ชาวเผ่าหุยเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายมากที่สุดเผ่าหนึ่ง


ชาวเผ่าหุยเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายมากที่สุดเผ่าหนึ่ง

อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศจีน แต่บริเวณที่มีชาวหุยรวมตัวกันอาศัยอยู่มากที่สุดคือบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าหุยเมืองหนิงเซี่ย นอกจากนี้ในบริเวณมณฑลกานซู๋ ชิงห่าย ยูนนาน เหอเป่ย ซานตง เหอหนานก็มีชุมชนชาวหุยเล็กบ้างใหญ่บ้างอาศัยอยู่ประปราย จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าหุยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 9,816,802 คน ชาวหุยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบันพูดภาษาฮั่น และหากอยู่ในชุมชนเผ่าอื่นก็จะเรียนรู้ภาษาของเผ่าใกล้เคียง

ชื่อชนเผ่าหุยย่อมาจากชื่อเต็มว่า “หุยหุย” เป็นกลุ่มชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของชนเผ่าเล็กเผ่าน้อยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อารยธรรมร่วมกันเป็นเวลานาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีนเป็นต้นมา กลุ่มคนเผ่าเล็กเผ่าน้อยเหล่านี้จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นชนเผ่าเดียวกันที่เด่นชัดขึ้น
ราวสมัยถัง ปี ค.ศ. 651 ศาสนาอิสลามเริ่มเผยแผ่เข้ามายังประเทศจีน พ่อค้าชาวอาหรับเปอร์เซียเดินทางเข้ามาประเทศจีนในบริเวณกว่างโจว(广州Guǎnɡzhōu ) เฉวียนโจว(泉州 Quánzhōu) หางโจว(杭州Hánɡzhōu) หยางโจว(扬州Yánɡzhōu)และฉางอาน(长安Chánɡ’ ān) และได้ตั้งหลักปักฐานในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย ชาวอิสลามเหล่านี้ก่อสร้างมัสยิดในประเทศจีน ซึ่งเป็นมัสยิดรุ่นแรกที่ก่อสร้างขึ้นในประเทศจีน และมีจำนวนไม่น้อยที่หลังจากตั้งถิ่นฐานแล้วได้แต่งงานกับเผ่าพันธุ์เดียวกันสร้างครอบครัวและตั้งหลักปักฐานแน่นอน จึงมีการก่อสร้างศาสนสถานอิสลามขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมัสยิด สุสาน เป็นต้น ในขณะนั้นชาวฮั่นเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ฟานเค่อ” (蕃客fānkè) หรือ “ถู่เซิงฝานเค่อ”(土生蕃客tǔshēnɡfānkè) จนกระทั่งสมัยหยวนชนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “หุยหุยฝานเค่อ”(回回蕃客Huíhuífānkè) หรือ “หนานฝานหุยหุย”(南蕃回回nánfānhuíhuí) ต่อมารวมกับชนเผ่าเล็กน้อยอื่นๆเกิดเป็นสมาชิกส่วนสำคัญของเผ่า “หุย”

คำเรียกชนเผ่า “หุยหุย” ปรากฏครั้งแรกในบันทึก “เมิ่งซี” 《梦溪笔谈》Mènɡxī bǐtán ของเสิ่นคั่ว (沈括Shěn Kuò) และบันทึกชื่อ《黑鞑事略》Hēidá shìlüè “สังเขปเฮยต๋า” ของเผิงต้าหย่า (彭大雅Pénɡ Dàyǎ) ในสมัยเป่ยซ่ง (北宋Běisònɡ) และหนานซ่ง (南宋 Nánsònɡ) โดยมีกล่าวถึงชนกลุ่มหุยเหอ (回纥Huíhé) หุยกู่ (回鹘Huíɡǔ) ที่เป็นอิสลามิกชน ในศตวรรษที่ 13 หัวเมืองซีเจิง(西征Xīzhēnɡ) ซีเหลียว(西辽Xīliáo)ในเขตมองโกลล่มสลาย ชาวหุยเหออพยพไปทางตะวันออก พร้อมๆกับชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน ได้แก่ ชาวเปอร์เซีย อาหรับ โดยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณทุ่งราบภาคกลาง ซีเป่ย เจียงหนาน ยูนนาน ประกอบอาชีพ เลี้ยงสัตว์ ช่างงานฝีมือ ค้าขาย นักศึกษา และข้าราชการ ชนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “หุยหุย” นับเป็นชนเผ่าที่มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างมากในสมัยหยวน จากนั้นมาชาวหุยก็ใช้ชื่อ “หุย” เรียกตัวเองตลอดมา

