก)
3. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระบบความสัมพันธ์ ระหว่าง มนุษย์กับพระเจ้า หรือ ศาสนพิธี (อิบาดะห์)
4. หลักที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีอยู่หลายประเภทดังนี้
4.1 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว เช่นการแต่งงาน การหย่าร้าง ค่าเลี้ยงดูบุตร และมรดกฯลฯ หรือที่เรียกในสมัยปัจจุบันว่า กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล
4.2 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการดำเนินธุรกิจ (มูอามะล๊าต) หรือ ที่เรียกโดยทั่วไปว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
4.3 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความหรือที่เรียก ในสมัยปัจจุบันว่า กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความ
4.4 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ คนต่างด้าวที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศมุสลิม
4.5 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในยามสงบและในยามสงคราม
4.6 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง รัฐ และการเลือกผู้นำ
4.7 บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ การเงิน และ การคลังของรัฐ
4.8 บัญญัติที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและการลงโทษทางอาญา
คุณลักษณะประการที่ 3
ความเป็นสากลของอิสลาม (The Universal of Islam)
อิสลามมีความเป็นสากล มิได้จำกัดเฉพาะประชาชาติใดประชาชาติหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งมิได้จำกัดเวลาและสถานที่ ผู้ใดก็ตามไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ หนใดเวลาใดในโลกนี้ เขาก็สามารถเป็นมุสลิมผู้ปฏิบัติตามอิสลามได้ ทั้งนี้ เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)นั้น ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นศาสดาแห่งมวลมนุษยชาติ ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกรุอานความว่า
(มูฮัมหมัด) จงกล่าว เถิดว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉัน คือ ศาสนทูต (ร่อซู้ล) ของอัลลอฮ์ มายังพวกท่านทั้งมวล? (อัลกุรอาน บทที่7 ส่วนหนึ่งของอายะฮ์ที่ 158)
คุณลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้อิสลามเป็นระบอบ
ก. มีความเป็นอมตะไม่มีการยกเลิกแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น แม้เวลา จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
ข. มีความเหมาะสมกับทุกกาลสมัย มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย สามารถนำระบอบอิสลาม มาใช้เพื่อบรรลุสู่คุณประโยชน์และความดีงาม
ค. มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของบุคคล ไม่มีนักบวช ไม่มีฆราวาสเพราะทุกคนเท่าเทียมกันในการปฏิบัติตามบทบัญญัตติของศาสนา
คุณลักษณะประการที่ 4
การตอบแทน ( The Reward )
อิสลามมีระบบการตอบแทนที่เป็น ทวิภาค คือ
1. การตอบแทนชีวิตในโลกนี้
2. การตอบแทนชีวิตในโลกหน้า
มนุษย์ทุกคนต้อง ได้รับการตอบแทนตามพฤติกรรม ของตน โดยที่เขาไม่อาจหลบหนีได้ จริงอยู่มนุษย์อาจหลบหนีจากการลงโทษในโลกนี้ได้ แต่เขาจะต้องรู้ว่าการลงโทษในโลกหน้านั้นกำลังรอเขาอยู่
