การจับกุมพ่อค้าฝิ่นชาวจีนฮ่อ และประกาศคณะปฏิวัติให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทย

ย้อนเหตุการณ์ที่เชียงใหม่(๑๑)



การ ค้าฝิ่นเมื่อ ๕๐ ปีเศษที่ผ่านมา พ่อค้านายทุนมักว่าจ้างทหารจีนฮ่อมาคอยคุ้มกัน จึงมักมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าสกัดจับกุม

ดังข่าวที่นำเสนอเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๔๙๖ "โจรฮ่อจับอดีต ตร.ไปยิงทิ้งในป่า ศพมีรอยถูกเชือดคออย่างทารุณ"

"จีน ฮ่อประมาณ ๑๐ คน ได้ก่อการทารุณกรรมขึ้นกับประชาชนชาวไทยอีกรายหนึ่ง ในเขตท้องที่อำเภอเชียงดาว ที่บ้านนาหวาย เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้(มิถุนายน) โดยเข้าจับชาวบ้านไปยิงทิ้งและเชือดคอเสียชีวิตอย่างทารุณในกลางป่า ชายไทยผู้เคราะห์ร้ายนี้ คือ นายถา เฟื่องเงิน อดีตนายสิบตำรวจโท ตำรวจเชียงใหม่ กับราษฎรอีก ๒ คน ถูกพวกฮ่อประมาณ ๑๐ คนมีอาวุธปืนทันสมัย จับตัวเข้าไปในป่าและจับมัดกับต้นไม้และใช้ปืนยิงกราดจนสิ้นชีวิต สถานที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านเมืองงายประมาณ ๒๐ ก.ม.

"ชาวบ้านที่ ไปพบศพปรากฏว่า ศพ ส.ต.ท.ถา นอกจากถูกกระสุนปืนหลายแห่งแล้ว ยังมีรอยถูกเชือดคอเกือบขาดเปนที่น่าเวทนาแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง"

นสพ.คนเมือง ฉบับ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๖ รายงานข่าวว่า "ฮ่อผู้ต้องหาฆ่าตำรวจถูกแย่งตัวกลางป่า"

"เจ้า หน้าที่อำเภอแม่ริม อันมีนายชวี มัธยมจันทร์ ปลัดอำเภอแม่ริม พร้อมด้วย ส.ต.อ.เชื้อ ทับกล่ำ กับพลตำรวจอีก ๒ นาย ได้มารับตัวนายเลาซาง แซ่เจียว ผู้ต้องหาว่าปล้นและฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสะเมิงตายอย่างทารุณกลางป่า นายเลาซางผู้นี้ทางเจ้าหน้าที่กองจังหวัดจับตัวได้ที่บ้านเลาจิง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ศกนี้

"เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอแม่ริม มารับตัวนายเลาซางไปสอบสวนดำเนินคดีที่กิ่งอำเภอสะเมิง อันเปนสถานที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ ๑๓ เดือนนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาอยู่ในป่าท้องที่อำเภอแม่ริม ได้มีโจรฮ่ออีกคณะหนึ่งเข้าแย่งผู้ต้องหา เกิดยิงต่อสู้กันพักหนึ่ง เมื่อเสียงปืนสงบลง ปรากฏผลว่า นายเลาซางผู้ต้องหาถูกปืนตาย เจ้าหน้าที่ทุกคนปลอดภัย"

"ค้นฝิ่น ๒ แสนเศษ ได้ที่บ้าน ต.วัดเกตุ"

"เมื่อ วันที่ ๑๔ เดือนนี้(มิถุนายน ๒๔๙๖) เวลาประมาณ ๘.๐๐ น.เศษ เจ้าหน้าที่สรรพสามิตต์ นายสายหยุด เอมหฤทัยกับพวกสืบทราบมาว่าที่บ้านเลขที่ ๑๔๔-๑๔๕ ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนายจัว แซ่เจีย เปนเจ้าของได้มีฝิ่นผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงได้ไปทำการตรวจค้นบ้านนั้น ซึ่งขณะนี้นายจัวเจ้าของบ้านไม่อยู่ คงมีแต่นายจิวเจียก แซ่ตัง ซึ่งมาจากอำเภอสันป่าตองกับพวกเด็กๆ อยู่บ้าน

