หน้าที่ของสามีในอิสลาม นั้นมีอะไรบ้าง?


   หน้าที่ของสามีในอิสลาม นั้นมีอะไรบ้าง?


   หน้าที่ของสามีในอิสลาม   หน้าที่ของสามีในอิสลาม อัลเลาะห์ตรัสว่า:  บรรดาชายนั้นคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง (ภรรยา) เนื่องด้วยการที่อัลเลาะห์ได้ทรงให้บางคนของพวกเขา เหนือกว่าอีกบางคน (ให้ชายแข็งแรง กล้าหาญกว่าหญิง) และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา (ในกากรเลี้ยงดูภรรยา) บรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยู่ลับหลังสามี (ขณะสามีไม่อยู่บ้าน) เนื่องด้วยสิ่งที่อัลเลาะห์ทรงรักษาไว้”(หมายถึง สิ่งที่อัลเลาะห์ทรงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสามีที่จะต้องปฏิบัติ นับตั้งแต่ การให้ค่ามะฮัร และค่าใช้จ่ายในชีวิตความเป็นอยู่ของนางทุกอย่าง)
  

   มาดู หน้าที่ของสามีในอิสลาม นั้นมีอะไรบ้าง?

   1. เลี้ยงดูภรรยาบนพื้นฐานของความถูกต้อง

   ความสุขของครอบครัวไม่ได้อยู่ที่ความหรูหรา ฟู่ฟ่า และมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นวัตถุนิยม สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นกระพี้และความจอมปลอมของชีวิต จิตสำนึกของความเป็นสามีที่ดีนั้นจะต้องพยายามหล่อหลอมให้คนในครอบครัวเกิดความรู้สึกภูมิใจ ที่ได้อยู่กับความถูกต้องบริโภคอาหารที่หะลาล ใส่เสื้อผ้าที่เป็นที่อนุมัติ มีเครื่องอุปโภคบริโภค ที่อยู่ในกรอบแห่งความถูกต้อง ความภูมิใจที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่น จะเป็นปราการสกัดกั้นความไม่ถูกต้อง ออกไปจากวงจรแห่งชีวิตโดยสมาชิกในครอบครัวจะรู้สึกรังเกียจอย่างยิ่ง ที่จะแตะต้องเครื่องอุปโภคบริโภคที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการอิสลาม

   การเป็นสามีตามแบบอย่างของอิสลามจึงมิได้หมายถึงการเลี้ยงดูปรนเปรอครอบครัวอย่างมีความสุขโดยขาดการพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นว่างอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องหรือไม่

   ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ ได้ตอบคำถามท่านมุอาวียะฮฺเกี่ยวกับหน้าที่ของสามีว่า อัน ตุฏอิมะฮา อิซา เฏาะอิมตะ วะตักสูฮา อิซักตะสัยตะ วะลาตัฏริบิล-วัจญ์ฮะ วะลาตุก็อบบิหฺ วะลา ตะฮฺญุรฺ อิลลา ฟิล-บัยต์

   คำแปล :เมื่อท่านบริโภคอาหาร ท่านจะต้องหาอาหาร (ที่หะลาล) ให้แก่เธอ และเมื่อท่านสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ (ที่หะลาล)ให้แก่เธอ และท่านอย่าตบใบหน้าของเธอ และท่านอย่าหยาบคายกับเธอ และอย่าได้ทอดทิ้งเธอ โดยท่านจะต้องอยู่กับเธอในบ้าน (รายงานโดย อบู ดาวุด)

   


   2. ให้ความสุขและความอบอุ่นแก่ภรรยา

   ชีวิตคู่มิใช่เพียงการมอบความสุขและความอิ่มเอิบใจในด้านวัตถุเท่านั้น แต่ธรรมชาติของมนุษย์ปรารถนาความสุขและความอบอุ่นทางด้านจิตใจด้วยแม้จะได้รับความสะดวกสบายด้วยความเครื่องอุปโภคและบริโภคขนาดไหนก็ตามแต่หากจิตใจขาดน้ำหล่อเลี้ยง แห่งความอบอุ่นและความสุข ชีวิตคงจะเป็นดั่งเช่นคนเป็นอัมพาตที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับเครื่องอำนวยความสะดวกเพียงลำพัง เพื่อรอวันที่ลมหายใจจะหมดไปจากเรือนร่าง การหล่อเลี้ยงครอบครัวด้วยความสุข และความอบอุ่นจึงเป็นเสมือนยาวิเศษ ที่จะทำให้คู่ชีวิต หรือซังกะตายแห่งความเป็นอยู่ อันเป็นเหมือนรกในใจมนุษย์ซึ่งทุกคนปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะหลุดพ้นไปจากมัน

