เหตุแห่งการอพยพของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายเอเซียใต้ (ปากีสถาน-บังคลาเทศ)

 ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายเอเซียใต้ (ปากีสถาน-บังคลาเทศ)



หลังจากที่ได้เสนอเรื่องของบรรพชนมุสลิม เชื้อสายเอเซียใต้ ในส่วนของมุสลิมอินเดียที่เดินทางเข้ามาในประเทศสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุุงรัตนโกสินทร์ และได้ทยอยเดินทางเข้ามาเป็นระยะๆ โดยลูกหลานผู้สืบสายสกุลของกลุ่มมุสลิมอินเดียเหล่านั้นมีเป็นจำนวนมาก และได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราในฐานะข้าราชการเมือง นักการเมือง ข้าราชการประจำ นักวิชาการ ตลอดจนนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยในระยะเวลาต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน

ต่อจากนี้ไป ขอนำเสนอกลุ่มมุสลิมจากเอเซียใต้ที่มีเชื้อสาย “ปากีสถาน” (ปาทาน) และเชื้อสาย”บังคลาเทศ” ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องเริ่มต้นกล่างถึงบทการแยกตัวของ 2 ประเทศดังกล่าวออกจากประเทศอินเดียก่อน

ในอดีตประเทศอินเดียมีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลมาก ตะวันออกจรดพม่าไปจนถึงตะวันตกจรดอิหร่าน ประชากรของชาตินี้สืบสายพันธุ์มาจากอินดุส และอารยัน ประชากรในชมพูทวีปในอดีตกาลมีความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ ต่อมาเป็นยุคของพุทธศาสนารุ่งเรือง และระยะเวลาต่อม กองทัพมุสลิมจากเปอร์เซียและตุรกี ได้เข้ามาแผ่บารมีปกครองอินเดียเป็นช่วงๆ แต่วัฒนธรรมอิสลามก็ไม่สาราถคุมจิตใจของชาวอินเดียทั่วประเทศได้ทั้งหมด มุสลิมในอินเดียในสมัยนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวฮินดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่

ชนชั้นกลางของฮินดู ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี มีอาชีพทางด้านอุตสาหกรรม จึงได้รวมตัวกันตั้ง พรรคอินเดียแห่งชาติ “คองเกรส”

สำหรับฝ่ายมุสลิมก็เป็นห่วงสถานภาพการเมืองเช่นกัน ดังนั้นจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “พรรคมุสลิมลีค” ขึ้นในปี พ.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) หลังจากนั้น ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับฮินดูก็ค่อยๆขยายอาณาเขตและเพิ่มปริมาณมากขึ้น

ความคิดที่จะต้องก่อตั้งประเทศมุสลิม โดยพยายามแยกตัวออกจากฮินดูเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) โดยมีนักกวีเอกชื่อ “มูฮำหมัด อิ๊กบาล” เป็นผู้จุดประกายและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักเขียนมุสลิมในอังกฤษชื่อ “ปากีสตาน” หรือ “ปากีสถาน” จึงถูกเอ่ยขึ้นในสมัยนั้น คำวา PAK (ป๊าก) ในภาษาอุรดู แปลว่า “บริสุทธิ์” และคำว่า “สถาน” แปลว่า “พื้นแผ่นดิน” ดังนั้น “ปากีสถาน จึงหมายความว่า”ผืนแผ่นดินบริสุทธิ์”

ในปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) มูฮัมหมัดอาลียินนะฮ์ ผู้นำพรรคมุสลิมลีค แสดงความต้องการก่อตั้งรัฐมุสลิมในเขตแดนที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น พรรคมุสลิมได้รับคะแนนท่วมท้นในแคว้นที่มีมุสลิมอยู่หนาแน่น ขณะนั้น อังกฤษและพรรคคองเกรสของอินเดียลังเลที่จะยอมรับการก่อตั้งรัฐ “ปากีสถาน” ภายใต้กฎหมายการให้เอกราชของอังกฤษซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) อย่างไรก็ตาม ต่อมามูฮำมัดอาลียยินนะฮ์ ได้เป็นเป็นผู้ว่าการของรัฐใหม่ และมี “เลียกั๊ดอาลีคาน” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของปากีสถาน

ภูมิประเทศของปากีสถาน แบ่งเป็น 2 ส่วน แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง โดยมีประเทศอินเดียคั่นกลาง ฝั่งตะวันออกติดพม่า เรียกว่า ปากีสถานตะวันออก พลเมืองส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายบังกาลี (เบงกอล) แต่ศูนย์ราชการในการบริหารประเทศอยู่ในปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายปาทาน (ปัซตุน) ทั้งที่พลเมืองของปากีสถานตะวันออกมีจำนวนมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ต่อมาในประเทศใหม่จึงเริ่มมีปัญหาภายในเกิดขึ้น

ต่อมา ประธานาธิบดี พลเอก ไอยูบ คาน ได้ประกาศใช้ภาษาอุรดูเป็นภาษาทางราชการของปากีสถานตะวันตก และให้ใช้ภาษาเบงกาลีเป็นภาษาทางการของปากีสถานตะวันออก และให้เมืองอิสลามาบัดเป็นเมืองหลวงของปากีสถานตะวันตก และให้เมืองดักการ์เป็นเมืองหลวงของปากีสถานตะวันออก

ในปีค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) พลเอกมูฮัมมัดยะหยา คาน ประธานาธิบดีปากีสถาน ได้ประกาศกฎอัยการศึก จัดตั้งให้มีสภาแห่งชาติขึ้น โดยการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในดินแดนฝั่งปากีสถานตะวันออก “พรรคอาวามีลีค” ภายใต้การนำของ เช็คมูจีบูเราะฮ์มาน เป็นผู้นำ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ในการของแยกการปกครองตนเองไม่ขึ้นกับปากีสถานตะวันตก เป็นเหตุให้ประธานาธิบดี ยะหยา คาน ได้สั่งยกเลิกผลการเลือกตั้ง และสั่งห้าม “พรรคอาวามีลีค” เคลื่อนไหว พร้อมทั้งสั่งจับ และคุมขัง เช็คมูจีบูเราะห์มาน ไว้ในที่คุมขังในปากีสถานตะวันตก

ฝ่ายปากีสถานตะวันออกได้ประกาศเอกราชใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า “ประเทศบังคลาเทศ” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ต่อมา มีการสู้รบกันระหว่างปากีสถานกับบังคลาเทศเพราะปากีสถานไม่ยอมรับการเป็นเอกราชของบังคลาเทศ จนประชาชนชาวบังคลาเทศประมาณ 10 ล้านคน ได้อพยพเดินทางหนีเข้าไปในประเทศอินเดีย ประเทศอินเดียจึงยื่นมือเข้าช่วยฝ่ายบังคลาเทศ ในที่สุดอินเดียกับปากีสถานก็เปิดศึกทำสงครามกันตลอดพรมแดนของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) กองทัพปากีสถาน ยอมแพ้ มีการประกาศหยุดยิง สันติภาพจึงเกิดขึ้น

ต่อมา ประธานาธิบดีซูลฟิการ์ อาลี บุตโต ของปากีสถาน ได้ปล่อยตัว “เช็คมูจีบูรเราะฮ์มาน” ผู้นำพรรค “อาวามีลีค” ออกจากที่คุมขัง และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 (พ.ศ.2517) ประธานาธิบดี อาลีบุตโต ได้ประกาศรับรองประเทศ “บังคลาเทศ” อย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ดังนั้นเหตุที่ชาวเอเซียใต้ที่เดินทางเข้ามาในสยามประเทศ ในแต่ละช่วงของประวัติศาตร์จึงมีมาก บางคนเข้ามาเพราะหนีภัยสงครามในช่วงที่ต่อสู้เพื่อแยกประเทศทั้งสองครั้ง คือ ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และระหว่างปากีสถานกับบังคลาเทศ บางคนขนทรัพย์สินเข้ามาเพื่อลงทุนทำธุรกิจ ระหว่างประเทศ บางคนเข้ามเพราะหวังมาขุดทองในแผ่นดินสยาม โดยหนีความยากจนในถิ่นกำเนิดมาเสี่ยงโชคในแผ่นดินสยาม และก็มีบางส่วนที่เข้ามาโดยเป็นคนในบังคับของอังกฤษในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดียเป็นเมืองขึ้น

