จากอดีตสู่ปัจจุบันของ“ชาวหุย” เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน

 จากอดีตสู่ปัจจุบันของ“ชาวหุย” เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน

โดย : ดร.นิสรีน หวังตักวาดีน




      การรวมกลุ่มของชาวหุยการเติบโตของศาสนาอิสลามในผืนแผ่นดินจีนมีความแตกต่างตามลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ทางด้านชนชาติของเมืองต่างๆเป็นต้น  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความหลากหลายและความแตกต่างของชาวหุยในแต่ละเมืองของประเทศจี

        มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นมณฑลที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 8ของประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 390,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมณฑลยูนนานมีประชากรทั้งหมด 45,966,239 คน  มณฑลดังกล่าวมีกลุ่มชนชาติอาศัยอยู่รวมกันมากถึง 25 ชนกลุ่ม  แต่ละชนกลุ่มมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อต่างๆ มากมาย  ชาวหุยเป็นกลุ่มชนชาติหนึ่งของมณฑลยูนนาน ลักษณะการอาศัยอยู่ของชาวหุย จะอยู่รวมกันกลุ่ม แต่จะกระจายอยู่ทั่วมณฑลยูนนาน เช่นทางเหนือก็จะเป็นเมืองชวี่จิ้ง ทางใต้เป็นเมืองฉู่สงเป็นต้น 

        เมืองต้าหลี่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมณฑลยูนนาน ในอดีตเคยเป็นมหานครของมณฑลยูนนาน ปัจจุบัยชื่อเต็มของเมืองคืออำเภอปกครองตัวเองของชาวหยีและชาวไป๋ เป็นเมืองที่มีกลุ่มชนชาติอาศัยอยู่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มชนชาติไป๋ กลุ่มชนชาติหยี กลุ่มชนชาติลีซู กลุ่มชนชาติหุยเป็นต้น การอาศัยอยู่ของกลุ่มชนชาติต่างๆ ในเมืองต้าหลี่ในภาพรวมแล้วกลุ่มชนชาติต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และแต่ละชนชาติได้รับความเคารพซึ่งกันและกันอย่างท่วมท้น

        ตามการบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในทะเลสาบเอ๋อไห่ของเมืองต้าหลี่มีชาวเปอร์เซียและชาวอาหรับมาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและซ่ง กลุ่มชนชาติทั้งสองเข้าสู่ผืนแผ่นดินมังกรเพื่อทำการค้าขายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงมีรูปหินสลักของ “ชาวเปอร์เซีย” ที่หมู่บ้านเจี้ยนชวนสือ ชนรุ่นหลังของกลุ่มพ่อค้า ชาวต้าหลี่เรียกพวกเขาว่า “ฟานเค่อท้องถิ่น”

                                               ภาพจากอินเตอร์เน็ต

      สมัยราชวงศ์หยวน เกิดเหตุการณ์พิชิตตะวันออกกลางของกลุ่มชนชาติมองโกล หลังจากได้รับชัยชนะจากการสู้รบมีเชลยศึกที่กลับมาพร้อมทหารชนชาติมองโกลเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชลยศึกที่ติดตามมาเหล่านี้ ส่วนมากจะประกอบอาชีพค้าขายและเป็นนายช่างสาขาต่างๆ ในปี ค.ศ. 1253 กุบไล่ข่าน ได้นำทหารที่เกี่ยวข้องลงใต้เพื่อปราบปรามเมืองต้าหลี่ จึงทำให้ทหารจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่เมืองต้าหลี่ขณะเดียวกันส่วนกลางก็ได้ส่งขุนนางที่เกี่ยวข้องเข้าปกครองเมืองต้าหลี่ ต่อมาราวปีค.ศ. 1381 กษัตริย์จูหยวนจางแห่งราชวงค์หมิง ได้มีคำบัญชาให้ขุนนางต่างๆ นำทัพไปปราบยูนนาน ตามเอกสารต่างๆ จารึกไว้ว่า มีขุนนางที่ติดตามลงใต้ครั้งดังกล่าว 300,000 คน  ทหารที่ติดตามลงยูนนานส่วนมากเป็นเชลยศึกที่มาจากกลุ่มประเทศเปอร์เซีย  การลงปราบใต้ครั้งดังกล่าว เชลยศึกส่วนใหญ่อาศัยอยู่เมืองต้าหลี่ การปราบปรามภาคใต้ครั้งดังกล่าวถือว่ามีการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่มีจำนวนมากที่สุด  



   คุณภาพชีวิตของชาวหุยในเมืองต้าหลี่ดีขึ้นเรื่อยๆ

         ประวัติศาสตร์ของเมืองต้าหลี่ในรอบ 700 ที่ผ่านมานี้ ได้เกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างขึ้นกับชาวหุยในเมืองต้าหลี่ มีทั้งชัยชนะ ความพ่ายแพ้ มีประสบการณ์ และมีบทเรียน การเดินทางของชาวหุยในเมืองต้าหลี่มิได้โปรยด้วยกลิ่นกุหลาบ แต่ชาวหุยในเมืองต้าหลี่ก็มิได้กลัวความลำบาก ยอมเสียสละและมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ 