"ผลการตรวจค้น ปรากฏว่าพบฝิ่นดิบน้ำหนัก ๓๕ ก.ก.ราคาประมาณ ๒ แสน ๒ หมื่นบาทใส่กระสอบวางไว้ใต้ตู้ข้างนอก เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการจับกุมนายจิวเจียก พร้อมด้วยฝิ่นของกลางส่งพนักงานสอบสวนอำเภอเมืองเชียงใหม่ฐานสงสัยว่าจะเปน เจ้าของฝิ่นรายนี้"

จากปัญหาการลักลอบค้าฝิ่นและการเสพติดฝิ่นทำให้ เกิดผลเสียหายต่อสังคม รัฐบาลจึงประกาศเลิกการเสพฝิ่นในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เรื่อยมา รัฐบาลในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศคณะปฏิวัติให้เลิกการเสพฝิ่นโดยเด็ดขาด

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗
ด้วย คณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่า การเสพย์ฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคมและเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัย อย่างร้ายแรง ประเทศต่างๆ ได้พยายามเลิกการเสพย์ฝิ่นโดยเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเสีย

หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและยกเลิกการจำหน่ายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามประกาศนี้

ข้อ ๒. เพื่อให้การเลิกการเสพย์ฝิ่นเป็นไปโดยเรียบร้อยภายในระยะเวลาสมควร ให้กระทรวงการคลังดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ประกาศให้ผู้สูบฝิ่นหรือมูลฝิ่นซึ่งยังมิได้ขึ้นทะเบียนขอรับอนุญาตให้ไป ขึ้นทะเบียนขอรับอนุญาตเสพย์ฝิ่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เสร็จสิ้นภายในวัน ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๑

(๒) กวดขันมิให้ผู้ใดเสพย์ฝิ่นหรือมูลฝิ่น ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๒ เป็นต้นไป นอกจากผู้ที่มีใบอนุญาตเสพย์ฝิ่น

(๓) ให้ยุบเลิกร้านจำหน่ายฝิ่นให้หมดสิ้นเด็ดขาดภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๒

ข้อ ๓. ให้กระทรวงสาธารณผสุขและกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีสถานพยาบาลและสถานพักฟื้นสำหรับผู้เสพย์ฝิ่นติดมารักษาพยาบาลและพักฟื้น

ข้อ ๔. ภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๒ เป็นต้นไป บุคคลที่เสพย์ฝิ่นติดไม่ว่าจะมีใบอนุญาตให้สูบฝิ่นหรือไม่ ถ้าประสงค์จะเข้ารักษาพยาบาลและพักฟื้นในสถานที่ดังกล่าวในข้อ ๓. ให้เจ้าหน้าที่รับตัวไว้รักษาพยาบาลและพักฟื้นได้ไม่เกินเก้าสิบวัน

ข้อ ๕. นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๒ เป็นต้นไป ผู้ใดเสพย์ฝิ่นหรือมูลฝิ่น นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นแล้ว เมื่อพ้นโทษให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจส่งตัวผู้นั้นเข้าทำ การรักษาพยาบาลและพักฟื้นในสถานที่ดังกล่าวในข้อ ๓ ได้ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร ซึ่งต้องไม่เกิน ๙๐ วัน

ให้ถือว่าผู้ ที่อยู่ในสถานพยาบาลและสถานพักฟื้นตามความในวรรคก่อน เป็นผู้อยู่ในระหว่างคุมขัง ตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถ้าหลบหนีก็มีความผิดต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายนั้น

ประกาศ ณ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๑
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ


ใน เช้าวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๒ เจ้าหน้าที่นับพันๆ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตนับร้อยคนได้ออกตระเวนไปยังโรงฝิ่นต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรซึ่งมีทั้งหมด ๘๗๕ โรง รวมทั้งพระนครธนบุรี ๙๐ โรง เพื่อจัดการปิดโรงฝิ่นเหล่านี้พร้อมกัน อุปกรณ์การเสพฝิ่นนับพันรายการได้ถูกนำทยอยไปยังสนามหลวง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีมหาดไทยและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนมาก ได้ไปประชุมกันอย่างคึกคักด้วยหน้าตาเบิกบานให้การเลิกฝิ่นได้สำเร็จ ในคืนวันนั้นเปลวเพลิงแห่งความสำเร็จจากการเผาอุปกรณ์เสพฝิ่นได้พุ่งขึ้นสู่ ท้องฟ้า ณ ลานกว้างของสนามหลวง
(๓๗ ปีแห่งการปฏิวัติ,สว่าง ลานเหลือ,๒๕๑๒)

