บัรซันญีที่ใช้อ่านกันมีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนประพันธ์
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد
บัรซันญี (بَرْزَنْجِى) เป็นชื่อของหนังสือบทกวีร้อยแก้ว (نَثْرٌ) และร้อยกรอง (نظم) ที่ผู้คนทั่วไปนิยมนำมาอ่านกันในการทำเมาลิด (รำลึกวันคล้ายวันประสูติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หนังสือเล่มนี้ มีชื่อว่า มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะร่อฟิล อะนาม ประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้
1. เมาลูด อัลบัรซันญีย์ นัซรฺ (ร้อยแก้ว)
2. เมาลูด อัลบัรฺซันญีย์ นัซฺม์ (ร้อยกรอง)
3. กอซีดะฮฺ อัลบุรดะฮฺ อัลมุ่บาร่อกะฮฺ (กาพย์-โคลง)
4. อัดอิยะฮฺ คอตฺมิลฺเมาลูด (รวมบทดุอาอฺ)
5. อะกีดะตุลเอาวามฺ (หลักศรัทธา)
6. รอติบ ซัยยิดินา อัลฮัดดาดฺ
7. ตัลกีน อัลมัยยิตฺ
8. ดุอาอฺ นิซฟิชะอฺบานฺ
9. เมาลูด ดีบะอฺ
รวม 9 บท และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้ รวมบทประพันธ์ของอัลบัรซันญีย์ ไว้ถึง 2 บทจึงเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้รวม ๆ ว่า อัลบัรซันญีย์
อัลบัรซันญีย์ เป็นนามชื่อของท่านอัลลามะฮฺ มุฮัดดิษ ซัยยิด ญะอฺฟัร อิบนุ ฮะซัน อิบนิ อับดิลก่ารีม อัลบัรซันญีย์ มุฟตีย์ มัซฮับ อัชชาฟิอีย์ ณ นครมะดีนะฮฺ กล่าวกันว่าท่านเสียชีวิตในปีฮ.ศ.1177 แต่ท่านอัซฺซะบีดีย์ กล่าวไว้ใน อัลมุอฺญ์ม อัลมุคตัซ ว่า อัลบัรซันญีย์เสียชีวิตในปีฮ.ศ.1184 และท่านอัซซะบีดีย์ เคยพบท่านอัลบัรซันญีย์และเข้าร่วมรับฟังการสอนของท่านอัลบัรซันญีย์ ที่มัสญิดนะบะวีย์
อัลบัรซันญีย์ เป็นเจ้าของหนังสือเมาลิดที่รู้จักกันดีว่า เมาลิด อัลบัรซันญีย์ ซึ่งบางท่านกล่าวว่า มีชื่อ อักดุลเญาฮัรฺ ฟี เมาลิดินนะบี อัลอัซฮัร นับเป็นหนังสือเมาลิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและแพร่หลายมากที่สุดที่ทั้งชาวอาหรับและมิใช่ชาวอาหรับ นิยมอ่านในโอกาสต่าง ๆ มีเนื้อหาสรุปถึงอัตชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นับแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีวิต โดยเริ่มต้นด้วย ประโยคที่ว่า :
أَبْتَدِئُ الإِمْلاَءَ بِسْمِ الذَّاتِ الْعَلِيَّةِ إلخ
ท่านอัลลามะฮฺ ฟะกีฮฺ ชัยคฺ อบู อับดิลลาฮฺ มุฮำมัด อิบนุ อะฮฺมัด อิลลิชฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.1299) ได้อรรถาธิบายบทประพันธ์ร้อยแก้วนี้เอาไว้โดยให้ชื่อว่า อัลเกาลุลมุนญี อะลา เมาลิดิลบัรซันญีย์ และหลานชายของท่านอัลบัรซันญีย์ คือ อัลลามะฮฺ ซัยยิด ซัยนุ้ล อาบิดีน อิบนุ มุฮำมัด อัลฮาดี อิบนิ ญะอฺฟัร อิบนิ ฮะซัน อัลบัรซันญีย์ได้ประพันธ์เป็นร้อยกรอง รวม 198 บทกวี โดยเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า
بَدَ أتُ بِاسْمِ الذَّ اتِ عَالِيَة الشَّأنِ إلخ
กล่าวกันว่า บทกวีร้อยกรองนี้มีชื่อว่า อัลเกากับ อัลอันวัรฺ อะลา อักดิ อัลเญาฮัร ฟี เมาลิดินนะบีย์ อัลอัซฮัรฺ ท่านชัยค์ มุฮำมัด นะวาวีย์ อิบนุ อุมัร อิบนิ อะรอบีย์ อิบนิ อะลี อัลญาวีย์ ได้อรรถาธิบายบทกวีร้อยกรองนี้ในหนังสือตัรฆีบุลมุชฺตากีนฯ
