บัดชา ข่าน “ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม” ผู้นำมุสลิมชาวปาทาน ในอินเดีย โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี


บัดชา ข่าน “ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม” ได้นำทัพของท่านเคลื่อนไหวต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอารยะขัดขืน 
โดย สุชาติ  เศรษฐมาลินี
ภาพจากการค้นหาในกูเกิ้ล(แอดมิน)



Eknath Easwaran ผู้เขียนหนังสือ ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม” (Nonviolent Soldier of Islam) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านวรรณคดีอังกฤษ แห่ง University of Nagpur ประเทศอินเดีย และในปี 1959 เคยไปสอนที่ University of California at Berkley ด้วยความที่่ท่านได้มีโอกาสพบปะพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับทั้งมหาตมะ คานธี และบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ท่านจึงเชื่อมั่นว่า บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) คือ ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ในสิ่งที่คานธีเสนอแนวคิดว่าด้วย "การไม่ใช้ความรุนแรงของผู้กล้า"
     
            ท่านได้เกริ่นนำในหนังสือเล่มนี้ด้วยการจั่วหัวข้อ การไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อศตวรรษที่ 21โดยหยิบยกคำพูดของบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ที่กล่าวไว้ในปี 1983 ว่า
            โลกเราทุกวันนี้จะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้จากการผลิตอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากมายมหาศาล ก็ด้วยการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น หากโลกเรายังคงต้องการสืบสานมนุษยชาติและอารยธรรมกันต่อไปแล้วไซร้จะต้องหันกลับมาสู่คำสอนในเรื่องความรักและสันติภาพของคานธีมากยิ่งกว่าในอดีตกาล
     
            Eknath Easwaran ละเลงในบทเกริ่นนำของท่านต่อไปว่า บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) เป็นผู้เสนอทางออกให้โลกในศตวรรษที่ 21 ท่านเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา (อิสลาม) และเป็นแฟนพันธุ์แท้ในการทุ่มเทร่วมต่อสู้เคียงข้างกับมหาตมะ คานธี ในการเป็นนักต่อสู้ด้วยมือเปล่าเพื่อสิทธิเสรีภาพให้กับคนของท่านอย่างแท้จริงตลอดระยะเวลา 80 ปี โดยไม่เคยจับอาวุธ
     

            ในปี 1985 บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โลกเราปัจจุบันกำลังเดินไปในทิศทางที่แปลกประหลาด ท่านเห็นไหมว่าโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่การทำลายล้างและใช้ความรุนแรง ซึ่งการใช้ความรุนแรงนั้นมันจะมีลักษณะพิเศษก็คือ สร้างความเกลียดกลัวขึ้นในหมู่ผู้คน ฉันเป็นคนที่เชื่อในการไม่ใช้ความรุนแรง และฉันขอบอกว่า สันติภาพและความสงบสุขจะเกิดขึ้นกับผู้คนไม่ได้เลยหากเรายังนิยมการใช้ความรุนแรง เนื่องจากการไม่ใช่ความรุนแรงมันคือความรัก และมันสร้างความกล้าหาญให้กับผู้คน

   บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) เกิดในปี 1890 ในครอบครัวชนชั้นสูงมุสลิมในเมืองชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในเขตการปกครองของอังกฤษขณะนั้น (หรือประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ท่านได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของมิชันนารีอังกฤษชื่อ Edward’s Mission School ท่านเป็นคนรักเรียนและมองเห็นความสำคัญของบทบาทการศึกษาเพื่อการพัฒนาผู้คนและสังคม

   ดังนั้น ในปี 1910 ซึ่งท่านมีอายุแค่ 20 ปี จึงได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในมัสยิดในบ้านเกิดของท่าน เพื่อให้ความรู้แก่ชาวปัชตุน (ปาทาน) ที่ด้อยโอกาสการศึกษาในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล

      ในปี 1919 ท่านได้นำผู้คนประท้วงกฎของชาวอังกฤษจึงถูกจับคุมขังข้อหา สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเป็นเวลา 3 ปี จนร่างกายท่านเกือบรับไม่ไหวจากการถูกทรมานอยู่ในคุก

      หลังจากออกคุก ท่านได้ทุ่มเทอุทิศตนเองด้านการศึกษาเพื่อปฏิรูปและยกระดับวิถีชีวิตของชาวปัชตุนให้พ้นจากความยากจนและความไม่รู้หนังสือ ซึ่งกล่าวกันว่าท่านเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวปัชตุนในที่ต่างๆ ถึง 1,000 หมู่บ้านในช่วงระยะเวลา 10 ปี

      ด้วยความที่ท่านเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดและเข้าใจอิสลามอย่างลึกซึ้งถึงแก่น จึงทำให้ท่านได้เรียนรู้และหล่อหลอมยึดมั่นในแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงจากคำสอนอิสลาม ท่านกล่าวว่า

      ศาสนาของฉันคือสัจธรรม ความรัก และการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและมวลมนุษย์ ทุกศาสนาที่มีมาในโลกนี้ต่างนำสารแห่งความรักและความเป็นพี่น้องกัน ผู้ใดที่ไม่สนใจใยดีในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผู้ที่หัวใจปราศจากความรัก แสดงว่าพวกเขาไม่รู้ความหมายของคำว่าศาสนา  
      และท่านยังกล่าวอีกว่า

      มันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดในหมู่คนมุสลิมหรือคนปาทานอย่างฉันที่จะใช้หลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มันเป็นการเจริญรอยตามแนวทางของท่านนบีมุฮัมหมัดมาเป็นเวลากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยปีแล้ว

   เมื่อปลายทศวรรษ 1920 หลังจากที่ท่านบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ได้ฝึกฝนตัวเองด้วยการถือศีลอดและบำเพ็ญจิตมุ่งมั่นสู่พระผู้เป็นเจ้า ท่านได้ปิ๊งความคิดเกี่ยวกับ ทหารที่ปราศจากอาวุธ” (nonviolent army) ของเผ่าปัชตุน (ปาทาน) โดยจะปฏิเสธความรุนแรงและปฏิเสธการฆ่าล้างแค้นซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อันฝังรากลึกในหมู่สังคมชนเผ่าปาทานที่ว่ากันว่ารักปืนยิ่งกว่าสิ่งใด

   ในปี 1929 บัดชา ข่าน จึงได้จัดตั้งกองทัพที่เรียกว่า คุไดย์ คิดมัธกัรโดยพวกเขาจะสวมใส่ชุดทหารสีแดง จึงถูกเรียกว่า คนเสื้อแดง” (ไม่เกี่ยวอะไรกับคนเสื้อแดงเมืองไทยเน้อเจ้า) โดยจะต้องมีการกล่าวคำปฏิญาณตนที่จะต่อสู้โดยไม่ยอมใช้ความรุนแรง ไม่แก้แค้น ร่วมมือร่วมใจกัน หมั่นฝึกฝน และอุทิศตนเพื่อช่วยกันพัฒนาสังคม

      หลักการของ คุไดย์ คิดมัธกัร ได้มีการกล่าว เป็นคำปฏิญานโดยสมาชิกใหม่ทุกคนดังนี้
      1) ฉันคือบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์) ซึ่งพระองค์ไม่ทรงต้องการความช่วยเหลือใดๆ การรับใช้สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างคือ การรับใช้อัลลอฮ์
      2) ฉันสัญญาที่จะรับใช้มนุษยชาติในนามของพระผู้เป็นเจ้า
      3) ฉันสัญญาที่จะไม่ใช้ความรุนแรงและการแก้แค้น
      4) ฉันสัญญาที่จะให้อภัยต่อผู้ที่กดขี่และเคยปฏิบัติการอย่างโหดร้ายต่อฉัน
      5) ฉันสัญญาที่จะระงับจากการอาฆาตมาดร้าย การทะเลาะวิวาท และการสร้างศัตรู
      6) ฉันสัญญาที่จะปฏิบัติดีชาวปาทานทุกคนเสมือนเป็นพี่น้องพ้องเพื่อน
      7) ฉันสัญญาที่จะไม่ต่อต้านประเพณีและการปฏิบัติทางสังคม
      เจ๋ง ฉันสัญญาที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กระทำสิ่งที่ดี และละเว้นสิ่งที่ชั่วร้าย
      9) ฉันสัญญาที่จะเป็นคนมีจรรยามรรยาทที่ดี และไม่ใช้ชีวิตอย่างขี้เกียจ
      10) ฉันสัญญาที่จะอุทิศเวลาอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงในการช่วยเหลืองานชุมชน/สังคม
      11) ฉันสัญญาที่จะเป็นคนซื่อสัตย์และรู้จักรับผิดชอบในการเป็นบ่าวที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า
      12) ฉันสัญญาที่จะเสียสละชีวิต ทรัพย์สินและความสะดวกสบายทั้งหลายเพื่อเสรีภาพของประเทศชาติและประชาชน
      13) ฉันสัญญาที่จะไม่สร้างความแตกแยก ไม่สร้างความเกลียด และอิจฉาริษยาและจะยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่เพื่อต่อสู้กับผู้กดขี่
      14) ฉันสัญญาที่จะใช้ชีวิตโดยยืนหยัดในหลักการการไม่ใช้ความรุนแรง
      15) ฉันสัญญาที่จะรับใช้สิ่งถูกสร้างทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า และเป้าหมายของฉันคือเพื่อบรรลุการมีเสรีภาพของประเทศชาติและศาสนาของฉัน
      16) ฉันสัญญาที่จะทบทวนพิจารณาอยู่เสมอว่า สิ่งที่ฉันปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
      17) ฉันจะไม่ปรารถนารางวัลใดๆ สำหรับการอุทิศตัวในทุกการงานของฉัน
      18) ความมุ่งมั่นพยายามทั้งหมดของฉันนั้นต้องการให้เป็นไปเพื่อความพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อหวังผลตอบแทนจากมนุษย์หรือการมีหน้ามีตาในสังคม

