ผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ และสิ่งทดแทนการถือศีลอดที่เป็นวาญิบ


ผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ และสิ่งทดแทนการถือศีลอดที่เป็นวาญิบ


         1. ผู้ที่ขาดการถือศีลอดรอมฎอน และยังไม่ได้ชดใช้เนื่องจากมีอุปสรรค จนกระทั่งเสียชีวิต ก็ไม่ต้องจ่ายฟิดยะห์ ( สิ่งทดแทน ) และไม่ต้องชดใช้ โดยที่ไม่เป็นบาป เพราะเขาไม่มีความสามารถจนกระทั่งเสียชีวิต แต่ถ้าการขาดการถือศีลอด และไม่ได้ชดใช้โดยไม่มีอุปสรรค ก็จำเป็นต้องมีการจ่ายฟิดยะห์

         2. ผู้ที่ขาดการถือศีลอดรอมฎอน โดยมีอุปสรรคหรือไม่และไม่ชดใช้ หลังจากที่สามารถชดใช้ได้จนกระทั่งเสียชีวิต ไม่อนุญาตให้ทายาทถือศีลอดชดใช้แทนให้ ตามทัศนะใหม่ เพราะการถือศีลอดเป็นศาสนกิจทางกาย ไม่อนุญาตให้ทำแทนในขณะมีชีวิตอยู่หรือหลังการเสียชีวิต เช่นเดียวกับการละหมาด
             และฟิดยะห์จากการขาดการถือศีลอด คืออาหารหลัก 1 มุดเท่ากับ เศษหนึ่งส่วนสามปอนด์เมืองแบกแดด
  หรือเท่ากับครึ่งถ้วยของอียิปต์ ดังฮ่าดีษว่า “ ผู้ใดเสียชีวิตโดยที่ยังขาดการถือศีลอด จงให้อาหารแก่คนยากจนแทนเขา 1 วันต่อคนยากจน 1 คน ” บันทึกโดยติรมีซี
ตามทัศนะเดิม ให้ผู้ที่เป็นทายาทถือศีลอดทดแทน และอนุญาตให้จ่ายอาหารแทนได้
อีหม่ามนาวาวีกล่าวว่า “ เรื่องนี้ทัศนะเดิมมีความชัดเจนกว่า ” ดังการบันทึกของบุคอรีและมุสลิมว่า
“ ผู้ใดเสียชีวิตโดยขาดการถือศีลอด ให้ทายาททำการถือศีลอดแทน ” 


          อีหม่ามนาวาวียังกล่าวต่ออีกว่า ทัศนะใหม่ขาดด้วยหลักฐาน สำหรับฮ่าดีษที่บ่งถึงการให้อาหาร เป็นฮ่าดีษที่อ่อนแอ ถึงอย่างไรการให้อาหารก็ยังมีการปฏิบัติ
และตามทัศนะเดิมเห็นว่า ผู้ที่จะถือศีลอดทดแทน คือ ญาติใกล้ชิด ถึงแม้จะไม่ใช่ทายาทรับมรดก ดังการบันทึกของมุสลิมว่า ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวกับหญิงคนหนึ่งที่ถามท่านว่า แม่ของฉันเสียชีวิตโดยขาดการถือศีลอด ฉันจะถือศีลอดแทนนางได้ไหม ? จงถือศีลอดแทนมารดาของเธอ
หากผู้อื่นถือศีลอดแทนผู้ตาย โดยได้รับอนุญาตจากทายาท หรือได้รับการสั่งเสียจากผู้ตาย การถือศีลอดแทนนั้นใช้ได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากทายาท หรือไม่ได้รับการสั่งเสียจากผู้ตาย การถือศีลอดแทนใช้ไม่ได้ เป็นการเทียบเคียงจากเรื่องการทำฮัจย์

       3. หากผู้ตายขาดละหมาด หรือยังไม่ได้เอี๊ยะติกาฟตามที่ตั้งใจไว้ ไม่อนุญาตให้ละหมาดแทน หรือจ่ายฟิดยะห์ให้ เนื่องจากไม่มีตัวบทบ่งบอก
กอฎีอิยาดกล่าวว่า มีฉันทามติไม่มีการละหมาดแทนให้ผู้ตาย

