ดอยวาวี วิถี มนต์เสน่ห์อีกแห่งหนึ่ง ความหลากหลายแห่งฃาติพันธ์ ศาสนา


“ดอยวาวี” วิถีคนยอดดอย มนต์เสน่ห์แห่งชาชั้นเยี่ยม 
  โดย ชุมพล ศรีสมบัติ
คำว่า “วาวี”ในปัจจุบัน ว่ากันว่าแผลงมาจากคำว่า “วะวี ” เพราะพูดง่ายกว่า ดอยวาวี นับเป็นแห่งมนต์เสน่ห์อีกแห่งหนึ่งนับจากชาวจีนฮ่อ ได้ย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่หมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน

บนดอยวาวี ยังมีความเป็นเอกอีกอย่างหนึ่งที่ชวนให้ ใครๆ หลงใหล หลงรส นั่นก็คือ เสน่ห์แห่ง “ชา” ที่ชาวบ้านบนดอยวาวี ปลูกกันเป็นอาชีพหลักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะที่มีมีชาวจีนฮ่อ หรือ จีนยูนนาน มาอาศัยอยู่ยุคเดียวกันกับกองพล 93 ที่ดอยแม่สลอง (ที่ขึ้นชื่อเรื่องชาเช่นกัน)
ส่งผลให้ดอยวาวีนิยมปลูกชากันมาก ประกอบกับบริเวณนี้มีสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เหมาะกับการปลูกชา … และที่น่าสนใจมากก็คือ การที่ได้รู้ว่าในสมัยก่อนนั้น นิยมนำใบชามาทำเมี่ยงมากกว่า และในปีพุทธศักราช 2467 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำเมี่ยงครั้งสำคัญ คือ พ่อเฒ่า (ชาวจีนฮ่อ) ได้พบกับพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว ได้แนะนำกรรมวิธีการผลิตชาจากยอดอ่อนต้นชา




พ่อเฒ่าจึงตัดสินใจทำชาตามคำแนะนำ และสามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าการทำเมี่ยง การจัดเก็บง่าย ขนส่งสะดวก และได้ราคาขายดีกว่า ต่อมาพี่น้องชาวจีน และชาวเขาที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงก็หันมาทำชาจากยอดต้นชา ทำให้ไร่ชาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตเริ่มดีขึ้น



        ที่นี่มีโรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อ โรงเรียนกวางฟูวิทยาคม  เด็กนักเรียนตำบลวาวี สามารถเรียนภาษาจีนได้ฟรี หรือ เสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้ที่มีความรู้ทางด้านภาษาจีนอย่างดีเยี่ยม เพราะมีครูจากไต้หวันมาสอนให้ โดยเด็กนักเรียนต้องพูดภาษาจีนกันทุกคนภายในโรงเรียน เมื่อเรียนถึงขั้นสูง ยังมีทุนให้ไปเรียนต่อยังประเทศไต้หวันอีกด้วย( อ้างอิงจากhttp://www.oknation.net/blog/supawan/2009/01/15/entry-1)


ในส่วนของชาวมุสลิม มีอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน จำนวนสัปบุรุษ มีจำนวนสองร้อยกว่าคน ตามคำบอกเล่าของอดีตกำนัน ชื่อเรียกกันว่า กำนันป๋อง จากเอกสาร ที่ระลึกงานเมาลิด ปี ฮ.ศ. 1427 มัสยิดอัฏฏออะต์-วาวี (30 เมษายน 2549  ได้เล่าถึงความเป็นมาของมัสยิดไว้ว่า เมื่อปีพ.ศ. 2497 มีบุคคลคณะหนึ่ง ที่นับถือศาสนาอิสลาม อพยพมาจากมณฑลยูนาน ได้มาปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านวาวีแห่งนี้
“… เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ใดมีมุสลิม ที่นั้นต้องมีมัสยิด ไว้เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมในการทำการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า ปรึกษาหารือ กันในเรื่องราวต่างๆ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุด คือการเรียนการสอนในเรื่องการปฏิบัติของศาสนา..”
แกนนำในขณะนั้นจึงได้ร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้น ด้วยแรงศรัทธาของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ เป็นอาคารทำด้วยไม้หลังคามุงจาก แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสังกะสีและหลังคามุงกระเบื้อง และจนมาเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กในปัจจุบันตามลำดับ
ผมได้เดินทางไปทำงานที่ดอยวาวี ภาพที่ผมอยากเห็นก็คงไม่พ้นของวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่า ๆ สไตล์จีน กำแพงบ้าน หนา ๆ หรือ จะเป็นตลาด ซึ่งนับวัน ก็เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา



วาวี วันนี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่ความเจริญได้ก้าวลึกเข้าสู่หุบเขานี้ วิถีการใช้ชีวิตของผู้คน เริ่มเปลี่ยนไป ตามสากลนิยม (ผมยังไม่รู้ว่าคำๆ นี้เขาใช้อะไรเป็นมาตรฐานชี้วัด) ชีวิตบนดอย เหมือนชีวิตเมืองใหญ่ ที่ทุกชีวิต ต้องดิ้นรน เพื่อให้ตนเองอยู่รอด ตึกรามบ้านช่องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว บ้านดิน บ้านไม้ เริ่มถูกรื้อถอน เปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความมั่นคง
เราหาคำตอบไม่ได้กับความเจริญ ที่นำพาชีวิตผู้คน ต้องอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ชีวิตของคนมีความต้องการมากขึ้นนอกจากปัจจัยสี่  กระแสสื่อยุคโลกาภิวัฒน์ ทะลุ ทะลวง เข้าทุกพื้นที่ ไม่เว้นแต่ในห้องนอน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น ทีวี ดาวเทียม วิ่งขึ้นไปบริการถึงที่ ถึงมันไม่มา เราก็เสาะแสวงหามันมาเป็นเจ้าของ ด้วยกับ ค่านิยม คำว่า หน้ามีตาไม่มีหนี้ก็ไม่มีหน้า
ด็ก ๆ บนดอย ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อไปเรียนภาษาจีน ที่โรงเรียนจีนที่ดีที่สุด มีผู้คนจากหลายพื้นที่ ส่งลูกมาเรียน ภาษาจีน เพราะที่นี่มีการสอนภาษาจีนถึงมัธยมศึกษาปีที่หก



หลังจากเลิกจากโรงเรียนจีน ก็ต้องไปโรงเรียนสามัญภาคภาษาไทยอีก พอตกตอนเย็นก็กลับไปเรียนภาษาจีนอีก หมุนเวียนกันอย่างนี้ ทุกเมื่อเชื่อวัน 
คนหนุ่มคนสาวในหมู่บ้านแห่งนี้แทบไม่มีให้เห็น..เหลือแต่เด็ก กับคนแก่ เนื่องจากชุมชนไม่มีแหล่งที่จะทำรายได้เลี้ยงดูเขาเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามายังเมืองหลวง หรือเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ด้วยกับคำแนะนำจากเพื่อน ญาติพี่น้อง บางส่วนก็มุ่งสู่ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นแหล่งทำเงิน แห่งหนึ่งของพี่น้องในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ดอยวาวี หรือจากชุมชนดอยแม่สลอง

การศึกษาบ้านเรา เหมือนกับผมเคยได้ยินหลายท่านพูดว่า การศึกษาแบบพลัดพราก เพราะจบมาแล้วไม่มีงานทำ ผู้รู้มีอยู่มากมายแต่ไม่มีงานรองรับในพื้นที่ ด้วยกับกระแสดังกล่าวข้างต้นกับจะต้องนำพาชีวิตให้รอด
จริงหรือ ที่เราอยู่บ้านแล้วจะไม่มีอะไรกิน จริง หรือ มีเงินมีทองแล้วจะได้สบายมีความสุข จริงหรือ ถ้าไปทำงานนอกบ้านแล้วจะประสบความสำเร็จ ขนแก้วแหวนเงินทอง มาซื้อรถ สร้างบ้านมีสักกี่คนที่เขาถึงเป้าหมายตรงนี้…. เป็นคำถามที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่แท้จริง


“ดอยวาวี” วิถีคนยอดดอย มนเสน่ห์แห่งชาชั้นเยี่ยม โดย ชุมพล ศรีสมบัติ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2557

ความคิดเห็น