ในส่วนของมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน หรือ “ปาทาน” ส่วนใหญ่นิยมเข้ามาประกอบอาชีพเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ หรือ โรงฆ่าสัตว์ หรือประกอบอาชีพเกียวกับอัญมณีต่างๆ คนกลุ่มนี้มีน้ำใจเป็นนักเกลง กล้าได้กล้าเสีย จึงมักเป็นที่เกรงขามของคนไทยโดยทั่วไป กลุ่มมุสลิมปากีสถานเข้ามาอาศัยในหลายพื้นที่ มีทั้งในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ในภาคใต้ก็มีเกือบทุกจังหวัด ตั้งสุราษฏร์ธานี จนถึงสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

มุสลิมเชื้อสายปากีสถาน (ปาทาน) รวมกลุ่มกันที่ใด มักจะสร้างมัสยิดและให้ชื่อมัสยิดว่า “มัสยิดปากีสถาน” เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมชื่อ “สมาคมมิตรภาพไทยปากีสถาน” เป็นศูนย์รวมของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปากีสถานทั้งประเทศ สำหรับผู้นำมุสลิมสายปากีสถานที่อาวุโสที่สุดคือ นายห้าง “ไบคาน พงษ์สว่าง” แห่งจังหวัดสระบุรี ซึ่งปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตแล้ว

ในกรุงเทพมหานคร ก็มี “มัสยิดมิตรภาพไทยปากีสถาน” ตั้งอยู่ที่ตรอกเพชรพลอย เขตบางรัก ซึ่งที่ดินผืนที่ตั้งมัสยิดนั้นได้ซื้อหามาได้ด้วยเงินลงขันบริจาคร่วมกันของบรรพชนมุสลิมปากีสถานที่เข้ามาอยู่ในบางกอกยุคแรกๆ

สำหรับมุสลิมเชื้อสายบังคลาเทศนั้น ส่วนใหญ่ก็เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจนมากกว่ามุสลิมเชื้อสายปากีสถาน แต่ก็มีบางส่วนที่ฐานะดี ประกอบอาชีพค้าขายอัญมนี และค้าขายสินค้าระหว่างประเทศ ชุมชนเชื้อสายบังคลาเทศหรือเบงกาลีที่รวมตัวกันหนาแน่นที่สุดคือ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมีจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้นำของมุสลิมเชื้อสายเบงกาลีที่มีบทบาทและผลงานทางศาสนาดีเด่นคือ ฮัจยียูซุฟ คาน ซึ่งเป็นผู้นำมุสลิมของอำเภอแม่สอด ในอดีตชาวบ้านในจังหวัดตากเรียกท่านว่า “นายอำเภอแขก” ในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งคณะ “ญะมาอะฮ์ดะอ์วะห์” ขึ้นในประเทศไทย และท่านได้รับเกียรติจากจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด) เสนอชื่อท่านเพื่อขอรับการโปรดเกล้าฯแต่ตั้งเป็นคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว แต่ผลงานการเชิญชวนผู้คนการไปสู่การปฎิบัติความดีเพื่ออัลลอฮ์ หรือดะวะฮ์นั้นได้ปรากฎเป็นรูปธรรม แพร่หลายทั่วทุกสารทิศในประเทศ และได้มีสมาชิกบางส่วนได้เดินทางไปเป็นอาสาสมัครเชิญชวนคนทำความดี(ดะวะฮ์) ในต่างประเทศอีกด้วย

ขอดุอาอ์จากอัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา ได้โปรดประทานความสันติแด่ดวงวิญญาณของท่านผู้เสียสละในหนทางของพระองค์ตลอดไปด้วย อามีน..

ที่มา

http://dekguide.com/islamic

ความคิดเห็น