        4. ตามทัศนะที่ชัดเจนว่า ผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดรอมฎอน หรือถือศีลอดแก้บนที่เคยบนบานไว้ขณะที่มีความสามารถ เนื่องจากชรา จำเป็นจะต้องจ่ายฟิดยะห์ 1 มุดต่อวัน โดยไม่ต้องถือศีลอดชดใช้
ดังพระดำรัสของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ว่า
( وعلي الذين يطيقون فدية طعام مســكين )
ความว่า “ และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอด เขาจะต้องจ่ายฟิดยะห์เป็นอาหารแก่คนขัดสน ”

         5. และสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร อนุญาตให้นางทั้งสองละศีลอดได้ หากกลัวว่าการถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อตัวนาง หรือเป็นอันตรายต่อบุตร หรือเด็กที่ดื่มนมของนาง
หากนางทั้งสองกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง และบุตรของนางหากนางถือศีลอด อนุญาตให้ละศีลอดได้ และนางจำเป็นจะต้องถือศีลอดชดใช้ แต่ถ้านางทั้งสองกลัวว่าการถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อบุตร โดยที่หญิงตั้งครรภ์กลัวว่าจะแท้ง หรือหญิงให้นมกลัวว่านมจะไม่พอให้บุตร นางทั้งสองจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ พร้อมทั้งต้องจ่ายฟิดยะห์ตามทัศนะที่ชัดเจน
มุมมองที่สองเห็นว่า นางทั้งสองถือศีลอดชดใช้โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะห์เหมือนคนเดินทาง หรือผู้ป่วย
มุมมองที่สามเห็นว่า หญิงให้นมจะต้องถือศีลอดชดใช้พร้อมจ่ายฟิดยะห์ แต่หญิงตั้งครรภ์ถือศีลอดใช้โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะห์ เพราะนางเปรียบเสมือนผู้ป่วย
หากการช่วยเหลือคนหรือสัตว์ที่ให้ประโยชน์ที่กำลังจะเกิดอันตราย โดยที่ผู้ช่วยเหลือจะต้องละศีลอด จึงจะทำให้การช่วยเหลือสำเร็จ เขาก็จำเป็นจะต้องละศีลอด และทำการช่วยเหลือ

           6. ผู้ที่ละศีลอดโดยละเมิดที่ไม่ใช้จากการร่วมประเวณี เขาจะต้องถือศีลอดใช้โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะห์ เพราะไม่มีตัวบทบ่งบอก

          7. ผู้ใดที่ไม่ได้ถือศีลอดใช้ทั้ง ๆ ที่สามารถกระทำได้ จนกระทั่งรอมฎอนที่สอง เขาจำเป็นต้องถือศีลอดใช้พร้อมจ่ายอาหาร 1 มุดต่อ 1 วัน เพราะซ่อฮาบะห์ 6 ท่านฟัตวาเช่นนี้ โดยที่ไม่มีผู้คัดค้าน
ทัศนะที่ถูกต้องเห็นว่า จำนวนฟิดยะห์นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่จ่ายล่าช้า
ข้อพึงสังเกต การจำเป็นที่จะต้องจ่ายฟิดยะห์ที่กล่าวมาในข้างต้น สาเหตุจากการล่าช้าในการถือศีลอดใช้ ส่วนการจ่ายฟิดยะห์ของคนชราเพื่อทดแทนการถือศีลอด และการจ่ายฟิดยะห์ของหญิงให้นมหรือหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากปล่อยช่วงเวลาที่ประเสริฐผ่านไปโดยไม่ได้ถือศีลอด
ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดเห็นว่า ผู้ที่ล่าช้าในการถือศีลอดใช้จนกระทั่งเข้ารอมฎอนที่สอง แล้วเสียชีวิต จะต้องนำเงินจากมรดกมาใช้ในการจ่ายฟิดยะห์ 2 มุดต่อ 1 วัน 1 มุดสำหรับการไม่ได้ถือศีลอด และอีก 1 มุดสำหรับการล่าช้าในการชดใช้ เพราะทั้งสองมุดเป็นสิ่งจำเป็นตามฉันทามติ

