การเผยแพร่อิสลามเข้าไปในประเทศจีน

  การเผยแพร่อิสลามเข้าไปในประเทศจีน
       
                                                                           
   ..... อิสลามเข้าไปในประเทศจีนในขณะที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ ตามตำนานของจีนระบุว่า ในสมัยต๋งสง (T'ai Tsung,627-650) จักรพรรดิที่ 2 แห่ง ราชวงศ์ถังมีมุสลิมเข้าไปเผยแพร่อิสลามสี่คนด้วยกัน คือคนหนึ่งไปยังกวางตุ้ง อีกคนหนึ่งไปยังหยางโจว ส่วนคนที่สามและที่สี่ไปยังฉวนโจว คนที่ไปยังกวางตุ้งชื่อสะอัด นักเขียนมุสลิมจีนในศตวรรษที่ 18 ชื่อ ลุย ตาชี ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ "ชีวประวัติของท่านศาสดา (Chee Chea Sheehuzoo)" ซึ่งนายบัดรุดดีน จีนี ได้คัดลงในหนังสือของเขาชื่อ"จีนมุสลิม (Chini Musalman)" ว่า "เมื่อสะอัด บุตรของ อบู วักกอส กลับไปยังประเทศอาหรับหลังจากได้อยู่ที่กวางตุ้งเป็นเวลานาน เคาะลีฟะฮฺ อุษมาน ได้เเต่งตั้งให้เขาเป็นทูตไปยังประเทศจีนอีกครั้งหนึ่งและได้สิ้นชีวิตที่นั่น" ที่กวางตุ้งมีสุสานอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาวจีนมุสลิมไม่น้อยที่เชื่อว่าเป็นสุุสานของละอัด บุตรของ อบู วักกอส แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่เเน่ชัด เพราะสุสานทำนองนี้ยังมีอีกสองแห่งที่มีผู้คนอ้างว่าเป็นสุสานของท่านผู้นี้ คือ ที่ตุรฟานแห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่งที่มะดีนะฮฺ
   
   อิบรอฮีม ที. วาย. มา ชาวจีนมุสลิมที่มีชื่อคนหนึ่งได้เขียนว่า สะอัด คนนั้นคือ สะอัด บุตรของ ละบีด อัล-ฮับชี (อัล-ฮับชีแปลว่า "แห่งอบิสซีเนีย หรือ "แห่งเอธิโอเปีย เพราะท่านผู้นี้เคยไปลี้ภัยกับมุสลิมอื่นฯที่เอธิโอเปียแล้วจึงไปยังประเทศจีน)
   สะอัดฯ ได้เผยแพร่อิสลามในจีนเป็นเวลา 5ปี และเป็นผู้สร้างมัสยิดกวางตา (Kwang Tah Se) ที่กวางตุ้ง และมัสยิดที่ฉวนโจว ที่เรียกว่า "มัสยิดกิเลน"(Chee Lin Se) ทั้งสองมัสยิดนี้ นับเป็นมัสยิดแห่งแรกที่สร้างขึ้นในประเทศจีน และเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้นในต่างประเทศ (นอกอาราเบีย) หออะซานของมัสยิดกวางตา นอกจากจะใช้สำหรับอะซานเชิญคนไปนมาซแล้ว ยังใช้เป็นกระโจมไฟให้สัญญานแก่เรือเดินทะเลอีกด้วย
   
   ........หลังจากสะอัดฯ ไปยังกวางตุ้งไม่นานชาวมุสลิมอื่นฯ ก็ทะยอยเข้าไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งออกได้สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในแคว้นเกียงสี ฮกเกี้ยง และเชเกียง อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่นานกิงและเผยปพร่อิสลามไปยังจังหวัดฮูเป โฮนาน อันฮุย และยังมีมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในยูนาน ติดกับพรมแดนพม่า
   ตามบันทึกของทางการจีนสมัยราชวงศ์ถัง ในราว คศ.652 จีนได้ต้อนรับทูตครั้งแรกจากเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน บุตรของอัฟฟาน
   
