มารยาทในการเดินทางเผยแผ่ศาสนา – ตับลีฆ

มารยาทในการเดินทางเผยแผ่ศาสนา – ตับลีฆ
   
   


         เมื่อผู้ศรทธาตัดสินใจที่จะร่วมเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่เรียกกันว่า ตับลีฆ-การเผยแผ่ถึงประชาชน หรือดะวะฮฺ – การเชิญชวนสู่หลักธรรม  เขาต้องปฏิตบัติดังต่อไปนี้

          1.ให้กล่าวดุอาอฺว่า

   اللهم بك أصول وبك أسير
   (คำอ่าน) อัลลอฮุมมะบีกะ อาศูลู วาบีกะ อะหูลูวะบีกะ อะซีรู

         (ความหมาย) “โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์รุกไล่ข้าศึกด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ ข้าพระองค์วางแผนงานด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์  และข้าพระองค์เดินทางด้วยความช่วยเหลือจากพร


         การรุกไล่โจมตีข้าศึกในที่นี้  หมายถึง  การขับไล่ศรัตรูที่มาทำร้ายเรา ทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัว  เช่น จากมารร้ายชัยฏอน  ที่ทำให้จิตของเราหันเหจากแนวทางที่ชอบธรรม

         2.เมื่อออกจากบ้านให้กล่าวดุอาอฺ ดังนี้

   بسم الله توكلت على الله ولا حول ولا قوة إلا بالله
   (คำอ่าน) บิสมิลลาฮี ตะวักกัลตู อะลัลลอฮิ วาลาเหาละวาลากูวะตะอิลลาบิลลาฮฺ

         (ความหมาย) “ด้วย พระนามของอัลลอฮฺ (ข้าพระองค์ออกเดินทาง)  ข้าพระองค์มอบความไว้วางใจไว้กับอัลลอฮฺ ไม่มีพลังใดที่จะให้พ้นความชั่ว และไม่มีพลังใดที่จะให้ทำความดีนอกจากช่วยเหลือของอัลลอฮฺ”


          3. ให้ตั้งหัวหน้ากลุ่มสำหรับการออกเดินทางตับลีฆ  ซึ่งอาจเป็นคนอื่นๆจากหัวหน้า (อามีร) ของกลุ่มก็ได้


          4. เมื่อจะขึ้นยวดยานหรือขี่ม้าและสอดเท้าเข้าไปในโกลนแล้ว ให้กล่าว  บิสมิลลาฮฺ  เมื่อนั่งบนหลังม้าหรือสัตว์พาหนะอื่นๆ หรือยวดยาน  ให้กล่าว อัลฮัมดูลิลลาฮฺ  และให้กล่าวดุอาอฺต่อไปนี้


   سبحان الذي سخرلنا هذا وما كنّاله مقرنين وإنّا إلى ربنا لمنقلبون
   (คำอ่าน) สุบหานัลลลาซีย์  ซัคคอรอละนา  ฮะซา  วามากุนนาลาฮู  มุกเกาะรีนีน วาอินนา อีลาร็อบบีนา ลามุงกอลีบูน


          (ความหมาย) “มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์  ผู้ได้ทรงทำให้พาหนะ* นี้อยู่ใต้อำนาจของเรา  และเราไม่มีความสามารถที่จะบังคับมันได้ (ถ้ามิใช่ด้วยการช่วยเหลือจากพระองค์)  และแท้จริง (ในที่สุด)  เราต้องกลับไปสู่พระผู้อภิบาลของเราแน่นอน” (อัลกุรอาน 43: 13-14)


          *ความเดิมของอายะนี้ใช้กับสัตว์พาหนะ หลังจากนั้นให้กล่าวว่า อัลฮัมดูลิลลาฮฺ สามครั้ง และอัลลอฮูอักบัร สามครั้ง แล้วกล่าวอีกว่า

   سبحنك إنّى ظلمت نفسى فاغفرلى فانه لايغفر الذنوب إلا أنت
   (คำอ่าน) สุบหานะกะ อินนีย์  เซาะลัมตู นัฟสีย์ ฟัฆฟิรลีย์  ฟะอินนะฮู ลายัฆฟิรุซซุนูบะ อิลลาอันตา


           (ความหมาย) “มหา บริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ แท้จริง ข้าพระองค์ได้ประพฤติผิดแก่ตนเอง ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอภัยโทษแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด  เพราแท้จริง ไม่มีผู้ใดที่อภัยความผิดได้นอกจากพระองค์เท่านั้น”

           5. เมื่อขึ้นพาหนะแล้ว  และเริ่มออกเดินทาง หรือตนเองเริ่มขะเดินเท้า  ให้กล่าวว่า


   اللهم إنى أعوذ بك من وعثاء السفر وكابة المنقلب والحور بعد الكور ودعوة المظلوم وسوء المنظر فى الأهل والمال
   (คำ อ่าน) อัลลอฮุมมา อาอูซูบิกา  มินวะอฺษาอิส สะฟะรี วะกาบะติล มุงเกาะละบิ วัลเหารี บะอฺดัล เการี วะดะอฺวะติลมัซลูมี วาสูอิล มันเซาะรี ฟิลอะอฺลี วัลมาลี

           (ความหมาย) “โอ้อัลลอฮฺ  ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากการเหนื่อยยากของการเดินทางนี้  และจากภยันตรายแห่งการเดินทางกลับของข้าพระองค์ และจากความล้มเหลวหลังจากได้รับความสำเร็จแล้ว  และจากการวิงวินร้องทุกข์จากผู้ถูกกดขี่  และจากการพบเห็นความสูญเสียจากครอบครัว  และทรัพย์สิน”

            6. เมื่อขึ้นไปยังที่สูงให้กล่าว อัลลอฮูอักบัร และเมื่อลงสู่ที่ต่ำให้กล่าว สุบหานัลลอฮฺ  เมื่อผ่านที่โล่ง (เช่น สนามหญ้าหรือท้องนา) หรือลำน้ำ  ให้กล่าวว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ  และกล่าวอีกว่า อัลลอฮูอักบัร