นับตั้งแต่สมัยหยวนถึงต้นสมัยหมิง ชาวหุยหุยซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวหุยเหอหรือชาวหุยกู่ยังคงนับถือศาสนาอิสลามอยู่ อันเป็นข้อแบ่งแยกที่ชัดเจนกับชนชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกาชาง (高昌Gāochānɡ) เหอซี(河西Héxī) ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ต่อมากลางสมัยหมิงชาวอุยกูร์อพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น และหันมานับถือศาสนาอิสลามตามอย่างชาวหุย ด้วยความความสัมพันธ์ของศาสนานี้เองที่หลอมรวมชนทั้งสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน

ในสมัยหยวน พวกขุนนาง คหบดี ชนชั้นสูงของพวกมองโกลหันมานับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น ศาสนาอิสลามก็ได้รวมชาวมองโกลเข้ามาอยู่กับพวกชนชาวหุยอีกเช่นกัน ในสมัยกษัตริย์เจิ้งเต๋อแห่งราชวงศ์หมิง (ปี 1506 - 1521) ชาวฮาลาฮุย (哈剌灰人Hāláhuīrén) ที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองฮามี่ (哈密Hāmì) ชนกลุ่มนี้เดิมเป็นชาวมองโกล ได้อพยพจากเมืองฮามี่เข้าสู่ในบริเวณประเทศจีนในเมืองซู่โจว (肃州Sùzhōu) และมีวัฒนธรรมการ “ไม่กินหมู” เหมือนอย่างชาวหุยหุย แต่เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน และมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับชาวฮั่น วัฒนธรรมต่างๆ ของชาวหุยหุยเริ่มซึมซับและรับเอาวัฒนธรรมของชาวฮั่นไปไม่น้อย กระทั่งบางกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมสังคมกับชาวฮั่นอย่างแยกไม่ออก นอกจากนี้ชาวหุยหุยยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวฮิบรูหรือชาวยิวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณเมืองไคเฟิง (开封Kāifēnɡ) ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (ปี ค.ศ. 1101 - 1125) ในสมัยหยวนเรียกชนชาวฮิบรูกลุ่มนี้ว่า “ซู่ฮูหุยหุย” (术忽回回Shùhū Huíhuí) ด้วยเหตุที่ชนกลุ่มนี้นับถือศาสนายิว ไม่กินเนื้อหมู เทศกาลและกิจกรรมสำคัญทางศาสนาคล้ายคลึงกับชาวหุยหุย โดยเฉพาะการแต่งกายในเทศกาลทางศาสนาที่จะคลุมศีรษะด้วยผ้าสีฟ้า บางครั้งจึงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ชาวหุยหุยหมวกฟ้า” (蓝帽回回Lánmào Huíhuí) หรือ หุยหุยเขียว(青回回Qīnɡ Huíhuí) จากพัฒนาการที่ยาวนานสืบต่อมา ชนเผ่าชาวยิวในจีนกลุ่มนี้รวมตัวเข้ากับชาวหุยหุยเป็นกลุ่มชนเดียวกัน จนยอมรับที่จะเรียกตัวเองว่า “ชาวหุย”
ระบบสังคมของชาวหุยในสมัยหยวนเป็นแบบระบบสี่วรรณะ ในสมัยนั้นชาวหุยมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าชาวฮั่น โดยเฉพาะในช่วงการขยายอาณาเขตประเทศของราชวงศ์หยวน กลุ่มคนชาวหุยที่เป็นชนชั้นสูง ขุนนาง บัณฑิต พ่อค้าล้วนมีอิทธิพลต่อชาวฮั่นอย่างมาก การพัฒนาประเทศในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจราจรระหว่างส่วนกลางกับภาคตะวันตก การทหาร การปกครอง และเศรษฐกิจล้วนได้รับอิทธิพลจากชาวหุยแทบทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันชาวหุยเองก็ได้วางรากฐานระบบเศรษฐกิจของตนแผ่ขยายไปทั่วดินแดนจีนในคราวนี้ แต่ด้วยความที่ชาวหุยอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั้งยังถูกรังแกจากชาวมองโกล ทำให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ส่งผลให้ ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่เป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งสมัยราชวงศ์หมิง อำนาจของราชสำนักหมิง เข้มแข็งขึ้น ชาวหุยและชาวมองโกลจึงตกอยู่ในการปกครองของราชสำนักหมิงในที่สุด ในสมัยราชวงศ์ชิงชาวหุยและมองโกลถูกกดขี่จากการปกครองของทางการในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ชาวหุยและชาวมองโกลพยายามลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของทางการอย่างแรงกล้า