   .........ใน คศ.755 นายพลอัน ลู ฉั่น ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงแห่งมณฑลพิงลู ได้ก่อกบฏขึ้นและสามารถยึดเมืองเชี่ยงอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิเซียง วู จักพรรดิซวนจุง (713-756) ต้องหนีออกจากเมือง ศู ทุง (756-763) บุตรของชวงจุง ได้ขอความช่วยเหลือจากอาหรับ เคาะลีฟะฮฺ อบู ญะอฺฟัร อัล-มันศูร แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ ที่บัฆดาดได้สั่งให้ทหารมุสลิมจากคูรอซาน (ในเปอร์เซีย)พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวน 10,000 คนไปช่วยเหลือ จนสามารถปราบกบฏได้อย่างราบคาบ หลังจากปราบกบฏแล้วมีทหารเป็นส่วนน้อยที่กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตน นอกจากนั้นตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศจีนและแต่งานกับหญิงจีน และลูกหลานเกิดมากลายเป็นมุสลิมอย่างอัตโนมัติ
   ในสมัยจักพรรดิชุง(841-847) มีมุสลิมอพยพมาจากบริเวณพรมแดนทางทิศตะวันตก (เอเชียกลาง) เข้าไปอยู่ในกานชู เชนซี และในภาคตะวันตกของแมนจูเรียเป็นจำนวนหลายพันคน และได้แต่งงานกับชาวจีนจนได้ลูกหลานสืบทอดกันมาจำนวนมาก
   ...........ตอนปลายของราชวงศ์ถัง เกิดกบฏที่ชานตุง นำโดยฮวงเซา พวกกบฎได้ฆ่าชาวต่างประเทศที่อยู่ในจีนเป็นจำนวนมาก เฉพาะในกวางตุ้งแห่งเดียวถูกฆ่าประมาณหนึ่งแสนคนส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ นอกจากนั้นเป็นชาวเปอร์เซีย ,ยิว ละคริสเตียน
   
   .......สมัยราชวงศ์สุ้ง หรือซุ่ง หรือ ซ้อง (960-1279)
   ตามบันทึกในสมัยราชวงศ์สุ้งว่า ได้ต้อนรับท6ตจากอาหรับหลายครั้ง
   ใน คศ.1068 เซาะฟัร คอน (ซาฟาร์ข่าน) ประมุขเเห่งเมืองบุคอรอ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุเบกิสถาน) ได้ไปเยือนประเทศจีนและเข้าเฝ้าจักรพรรดิที่ 4 แห่งราชวงศ์สุ้ง จากการไปเยือนของผู้นำมุสลิมคนนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวตาต้าร์ กับชาวจีนมีความใกล้ชิดเป็นเวลานาน
   .......ซัม ชาห์ หลานของเซาะฟัร ได้รับเกียรติ โดยเฉพาะจักพรรดิได้ทรงขนานนามว่า "ผู้ปกป้องชาวตาร์ต้าร์"
   .....บุตรของ ซัม ชาร์ ที่ชื่อกะมาลุดดีน ได้เป็นผู้บัญชาการทหารจีนในสมัยจักพรรดิที่ 10 แห่งราชวงศ์สุ้ง บุตรของกะมาลุดดีนที่ชื่อมะหฺมูด ได้เป็นข้าหลวงของมณฑลยูนาน ต่อมาเป็นข้าหลวงมณฑลชานซี และลูกหลานของมะหฺมูดหลายคน ได้เป็นใหญ่ในสมัยราชวงศ์สุ้ง
   