   ในหลักการอิสลามถือว่าการทำทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ที่เป็นผลให้คนในครอบครัวได้รับความสุข และความอบอุ่นใจนั้น ถือเป็นกุศล ท่านที่ปฏิบัติสิ่งนี้ จะได้รับผลตอบแทนถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำลงไปจะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม

   ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า :กุลลุ มะอ์รูฟิน เศาะดะเกาะฮฺ

   คำแปล : ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความดี ถือเป็นกุศลทาน(รายงานโดย มุสลิม จากท่านญาบีรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ)

   


   3. อย่าเอาหูไปนา-เอาตาไปไร่

   ผู้ที่ตัดสินใจสมรส ถือว่าเป็นผู้กล้าหาญ ที่จะเข้ามารับผิดชอบภรรยาของตนเองทั้งชีวิตไม่ว่าจะในด้านการบริโภค อุปโภค การให้ความสุข และความอบอุ่น การปกป้องดูแล การรักษาเกียรติยศ ฯลฯทั้งหมดนี้ จะต้องอาศัยการเอาใจใส่ และการดูแลอย่างพิถีพิถัน ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้เป็นสามีจะปล่อยปละละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาด ในหลักการอิสลามถือว่า การเอาใจใส่ต่อคนในครอบครัวหมั่นตรวจสอบดูแลสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในครอบครัว และพยายามแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดต่างๆให้ดีขึ้น อีกทั้งพยายามเสริมส่วนที่ดีงามให้เพิ่มพูนมากขึ้น

   ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ ที่ผู้เป็นสามีจะต้องเอาใจใส่ส่วนการปล่อยปละละเลย เอาหูไปนาตาไปไร่ ไม่สนใจว่าอะไรเกิดขึ้นแก่ครอบครัวหรือคนในครอบครัวจะปฏิบัติตนอย่างไร ก็ไม่เคยกล่าวตักเตือน ไม่เคยแนะนำในสิ่งที่เป็นความดีลักษณะเช่นนี้ถือเป็นความอัปยศแห่งความรับผิดชอบ และเป็นความเสื่อมเสียทางจิตสำนึกที่อิสลามประณามคนเหล่านี้มาก

   ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ กล่าวว่า :.ษะลาษะตุน ยันซุรุลลอฮฺ อิลัยฮิม เยามัลกิยามะฮฺ อัลอากฺกุ ลิวาลิดัยฮิ วัลมัรฺอะตุลมุตะร็อจญิละตุล มุตะชับบิฮะตุ บิรฺริญาลิ วัดดัยยูษ

   คำแปล : มีบุคคล 3 ประเภทที่อัลลอฮฺ สุบหฯ จะไม่ทรงมองเขาด้วยความเมตตาในวันกิยามะฮฺได้แก่บุคคลที่เนรคุณต่อพ่อแม่ สตรีที่เลียนแบบผู้ชาย
   และสามีที่ไม่สนใจใยดี (เอาหูไปนา-เอาตาไปไร่) ต่อภรรยา

   


   4. อย่าสบประมาทหรือเหยียดหยาม

   ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอยู่ในฐานะใด ตำแหน่งใด ชนชั้นใด และเชื้อชาติใด ก็ตามหรือแม้กระทั่งบุคคลให้คำนิยามว่า เขาเป็นบุคคลที่ต่ำต้อยที่สุดและไร้ซึ่งเกียรติยศอันพึงมีสำหรับมนุษย์ก็ตาม บุคคลทุกชั้นต้องรังเกียจประณาม การสบประมาทและการเหยียดหยาม ไม่ว่าจะมาจากคำพูดหรืออากัปกริยาก็ตาม

   ภรรยาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่แน่นอนย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนอยู่ในตัวหากในส่วนที่เป็นข้อเสียได้รับความสบประมาทหรือเหยียดหยามจากผู้เป็นสามีอยู่ตลอดเวลาย่อมส่งผลโดยตรงต่อภรรยา ในสิ่งที่จะทำให้เกิดการเสียกำลังใจ และ ท้อแท้ในที่สุด อิสลามจึงถือว่าการสบประมาทหรือการเหยียดหยามจะไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น และความรังเกียจเดียดฉันท์ ก็จะเข้าครอบงำชีวิต