ชนกลุ่มน้อยชาวหุยแม้จะถือกำเนิดขึ้นในจีน แต่ก็มีลักษณะเด่นกว่าชนกลุ่มอื่นๆ คือไม่ได้เป็นกลุ่มชนที่อยู่ติดแผ่นดินมาแต่โบราณ หากแต่อพยพเข้ามาจากที่อื่น ชาวหุยที่อพยพเข้ามาในยุคแรกๆ ไร้ที่อยู่ ไร้ที่ดินทำกิน ไร้อาชีพ ในสมัยหมิงและชิงชาวหุยส่วนใหญ่มีชีวิตเร่ร่อนไม่เป็นหลักแหล่ง ในสมัยนั้นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ผู้คนมีน้อยสามารถจับจองที่ดินทำกินได้อย่างอิสระเสรี ชาวหุยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าบริเวณชายแดนของซีเป่ยและยูนนาน

ในปี 1274 – 1289 ชาวหุยและชาวฮั่นร่วมกันบุกเบิกดินแดน สร้างระบบชลประทาน การเกษตร และก่อตั้งเมืองซ่านฉ่าน (鄯阐Shànchǎn) ขึ้น ซึ่งก็คือเมืองคุนหมิงในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ชาวหุยและชาวฮั่นที่เมืองหนิงเซี่ย (宁夏Nínɡxià) ร่วมกันพัฒนาและสร้างระบบชลประทานขึ้นมากมาย เช่น การขุดคลอง ที่สำคัญได้แก่ คลองต้าชิง(大清渠Dàqīnɡqú) คลองฮุ่ยหนง(惠农渠Huìnónɡqú) คลองชีซิง (七星渠Qīxīnɡqú) คลองชางรุ่น (昌润渠Chānɡrùn qú) นับเป็นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมของหนิงเซี่ยให้รุดหน้าไปกว่าบริเวณอื่นๆ อย่างมาก จนได้รับสมญานามว่า “เหนือกว่าเจียงหนาน” ชาวหุยทุกครัวเรือนตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเอง ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากอาชีพเลี้ยงสัตว์และการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักแล้ว ชาวหุยยังประกอบอาชีพเสริมซึ่งสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกมากมาย เช่น การผลิตยา การขนส่ง งานหัตถกรรม และการค้าขาย นอกจากนี้ชาวหุยมีฝีมือด้านงานช่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือการช่างของชาวหุยมีคุณภาพดี และเป็นที่ยอมรับทั่วไป ได้แก่ การผลิตหนัง และการทำธูป อาชีพด้านการทำอัญมณี ผลิตภัณฑ์จากวัวและแกะ ล้วนเป็นอาชีพที่ชาวหุยได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น และด้วยนิสัยชอบการค้าขาย ในสมัยหยวนพ่อค้าชาวหุยเดินทางค้าขายกระจายไปทั่วบริเวณประเทศจีน และรวมไปถึงการติดต่อการค้ากับต่างประเทศด้วย

จวบจนสมัยหมิงและชิง รวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นเหตุให้การพัฒนาและการจราจรไปมาหาสู่กันระหว่างส่วนกลางกับภาคตะวันตกหยุดชะงักลง การทำมาค้าขายของชาวหุยก็หยุดชะงักลงเช่นกัน และจุดนี้เองนับเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดการพัฒนาภาคตะวันตกของจีนซึ่งส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยจักรวรรดินิยม ระบบสังคมแบบศักดินาและระบบขุนนางกดขี่ข่มเหงรังแกชาวหุยอย่างหนัก ชาวหุยไม่มีสถานภาพทางสังคมและการเมืองใดๆ สภาพเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า รัฐบาลกว๋อหมินตั่งไม่ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อย ไม่เพียงแต่ไม่เคารพในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาวหุย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของชนเผ่าหุยอีกด้วย ทางการถือว่าชนชาวหุยในสมัยนั้นเป็นเพียงชนอพยพเร่ร่อนเท่านั้น