ขอบข่ายของการตอบแทนในอิสลามนั้นกว้างและครอบคลุมทุกกระบวนการของชีวิตไม่ ว่า จะเป็นการยึดมั่น จริยธรรม พิธีกรรมทางศาสนาและการประกอบธุรกิจต่างๆ ถ้าเขาฝ่าฝืนบทบัญญัติในเรื่องราวเหล่านี้แล้วเขาก็ต้องได้รับการลงโทษจาก พระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน
คุณลักษณะประการที่ 5
ความเป็นธรรมชาติในคำสอนของอิสลาม? (The nature of Islamic Instruction)
อิสลามเป็นคำสอนที่อยู่ในสายกลางไม่มีลักษณะสุดโต่งหรือหย่อนยานสอดคล้องกับ ธรรมชาติและความเป็นจริงเสมอถือว่า การบรรลุจุดสูงสุดของความดีนั้นไม่จำเป็นต้องฝืนธรรมชาติด้วยการตัดกิเลสตัน หา หรือทรมานร่างกาย แต่สามารถบรรลุได้ด้วยหนทางที่เป็นธรรมชาติซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ กำหนด
จากการคำนึงถึงธรรมชาติและสภาวะความเป็นจริงของมนุษย์ อิสลามกำหนดมาตรฐานของบุคคลไว้ 2 มาตรฐาน คือ
มาตรฐานที่ 1 : การปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลามอย่างเคร่งครัดทั้งภาคบังคับ (วายิบ) และไม่บังคับแต่ควรปฏิบัติ (ซุนนะฮฺ) และออกห่างจากสิ่งที่อิสลามห้าม บัญญัติทั้ง 2 ประเภท คือ ห้ามเด็ดขาด (ฮะรอม) และควรหลีกเลี่ยง (มักรูฮฺ) มาตรฐานนี้ถือเป็นมาตรฐานที่สูงสุดที่อิสลามต้องการให้มนุษย์บรรลุถึง แต่เนื่องจากมนุษย์มีสภาวะของความพร้อมที่แตกต่างกัน อิสลามจึงกำหนดมาตรฐานที่สองซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่มนุษย์พึงบรรลุถึงได้ นั้นคือ
มาตราฐานที่ 2 : การปฏิบัติสิ่งที่อิสลามบังคับใช้ (วาญิบ) และออกห่างจากสิ่งที่อิสลามบัญญัติห้ามอย่างเด็ดขาด (ฮะรอม) บุคคลใดที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานที่หนึ่งและที่สอง ถือว่าบุคคลนั้นตกจากมาตรฐานที่อิสลามกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตตามครรลองของอิสลามนั้น อิสลามให้ยึดหลักสองประการ คือ
๑.ความสมดุล : หมายถึงไม่เลยเถิดจนเกินขอบเขต และไม่ประมาทจนเลินเล่อ แต่ให้อยู่ในความพอเพียง
๒.ครอบคลุม : หมายถึง ต้องครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านส่วนตัว ครอบครัวและสังคม ไม่เน้นด้านหนึ่งด้านใดเป็นการเฉพาะ
อิสลามเป็นศาสนาแห่งการเผยแผ่
( Islam, The Religion of Convocation )



อิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ อิสลามบัญญัติว่าทุกคนที่ได้รับอิสลามจำเป็นต้องเผยแผ่อิสลาม ( ที่เขารู้และเข้าใจ ) แก่ผู้อื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว อิสลามจึงแพร่หลายยังส่วนต่างๆของโลก ปัจจุบันมีมุสลิมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลกกระจัดกระจายอยู่ในทุกทวีป และมีประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลมุสลิมมากกว่าสี่สิบประเทศ มีองค์กรมากมายที่ทำงานเผยแผ่ศาสนาอิสลามตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับ นานาชาติ ภารกิจหลักขององค์กรเหล่านี้คือ การเชิญชวนให้มนุษย์ไปสู่หนทางของอิสลามที่ถูกต้อง
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อิสลามเผยแผ่ยังส่วนต่างๆของโลกคือ ความเคร่งครัดและความนุ่มนวลของมุสลิม แม้ว่าในปัจจุบัน ลักษณะดังกล่าวจะจางลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่หลายของอิสลามโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเป็นผลงานของนักเผยแผ่ผู้เคร่งครัดและมีจรรยา นุ่มนวลทั้งสิ้น