      หมายเหตุ: ในข้อ 6) เนื่องจากในอดีตมีการทะเลาะเบาะแว้งและใช้กำลังฆ่าฟันมากในหมู่ปาทานด้วยกัน ชีวิตราคาถูกมาก และคนปาทานไม่เคยกลัวตาย
      ล้างแค้นทุกเมื่อแม้เรื่องขี้ปะติ่วหากได้รับการดูถูกเหยียดหยาม



   เมื่อท่านคานธี ประกาศให้อินเดียต่อสู้เพื่ออิสรภาพในปี 1930 บัดชา ข่าน ได้นำทัพของท่านเคลื่อนไหวต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอารยะขัดขืน (civil disobedience) ไปทั่วประเทศอินเดีย จนกระทั่งคนนับพันถูกขังคุก ถูกตีทำร้าย และหลายคนถูกสังหารโดยกองทัพอังกฤษ ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลในเขตชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือในบ้านเกิดของบัดชา ข่าน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าเป็นอันมาก เนื่องจากพวกอังกฤษมองว่าชาวปัชตุน (ปาทาน) คือคนป่าเถื่อน จึงสั่งปิดชายแดนและใช้ปฏิบัติการความรุนแรงสลายขบวนการอารยขัดขืนของทหารคนเสื้อแดง (คูไดย์ คิดมัธกัร) ทหารคนเสื้อแดงถูกจับถอดเสื้อผ้าและทุบตี ทรัพย์สินถูกยึดและพืชผลถูกเผา แต่พวกเขายังคงยืนหยัดโดยไม่ตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง ทหารจำนวนหนึ่งเลือกใช้วิธีการฆ่าตัวตายมากกว่าการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในที่สาธารณะ แต่คนกลับเข้ามาร่วมประท้วงต่อสู้กับทหารอังกฤษมากขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 80,000 คน ในวันที่ 23 เมษายน 1930 ทหารจึงได้จับบัดชา ข่าน แต่ฝูงชนจำนวนมหาศาลได้รวมตัวประท้วงการจับกุมท่านเต็มจัตุรัสเมืองเปชะวา ในขณะช่วงชุลมุนทหารผู้ดีอังกฤษแต่พฤติกรรมสุดป่าเถื่อน (อันนี้ภาษาผมเอง) ได้ระดมยิงใส่ฝูงชน


      จากการศึกษาของยีน ชาร์ป เจ้าพ่อสันติวิธีแห่งมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดบรรยายภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

      เมื่อผู้คนปาทานในแถวหน้าถูกยิงล้มลง คนแถวหลังเปิดอกเดินเข้าใส่แล้วถูกยิ่งร่วงลงคนแล้วคนเล่า เมื่อมีคนถูกยิงล้มลงเพื่อนปาทานก็เข้าลากผู้ถูกยิงบาดเจ็บออกมาแล้วคนใหม่ก็เดินเรียงแถวเข้าแทนที่เพื่อสู้กับลูกกระสุนปืนด้วยมือเปล่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เวลา 11 โมงเช้าจนกระทั่งถึง 5 โมงเย็นคาดประมาณว่ามีชาวปาทานถูกสังหารไปประมาณ 200-300 คน จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีทหารอังกฤษคนหนึ่งที่ปฏิเสธที่จะยิงใส่ชาวทานผู้ไร้อาวุธในการต่อสู้ (ทหารคนนั้นจึงได้ถูกนำตัวขึ้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลายาวนาน) แต่ทหารของบัดชา ข่าน ยังคงยืนหยัดด้วยการไม่ยอมจับอาวุธเพื่อใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ แม้แต่ท่านคานธีก็รู้สึกเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ท่านกล่าวว่า คนพวกนั้นใช้อาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยไม่ยั้งคิดเหมือนกับฆ่าเป็ด-ฆ่าไก่ เทียบอะไรไม่ได้เลยกับทหารเพียงคนเดียวของบัดชา ข่าน ที่ใช้อาวุธที่ทรงพลังมากกว่าคือ การไม่ยอมใช้ความรุนแรง

ก่อนอื่นผมขอเรียนมิตรรักแฟนเพลงที่สนใจติดตามเรื่องนี้ก่อนนะครับว่าสิ่งที่ผมเขียนลงในเฟสนี้ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เป็นการแปลมาจากหนังสือเล่มเดียวที่ผมได้แนะนำไปนะครับ (หนังสือ Nonviolent Soldier of Islam) ผมแปลมาจากหลายแหล่ง ความตั้งใจเดิมคือ กะว่าจะปิดเรื่องราวของบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ภายในอีกตอนสองตอนนี้แล้ว แต่ผมยังเห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่อีกมากมายเกี่ยวกับบัดชา ข่าน จึงจะขอเล่าเรื่องของท่านต่อไปเรื่อยๆ อีกสักระยะครับ......



   ขอย้อนเวลากลับไปในปี 1919 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้รณรงค์ให้มีการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงหลังจากอินเดียถูกอาณานิคมอังกฤษปกครองมายาวนานถึง 50 ปี สืบเนื่องจากในปี 1919 สภาของอังกฤษได้ผ่านกฎหมายข้อจำกัดต่างๆ และให้อำนาจล้นฟ้าแก่ทหารอังกฤษในภาวะสงครามเพื่อใช้กับคนอินเดียซึ่งนับเป็นกฎหมายที่กดขี่ต่อชาวอินเดียมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1857 ท่านคานธีจึงเรียกร้องชาวอินเดียให้ออกมาประท้วงด้วยการอดอาหารและสวดมนต์พร้อมกันทั่วประเทศ รถบัสและรถไฟหยุดให้บริการ ร้านค้า สถานที่ราชการและโรงงานในเมืองต่างๆ ต่างปิดทำการ
  
      ในด้านชายแดนเมืองเปชะวา ชาวปาทานหลายพันคนรวมตัวกันประท้วงที่เมืองอุธมันไซ แม้แต่เบฮ์ราม ข่าน พ่อของบัดชา ข่าน ก็เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่านที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ท่านรับฟังการปราศรัยของบัดชา ข่าน ลูกชายคนเล็กด้วยความชื่นชมในการเรียกร้องให้ต่อต้านทรราชอังกฤษ ในขณะที่มีทหารอังกฤษเข้าร่วมรับฟังด้วย รัฐบาลท้องถิ่นอังกฤษจึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและจับกุมบัดชา ข่าน และตัดสินจำคุกท่านเป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่มีการไต่สวนความผิด
      บัดชา ข่าน ถูกตีตรวนที่เท้าทั้งสองข้างด้วยเหล็กวงเล็กกว่าเท้าที่ใหญ่มากของท่าน จนทำให้เหล็กนั้นเฉือนส้นเท้าเข้าไปถึงกระดูกจนกลายเป็นแผลเป็นตลอดไปที่เท้าของท่าน 
  
      ที่เมืองอุธมันไซ เกิดรอยแผลเป็นแก่ชาวบ้านมากมาย เช่นทหารอังกฤษได้ต้อนชาวบ้านทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ให้เข้าไปในโรงเรียนและสั่งบังคับให้นั่งลง ชาวบ้านต่างนั่งอย่างสงบพร้อมสวดขอพร (ดุอาอ์) จากพระผู้เป็นเจ้า โดยมีทหารอังกฤษเล็งปลายกระบอกปืนเข้าไปยังแถวหน้าของผู้คนเพื่อดูท่าที และหัวหน้าทหารสั่ง พร้อมยิง!”...จนในที่สุดทหารก็ไม่ได้ยิงเข้าใส่ผู้คน แต่ทหารอังกฤษกลับรีบเข้าไปหาชาวบ้าน (ทำตัวเยี่ยงโจร-ภาษาผมเอง) แล้วเอาของมีค่าที่ติดตัวของชาวบ้านไป และยังออกไปปล้นเอาข้าวของมีค่าตามบ้านของชาวปาทานขนขึ้นรถแล้วก็จากไป.........
     
      สุขแบบเศร้าๆ กับ บัดชา ข่าน ตอนต่อไป.....
  
