อยากรู้ว่าการสำเร็ความใคร่ในอิสลามเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามหรือไม่ และขอทัศนะของ علماءหลายท่านหน่อย

 คำถาม : การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในอิสลาม



อยากรู้ว่าการสำเร็ความใคร่ในอิสลามเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามหรือไม่ และขอทัศนะของ علماءหลายท่านหน่อย

by: فوزان
==========================
คำตอบ :
อัสสลามุอะลัยกุมครับ
คำตอบ หุก่มการสำเร็จความใคร่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยมือ หรือที่เรียกว่าการช่วยเหลือตนเอง ดั่งนี้
หะดีษบทหนึ่งกล่าวว่า
        “บุคคลที่แต่งงานด้วยมือของเขา (หมายถึง บุคคลที่สำเร็จความใคร่ด้วยมือ) ถูกสาปแช่ง” หนังสือ คุลาเศาะตุบัดริลมุนีรฺ ลำดับหะดีษที่ 1545 สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ (หะดีษอ่อน)
อีกหะดีษบทหนึ่งระบุว่า
        “บุคคล 7 ประเภทที่พระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงมองพวกเขา และไม่ทำให้พวกเขาเกิดความบริสุทธิ์ในวันกิยามะฮฺ และพระองค์จะกล่าว (แก่พวกเขา) ว่า พวกท่านจงเข้าไปยังไฟนรกพร้อมกับกลุ่มชนที่เข้านรกเถิด (บุคคลทั้งเจ็ดคือ) ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ (หมายถึงผู้ชายที่ร่วมเพศกับผู้ชายด้วยกัน) บุคคลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง, บุคคลที่ร่วมเพศกับสัตว์,บุคคลที่ที่ร่วมเพศกับภรรยาทางทวารหนัก, บุคคลที่ร่วมเพศกับสตรีและร่วมเพศกับลูกสาวของนาง, บุคคลที่ทำซินากับภรรยาของเพื่อนบ้านของเขา, บุคคลที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านจนกระทั่งเพื่อนบ้านต้องสาปแช่งเขา” บันทึกโดยอิบนุ บุชรอน หะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ
สรุป หะดีษทั้งสองข้างต้นไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงว่าด้วยการห้ามสำเร็จความใคร่ด้วยมือ หรือด้วยตนเอง อีกทั้งยังไม่พบหลักฐานบทอื่นที่ระบุห้ามกระทำสิ่งข้างต้น เมื่อไม่พบหลักฐานห้าม จำเป็นจะต้องอาศัยการวินิจฉัยจากบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามว่าพวกเขามีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับหุก่ม (บทบัญญัติ) ว่าด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
นักนิติศาสตร์อิสลามีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองดั่งนี้
    1.ถือว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม (หะรอม) อย่างเด็ดขาด
    2.ถือว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามในบางกรณี และบางกรณีถือว่าจำเป็น (วาญิบ) จะต้องกระทำ
    3.ถือว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เท่านั้น
ทัศนะแรก
        การสำเร็จคาวมใคร่ด้วยตนเองถือว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม ซึ่งเป็นทัศนะของกลุ่มที่ยึดแนวทางของอิมามมาลิกีย์,ชาฟิอีย์ และซัยดียะฮฺ โดยพวกเขาอ้างหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรฺอานที่ตรัสว่า “และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขา (ไม่ละเมิดประเวณี) เว้นแต่บรรดาภรรยาของเขา หรือที่มือขวาของพวกเขาครอบครองไว้ (ทาสี หมายถึงทาสเพศหญิง) แท้จริงพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ ดังนั้น บุคคลใดที่แสวงหาอื่นจากนั้น ชนเหล่านั้นแหละ พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ละเมิด”