แต่แม้ฝิ่นจะถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การขนฝิ่นยังมีการฝ่าฝืนกระทำอยู่และปรากฏการจับกุมอยู่เสมอ แม้ล่วงมาปี พ.ศ.๒๕๒๓

"จับฝิ่นรายใหญ่บนรถด่วน"

"วัน ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เศษ หน่วยสายฟ้าของ สภ.อ.เมืองเชียงใหม่ นำโดย ร.ต.อ.ประสิทธิ์ สทรลักษณ์ พร้อมกำลังเข้าตรวจค้นขบวนรถด่วนเชียงใหม่- กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นพบกระเป๋าของนายเกรียงไกร รักไพรดำรง อายุ ๔๐ ปี อยู่กรุงเทพฯ โดยตรวจค้นพบฝิ่นดิบบรรจุถุงพลาสติครวม ๑๗ ถุง น้ำหนัก ๓๓ กิโลกรัม ราคาประมาณ ๔ แสนบาทเศษ จึงจับกุมตัวนายเกรียงไกรดำเนินคดี ก่อนหน้านี้สืบทราบว่านายเกรียงไกร ค้ายาเสพติดมานาน โดยเปิดร้านซ่อมรถอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นการบังหน้าและเดินทางขึ้น ล่องระหว่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนอยู่เสมอ นายเกรียงไกรให้การว่าฝิ่นเป็นของคนอื่น ตนเองเพียงรับจ้างขนเท่านั้น ค่าจ้างขนครั้งนี้เป็นเงิน ๒ หมื่นบาท"(นสพ.ไทยนิวส์,๑ ก.พ.๒๕๒๓)

ข่าวการโยกย้ายข้าราชการผู้ใหญ่

นสพ.คน เมือง ฉบับ ๒๔ มิ.ย.๒๔๙๖ มีข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารราชการของอำเภอเมืองเชียงใหม่ใน สมัยนั้น คือ ตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามข่าวลงว่า

"นายอำเภอคนใหม่"

"ตาม คำสั่งของผู้ว่าราชการภาค ๕ ซึ่งได้มีคำสั่งย้ายนายวิชาญ บรรณโสภิต นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฉะนั้นในขณะนี้ตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงใหม่จึงว่างอยู่และทางการยังมิได้ มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ใดมาดำรงตำแหน่งแทน

จากวงการใกล้ชิดที่เกี่ยวกับ ข่าวนี้ ได้ทราบว่าตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงใหม่นั้น ทางกรมมหาดไทยได้กำหนดตัว ร.ต.อ.ประธาน โชติวรรณ นายอำเภอเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันซึ่งเคยเปนนายอำเภอฝางและอำเภอดอยสะเก็ด มาแล้วมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงใหม่แทน".

พ.ต.ท.อนุ เนินหาด รอง ผกก.สส.สภ.อ.แม่ริม
anunernhard@hotmail.com
>
ที่มา
http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=120


ข่าวปัญหาสังคมหนึ่งของสังคมเมืองเชียงใหม่ คือปัญหาเรื่องจีนฮ่อ

 ย้อนเหตุการณ์ที่เชียงใหม่(๑๖)

เมื่อ ๕๓ ปีที่ผ่านมา นสพ.คนเมือง ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ลงข่าวปัญหาสังคมหนึ่งของสังคมเมืองเชียงใหม่ คือปัญหาเรื่องจีนฮ่อ

"ผู้กำกับจะกวาดล้างจีนฮ่อให้ราบคาบ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ นี้(กรกฎาคม ๒๔๙๖) จะไม่มีฮ่อเพ่นพ่านในอำเภอเมือง"