อิสลามกับความหลากหลายของมุสลิม
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า อิสลามเป็นศาสนาสากลและเป็นศาสนาแห่งธรรมชาติของมวลมนุษย์ ดังนั้น อิสลามจึงไม่ปฏิเสธความหลากหลายอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในสิ่งต่อไปนี้คือ :
1.ชาติกำเนิดและสีผิว ( Race and Colors )
อิสลามสามารถแพร่หลายในหมู่ชนชาติทุกสีผิว เพราะอิสลามไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินคุณค่า สิ่งที่อิสลามยึดถือคือ คุณความดีในรูปของการตั๊กวา อันหมายถึงการปฏิบัติตามสิ่งที่พระเจ้าทรงใช้และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ ทรงห้าม
อัลกุรอานได้ยืนยันถึงหลักการนี้ไว้ในบทที่ 49 อายะฮฺที่ 13 ว่า :

"โอ้ มวลมนุษย์ แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งหญิงหนึ่ง และเราได้บันดาลพวกเจ้าให้แตกออกเป็นเผ่าพันธุ์และเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือผู้มีความยำเกรงอัลลอฮฺ ( ตั๊กวา ) ที่สุดในหมู่พวกเจ้า" ( อัลหุญุร๊อต 49 :13 )
และท่านศาสดาเคยกล่าวไว้ว่า :

"ชนชาติอาหรับมิได้เลอเลิศกว่าชนชาติอื่น นอกจากด้วยการตั๊กวา"

ความหลากหลายในชาติกำเนิดและสีผิวของประชาชาติมุสลิมนั้น ปรากฏเด่นชัดในช่วงเทศกาลฮัจญ์ของทุกปี ด้วยการชุมนุมของมุสลิมจากทุกเชื้อชาติและสีผิว เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า


2.ภาษา ( Language )
มุสลิมมีภาษาที่หลากหลายตามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่กำเนิด และตามสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่ามุสลิม จะมีภาษาพูดอย่างไร เขาก็สามารถเป็นมุสลิมที่ดีได้ ภาษาจึงมิใช่สิ่งสำคัญ หากสิ่งสำคัญอยู่ที่ความเป็นมุสลิม
มีหลายคนเข้าใจผิดว่ามุสลิมนั้นมีภาษาเฉพาะ เช่น ภาษามลายู มีคนเรียกว่าภาษาอิสลาม ใครพูดภาษามลายูไม่ได้ก็เป็นมุสลิมไม่ได้ หรือภาษาอื่นๆเช่น อุรดู เปอร์เซีย และอาหรับ สำหรับกรณีภาษาอาหรับสามารถเรียกได้ว่าเป็นภาษาของอิสลาม เนื่องจากเป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานและ เป็นภาษาของอัลฮะดีษ ตลอดจนเป็นภาษาของตำราหลักๆ ของวิชาอิสลามศึกษา แต่ก็มิได้หมายความว่ามุสลิมจำเป็นจะต้องพูดและอ่านภาษาอาหรับได้ทุกคน เพียงแต่ในการประกอบศาสนกิจบางประเภทมุสลิมจำเป็นจะต้องอ่านบทอัลกุรอานที่ เป็นภาษาอาหรับ เช่น ในการละหมาด เป็นต้น
3.การแต่งกาย ( Dress )
การแต่งกายของมุสลิมโดยทั่วไปนั้นขึ้นอยู่กับประเพณีนิยมของชนชาติและเผ่า พันธุ์ของตน เราจึงเห็นการแต่งกายของมุสลิมอินโดนิเซียซึ่งนิยมสวมเสื้อกางเกง และหมวกสีดำแตกต่างจากมุสลิมซูดาน ซึ่งนิยมสวมชุดโต๊บ ( เสื้อยาว ) สีขาว และพันผ้าโพกศีรษะใหญ่ และแตกต่างจากมุสลิมซาอุดิอาระเบียและอาหรับ บางประเทศที่นิยมใช้ผ้าขาวหรือลายแดงคลุมศีรษะและเอาเชือกลักษณะวงกลมสีดำ ( อิกอล ) ทับไว้ เช่นเดียวกับการแต่งกายของมุสลิมะห์ ( มุสลิมหญิง )ชาวมาเลเซีย จะแตกต่างจาการแต่งกายของมุสลีมะฮฺชาวปากีสถานและอิหร่าน เป็นต้น คนที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะได้มีโอกาสเห็นความหลากหลายในการแต่งกายของมุสลิมะฮฺจากทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ตาม อิสลามได้วางหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการแต่งกายของมุสลิมและมุสลิมะห์ จะขอนำมากล่าวสรุปเป็นหัวข้อดังนี้ คือ :