ส่วนบทกวีกาพย์-โคลง (ก่อซีดะฮฺ) ที่มีชื่อว่า อัลบุรดะฮฺ นั้นเป็นบทกวีสดุดีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ประพันธ์โดย อิหม่ามอัลบูซีรีย์ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า : ชะร่อฟุดดีน มุฮำมัด อิบนุ สะอีด อิบนิ ฮะมาดฺ อัซซอนฮาญีย์ อัลบูซีรีย์ บางคนเรียกฉายาท่านว่า อัดดะลาซีรีย์ เพราะบิดามารดาของท่านนั้น คนหนึ่งมาจากเมืองดะลาซฺ อีกคนหนึ่งมาจากเมืองบูซีรฺ , เคยทำหน้าที่อยู่ในกองอาลักษ์ (ดีวานอัลอินชาอฺ) และมีตำแหน่งทางราชการในอียิปต์หลายตำแหน่งด้วยกัน ในสมัยราชวงศ์มัมลูกียะฮฺ และเป็นนักกวีเอกคนหนึ่งในสมัยนั้น ต่อมาอัลบูซีรีย์ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งตัว เคลื่อนไหวไม่ได้ จึงได้ประพันธ์บทกวีสดุดีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพื่อเป็นสื่อ (ตะวัซซุล) ด้วยบทกวีนั้นให้ตนหายจากอาการป่วย บทกวีนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัลบุรอะฮฺ แต่เขาเรียกชื่อมันว่า : อัลก่าวากิบ อัดดุรฺรี่ยะฮฺ ฟี มัดฮิ คอยริลบะรี่ยะฮฺ โดยเริ่มบทกวีแรกว่า
أَمِنْ تَذَكُّرِجِيْرَانٍ بِذِىْسَلَمِ إلخ
ซึ่งรวมบทกวีทั้งหมด 162 บท แบ่งเป็น 12 บทเป็นบทเริ่มของกาพย์-โคลง , 16 บทกล่าวถึงเรื่องของสภาพจิตใจและอารมณ์ , 30 บทกล่าวสดุดีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) , 19 บทกล่าวถึงการประสูติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) , 10 บทเป็นบทขอพร , 17 บทสดุดีอัลกุรอาน , 13 บทว่าด้วยเรื่องการมิอฺรอจญ์ , 22 บทว่าด้วยการญิฮาด , 14 บทว่าด้วยเรื่องการขออภัยโทษ และอีก 9 บทว่าด้วยเรื่องอัลมุนาญาตฺ อิหม่ามอัลบูซีรีย์ เสียชีวิตในปีฮ.ศ.696
สรุปบทกวีอัลบัรซันญีย์ ร้อยแก้วปู่เป็นผู้ประพันธ์และบทกวีร้อยกรองหลานปู่เป็นผู้ประพันธ์ และบทกวีกาพย์-โคลง อัลบุรดะฮฺนั้น อิหม่ามอัลบูซีรีย์เป็นผู้ประพันธ์ ทั้ง 3 บทกวีนี้เป็นการกล่าวถึงอัตชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยรวมส่วนข้อมูลและเนื้อหานั้นอาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากตำรามาตรฐานในด้านซีเราะฮฺ นะบะวียะฮฺอยู่บ้าง แต่รวม ๆ แล้วก็มีข้อมูลสอดคล้องกับตำรามาตรฐานที่ใช้อ้างอิงกัน
ส่วนการระบุถึงช่วงเหตุการณ์ใกล้คลอดท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ของท่านหญิงอามินะฮฺนั้นว่ามีบุคคลสำคัญ เช่น ท่านหญิงมัรยัม (อ.ล.) ท่านหญิงอาซิยะฮฺ พร้อมด้วยเหล่านางฟ้าชาวสวรรค์ (ฮูรุ้ลอัยน์) มาร่วมในขณะนั้นด้วย ผู้ตอบพยายามตรวจทานในตำราอรรถาธิบายซึ่งมีอยู่หลายเล่มก็ปรากฏว่า ผู้อรรถาธิบายเพียงแต่ระบุว่า ท่านหญิงมัรยัม (อ.ล.) คือใคร? ท่านหญิงอาซิยะฮฺคือใคร? เท่านั้นมิได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่ามีหลักฐานสนับสนุนหรือไม่?
ซึ่งถ้าหากกรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง (แต่ก็เป็นไปได้) ก็มิได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือดังกล่าวจะใช้ไม่ได้หรือเชื่อถือไม่ได้เลยทั้งหมด เพราะส่วนที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์นั้นก็มีอยู่ค่อนข้างมากหรือส่วนมาก การเหมารวมว่าเชื่อถือไม่ได้เลย เพราะเอาเรื่องเหตุการณ์ที่ว่ามาข้างต้นเป็นตัวชี้ขาดก็คงเป็นสิ่งที่เกินเลยไปเสียแล้ว จะปฏิเสธเฉพาะตรงเรื่องนั้นก็ว่าไป แต่ถ้าจะเหมารวมโดยไม่พิจารณาเนื้อหาส่วนอื่น กรณีนี้ดูออกจะด่วนสรุปมากไป และที่สำคัญหนังสืออัลบัรซันญีย์เป็นบทกวีมิใช่ตำราอ้างอิงในด้านประวัติศาสตร์หรือซีเราะฮฺนะบะวียะฮฺ จึงไม่ใช่เหตุที่จะนำมาอ้างว่า เชื่อถือได้หรือไม่อยู่แล้ว
والله تعالى اعلى وأعلم
ลองฟังตัวอย่างการอ่านบัรซันญี ต้น 1
credit
www.alisuasaming.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น