        นักวิชาการที่เห็นด้วยกับทัศนะแรกอธิบายว่า เมื่อคัมภีร์กล่าวถึงให้รักษาอวัยวะเพศของตนเอง คือไม่ละเมิดประเวณี (ซินา) นอกจากอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนเอง หรือทาสีเท่านั้น ซึ่งอัลกุรฺอานมิได้กล่าวว่า อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตน หรือทาสี หรือด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยของตนเอง ฉะนั้นการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจึงไม่อนุญาตให้กระทำโดยเด็ดขาดนั่นเอง
ทัศนะที่สอง
        การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองถือว่าต้องห้าม (หะรอม) ในบางกรณี และจำเป็น (วาญิบ) ในบางกรณี ซึ่งเป็นทัศนะมัซฮับหะนะฟียะฮฺ พวกเขาให้เหตุผลว่า “จำเป็นจะต้องสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในกรณีที่เกิดความหวาดกลัวว่าตนเองจะถลำพลั้งพลาดไปสู่การละเมิดประเวณี (ทำซินา) โดยยึดกฎเกณฑ์ที่ว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำซินาซึ่งเป็นบาปใหญ่”
        พวกเขากล่าวเสริมอีกว่า “หากการสำเร็จความใคร่เป็นไปเพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศ หรือกระตุ้นให้อารมณ์ทางเพศเกิดฟุ้งซ่าน ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม), ส่วนกรณีที่ต้องการระงับอารมณ์ทางเพศ หากว่าเขายังมิได้แต่งงาน เช่นนั้น การสำเร็จความใคร่ของเขาถือว่าอนุญาต เพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการระงับอารมณ์ทางเพศมิให้ฟุ้งซ่าน”
        อนึ่ง กลุ่มของหานาบิละฮฺมีทัศนะว่า “การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นในกรณีบุคคลหนึ่งกลัวว่าตนเองจะถลำไปสู่การทำซินา หรือในกรณีที่บุคคลหนึ่งยังมิได้แต่งงาน หรือไม่สามารถแต่งงานได้ แต่กลัวจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังกล่าวข้างต้น ถือว่าอนุญาตให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองได้”
ทัศนะที่สาม
        การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเท่านั้นไม่ถึงความมีความผิด เพราะบุคคลหนึ่งสัมผัสอวัยวะเพศของด้วยมือซ้าย เป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ปวงปราชญ์บางกลุ่มจึงมีความเห็นตรงกันว่า เมื่อศาสนาอนุมัติให้สัมผัสอวัยวะเพศได้ การทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมาจึงไม่ใช่เรื่องต้องห้าม (หรือเรื่องเสียหาย) แต่ประการใด ดั่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า “ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกท่านถึงสิ่งซึ่งพระองค์ทรงห้ามแก่พวกท่าน”
ด้วยเหตุนั้น
        อัลกุรฺอานก็มิได้กล่าวถึงการห้ามสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อีกทั้งพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้อีกว่า “สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหมดถูกสร้างไว้สำหรับพวกท่าน” ดังนั้นนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวจึงมีทัศนะว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอยู่ในสถานะมักรูฮฺ (น่ารังเกียจ) เท่านั้น
อนึ่ง มีรายงานถึงพวกเราว่า ผู้คนกล่าวถึงเรื่องการสำเร็จความใคร่ โดยกลุ่มชนหนึ่งมีทัศนะว่า น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และบางกลุ่มก็กล่าวว่าเป็นที่อนุมัติ