      ผลจากการก่อการประท้วงครั้งนั้น ฝ่ายทหารอังกฤษได้เรียกร้องเงินเป็นค่าชดใช้จำนวน 30,000 รูปี โดยชาวบ้านถูกจับเป็นตัวประกันไป 70 คน (โดยมีพ่อของบัดชา ข่าน รวมอยู่ในจำนวนนั้น) และทหารอังกฤษวางเงื่อนไขว่าจะปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมดก็ต่อเมื่อชาวบ้านเอาเงินประกันมาให้เท่านั้น บัดชา ข่าน มองดูพ่อของท่านผู้ซึ่งไม่เคยสนใจยุ่งเรื่องราวทางการเมืองเลยเดินผ่านไปยังห้องโถงใหญ่ที่จัดเป็นที่กักขังตัวชาวบ้าน เมื่อพ่อเห็นบัดชา ข่าน ก็รู้สึกเริงร่าดีใจอย่างออกนอกหน้าเพราะนึกว่าลูกชายคนเล็กที่ถูกจับไป 3 เดือนก่อนนั้นคงถูกทหารอังกฤษจับแขวนคอไปแล้ว
        
         ในที่สุดท่านบัชา ข่าน ก็ถูกปล่อยตัวหลังถูกจำคุกไปเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อออกจากห้องขังก็ทราบว่าพ่อ-แม่ ของท่านได้จัดการหาภรรยาใหม่ให้ (หลังจากภรรยาเดิมของท่านเสียชีวิตไป) ท่านค่อนข้างประหลาดใจเพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะแต่งงานใหม่ แต่ก็ต้องเดินทางออกไปซื้อชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธี ด้วยความที่ท่านเป็น บัดชา ข่าน” (แปลว่า ราชาแห่งชาวข่าน”) ท่านจึงถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากทหาร ก่อนถึงเมืองเปชะวา บัดชา ข่าน ก็ถูกจับอีกครั้ง และถูกนำไปขุมขังในห้องเล็กๆ เมื่อครบ 7 วัน ก็ได้รับการปล่อยตัว และนี่คือบทสนทนากับทหารอังกฤษภายหลังการปล่อยตัวท่าน 
     
         บัดชา ข่าน: จับฉันทำไม?
   
         ทหารอังกฤษ: ฉันได้รับคำสั่งให้ทำการสอบสวนท่าน
     
         บัดชา ข่าน: แล้วทำไมไม่สอบสวนฉันก่อนที่จะจับขัง
     
         ทหารอังกฤษ: ฉันก็ได้คิดอยู่เหมือนกันว่าจะจับท่านก่อนดีหรือจะสอบสวนก่อน ในที่สุดก็ตัดสินใจจับก่อนดีกว่า (คุ้นๆ ว่าเหมือนแถวๆทางภาคใต้ของบางประเทศในปัจจุบัน)

         บัดชา ข่าน: แต่ฉันเป็นคนนะเฟ้ย คิดถึงสถานะของฉันบ้างซิ ทำไมต้องสร้างความยุ่งยากให้ฉันอย่างไร้เหตุผล

         ทหารอังกฤษหยุดบันทึก และค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมองชายร่างสูงหัวจดเท้าแล้วกล่าวว่า: ที่พูดกันมาทั้งหมดนี่ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของท่านด้วยหรือไง?

         บัดชา ข่าน ตอน...บทสนทนาของสอง พ่อ-ลูก:
  
         ในปี 1920 ชาวมุสลิมทั่วทั้งอินเดียประท้วงนโยบายต่อผู้นำตุรกีโดยเดินทางไปอัฟกานิสถานจำนวนมาก โดยมีบัดชา ข่าน ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ในที่สุดท่านคิดว่าการเดินทางออกจากอินเดียเป็นการตัดสินใจที่ผิด ท่านจึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อปฏิรูปสังคมโดยเฉพาะด้านการศึกษาจึงเปิดขยายโรงเรียนไปทั่ว

         และในปีนี้เป็นปีที่สภาแห่งชาติอินเดียนัดประชุมกันที่เมืองนักปูรจึงได้มีการตัดสินใจเป็นครั้งแรกในการต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองและปลดแอกตัวเองออกจากจักรวรรดิอังกฤษ บัดชา ข่าน ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วยและท่านรู้สึกประทับใจท่านคานธีเป็นอย่างมาก แต่บัดชา ข่าน ไม่ได้สนใจการเมืองในระดับบนที่ท่านมีความรู้สึกว่ามันมีแต่การถกเถียงไม่มีที่สิ้นสุด ใช้แต่อารมณ์โวหาร อวดแสดงตัวตน ท่านจึงตีตนออกห่างจากสภาสูงนี้และหันไปทำงานในรากหญ้ากับมวลชนชาวบ้านจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจึงสร้างไม่พอใจให้กับพวกทหารอังกฤษ
         
            ดังนั้น พวกทหารอังกฤษจึงพยายามหาทางทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของบัดชา ข่าน โดยการเสนอค่าจ้างให้กับครูในอัตราสูงลิบลิ่วให้กับบางคน ทำให้มีหลายคนที่ออกมา หากใครไม่ออกก็ใช้วิธีจับกุมคุมขัง ทหารอังกฤษเห็นว่าบริเวณชายแดนคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะหากเอาชายแดนไม่อยู่อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามไปทั่วทั้งอินเดียได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ทุกวิถีทางในการหยุดยั้งความเคลื่อนไหวในชายแดนให้ได้

            เซอร์ จอห์น มัฟเฟร์ หัวหน้าของคณะอังกฤษซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับเบฮ์ราม ข่าน พ่อของบัดชา ข่าน จึงได้เรียกเบฮ์ราม ข่าน มาพบที่สำนักงานในเมืองเปชะวา และกล่าวแก่ท่านว่า: ฉันรู้ดีว่าลูกชายของคุณเดินทางไปทั่วในหมู่บ้านต่างๆ และได้เปิดโรงเรียนเป็นจำนวนมาก และฉันก็รู้ดีเช่นกันว่า ความจริงแล้วก็มีคนอีกจำนวนมากที่เขาทำตัวอยู่อย่างเงียบๆ และไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้กับเราเลย ดังนั้น ขอให้คุณกรุณาไปบอกลูกชายสุดที่รักของคุณให้เลิกทำกิจกรรมเหล่านี้เสีย และกลับไปใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ อยู่ในบ้านเหมือนคนอื่นๆ ได้อะเปล่า?
  
            พ่อของบัดชา ข่าน ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรับปากว่าจะกลับไปบอกให้...ท่านจึงตรงไปหาบัดชา ข่าน

            และนี่คือผลจากบทสนนาของสอง-พ่อลูก....

            พ่อ: ลูกเอ๋ย! เยี๊ยะหยังบ่อยู่เงียบๆ เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ ลูก...เมียใหม่อี่ป้อ-อี่แม่ ก็เซาะฮื้อแล้ว แม่อี่นางก็งามแต้งามว่า และลูกชายทั้งสองของลูกก็น่าฮักขนาด แล้วทำไมลูกยังต้องมาทำกิจกรรมที่สร้างปัญหาพวกนี้อีก?”
    
            บัดชา ข่าน ซึ่งเป็นคนที่รู้จักคุณพ่อของท่านดียิ่งกว่าคุณพ่อรู้จักตัวเองเสียด้วยซ้ำ จึงกล่าวตอบไปว่า: อี่ป้อครับ...หากมีคนแนะนำอี่ป้อให้บอกหมู่เฮาหยุดละหมาดวันละ 5 เวลา แล้วอี่ป้อจะแนะนำให้เฮาทำตามที่เขาบอกไหม?
   
            พ่อ: เฮ้ย...คุณลูก แบบนั้นมันฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าเน้อ"

            บัดชา ข่าน: อี่ป้อครับ...ในความคิดของลูกเห็นว่าการให้การศึกษาแก่ผู้คนและการรับใช้ผู้อื่นและประเทศชาติ ก็เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับการละหมาดเหมือนกันครับอี่ป้อครับ"

            พ่อ: โอ...แม่นแล้ว แม่นแล้ว....หากลูกเห็นว่านั่นคือหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ลูกก็จงทำมันต่อไป อย่าล้มเลิกมันนะ

            ว่าแล้วคุณพ่อของบัดชา ข่าน ก็ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังหัวหน้ากองกำลังอังกฤษว่า "ชาวปาทานไม่สามารถล้มเลิกหน้าที่ต่อศาสนาและหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้...ซอรี่อู๊ดอู๊ด (อันนี้ผมเติมเอง ไม่มีในสารนั้นครับ)"
  
            บัดชา ข่าน ตอน บันทึกในกรงขัง และการยืนต่อหน้าผู้อธรรม
    
            ผลจากการส่งสารซอรี่-อู๊ดอู๊ด ไปให้ทางการอังกฤษ และบัดชา ข่าน ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมงานด้านการศึกษาจนขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง เราก็คงไม่ประหลาดใจหากจะบอกว่า ท่านก็ต้องถูกจับกลับเข้าไปนอนในซังเตกินข้าวแดงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านถูกจับได้ 2-3 วัน ท่านได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้:
        
            “เมื่อตอนฉันถูกจับกุมนั้น ฉันถูกจับสวมกุญแจมือเหมือนผู้ต้องหาโดยทั่วไปขณะรอคำตัดสินพิพากษา แต่ห้องที่เขาจับฉันขุมขังนั้นกลับเป็นห้องคุมขังนักโทษ ทันทีที่เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้คุมตัวเปิดประตูห้องขัง กลิ่นเหม็นฉุนจัดก็โชยเข้าจมูกฉันในทันที พื้นก็สกปรกเต็มไปด้วยฝุ่น ฉันบอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ฉันไม่อาจจะอยู่ในห้องที่สกปรกโสโครกเช่นนี้ได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบฉันด้วยสีหน้าที่เย็นชาว่า
        
            ‘สูบ่ฮู้แต้ๆ หรือ ว่าสูเป็นไผ๋? สูกำลังเป็นนักโทษเน้อ...รู้ตัวอะเปล่า?’
        