   ........ สมัยราชวงศ์หยวน หรือหงวน (มงโกล) 1260-1368
   ในขณะที่พวกมงโกลนำโดยเจงกิสข่าน(เตมูจิน)ไปตีเมืองแถบเอเชียตะวันตกในตอนต้นคริสตวรรษที่ 13 นั้น เมื่อไปถึงบุคอรอ เจ้าเมืองที่เป็นมุสลิมทราบดีว่าถ้ารบกับกองทัพมงโกลแล้วอะไรจะเกิดขึ้น จึงได้ยอมสวามิภักดิ์เพื่อรักษาชีวิตของพลเมืองและปกป้องอิสลามจากการทำลายล้างของพวกเจงกิสข่าน การบุกตลุยของเจงกิสข่านทำให้ชนเผ่าต่างฯยอมจำนนและสมัครเป็นทหารของเจงกิสข่าน รวมทั้งชาวมุสลิมด้วย
   ........เจงกิสข่านได้รับบุตรของเจ้าเมืองบุคอรอที่ชื่อ ซัยยิด อะญัล หรือซัยยิดอุมัร ชัมสุดดีน ไปเลี้ยงที่ปักกิ่งและให้การศึกษาทั้งภาษาอาหรับและภาษาจีนอย่างดี กุบไลข่านได้ขนานนามท่านผู้นี้ว่า "ซัยยิด สินี" หมายถึง "ผู้สืบเชื้อสายของท่านศาสดามุฮัมมัดแห่งจีน" 
   .........ในสมัยราชวงศ์หยวนนี้ ชาวมุสลิมมีบทบาทมาก ทั้งในด้านการปกครองและการทหาร ในสมัยไอโกได หรือ อุกไดข่าน นายพลเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ในสมัยุบไลข่านมีรัฐมนตรีหลายคนเป็นมุสลิม ซัยยิด อะญัล ก็เป็นใหญ่โตในสมัยกุบไลข่านนี้เช่นกัน เขาได้สร้างความเจริญและการพัฒนาแก่ประเทศจึนเป็นอันมาก โดยเฉพาะในยูนานและมณฑลต่างฯ ซึ่งมีทั้งหมด 12 มณฑลที่ข้าหลวงเป็นมุสลิม
   
   
   ........ซัยยิด อะญัล เป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ขณะเป็นข้าหลวงแห่งมณฑลยูนานนั้นได้เริ่มทำระบบชลประทานเป็นอย่างดีและสร้างมัสยิดขึ้นเป็นครั้งแรก 2 หลัง ทำให้ยูนานเป็นศูนย์กลางทางศาสนาอิสลามที่สำคัญแห่งหนึ่งของระเทศจีน นอกจากสร้างมัสยิดแล้ว ยังได้สร้างวัดทางพุทธศาสนาและวัดของลัทธิขงจื้ออีกด้วย เขาสิ้นชีวิตในปี คศ.1279 อายุ 67 ปี มีพลเมืองหลายพันคนเข้ารับอิสลามในสมัยของเขา เนื่องจากความดีของเขาที่มีต่อประชาชนโดยไม่เลือกว่าจะนับถือศาสนาใดนี้เอง เมื่อเขาสิ้นชีวิตแล้ว ชาวจีนที่ไม่ใช่มุสลิมได้ก่อสร้างศาลเจ้าสำหรับบูชาท่านผู้นี้
   .......ในสมัยกุบไลข่าน ได้สร้างมัสยิดทั่วทั้งประเทศจีน ทางมณฑลตะวันตกก็มีที่เมือง กานซู เสฉวน ยูนาน และเชี่ยงอัน กับตามศูนย์การค้าสำคัญฯเช่น ฉวนโจว และกวางตุ้งเป็นต้น นักวิชาการ นักการศึกษา และนักประดิษฐ์มุสลิมจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ในประเทศจีนในสมัยกุบไลข่าน ในจำนวนนั้นมีนักประดิษฐ์ปืนใหญ่ 2 คน คืออะลาอุดดีนแห่งมุฟารี และอิสมาอีล แห่งซีเรีย
   