            ส่วนบุคคลที่มีทัศนะว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองถือว่าน่ารังเกียจเท่านั้น ได้แก่ท่านอิบนุ อุมัรฺ และท่านอะฎออ์บุคคลที่มีทัศนะว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ถือว่าอนุญาตให้กระทำ ได้แก่ท่านอิบนุ อับบาส, ท่านหะสัน และผู้อาวุโสบางท่านจากบรรดาตาบิอีน (หมายถึงกลุ่มชนที่ทันพบเศาะหาบะฮฺแต่ไม่ทันพบท่านนบีมุหัมมัด)

สรุป
        ประการแรก การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่พบข้อห้ามจากอัลกุรฺอาน และจากหะดีษ (เศาะหี้หฺ หรือหะสัน) ของท่านรสูลุลลอฮฺ
        ประการที่สอง เมื่อไม่พบข้อห้ามจากอัลกุรฺอานและหะดีษ (เศาะหี้หฺ หรือหะสัน) ก็ต้องไปพิจารณาถึงทัศนะต่างๆ ของบรรดานักวิชาการระบุเรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอย่างไร? ซึ่งพบว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 ทัศนะดั่งนี้
     (1) ถือว่าต้องห้ามโดยเด็ดขาด
     (2) ต้องห้ามบางเวลา และอนุมัติ (มุบาหฺ) บางเวลา และ
     (3) ถือว่าน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เท่านั้น

     เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมสำหรับผู้อ่านทุกท่านว่าจะเลือกปฏิบัติตามทัศนะของนักวิชาการท่านใด ส่วนผู้เขียนเห็นด้วยกับทัศนะที่ระบุว่า บางเวลาต้องห้ามและบางเวลาเป็นที่อนุญาต เพราะบางคนยังมิได้แต่งงานแต่มีความต้องการทางเพศ หรือเป็นบุคคลที่มีความต้องการทางเพศสูงโดยไม่สามารถระงับอารมณ์ทางเพศของตนเองได้ ซึ่งอาจถึงขั้นไปทำซินากับเพศตรงข้าม กรณีเช่นนี้จึงอนุญาตให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเพื่อระงับอารมณ์ดังกล่าว
        ส่วนกรณีที่ไม่มีเป้าหมายเพื่อระงับอารมณ์ทางเพศของตนเองไม่ให้ทำซินา แต่ต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยให้เหตุผลว่า สนุก, ชอบ หรือไม่รู้จะทำอะไรดีอยู่ว่างๆ ก็เลยช่วยตัวเอง ด้วยเหตุผมข้างต้นจึงไม่อนุญาตให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
        อนึ่ง ศาสนาอิสลามมักจะมีทางออกในทุกๆ เรื่องเสมอซึ่งไม่เว้นแม้แต่เรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อันดับแรกหากมีความต้องการทางเพศศาสนาส่งเสริมให้แต่งงาน หากไม่มีความสามารถจะแต่งงานได้ เช่นนั้นก็ส่งเสริมให้ถือศีลอด เพื่อระงับอารมณ์ทางเพศแทน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
        “โอ้บรรดาวัยรุ่นเอ๋ย บุคคลใดในหมู่พวกท่านมีความสามารถจะแต่งงาน เช่นนั้นเขาก็จงแต่งงานเถิด เพราะการแต่งงานนั้นทำให้ลดสายตาลงต่ำ และทำให้อวัยวะเพศเกิดความบริสุทธิ์ (จากการทำซินา) ส่วนบุคคลใดที่ไม่สามารถจะแต่งงานได้ (ด้วยสาเหตุใดก็ตาม) เช่นนั้นการถือศีลอดจำเป็นสำหรับเขา
        ทั้งนี้ (การถือศีลอด) จะป้องกันเขา (มิให้ถลำสู่การทำซินา)” หากถือศีลอดแล้วยังไม่สามารถระงับอารมณ์ทางเพศของตนเองได้ ต่อมาศาสนาก็ส่งเสริมให้แต่งงาน (นิกาหฺ) หากยังไม่ได้แต่งงาน (จะด้วยด้วยเหตุผลใดก็ตาม) เช่นนี้แหละจึงค่อยมาสู่ประเด็นที่ว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ศาสนาอนุญาตให้กระทำหรือไม่? ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายมาแล้วก่อนหน้านี้. والله أعلم


by: มุรีด ทิมะเสน - mureed@mureed.com
http://www.mureed.com/mr_talk/bview.asp?id=7442

ความคิดเห็น