            แล้วเขาก็ผลักฉันเข้าไป ในห้องคุมขังที่ฉันอยู่นั้นอากาศช่างเย็นจัดเสียเหลือเกิน เนื่องจากมันเป็นด้านที่ไม่เคยถูกแสงแดดเลย ฉันได้รับผ้าคลุม 3 ผืน และผ้ากระสอบ 1 ชิ้น ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นเลยแต่อย่างใด มีเพื่อนๆ ฉันหลายคนที่ถูกจับด้วยเช่นกัน
        
            ผลจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในห้องขังทำให้เพื่อนฉันหลายคนต้องสยบยอมต่อทหารอังกฤษแต่ฉันและอับดุลก็อยยูม ไม่ยอมที่จะทำเช่นนั้น
        
            หลังจากถูกขุมขังได้ 10 วัน บัดชา ข่าน ได้ถูกนำตัวมาอยู่ในกรงเหล็กต่อหน้ารองหัวหน้าคณะพิจารณาคดี พวกอังกฤษมองดูรูปร่างสมส่วนสูงชะลูดของบัดชา ข่าน พวกเขาแทบจะไม่เชื่อสายตาเลยว่าชายชาวปาทานรูปร่างเช่นนี้จะฝักใฝ่ในการไม่ใช้ความรุนแรง บัดชา ข่าน จึงบอกคณะชาวอังกฤษไปว่าเป็นเพราะเขาชื่นชอบในคานธี รองหัวหน้าคณะพิจารณาคดี: แล้วหากคุณไม่รู้จักคานธี คุณจะทำเช่นไร?
        
            บัดชา ข่าน เอามือทั้งสองจับที่กรงเหล็ก แล้วค่อยๆ ง้างมันออกจากกัน แล้วจึงตอบไปว่า อั๊วก็จะทำกับลื้อแบบนี้ไง ฮู้ก่อ?”
        
            รองหัวหน้าคณะพิจารณาคดีเจอมุขนี้เข้า เขาย่อมไม่ตลกด้วย จึงหันไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจมาว่า นักโทษผู้นี้ถูกกล่าวหาในข้อหาอะไรบ้าง?
        
            ตำรวจ: ข้อหา....เปิดโรงเรียนเพื่อสอนนักเรียน และเดินทางออกไปยังอัฟกานิสถานครับท่าน
        
            รองหัวหน้าคณะพิจารณาคดีจึงร้องเสียงดังขึ้นว่า: เขาหนีออกนอกประเทศกระนั้นรึ? แล้วเธออนุญาตให้เขากลับมาทำไมอีก?
        
            ก่อนที่ตำรวจจะตอบคำถามนั้น บัดชา ข่าน คงเหลืออดจึงพูดตัดบทขึ้นมาว่า: ท่านครับ ท่านได้เข้ามาเอาประเทศของเราไปจากเรา พอมาตอนนี้ ท่านจะไม่ให้เราอาศัยในแผ่นดินของเราอีกกระนั้นหรือ?
        
            เมื่อรองหัวหน้าคณะพิจารณาคดี เจอดอกนี้เข้าให้จากหนุ่มปาทานถึงกับอึ้งกิมกี่ด้วยความโกรธ เขาจึงกล่าวขึ้นว่า "เอามันออกไปไกลๆ หน้าฉันเดี๋ยวนี้! ฉันขอตัดสินจำคุกมันเป็นเวลา 3 ปี...."
        
            เขามองไปที่บัดชา ข่าน ซึ่งยืนสงบนิ่งอย่างไม่สะทกสะท้านและสายตาจ้องเขม็งไปยังผู้ให้คำตัดสิน และจบด้วยบทสนทนาของผู้พิพากษาที่เพิ่มเติมในคำตัดสินว่า...."และให้ทำงานประเภทงานหนัก! จัดไป!"
        
            #iamROHINGYA



บัดชา ข่าน (ช่วง 1921-1924) ตอน ฆาตกรตัวอันตราย

   "คนๆ หนึ่ง ย่อมเกิดการเรียนรู้จากการได้สัมผัสความทุกข์ทรมาน ฉันสงสัยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับฉัน หากฉันเลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และไม่มีโอกาสดื่มด่ำลิ้มรสชาติของการอยู่ในคุก และความหมายทั้งหมดที่มีอยู่ในนั้น" (บัดชา ข่าน)
   ทหารอังกฤษกล่าวว่าความจริงแล้วไม่ได้ต้องการลงโทษบัดชา ข่าน หรอก พวกเขาเพียงอยากชักนำให้ท่านไม่ออกนอกแถวเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม พวกทหารกลับจัดให้บัดชา ข่าน เป็นนักโทษประเภทอาชญากร้ายแรงมากกว่าที่จะเป็นนักโทษทางการเมือง
   เมื่อท่านได้กลับไปยังที่ขุมขังประจำของท่าน ท่านได้พบกับพี่ชายคือ ดร. ซอเฮ็บ ข่าน ซึ่งเป็นหมอและเคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำกองทัพอังกฤษในยุโรป ต่อมาท่านได้ถูกย้ายให้มาประจำการชายแดนเพื่อต่อต้านชาวปาทานเผ่าวาซิร (อยู่แถบปากีสถานและอัฟกานิสถาน) ท่านจึงตัดสินใจลาออก
   ทั้งสองต่างโผเข้ากอดกัน และเมาท์มอยกันสักพัก ในที่สุด ดร. ซอเฮ็บ ข่าน ก็บอกถึงจุดประสงค์การมาเยี่ยมของท่านในครั้งนี้โดยส่งกระดาษโน๊ตของทหารอังกฤษที่ยื่นข้อเสนอต่อบัดชา ข่าน ว่า
   “ท่านจะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ และสามารถเปิดโรงเรียนได้ เพียงแต่ห้ามไม่ให้เดินทางไปในยังหมู่บ้านอื่นๆ หากท่านยอมรับเงื่อนไขนี้ ท่านจะได้รับอิสรภาพและออกไปกับพี่ชายของท่านในบ่ายนี้ได้เลย
   เมื่อบัดชา ข่าน อ่านข้อความในกระดาษจบลง ท่านเงยหน้ามองไปยังพี่ชาย แล้วกลับมามองที่กระดาษอีกครั้ง แล้วก็ฉีกกระดาษออกเป็นชิ้นๆ แล้วก็เขว้งทิ้งลงกับพื้น
   ดร. ซอเฮ็บ ข่าน มองน้องชายด้วยใบหน้าซีดเซียวและพยายามอธิบายเหตุผลเพื่อโน้มน้าว แต่บัดชา ข่าน ได้แต่ลูบเคราตัวเอง
   สัปดาห์ต่อมา บัดชา ข่าน ถูกตีตรวนทั้งมือและเท้า และมีเหล็กกลมๆ ล๊อคที่คออยู่ด้วย ท่านถูกย้ายไปเรือนจำพิเศษสำหรับนักโทษร้ายแรง เนื่องจากไม่ยอมให้ความร่วมมือกับทางการอังกฤษ
   บัดชา ข่าน จึงถูกปฏิบัติในที่คุมขังเยี่ยงฆาตรกรตัวอันตราย พร้อมทั้งมีแผ่นเหล็กจารึกชื่อและข้อหาห้อยอยู่
   #iamROHINGYA
  
  
      #บัดชาข่านตอนความฉ้อฉลในเรือนจำ

  
      กลับเข้าสู่โหมด บัดชา ข่าน กันต่อไปนะครับ...

      ขณะอยู่ในคุกเดรา อิสมาอีล ข่าน นั้น บัดชา ข่าน ถูกจับขังเดี่ยวและต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากเยี่ยงนักโทษอุกฉกรรจ์ ท่านพบว่าแท้ที่จริงแล้วเรือนจำก็คือสถานที่แสวงหาผลประโยชน์ของพวกผู้คุมชาวอังกฤษ โดยหากนักโทษคนใดติดสินบนเจ้าหน้าที่ก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายกว่า

         ท่านบัดชา ข่าน ก็เคยถูกเรียกร้องให้จ่ายเงินสินบนเพื่อจะได้หลุดพ้นไปจากการคุมขังอยู่ในคุก แต่ท่านกลับปฏิเสธไม่ยอมจ่ายสินบนเพื่อแลกกับอิสรภาพและความสุขสบายอย่างไร้ศักดิ์ศรี

         ท่านกล่าวว่า ฉันถูกส่งมาที่นี่เพราะฉันปฏิเสธที่จะเงินประกันตัว แล้วทำไมฉันต้องมาจ่ายสินบนในคุกแห่งนี้เพื่อจะได้รับการปฏิบัติที่ดี หรือเพียงแค่ฉันติดสินบนก็จะได้ออกไปในทันทีกระนั้นหรือ?”