   จนในที่สุดชีวิตคู่ฉันสามีภรรยาก็จะดำเนินอยู่บนความทุกข์ระทมยิ่ง

   ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯได้กล่าวว่า :.บิหัสบิม-ริอิม มินัชชัรฺริ อัย-ยะหฺกิเราะ อะคอฮุล-มุสลิม

   คำแปล: นับเป็นความชั่วที่มากพอแล้ว สำหรับบุคคลหนึ่งที่เหยียดหยามพี่น้องร่วมศรัทธาของเขา

   


   5. ให้ของขวัญแก่ภรรยาบ้างในบางโอกาส

   ทุกคนปรารถนาที่จะได้รับของขวัญจากผู้ที่เป็นที่รักของตนเองแม้ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยหรืออาจจะมีราคาไม่สูงนักก็ตามเพราะการได้รับของขวัญจากผู้ที่ตนเองรัก ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ในหลายๆด้านอาทิ : เราเป็นคนสำคัญสำหรับเขา เราเป็นผู้ที่เขานึกถึง และเป็นห่วงเราเป็นผู้ที่เขามอบความปรารถนาดีให้ และเป็นสายใยที่จะเชื่อมสัมพันธ์ ระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างเหนียวแน่นบนพื้นฐานแห่งความรักและความห่วงใย

   ความดีงามในลักษณะเช่นนี้น่าเป็นสิ่งผลักดันให้ผู้ที่เป็นสามีหันมาใคร่ครวญและเอาใจใส่ แล้วเหตุไฉนสามีจึงไม่มอบของขวัญให้ภรรยาของตนเองบ้างในบางโอกาส ทั้งที่มันเป็นผลอย่างมากที่เดียว ในการสร้างความสุขให้แก่นาง

   ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ได้สอนว่า :อินนะ อะหับบุล-อะอ์มาลิ อิลัลลอฮฺ ตะอาลา บะอ์ดัล-ฟะรออิฎิ อิดคอลุส-สะรูริ อะลัลมุสลิม

   คำแปล: การงานที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ สุบหฺฯ หลังจากสิ่งที่เป็นฟัรฺฎู(ข้อบังคับ) คือการนำความสุขไปสู่พี่น้องมุสลิม(รายงานโดย อัฏ-ฏ็อบรอนี)

   


   6. อย่าเปิดโปงเรื่องบนเตียง

   อิสลามถือว่าเป็นสิ่งที่อัปยศที่สุด ที่บุคคลหนึ่งได้นำเอาเรื่องบนเตียง มาพูดคุยให้ผู้อื่นได้รับรู้เรื่องส่วนตัวในลักษณะเช่นนี้ จะต้องเป็นความลับของการใช้ชีวิตคู่ฉันสามีภรรยาหากถูกนำมาเปิดเผยหรือสาธยายให้ผู้อื่น ได้รับรู้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความอับอายขายหน้า และยังความกระอักกระอ่วมใจมาสู่ความรู้สึกของภรรยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสตรี ย่อมทุกข์ระทมใจและอับอายขายหน้า มากกว่าบุรุษหลายเท่า

   ดังนั้น-ความสุขส่วนตัวในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่อิสลามกำชับให้ผู้ศรัทธาสงวนไว้ให้เป็นเรื่องระหว่างสามีและภรรยาเท่านั้น

   ท่านเราะสูลฯ ศ็ฮลฯ ได้สอนว่า : คำอ่าน : อินนะ ชัรฺร็อน-นาสะ อินดัลลอฮิ มันซิละตัน เยามัล-กิยามะฮฺ : อัรฺเราะญุลยุฟฎี อิลัล-มัรฺอะติ วะตุฟฎี อิลัยฮฺ ษุมมะ ยันซุรุ สิรฺเราะฮา

   คำแปล: แท้จริง-มนุษย์ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีตำแหน่งเลวทรามที่สุด ณ อัลลอฮฺ สุบหฺฯ ในวันกิยามะฮฺคือ บุลคลที่มาร่วมหลับนอนกับภรรยาของเขา และเธอก็ตอบสนองเขาเป็นอย่างดี ภายหลังจากนั้นเขาได้เปิดเผยความลับส่วนตัวของเธอ. (รายงานโดย : มุสลิม)

   