           8. ผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับฟิดยะห์คือ คนยากจนและคนขัดสนเท่านั้น ดังพระดำรัสของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ว่า
( وعلي الذين يطيقونه فدية طعام مســكين )
ความว่า “ และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอด เขาจะต้องจ่ายฟิดยะห์เป็นอาหารให้กับคนขัดสน ”
ซึ่งคนยากจนมีสภาพที่ลำบากมากกว่าคนขัดสน เมื่ออนุญาตให้จ่ายฟิดยะห์แก่ผู้ขัดสน คนยากจนจึงสมควรได้รับมากกว่า แต่ไม่จำเป็นจะต้องให้ทั้งสองคน และสามารถจ่ายฟิดยะห์จำนวนหลายฟิดยะห์ให้กับคนยากจน หรือคนขัดสนเพียงคนเดียวได้ เพราะฟิดยะห์ของแต่ละวันเป็นศาสนกิจที่ไม่เกี่ยวพันกัน แต่ไม่อนุญาตให้นำฟิดยะห์ 1 ฟิดยะห์จ่ายให้กับคนยากจนหรือคนขัดสน 2 คน เพราะอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงกำหนดให้จ่ายฟิดยะห์ 1 ฟิดยะห์ให้กับคน 1 คน

           9. ชนิด ประเภทและลักษณะของฟิดยะห์เหมือนซะกาตุ้ลฟิตร์ เพราะเป็นสิ่งที่บทบัญญัติกำหนด โดยที่จะต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่าอาหารตามปกติของผู้จ่ายฟิดยะห์
เมื่อใดจำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ ( ค่าปรับ ) ของการถือศีลอด
ผู้ที่เป็นผู้ถูกบังคับใช้ตามบทบัญญัติที่ทำให้เสียการถือศีลอด โดยการร่วมประเวณี เขาจำเป็นจะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ พร้อมทั้งรับโทษที่กอฎีเป็นผู้กำหนด ดังการรายงานของบุคอรีและมุสลิม จากอบีฮูรอยเราะห์ว่า “ มีชายคนหนึ่งมาหาท่านร่อซู้ล ( ซล. ) แล้วกล่าวว่า โอ้ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) ฉันคงพินาศแล้ว ท่านถามว่า อะไรทำให้เจ้าพินาศ เขาตอบว่า ฉันร่วมประเวณีกับภรรยาขณะที่ฉันถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ท่านกล่าวว่า เจ้ามีทาสที่จะปล่อยไหม ? เขาตอบว่า ไม่มี ท่านถามว่า เจ้าจะถือศีลอดติดต่อกัน 2 เดือนได้ไหม ? เขาตอบว่า ไม่ได้ ท่านถามว่า เจ้ามีอาหารแจกแก่คนจน 60 คนไหม ? เขาตอบว่า ไม่มี แล้วชายผู้นั้นก็นั่งลง ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) นำตะกร้าที่มีอินทผลัมอยู่ให้ชายผู้นั้นแล้วกล่าวว่า เจ้าจงเอานี่ไปแจกจ่าย เขากล่าวว่า แจกแก่คนที่ยากจนกว่าฉันกระนั้นหรือ ไม่มีใครในระหว่างภูเขา 2 ลูกนี้ยากจนยิ่งไปกว่าครอบครัวของฉัน ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) หัวเราะจนกระทั่งเห็นเขี้ยวของท่าน แล้วท่านกล่าวว่า นำมันเป็นอาหารแก่ครอบครัวของเจ้าเถิด  

          แต่สำหรับผู้ที่ลืม ถูกบังคับ หรือไม่รู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ เพราะการถือศีลอดของเขาไม่เสีย และไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์สำหรับผู้ร่วมประเวณีขณะถือศีลอดที่ไม่ใช่เดือนรอมฎอน ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดสุนัต , แก้บน , ชดใช้หรือกัฟฟาเราะห์ เพราะตัวบทบ่งบอกเฉพาะรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ถูกกำหนดให้มีความประเสริฐเหนือเดือนอื่น ๆ และไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์เช่นกัน จากการร่วมประเวณีของผู้ถือศีลอดขณะเดินทางหรือป่วยโดยการเหนียต การร่วมประเวณีเป็นการละศีลอดที่ศาสนาผ่อนปรนให้ หรือถึงแม้จะไม่ได้เหนียตว่าเป็นสิ่งผ่อนปรนก็ไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุด เพราะการละศีลอดเป็นสิ่งที่อนุญาตสำหรับเขาทั้งสอง และคนที่ร่วมประเวณีโดยคาดว่ายังเป็นเวลากลางคืนอยู่ ก็ไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์เช่นเดียวกัน
            และไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์สำหรับการร่วมประเวณีโดยเจตนา หลังจากการกินอาหารโดยลืมและคิดว่าการกินอาหารทำให้เสียการถือศีลอด และผู้ที่ทำซินาขณะถือศีลอดโดยลืมว่าถือศีลอดก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ เพราะเขาจะไม่ได้รับโทษจากการเสียการถือศีลอด แต่เขาจะได้รับโทษจากการทำซินา


