การใช้หลักอิสลามมาเป็นหลักในการเยียวยาจิตใจตนเองเมื่อมีภาวะวิกฤต

การใช้หลักอิสลามในการดูแลจิตใจเมื่อมีภาวะวิกฤต




นายแพทย์ดำรงค์ แวอาลี
จิตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
อดีตนายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข

การใช้หลักการศาสนาอิสลาม  ทั้งหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ  แนวทางคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะห์ มาเป็นหลักในการเยียวยาจิตใจตนเอง  จะทำให้สามารถดูแลจิตใจได้ดี เพราะเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจอยู่แล้ว  ทำให้เข้าถึงจิตใจและจิตวิญญาณได้ดี

๑. การทดสอบจากอัลลอฮ์
เป็นการมองว่าภัย  หรือ  เหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบนั้นเป็นการทดสอบของอัลลอฮ์ต่อบ่าวของพระองค์  บางคนอาจถูกทดสอบในรูปแบบของความสุขสบาย   เพื่อดูว่าเขาจะรำลึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์ประทานมาให้หรือไม่  เขาจะแบ่งปันให้คนรอบข้างหรือสังคม หรือไม่  ในขณะที่บางคนถูกทดสอบด้วยความทุกข์  ความสูญเสียต่างๆ    ดังนั้นถ้าเราถูกทดสอบด้วยความสูญเสีย  เราจึงต้องอดทนไม่สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์   เพื่อที่จะผ่านการทดสอบจะยิ่งทำให้ความศรัทธาและสุขภาพทางจิตวิญญาณ   หรืออีมานของเราจะเข้มแข็งขึ้น อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ใน  ซูเราะ อัล-บากอรอฮ์   (๒:๑๕๕-๑๕๖)  ความว่า

“และแน่นอน  เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความกลัว ความหิว และด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต  และพืชผล  และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่อดทนเถิด  คือบรรดาผู้ที่เมื่อเคราะห์ร้ายประสบแก่พวกเขาแล้วพวกเขาก็กล่าวว่า  แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์  และแท้จริงเราจะกลับไปยังพระองค์”


๒. การกำหนดของอัลลอฮ์
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าร้ายหรือดี  เป็นสิ่งที่ได้ถูกกำหนดแล้ว  สำหรับแต่ละคน  ดังนั้นเมื่อเราต้องประสบกับวิกฤตการณ์หรือความทุกข์  ความสูญเสีย  ก็ให้ยอมรับว่านั่นเป็นลิขิตที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ก่อนที่มนุษย์จะเกิดมาดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์  อัล-ฮาดีด ( ๕๗:๒๒-๒๓ ) ความว่า

“ไม่มีเคราะห์กรรมอันใดเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้   และไม่มีแม้แต่ในตัวของพวกเจ้าเอง  เว้นแต่ได้มีไว้ในบันทึกก่อนที่เราจะบังเกิดมันขึ้นมา  แท้จริงนั่นมันเป็นการง่ายสำหรับอัลลอฮ์  เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า  และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า  และอัลลอฮ์มิทรงชอบผู้หยิ่งจองหองและคุยโวโอ้อวด”

ท่านศาสนามูฮำหมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)  ยังได้กล่าวไว้ความว่า

“แท้จริงทุกๆคนในหมู่พวกท่านได้ถูกรวบรวมในการสร้างเขาในครรภ์มารดาเป็นเวลา ๔๐  วัน  ในรูปของนุฏฟะ หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นเลือดก้อนหนึ่งภายในระยะเวลาเดียวกัน  และแล้วมลาอิกะห์ก็ถูกส่งลงมายังเขาเพื่อเป่าวิญญาณ (รูฮ์) และถูกบัญชาให้บันทึก ๔   ประการด้วยกันคือ ปัจจัยยังชีพของเขา  อายุขัยของเขา  กิจการงานของเขา และสุขหรือทุกข์ของเขา  ดังนั้น...”