            7. เมื่อจำเป็นต้องเดินเท้า  ก็ให้เดินด้วยความเต็มใจ  และควรสรรหาโอกาสเดินเท้าบ่อยๆด้วย  เพราะเป้นการปฏิบัติตามจริยวัตร-สุนนะฮฺ-ของท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซล)  และสาวกของท่านด้วย  กล่าวคือจะต้องฝึกฝนตนเองให้เคยชินต่อความยากลำบากในการเดินทาง  ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ได้รับความเมตตาและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺใน ชีวิตหน้า อาคีเราะฮฺ

            8. เมื่อลื่นหรือสดุด ให้กล่าวว่า บิสมิลลาฮฺ

            9. เมื่อถึงสนานีรถไฟ หรือสถานีขนส่ง ให้กล่าวว่า

   أعوذ بكلمات الله التامات من شر ما خلق
   (คำอ่าน) อาอูซูบิกะลีมาติลลาฮิตตามมาตี มินชัรรีมาคอลัก

            (ความหมาย) “ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองด้วยพระดำรัส อันสมบูรณ์ทั้งหลายของอัลลอฮฺให้พ้น  จากความชั่วร้ายของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง (เช่น จากมารร้าย หรืออำนาจฝายต่ำของงตนเอง)”

            10. เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านหรือตัวเมือง  ให้กล่าวดังนี้สามครั้ง

   اللهم بارك لنا فيها
   (คำอ่าน) อัลลอฮุมมา บาริกละนา ฟีฮา
             
            (ความหมาย) “โอ้อัลลอฮฺ ขอให้มีความจำเริญแก่เรา ณ ที่นี้ด้วยเถิด”
    
            และกล่าววิงวินต่อนี้

   اللهم ارْزقنا جناها وحببنا إلى أهلها وحبب صالحىّ أهلها إلينا
   (คำอ่าน) อัลลอฮุมมัรซุกนา ญะนาฮา วะหับบิบนา อิลาอะฮฺลิฮา วะหับบิบ ศอลิหี้ยฺ  อะฮฺลิฮื อิลัยนา
   
            (ความหมาย) “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงโปรดให้เราได้รับผลตอบแทน (ริซกีย์) ขอท้องที่นี้ด้วยเถิด  และทรงให้เรามีความรักต่อชาวท้องที่นี้ด้วยเถิด  และทรงให้คนดีทั้งหลายของท้องที่นี้รักเราด้วยเถิด”
      
            11. จะต้องช่วยเหลือรับใช้ผู้ร่วมเดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ถือว่า  เป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะมีกล่าวในฮะดิษว่า “ผู้ เป็นหัวหน้านั้น คือผู้รับใช้สหายเดินทางมากกว่าผู้อื่น  ไม่มีผู้ใดในหมู่ผู้ร่วมเดินทางจะล้ำหน้าเขาผู้นั้นในกิจการใดๆได้ นอกจากการเสียชีวิต ในสนามรบเท่านั้น” จากมิซกาต


         หน้าที่ของหัวหน้า-อามีร
   
            1. หัวหน้าต้องคำนึงถึงความสุขสบายของผู้ร่วมเดินทาง  ต้องปรึกษาทุกๆคน และต้องเคารพในความคิดเห็นของทุกคนด้วย  แต่ถ้าเขาคิดว่าการจะปฏิบัติตามความคิดเห็นในบางเรื่องของบางคนนั้นไม่ เหมาะสม  ก็อย่าพูดให้ผู้นั้นท้อใจ  แต่ต้องอธิบายให้ผู้นั้นเข้าใจถึงคุณประโยชน์ที่ต้องรับเอาความคิดเห็นของ ผู้อื่นที่จะให้ผลดีมากกว่า
   
            2. อย่าเง้มงวดผู้ร่วมเดินทางจนมากเกินไปนัก  และอย่าพูดด้วยน้ำเสียงออกคำสั่ง
   
            3. หัวหน้าต้องรู้ถึงวัยวุฒิ  และคุณวุฒิของผู้ร่วมเดินทาง  และต้องพูดกับเขาเหล่านั้นตามสถานภาพที่เหมาะสม
   
            4. ถ้าบางคนมีความสามารถในการบรรยาย  หรือกล่าวคำปราศรัย  ก็ควรให้โอกาสแก่เขาได้พูด  เพื่อเขาจะได้ไม่เสียกำลังใจ  แต่ถ้าคำบรรยายของผู้ใดไม่ตรงตามความประสงค์  หรือเป้าหมายของการตับลีฆ  ก็จงอย่าให้เขาพูด  แต่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจด้วยเพื่อผู้นั้นจะได้ไม่ท้อหรือไม่พอใจ
   
            5. หัวหน้าต้องห้ามปรามด้วยสุภาพและอ่อนโยนเมื่อผู้ร่วมเดินทางพะวง  หรือสนใจในเรื่องไร้สาระ
   
            6. หัวหน้าต้องอบรมให้ผู้ร่วมเดินทางเคยชินต่อกล่าวตัสบิหฺทั้งเวลาเช้าและเย็น  ให้มีการกล่าวซิกิร คือรำลึกถึงอัลลอฮฺเสมอ  โดยเฉพาะเวลาเวลาออกไปเชิญชวนชาวบ้านมามัสญิดที่เรียกว่า กัสต์  
   
            7. หัวหน้าต้องตั้งเจ้าหน้าที่ปราศรัย- มุตัลลิม  เจ้าหน้าที่ออกเชิญชวนกัสต์  ถ้าหาผู้ที่เหมาะสมไม่ได้  หัวหน้าต้องรับหน้าที่นี้เอง คือเป็นทั้งอามีรตะลีม-หัวหน้าฝ่ายวิชาการ และมุตากัลป์ลิม-ผู้กล่าวปราศรัย
   
            8. ระหว่างเดินทางต้องเตือนให้ผู้ร่วมเดินทางจดจำบทเรียนการตับลีฆตาม หัวข้อต่างๆให้ดี  ให้ท่องจำคำดุอาในโอกาสต่างๆให้ขึ้นใจ เช่น ดุอาเวลาเช้า  เย็น  เวลานอน  เวลาตื่น  เวลารับประทานอาหารและในโอกาสอื่นๆ
   