1. ต้อง ปกปิดเอาเราะฮฺ ( ส่วนที่พึงสงวนตามศาสนบัญญัติ ) สำหรับชายต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า และสำหรับหญิงต้องปกปิดทั่วร่างกายเว้นแต่ใบหน้า และฝ่ามือ
2. เสื้อผ้าที่สวมต้องไม่บางและรัดรูป แสดงให้เห็นสัดส่วนที่เป็นจุดดึงดูดทางเพศ
3. ต้องไม่เลียนแบบเพศตรงข้าม หรือลอกเลียนแบบต่างศาสนิกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเพณีศาสนา
4. มุสลิมชายต้องไม่สวมใส่ทองคำ หรือเสื้อผ้าที่ทำจากไหมบริสุทธิ์ จะอนุญาตเฉพาะสตรีเท่านั้น
5. การแต่งกายต้องอยู่บนพื้นฐานของความสะอาดและไม่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนไม่แสดงถึงความโอ้อวด
หลักเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ของอิสลามในอันที่จะให้มุสลิมได้รักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในศีลธรรมและศาสนาของตน

4.ขนบธรรมเนียมประเพณี ( Customs )
ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความหลากหลายในสังคมมนุษย์ มนุษย์ทุกหมู่เหล่าจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมา จนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นส่วนใหญ่ มีแหล่งที่มาจากค่านิยมของคนในสังคม หรือสิ่งที่คนในสังคมเห็นดีว่าควรกระทำ อาทิเช่น ประเพณีการทักทายของของมุสลิมชาวซาอุดิอาระเบีย และประเทศใกล้เคียงด้วยการจูบแก้มทั้งสองข้าง ( ชายจูบชาย หญิงจูบหญิง ) ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมชาวซูดานที่นิยมทักทายกันด้วยการจับบ่า ส่วนมุสลิมชาวอัฟกานิสถานจะนิยมทักทายกันด้วยการสวมกอดในขณะที่มุสลิมส่วน ใหญ่นิยมทักทายกันด้วยการสัมผัสมือ ( พร้อมด้วยการกล่าวสลาม ซึ่งเป็นบัญญัติของศาสนา ) เป็นต้น
ในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีนี้อิสลามได้แบ่ง ( ในเชิงฮุก่มหรือข้อชี้ขาดในทางกฎหมายอิสลาม ) ออกเป็น 2 ประเภท คือ :
1.ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกต้อง ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาโดยไม่ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
2.ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนา หรือทำให้เสียผลประโยชน์ หรือนำมาซึ่งความเสียหาย เช่น ประเพณีการทำความเคารพด้วยการโค้งคำนับหรือก้มกราบ
จากการแบ่งประเภทของขนบธรรมเนียมประเพณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอิสลามยอมรับในความหลากหลายของขนบธรรมเนียมประเพณีตราบใดที่ไม่ ขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนา หรือไม่ทำให้เสียผลประโยชน์หรือนำมาซึ่งความเสียหาย ดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับทฤษฎีของนักวิชาการมุสลิมที่ว่า : ?เดิมของทุกสิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) เว้นแต่สิ่งนั้นขัดแย้งกับตัวบท? ทฤษฎีนี้เรียกว่า ?บารออะฮฺ อัศลี่ยะฮฺ? เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงวิชาการอิสลามศึกษา
ยิ่งกว่านั้นอิสลามยังยึดถือประเพณีของหมู่ชนมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดบท บัญญัติอีกด้วย หรือที่รู้จักในหมู่นักวิชาการว่า ?อุรฟฺมุฮักกัม? ตัวอย่างเช่น ประเพณีการซื้อขายรถยนต์ที่ผู้ซื้อ ( หรือผู้ขาย ) จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าโอน อิสลามก็บัญญัติให้เป็นไปตามนั้น หรือการพิจารณาคดีลักทรัพย์ จะต้องคำนึงถึงวิธีการเก็บรักษาหรือดูแลทรัพย์สินตามประเพณีของท้องถิ่น นั้นๆ เป็นต้น
การใช้อุรฟฺมุฮักกัมนี้ มีข้อจำกัดอยู่ว่า ใช้ได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม และการดำเนินธุรกิจทั่วไป ( มูอามะล๊าต ) เท่านั้น จะนำไปใช้อย่างอื่น เช่น ในเรื่องหลักการยึดมั่น ( อะกีดะห์ ) หรือหลักจริยธรรม ( อัคล๊าค ) หรือการประกอบศาสนกิจทั่วๆไป ( อิบาดะฮฺ ) ไม่ได้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ถูกกำหนดด้วยศาสนบัญญัติ มนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงตามความต้องการหรือตามคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆ ได้
5.ทัศนะหรือความคิดเห็น ( Opinions )
อิสลามถือว่าความแตกต่างทางทัศนะ หรือความคิดเห็นของมนุษย์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไว้ในตัว มนุษย์ เหมือนกับความแตกต่างของรูปร่าง หน้าตา ลายนิ้วมือ น้ำเสียง หรือความแตกต่างของรสนิยม บุคลิก นิสัย และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่ปิดกั้นความคิดของมนุษย์ แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนา ตราบใดที่ความคิดเห็นของมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง
ในโลกมุสลิมตั้งแต่อดีตกาลได้เกิดมัซฮับขึ้นมากมาย มัซฮับที่มีชื่อเสียงและแพร่หลายในโลกมุสลิมปัจจุบันมี 4 มัซฮับ คือ :
1.มัซฮับ ฮะนะฟีย์ของ อิหม่ามอบูฮะนีฟะฮ์ (ฮ.ศ.80-150,ค.ศ.693-767) แพร่หลายในหมู่มุสลิมชมพูทวีปเอเชียกลาง ตุร
กี และยุโรปตะวันออก เช่น อัลบาเนีย บอสเนีย และ ยูโกสลาเวีย และแพร่หลายในหมู่ มุสลิมประเทศจีน อัฟกานิสถาน พม่าบางส่วน และอาหรับบางประเทศ เช่น อิรัก และอียิปต์อาจกล่าวได้ว่าเป็นมัซฮับที่มีผู้นิยมมากที่สุด
2.มัซฮับ มาลิกีย์ของ อิหม่ามมาลิก (ฮ.ศ.93-176,ค.ศ.721-795)แพร่หลายในหมู่มุสลิมส่วนใหญ่ ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ แอฟริกาเหนือได้แก่ประเทศลิเบีย อัลจีเรีย ตูนิเซีย โมรอคโค และ แอฟริกาตะวันตก เช่นมอริตาเนีย ไนจีเรีย มาลี ไนเจอร์ ซินิกัล และกานา เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นมัซฮับที่มีมุสลิมนิยมเป็นอันดับสามรองจากมัซฮับชาฟิอีย์
3.มัซฮับ ชาฟิอีย์ ของอีหม่ามชาฟิอีย์ (ฮ.ศ.150-204-ค.ศ.767-819 )แพร่หลายในหมู่มุสลิมชาวเยเมน มุสลิมบางประเทศในแอฟริกาตะวันออกเช่น เคนย่า แทนซาเนีย โซมาเลีย เอธิโอเปีย และได้รับความนิยมใน หมู่มุสลิมประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด
4.มัซฮับ ฮัมบาลีของอิหม่ามอะฮ์หมัดอิบนุฮัมบัล (ฮ.ศ.164-214-ค.ศ.781-855) ได้รับความนิยมในซาอุดิอาระเบีย และบางประเทศในคาบสมุทรอาหรับ