   ........ปืนใหญ่ที่ท่านทั้งสองนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกุบไลข่านเข้าตีเมืองเซียงหยังนั้นหนัก 150 ชั่ง เมื่อยิงออกไปเสียงก้องกัมปนาท ถูกเป้าหมายพังทลาย หลุมกระสุนลึกลงไปในดิน 7 ฟุต ชาวเมืองเซียงหยังตกจมาก ต้องย้อมแพ้ บุตรชายของ ซัยยิด อะญัล ชื่อนาศิรุดดีน ได้เป็นข้าหลวงแห่งมณฑลยูนานสืบต่อจากบิดา จนสิ้นชีวิตใน คศ.1291 และบุตรชายของนาศิรุดดีนชื่อ บะยาน เป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยกุบไลข่าน หลานชายของกุบไลข่านคนหนึ่งได้เข้ารับอิสลามในสมัยเป็นผู้ว่าราชการมณฑลเชนสีและกานซู
   
   .....ในปี คศ.1314 สมัยจักพรรดิ ซุย ชอง (Sui Chong) มีมุสลิมคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีฝ่ายขวา ซึ่งสำคัญกว่ารัฐมนตรีฝ่ายซ้าย และในปีนี้อีกเช่นกันได้สร้างสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาสำหรับมุสลิม
   
   .....อนึ่ง..พวกมงโกลที่ไปตีเมืองทางตะวันตกนำโดยฮาลากู หลานชายของเจงกิ สข่านได้บุกยึดกรุงแบกแดดและฆ่าชาวมุสลิมหลายแสนคน รวมทั้งเคาะลีฟะฮฺด้วย พวกนี้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่พบ เมื่อฆ่ามนุษย์จนอิ่มใจเเล้ว ในที่สุดเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม
   
   ....ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ชาวมงโกล" ได้เขียนไว้ว่า "อา นัน ดา " เป็นชาวมงโกลคนหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองเมืองอันซี ต่อมาได้เข้ารับนับถืออิสลามและเผยแพร่อิสลามไปยังมณฑลนิงเซีย และบริเวณใกล้เคียง และทหารที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเขาจำนวน 1,500,000 คน เข้ารับอิสลามด้วย
   
   ตอนปลายของราชวงศ์หยวน พวกมงโกลเข้ารับอิสลามจำนวนมาก ติมูร์แลงค์ (Timur Lane)บุตรของฮาลากูก็เข้ารับอิสลามด้วย พวกฮั่นก็มีเหมือนกันที่เข้ารับอิสลาม ชาวมุสลิมใหม่ซึ่งต่างเผ่าพันธุ์เหล่านี้อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข โดยยึดถือคำสอนของอิสลามที่ว่า "มุสลิมเป็นพี่น้องกัน" สมัยราชวงศ์หยวน นับเป็นสมัยที่อิสลามได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางมากทีเดียว
   
   ....สมัยราชวงศ์หมิง หรือ เหม็ง (คศ.1368-1644)
   ในสมัยราชวงศ์หมิง มุสลิมมีบทบาทมาก ทั้งด้านการทหารและการบริหาร สหายคนสนิทหลายคนของจักพรรดิจู หยวนจาง(หรือฮุง วู) ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง เช่น จาง ยุย จง,ฮู ดา ไฮ,เทน ยู,ลัน ยุย,มู ยิง,ถัง โห, ฯลฯ ล้วนแต่เป็นมุสลิม
   
   .......จาง ยุย จง (หรือซาง ยุย เซิน)ถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของจักพรรดิ และเป็นขุนนางแห่งมณฑลโว (ฮูเป) จนสิ้นชีวิตในปี คศ.1369
   
   .....มู ยิง หรือมู ยิน ถูกแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงแห่งยูนานในปี คศ.1384 และเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของจีนก่อนสิ้นชีวิตในปี คศ.1392 รัฐมนตรีกลาโหมอีกท่านหนึ่งที่เป็นมุสลิมคือ เตสวน
   
