โรคกินบุญ เป็นโรคที่ไม่มีอยู่ในสารบบของโรคแผนปัจจุบัน โดย นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า


โรคกินบุญ

โรคกินบุญ เป็นโรคที่ไม่มีอยู่ในสารบบของโรคแผนปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าหากเป็นแพทย์ที่ไม่ใช่มุสลิม ก็คงจะต้องงงเป็นไก่ตาแตก เมื่อพูดถึงโรคนี้ แต่กับคนมุสลิมแล้ว ทุกๆ คน แม้ไม่ใช่แพทย์จะคุ้นเคยกับมันดี เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่มุสลิมเราประสบอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นสิ่งธรรมดาไปแล้วสำหรับเรา
       ความจริงแล้ว เราจะเรียกว่าโรคกินบุญ ก็คงจะยังไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์เท่าใดนัก  เพราะโรคย่อมหมายถึงกลุ่มอาการที่แสดงถึงความเจ็บป่วย จากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่โรคกินบุญ จะเป็นโรคหลายๆ โรคมารวมกัน อยู่ในคนๆ หนึ่งที่ชอบกินบุญ หรือมีชีวิตอยู่เพื่อการกินบุญเป็นหลัก จนในที่สุด ต้องพบกับโรคต่างๆ มากมาย ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องไปแล้วในที่สุด มักจะพบว่าต้นตอนั้นเกิดจากการกินบุญอย่างเกินพอดีนั่นเอง  ดังนั้น ถ้าจะให้ถูกต้องน่าจะเรียกว่ากลุ่มอาการกินบุญ ก็จะถูกต้องตรงกับความหมายมากกว่า แต่มันก็เป็นคำที่ค่อนข้างเยิ่นเย้อ ดังนั้น เรามาเรียกมันว่า โรคกินบุญ และทำความเข้าใจกับมันแบบมุสลิมๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
      โรคกินบุญหรือกลุ่มอาการกินบุญนั้น ประกอบด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากการกินบุญอยู่เป็นประจำ โดยมากคนเราเวลามีอายุมากขึ้น มีหน้าที่การงานสูงขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น ก็ต้องมีสังคม ต้องโดนเชิญไปงานโน้นงานนี้ โดยมากก็เป็นงานแต่งงานนั่นแหละ และเมื่อได้รับเชิญมาแล้วก็ต้องไป ด้วยความสนิทสนมกัน ด้วยความเกรงใจกัน หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ต่างกันไป  แต่เนื่องจากเวลาที่ดีที่สุดมักเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น บางครั้งเสาร์-อาทิตย์ที่ฮ็อตๆ ก็อาจจะโดนถึงสองสามงานในวันเดียวกัน  ยิ่งในช่วงปิดเทอมใหญ่ยิ่งมีมากขึ้น บางครั้งโดนถึงสี่งานในวันเดียวกัน  ผลเสียที่ตามมาจึงเกิดขึ้น โดยขอจำแนกเป็นข้อๆ ดังนี้คือ



  1. คนที่กินบุญนั้น จะต้องเพิ่มมื้ออาหารมากขึ้นกว่าเดิม มากมาย ทำให้ได้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา สิ่งเหล่านี้จะทำให้ไม่สามารถคุมน้ำหนักตัวได้ และทำให้กลายเป็นโรคกระเพาะได้ง่ายขึ้น
  2. อาหารที่เลี้ยงในงานบุญนั้น มักเป็นอาหารพวกข้าวหมก หรือข้าวน้ำมันต่างๆ ร่วมกับแกงกะหรี่, แกงกุรหม่า, หรือซุปหางวัว ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน ดังนั้น การกินบุญแต่ละครั้งเราจึงได้ไขมัน และน้ำมันเกินไปเป็นจำนวนมาก ยิ่งกินวันละหลายๆ ครั้งยิ่งได้เพิ่มมากขึ้นไปอีก
  3. หลังจากอาหารก็เป็นของหวาน ซึ่งมีทั้งน้ำตาลและพลังงานที่ได้รับมาเกินกว่าที่เราจะใช้หมดได้ ผลก็คือพลังงานเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันและเพิ่มน้ำหนักตัวให้กับเรานั่นเอง
  4. การที่ต้องตระเวนกินบุญไปไกลๆ ทำให้เรารีบตื่นแต่เช้าเพื่อจะไปกินบุญให้ครบทุกที่ เราจึงมักไม่มีเวลาที่จะมาออกกำลังกาย พอกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อย ออกกำลังกายไม่ได้อีก
  5. การกินบุญต้องมีการเดินทาง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะงานที่สามที่สี่ของวัน ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายมักจะเป็นตอนกลางคืนแล้ว และผู้ที่กินบุญก็เริ่มเหนื่อยอ่อนเนื่องจากตระเวนมาทั้งวัน ประกอบกับวัยที่สูงอายุขึ้น ทำให้พลังวังชาถดถอยลงไป ดังนั้น ในการขับรถเวลาดึกๆ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติเป็นอย่างมาก
   


