มิติความปานกลางในการใช้ชีวิตบนโลกนี้ (คุตบะฮฺ ของ เชค.ดร. อาลี อับดุรรอห์มาน อัลหุซัยฟีย์ อิมาม มัสยิด นบะวีย์ ที่มหานคร อัล มะดีนะฮฺ)

มิติความปานกลางในการใช้ชีวิตบนโลกนี้
(คุตบะฮฺ ของ เชค.ดร. อาลี อับดุรรอห์มาน อัลหุซัยฟีย์  อิมาม มัสยิด นบะวีย์ ที่มหานคร อัล มะดีนะฮฺ)

แปล โดย อ. มุหำหมัด   บินต่วน

        อิสลามเป็น ศาสนา ที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโลกให้เจริญรุ่งเรือง ส่วนการพัฒนาโลกให้เจริญรุ่งเรืองนั้นจะต้องธำรงไว้ซึ่งหลักธรรมแห่งศาสนา และการพิทักษ์สิทธิต่างๆไว้บนโลก ซึ่งในมิติแห่งความเจริญ หมายถึงการทำให้โลกเจริญทั้งในด้านศีลธรรม จริยธรรม ควบคู่กันไปกับความเจริญทางวัตถุ ที่ยังประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ และทำให้มนุษย์มีการดำรงชีพอย่างมีความสุขที่เป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบแห่งคุณธรรมและศีลธรรม โดยที่มิใช่ทำให้ด้านวัตถุเป็นที่คาดหวังอย่างสุดโต่ง แต่จะเป็นการพัฒนาที่มีเป้าหมายทั้งด้านคุณธรรม ศีลธรรม และด้านวัตถุให้มีความเจริญอย่างสมดุล
           การมีดุลยภาพทั้งสองมิติควบคู่กันไป ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นจึงถือเป็นโชคลาภมหาศาลที่หากบุคคลใดที่มีคุณสมบัติที่พระองค์อัลลอฮฺทรงรักและพอพระทัย (ประกอบกรรมดี) และเขาก็มีความศรัทธา(อีมาน) และความเชื่ออย่างมั่นคง(ยะกีน)ต่อพระผู้เป็นเจ้า และความหายนะจะเกิดกับบุคลที่มีคุณสมบัติที่เลวร้าย ขาดศีลธรรม (ประกอบกรรมเลว) ความดีงามของประชาชาตินี้ในรุ่นแรกได้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศของการมีคุณธรรมแห่งความพอเพียง สมถะ (อัซซุด์) และความศรัทธา(ยะกีน) และความหายนะของประชาชาตินี้ ก็เกิดจากสาเหตุความลุ่มหลง ใฝ่ฝันในด้านวัตถุที่ขาดดุลยภาพ
           สำหรับคุณธรรมแห่งความพอเพียง(อัซซุฮฺด์)ที่จำเป็นคือ การยับยั้งอารมณ์จากการกระทำในสิ่งต้องห้าม และการให้สิทธิต่างๆกับผู้อื่นตามพันธกรณี และหน้าที่ที่จำเป็น ในส่วนที่นอกเหนือไปกว่านั้น ก็ถือเป็นความการุน คุณธรรม และความดีงามต่างๆ ที่ศาสนาส่งเสริมให้มี และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันบนพื้นฐานของคุณธรรม ซึ่งพระองค์ อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนบุคคลที่มีคุณธรรมดังกล่าว ด้วยผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ด้วยกับการยกฐานะเขา ปกป้องเขาให้พ้นจากสภาพของความอัปยศแห่งโลกนี้ และให้เขาได้ประสบกับบั้นปลายแห่งชีวิตทีดีงาม พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า
{فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَاسْمَعُوا وَأَطِيعُوا وَأَنْفِقُوا خَيْرًا لِأَنْفُسِكُمْ وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ } ـ سورة التغابن/ آية 16
ความหมาย “ดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงมีความยำเกรง(ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ ตามความสามารถ และสูเจ้าทั้งหลายจงฟัง จงเชื่อฟัง จงบริจาคทาน ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นความดีงามที่สูเจ้าจะได้รับกับตัวของสูเจ้าเอง และผู้ใดก็ตามที่ปกป้องตัวของเขาจากความตระหนี่ พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน โองการที่16)
           ความสำเร็จ (อัลฟะลาห์) คือตำแหน่งที่บ่าวคนหนึ่งจะได้รับด้วยกับความเมตตา(เราะมะฮฺ)ของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) ดั่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงบรรยายสภาพของศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาผู้ที่ศรัทธาโดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า