ก่อนปี 1949 ระบบสังคมของชาวหุยเป็นแบบระบบศักดินาแบบการถือครองในกรรมสิทธิ์ที่ดิน การพัฒนาระบบเศรษฐกิจไม่สมดุล ชาวหุยในแต่ละพื้นที่มีทิศทางการพัฒนาต่างๆกันไป ชาวหุยที่เป็นชาวนาไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีก็เป็นที่ทะเลทราย ที่ภูเขาสูง ที่ดินเค็มทำการเกษตรไม่ได้ ชาวนาตกอยู่ในสภาวะยากจน ล้มละลายและละทิ้งบ้านเรือนเร่ร่อนไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง นับตั้งแต่ ปี 1958 เป็นต้นมา ได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวหุยในหลายพื้นที่ ดังนี้
1. เขตปกครองตนเองเผ่าหุยที่เมืองหนิงเซี่ย (宁夏回族自治区 Nínɡxià Huí Zú
zìzhìqū)
2. เขตปกครองตนเองเผ่าหุยเมืองหลินเซี่ย มณฑลกานซู่ (甘肃省临夏回族自治州
Gānsù shěnɡ Línxià Huí Zú zìzhìzhōu)
3. เขตปกครองตนเองเผ่าหุยเมืองชางจี๋ มณฑลซินเจียง ( 新疆昌吉回族自治州 Xīnjiānɡ Chānɡjí Huí Zú zìzhìzhōu)

พื้นที่เขตปกครองตนเองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ล้วนมีชาวหุยเป็นคณะกรรมการปกครองร่วมอยู่ด้วย ในปี 1980 มีชาวหุยเป็นข้าราชการในส่วนการปกครองอยู่ถึง 126,000 คน ภายใต้การดูแลและสนับสนุนของรัฐบาล ทางการได้ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีและฝีมือแรงงานให้กับชาวหุย สร้างการพัฒนาผลผลิตและเพิ่มพูนรายได้ให้กับชาวหุย ส่งผลให้ชาวหุยมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาวหุยได้รับการยอมรับ และได้รับความเคารพจากรัฐบาล ในเขตความเจริญของเมืองต่างๆ มีร้านอาหารของชาวหุยเปิดขึ้นมากมาย และได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป ชาวหุยมีอิสรเสรีในการนับถือศาสนา และด้วยเหตุผลทางศาสนานี้เอง อาหารของชาวหุยมีลักษณะพิเศษ ในสถานศึกษา สถานที่ทำงานหรือโรงงาน ต่างๆ ล้วนจัดให้มีโรงอาหารสำหรับชาวหุยโดยเฉพาะ หากไม่มีการจัดโรงอาหารเฉพาะ ก็มีการจ่ายเงินชดเชยค่าอาหารให้กับชาวหุยเป็นกรณีพิเศษ รัฐบาลให้ความสำคัญและเคารพต่อทุกๆ เทศกาลสำคัญทางศาสนาของชาวหุย สุสานของชาวหุยรัฐบาลก็ประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษ ชุมชนชาวหุยที่ใดที่ไม่มีพื้นที่สร้างสุสาน รัฐก็จัดหาที่ตามภูเขาไว้ให้เป็นสุสานเฉพาะของชาวหุยด้วย

ผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรม และการล้มล้างระบบศักดินาที่กดขี่ข่มเหงประชาชนในสังคมอิสลาม เศรษฐกิจสังคมของชาวหุยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เขตปกครองตนเองต่างๆของชาวหุยพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว เขตปกครองตนเองชาวหุยที่เมืองหนิงเซี่ยสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ โรงกำเนิดไฟฟ้า เครื่องจักรกล เหมืองทอง อุตสาหกรรมเคมี มูลค่าการผลิตเพิ่มจาก 12,000,000 ล้านหยวนในปี 1949 เป็น 1,000 ล้านหยวน ในปี 1978 และในปี 1990 มูลค่าการผลิตที่ได้จากเขตปกครองตนเองเผ่าหุยเมืองหนิงเซี่ยมีมูลค่าสูงถึง 8,400 ล้านหยวน ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวหุยดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้การสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ในเขตเมืองหนิงเซี่ยและกานซู่ ส่งผลดียิ่งต่อการพัฒนาระบบการเกษตรของชาวหุย ผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากชาวหุยและฮั่นในบริเวณดังกล่าวมีปริมาณเพียงพอ และสามารถส่งออกสู่ตลาดทั่วประเทศ

ในด้านภาษาและวัฒนธรรม ด้วยเหตุที่ชนเผ่าหุยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาก่อร่างสร้างเป็นกลุ่มขึ้นจากการรวมตัวกันของชนหลายเชื้อชาติและหลายภาษา โดยมีศาสนาอิสลามเป็นสิ่งเชื่อมโยง ดังนั้นชาวหุยจึงประกอบด้วยกลุ่มชนที่มีภาษาพูดที่หลากหลาย ได้แก่ ชาวหุยที่อยู่ในพื้นที่ประเทศจีนมาแต่โบราณพูดภาษาหุยกู่(回鹘语Huíɡǔyǔ) ภาษามองโกล(蒙古语Měnɡɡǔyǔ) ภาษาฮั่น ส่วนชาวหุยที่อพยพมาจากที่อื่นพูดภาษาเปอร์เซีย(波斯语Bōsīyǔ)และภาษาอาหรับ(阿拉伯语 Ā lā bó yǔ) แต่จากการอยู่อาศัยรวมกันกับชาวฮั่น มีการแต่งงานกับชาวฮั่นทำให้ ภาษาและวัฒนธรรมของชาวหุยเริ่มหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมของชาวฮั่นในที่สุด มีบางกลุ่มใช้ภาษาลูกผสมระหว่างภาษาฮั่นกับภาษาดั้งเดิม จนถึงสมัยหมิงชาวหุยที่พูดกันหลายภาษาหันมาใช้ภาษาฮั่นเป็นภาษาสื่อกลางระหว่างกัน มีชาวหุยบางกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณชายแดนยังคงใช้ภาษาดั้งเดิม หรือใช้ภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของท้องถิ่นที่อยู่นั้นๆ
ด้านวัฒนธรรมและวิทยาการ ชาวหุยได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่สมัยหยวนเป็นต้นมา ชาวหุยนำความรู้ด้านดาราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คีตวิทยา เผยแพร่สู่ดินแดนประเทศจีน การประดิษฐ์เข็มทิศ กระดาษ แป้ง การสร้างเครื่องมือเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่ปักกิ่ง เช่น หอดูดาว เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาว เครื่องวัดบ่งทิศ เครื่องวัดเส้นศูนย์สูตร เครื่องวัดตำแหน่งลูกโลก ล้วนพัฒนาขึ้นมาจากความรู้ที่ชาวหุยนำเข้ามาทั้งสิ้น ในสมัยหมิงมีการก่อตั้งสถาบันปฏิทินชาวหุย นอกจากนี้วิศวกรที่มีชื่อเสียงคือ เฮ่อเตียร์ติง (黑迭儿丁 Hè dié’ér dīnɡ) เป็นผู้วางรากฐานการก่อสร้างพระราชวังต่างๆ รวมทั้งพระราชวังกู้กงก็เป็นวิศวกรชาวหุยท่านนี้ ในด้านการแพทย์ ชาวหุยมีตำรับยาและตำราการแพทย์ที่สำคัญอย่าง 《 回回药方》Huíhuí yàofānɡ “ตำรับยาหุยหุย” ก็ได้รับการยอมรับและใช้มาจนถึงปัจจุบัน

การเดินทางค้าขายของชาวหุยแผ่ขยายไปทั่วทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศรวมกว่า 37 ประเทศ มูลเหตุการณ์เดินทางค้าขายนี้เองที่ทำให้เองชาวหุยไม่เพียงแต่นำวัฒนธรรมของตนเผยแพร่สู่นานาประเทศ แต่ยังมีการบันทึกการเดินทางของชาวหุยที่นำมาสู่การสร้างแผนที่การเดินทางทางทะเลที่สำคัญฉบับหนึ่งของจีน

