อดีต คนแก่ เรืองเล่ายามเด็ก วิถีที่เคยเป็นในเชียงใหม่

 


   คนเราพออายุมากขึ้น พูดตามตรงก็คือแก่ขึึ้นนั่นแหละครับ มักจะชอบพูด ชอบคุย หรือนึกถึงเรื่องราวในอดีต บางเรื่องราวก็ทำให้เป็นสุข  บางเรื่องราว คิดได้ว่า เราไม่น่าทำสิ่งนั้นเลย ทั้งที่มันผ่านมาแล้ว และก็ไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีน เข้าไปแก้ไขอะไรได้


       เมืองเชียงใหม่สมัยก่อนดูแคบจัง ผู้คนรู้จัก มักคุ้น ทั้งบ้านใต้บ้านเหนือ ต่างไปมาหาสู่กันดั่งพี่ ดั่งน้อง รถรางก็ไม่มากมายเหมือนยุคปัจจุบัน

       จำได้ว่าตอน เป็นเด็ก ถ้าเราอยากไปเที่ยว น้ำตกห้วยแก้ว พาหนะหรือรถที่จะพาเราไปถึงที่หมายได้คือ รถเมล์เหลืองสาย 3 ต้นคิวถ้าจำไม่ผิดน่าจะอยู่แถวสถานนีรถไฟ



         ในยุคนั้น รถส่วนตัวมีกันน้อย อาจเนื่องจากรายได้ของคนเชียงใหม่ในเวลานั้นคง มีรายได้ไม่พอที่จะนำเงินมาซื้อ รถ เพราะระบบเงินผ่อนยังไม่เป็นที่นิยมกัน   บริษัทซิงเกอร์ น่าจะเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ขายของเงินผ่อน มีเงินวางนิดหน่อย เอาของไปใช้ก่อน แล้วค่อยๆ ผ่อนใช้ทีหลัง 



         รถสาธารณะส่วนใหญ่ ที่คนเชียงใหม่ นิยมใช้กัน ก็เป็นรถสองแถว คนเชียงใหม่เรียกว่ารถสี่ล้อรับจ้าง และสามล้อ คนปั่น ส่วนสามล้อเครื่องก็มี เป็นสีขาว แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่

          ยุคนั้นใครมีมอเตอร์ไซค์ก็เท่ห์แล้ว ไปไหนมาไหน สะดวกสบาย ราคาน้ำมันก็แสนถูก จำได้ว่าเข้าปั๊มเติมน้ำม้น 5 บาทได้เกือบสองลิตร การดำเนินชีวิตในยุคนั้นราคาถูกแต่ก็มากด้วยคุณภาพ อาหารการกินก็ทำกินกันเองที่บ้าน ไม่มีอาหารขยะ อาหารจานด่วน มาเป็นปัจจัยทำลายสุขภาพ ผู้คนเหนียวแน่ในเรื่องของจิตใจที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความรักความมีน้ำใจเบ่งบานเต็มหัวใจของประชาชนคนล้านนา..





      ส่วนโรงหนังก็มีไม่กี่โรง ที่จำได้ ก็มี โรงหนังศรีวิศาล เวียงพิงค์ ศรีนครพิงค์ ชินทัศนีย์ ศรีพิงค์หรือศรีนครพิงค์ สุริวงศ์ สุริยง สุริยา แสงตะวัน  ทิพยเนตรร่าม่า แถวตลาดเมืองใหม่ถ้าจำไม่ผิดน่าจะชื่อโรงหนังเมืองฟ้า ตามด้วยโรงหนังช้างเผือกลามก เฮ้ยราม่า เนื่องจากโรงนี้มักจะนำเสนอหนังสองเรื่องควบ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังเลสอาร์

        สมัยเป็นเด็กอยากดูหนัง ก็จะไปที่โรงหนัง ไม่มีตังค์หรอกครับ ใช้วิธี เกาะผู้ใหญ่เข้าไป คือขอเขาตรง ๆ พี่ขอเข้าด้วยคน เขาใจดีก็เกาะตัวเข้าไปกับเขา ก็ได้ดูสมใจตั๋วหนังสมัยก่อนน่าจะเริ่มที่ ห้าบาท สิบบาท สิบห้าบาท ตั๋วถูกเขาจัดให้นั่งแถวหน้า 

       อีกวิธีหนึ่งที่จำได้คือที่โรงหนังศรีวิศาล จะมีรั้วติดข้างวัดบุพพาราม ท่าแพ พวกเราเขาไปทางวัดปีนขึ้นบนหลังคาห้องน้ำโรงหนังโดดตู๊บลงทางห้องน้ำที่มีหลังคาเปิดโล่ง 

คือมันมีรูนั้นแหละคิดว่าคงมีเด็กซน ๆ อย่างพวกเราเป็นคนเบิกทางให้ก่อน

  พอลงถึงห้องน้ำเปิดประตูห้องน้ำออกไปก็ได้ดูนั่ง อย่างตั้งใจ นี่เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของเด็กในเมืองสมัยก่อนเก่า



      อีกหนึ่งเรื่องราวของ เด็ก เชียงใหม่ที่มีฐานไม่ร่ำรวย ประกอบกับการอยากรู้อยากเห็น อยากดูหนังในโรง ก็หาวิธีการตอบสนองความต้องการของตนเอง อาจจะดูไม่ดีนัก แต่ก็เป็นหนึ่งประสบการณ์ของเด็ก ๆ ในยุคนั้น ถามว่าคนเก็บตั๋วไม่รู้เหรอ คิดว่ารู้ครับ แต่ด้วยความเอ็นดูสงสารเด็กเข้าใจ จึงปล่อย ๆ เข้าไป 

      ดังกล่าวไว้ข้างต้นคือหัวใจ ของคนล้านนา เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา สงสารเกื้อหนุนซึ่งกัน ปัจจุบันสังคมเริ่มอ่อนแอลงด้วยกับสภาวะแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แม้นกระทั่งบ้านติดกันยังไม่รู้จักกันก็มี



ขอบคุณภาพจากห้องไลน์ กลุ่มพาณิชย์น้ำคือรุ่น 12

ความคิดเห็น