            9. ให้มอบผู้ที่ไม่รู้อยู่ในความดูแลของผู้รู้  เพื่อผู้ไม่รู้จะได้ท่องจำดุอาต่างๆ
   
            10. เมื่อเห็นสมควร หัวหน้าต้องแบ่งงานตามหน้าที่แก่ผู้ร่วมเดินทาง เช่น  คนหนึ่งมีหน้าที่ปลุกให้ละหมาดตะฮัจยุดในเวลาดึก  อีกคนให้ทำหน้าที่เตือนถึงเวลาละหมาดอิสติรอก  และดูฮา  บางคนให้มีหน้าที่สอนการกล่าวซิกรุลลอฮฺ
   
            11. ถ้ามีการบาดหมางกันในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง  หัวหน้าต้องจักให้ปรองดองคืนดีกันโดยเร็ว
   
            12.หัวหน้าต้องพร่ำสอนผู้ร่วมเดินทางให้มีความยำเกรงสำรวมในหน้าที่ของตนต่ออัลลอฮฺ  คือให้มีการตักวา  ให้นึกถึงผลตอบแทนในโลกหน้าให้มากๆ และให้เตือนสติแก่หมู่คณะเสมอดังนี้-
   
            “เรา ได้ออกเดินทางละถิ่นฐานบ้านช่องมามิใช่เพื่ออบรมสั่งสอนคนอื่น  แต่เผื่อฝึกและอบรมบ่มนิสัยของตนเอง  จุดประสงค์ในการออกเดินทางของเราครั้งนี้เนื่องจากการที่เราได้อยู่ในสภาพ แวดล้อมของหลักการศาสนาและร่วมกับผู้ยึดมั่นในศาสนา  คือ  การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับศาสนาให้แน่นแฟ้นขึ้น  ให้ละหมาดโดยมารยาทที่งามที่สุด  ให้รำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก  และให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยบริสุทธิ์ใจ  ให้ตั้งใจพากเพียรบ่มนนิสัยจนเคยชินที่จะทำแต่การดีและละเว้นการชั่วโดย สิ้นเชิง  เวลาทั้งหลายแหล่ที่เราได้อุทิศในการตับลีฆนี้  ไม่ใช่เพื่อตัวเราแม้แต่วินาทีเดียว  แต่ว่าเพื่อการตั้งมั่นศาสนาของอัลลอฮฺเท่านั้น  เพราะฉะนั้น เราต้องถือเอาประโยชน์จากเวลานี้ให้มากที่สุดโดยการเล่าเรียนและอบรมใน เรื่องศาสนา  เราได้สูญเสียอายุของเราในเรื่องไร้สาระไปมากแล้ว  แต่บัดนี้อย่างน้อยที่สุด เราต้องใช้ชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์ที่สุดอย่างที่มุสลิมที่ดีได้รับพระ บัญชาให้ปฏิบัติ  เราต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเดินทางนี้ให้ดีที่สุด  เมื่อเรากลับบ้านของเรา  ราจะได้มีชีวิตที่มีศาสนาและจริยธรรมที่ดีกว่าแต่ก่อน"

   ความรู้ และ การซิกิร

         1. หลักธรรมคำสอนของคณะตับลีฆนี้ คือ ให้มีความรู้ในศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวางและถูกต้อง เช่น การอ่านเรื่องเกี่ยวกับมรรคผลของหัวข้อต่างหรือการบอกเล่าแก่ผู้อื่นร่วม ทั้งการฟังผู้อื่นด้วย  เพื่อจะได้มีความรู้ในศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและกว้างขวาง  นอกจากนี้คณะตับลีฆต้องรู้ถึงคำมั่นสัญญาและคำสั่งทั้งหลายของอัลลอฮฺโดย ปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอด้วย

          2. ส่วนสำคัญในการอบรมของคณะตับลีฆนี้ คือการดำรงละหมาดและการหาความรู้ในอัลกุรอานอย่างถูกต้อง  แต่การที่จะเรียนเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ย่อมทำไม่ได้จากเวลาที่จำกัดในการเดิน ทางของคณะตับลีฆ  เพราะฉะนั้น ผู้ร่วมเดินทางต้องสำนึกหรือเข้าใจอย่างดีในความสำคัญของการละหมาดและการ เล่าเรียนอัลกุรอานในระหว่างการเดินทางว่าเขาจะต้องอุทิศเวลาให้แก่เรื่อง นี้ให้มากขึ้นอีกเป็นประจำในอนาคต

          3. ผู้อยู่ในคณะตับลีฆต้องย้อนไปรำลึกถึงชีวิตของตนที่ผ่านไปแล้วด้วย  ส่วนผู้ที่เข้าใจเรื่องศาสนานั้น  ควรต้องรู้สึกละอายและเสียใจที่ไม่ได้อุทิศชีวิตในอดีตเพื่อการตับลีฆออกเผย แผ่ศาสนาแก่ประชาชน  เขาต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ – เตาบัต  ส่วนผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องศาสนานั้น  เขาต้องเสียใจที่ไม่ได้เล่าเรียน  หรือที่ได้เพิกเฉย  เขาควรจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺเช่นกัน  ที่เขาจะได้หันเหมาใช้ชีวิตตามแนวทางของศาสนาต่อไป

          4. ในยามว่างทั้งหลาย  เขาต้องรำลึถึงอัลลอฮฺ  การซิกรุลลอฮ มิใช่เพียงด้วยวาจาแต่ต้องออกมาจากจิตใจที่จดจ่อ

          5. ให้ถือเป็นหน้าที่ที่ผู้มีความรู้ต้องสอนให้ผู้ที่ไม่มีความรู้  ส่วนผู้ที่ไม่มีความรู้ก็ต้องหมั่นเล่าเรียนจากผู้ที่มีความรู้  หรือผู้รู้น้อยก็ต้องเรียนจากผู้รู้มากกว่า