ด้านวรรณคดี มีบทประพันธ์อันทรงคุณค่าของปราชญ์ชาวหุยและเป็นที่ยอมรับมาจนปัจจุบัน เช่น บทประพันธ์ชื่อ 《雁门集》Yànmén jí “ประชุมบทเยี่ยนเหมิน” บทประพันธ์ชื่อ《萨文锡逸诗》Sàwén xīyì shī “กลอนซ่าเหวินซีอี้” บทประพันธ์ชื่อ《西湖十景词》Xīhú shí jǐnɡ cí “ลำนำทศทัศนาสายธาราซีหู” เป็นต้น ในสมัยหยวนมีปราชญ์ชาวหุยชื่อ ซ่านซือ (赡思Shàn Sī) จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ อุทกศาสตร์ และการคำนวณ ในสมัยหมิง มีปราชญ์สาขาปรัชญาชาวหุยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกว่าเกิดจากการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอน ด้านสังคมได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีด้านคุณธรรม และต่อต้านระบบสังคมศักดินา ต่อต้านความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมของชายหญิง นับเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การศึกษาของจีน
การดนตรีของชาวหุยได้รับความนิยมมากในสมัยหยวน ถึงขั้นได้รับยกย่องให้เป็นดนตรีที่ใช้บรรเลงในราชสำนัก ดนตรีหุยจึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านดนตรีของจีน หนึ่งในแปดคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยหยวนคือ หม่าจิ่วเกา(马九皋Mǎ Jiǔɡāo) ก็เป็นชาวหุย เพลงภาษาหุยที่ชื่อ《花儿》Huā’ér “ดอกไม้” ซึ่งเป็นเพลงพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมทั่วไปในมณฑลกานซู่และชิงห่ายก็เป็นเพลงที่นำมาจากท่วงทำนองเพลงพื้นเมืองของชาวหุย ผลงานด้านจิตรกรรม ชาวหุยมีจิตรกรที่มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์หยวน ชื่อ เกาเค่อกง(高克恭Gāo Kèɡōnɡ) และอีกท่านหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสมัยชิงคือ ก่ายฉี (改琦Gǎi Qí) ผลงานของจิตรกรชาวหุยทั้งสองท่านนี้ปัจจุบันได้รับยกย่องให้เป็นมรดกด้านจิตรกรรมอันล้ำค่ายิ่งของจีน
ด้านหัตถกรรม งานฝีมือ ชาวหุยมีฝีมือด้านการแกะสลักงาช้าง แกะสลักหิน การปักผ้า ทอพรม ซึ่งเป็นงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวหุยที่ได้รับการสืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ
ด้านศาสนาความเชื่อ ชาวหุยนับถือศาสนาอิสลาม โดยได้รับอิทธิพลในเรื่องความเชื่อและ วัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมาจากชาวอาหรับและเปอร์เซียมาแต่ครั้งอดีต ชาวจีนในสมัยถังและซ่งมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาน้อยมาก ชาวฮั่นจึงมองการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวอิสลามว่าเป็นพวกไหว้ฟ้าดิน ไหว้ผีสาง แต่ต่อมาในสมัยหยวน ชาวฮั่นเริ่มให้ความสนใจศาสนาอิสลามของชาวหุย โดยเรียกศาสนาอิสลามที่ชาวหุยนับถือว่า ศาสนาหุยหุย มัสยิดอิสลามถูกเรียกว่า โบสถ์หุยหุย สถานที่ปฏิบัติธรรมทางศาสนาอิสลามถูกเรียกชื่อว่าวัดหุยหุย นักบวชในศาสนาอิสลามก็เรียกว่าพระหุยหุย ในสมัยชิงเรียกชนกลุ่มน้อยอื่นๆที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยการเติมคำว่า “หุย” ลงไป เช่น เรียกชนชาวตงเซียงว่า “ตงเซียงหุย”(东乡回Dōnɡxiānɡhuí) เรียกชาวอุยกูร์ว่า “ฉานหุย” (缠回Chánhuí) เรียกชาวซาลาว่า “ซาลาหุย” (撒拉回Sālāhuí) จนมักเกิดความสับสนว่าชนกลุ่มดังกล่าวเป็นชนกลุ่มย่อยของชนเผ่าหุยอยู่บ่อยๆ
ขนบธรรมเนียมของชาวหุย ชีวิตของชาวหุยผูกพันอยู่กับศาสนาอิสลามตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อมีเด็กแรกเกิดจะเชิญอีหม่าม(阿訇 Ā hōnɡ)มาตั้งชื่อให้ลูก เมื่อแต่งงานก็เชิญอีหม่ามทำพิธีแต่งงานให้ เมื่อเสียชีวิตก็เชิญอีหม่ามทำพิธีศพ ที่พิเศษคือชาวหุยจะไม่รับประทานเนื้อหมู ไม่บริโภคเลือดสัตว์และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติของคัมภีร์ กู่หลานจิง《古兰经》Gǔlánjīnɡ หมายถึง “คัมภีร์อัลกุรอ่าน” ที่เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอิสลาม การปฏิบัติตามหลักศาสนา นานวันเข้ากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นับถือเคร่งครัดสืบทอดสู่รุ่นหลัง จนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐมีนโยบายล้มล้างความไม่เท่าเทียมของระบบศักดินา รวมทั้งศาสนาความเชื่อต่างๆ ชาวหุยและชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามรวมพลังกันต่อต้านเพื่อปกป้องศาสนาของตนไว้ นับเป็นเหตุการณ์การรวมเผ่าชาวหุยครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้

ชาวหุยอาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นมาเป็นเวลานาน ซึมซับและรับเอาวัฒนธรรมของชาวฮั่นไปไม่น้อย ในสมัยหมิง ชาวหุยเริ่มเลียนแบบการแต่งกายอย่างชาวฮั่น และเริ่มมีการใช้แซ่และชื่อเหมือนชาวฮั่น จนปลายสมัยหมิงกิจการด้านต่างๆของชาวหุยไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การทหาร การค้า อุตสาหกรรมล้วนหลอมรวมกลมกลืนไปกับชาวฮั่น แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันชาวหุยก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้อย่างมั่นคงและแนบแน่นเช่นเดียวกัน

    ด้านวัฒนธรรมการกิน เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวอิสลามไม่กินเนื้อหมู ชาวหุยก็เช่นเดียวกัน แต่จะกินเนื้อวัว เนื้อแกะ และงู ไม่กินเนื้อม้า ลา ล่อ สุนัข ไม่กินเลือดสัตว์ บ้านเรือนของชาวหุยสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ เมื่อเข้าบ้านของชาวหุยจะเห็นกาน้ำแขวนไว้ที่ขื่อประตู ชาวหุยจะใช้กาน้ำนี้ไว้ล้างหน้าและล้างมือ ชาวหุยจะไม่ใช้อ่างล้างหน้า แต่จะใช้กาน้ำที่แขวนไว้ที่ขื่อประตูนี้สำหรับชำระล้างร่างกาย กาน้ำชนิดนี้ชาวหุยได้รับอิทธิพลมาจากชาวอาหรับ ปัจจุบันโรงแรมที่พักในเมืองที่มีชาวหุยอาศัยอยู่ หากเป็นโรงแรมที่สร้างไว้ต้อนรับชาวหุยโดยเฉพาะแล้ว จะต้องแขวนกาน้ำชนิดนี้ไว้ที่หน้าโรงแรม เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นที่พักแรมของชาวหุยอย่างแท้จริง

ชาวหุยมีเทศกาลสำคัญอยู่สองเทศกาลคือเทศกาลถือศีลอดและเทศกาลกุรปัง เทศกาลถือศีลอดจัดขึ้นในเดือนที่เก้าตามปฏิทินชาวหุย ส่วนเทศกาลกุรปังจัดขึ้นหลังจากเทศกาลถือศีลอดสิ้นสุดลง 70 วัน คือประมาณวันที่ 10 เดือนที่ 12 เพราะเป็นวันสุดท้ายที่พระศาสดาเดินทางไปเมกกะ ชาวหุยจะฆ่าวัว ฆ่าแกะเพื่อบูชา และจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างใหญ่โต

รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ 1

ความคิดเห็น