มัซ ฮับเหล่านี้เกิดขึ้นจากความคิดเห็นของนักปราชญ์ที่แตกต่างกันในข้อปลีกย่อย ของศาสนบัญญัติ และในเรื่องที่ไม่มีตัวบทชัดเจน ความแตกต่างดังกล่าว นอกจากจะเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นความโปรดปราน (นิอฺมะฮ์) และความเมตตา( เราะหฺมะฮ์) จากอัลลอฮฺอีกด้วย เพราะจะทำ ให้เกิดความสะดวกและกว้างขวาง ในการปฏิบัติศาสนกิจและยังทำให้เกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาอันทรงคุณค่าในรูปแบบ ของวรรณกรรมวิชาฟิกฮ์(กฎหมายอิสลาม) ที่ประชาชาติมุสลิมควรมีความภาคภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า ความคิดเห็นและการปฏิบัติที่แตกต่างในลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในอิสลามเพราะมันเป็นความแตกแยกของมุสลิม ในเรื่องนี้ขอทำความเข้าใจว่า อิสลามได้แบ่งลักษณะการขัดแย้งออกเป็นสองประเภทคือ :
1.การ ขัดแย้ง ในหลักการยึดมั่น เป็นการขัดแย้งที่ต้องห้ามในอิสลามเพราะเป็นฉนวนให้เกิดความแตกแยกและความ เป็นศัตรู มุสลิมทุกคนจึงจำเป็นจะต้องอยู่ในแนวทางเดียวกันคือ แนวทาของ อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์ ซึ่งหมายถึงแนวทางของท่านศาสดา และบรรดาค่อลีฟะห์ผู้ทรงคุณธรรม
2. การ ขัดแย้งในปัญหาปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ และปัญหาที่ไม่มีตัวบทชัดเจนจากอัลกรุอานและอัลหะดีษ การขัดแย้งประเภทนี้ได้รับการรับรองและไม่ถือว่าเป็นเรื่องแตกแยกแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ขัดแย้งกัน ในปัญหาปลีกย่อยที่เกี่ยวกับการละหมาด การจ่ายซะกาต??
มุสลิมที่ มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยสันติตามเจตนารมณ์ของอิสลาม ส่วนความแตกแยกที่เกิดขึ้นในมุสลิมบางกลุ่มนั้น เป็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นจากความใจแคบ และความไม่รู้จริงในอิสลาม

สรุป

อิสลามเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้า ( อัลลอฮ์ )ได้ทรงประทานให้แก่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม) ศาสดาคนสุดท้าย เป็นผู้นำมาเผยแพร่สั่งสอน?
คำว่าอิสลามแปลว่าการนอบน้อมมอบตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ( อัลลอฮ์ ) แต่ผู้เดียว ผู้ปฏิบัติดังกล่าวเรียกว่ามุสลิม
อิสลามมีคุณลักษณะพิเศษ ที่มีเอกลักษณ์หลายประการ เช่น มีแหล่งที่มาอันบริสุทธิ์จากพระเจ้า มีคำสอนครอบคลุม มีความเป็นสากล มีระบบการตอบแทนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และมีความเป็นธรรมชาติ อิสลามยอมรับในความหลากหลายของมนุษย์ ในชาติกำเนิด ภาษา สีผิว และถือว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ส่วนการแต่งกายและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น อิสลามได้วางกรอบเพื่อให้ความแตกต่างและหลากหลาย เป็นไปได้ในทางสร้างสรรค์และคุณธรรมอันดีงาม เช่นเดียวกับที่ได้วางกรอบในการพิจารณาความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนบัญญัติ ทั้งนี้ เพื่อให้ความแตกต่างเป็นความแตกต่างที่ไม่แตกแยกและเป็นความแตกต่างที่สร้าง สรรค์และสวยงาม ประดุจความสวยงามของอัญมณีที่เกิดจากการเจียระไน

ข้อมูลจาก islam.in.th
credit
http://miftahbandon.org

ความคิดเห็น