         ผู้คุมที่เป็นชาวปาทานส่ายหัวไม่รู้จะทำยังไง เขาก็แค่ไม่อยากเห็นชาวปาทานด้วยกันประสบกับยากลำบากและถูกทรมานอยู่ในคุก อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างอันดีงามของบัดชา ข่าน เป็นที่ประทับใจแก่นักโทษ และไม่เว้นแม้แต่ผู้คุมที่เป็นชาวปาทานจำนวนไม่น้อย ดังมีตัวอย่างคือ หลังจากที่บัดชา ข่าน ได้ตั้งคำถามต่อพวกผู้คุมว่า พวกเธอทั้งหลายล้วนเป็นคนดีกันทั้งนั้น แต่ทำไมต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบอันชั่วช้าในที่แห่งนี้
         ผู้คุมตอบ ก็ฉันจะต้องเลี้ยงลูกๆ
          แต่ในอีกสอง-สามวันต่อมา ท่านเห็นผู้คุมได้เปลี่ยนหน้าไปจึงทราบว่าผู้คุมชาวปาทานคนเดิมนั้นเกิดความละอายและได้ลาออกไปหางานใหม่แล้ว.....

     
         #iamROHINGYA
         

     
         #บัดชาข่านตอนน้ำตาแห่งความสูญเสีย

     

         เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่ในเรือนจำเดรา อิสมาอีล ข่าน เป็นชาวปาทาน พวกเขาจึงเริ่มยอมรับและปฏิบัติตาม บัดชา ข่าน ซึ่งถือเป็นผู้นำของพวกเขา ดังนั้น ความฉ้อฉลในเรือนจำจึงค่อยๆลดลง โดยพวกเขาไม่ยอมจ่ายสินบนให้ผู้คุมอีกต่อไปจนผู้คุมเริ่มสัมผัสได้ถึงรายได้จากค่าสินบนที่ลดน้อยถอยลงไป บัดชา ข่าน จึงตกเป็นเป้าที่เป็นตัวทำลายผลประโยชน์ในเรือนจำของพวกเขา จึงหาทางให้บัดชา ออกไปให้พ้นๆ จากเรือนจำแห่งนี้

         ในที่สุด บัดชา ข่าน จึงถูกย้ายไปยังเรือนจำเดรา กาซี ข่าน ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมืองโดยอยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 300 ไมล์ ท่านเห็นว่าการย้ายครั้งนี้นับเป็นการช่วยชีวิตท่านโดยแท้ เนื่องจากการถูกขุมขังเป็นเวลา 4 เดือนในเรือนจำก่อหน้านั้นทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมไปเป็นอย่างมาก น้ำหนักท่าน้ลดลงไปถึง 23 กิโลกรัม ท่านกล่าวว่า
    
            “การที่ถูกย้ายไปยังเรือนจำเดรา กาซี ข่าน ครั้งนี้ นับเป็นความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ หาไม่แล้ว ฉันคงต้องตายอยู่ในคุกแห่งนี้เป็นแน่แท้

            ในเรือนจำแห่งใหม่นี้ ทำให้บัดชา ข่าน ได้พบกับผู้นำทางการเมืองจากศาสนาต่างๆ ทั้งฮินดู คริสต์ และอิสลาม และท่านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้ในแก่นธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาอย่างแท้จริง สำหรับอาหารการกินก็ดีกว่าที่เดิมเป็นอย่างมาก โดยผู้คุมซึ่งเป็นชาวมุสลิมก็ให้ความเคารพนับถือบัดชา ข่าน เป็นอย่างยิ่ง ในเรือนจำมีหมอฟันที่ให้การรักษานักโทษโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่หมอฟันกลับไม่ยอมรับค่ารักษาจากบัดชา ข่าน

            หมอฟันกล่าวว่า ท่านต้องติดคุกเพราะความรักที่มีต่อประเทศชาติของเรา ความเสียสละของฉันนั้นไม่ได้เท่าขี้เล็บของท่าน จึงขอให้ท่านยอมรับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยของฉันนี้ด้วยเถิด  
            ในปี 1923 บัดชา ข่าน ได้ทราบข่าวการจากไปของแม่ในขณะที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ท่านเสียใจสุดๆ และบรรยายไว้ในบันทึกของท่านว่า       
            “แม่คือผู้ที่กระตือรือร้นใจจดใจจ่ออยู่กับการการมาเยี่ยมฉันในเรือนจำมากที่สุดตลอดระยะเวลาที่ฉันอยู่ในคุก แต่แม่แก่มากแล้วและคุกที่นี่ก็ไกลเกินไปสำหรับท่านในการเดินทาง เพื่อที่จะให้ท่านไม่ต้องยุ่งยากลำบาก ฉันจึงขอร้องให้ท่านไม่ต้องเดินทางมาเยี่ยมฉันถึงที่นี่ แต่ฉันไม่รู้เลยว่า...พระผู้เป็นเจ้าได้เรียกแม่กลับคืนและไปจากฉันเสียแล้ว
        
            เมื่อฉันออกจากคุก น้องสาวได้บอกฉันว่า คำพูดสุดท้ายของแม่ก่อนที่ท่านจะสิ้นลมหายใจสุดท้าย คือคำว่า กัฟฟาร์...อยู่ไหน?’ ซึ่งชื่อของฉันยังติดอยู่ที่ริมฝีปากของแม่...แล้วเธอก็สิ้นลมจากไป       
            (แท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และแน่นอน เราจะต้องกลับคืนสู่พระองค์”---เพิ่มเติมโดยผมเอง---เป็นคำกล่าวสำหรับมุสลิมทุกคนเมื่อทราบข่าวมีผู้เสียชีวิต....อิสลามมองการตายไม่ใช่การดับสูญ แต่เป็นเพียงการกลับคืน เปลี่ยนผ่านจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งเท่านั้นเพื่อรอการสอบสวนจากพระผู้เป็นเจ้าถึงความดี-ความชั่ว ที่ได้ทำในไว้โลกนี้)
            
        
            #บัดชาข่านตอนความพ่ายแพ้ของขบวนการต่อต้านโดยภาคพลเมืองอินเดีย

            ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ บัดชา ข่าน อยู่ในเรือนจำนั้น อินเดียตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากยิ่ง แต่กระบวนการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงกลับเติบโตมีพลังขึ้นอย่างมากและได้กระจายไปอย่างรวดเร็วในที่ต่างๆ บรรดานักกฎหมายชาวอินเดียที่ทำงานให้กับศาลอังกฤษต่างถอนตัวออกมา นักเรียนและนักศึกษาทยอยออกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่บริหารโดยชาวอังกฤษ ชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จากทางการอังกฤษต่างคืนเกียรติจอมปลอมเหล่านั้น และชาวบ้านทั่วไปก็ปฏิเสธที่จะเสียภาษีให้กับรัฐ ขบวนการดื้อแพ่ง/อารยะขัดขืนจึงกระจายไปทั่วทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว
     
               ผลจากการประท้วงต่อต้านทำให้ในเดือนมกราคม 1922 มีชาวอินเดียถูกจับขังถึง 30,000 คน แต่ถึงกระนั้นแม้แต่พวกหัวอนุรักษ์นิยมชาวอินเดียก็ยังเห็นว่าการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อนำประเทศชาติสู่ความมีอิสรภาพของท่านมหาตมะ คานธี นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว

               อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวอินเดียทุกคนที่ฝักใฝ่การไม่ใช้ความรุนแรง ในบางเมืองมีการตัดสายโทรเลข เผาตึกของชาวอังกฤษ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1922 ฝูงชนชาวอินเดียในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไม่มีใครควบคุมพวกเขาได้ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่อังกฤษไปเป็นจำนวน 12 คน

               ท่านคานธี จึงสั่งหยุดการเคลื่อนไหวและตัวท่านเองทำการประท้วงการใช้ความรุนแรงของชาวอินเดียด้วยการ อดอาหาร และสั่งหยุดการการเคลื่อนไหวด้วยการดื้อแพ่งทั้งหมด ชาวอินเดียต่างอึ้งกิมกี่เพราะทุกคนต่างคิดว่าชัยชนะได้อยู่แค่เอื้อมแล้ว แต่เหตุไฉนท่านคานธีกลับยืนกรานสั่งหยุดไปดื้อๆ เช่นนั้น แต่ท่านคานธีไม่ต้องการชัยชนะที่ได้มาจากการใช้ความรุนแรง ท่านกล่าวว่า    
               “การถูกกล่าวหาว่าขี้ขลาดและอ่อนแอนั้นย่อมดีกว่าที่จะทำผิดด้วยการละเมิดคำมั่นสัญญาและการทำบาปต่อพระผู้เป็นเจ้า การไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการไม่ซื่อสัตย์ต่อคนอื่นนับล้านเท่าด้วยซ้ำ        
               ต่อมาท่านคานธีจึงถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ดังนั้น ขบวนการต่อต้านโดยภาคพลเมืองอินเดียจึงประสบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก อันนำซึ่งความดีใจในหมู่ชาวอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ท่านคานธีติดคุกอยู่นั้นดูเหมือนประเทศอินเดียจะสงบลงไป แต่ภายใต้ความเงียบงันนั้นชาวอินเดียไม่เคยสูญสิ้นความศรัทธาต่อผู้นำของพวกเขาเลย พวกเขาเพียงเฝ้ารอวันนั้น.....