{لَكِنِ الرَّسُولُ وَالَّذِينَ آمَنُوا مَعَهُ جَاهَدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنْفُسِهِمْ وَأُولَئِكَ لَهُمُ الْخَيْرَاتُ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ} ـ سورة التوبة:آية 88
ความหมาย “แต่ว่า ศาสนทูตและบรรดาชนผู้ศรัทธาทั้งหลายที่อยู่พร้อมกับเขา พวกเขาได้เสียสละในวิถีทางของอัลลอฮฺ ด้วยกับทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขา พวกเขาเป็นบุคคลที่ได้รับการตอบแทนความดีงามอันมากมาย และพวกเขาเป็นบรรดากลุ่มชนที่ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัตเตาบะฮฺ โองการที่ 88)
             ดังนั้นการมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีน้ำใจ จิตกุศล คิดในแง่ดี มีคุณธรรม  เป็นบริบทที่ควบคู่ไปกับการมีคุณลักษณะที่พอเพียง สมถะ(ซุฮฺด์) และการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีคุณลักษณะดังกล่าว หรือคุณธรรมอื่นๆ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกับการมีหลักศรัทธา(อะกีดะฮฺ)ที่ถูกต้อง ย่อมทำให้เขาได้เข้าสู่สวนสวรรค์ ด้วยกับความสันติ มีรายงานจากท่านอะนัส (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า ในขณะที่พวกเราได้นั่งร่วมอยู่กับท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (รอซูลลุลลอฮฺ – ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ท่านได้กล่าวกับเราว่า
«يطلُعُ عليكم الآن رجلٌ من أهل الجنة»
         ความหมาย “ตอนนี้จะมีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นชายชาวสวนสวรรค์เข้ามาหาพวกท่านทั้งหลาย” ทันใดนั้นได้มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวอันซอรฺ ได้ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าพวกเราในสภาพที่เคราของเขามีหยดน้ำหยดลงมาเนื่องจากการเอาน้ำนมาซและมือซ้ายของเขาก็เกี่ยวรองเท้าทั้งสองของเขาไว้ และในวันต่อมาท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)     ท่านได้พูดกับพวกเราเหมือนกับเมื่อวาน และชายคนดังกล่าวก็ได้ปรากฏตัวขึ้นเช่นเดียวกับครั้งแรก พอในวันที่สามท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ท่านก็ได้พูดกับพวกเราอีกเหมือนกับที่เคยพูดกับเราในครั้งที่ผ่านมา และผู้ชายคนเดิมก็ได้ปรากฏตัวในสภาพเดียวกันกับการปรากฏตัวของเขาในครั้งแรก
           เมื่อท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (รอซูลลุลลอฮฺ – ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ลุกจากไป ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ได้ตามชายคนนั้นไป และได้พูดขึ้นว่า “ฉันมีปากเสียงบางประการกับพ่อของฉัน จนกระทั่งฉันได้สาบานว่าฉันจะไม่เข้าไปหาเขาเป็นเวลาสามวัน หากท่านกรุณาให้ที่พักพิงแก่ฉันจนกว่าช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านไป ท่านทำได้หรือไม่” ชายคนนั้นก็ได้ตอบว่า “ได้ครับ”
           ท่าน อนัส (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ได้เล่าให้ฟังในช่วงเวลาทั้งสามคืนที่เขาได้พักแรมอยู่กับชายคนนั้นว่า เขาไม่เห็นชายคนนั้นได้ลุกขึ้นนมาซซุนนะฮฺในยามค่ำคืน(นมาซตะฮัจญุด)ใดๆเลย ยกเว้นเมื่อเขาตื่นขึ้นมาในยามค่ำคืน เขาก็จะพลิกตัวบนที่นอนของเขาและ กล่าวรำลึก(ซิเกรฺ) กล่าวตักบีร ต่ออัลลอฮฺ จนกระทั่งทำนมาซฟัจญ์ริ อับดุลลอฮฺได้กล่าวต่ออีกว่า “ฉันไม่เคยได้ยินเขาพูดสิ่งใดเลยยกเว้นพูดแต่สิ่งที่ดี”  และเมื่อช่วงเวลาผ่านไปสามคืน ฉันเกือบที่จะถือว่าการกระทำของเขาน้อยมาก ฉันจึงพูดว่า “โอ้ อับดุลลอฮฺ เอ๋ย ระหว่างฉันกับพ่อของฉันไม่เคยมีการโกรธเคืองกัน ไม่เคยมีการผละออกห่างจากกันละกันเลย แต่ทว่าฉันได้ยิน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวกับท่าน ถึงสามครั้ง ว่า