          "พ.ต.ท.ศิริ คชหิรัญ ผู้กำกับการตำรวจภูธรเชียงใหม่ กล่าวต่อไปว่า ทางการทราบดีว่า บุคคลเหล่านี้ค้าฝิ่นเถื่อน แต่ไม่มีหลักฐานที่จะจับกุมได้ โดยเฉพาะไม่สามารถคอยติดตามสอดส่องดูพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านี้ได้ทุกฝีก้าว ยิ่งกว่านั้น จีนฮ่อเหล่านี้มักจะคุกคาม สวัสดิภาพของประชาชน ไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมือง ฆ่าตำรวจ ทารุณชาวบ้านอย่างอาจหาญและจีนฮ่อบางคนในอำเภอเมืองนี้ทำหน้าที่เปนพลาธิการ ส่งอาหาร อาวุธไปให้พรรคพวกของตนที่ค้าฝิ่นอยู่ตามป่าตามเขา ในท้องที่บางแห่งในอำเภอรอบนอก

         "โดยเหตุดังกล่าวนี้ พ.ต.ท.ศิริ ย้ำว่าจะปราบปรามกวาดล้างให้หมดสิ้น มิฉะนั้น เชียงใหม่ก็จะกลายเป็นเมืองฮ่อไป คุณคอยดู ผู้กำกับว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนนี้เปนต้นไปจะไม่เห็นจีนฮ่อมาเดินเพ่นพ่านในเขตอำเภอเมืองเหมือนแต่ ก่อน"

น่าศึกษาว่ากลุ่มฮ่อ คือ ใครกัน เหตุใดจึงมาเดินเพ่นพ่านอยู่ในเมืองเชียงใหม่และ เหตุใดจึงถูกห้ามมิให้เดินในเมืองเชียงใหม่ ?

         กลุ่ม ฮ่อหรือจีนฮ่อ เดิมอยู่ในประเทศจีน มีข้อมูลว่า เมื่อจีนปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์ได้มีการสู้รบกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดยนายพลเจียงไคเช็คและฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลังจากพ่ายแพ้อย่างยับเยินแก่จีนฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้นายพลเจียงไคเช็คหนีไปอยู่เกาะไต้หวันตั้งเป็นจีนคณะชาติ แต่ก็ยังมีกองทหารอีกส่วนหนึ่งหลบลงมาทางใต้ของประเทศจีน คือ ทหารกองพล ๙๓ จากเมืองคุนหมิน เมืองหลวงของมณฑลยูนนานหลบหนีลงมาทางตอนใต้เขตติดต่อประเทศพม่า เป็นเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน

           ต่อ มารัฐบาลจีนไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินและอาวุธยุทธภัณฑ์อีกทั้งส่ง ผู้นำ คือขุนพลหลี่มี่ อดีตแม่ทัพที่ ๘ ของกองทัพบกจีนและเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของคนจีนมณฑลยูนนาน มาเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้เพื่อเตรียมเสริมสร้างกำลังกองทัพจีนกู้ชาติขึ้นใหม่ ทั้งนี้รายได้ส่วนหนึ่งของกองพล ๙๓ ขณะตั้งฐานอยู่ในเขตประเทศพม่า คือ การเก็บภาษาสินค้าที่ผ่านเส้นทางโดยเฉพาะภาษีฝิ่นเก็บจ๊อยละ ๔ รูปีทั้งขาเข้าและขาออก

            ครั้งนั้นมีพ่อค้าจีนฮ่อที่มีอิทธิพลด้าน การค้าฝิ่นอีกทั้งเป็นนายหน้าค้าขายฝิ่นนำเงินมาช่วยเหลือกองทัพจนทำให้ รัฐบาลจีนคณะชาติเชิญไปพบที่ไต้หวันและแต่งตั้งให้เป็นายพลพิเศษของกองพล ๙๓ ทำให้กองพล ๙๓ มีกำลังคนและอาวุธเข้มแข็งยิ่งขึ้น

         ปี พ.ศ.๒๔๙๒ กองพล ๙๓ ได้ตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองสาด รัฐฉาน เขตประเทศพม่ามีกำลังทหารจำนวน ๑,๓๐๐ คน เมื่อรวบรวมกำลังพลมีกำลังเข้มแข็งขึ้นได้ยกเข้าไปยึดบางส่วนของมณฑลยูนนาน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๔ แต่ภายหลังถูกกองทัพจีนตีถอนร่นลงมาอีก ระหว่างอยู่ในประเทศพม่าก็ถูกกองทัพพม่าโจมตีจนต้องถอยร่นลงมาทางเขตติดต่อ ชายแดนประเทศไทย