ใครที่จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ 

            ผู้เป็นสามีเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ เพราะภรรยาไม่ได้ถูกใช้ให้จ่ายกัฟฟาเราะห์ เพราะเป็นค่าปรับทางทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับการร่วมประเวณีเหมือนกับสินสอด ดังนั้นจึงไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหญิงที่ถูกร่วมประเวณี หรือชายที่ถูกร่วมประเวณี แต่จำเป็นสำหรับชายที่เป็นผู้กระทำการร่วมประเวณี
         มีทัศนะว่า ทั้งสามีและภรรยาจะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์กันคนละครึ่ง โดยให้สามีเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของภรรยา เพราะทั้งสองร่วมกันกระทำ
และยังมีทัศนะอีกว่า ภรรยาก็จะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์เหมือนกับสามี เพราะต่างฝ่ายต่างร่วมกันทำความผิด จึงต้องถูกลงโทษเหมือนกับสามี เช่นเดียวกับการถูกลงโทษในเรื่องซินา
และผู้ใดที่ร่วมประเวณี 2 วัน ก็จะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ 2 กัฟฟาเราะห์ และหากกระทำมากกว่านั้น ก็จะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ตามจำนวนวันที่กระทำ เพราะการถือศีลอดในแต่ละวันเป็นศาสนกิจที่ไม่เกี่ยวพันกันกับวันอื่น ๆ แต่ถ้าหากร่วมประเวณีมากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกัน ถึงแม้จะร่วมกัน 4 ครั้งกับภรรยาทั้ง 4 ของเขา ก็จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์เพียงกัฟฟาเราะห์เดียว ตามทัศนะของมัสฮับ

           การเดินทางหลังจากการร่วมประเวณีที่เกิดขึ้นขณะถือศีลอด ไม่ทำให้กัฟฟาเราะห์ตกไปโดยเด็ดขาด เพราะการเดินทางเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่อนุญาตให้ละศีลอด เช่นเดียวกับการเกิดการป่วยหลังจากการร่วมประเวณีขณะถือศีลอด ตามทัศนะของมัสฮับ
และสามีจำเป็นต้องถือศีลอดใช้พร้อมทั้งจ่ายกัฟฟาเราะห์ในวันที่เสียการถือศีลอดจากการร่วมประเวณี ตามทัศนะที่ถูกต้อง
            เพราะเมื่อการถือศีลอดใช้จำเป็นสำหรับผู้ที่เสียศีลอดเพราะมีอุปสรรค ดังนั้นผู้ที่ไม่มีอุปสรรคก็สมควรต้องชดใช้ยิ่งกว่า มุมมองที่สองเห็นว่า ไม่ต้องถือศีลอดใช้เพราะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์อยู่แล้ว มุมมองที่สามเห็นว่า หากเขาเลือกกัฟฟาเราะห์โดยการถือศีลอด ก็ไม่ต้องถือศีลอดชดใช้ แต่หากเลือกจ่ายกัฟฟาเราะห์ด้วยวิธีอื่นก็จะต้องถือศีลอดชดใช้ สำหรับภรรยาจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ หากเห็นว่านางไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์