            
               #iamROHINGYA
               


           
               #บัดชาข่านตอนอิสรภาพสู่บ้านเกิด

           
               ในปี 1924 เมื่อท่านบัดชาข่าน ถูกปล่อยออกจากคุก ท่านได้มุ่งหน้ากลับบ้านในทันที ท่านดีใจเป็นอย่างมากเมื่อพบว่าการถูกคุมขังและการต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุกของท่านนั้นมันไม่ใช่เป็นการสูญเปล่า แต่กลับสร้างความเข้มแข็งและจุดประกายไฟให้กับขบวนการประชาชนของท่าน

               ในโรงเรียนอะซาด ของท่านที่เมืองอุธมันไซ ดำเนินด้วยความก้าวหน้า รวมทั้งองค์กรอาสาสมัครเพื่อสังคมสาธาณะของท่านต่างทำงานกันอย่างแข็งขัน บรรดาครูและนักเรียนใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชาวปาทานในหมู่บ้าน แม้แต่บุตรชายวัยเพียง 9 ขวบของท่านชื่อ กะหนี ก็เข้าร่วมกับขบวนการชาวบ้าน ท่านบัดชา ข่าน ได้ปลุกเร้าคนของท่านว่า...
               
                  “โอ้! ชาวปาทานทั้งหลาย ออกไป! และถามรัฐบาลว่าทำไมพวกเขาจับพ่อของพวกเราให้เป็นนักโทษแล้วยัดเข้าคุก! ออกไป! และถามพวกเขาดูซิว่า พวกเราก่ออาชญากรรมอันใดหรือ?”

                  ในการประชุมที่อุธมันไซมีชาวปาทานเข้าร่วมเป็นจำนวนหลายพันคนที่มาจากหลายเมืองเพื่อต้อนรับท่านบัดชา ข่าน ซึ่งถือเป็นราชาของชาวปาทานที่ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง การเฉลิมฉลองเป็นไปอย่างมีความสุขด้วยการเสริฟน้ำชาอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวปาทาน

                  ชาวบ้านอยากให้ท่านบัดชา ข่าน ขึ้นกล่าวปราศรัยแต่ท่านปฏิเสธโดยบอกว่า งานนี้เป็นการเฉลิมฉลองไม่ใช่การไฮปาร์คเพื่อทำการประท้วง แต่ในที่สุดท่านก็ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหวจึงต้องขึ้นกล่าวทักทายปราศรัยต่อพี่น้องชาวปาทาน อย่างไรก็ตามแทนที่ท่านบัดชา ข่าน จะพูดปราศรัยท่านกลับเล่านิทานเรื่อง ลูกราชสีห์กับฝูงแกะว่า.....

              
                  #iamROHINGYA


     
         #บัดชาข่านตอนลูกราชสีห์กับฝูงแกะ

     
         ความเดิมตอนที่แล้ว...เมื่อ บัดชา ข่าน ออกจากคุกได้กลับสู่บ้านเกิดจึงเป็นที่ดีใจมากแก่ชาวปาทานทั้งหลาย ชาวบ้านได้จัดงานฉลองการกลับมาของท่าน และขอท่านขึ้นกล่าวปราศรัยทักทายแต่ท่านกลับเล่านิทานเรื่องหนึ่งว่า......
     ...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...มีสิงโตท้องแก่ตัวหนึ่งกำลังจ้องงับเจ้าแกะที่กำลังเดินมากันเป็นฝูง ในขณะที่มันกำลังพุ่งเข้าโจมตีฝูงแกะอยู่นั้น มันก็ได้ตกลูกในท้องออกมา แล้วมันก็ตายไปอันเนื่องจากการออกลูกครั้งนั้น จึงทิ้งเจ้าลูกสิงโตตัวน้อยอยู่กับหมู่ฝูงแกะนั้น ลูกสิงโตเรียนรู้ที่จะเล็มหญ้าและร้องเหมือนกับพวกแกะ       
            วันหนึ่ง มีสิงโตอีกตัวหนึ่งออกมาจากป่า และได้พบแกะฝูงนั้น มันจึงจ้องที่จะโจมตีฝูงแกะเพื่อเป็นอาหาร แต่มันก็ต้องประหลาดใจเมื่อเห็นมีลูกสิงโตตัวน้อยวิ่งหนีมันไปด้วยความกลัวพร้อมกับฝูงแกะตัวอื่นๆ เจ้าสิงโตตัวนั้นจึงโกรธจัดและเข้าไปจับเจ้าลูกสิงโตออกมาจากฝูงแกะแล้วลากมันไปข้างๆ ลำธาร

            เจ้าสิงโตจึงบอกให้ลูกสิงโตก้มมองดูเงาตัวเองในน้ำแล้วเอ็ดด้วยความฉุนเฉียวไปว่า เอ็งไม่ใช่แกะ! (บ่าห้าปัก) เอ็งเป็นราชสีห์รู้ไหม? แล้วเอ็งมากลัวข้าทำหยัง? จงหยุดร้องคำรามเหมือนแกะได้อะเปล่า? (ข้ารำคาญชิหาย!)     
            ท่านบัดชา ข่าน หยุดชั่วขณะ ในขณะที่หมู่ชนชาวปาทานกำลังฟังอย่างตั้งใจ และกระหายที่จะฟังเรื่องราวต่อไป ท่านจึงพูดอย่างมั่นใจและเปล่งด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า   
            “โอ้ ชาวปาทานที่รักทั้งหลาย! ดังนั้น เหมือนกับเรื่องที่ฉันเล่าให้พวกเธอทั้งหลายได้ฟัง...พวกเธอคือ ราชสีห์ เพียงแต่พวกเธอถูกเลี้ยงเยี่ยงดั่งทาส...จงหยุดเสียงคำรามเหมือนพวกแกะจงคำรามดั่งราชสีห์!
        
            ถึงตรงนี้...ชาวปาทานต่างส่งเสียงโห่ร้องอย่างต่อเนื่องไม่ยอมหยุดด้วยความฮึกเหิมและสุขใจจนกระทั่งแสงอาทิตย์อัสดง พวกเขาเดินทางกลับหมู่บ้านด้วยความเบิกบานใจและเฉลิมฉลองด้วยน้ำชาปาทาน...ราชาของพวกเขาได้ได้กลับมาแล้ว และท่านได้ให้สัญญาเพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่าเดิม

        
            #iamROHINGYA

            #บัดชาข่านตอนพลังเร้นลับของชาวปาทาน

            บทนี้ขึ้นต้นด้วยคำพูดของท่านบัดชา ข่าน ที่กล่าวถึงลักษณะนิสัยของชาวปาทานว่า

            “มักพูดกันว่าชาวปาทานนั้นเป็นคนที่ดื้อรั้นในเรื่องความรักและการใช้เหตุผล...เพราะถ้าหากคุณสามารถกุมหัวใจพวกเขาได้ แม้จะชวนไปลงนรก พวกเขาก็จะไปกับคุณ แต่หากคุณจะใช้วิธีการบังคับ แม้จะบังคับพวกเขาให้ไปสวรรค์ พวกเขาก็จะไม่ยอมไปกับคุณ...นี่คือ พลังแห่งรักของคนชาวปาทาน

               เป็นการเสียเวลาที่จะพูดถึงการกดขี่ของชาวอังกฤษในอินเดียขณะนั้น ลองมาดูอุปสรรคอันใหญ่หลวงในแนวทางที่จะไม่ยอมต่อสู้โดยการใช้ความรุนแรงของท่านบัดชา ข่าน คือ แนวความคิดที่กระจายไปทั่วสังคมชาวปาทานเกี่ยวกับความแค้นต้องชำระและการใช้ความรุนแรง 
           
               การให้คุณค่ากับเกียรติศักดิ์ศรีที่มีการสืบทอดมาหลายศตวรรษนั้นนับเป็นความยากยิ่งหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนๆ หนึ่งอย่างท่านบัดชา ข่าน ที่จะสลายวัฒนธรรมการเอาคืนหากคนปาทานถูกดูหมิ่นเกียรติศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงผลแห่งความยุ่งยากหรือต้องทนทุกข์ทรมานใดๆ ที่จะติดตามมาก็ตาม ถึงแม้สมาชิกในครอบครัวจะต้องขาดพ่อ หรือเพื่อนบ้านต้องอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัวต่อกันและกัน ชีวิตจึงมักแขวนอยู่บนเส้นด้าย 
               แต่กระนั้น ความเร้นลับเกี่ยวกับความเป็นฮีโร่จากการได้ล้างแค้นยังคงเป็นเรื่องราวที่ปลูกฝังกันในหมู่คนปาทานโดยผ่านนิยายรัก บทกวี และสถานภาพของคน ถึงแม้ว่ามันจะนำสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่รู้จบในหมู่พวกเขาก็ตาม ไม่มีใครใส่ใจถึงราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการหลงใหลอยู่กับการใช้ความรุนแรงของชาวปาทาน และไม่มีใครจะรู้ซึ้งถึงความไม่ค่อยลงตัวเหล่านี้มากเท่ากับท่านบัดชา ข่าน!