   ... มีการสันนิษฐานว่าจักพรรดิ จู หยวน จาง เป็นมุสลิม เพราะมีข้อพิสูจน์หลายอย่าง อย่างเช่น ลูกพี่ลูกน้องของจู ที่มีนามว่า โก เชียว ซี เป็นมุสลิม,มเหสีของจูก็อยู่ในตระกูล(แซ่) ที่รู้จักกันว่าเป็นต้นตระกูลของมุสลิม, สิ่งแรกที่จูสร้างหลังจากได้สถาปนาจักวรรดิของพระองค์ที่นานกิงก็คือ สร้างมัสยิดหลังหนึ่งที่ถนนซานชานในนครนานกิง (ขณะนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานแล้ว)และหลังจากนั้นไม่ได้สร้างสถานสักการะในศาสนาอื่นอีกเลย 
   
   ในมัสยิดดังกล่าวมีจารึกกลอน "ร้อยคำ" ซึ่งมีข้อความพอสรุปได้ดังนี้
   
   "คัมภีร์เล่มนี้ได้ระบุถึงความเป็นมาของพิภพจักรวาล
   ศาสดาผู้สอนศาสนานั้นเกิดทางทิศตะวันตกอันไพศาล
   ท่านได้รับการดลใจ ซึ่งต่อมาได้บันทึกเป็นหนังสือได้ 30 ภาค ให้ความสว่างแก่มวลมนุษย์
   ท่านคืออาจารย์แห่งจอมราชันย์และจอมจักพรรดิหนึ่งพันองค์
   และเป็นผู้นำของศาสดาทั้งหลาย
   ท่านเป็นผู้ปกป้องประเทศชาติและประชาชน
   ศาสนานั้นพิทักษ์คนยากจนและปกป้องมนุษยชาติจากความหายนะ "
   
   ซึ่งแสดงว่า ผู้จารึกคำกลอนดังกล่าวนี้ต้องเป็นมุสลิม และลูกหลานของจู ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับอิสลามและมุสลิม (โปรดดูรายละเอียดเรื่องนี้ในหนังสือของ Ibrahim T.V. Ma,Muslim In China,Kuala Lumpur หน้า 45-53)
     
      ........เมื่อจูสิ้นพระขนย์แล้ว โอรสองค์ที่ 1 ได้สืบราชสมบัติแทน แต่อยู่ได้ไม่นานก็สิ้นพระชนย์อีก จึงแต่งตั้งโอรสของจักพรรดิองค์ที่ 2ของราขวงศ์หมิงสืบแทน ทำให้เชงสือ (หรือหยุงเล่อ หรือจูตี้) โอรสองค์ที่ 4 ของจักพรรดิองค์แรก(จู) ไม่พอใจมาก จึงปฏิวัติและได้รับความสำเร็จและสถาปนาพระองค์เป็นจักพรรดิองค์ที่ 4 ของราชวงศ์หมิง (ตศ.1402)
   
   ..... เชงสือ ได้แต่งตั้งมุสลิมชื่อเชงโห (เจิ้งเหอ) ให้เป็นแม่ทัพเรือและออกไปปฏิบัติงานยังประเทศต่างฯ เชงโหได้ออกปฏิบัติงาน 7 หรือ 8 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกใน คศ.1405 ได้แวะที่จัมปา ซึ่งเป็นอาณาจักรมุสลิมเล็กฯ อยู่แถบชายฝั่งเวียดนามในปัจจุบัน แล้วจึงเลยไปมะละกาและหมู่เกาะต่างฯในอินโดนิเซีย เชงโห ไปถึงมะละกาขณะที่ปรเมศวรยังมิได้เข้ารับนับถืออิสลาม หลังจากนั้นปรเมศวรได้เสด็จไปประเทศจีน จักพรรดิหยุงเล่อ ได้ทรงมอบหมายให้มุสลิมผู้หนึ่ง ชื่อ ไฮ โจวเป็นผู้ต้อนรับปรเมศวรที่กวางตุ้ง หลังจากกลับจากประเทศจีนปรเมศวรจึงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม
   