อธิบายถึงกัฟฟาเราะห์ของการถือศีลอด 

         กัฟฟาเราะห์ของการถือศีลอดคือ การปล่อยทาสมุอฺมินให้เป็นอิสระ แต่ถ้าไม่มีความสามารถในการปล่อยทาส ก็จะต้องถือศีลอดเป็นระยะเวลา 2 เดือนโดยติดต่อกัน หากไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องจ่ายอาหารให้กับคนยากจน 60 คนคนละ 1 มุด และจะต้องกระทำตามการเรียบเรียง โดยไม่อนุญาตให้ถือศีลอด หากมีความสามารถในการปล่อยทาส และไม่อนุญาตให้จ่ายอาหารหากสามารถถือศีลอดได้
          หากขณะที่เขาถือศีลอดกัฟฟาเราะห์ เขาเกิดมีความสามารถที่จะปล่อยทาสได้ ก็สุนัตให้เขาปล่อยทาสแทนการถือศีลอด หรือขณะที่เขาให้อาหารคนยากจน เขาเกิดมีความสามารถที่จะถือศีลอดได้ ก็สุนัตให้เขากระทำ
           แต่ถ้าเขาไม่มีความสามารถที่จะกระทำทุกประเภทของกัฟฟาเราะห์ที่กล่าวมา กัฟฟาเราะห์ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของเขา จนกว่าเขาจะสามารถ กระทำประเภทหนึ่งประเภทใดของกัฟฟาเราะห์ ตามทัศนะที่ชัดเจน เพราะท่านร่อซู้ล ( ซล. ) ใช้ให้อาหรับชนบทนำเอาอินทผลัมที่ท่านให้เขาเอาไปแจกให้กับคนจน เป็นการบ่งบอกว่า กัฟฟาเราะห์คงอยู่ในความรับผิดชอบของเขา เพราะหน้าที่ของบ่าวที่พึงมีต่ออัลเลาะห์ ( ซบ. ) ที่เขาไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยที่สาเหตุมาจากตัวของบ่าว หน้าที่นั้นจะคงอยู่ในความรับผิดชอบของเขาตลอดไป แต่ถ้าสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ไม่ได้เกิดมาจากบ่าว หน้าที่นั้นก็จะไม่ติดอยู่ในความรับผิดชอบของเขา เช่น ซะกาตุลฟิตร์

          ดังนั้นเมื่อใดที่เขาสามารถที่จะกระทำประเภทหนึ่งประเภทใดของกัฟฟาเราะห์ ก็จำเป็นต้องกระทำทันที และตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดเห็นว่า อนุญาตให้ผู้ที่สามารถถือศีลอด เลือกที่จะจ่ายอาหารให้กับคนยากจนได้ หากเขาเป็นผู้ที่มีความต้องการที่จะแต่งงานอย่างมาก เพราะการแต่งงานอาจทำให้การถือศีลอดขาดการติดต่อกัน และเป็นเหตุให้ต้องเริ่มต้นถือศีลอดใหม่
          มุมมองที่สองเห็นว่า ไม่อนุญาตให้ให้อาหารแทนการถือศีลอด เพราะเขาสามารถที่จะถือศีลอดได้เหมือนกับการถือศีลอดเดือนรอมฎอน และตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดเห็นว่า ไม่อนุญาตคนยากจนจ่ายกัฟฟาเราะห์ต่าง ๆ ให้กับลูกหลานตัวเอง เช่นเดียวกับซะกาต ส่วนการที่ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) ใช้อาหรับชนบทนำเอาอินทผลัมไปจ่ายให้กับครอบครัว อาจมีความน่าจะเป็นได้ว่า เมื่อท่านร่อซู้ล ( ซล. ) รู้ว่าเขาเป็นคนยากจน ท่านจึงบริจาคอินทผลัมหรือให้กรรมสิทธิ์แก่เขา เพื่อนำไปจ่ายให้คนจน และเมื่อท่านร่อซู้ล ( ซล. ) รู้ว่าเขาจนที่สุด ท่านใช้ให้เขานำไปให้ครอบครัวของเขา เป็นการประกาศให้รู้ว่ากัฟฟาเราะห์เป็นสิ่งจำเป็น
          ญุรญานีกล่าวว่า ผู้ใดที่ขาดการถือศีลอดรอมฎอน สุนัตให้เขาถือศีลอดชดใช้ติดต่อกัน และมักโระห์ในการที่จะเขาจะถือศีลอดสุนัตก่อนการถือศีลอดชดใช้

คัดลอกบทความจาก

http://gangland-dota.is.in.th/?md=content&ma=show&id=121

ความคิดเห็น