«يطلُعُ عليكم الآن رجلٌ من أهل الجنة»
          ความหมาย “ตอนนี้จะมีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นชายชาวสวนสวรรค์เข้ามาหาพวกท่านทั้งหลาย”  และท่านก็ได้ปรากฏตัวทั้งสามครั้งเช่นกัน ฉันจึงต้องการที่จะพักอยู่กับท่าน เพื่อฉันจะได้เห็นการงานของท่านและฉันจะได้นำมันมาปฏิบัติตาม แต่ฉันก็เห็นท่านมิได้ปฏิบัติการงานใดๆที่ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด แล้วสิ่งใดเล่าที่ทำให้ท่านได้บรรลุถึงสิ่งที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึง ชายคนนั้นได้กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่อื่นไปจากที่ท่านได้ประจักษ์” เมื่อฉันผินหลังกลับ เขาก็ได้เรียกฉันแล้วพูดว่า “ไม่มีสิ่งใดที่อื่นไปจากที่ท่านได้ประจักษ์ นอกจากว่าในใจของฉันไม่มีการคิดคดโกงต่อมุสลิมคนใดเลย และฉันก็ไม่มีจิตใจที่จะไปอิจฉาผู้ใดในความดีต่างๆที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้กับเขา”  อับดุลลอฮฺจึงกล่าวว่า “นี้คือสิ่งที่ทำให้ท่านได้บรรลุ (เป็นชาวสวรรค์)” -บันทึกโดย อะหมัด และ อันนะสาอีย์
           มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ได้กล่าวว่า ฉันได้ถาม ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (รอซูลลุลลอฮฺ – ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า โอ้รอซูลุลลอฮฺ มนุษย์คนใด ที่ดีที่สุด?  ท่านได้กล่าวว่า  «كلُّ مؤمنٍ مخمُوم القلب، صدوقُ اللسان».
          ความหมาย “ผู้ศรัทธาทุกคนที่หัวใจของเขาถูกปัดกวาด และมีวาจาสัจ” พวกเราได้กล่าวว่า “หัวใจที่ถูกปัดกวาดนั้นหมายถึงอะไร?”  ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ได้กล่าวว่า
 «التقِيُّ النقِيُّ الذي لا غِلَّ فيه ولا غِشّ، ولا بغيَ ولا حسَد»؛ رواه ابن ماجه بإسنادٍ صحيحٍ.
             ความหมาย “คือ หัวใจที่มีความยำเกรง(ตักวา)ต่อพระเจ้า(อัลลอฮฺ) เป็นหัวใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ซึ่งไม่มีการอาฆาต พยาบาท การคดโกง การละเมิด อำมหิต และการอิจฉาริษยาใดๆ” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ ด้วยสายสืบที่ถูกต้อง)
          ส่วนความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวบรวมทรัพย์สินบนโลกนี้โดยไม่คำนึงถึงว่าจะได้มาอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา(หะลาล) หรือ ผิดหลักศาสนา(หะรอม) หรือไม่นั้น ถือว่ามาจากหัวใจที่เป็นโรค และเป็นสาเหตุของความหายนะ โชคปัจจัย(ริสกี) สูญสิ้น ขาดความจำเริญ และเป็นที่มาของความเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและอนาคต  เนื่องจากความปารถนาดังกล่าวยังควบคู่อยู่กับความตระหนี่ในทรัพย์สินของตนเอง (อัลบุคล์) และความตระหนีต่อทรัพย์สินและสิทธิของผู้อื่น(อัชชุห์)อยู่ด้วย
            ความตระหนี่(อัลบุคล์)เป็นคุณลักษณะที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธ มีรายงานจาท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ(รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) จาก ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ได้กล่าวว่า
«السَّخِيُّ قريبٌ من الله، قريبٌ من الناس، قريبٌ من الجنة، بعيدٌ من النار، والبخيلُ بعيدٌ من الله، بعيدٌ من الناس، بعيدٌ من الجنة، قريبٌ من النار، ولَجاهلٌ سخِيٌّ أحبُّ إلى الله من عابدٍ بخيلٍ»؛ رواه الترمذي.