           
               #iamROHINGYA
               

         
  
               #บัดชาข่านตอนพลังเร้นลับของชาวปาทาน
           
               พลังความเร้นลับของชาวปาทานที่มีความขัดกันในตัวนั้นทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนนอกอย่างเราๆ จะเข้าใจถึงแม้ว่าเราอาจจะเห็นในทุกแง่มุมของชีวิตชาวปาทานก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิสัยใจคอ ค่านิยม ตลอดจนวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

               กะหนี ลูกชายของท่านบัดชา ข่านได้เขียนบันทึกไว้ว่า ชาวปาทานนั้นไม่ได้รักอะไรหรือรักใครง่ายๆ จนกว่าเขาจะรู้จักสิ่งนั้นหรือคนๆ นั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน เขารักที่จะต่อสู้แต่ก็เกลียดที่จะไปเป็นทหาร เขามีความความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีความอดกลั้น อันเป็นเหตุให้ตายกันตั้งแต่อายุยังน้อย
           
                  กะหนีได้พยายามฉายภาพให้เห็นถึงความแค้นฝังลึกและความรุนแรงในวัฒนธรรมของคนปาทาน ซึ่งแม้แต่ในครอบครัวของท่านบัดชา ข่าน ก็ไร้ภูมิคุ้มกันต่อการมองการแก้แค้นว่าเป็นเรื่องของความตื่นเต้นผจญภัย กะหนีเล่าเรื่องๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กอยู่ เรื่องที่จะเล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเร้นลับในค่านิยมความรู้สึกของชาวปาทานได้เป็นอย่างดี กะหนีเล่าว่า...........

              
                  #iamROHINGYA

                                      
                              #บัดชาข่านตอนพลังเร้นลับของชาวปาทาน (ต่อ)
         
                              เรื่องนี้เกิดขึ้นในตอนเช้าวันหนึ่งในปี 1925 เมื่อมีการพบศพนอนตายอยู่ข้างๆ กังหันวิดน้ำของ เบฮ์เร็ม ข่าน นอกเมืองอุธมันไซ ต่อมาพบว่าศพดังกล่าวคือร่างของ อัตตา ข่าน นักเลงโตชาวปาทานที่ออกศาสนาไปแล้วแต่พวกวัยรุ่นยังคงยกย่องให้เป็นพี่ใหญ่ประจำหมู่บ้าน เขาถูกยิงด้วยกระสุน 2 นัดโดยเพื่อนซี้ของเขาเองที่ชื่อ มุรตาซา

                          
                              ขณะนั้น กะหนี (บุตรชายของบัดชา ข่าน) เพิ่งมีอายุเพียง 12 ขวบ แต่เขายังจดจำได้ดีถึงความดีใจเมื่อทราบข่าวการตายของ อัตตา ข่าน กะหนีเขียนไว้ว่า แม้จะเป็นที่กล่าวขานถึงความหล่อเหลา และความกล้าหาญเหนือมนุษย์ของ อัตตา ข่าน แต่ฉันก็เกลียดชังเขาอยู่เสมอไม่เคยลืม เพราะเขาคือผู้สังหารพ่อของเพื่อนฉัน ฉันยังเด็กเกินไปที่จะรู้ว่าเหตุที่พ่อของเพื่อนฉันต้องตายไปนั้นเพราะอัตตา ข่าน ได้มีหนี้แค้นกับเขาเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม แต่ อัตตา ข่าน เพิ่งจะล้างแค้นเมื่อตอนเขามีอายุมากแล้ว สำหรับชาวปาทานนั้น เลือดต้องชดใช้ด้วยเลือด
                                       
                                 พ่อของเพื่อนฉันคนนี้ เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มใจร้อนได้ไปกระทืบพ่อของอัตตาซึ่งเป็นคนอ่อนแอกว่า เมื่ออัตตา ข่าน โตขึ้นมา เขาเห็นแม่เดินคอตก เห็นน้องชายเอาแต่ก้มหน้าด้วยความอับอาย เขาจึงตั้งใจว่าจะต้องฆ่าชายคนนั้นให้ได้ ดังนั้น อัตตา ข่าน จึงหยิบปืนของเขาขึ้นมาและสังหารพ่อของเพื่อนฉันเพื่อจะได้ขจัดความรู้สึกอัปยศที่ครอบครัวได้รับให้หมดสิ้นไป และเป็นการกอบกู้เกียรติศักดิ์ศรีกลับคืนมา                           
                                 และตอนนี้กงล้อแห่งความแค้นได้หมุนกลับมาถึงคิวชีวิตของ อัตตา ข่าน!
         
                                 หลังจากที่ตำรวจและชาวบ้านหลายร้อยคนสามารถช่วยกันจับตัวมือสังหารคือ มุรตาซา และสมุนทั้งหลายที่หนีขึ้นไปบนเขาได้ในที่สุด กะหนียังจำได้ว่า ในช่วงบ่ายของวันนั้น เมื่อตำรวจนำตัวของมุรตาซากลับมายังเมืองอุธมันไซ พวกวัยรุ่นกลับยกย่องมุรตาซาให้เป็นฮีโร่คนใหม่แทนอัตตา ข่าน ที่ตายไป เพราะที่ผ่านมา อัตตา ข่าน ได้ฆ่าชาวปาทานที่เป็นคนดีๆ ไปหลายคน ซึ่งตอนนั้นต่างก็ยกย่องให้เขาเป็นฮีโร่มายาวนาน แต่เมื่ออัตตา ข่าน ตายไปทุกคนกลับจดจำเขาในฐานะฆาตกรแล้วหันมายกย่องเทิดทูนฮีโร่คนใหม่ที่สังหารเขาไป
                   กะหนีเฝ้ามองดูมุรตาซาขณะถูกตำรวจคุมตัวเข้าเมือง ทั้งมือและเท้าของเขาถูกตีตรวน ที่หน้าผากของเขามีผ้าพันแผลติดอยู่เนื่องจากถูกกระสุนนัดหนึ่งแฉลบถากหน้าผากไป แต่เขาก็ยังคงทำหน้ายิ้ม เดินกรีดกรายทักทายผู้คนดั่งวีรบุรุษ...นี่คือเวลาของเขาจริงๆ     
                                 กะหนียิ้มจนปากกว้างและคิดในใจ มุรตาซาไม่ใช่ญาติฉันนี่หว่า?’ แต่เขาก็เขียนในบันทึกไว้ว่า ฉันภูมิใจเหลือเกินที่จะบอกเด็กๆ ในหมู่บ้านอื่นว่า มุรตาซาเป็นญาติห่างๆ ของฉัน                     
                                 ในที่สุด ทั้งชาวบ้านที่มาเฝ้าชื่นชมและตำรวจต่างมุ่งหน้าสู่เรือนจำ กะหนีก็เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้านเพื่อเป็นเพื่อนร่วมทางให้กับฮีโร่คนใหม่ของพวกเขาที่จะต้องเข้าไปนอนในซังเต....มุรตาซาโดนตัดสินจำคุกไป 20 ปี!

                             
                                 #iamROHINGYA


              
                           #บัดชาข่านตอนพลังเร้นลับของชาวปาทาน (ต่อ)

                       
                           คืนหนึ่งในฤดูหนาวภายหลังเหตุการณ์ที่ อัตตา ข่าน ถูกสังหารผ่านไปหลายปี ขณะที่ กะหนี กำลังนั่งผิงไฟอยู่นั้น เขาได้ยินเสียงเรียกมาจากทางประตูบ้าน เธออยู่ไหน เพื่อนรัก?” กะหนี จึงเดินไปที่ประตูและต้องแปลกใจอย่างมากเพราะแขกผู้มาเยือนบ้านในยามวิกาลของเขาในค่ำคืนนั้น คือ มุรตาซา! ซึ่งอยู่ในสภาพมอมแมมและมีปืนสะพายอยู่ที่ไหล่    
                           กะหนีเขียนว่า หากเป็นคุณคงไม่กล้าที่จะให้เขาเข้ามาในห้อง แต่ฉันเปิดหัวใจและประตูให้เขาได้เข้ามา เพราะฉันรู้จักเขา และพ่อของเขาก็เป็นเพื่อนพ่อของฉัน ปู่ของเขาก็เป็นปู่ของฉันด้วยกะหนีจึงยิงคำถามที่ติดค้างในใจมาหลายปีว่า มุรตาซา! ฉันไม่เข้าใจเลยว่า ทำไปท่านถึงต้องฆ่า อัตตา ข่าน ได้ลงคอทั้งๆ ที่เขาเป็นเพื่อนซี้ของท่าน
                   มุรตาซา เหตุเป็นเพราะ ลุงของฉัน! ฉันเกลียดลุงและยังคงเกลียดเขาอยู่เพราะฉันเป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงของเขา ฉันอยู่ในกลุ่มนักเลงใจถึงกลุ่มหนึ่ง ลุงเลี้ยงดูฉัน ดูแลฉันเพราะฉันข่มขู่พวกศัตรูของแกและก็ให้ความสำคัญกับแกต่อหน้าพวกผู้ปกครองอังกฤษ ฉันคิดว่าลุงรักฉันเพราะฉันก็คือหลานแท้ๆ ของแก ฉันจึงตอบแทนแกด้วยความเคารพรัก ความจริงใจและอุทิศตัวทุกอย่าง
                              จนกระทั่งในเย็นวันหนึ่ง ลุงได้มาส่งฉันหลังจากฉันไปหลบหนาวอยู่ที่บ้านคุณย่า ลุงได้พูดกับฉันว่า อัตตา ข่าน ร่วมกับศัตรูของแกได้วางแผนที่จะฆ่าแก แล้วลุงก็จับขาของฉันไว้และร้องไห้ขอให้ฉันช่วยชีวิตแกและช่วยรักษาเกียรติของครอบครัวด้วยการไปสังหาร อัตตา ข่าน...แต่ฉันได้ปฏิเสธแกไป!
         ต่อมา ป้าของฉันได้มาร่วมวงอีก ป้ามองฉันด้วยดวงตาทนทุกข์อย่างแสนสาหัสและถามฉันว่า ใจคอจะปล่อยให้ลุงตัวเองตายไปต่อหน้าตอตาอย่างนั้นหรือ? ป้าพูดว่า ลุงแกก็แก่แล้ว ส่วนแกยังหนุ่มยังแน่นและก็ยังเข็งแรงอยู่ แกไม่นึกถึงบุญคุณในครอบครัวที่เลี้ยงดูแกมาเลยหรือไง ผู้ที่ตั้งชื่อ-สกุล ให้แก และผู้ให้แกได้มีเกียรติศักดิ์ศรี อับดุลเลาะ พ่อของแกก็เกิดในตระกูล ข่านอยู่อย่างชาว ข่านและได้ตายอย่างชาว ข่าน’”
              มุรตาซากล่าวว่า ฉันอึ้งกับคำพูดของป้าจึงได้ให้สัญญากับท่านว่าจะจัดการ อัตตา ข่าน
                              กะหนี แล้วท่านกลัวเขาไหม?"   
                              มุรตาซา เพื่อนเอ๋ย...ฉันไม่เคยกลัวสิ่งใดนอกจากความตายด้วยเชื้อโรค แต่การทำผิดกฎหมายนั้นมันย่อมเป็นเรื่องน่ากลัวเสมอ และจะสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นที่คอยตามมาล้างแค้น ซึ่งความจริงแล้ว ฉันเกลียดที่จะฆ่า อัตตา ข่าน และฉันก็เกลียดลุงที่ไม่ให้ฉันได้มีทางเลือกอื่น
          
