มุสลิมจีน: ปริศนาอุยกูร์” สุชาติ เศรษฐมาลินี

 “มุสลิมจีน: ปริศนาอุยกูร์”

สุชาติ เศรษฐมาลินี
 

         ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านได้มีข่าวเกี่ยวกับชนชาติ “อุยกูร์” อย่างน้อยสามเรื่องใหญ่ๆ  ในสื่อต่างๆ ทั้งสื่อไทยและเทศ คือ เรื่องแรกคือ ปฏิบัติการใช้มีดดาบไล่ฆ่าฟันชาวจีนอย่างสยดสยองบริเวณสถานีรถไฟที่เมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนาน เรื่องที่สองคือ การหลบหนีเข้าเมืองของชาวมุสลิมไม่ปรากฏสัญชาติจำนวนนับร้อยที่จังหวัดสงขลา และเรื่องที่สาม กรณีเครื่องบิน MH370ของประเทศมาเลเซียที่ได้สูญหายไปและยังไม่พบร่องรอยจนบัดนี้  โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้ถูกโยงใยเข้ากับชาวจีนมุสลิมชนชาติ  “อุยกูร์” หรือ “วุ่ยเกอร์” ซึ่งดูเหมือนว่าคนชนชาตินี้ยังคงปริศนาอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้อ่านในสังคมไทย

          ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความฉบับก่อนหน้าของผู้เขียนว่า ภายหลังการปฏิวิติของเหมาเจ๋อตุง ประเทศจีนได้แบ่งชาวจีนออกเป็นชนชาติต่างๆ ทั้งหมด 56 ชนชาติ (nationality) ซึ่งในจำนวนนี้มีชนชาติที่เป็นมุสลิมจำนวน 10 ชนชาติ ดังนั้น ชนชาติอุยกูร์ คือหนึ่งในสิบของชนชาติมุสลิมในประเทศจีน คำว่า “ชนชาติ” มาจากภาษาจีนว่า “หมินจู๋” (minzu) คำๆ นี้เพิ่งถูกกล่าวถึงในภาษาจีนเป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยมีที่มาจากภายหลัง ดร.ซุนยัดเซ็น ได้โค่นล้มระบบราชวงศ์ของจีนลงในปี ค.ศ. 1911 แนวคิด “หมินจู๋” เป็นแนวคิดที่ ดร.ซุน ยัดเซ็น นำเข้าและได้รับอิทธิพลจากจากอุดมการณ์ชาตินิยมที่ฝังรากมายาวนานในสังคมญี่ปุ่นที่เรียกว่า “หมินโจกุ” โดยท่านเห็นว่าหากขบวนการชาตินิยมจีนจะเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์อย่างถอนรากถอนโคนระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองที่ได้ยืนหยัดมายาวในสังคมจีน หรืออาจเข้าใจได้ในทางยุทธวิธีก็คือว่า ดร.ซุน ต้องการใช้แนวคิดนี้เพื่อระดมชาวจีนทั้งประเทศเพื่อทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งถูกสถาปนาขึ้นโดยกลุ่มคนเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นหรือที่เรียกว่าชาวแมนจู (Manchu) โดยพยายามบอกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนนั้นเป็นชนชาวฮั่น (Han) ดังนั้น ดร.ซุน จึงเห็นว่า แนวคิด “หมินจู๋” เป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อต้านพวกแมนจูและชาวต่างชาติอื่นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนย่อมเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้น ดร.ซุน ยัดเซ็น จึงได้รณรงค์ความคิดว่าประเทศจีนประกอบด้วยผู้คน 5กลุ่ม คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวธิเบต และชาวหุย (ซึ่งรวมชาวมุสลิมทุกกลุ่มไว้ในกลุ่มนี้ ซึ่งต่อมายุคประธานเหมาได้แบ่งย่อยเป็น ชาวหุย ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัก ฯลฯ) และแนวคิดนี้ได้กลายเป็นแนวนโยบายหลักของ ดร.ซุน ในการตั้งระบอบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกของจีน
ภาพจากพันทิป