           ความหมาย “คนที่ใจบุญเป็นผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ใกล้ชิดกับมนุษย์ ใกล้ชิดกับสวนสวรรค์ และห่างไกลจากขุมนรก สำหรับผู้ที่มีความตระหนี่นั้น เป็นผู้ที่ห่างไกลจากอัลลอฮฺ ห่างไกลจากมนุษย์ ห่างไกลจากสวนสวรรค์ ใกล้ชิดกับนรก และคนโฉดเขลาที่ใจบุญ เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺ มากกว่าผู้ที่เคร่งครัดในการทำการเคารพภักดี(อิบาดะฮฺ)ที่มีความตระหนี่” (บันทึกโดยอิมามอัตติรฺมีซีย์) ผลของการตระหนี่จะทำให้บุคคลนั้นไม่ยอมจ่ายซะกาต ไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัวที่จำเป็น ไม่ยอมบริจาคทาน หรือดูแลแขก และปิดกั้นตนเองจากช่องทางการเสียสละจากทรัพย์สินส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือสังคม พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า
{وَأَمَّا مَنْ بَخِلَ وَاسْتَغْنَى (8) وَكَذَّبَ بِالْحُسْنَى (9) فَسَنُيَسِّرُهُ لِلْعُسْرَى (10) وَمَا يُغْنِي عَنْهُ مَالُهُ إِذَا تَرَدَّى (11) }ـ سورة الليل آية 8-11
         ความหมาย “และส่วนผู้ที่ตระหนี่และถือว่ามีพอเพียงแล้ว(8) และปฏิเสธสิ่งที่ดีงาม(9) เราก็จะให้เขาได้รับความลำบากอย่างง่ายดาย(10) และทรัพย์สมบัติของเขาจะไม่อำนวยประโยชน์ใดๆแก่เขาได้ เมื่อเขาตกไปในเหวนรก(11)” (อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลลัยล์ โองการที่ 8-11) และพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสถึงกลุ่มชนที่กลับกลอก ว่า
{الْمُنَافِقُونَ وَالْمُنَافِقَاتُ بَعْضُهُمْ مِنْ بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمُنْكَرِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمَعْرُوفِ وَيَقْبِضُونَ أَيْدِيَهُمْ }
ـ سورة التوبة آية 67
          ความหมาย “บรรดาผู้ที่กลับกลอก(มุนาฟิก)ชาย และบรรดาผู้ที่กลับกลอก(มุนาฟิก)หญิง บางส่วนของพวกเขาต่างก็เป็นส่วนซึ่งกันและกัน(ในการกลับกลอก)ซึ่งพวกเขาชักจูงให้ทำความชั่ว และห้ามปรามการทำความดีงาม และพวกเขากำมือของพวกเขาไว้ (หมายถึงมีความตระหนี่)” อัลกุรฺอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 67 กล่าวคือ พวกเขามีความตระหนี่ ไม่ยอมใช้จ่ายหรือบริจาคกุศลทาน
          อัชชุห์ ย่อมมีความเลวยี่งกว่าความตระหนี่ เนื่องจากหมายถึงการมีความปารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิของคนอื่น เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยมิชอบธรรม ลุ่มหลงในโลกดุยา อย่างหลับหูหลับตาโดยไม่นำพาต่อข้อห้ามของศาสนา ไม่แยแสต่อบทลงโทษของอัลลอฮฺ และเผลอเรอต่อผลตอบแทนในบั้นปลายที่น่าอัปยศยิ่ง ซึ่งกำลังรอคอยผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ได้เตือนพวกเราให้ระวังในเรื่องดังกล่าว  จากรายงานของญาบิรฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ว่าแท้จริง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า
«إياكُم والظُّلم؛ فإن الظُّلمَ ظُلُماتٌ يوم القيامة، واتَّقُوا الشُّحَّ؛ فإن الشُّحَّ أهلكَ من كان قبلَكم، حملَهم على أن سفَكوا دماءَهم، واستَحلُّوا محارِمَهم»؛ رواه مسلم.