   7. ตรวจสอบการใช้จ่ายของครอบครัว

   ไม่เพียงแต่การแสวงหารายได้เท่านั้น ที่ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนอย่างเข้มงวดในวันกิยามะฮฺ แต่การใช้จ่ายจากทรัพย์ที่ได้มา ในหนทางต่างๆก็จะถูกสอบสวนอย่างละเอียดเช่นกัน  หน้าที่ประการสำคัญของสามี ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของครอบครัว ก็คือการแสวงหารายได้ด้วยหนทางที่หะลาล(ถูกต้อง) แล้วมาจุนเจือครอบครัว และ เมื่อได้รับ ริซกี(ปัจจัยยังชีพ)ที่หะลาลแล้ว มิได้หมายความว่าสิทธิในการใช่จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้นั้นจะถูกวางอยู่ใต้ความปรารถนาหรือตามอำเภอใจ ของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเพียงอย่างเดียว

   แต่ทุกสิ่งที่ใช้จ่ายออกไปจะต้องอยู่ในกรอบแห่งสัจธรรม และ อยู่ในอิสลามอย่างเคร่งครัดเพราะทรัพย์ที่จ่ายออกไปแต่ละบาทจะถูกสอบสวนอย่างละเอียดว่ามีความฟุ่มเฟือยจ่ายไปในหนทางที่มีประโยชน์ไหม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ผู้เป็นสามีจะต้องพยายามสอดส่อง ดูแล และตรวจสอบให้รอบคอบ

   ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า : คำอ่าน : ลา ยะซูลุ เกาะดะมับนิ อาดะมะ เยามัลกิยามะติ มิน อินดิ ร็อบบิฮี หัตตา ยุสอะละ อัน ค็อมสินอัน อุมริฮี ฟีมะ อัฟนาฮุ วะอันชะบาบิฮี ฟีมะ อับลาฮุ วะอัน มาลิฮี มินอันอิกตะสะบะ วะฟีมะอันฟะเกาะฮู วะมาซา อะมิละ ฟีมะ อะลิมะ

   คำแปล : เท้าทั้งสองของมนุษย์จะยังคงอยู่กับที่ ณ อัลลอฮฺ สุบหฺฯ ในวันกิยามะฮฺจนกว่าเขาจะถูกสอบสวน 5 ประการ คือ ถูกสอบสวนเรื่องอายุไขแห่งชีวิตว่าเขาใช่มันหมดไปกับอะไรและใช้จ่ายไปในเรื่องใด และถูกสอบสวนว่าได้ทำอะไรกับความรู้ที่มีอยู่(รายงานโดย ติรฺมิซี)

   


    8. เป็นแบบอย่างที่ดี

   แบบอย่างที่ดีนั้น มีคุณค่ามากกว่าการพร่ำสอนการสอนให้ผู้อื่นทำบางอย่างแต่ผู้สอนกลับไม่เคยสนใจที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองสอนนั้น มักจะทำให้กระบวนการสอนของเขาล้มเหลว และจะทำให้คุณค่าของสิ่งที่ถูกสอน ถูกมองด้วยความรู้สึกที่ด้อยค่าไปในทันที จะอย่างไรก็ตามการเป็นแบบอย่างที่ดีจะมีคุณค่าในตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในเรื่องใดก็ตามหากสังเกตกระบวนการ แห่งการดำเนินชีวิต ของท่านนบีแล้วจะพบว่าท่านนีเป็นแบบอย่างแก่คนในครอบครัว ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท การปฏิบัติตนในเรื่องอิบาดะฮฺ การคบค้าสมาคมการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับครอบครัว การตักเตือนที่ดี และการอดทนต่อวิกฤติต่างๆ ฯลฯสิ่งต่างๆเหล่านี้คือ แบบอย่างที่ดีงาม ที่ผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องพยายามหมันฝึกฝนตนเองให้มีคุณลักษณะตามแบบอย่างเหล่านี้ให้ได้

   อัลลอฮฺ สุบหฺฯ ได้ตรัสว่า :ละก็อด กานะ ละกุม ฟี เราะสูลิลลาฮิ อุสวะตุน หะสะนะฮฺ (อัลอายะฮฺ)

   คำแปล :โดยแน่นอนยิ่ง-ในตัวของท่านเราะสูล ศ็อลฯ นั้นเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง แก่เจ้าทั้งหลาย(สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 21)

   