          6. การเล่าเรียนศาสนานั้นจะได้จากการอ่านและการฟังเท่านั้นไม่ได้  แต่การปฏิบัติอาม้าลด้วยนั้นเป็นข้อจำเป็นอย่างยิ่ง  เพราะการเรียนและการปฏิบัติต้องอาศัยเกี่ยวเนื่องกัน  ในเรื่องใดก็ตาม  ถ้าไม่มีการปฏิบัติด้วย  ความลึกซึ้งก็ไม่เกิดขึ้น  เพราะฉะนั้น เมื่อได้เรียนรู้ข้อใดในเรื่องศาสนาก็ให้ลงมือปฏิบัติทันที  เพราะจะทำให้จดจำ  ให้ถือเป็นหน้าที่ตนเองด้วยว่า  การปฏิบัตินี้จะส่งผลดีต้อผู้อื่นด้วย

          7. ความผิดพลาดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในการอ่านอัลกุรอาน  หรือละหมาดนั้นไม่จำเป็นต้องถือว่าให้มีการตักเตือนแก้ไขเมื่อสิ้นสุด การอบรมแล้วเท่านั้น  แต่ให้พยายามทุกเวลาที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง  แม้เมื่อกลับมาถึงบ้านก็อย่าดูดายจนกว่าจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

ที่มา
http://www.sunnahstudent.com/forum/index.php/topic,6328.0.htm



แนวปฎิบัติทั่วไปในการทำงานดะวะฮ์ตับลีฆ

ใน บัญญัติของอัลลอฮ์ตะอาลานั้น งานตับลีฆเป็นอิบาดะฮ์ที่สำคัญ และมีลำดับขั้นความดีที่สูง ซึ่งมีความหมายที่แท้จริงคือ การปฎิบัติตามแนวทางของท่านรอซูล ซ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเมื่องานนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องตั้งอยู่บนแนวระเบียบปฎิบัติที่สูงส่งด้วย โดยต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด เป้าหมายของงานนี้มิใช่การชี้นำผู้อื่นเพียงประการเดียว แต่ทว่าเพื่อปรับปรุงตนเองอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นบ่าวที่สมบูรณ์  เพื่อปฎิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ตะอาลา และเพื่อความพึงพอพระทัย ณ อัลลอฮ์ตะอาลา ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฎิบัติงานนี้จะต้องจดจำและปฎิบัติในเรื่องต่อไปนี้ อย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

1. แต่ละคนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมดด้วยตนเอง รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ หากมีเหลือพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้บ้าง ก็อาจให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความจำเป็นได้

2. ทุกคนที่ปฎิบัติงานนี้จะต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งต้องอดทนเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือผู้อื่น การประพฤติเช่นนี้ จะทำให้ได้รับความจำเริญไปทั่วทั้งญะมาอะฮ์ที่ปฎิบัติงาน

3. ปฎิบัติต่อมุสลิมทั้งหลายด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน การพูดคุย การปราศรัย และการเจรจา จะต้องใช้เสียงนุ่มนวล น่าเชื่อถือโน้มน้าว โดยใช้ภาษาที่ฟังง่าย และสุภาพ  อย่ามองมุสลิมด้วยการดูถูกและเหยียดหยาม เหมือนกับที่เราจะต้องให้เกียรติต่ออัลกุอานและหะดิษ เช่นเดียวกันนั้น เราจำเป็นต้องให้เกียรติผู้รู้ เพราะในตัวของพวกเขา มีความรู้อัลกุรอานและหะดิษอยู่ การแสดงอาการดูหมิ่นแม้เพียงเล็กน้อย มันอาจหมายถึง การดูหมิ่นอิสลาม ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความโกรธกริ้วจากอัลลอฮ์ตะอาลา

4. ต้องใช้เวลาว่างเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา หรืออยู่ร่วมกับผู้มีความรู้ความเข้าใจ และความเคร่งครัดในการปฎิบัติอิบาดะฮ์ ในช่วงที่ออกตับลีฆจะต้องออกห่าง หรือหลีกเลี่ยงการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระ ให้ใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการซิเกร การซอลาวาต และการอิสติฆฟาร  รวมไปถึงการเรียนการสอนศาสนา

5. ต้องใช้วิธีที่ถูกต้องในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริสกี) ให้เป็นริสกีที่ฮะลาล จะต้องระมัดระวังไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและต้องปฎิบัติหน้าที่ที่จำเป็นต่อครอบครัวและญาติพี่น้องให้สมบูรณ์

6. ไม่ควรพูดคุยหรือวิพากษ์เรื่องที่เป็นข้อขัดแย้ง ต่างทัศนะ และปัญหาปลีกย่อยต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม ทว่าให้พูดเชิญชวนไปสู่เตาฮีด และการเผยแผ่อิสลามเท่านั้น ซึ่งเป็นการดียิ่ง

7. กิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าการทำงาน การปราศรัยจะต้องหล่อหลอมกับความบริสุทธิ์ใจและจริงใจ การกระทำใดๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามหากชุ่มไปด้วยคุณสมบัตินี้ จะทำให้ได้รับรางวัลที่สูงที่สุดและมีผลสะท้อนที่ดีงามยิ่ง ในทางตรงกันข้าม การกระทำที่ขาดความจริงใจ ถึงแม้จะยิ่งใหญ่มากมายเท่าใดก็ตาม ย่อมจะไม่ให้คุณค่าหรือคุณประโยชน์ใดๆ กับชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า เมื่อครั้ง มุอาซ บิน ญะบัล (ร.ด.)ได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ว่าการเมืองยะมัน ได้ขอให้ท่านรอซูล ซ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำเป็นพิเศษ ท่านรอซูล ซ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำว่า  ท่านจงทำงานศาสนาด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจก็เพียงพอแล้ว  ยังมีคำพูดอื่นที่ท่านศาสดาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า อัลลอฮ์ตะอาลาทรงยอมรับเฉพาะการกระทำที่เป็นไปเพื่อต้องการความพึงพอพระทัย ของพระองค์เท่านั้น อัลลอฮ์ไม่ทรงมองที่เรือนร่าง หรือทรัพย์สิน แต่พระองค์จะดูที่หัวใจและการกระทำ

สรุปประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็ คือ  ให้ทำงานตับลีฆด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจ จะต้องไม่มีลักษณะของการแสดงออกในเชิงโอ้อวด  ระดับของความก้าวหน้าทางศาสนา และความสำเร็จของบุคคลและชุมชน   ขึ้นอยู่กับความล้ำลึกของความบริสุทธิ์ใจจากผู้กระทำนั่นเอง

   วัลลอฮุอะลัมบิศซอวาบ


     
   อ้างอิง...หนังสือคุณค่าอาม้าล
    
            การดะวะห์ ที่เหมือนนบีทำหรือใกล้เคียงกับนบีทำดีที่สุดครับ หากซอฮาบะฮ์บรรยาย อย่างเดียวโดยไม่ออกไปในหนหางของอัลลอฮฺ พี่น้องว่าพวกเราตอนนี้จะเป็นอย่างไร เมื่ออบูบักร์ ได้เข้ารับอิสลาม สิ่งแรกที่นบีใช้ให้ อบูบักร์ คือ ไม่ใด้ใช้ให้ อบูบักร์ เปิดโรงเรียน แต่ให้ประกาศกาลิเมาะฮ   
      รายงาน จากท่านอบูสะอี๊ด อัลคุดรียฺ (ร่อดียั้ลลอฮู่ อันฮฺ) ว่า  แท้จริงท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺI ได้ส่งสาส์นไปถึงเผ่าบะนูลิฮฺยาน โดยกล่าวว่า : คนหนึ่งจากสองคนจงออกไปในหนทางของอัลลอฮฺตะอาลา หลังจากนั้นท่านก็ได้กล่าวกับ บรรดาผู้ที่ไม่ได้ออกไปในหนทางของอัลลอฮฺตะอาลา (ในโอกาสนั้น) ว่า : บุคคลใดในหมู่พวกท่านที่ดูแลครอบครัวและทรัพย์สินของผู้ที่ออกไปในหนทางของ อัลลอฮฺตะอาลาเป็นอย่างดี ขณะที่เขาไม่อยู่ บุคคลนั้นจะได้รับผลตอบแทนเท่ากับครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนของผู้ที่ออกไปในหน ทางของอัลลอฮฺตะอาลา {มุสลิม}   
      รายงาน จากท่านอิบนุ อับบาส (ร่อดียั้ลลอฮู่ อันฮู่มา) กล่าวว่า ท่านนบีI ได้ส่งท่านอับดุลลอฮฺ บินร่อวาฮะฮฺ (รอดียัลลอฮู อันฮฺ) ไปในญะมาอะฮฺหนึ่ง และวันนั้นตรงกับวันศุกร์ เพื่อนๆ ของท่านอับดุลลอฮฺ บินร่อวาฮะฮฺ (ร่อดียั้ลลอฮู่ อันฮฺ) ได้เดินทางออกไปแล้วในตอนเช้า ส่วนท่านอับดุลลอฮฺ บินร่อวาฮะฮฺ (รอดียัลลอฮู อันฮฺ) กล่าวว่า : ฉันขออยู่ก่อนเพื่อที่จะละหมาดวันศุกร์พร้อมกับท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺI หลังจากนั้นฉันก็จะตามหลังพวกเขา ไป เมื่อเขาได้ละหมาดวันศุกร์พร้อมกับท่านนบีI เรียบร้อยแล้ว ท่านนบี I ก็ได้เห็นเขา  ท่านจึงกล่าวว่า : ท่านอยู่ทำไมล่ะ ทำไมถึงไม่ไปพร้อมกับเพื่อนๆ ของท่าน ในตอนเช้าล่ะ?  เขาได้ตอบว่า : ฉันมีความปรารถนาที่จะละหมาดวันศุกร์พร้อมกับท่านก่อน แล้วฉันก็จะติดตามพวกเขาไป ท่านนบีI กล่าวว่า : หากแม้ว่าท่านใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในแผ่นดินนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของเพื่อน ๆ ของท่านที่ออกไปในตอนเช้าเลย      {ติรมีซี} 


        
      วิถีคนใว้เครา
      
      คน ทำงานดะวะฮ์ สร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อ ค่านิยมเดิมของสังคมที่มีพลังและมีเสเถียรภาพจากที่ใช้มัสญิดเป็นเพียงแค่ ละหมาดวันศุกร์
      วันนี้เปิดละหมาดทุกวันทั้งวันห้าเวลา…จากเดิม ที่ผู้ชายไม่มาละหมาด เวลานี้ผู้ชายนิยมที่จะมาละหมาดห้าเวลาพร้อมกันที่มัสญิด … ผู้หญิงปล่อยผม  มาเป็นปกปิดผมพร้อมนุ่งห่มให้มิดชิด เป็นไปตามคำสั่ง
      
      มุสลิมกล้าพอที่จะแสดงตนในที่สาธารณะ ผู้ชายใว้เครายาวตามแบบอย่างท่านศาสดา เลือกอาหารที่ฮาลาล ใช้สถาบันการเงินที่ปราศจากดอกเบี้ย
       ผู้หญิงเริ่มอยู่กับบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะมีสถานภาพแห่งความเป็น” มารดาของผู้ศัรธา” ผู้ชายรับผิดชอบอาชีพหน้าที่ การงาน ดูแลรับผิดชอบครอบครัวและงานศาสนาที่ได้รับมอบหมาย
      
      วิถีชีวิตที่เปลี่ยนเป็นเพื่อโลกหน้า สำหรับโลกนี้ “ อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงส่งมาเพื่อทดสอบก่อนกลับคืนสู่พระองค์”
      
      คนทำงานดะวะฮ์ เป็นกลุ่มคนในสังคมมุสลิมที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางความคิด
      
      เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงฐานความคิดของตนเอง มีความคิดในการมองโลกด้วยความศัรทธา จากใจและด้วยความเต็มใจ
      
      เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ใช้บีบบังคับจากภายนอก
      
      ถ่าย ทอดอิทธิพลทางคำสอน คำกล่าวเตือน และคำเชิญชวนบนพื้นฐานแห่งความรักและความปรารถนาดีไปยังผู้สนิท ชิดใกล้และขยายกว้างออกไปทั่วทุกมุมโลก
      
      เขาเหล่านั้นคือ”นักปฎิรูปสังคม” เขามีตำแหน่งในฐานะของ “ผู้บัญชาศัรทธาชน”
      
      คน ทำงานดะวะฮ์ เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางความคิดและการดำเนินชีวิตผู้คนในสังคม จากเดิมที่หลงใหลใน “ความมั่งคั่ง”มาสู่”ความพอเพียง”
      
      คนในสังคมมุสลิมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิดนี้และมีค่านิยมที่เห็นได้อย่างเป็นรูปร่างลางๆได้ในเวลานี้………………
      
      หลายคนเริ่มศึกษา”วิถีคนมีเครา”
      
      คน ดะวะฮ์ใช้ชีวิตแบบ”เรียบง่าย”แต่ “ไม่มักง่าย”ด้วยกับการมีชีวิตในโลกไม่มีความสำคัญเท่าชีวิตที่จะเกิดขึ้นมา ใหม่ “ชีวิตหลังความตาย”
      
      ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ยอมให้ทรัพย์สินที่หามาได้หมดไปกับการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้เกิดความ สัมพันธ์ที่แพร่กระจายออกไปอย่างมั่งคงแข็งแรง


      
      ………………เผยแผ่ อิทธิพลความคิดด้วยกับความเชื่อมั่นในพระเจ้า มุ่งพัฒนาวิธีการ “รวมพลัง” สร้างอณาจักรแห่ง “ความร่วมมือร่วมใจ” พร้อมถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดในเชิงคุณภาพและศักยภาพของคนในสังคมมุสลิม
      
      นัก คิดในกลุ่มสังคมคนดะวะฮ์ เป็นผู้ต้องการ การเรียน รู้ที่จะรักในการแสวงหาปัญญาด้วยตนเอง เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากปัญญา ที่ร่วมสร้างขึ้นมาจากภูมิปัญญานานาชาติ
      
      สังคมดะวะฮ์ เป็นสังคมที่มีการสร้างปัญญา วิถีที่มีผู้นำจุดชนวน นำพาสังคมมุสลิมสู่มิติการศรัทธาอย่างแท้จริง
      
      “ศรัทธาวิถี” เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริงทั้งโลกนี้และโลกหน้า
      
      “ศรัทธา วิถี” ภายใต้โลกที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี่ สามารถสร้างความอยู่รอดได้อย่างมีเสถียรภาพ มีความสุขและมีความดีงาม
      
      ดะวะฮ์เป็นการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของแนวทางการพัฒนาโดยการมุ่งสร้าง”คน” สู่วิถีศรัทธา
      
      สังคม ไทยยุคข้อมูลข่าวสาร ผู้มีความรู้กลายเป็นผู้มีอำนาจเพราะใช้ปัญญาในการประยุกต์ใช้ความรู้ เมื่อปัญญาถูกควบคุมด้วยแรงศัรทธา ความรู้ที่มีก่อให้เกิดเป็นความดีงามแก่มนุษย์ชาติเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระ เจ้า
      
      คนดะวะฮ์ ดุจดังผู้นำสังคมที่เป็นผู้จุดชนวนศรัทธาวิถี โดยการฟื้นฟูอุดมการณ์อิสลามที่คนในสังคมมีความคิดร่วมกันที่จะบรรลุเป้า หมาย การคืนกลับสู่อัลลอฮ์ ตะอาลา ในแบบอย่างของท่านศาสดาสุดท้าย
      
      คน ทำงานดะวะฮ์ ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา มีความสามารถใช้ชีวิตด้วยเหตุผลมากกว่าชีวิตเพื่อสนองตอบอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการของตนเอง
      
      มีความคิดที่ถูกต้อง มีแรงผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดีงามไม่ล่องลอยไปกับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด
      
      ผู้สร้างความเจริญให้แก่ชุมชนเพราะสามารถใช้ความรู้ได้ถูกที่ ถูกคน และถูกเวลา
      
      สามารถ วิเคราะห์อดีต เข้าใจปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต มีอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต อุทิศตน ทรัพย์สินและเวลาเพื่อการเผยแผ่ศาสนาและถ่ายทอดอิสลามให้เกิดการยอมรับ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในสังคม ด้วยกับการนำความคิดเข้าสู่การปฎิบัติ เกิดขึ้นจริงเห็นเป็นรูปธรรมและบอกต่อด้วยความมั่นใจ
      
      คนดะวะฮ์ ดำเนินชีวิตโดยใช้ศัรธาที่หยั่งรากลึกในธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ ก้าวทันการใช้ชีวิตที่ต้องสนองตอบความต้องการพื้นฐาน ทำให้ชีวิตวางอยู่บนความเป็นจริง ความเข้าใจถึงและตระหนักสำนึกแห่งความรับผิดชอบชั่วดีที่ปรากฏชัดในจิตใจ ภายใต้สภาวะโลกแห่งความเป็นจริง มีสมาธิในปัจจุบัน คลายทุกข์ในอดีตและไม่เพ้อฝันสิ่งในอนาคต
      
      กลุ่มคนดะวะฮ์ เป็นมุสลิมในสังคมของผูใช้ปัญญา ยึดมั่นในหลัการ เคราพในกฎเกณฑ์กติกาพร้อมปฎิบัติในแต่ละขั้นตอน พิถีพิถันในรายละเอียดสู่การเป็นสังคม คนคิดเป็น ทำเป็น ประยุกต์ใช้เป็นในทุกสิ่งที่ใด้เรียนรู้ จนมองโลกที่สอดคร้องกับความจริงที่ดีงาม มุ่งมั่นปรารถนาที่จะพบตัวเอง ค้นพบชีวิต ค้นพบความหมายและสามารถยกระดับศรัทธาตลอดการใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้
      