ดังนั้นเมื่อมีความทุกข์ยาก เกิดเหตุการณ์หรือพิบัติภัยต่างๆ ต่อเขา  มีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียทรัพย์สิน  เขา ก็ควรยอมรับว่าเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ก่อนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และเขาไม่สามารถหลีกหนีสิ่งเหล่านี้ได้ และเป็นการทดสอบจากพระองค์

๓. ให้รำลึกถึงอัลลอฮ์
เมื่อเกิดความทุกข์ความกังวลจากสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดความหวาดกลัว  หวาดระแวง  จิตใจไม่สงบก็จงรำลึกถึงอัลลอฮ์ให้มากๆ  จะทำให้จิตใจสงบเป็นสุขได้  ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะห์  อัร-รออ์ดุ    (  ๑๓:๒๘)  ความว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาและจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์พึงทราบเถิดว่าด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์เท่านั้นทำให้จิตใจสงบ”

ดังนั้นมุสลิมผู้ศรัทธา  เมื่อประสบเคราะห์กรรมต่างๆ  จึงต้องมีสติ  และมีการรำลึกถึงอัลลอฮ์ตลอดเวลา  เพื่อให้จิตใจเขาสงบ การรำลึกถึงอัลลอฮ์นั้น ทำได้ตลอดเวลาทั้งการคิดและการกระทำ  เช่น  การซิกรุลลอฮ์  การละหมาด การขอพร(ดุอาอ์) การอ่านคัมภีร์อัล-กุรอาน  และการทำความดีทั้งหลาย

. การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ ( ตะวักกัล )
เมื่อเราเกิดความรู้สึกวิตกกังวลต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือหวาดระแวง  หวาดกลัวในเหตุการณ์ข้างหน้า  ก็ขอให้เราได้มอบหมาย (ตะวักกัล)  ต่ออัลลอฮ์  ไว้วางใจต่อพระองค์  เมื่อใดก็ตามที่เรามีจิตใจพึ่งพาและมอบหมายต่อพระองค์แล้ว  เราจะได้รับการปกป้องให้พ้นจากความวิตกกังวล  ความกลัว  และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงในสถานการณ์ที่ไม่สงบเช่นนี้  พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในซูเราะห์-อัต-ฎอลาภ ( ๖๕:๓ )  ความว่า
“…และผู้ใดมอบหมายต่ออัลลอฮ์  พระองค์ก็จะเป็นผู้ทรงพอเพียงแก่เขา…”

๕.  การปฏิบัติศาสนกิจ
การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น  การละหมาดซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติวันละ ๕ เวลา  เป็นการเข้าเฝ้าอัลลอฮ์  ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องมีสมาธิ  มีความสงบจิตใจรำลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา  ดังนั้นผู้ที่มีความทุกข์  ความเครียดในจิตใจ  เมื่อเขาได้ละหมาดเขาจะมีสมาธิมีจิตใจที่สงบ  เมื่อรวมกับท่าทางการเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะมีการโค้ง  ก้ม  กราบ  ยืน  และนั่ง  ในระยะเวลาที่เหมาะสม  จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้มาก

๖.  มุมมองของความทุกข์และความลำบาก
การตกอยู่ในความทุกข์ยากความกังวลใจ  ประสบกับสิ่งเลวร้ายต่างๆ  นอกจากเป็นการทดสอบจากอัลลอฮ์แล้ว  ให้เราถือว่าเป็นความเมตตาของพระองค์  ถือว่าพระองค์ทรงรักและจะลบล้างบาปต่างๆ  เป็นการชำระล้างหัวใจให้บริสุทธิ์  เมื่อถึงวันแห่งการพิพากษาบาปของเราจะได้ลดลงดังที่ท่านศาสดามูฮำหมัดได้กล่าวไว้ความว่า

“ไม่มีสิ่งใดที่มาประสบกับมุสลิมจากความยากลำบาก   ความป่วยไข้  ความกังวลใจ  ความเศร้าเสียใจ  ความเจ็บปวด  ความหวาดวิตก  แม้แต่หนามอันหนึ่งที่ทิ่มแทง  เว้นแต่อัลลอฮ์จะลบล้างความผิดบาปต่างๆ ของเขาให้”
“เมื่ออัลลอฮ์ต้องการให้บ่าวคนใดได้รับความดีพระองค์รีบลงโทษเขาในดุนยา(โลกปัจจุบัน)  เมื่อพระองค์จะให้บ่าวประสบกับสิ่งเลวร้าย  พระองค์ก็เก็บบาปของเขาไว้จนกระทั่งเขาถูกนำมาในวันกียามะฮ์พร้อมกับบาปนั้น”