                              มุรตาซา ตัวสั่นและนัยน์ตาบ่งบอกถึงความอมทุกข์ "ฉันอยากให้ อัตตา ข่าน ออกไปให้ไกลจากชีวิตฉัน แต่ก็ทำไม่ได้ เขายังคงอยู่กับฉันตลอดเวลา หัวเราะ เดินเล่น กล้าหาญ บ้าบิ่น!"

            มุรตาซา พูดขึ้นอีกว่า ฉันพยายามอยากให้ลุงเป็นฝ่ายชดใช้หนี้นี้บ้าง แต่ฉันไม่สามารถทำเช่นนั้นได้...ดังนั้น ท่านจึงมีอายุยืนยาวต่อไป ส่วนฉันต้องตกอยู่ในสภาพอมทุกข์ตลอดไปมุรตาซา ยิ้มแบบเฝื่อนๆ และยักไหล่และพูดต่อว่า หากฉันไม่ฆ่าเขา เขาก็จะฆ่าลุงฉัน        
                              ดวงตาอันคมกฤชของกะหนีได้เห็นถึงทั้งความงดงามและโศกนาฏกรรมของจิตวิญญาณชาวปาทาน ธรรมชาติที่ชอบใช้ความรุนแรง ร่างกายที่แข็งแรง และหัวใจที่อ่อนนุ่มของพวกเขา เป็นความผสมผสานที่ไม่ค่อยลงตัวในชีวิตจริงของชาวปาทาน ชีวิตในอุดมคติของพวกเขาจึงไปปรากฏในบทกวีและสีสรร...

                          
                              #iamROHINGYA

                    
               #บัดชาข่านตอนพลังเร้นลับของชาวปาทาน (ต่อ)

               ความเร้นลับของชาวปาทานวนเวียนอยู่กับความรัก-เสียงหัวเราะ และความรุนแรง ชาวปาทานเรียนรู้ที่จะสยบยอมต่อความมุ่งหวังของเผ่าพันธุ์และจะทำเพื่อให้บรรลุความมุ่งหวังอันนั้น การเรียนรู้ศิลปะขั้นสูงสุดของชีวิตชาวปาทานคือ จะฆ่าอย่างไร และจะตายอย่างไร? อันจะทำให้เขากลายชาวปาทานที่สมบูรณ์

               กะหนีเขียนถึงชาวปาทานที่ถูกหมิ่นเกียรติศักดิ์ศรีว่า เขาต้องยิง! ไม่มีทางเลือกอื่น...เพราะหากเขาไม่ทำเช่นนั้น คนเป็นพี่น้องของเขาจะดูถูก คนเป็นพ่อจะเย้ยหยัน คนเป็นพี่สาว-น้องสาวจะหมางเมิน คนเป็นภรรยาจะอับอาย และคนเป็นเพื่อนจะตัดสัมพันธ์กับเขาไป ดังนั้น เขาไม่มีทางเลือกอื่นคือ ต้องยิง! อัตตา ข่าน จึงต้องฆ่าพ่อเพื่อนของฉัน และมุรตาซาจึงต้องสังหารอัตตา ข่าน กะหนีสรุปว่า การแก้แค้นและความตายจึงเป็นเรื่องวนเวียนไปมาไม่มีจบสิ้น

               ชาวปาทานไม่ใช่นักฆ่าที่โหดร้าย เพียงแต่พวกเขาเป็นเหยื่อของความรู้สึกที่บิดเบือนในเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีอันจะทำให้เขาตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้าง และไม่มีใครรู้นี้ดีเท่าพวกอังกฤษ จึงให้วิธีการสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวปาทานเพื่อให้ซัดกันเอง ซึ่งกะหนีเห็นว่า นั่นคือนโยบายเดียวในกรมทางการเมืองการปกครองของอังกฤษที่ใช้ในการปกครองอินเดียและพวกอังกฤษก็ทำได้สำเร็จ พวกปาทานมัวหมกมุ่นอยู่กับการฆ่ากันเองมากกว่าที่จะคิดถึงเรื่องอื่นๆ ในท้องที่คนปาทานจึงมีแต่การนองเลือดและปกคลุมด้วยความมืดมิด จักรวรรดิอังกฤษจึงปลอดภัยในขณะที่ชีวิตชาวปาทานเหมือนถูกสาป!

               กะหนีกล่าวต่อไปว่า แต่ก็มีบางสิ่งมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในหมู่คนปาทาน ที่ต่างไปจากการมีแค่ความตายและการแก้แค้นมานานนับศตวรรษ ความมหัศจรรย์นั้นคือ การมีบัดชา ข่าน พ่อของฉัน ความอัจฉริยะของพ่อคือการมองเห็นถึงวัฒนธรรมความรุนแรงในหมู่ชาวปาทาน ซึ่งผลของมันไม่ใช่เป็นเพียงการต้องหลั่งเลือดเท่านั้นหากแต่คือความเขลา ความไร้เหตุผล และการติดกับดักหลงใหลในประเพณีนิยมของตนเองจนเกินไป"

               อย่างไรก็ตาม ภายใต้พรมของความรุนแรงและความเขลานั้น บัดชา ข่าน ได้มองเห็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ถึงความสามารถของชาวปาทานทั้งหญิงและชายอันมีความเป็นตัวตนแบบพิเศษ ความแข็งแกร่งทนทานและหัวใจที่กล้าหาญ ท่านจึงรู้ว่าท่านควรทำอะไรกับคนเหล่านี้ คือต้องให้การศึกษา ให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง ให้กำลังใจ และให้แรงบันดาลใจ...ด้วยความเข้าใจของ บัดชา ข่าน ท่านจึงเห็นว่าความรุนแรงและความเลวทรามทั้งหลายจะถูกขจัดออกไปจากลักษณะนิสัยของคนปาทานเหมือนดั่งเหมือนดั่งกิ่งไม้แห้งที่ถูกฟันร่วงลงไปจากต้นไม้ ท่านจึงตระหนักว่าหน้าที่สำคัญที่สุดของท่านคือ ต้องลับขวานให้คม!

               กะหนีจึงสรุปว่า บัดชา ข่าน คือ การเมืองของชาวปาทานอย่างแท้จริง...ท่านเข้าใจชาวปาทานเป็นอย่างดี และชาวปาทานก็เข้าใจท่าน และคุณจะไม่มีทางเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้เลยหากคุณไม่ใช่ชาวปาทาน หากคุณได้พบท่าน คุณจะได้เห็นดวงตาสีน้ำตาลอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของท่าน และคุณจะรู้เข้าใจถึงการเมืองของชาวปาทานได้มากกว่าที่ฉันเขียนบอกคุณเป็นพันๆ บท สิ่งที่น่าเคารพและดีงามที่สุดของชายผู้หนึ่งมันคงยากที่จะอธิบายออกมาเหมือนกับละอองดาวและแสงจันทร์บนฟากฟ้า
           ...บัดชา ข่าน ได้ค้นพบว่า ความรักนั้นสามารถสร้างสรรค์แม้ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ในขณะที่ ระเบิดสามารถทำลายล้างได้นานนับศตวรรษ ความเข้มแข็งที่สุดคือ การมีความเมตตาอย่างสูงสุด และหนทางเดียวที่จะบ่งบอกถึงความกล้าหาญที่แท้จริงคือ การอยู่ในความถูกต้องดีงาม ความฝันที่บริสุทธิ์นั้นอาจมีคุณค่ายิ่งใหญ่กว่าชีวิตที่เป็นจริง สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่บัดชา ข่าน ได้บ่มเพาะปลูกฝังให้กับชาวปาทาน...

                           #iamROHINGYA           
           
          
 
           
           
            อาจารย์ปิดเฟสบุ๊คไปแล้ว  ต้องหาอ่านเองแล้วครับ
แอดมิน   

ความคิดเห็น