- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
รู้จัก อาทิตย์ อิสลาม อิหม่ามมัสยิดอัลฮาชิมี สันป่าตอง เชียงใหม่
'ฮาบีบุลลอฮ'มุสลิมเชียงใหม่หล่อสวยใสน้ำใจงาม
เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเยือนเชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่สายตาเหยี่ยวจับได้ทุกช็อต ถึงผู้คนใน จ.เชียงใหม่ สมคำเล่าลือ ชาวเชียงใหม่ นิสัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส น่ารัก สุภาพ เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ความร่มรื่น ความร่มเย็น นอกจากบรรยากาศของธรรมชาติแล้ว นั่นคือ นิสัยของคน นี่ก็มีส่วนสำคัญจริงๆ หลังจากได้ไปสัมผัส จ.เชียงใหม่ ด้วยสายตาตัวเองแล้ว ผมนึกถึงน้องนักศึกษามุสลิมคนหนึ่งที่ศึกษาอยู่ในประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ และรู้จักมานานพอสมควร น้องคนนี้น่าจะเป็นตัวแทนมุสลิมเชียงใหม่ ที่จะนำเรื่องราวของเนื้อผ้าชีวิตจริงของคนอิสลามใน จ.เชียงใหม่ เมืองล้านนาที่ทรงคุณค่า น่าเลื่อมใส
“การที่ลูกหลานมุสลิมมีโอกาสคลุกคลีอยู่กับเพื่อนต่างศาสนิกมากกว่าเพื่อนมุสลิมด้วยกันเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย ยิ่งบ้านไหนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องศาสนา ลูกหลานบ้านนั้นก็จะห่างเหินกับสังคมมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด”
นายอาทิตย์ อิสลาม หรือ “ฮาบีบุลลอฮ" เดิมเป็นคนเชียงราย และย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เป็นบุตรของ นายเกษม อิสลาม และ น.ส.วรรณา เขื่อนคำแสน มีพี่น้องรวมทั้งหมด 5 คน (หญิง 4 คน ชาย 1 คน) ตัวเองเป็นคนที่สอง เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1-ป.1 ที่ จ.เชียงราย ชั้น ป.2-ป.6 ที่ ร.ร.สันติศึกษา ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากจบชั้นประถมก็ถูกส่งไปเรียนปอเนาะที่ จ.ภูเก็ต ประมาณ 4 ปี ก็กลับมาเรียนที่ ร.ร.จิตต์ภักดี(อัต-ตักวา) เชียงใหม่ จนจบชั้น 3 ซานะวีย์ ในระหว่างที่เรียนอยู่ที่ อัต-ตักวา ก็เรียน กศน.ควบคู่ไปด้วย (จบ กศน. ม.ต้น และ ม.ปลาย) / เรียน มรภ.เชียงใหม่ ได้แค่ 2 ปีก็ติดทหาร ในระหว่างที่เป็นทหารเกณฑ์อยู่ 2 ปีนั้น ก็สมัครเรียน ม.รามคำแหง ควบคู่ไปด้วย หนึ่งปีหลังจากปลดประจำการก็มีหลายๆ ฝ่ายสนับสนุนให้ไปเรียนต่อที่อียิปต์ ความคิดตอนนั้น บอกกับตัวเองว่า “ขอแค่ได้ไปเรียน เพื่อต่อยอดความรู้ เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องศาสนาให้มากขึ้นก็พอ" จนในที่สุดก็จบการศึกษาคว้าใบปริญญาของ ม.อัลอัซฮัร สถาบันสอนศาสนาที่นักศึกษามุสลิมทั่วโลกใฝ่ฝัน
จากเด็กเชียงราย โตที่เชียงใหม่ ฮาบีบ เล่าว่า มุสลิมในเชียงใหม่ มีเชื้อสายหลักๆ 2 เชื้อสาย คือ 1.เชื้อแขก ประกอบไปด้วย แขกบังกะลี (มุสลิมที่มีเชื้อสายอพยพมาจากบังกลาเทศ) และแขกปาทาน (มุสลิมที่มีเชื้อสายอพยพมาจากปากีสถาน) 2.เชื้อจีนฮ้อ ก็คือมุสลิมเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่บรรพบุรุษอพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และมัสยิดที่เป็นของคนแขกเอง ถ้าในตัวเมืองมัสยิดของมุสลิมเชื้อสายแขก คือ มัสยิดอัลญาเมียะอ์ ช้างคลาน, มัสยิดดุนนูร ช้างเผือก, มัสยิดดะอ์วะติลอิสลาม วรุณณิเวศ เป็นต้น ส่วนมัสยิดของมุสลิมเชื้อสายจีนในตัวเมืองก็ได้แก่ มัสยิดฮิดายะตุลอิสลาม บ้านฮ่อ, มัสยิดอัต-ตักวา สันป่าข่อย ส่วนที่เหลือก็กระจายอยู่ตามอำเภอรอบนอก มีทั้งมัสยิดของมุสลิมทั้งสองเชื้อสาย