      กลุ่มคนดะวะฮ์เป็นนัก”ปรัญญา” เต็มไปด้วย”ความรักและมีปัญญา” เป็นชาวศรัทธาในสังคมที่น่าจับตามอง
      
      ความรักที่แสดงออกให้เห็นถึงความห่วงใย ความคิดถึงและความรู้สึกดีๆ
      
      ชุมชน มุสลิมที่คนขาดศรัทธาในการดำเดินชีวิต จะส่งผลร้ายแรงเพราะนอกจากจะเป็นชุมชนที่ล้าหลังแล้วยังเกิดเป็นปัญหาติดตาม มามากมาย ผู้คนไร้สารไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง ผู้นำศาสนานำพาให้ชุมชนเข้าสู่การล่มสลาย ผู้คนไร้ซึ่งแก่นสาร เป็นคนคิดสั้น คิดแคบและคิดร้าย มีพฤติกรรมแสดงออกต่อกันด้วยความหวาดระแวงสงสัย หยาบคายแข็งกระด้าง ไร้ปัญญาโดยสิ้นเชิง


      
      ชุมชนมุสลิมที่มีผู้รู้ศาสนาต่อต้านงานดะวะฮ์ สภาพชุมชนจึงมีแต่ “ผู้รู้ที่แสวงหาความรู้เพื่อความรู้” เพื่อยกระดับฐานะรายได้ เกียรติยศของตน มิใช่นำความรู้ไปก่อให้เกิดการศรัทธา สร้างความเข้าใจในอิสลามอย่างแท้จริง และในชุมชนนั้นยังมีสภาพเป็นแหล่งเพาะความเสื่อมศรัทธา ซึ่งผ่านการชี้นำในทิศทางของผู้มที่” มีเพียงความรู้” นำพาให้สังคมในชุมชนเกิดสภาพความเสื่อมทางจิตใจ
      
      ผู้รู้ที่ต่อต้านงาน ดะวะฮ์ จึงเป็นผู้รู้ที่ไร้ซึ่งปัญญา คับแคบในความคิด ติดยึดในกรอบคิดประเพณีเดิม แสวงหาความรู้ได้เพียงพลิกตำรา หยุดนิ่งไม่เคลื่อนใหว “เรียกหาแค่หลักฐาน”
      
      ……………………..ในขณะที่คนทำ งานดะวะฮ์มุ่งมั่นสู่การปฏิบัติแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพลังแห่งการศรัทธา ให้เกิดการเคลื่อนไหวสู่การเปลี่ยนแปลง หวังให้ผู้ที่กล่าวรับในคำมั่นสัญญาได้ยืนหยัดและมั่นคงแห่งความเป็น “พระเจ้า” เพียงหนึ่งเดียว
      
      พร้อมกับเร่งฟื้นฟูแบบฉบับของท่านศาสดา สุดท้าย ที่ผู้รู้ศาสนาได้ละทิ้งและเมินเฉยต่อการปฎิบัติ อีกทั้งยังกล่าวสอนแบบ “ ไม่เต็มปาก “ อธิบายหลีกห่างจากสิ่งที่รู้มาแต่ไม่กล้าปฎิบัติ
      
   .ท่านได้แค่ยืนหยุดนิ่ง แหกปากตะโกนร้องหาหลักฐาน ในขณะที่มุสลิมจำนวนมากกำลังละทิ้งวิถีอิสลาม
      
      โอ้!พระเจ้า ได้โปรดเหลียวมองดูพวกเขาแม้นเสี้ยวนาที
      
      วันนี้ ท่านผู้รู้ก็ยังคงหาหลักฐานของงานดะวะฮ์ ในขณะที่มุสลิมกว่าสองร้อยประเทศทั่วโลก สอดสานเครือข่ายเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง สร้างพลังคลื่อนศรัทธาด้วยการเดินทางออกไปเยี่ยมเยียนหาสู่กันทั่วทุกมุมโลก 

    . แต่สำหรับท่านยังคง “หยุดนิ่ง”
      
      “น้ำนิ่งรอเน่าเหม็นสกปรก น้ำไหลสะอาดใสยังประโยชน์”
      
      ผู้รู้ศาสนา “นำศาสนามาต่อต้านงานดะวะฮ์” นำเอาแนว” ซุนนะห์” มาบอกกล่าวให้มุสลิมที่ด้อยปัญญาปฎิบัติ “แบบดูแคลน”
      
      นำ เอาซุนนะห์มาบอกเพียงให้ระลึกถึงท่านนบี แต่มิได้เน้นให้ปฏิบัติตาม ผู้รู้เหล่านี้จึงเลือกปฏิบัติ ซึ่งในขณะที่กลุ่มคนทำงานดะวะฮ์ พยายามฟื้นฟู ซุนนะห์ ระลึกนบีโดยมุ่งปฏิบัติตาม
      
      ผู้รู้ศาสนาจึงเป็นผู้ที่สังคมให้สมญานามว่า “ ผู้ศรัทธาตามตำรา”
      
      สังคม ดะวะฮ์ เป็นสังคมแห่งผู้ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ผู้ที่ทำงานดะวะฮ์มีควมเป็น “ปราชญ์” ในระดับความลึกไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับการก้าวลึกลงไปแสวงหาทางนำอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เวลามาเป็นตัวชี้ วัดที่เป็น 3วัน 40 วัน หรือ 4 เดือน
      รวมถึงการให้เวลากับมัสญิด การออกไปเยี่ยมเยียนผู้คนในชุมชน การเข้าร่วมประชุมประจำวัน ประจำสัปดาห์ และการสนองตอบความเป็นในงานที่ได้รับมอบหมายจากการตัดสินในที่ประชุม
      