 เหล่านี้คือข้อเสียต่างๆ ที่เกิดจากการกินบุญที่มากเกินไปนั่นเอง ดังนั้น เราจึงมักจะพบเห็นกันบ่อยๆ ว่า ท่านครู หรือโต๊ะอิหม่ามของเรา มักจะมีสภาพอ้วนพุงพลุ้ย น้ำหนักเกินกันจนเป็นสภาพปกติ ชินตาสำหรับบุคคลทั่วไป และในที่สุด ก็มักจะเสียชีวิต จากโรคเบาหวาน, หัวใจขาดเลือด, อัมพฤกษ์, อัมพาต ฯลฯ
    แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะให้เลิกกินบุญไปเสียเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการกินบุญ ก็คือการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือญาติมิตร อันเป็นสิ่งจำเป็นอันหนึ่งของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมนั่นเอง
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการกินบุญแบบมีสติ กินแบบถูกต้อง นั่นก็คือ

  1. อย่าทิ้งการออกกำลังกาย  ต้องพยายามออกกำลังกายให้ได้เสมอ ถ้าหากต้องไปกินบุญหลายแห่งก็ควรออกกำลังกายแต่เช้าตรู่โดยเดินสักหนึ่งชั่วโมงก่อนแล้วจึงจะไปอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวกินบุญ
  2. ต้องกินอย่างมีสติ นั่นก็คือพยายามนับดูว่าเรากินอะไรเข้าไปแล้วบ้าง และยังเหลือโควต้าอีกเท่าไร และพยายามกินให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ อย่าตามใจปากตนเอง จะทำให้เสียใจภายหลัง เมื่อน้ำหนักตัวลดไม่ลง
  3. ควรรับประทานผัก, ผลไม้ที่เขาให้มาเป็นอาหารหลัก  กินข้าว ของมัน และของหวานให้น้อยที่สุด น้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำเปล่า ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม เพราะมีน้ำตาลมาก ให้พลังงานมาก แต่เรามักไม่ค่อยรู้
  4. พยายามแบ่งการกินบุญให้เป็นหลายๆ วัน แต่วันละน้อยๆ ดีกว่าไปวันเดียวสี่ห้างานพร้อมๆ กัน
  5. ต้องพยายามไม่อยู่ดึกนัก เพื่อหลีกเลี่ยงการขับรถตอนดึกๆ หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรมีเพื่อนหรือลูกหลานไปเป็นเพื่อน หรือคอยขับรถให้จะปลอดภัยกว่า
สุดท้ายนี้ ขอจบด้วยพระวจนะของท่านศาสดา ซ็อลฯ ที่กล่าวไว้ว่า “ทางที่ดีที่สุดนั้นคือทางสายกลาง” การกินบุญก็ต้องอยู่ในทางสายกลาง นั่นคือกินแต่พอดี แล้วจะได้อยู่กินบุญไปนานๆ นั่นเองครับ วัสสลามุอะลัยกุมฯ

โดย นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า


ที่มา
http://www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น