สังคมมุสลิมในเชียงใหม่เป็นสังคมเล็กๆ เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรทั้งหมดของเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พี่น้องมุสลิมในเชียงใหม่จะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันพอสมควร โดยเฉพาะในหมู่ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือคนที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพราะเด็กรุ่นใหม่ๆ จะไม่ค่อยสนิทสนมกันเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เนื่องจากมุสลิมในเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน แบบในแถบภาคกลางหรือใต้ จุดศูนย์รวมของมุสลิมเชียงใหม่ก็คือ มัสยิดแต่ละแห่ง หากบ้านไหนห่างเหินจากมัสยิดก็เท่ากับห่างจากสังคมมุสลิม ในแง่ของความสนิทสนม การร่วมกิจกรรมระหว่างพี่น้องมุสลิมและการไปมาหาสู่
ส่วนการใช้ชีวิตร่วมกับต่างศาสนิก มุสลิมเชียงใหม่มีการเปิดใจกว้าง และแทบไม่เกิดปัญหาใดๆ เลย เพราะตั้งแต่เล็กจนโต มุสลิมเชียงใหม่ก็ใช้ชีวิตร่วมกับต่างศาสนิกมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันตามมัสยิดต่างๆ ในเชียงใหม่ก็มีการจัดกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ เพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้ต่างศาสนิกเข้าใจ และเป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วไป และศึกษาทำความรู้จักวัฒนธรรมของแต่ละศาสนาเพื่อการอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข วันเฉลิมฉลองของอิสลาม “วันอีด” ที่เชียงใหม่และเชียงราย จะเห็นเด็กๆแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ๆ สะพายกระเป๋าใบเล็กๆ คนละใบสำหรับใส่เงิน ส่วนพวกผู้ใหญ่ก็ต้องแลกเงินไว้เป็นปึกๆ เพื่อไว้บริจากเด็กๆ ที่มาบ้าน การให้เงินวันอีดลักษณะนี้ เขาเรียกว่า "อี๊ดตี๊" แต่แถวเชียงใหม่ไม่ค่อยได้ยินเรียกกันแล้ว จะได้ยินมากแถวๆ แม่สาย ซึ่งเป็นภาพที่น่าจดจำมาถึงทุกวันนี้ และรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดใน จ.เชียงรายและเชียงใหม่ แต่ที่สำคัญและดีที่สุด คือ การได้เกิดมาเป็นมุสลิมในประเทศไทย
ผมรู้สึกอิ่มเหมือนได้ย้อนยุคไปสมัยล้านนา ณ “คุ้มขันโตก” อาหารฮาลาลก็มีไว้ให้รับประทาน การแสดงศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนา การแต่งกายของพนักงาน ที่เดินด้วยเท้าเปล่า ในชุดล้านนา เสียงดนตรีดังเบาๆ ลมพัดเย็นๆ นี่แหละเสน่ห์ของเชียงใหม่ที่น่าอนุรักษ์เอาไว้ ความร่มเย็นของผู้คน เริ่มจากจิตใจที่ใสสะอาด หากศีลธรรมยังคงอยู่ ที่ไหนๆ ก็มีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ..สักวันผมจะไปเยี่ยมเชียงใหม่อีกครั้ง...
http://www.komchadluek.net/detail/20150115/199514.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น