          เมื่อหลบมาอยู่ในพื้นที่เขตประเทศพม่า ข้อมูลจากฝ่ายพม่าแจ้งว่ากองพล ๙๓ ได้ก่อความเดือดร้อนทำให้ประเทศพม่าโดยเข้าปล้นฆ่าคนในรัฐฉานและค้ายาเสพติด ยากแก่การปราบปรามได้ง่าย นอกเหนือจากการนำกำลังเข้าปราบปรามกองพล ๙๓ อย่างหนักแล้วทางรัฐบาลพม่าได้ฟ้องไปยังสหประชาชาติอีกทางหนึ่ง สหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาประกอบด้วย ฝ่ายอเมริกาและฝ่ายไทย ซึ่งมี พ.ท.ชาติชาย ชุณหวัณ(ยศขณะนั้น)เป็นตัวแทนฝ่ายไทย และได้มีมติให้ทำการขนย้ายทหารจีนกองพล ๙๓ เหล่านี้ออกจากพม่าส่งไปยังไต้หวัน ฝ่ายรัฐบาลไทยมี พันเอกนายวรการบัญชา รองนายกรัฐมนตรี , พลโทสฤษดิ์ ธนรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายวิลเลี่ยม โดโนแวน เอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

         ตาม แผนกำหนดการ ทหารกองพล ๙๓ จะเข้ามอบตัวที่บ้านห้วยศาลา เขตประเทศพม่าในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ มีทหารเข้ามอบตัวในครั้งนั้นประมาณ ๖๐๐ คน แต่ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีอายุมากและเด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปี(ข้อมูลจากบทความรายงานพิเศษโดยคุณบุญเสริม สาตราภัย,พลเมืองเหนือ ฉบับ ๑๘-๒๔ ธ.ค.๒๕๔๙)
แม้ว่ากำลังทหารบางส่วนจะถูกส่งกลับประเทศไต้หวันแล้ว แต่กองทัพจีนกู้ชาติยังคงมีการก่อตั้งกองทัพต่อไปโดยรัฐบาลไต้หวันและมี สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง กองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงลับ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นเชียงตุง มีกำลังประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน นายพลหลี่เป็นแม่ทัพที่ ๓ และนายพลต้วน เป็นแม่ทัพที่ ๕

          ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทางรัฐบาลพม่าได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายทหารจีนคณะชาติถอนกำลังออกจากแผ่นดินพม่า แต่ถูกปฏิเสธ กองทัพพม่าจึงเข้าโจมตี ณ เมืองสาด ซึ่งผู้คนพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยใหญ่หรือเงี้ยว การถูกโจมตีทางอากาศโดยการทิ้งระเบิดและถูกกดดันจากทหารราบทำให้กองทหารจีน คณะชาติต้องย้ายฐานกำลังมายังเมืองหาง ทางใต้ของเมืองสาด กองทัพพม่ายังคงนำกำลังมาขับไล่อย่างต่อเนื่องทำให้กองทหารจีนคณะชาติ เคลื่อนกำลังมาตั้งฐานอยู่ที่บ้านดอยลาง ระยะนั้นนายพลหลี่มี่ถูกเรียกตัวกลับไต้หวัน ผู้ที่เป็นผู้นำทหารแทน คือ นายพลต่วนและนายพลลี

            ดอยลางนี้เป็นยอดเขาอยู่ในเขตพม่า ติดต่อกับชายแดนอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ การต่อสู้กับกองทหารพม่าต้องประสบความพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่งสูญเสียกำลังไป เป็นจำนวนมาก ทหารส่วนที่เหลือมุ่งสู่ดอยตุง พื้นที่ในเขตพม่า อยู่ด้านตะวันตกของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าอีก้อ

          ต่อมาประเทศพม่าได้ร้องเรียนไปยัง องค์การสหประชาชาติอีกเป็นครั้งที่สอง และมีการอพยพขนย้ายทหารจีนคณะชาติกลับไต้หวันอีกในปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีทหารอพยพประมาณ ๔,๕๐๐ คน ทหารจีนกู้ชาติของนายพลหลี่ มี่ และนายพลต้วนที่เหลือได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการสิ้นสุดทหารจีนคณะชาติในประเทศพม่านับแต่นั้น