   ....... เชงโห ได้ตะเวนไปไกลฯเคยไปถึงมักกะฮฺและได้บำเพ็ญฮัจญ์ และบางครั้งจนถึงเกาะมาดากัสการ์ ในอาฟริกา
   ฉีหยวน (1565-1678) ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "นายทหาร นายธง พลข้าราชการ เจ้าพนักงานซื้อของ และเสมียน รวมทั้งสิ้น 27,870 คน เรือทั้งสิ้น 63 ลำ ลำใหญ่ที่สุด ยาว 444 ศอก กว้าง 180 ศอก (หนึ่งศอกจีนเทียบได้ประมาณ 8 นิ้ว)"
   ....... อิบนุ บัตตูตะฮฺ (1304-1378) ได้เขียนเกี่ยวกับเรือจีนว่า มีสี่ดาดฟ้า มีห้องนอนจำเพาะ และมีห้องนอนโถงสำหรับพ่อค้า ทั้งยังมีสวนครัวปลูกขิงและพืชผักอื่นฯได้ด้วย
   
   .......... ในสมัยจักพรรดิ โต โจ ได้ทรงแต่งตั้ง อิบนู อับดุลลอฮฺ เป็นผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์ พระจักพรรดิได้ทรงก่อสร้างหอดูดาวที่ จีนหยวน และแต่งตั้งให้มุสลิมชื่อ อะลี เป็นผู้อำนวยการปี 1383 จักพรรดิ โต โจ ได้แต่งตั้งมุสลิมสองคนให้แปลตำราภาษาอาหรับหลายร้อยเล่มเป็นภาษาจีน
   
   .......สมัยราชวงศ์แมนจู หรือ เมงจู (1644-1911)
   
             อิสลามได้เจริญรุ่งเรืองตลอดนับแต่แรกจนสิ้นสมัยราชวงศ์หมิง พอมาถึงสมัยราชวงศ์แมนจูชาวมุสลิมกลับถูกกดดันและถูกกดขี่อย่างทารุณ พระจักพรรดิห้ามมุสลิมไม่ให้ไปบำเพ็ญฮัจญ์ และห้ามสร้างมัสยิดตลอดจนห้ามครูสอนศาสนาเข้ามาจากนอกประเทศด้วย ในที่สุดมุสลิมต้องจับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายผู้ปกครองหลายสิบครั้ง ที่สำคัญฯได้แก่
   1.เกิดที่ลานโจว (กานซู) นำโดย มุฮัมมัด อะมีน ปี คศ.1782
   2.เกิดที่ชิน ฟัน เปา นำโดย ชีซาน ปี คศ.1785
   3.เกิดที่ซินเกียง นำโดย ญะฮังกีร ปี คศ.1821-1830
   4.เกิดที่ยูนาน นำโดย มุฮัมมัด สุลัยมาน ปีคศ.1856-1880
   5.เกิดที่ซินเกียง นำโดย ยะอฺกูบข่าน ปีคศ.1856-1880
   
   ..... สมัยสาธารณรัฐ (หลังปีคศ.1911)
   ความกดดันที่มีต่อมุสลิมสิ้นสุดลงเมื่อมาถึงสมัยสาธารณรัฐ นับแต่ปี คศ.1911 มุสลิมเริ่มมีบทบาทอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะในด้านการทหาร ทหารจีนมุสลิมยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อสร้างพื้นฐานสาธารณรัฐ และมีบทบาทไม่น้อยในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น มีทหารจีนที่นับถืออิสลามประมาณ 6% เท่านั้น แต่มียศนายพลมากกว่า 30 นาย
   