   9.  มีเวลาส่วนตัวเพื่อภรรยา

   อย่าใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการงาน โดยขาดเติมน้ำหล่อเลี้ยงแห่งความสุขให้แก่ชีวิตการปล่อยให้ความรักที่เคยหอมหวาน และความผูกพันที่แน่นแฟ้นหย่อนยานไปกับเวลาเสมือนดั่งต้นไม้ที่ขาดปุ๋ยนั้น เป็นสิ่งที่จะทำลายความราบรื่นและความสงบสุขของชีวิตการไม่หาเวลาส่วนตัวเพื่อกันและกัน มักจะทำให้ความหวานชื่นแห่งชีวิตคู่ที่เคยอยู่ถูกลบไปจากชีวิตอย่างน่าใจหาย จึงทำให้การอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยานับวันยิ่งเพิ่มความซังกระตายและความหน่ายแหนงให้แก่ชีวิตคู่ ทำไมไม่เรียกความหอมหวาน และความผาสุกแห่งชีวิตเสมือนดั่งในอดีตกลับคืนมาล่ะ

   ช่วงแรกๆของการเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ มักได้รับความสนใจต่อการมีเวลาส่วนตัวให้แก่กันและกันเสมอ ชีวิตในยามนั้นมีแต่ความผาสุกและความหอมหวานไม่ยากเลยที่จะเรียกความผาสุกดังกล่าวกลับคืนมาอีกครั้ง หากสนใจที่จะทำ ลองมาพิจารณาตัวอย่างของท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ในเรื่องนี้ดูบ้าง

   คำอ่าน :อัน อาอิชะฮฺ อันนะฮา กานัต มะอะ เราะสู ลิลลาฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะ สัลละมะ กอละ :สาบักตุฮู ฟะสะบักตุฮู อะลา ริจญ์ ลัยยะ ฟะลัมมา หะมิลตุล ละหฺมะ สาบักตุฮู ฟะสะบะเกาะนีกอละ ฮาซิอี บิติลกะ.

   คำแปล: จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ แท้จริง-ท่านอยู่ร่วมกับท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ในระหว่างการเดินทางครั้งหนึ่งเธอกล่าวว่า ฉันเคยวิ่งแข่งกับท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ปรากฏว่าฉันชนะท่านเราะสูลฯด้วยกับเท้าทั้งสองของฉัน และเมื่อเวลาผ่านไปฉันอ้วนขึ้นฉันได้วิ่งแข่งกับท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ อีกครั้งหนึ่งคราวนี้ท่านเราะสูลมีชัยชนะเหนือฉัน และท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเสมอกันกับครั้งที่แล้ว.(รายงานโดย อบู ดาวูด)



   10. อย่าจ้องจับผิด

   พฤติกรรมของการจ้องจับผิด เป็นพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบครอบครัวสามีภรรยาบางคู่จ้องจับผิดกันด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดความร้าวฉานอย่างใหญ่หลวงพึงทราบเถิดว่าไ ม่มีผู้ใดรอดพ้นไปจากความบกพร่องและความผิดพลาดได้

   ดั่งที่ท่านเราะสูลฯ ศ็อลฯ ได้กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้ว่า

   มนุษย์ที่ได้เกิดมาบนโลกดุนยานี้ ไม่สามารถหลีกหนีข้อบกพร่องไปได้ ดั่งเช่นผู้ที่ใช้เท้าเปล่าเดินลุยน้ำ เท้าของเขาย่อมเปียกน้ำอย่างแน่นอน
   ดังนั้น- จึงไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์และไร้มลทิน การจ้องจับผิดกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าจะถูกกำจัดให้สิ้นซากไปจากจิตสำนึกของผู้ศรัทธาได้แล้ว เพราะมันเป็นตัวบ่อนทำลายความสงบสุขของครอบครัวอย่างแท้จริง

   ท่านเราะสูลฯ ได้กล่าวว่า : คำอ่าน :ลา ยัฟริกุ มุอ์มินุน มุอ์มินะตัน อินกะริฮะ มินฮา คุลุก็อน เราะฎิยะ มินฮา อาค็อรฺ

   คำแปล: สามีผู้ศรัทธาจะต้องไม่ชิงชัง (ถือสาหาความเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง) ต่อภรรยาของตัวเองหากเขารังเกียจนิสัยบางอย่างของนาง ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ จากนางอีกที่จะสร้างความพอใจให้แก่เขา(รายงานโดย มุสลิม)

   

   โดย ศิดดิกฺ มุหัมมัดสะอีดจาก นิตยสารคุณธรรม ฉบับที่ 56 ประจำเดือน พฤษภาคม 2546

   ที่มา: http://pantip.com/topic/30607698


   คัดลอกจาก https://www.pageqq.com/en/content/view/page/cntth1/0-2920519.html

ความคิดเห็น