           ในเขตประเทศไทย กองทัพที่ ๕ ของนายพลต้วน ตั้งกองบัญชาการที่บ้านหัวเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของดอยแม่สะลองมาประมาณ ๕ ก.ม. ต่อมาเกิดโรคระบาดจึงได้ย้ายไปที่ดอยแม่สะลอง เขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

           ส่วนกองทัพที่ ๓ ของนายพลหลี่ มี่พร้อมด้วยนายพลหลิ่ว เสา ถัง อพยพมาตั้งอยู่ที่ดอยผาหม่น ตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายและอีกส่วนหนึ่งแยกไปที่ดอย อ่างขาง ที่บ้านผาแดง บ้านซุ่ยถง บ้านหลวง และบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

          นอกจากนี้หน่วยที่เคยปฏิบัติการการข่าวของไต้หวันนำโดยนายพลหม่า จุง กั๊วะ มาตั้งอยู่ที่ดอยแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ต่อ มาปี พ.ศ.๒๕๐๖ รัฐบาลไทยต้องการควบคุมจึงให้ทหารจีนบนดอยผาหม่นไปรวมอยู่ที่บ้านถ้ำง๊อบ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่(ข้อมูลจากหนังสือกองพล ๙๓ ผู้อพยพ อดีตทหารจีนคณะชาติบนดอยผาตั้ง,พันเอกกาญจนะ ประกาศวุฒิสาร,๒๕๓๗และบทความจากนิตยสารคนเมืองรายเดือน,มีนาคม ๒๔๙๘, เรื่องกองพลเดนตาย)

นอกจากนี้ จากเอกสารที่นายพลหลี่ เหวิน ฝานหรือนายพลหลี่ ชื่อไทยคือ นายชัย ชัยศิริ จัดทำเผยแพร่แจกจ่ายคณะกรรมาธิการการต่างประเทศเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๑๘ แม้ข้อความบางส่วนอาจถูกต้องตรงตามความจริง แต่บางส่วนของข้อความทำให้เห็นความเป็นมาของจีนฮ่อในเมืองเชียงใหม่ได้ กระจ่างมากขึ้น เอกสารดังกล่าวระบุว่า

"บุคคลทั่วไปมักจะเข้าใจ ว่าพวกข้าพเจ้าเป็น กองพล ๙๓ อันที่แจ้งแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกองพล ๙๓ นั้น สังกัดกองทัพภาคที่ ๖ ของจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า หลังจากเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว กองพลที่ ๙๓ ถูกถอนกลับจีน แต่ก็ยังมีทหารกลุ่มน้อยหลงเหลืออยู่บ้าง

"พวกข้าพเจ้านั้นเป็น ชาวนาชาวไร่ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนของจีนได้ถูกรุกรานจากพรรคคอมมิวนิสต์ จีน เพื่อความอยู่รอดและรักอิสระเสรี พวกข้าพเจ้าจึงได้อพยพออกนอกประเทศและมีทหารที่หลงเหลือจากกองพล ๙๓ ภายใต้การนำของนายพลหลี่ มี่ ได้ชักชวนพวกข้าพเจ้าให้บุกคืนไปยังบ้านเกิดเมืองนอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๕๐(พ.ศ.๒๔๙๓) กองพล ๙๓ ภายใต้การนำของนายพล หลี่ มี่ได้ถอนกลับไต้หวัน ดังนั้นกองพล ๙๓ จึงไม่หลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้อีกต่อไป ส่วนพวกข้าพเจ้าไม่ได้ถอนกลับไปด้วยเพราะพวกข้าพเจ้าไม่ใช่ทหารประจำการของ รัฐบาลจีนและเกาะไต้หวันคับแคบมีเนื้อที่จำกัดเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพ กสิกรรม

"ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า พวกข้าพเจ้าทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนไทยมานาน ๒๐ กว่าปี"

ในเอกสารฉบับนี้ มีข้อมูลว่าได้เกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นด้วยเพราะจำเป็นในการเลี้ยงชีพ.

พ.ต.ท.อนุ เนินหาด รอง ผกก.สส.สภ.อ.แม่ริม
anunernhard@hotmail.com
>

ที่มา http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=124

ความคิดเห็น