ภาพจากพันทิป

ภาพจาก BBC
 
          หากลองย้อนดูประวัติศาสตร์จีนแล้ว ชาวอุยกูร์ทุกคนต่างเชื่ออย่างมั่นคงว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำทาริม ซึ่งครอบคลุมบริเวณกว้างถึงประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตร หรือที่รู้กันในปัจจุบันคือมณฑลซินเจียง พวกเขาเชื่อว่าที่ดินแดนนี้คือผืนดินของพวกเขา ในหนังสือประวัติศาสตร์ซินเจียง (1977)แจ๊ค เฉิน (Jack Chen) ได้อธิบายคำว่า อุยกูร์ ว่าหมายถึงชนเผ่าเติร์กที่อาศัยอยู่ในเติร์กกิสถานของจีน แต่จากการรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับชนเผ่าร่อนเร่ที่รู้จักกันว่าคือชาวอุยกูร์นั้นปรากฏพบตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือพ่อมดหมอผี และเปลี่ยนมานับถือพุทธ ต่อมาชนชาวอุยกูร์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนเข้ารับอิสลามนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10-16 และอัตลักษณ์ของพวกเขาได้สูญหายไปในช่วงศตวรรษที่ 15-20 โดยถูกเรียกว่าเป็นชนชาวหุย-เหอ หรือหุย-หู
ดรู แกลดนี (Dru Gladney) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน (ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมุสลิมศึกษา) เคยได้รับการบอกเล่าจากข้าราชการชาวอุยกูร์ประจำสำนักงานบริการการท่องเที่ยวนานาชาติว่า “ชนชาวอุยกูร์นั้นคือลูกหลานของชนเผ่าร่อนเร่ในเอเชียกลางที่มีอารยธรรมสูงส่งโดยมีอาณาจักรตั้งอยู่ในเมืองทุรพาน ภาพวาดอันสวยงามและวิจิตรตระการตาที่เขียนประดับในหลุมฝังศพสามารถย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น จากการพิสูจน์ซากมัมมี่ที่ค้นพบในหลุมฝังศพในเมืองซินเจียงและในดินแดนแถบนี้พบว่า มีอายูมากถึง 6,000 ปี จึงเป็นการพิสูจน์ว่าชาวซินเจียงนั้นเป็นชนเก่าแก่กว่าพวกฮั่นเสียอีก” ดังนั้น ชาวอุยกูร์จึงมีความผูกพันกับผืนแผ่นดินในซินเจียงเป็นอย่างมากและอ้างสิทธิ์ต่อบุคคลภายนอกเสมอมาว่า “นี่คือแผ่นดินของพวกเขา เขตแดนของพวกเขา”  ถึงแม้ว่าอาณาจักรของอุยกูร์ดั้งเดิมในยุคต้นจะกลายเป็นเขตของมองโกเลียปัจจุบัน และต่อมาตกอยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศจีนในปัจจุบันก็ตาม  โดยกลุ่มชาตินิยมอุยกูร์มักกล่าวหานโยบายของจีนในการอพยพผู้คนชาวฮั่นเป็นจำนวนมากเข้ามาในดินแดนซินเจียงว่า การดำเนินนโยบายพัฒนาอย่างไร้ขอบเขตจนเป็นเหตุของทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนการทดลองอาวุธนิวเคลียร์นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์    

        ปัจจุบัน ในประเทศจีนมีชาวอุยกูร์อยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นชนชาติมุสลิมที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองรองจากชนชาติหุย (Hui) จากจำนวนชนชาติมุสลิม 10 ชนชาติในประเทศจีน และเป็นชนชาติที่มีมากเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศจีนจากทั้งหมด 56 ชนชาติ โดยเกือบร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง (ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน) ถึงแม้ว่าชนชาวอุยกูร์จะปรากฏมายาวนานย้อนไปถึงก่อนศตวรรษที่ 8 แต่อัตลักษณ์ของพวกเขามีการปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิสัมพันธ์กับรัฐชาติของจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญ คำว่า “อุยกูร์” จึงไม่ได้มีความหมายในเชิงชนเผ่าหรือเขตแดนแต่เพียงอย่างเดียวหากมีนัยทางการเมืองที่แฝงอยู่ ดังที่พวกเขาถูกจัดกลุ่มให้กลายเป็นพวกเดียวกับหุย-เหอ หรือหุย-หู ในขณะที่พวกเขายังคงสืบทอดภาษาสำเนียงเติร์กของตัวเอง และต่อมาชนชาวอุยกูร์ถูกผนวกเข้ากับจีนอย่างจริงจังอีกครั้งหลังจากการปฏิวัตเหมาปี ค.ศ. 1949 โดยพร้อมๆ กับการได้รับการยอมรับความเป็นชนชาติอุยกูร์อย่างเป็นทางการนั้น จีนก็ได้ดำเนินนโยบายส่งชนชาวฮั่นมากมายเข้าไปในดินแดนซินเจียงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลเพื่อดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจนเป็นที่มาของความขัดแย้งต่อมาอย่างมากมาย    

ขอขอบคุณ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี เอื้อเฝื้อบทความ
มิถุนายน 02, 2014,

ความคิดเห็น