      คน ดะวะฮ์ จึงเป็น “ปราชญ์ “ ที่ไม่มีวันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี มีความอดทนในทุกสภาพแห่งกาลเวลา กล้าที่จะเดินก้าวผ่านประตูแห่งความเหนื่อยยาก  ทำงานด้วยพลังอันบริสุทธิ์  ต้องการเพียงความอิสระ ความสงบ ชีวิตที่มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแบ่งปันกัน เวลากลางวันเร่งรีบเข้าหามนุษย์ แต่พอยามดึกนั่งสงบนิ่งร้องให้ขอต่อ อัลลอฮ์ ตะอาลา
      
      ปราชญ์ เหล่านี้เป็นเพียงลูกชาวบ้านธรรมดา ที่ขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจอิสลาม จนเป็นได้ทั้ง “นักคิด” และเป็น” มันสมอง”ให้แก่สังคม
      
      ผู้ ที่อยู่ในสังคมดะวะฮ์ จะเป็นผู้ที่รักในการแสวงหาความรู้และแสวงหาปัญญามากกว่าการใช้เวลาให้หมดไป กับสิ่งไร้สาระ ที่ออกมาในรูปของการดูหนัง ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ เดินเล่นในห้างสรรพสินค้า งานรื่นเริงพบปะสังสรรค์ที่อยู่นอกกรอบวิถี ภารกิจส่วนใหญ่ได้ถูกทดแทน ด้วยการนั่งตรึกตรอง กำหนดเป้าหมาย แผนการเพื่อปฏิบัติแก่มนุษย์ชาติทั้งสิ้น  
       คัดลอกมาเพียงบางส่วน จากหนังสือ คนขายเครา  
      
      ทำดะวะฮ์ สะท้อนย้อนกลับตนเอง แล้วขอดุอาอ์
      หลักการที่ถูกต้องของการออกไปในหนทางแห่งอัลลอฮ์ตะอาลา ก็คือ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดตั้งใจที่จะออกไปในหนทาง หรือตั้งใจที่จะจัดญะมาอะฮ์
      หรือใช้ความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังมีความระแวงสงสัยเกี่ยวกับการออกไปในหนทางแห่งพระองค์
      ประการ แรกที่ต้องทำก็คือ ความคิดต้องสะท้อนออกให้ปรากฎชัดว่า ลำพังเพียงแค่ตัวเขาช่างไร้ซึ่งความสามารถ ขาดซึ่งปัจจัยที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือ
      มีแค่สองมือที่ว่างเปล่าไร้ค่า และความหมาย แต่ก็ด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่ออัลลอฮ์ตะอาลา ผู้ทำให้ชีวิตอยู่ได้ในทุกวันนี้
      ผู้ที่มีพลังอำนาจอย่างไร้จำกัด ขอยอมจำนนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมวิงวอนร้องขอ
      
      
      โอ้ อัลลอฮ์ ! วันเวลาที่ผ่านมาและที่จะมาถึง พระองค์ล้วนแล้วแต่สร้างทุกสิ่งด้วยพลังแห่งอำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดหรือผู้ใดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใดๆทั้งสิ้น
      
      โอ้ อัลลอฮ์ ! ผู้ทรงสร้าง ด้วยพลังอำนาจแห่งพระองค์ ทรงปูลาดท้องทะเลให้เป็นเส้นถนน รองรับฝ่าเท้าของมวลเหล่าบนีอิสรออีล
      
      โอ้ อัลลอฮ์ ! ด้วยความเมตตาและพลังแห่งอำนาจแห่งพระองค์ ทรงเปลี่ยนสภาพความร้อนแห่งไฟสู่ความร่มเย็นให้กับท่านนบีอิบรอฮีม
      ที่ถูกโยนลงบนกองไฟ
      
      โอ้ อัลลอฮ์ ! พระองค์ทรงทำให้เรื่องที่ยิ่งใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องที่ไร้ค่า ด้วยการให้กองทัพฝูงนกโจมตีทำลายกองทัพช้างที่ยิ่งใหญ่ของอับราฮะ ที่จะเข้ามาทำลายบ้านแห่งพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงให้ศาสนาของพระองค์กระจัดกระจายขยายออกไปทั่วทุกมุมโลก พระองค์ทรงบดขยี้อาณาจักรแห่งกษัตริย์ไกเซอร์และกิสรอ ให้กระจายแตกแยกเป็นเสี่ยง  ด้วยกับผู้คนที่ไร้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ร่อนเร่ไปกับอูฐที่เป็นสัตว์เลี้ยงกลางท้องทะเลทราย
      
      โอ้ อัลลอฮ์ ! สภาพแห่งงานที่พระองค์ทรงจัดสร้างขึ้นมาต่างไม่เหมาะสำหรับผู้ไร้ค่าในตัวตน ไม่มีความมุ่งมั่นและมักจะอ่อนล้า
      แต่พระองค์ก็ทรงส่งมอบเพื่อให้เกิดเป็นความต้องการที่จะได้ทำงานของพระองค์
      
      
      ด้วยกับการวิงวอนร้องขอต่อพระองค์ แล้วเริ่มต้นทำงานของพระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะทรงกำหนดให้เกิดผลเช่นใดก็เพียงทำเพื่อพระองค์
      พลังและความช่วยเหลือย่อมมาจากพระองค์ ทำด้วยความพยายามที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
      ดุจดังคนขอทานที่เฝ้ารอความหวังด้วยการเจียมตน  ทำงานศาสนาด้วยกับการใช้ความพยายามอย่างเต็มที่
      พร้อมร้องไห้วิงวอนขอด้วยรอยคราบแห่งน้ำตาที่จะได้รับการช่วยเหลือ
      ด้วยกับเติมเต็มความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาแห่งพระองค์  แท้จริงแล้วการช่วยเหลือของพระองค์ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ปรากฎว่า
      งานที่ท่านทำนั้น เป็นไปด้วยความพยายามอย่างแท้จริง  หรือเป็นแค่การทำงานแบบเสแสร้ง เป็นแค่ภาพลวงตา
      
               ส่วนหนึ่งจาก วาทกรรมแห่งปราชญ์นักบุญ เมาลานาอิลยาส


ความคิดเห็น