   ...... จีนมุสลิมที่มียศสูงในกองทัพของเจียงไคเช็คก็มีหลายคน เช่น นายพลมา จาน ชาน (มุฮัมมัด ฮุสัยน์) นายพล อุมัร ปาย จุง ชี นายพลมุฮัมมัด มา จี หยวน นายพลมา บู ฟาง อดีตข้าหลวงแห่งมณฑลเซี่ยงไฮ้ และต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศซาอุดิอาราเบีย และคนอื่นฯ
   
   ..... ในปี คศ.1912 รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งมุสลิมจีนคนหนึ่งคือ มา ลิน ยี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งกานสู
   เมื่อเจียงคเช็คอพยพมาตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวัน มีมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ติดตามด้วย ในจำนวนนั้น มีนายพล ปาย จุง ซี (สิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม คศ.1966 อายุ 73 ปี)
   
   ......... จำนวนประชากรจีนมุสลิม เนื่องจากทางการจีนไม่แบ่งแยกประชาชนของตนว่านับถือศาสนาใด จึงไม่มีใครทราบว่า บัดนี้ มีชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่จำนวนเท่าไหร่ นอกจากได้ความรู้จากสถิติเก่าฯเท่านั้น อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันว่า ชาวจีนที่นับถืออิสลามอยู่จำนวนมากในมณฑลซินเกียง เสฉวน กานซู และเซี่ยงไฮ้ นอกจากนั้นอยู่ในยูนาน เชนสี โฮนาน และจี้ลี (ข้าหลวงของมณฑลซินเกียงเป็นมุสลิม ชื่อ ซัยฟุดดีน (ไซ ฟู ติง) )
   
   ........Marshall Broomhall หมอสอนศาสนาคริสต์ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Islam in China พิมพ์ คศ.1910 ที่ลอนดอน หน้า 216 ว่ามีจีนมุสลิมประมาณ 5-10,000,000 คน
   
   ..... M.de Thiersan กงสุลฝรั่งเศศในจีนบอกว่าในปี คศ.1878 มีจีนมุสลิมประมาณ 20,000,000 คน (ตามหนังสือของบรูมฮอลส์ หน้า 194)
   
   The Encyctopaedia of Misson ว่ามี 30 ล้านคน
   ...... นสพ.ประชาธิปไตย ฉบับพิเศษเนื่องในโอกาสเปิดสัมพันธภาพทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม 2518) ว่ามี 10,000,000 คน
   
   The Book of World 1971 ว่ามีจีนมุสลิม 36,000,000 คน
   บัดรุดดีน จีนี ในหนังสือ "จีนมุสลิม" (China Musalman,Maarif Press Azamgarh,1935,p.236) บอกว่ามี 39,918,000 คน
   China Year Book 1948,The World Almanak and Book of Facts 1948 พิมพ์โดยThe New York World Telegram บอกว่ามี 48,000,000 คน
   
   World Muslim Gazetteer,Karachi,1964 ว่ามี 75,504,000 คน
   จากการบอกเล่าของ อุษมาน วู ผู้แทนทางการของสหภาพมุสลิมแห่งจีน (The Islamic Union of China ) ขณะไปเยือนกรุงไคโร ว่ามี 50.000,000 คน
   
   จู เอิน ไหล พูดที่บันดงเมื่อปี คศ.1954 บอกว่ามีมุสลิมประมาณ 12% (ถ้าประชาชนจีนมี 800 ล้านคน เป็นมุสลิม 96 ล้านคน)
   ส่วนมัสยิดนั้น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประมาณ 16,600 แห่ง แต่หลังจากคอมมิวนิสต์ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ มัสยิดบางแห่งถูกเปลี่ยนเป็นโรงงาน เช่น มัสยิดที่ถนน ซานชาน ที่นานกิง เป็นต้น 
       
   ที่มาจากเฟสบุ๊คของ Hussein Nawikkayothin   https://www.facebook.com/photo.php?fbid=556999614420021&set=a.192064500913536.40796.100003299632983&type=1&theater

ความคิดเห็น