         ๗.  การคิดถึงความโปรดปรานของอัลลอฮ์
เมื่อเราเกิดความทุกข์ความลำบากจากเหตุการณ์ต่างๆ  ก็ขอให้เราได้มองถึงความเมตตาและความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ได้ประทานมาให้เราก่อนหน้านั้นและในปัจจุบัน  ซึ่ง เราจะพบได้ว่า ความเมตตาที่เราได้รับนั้นมีมากมายจนไม่สามารถเทียบกับความทุกข์ยากที่เกิด ขึ้นในครั้งนี้ การคิดเช่นนี้จะทำให้มีจิตใจสงบสุขและมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตต่อไป

๘.  การขอดุอาอ์/วิงวอน
ให้เราวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์  ให้ทรงคุ้มครอง  ทรงช่วยเหลือ  ชี้แนะแนวทางขอให้เราพ้นจากความตื่นตระหนก  ความหวาดกลัว ความว้าวุ่นใจเป็นต้น  ซึ่งอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอำนาจที่จะช่วยเราได้  พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์  อัล-บากอรอฮ์ ( ๒:๑๘๖)  ความว่า

“และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วก็  (จงตอบเถิดว่า)  แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้   ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน  เมื่อเขาวิงวอนต่อข้า ดังนั้น  พวกเขาจงตอบรับข้าเถิด  และศรัทธาต่อข้า  เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง”

มีบทดุอาอ์บทขอพรมากมายที่ท่านศาสดาได้พูดถึงเมื่อมีความทุกข์ เช่น

“โอ้อัลลอฮ์  ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์กังวล   ความเศร้าเสียใจ  การไร้ความสามารถ ความเกียจคร้าน  ความตระหนี่  ความหวาดกลัว  การแบกภาระหนี้สิน  การตกอยู่ภายใต้อำนาจมนุษย์”

๙.  การระงับความโกรธ
คนเราเมื่อมีความโกรธต้องรู้จักระงับความโกรธและระบายออกอย่างเหมาะสม  ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดผลเสียตามมามากมาย  ทั้งทางร่างกายและจิตใจ   อาจเกิดความเคียดแค้นตามมา   ความโกรธเป็นงานของมารร้าย    (ชัยตอน)  ดังนั้นเมื่อเราโกรธก็ขอให้เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮ์   ให้พ้นจากชัยตอนที่ถูกสาปแช่ง  ท่านศาสดามูฮำหมัด  กล่าวไว้ความว่า

“ใครก็ตามที่ได้ระงับความโกรธ  ซึ่งหากเขาต้องการที่จะแสดงมันออกมา  มันก็ปรากฏออกมาบนตัวเขาได้   อัลลอฮ์จะเติมหัวใจของเขาให้เต็มไปด้วยความสุกใสในวันกียามะห์”  ท่านศาสดายังกล่าวต่ออีกว่า “ท่านอย่าโกรธ  แล้วสวรรค์จะเป็นของท่าน”

๑๐. การให้อภัย
การให้อภัยอย่างแท้จริงนั้นจะทำให้จิตใจเป็นสุขมีความสงบไม่เคียดแค้น  การตกเป็นเหยื่อจากสถานการณ์ชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม  ย่อมก่อให้เกิดความโกรธ  ความเคียดแค้นต่อฝ่ายตรงข้าม  แต่การให้อภัยต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง  จะทำให้จิตใจสงบ  ไม่ทุกข์  ถึงแม้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก  แต่ถ้าเรากลับไปศึกษาประวัติท่านศาสดามูฮำหมัด  จะพบว่าท่านเป็นตัวอย่างของผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง ให้อภัยแม้ผู้ที่คิดร้ายต่อท่าน  ถ้าเราเป็นคนที่ระงับความโกรธ  และให้อภัย  เราจะได้สวนสวรรค์ตามที่อัลลอฮ์ได้สัญญาไว้ใน      ซูเราะห์  อาลิอิมรอน (๓: ๑๓๓-๑๓๔)  ความว่า

“และพวกเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและไปสู่สวนสวรรค์  ซึ่งความกว้างของมันนั้นคือ บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินโดยที่มันถูกเตรียมไว้  สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง  คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขและยามเดือดร้อน  และบรรดาผู้ข่มโทสะ  และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์  และอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย”
ที่มา
http://www.wamythai.org

ความคิดเห็น