         กล่าวได้ว่าหลังจากที่การปราบปรามยูนนานของราชวงค์หมิง เป็นการเริ่มต้นของการก่อตั้งเป็นกลุ่มชนชาติในเมืองต้าหลี่  กลายเป็นกลุ่มชนชาติชาวหุย หลังจากนั้นเกิดการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมของคนจีนและวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดวัฒนธรรม”เหอจิน”ขึ้นในเมืองต้าหลี่ สืบเนื่องมาจาก ในสมัยปลายรัชวงค์ชิงและต้นราชวงค์หมิง มีนักแปลชาวจีนเช่น หวังไต้หยี่ว หม่าจู้ หลิวจื้อเป็นต้น ได้แปลตำราภาษษอาหรับเป็นภาษาจีนจำนวนมาก สามารถกล่าวได้ว่าชาวหุยในเมืองต้าหลี่เติบโตมากับผลงานการแปลของนักวิชาการเหล่านั้น หลังจากที่นักการศึกษาชาวหุยได้ปฎิรูปการศึกษาศาสนาอิสลามในจีน เริ่มจากการจัดการเรียนการสอนภายในมัสยิด ค่อยๆ ขยายจากปริมาณน้อยสู่ปริมาณมาก จากอดีตถึงปัจจุบันเมืองต้าหลี่ยังคงเป็นเมืองแห่งการศึกษามาตลอดเวลา 


       ช่วงปลายราชวงค์ชิง สืบเนื่องจากการคัดค้านเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางของตู้เหวินซิ่ว ทำให้รัฐบาลของราชวงค์ชิงดำเนินการสังหารโหดชาวหุยในเมืองต้าหลี่ ขณะนั้นมีหมู่บ้านชาวหุยที่กระจายอยู่ในเมืองต้าหลี่จำนวน 218 หมู่บ้าน จำนวนประชากรมีมากถึง 260,000 ราย มีมัสยิดจำนวน 175 แห่ง  แต่หลังจากการปราบปรามของรัฐบาลกลาง ทำให้ชาวหุยต้องพ่ายแพ้อย่างราบคราบ วัฒนธรรมต่างๆ ของชาวหุยถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง

        แม้ว่ามีชาวหุยบางส่วนที่สามารถหลบหนีการฆ่าล้างของรัฐบาลชิงได้ ซึ่งการหลบหนีในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีหลายรูปแบบ เช่นการหลบออกจากส่วนกลางโดยไปหลบต่างเมือง และไม่แสดงตัวตนว่าเป็นชาวหุย บ้างก็หลบหนีออกทางแนวชายแดนจีน-พม่า ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปกลุ่มชนชาติที่หลงเหลืออยู่ในเมืองต้าหลี่ ก็มิได้ย่อท้อต่อการดำรงชีวิตจริงที่นั่น พวกเขาเจริญรอยตามนโยบายของรัฐ เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมของชาวหุย

         หลังจากปฎิรูปการเปิดประเทศในปัค.ศ. 1978  นโยบายของทางรัฐบาลจีนมีความชัดเจนขึ้น นโยบายของรัฐบาลนอกจากจะเน้นให้ความสำคัญกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วทางรัฐบาลก็ยังคงให้ความสำคัญและความเท่าเทียมทางด้านต่างๆ ของกลุ่มชนชาติด้วย หลังจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวเพียง 20 กว่าปี จักเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนมีความชัดเจนมากขึ้น ปัจจุบันทั่วเมืองต้าหลี่มีหมู่บ้านชาวหุยทั้งหมด 94 หมู่บ้าน มีมัสยิด 96 แห่ง มีประชากรชาวหุยทั้งหมด 68400 คน นับว่าวัฒนธรรมของชาวหุยได้มีการฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ภาพจากอินเตอร์เน็ต

        ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ชาวหุยในเมืองต้าหลี่มิได้หยุดยั้งการพัฒนาทางด้านการศึกษาความรู้ทางด้านศาสนา ทั่วเมืองต้าหลี่มีห้องเรียนศาสนา 229 ห้อง มีนักศึกษาที่เรียนจบจำนวน 2971 ราย และมีนักเรียนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศจำนวน 60 กว่าคน ที่สำคัญคือมีมัสยิดจำนวน 88 แห่งที่เปิดห้องเรียนสอนศาสนาให้กับเด็ด ผู้หญิงและคนชราได้ศึกษาในยามว่าง ผู้เขียนคิดว่าการให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาน่าจะเป็นความทันสมัยที่เราสามารถหยิบมาประยุกต์ใช้ได้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

HYPERLINK "http://www.2muslim.com/forum.php?mod=viewthread&tid=259515" 

http://www.2muslim.com/forum.php?mod=viewthread&tid=259515

http://huizu.baike.com/article-476193.html


เกี่ยวกับผู้เขียน :

ดร.นิสรีน หวังตักวาดีน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, คอลัมนิสต์ประจำ นสพ.เดอะพับลิกโพสต์

ความคิดเห็น

  1. บทความดีมากเลยครับ อ่านแล้วเห็นภาพสังคมหุยต้าหลี่ชัดขึ้นมาก ติดตามอ่านบทความของ muslimchiangmainews และของ อ.นิสรีน อยู่เสมอๆ ผมในฐานะผู้ถ่ายภาพโถงของมัสยิดซงเจียงที่อยู่ในบทความ ขอขอบพระคุณที่อาจารย์ได้นำภาพนี้มาใช้ประกอบบทความนะครับ จะติดตามต่อไปเรื่อยๆครับ 😀

    ตอบลบ
  2. ขอมาอัฟครับ ภาพประกอบแอดมินนำมาจากการค้นในกูลเกิ้ล ไม่เกี่ยวกับอาจารย์ครับ
    ขออภัยที่ไม่ให้เครดิตภาพ ไม่ทราบแหล่งที่มา ตอนนี้ทราบแล้ว ขอบคุณครับสำหรับภาพประกอบ
    ขออัลลอฮ์ตอบแทนคนับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น