          ความหมาย “ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรม เพราะความอธรรม คือความมืดในวันโลกหน้า(วันกิยามะฮฺ) และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ที่รุนแรง(อัชชุฮฺ) เพราะความตระหนี่ที่รุนแรงนั้นได้ทำลายกลุ่มชนก่อนหน้าพวกท่านมาแล้ว มันได้เป็นต้นเหตุในการนำพาพวกเขาให้เข่นฆ่า นองเลือด และการยึดเอาสิ่งที่ต้องห้ามของพวกเขามาเป็นสิ่งที่อนุมัติ” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม) และรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ได้กล่าวว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า
«واتَّقُوا الفُحشَ والتفحُّش؛ فإن الله لا يُحبُّ الفُحشَ ولا التفحُّشَ، وإياكُم والشُّحَّ؛ فإنه أهلكَ من كان قبلَكم، أمرَهم بالظُّلم فظلَموا، وأمرَهم بالفُجور ففجَرُوا، وأمرَهم بالقَطيعة فقَطَعوا»؛ رواه أحمد وأبو داود
         ความหมาย “ท่านทั้งหลายจงระวังความชั่ว และการจงใจทำความชั่วเนื่องจากพระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงรักความชั่ว และการจงใจทำความชั่ว และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ที่รุนแรง(อัชชุห์) เพราะแท้จริงมันได้ทำลายประชาชาติก่อนหน้าสูเจ้ามาแล้ว เนื่องจากความตระหนี่บ่งการให้พวกเขาอธรรม พวกเขาก็อธรรม บ่งการให้พวกเขาทำความชั่วพวกเขาก็ทำความชั่ว บ่งการให้พวกเขาตัดเครือญาติพวกเขาก็ตัดเครือญาติ” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด และอบูดาวูด)
            มีรายงานจากอบีฮัยาจญ์ อัลอสะดีย์ ได้กล่าวว่าในขณะที่ฉันกำลังตอวาฟ(เวียน)รอบบัยตุลลอฮฺอยู่นั้น ฉันได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังกล่าวว่า ( اللهم قنِي شُحَّ نفسي) ความหมาย “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงปกป้องฉันจากจิตใจที่มีความตระหนี่ที่รุนแรง (อัชชุห์)” โดยที่เขาไม่ได้เพิ่มเติมสิ่งใดต่อ ฉันจึงถามเขา เขาจึงตอบว่า “จิตใจของฉันเมื่อถูกป้องกันจากความตระหนี่ที่รุนแรงแล้ว ฉันก็จะไม่ขโมย ฉันก็จะไม่ทำซินาและฉันก็จะไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้” ทันใดนั้นชายคนดังกล่าวคือ อับดุรรอห์มาน  อิบนุ เอาฟ์ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) – (บันทึกโดยอิบนุญะรีรฺ)
            มีรายงานจากอบีฮุรัยเราะฮฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) จากท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า
«شرُّ ما في رجُلٍ: شُحٌّ هالِع، وجُبنٌ خالِع»؛ رواه أحمد وأبو داود.
             ความหมาย “สิ่งที่เลวที่สุดที่มีอยู่ในชายคนหนึ่งคือ ความตระหนี่ที่น่าหวาดหวั่น(อัชชุห์) ความขี้ขลาดที่ปราศจากประโยชน์ใดๆ” (บันทึกโดยอิมามอะหมัดและ อบูดาวูด)
 และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ สัญญาณวันสิ้นโลก (วันกิยามะฮฺ) เมื่อความตระหนี่ที่รุนแรง(อัชชุห์) ได้ไปสถิตอยู่ที่หัวใจของมนุษย์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ของความตระหนี่ที่รุนแรง(อัชชุห์) คือ การอธรรม การละเมิด ความเป็นศัตรู การตัดเครือญาติ ความปั่นป่วน(ฟิตนะฮฺ) และการแสงหาทรัพย์สินทั้งจากสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ และไม่อนุมัติ จนเป็นที่มาของการแย่งชิงเข่นฆ่า และเมื่อ ความตระหนี่ที่รุนแรง(อัชชุห์) ได้แพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งพระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงให้พื้นดินได้คายคลังทองคำและเงินที่อยู่ภายในของมันออกมา จนกระทั่งทองคำและเงินได้ผุดขึ้นมาเหมือนกับเสา ผู้คนทั้งหลายต่างคิดว่าทองคำและเงินอยู่ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน
        ทั้งๆที่มันปรากฏอยู่ทั่วไป แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากทองคำและเงินที่มีอยู่มากมาย เนื่องจากมีผู้ที่สังหารผู้คน(อันเป็นเหตุมาจากการละเมิดและแก่งแย่งกัน)ได้พูดขึ้นว่าด้วยเหตุนี้ที่ฉันได้ฆ่าผู้อื่น ผู้ที่ตัดเครือญาติก็พูดว่า ด้วยเหตุนี้ที่ฉันได้ตัดเครือญาติ และผู้ที่ขโมยได้พูดว่า ด้วยเหตุนี้ที่ฉันถูกตัดมือ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณวันสิ้นโลก พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า
{ الْمَالُ وَالْبَنُونَ زِينَةُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَالْبَاقِيَاتُ الصَّالِحَاتُ خَيْرٌ عِنْدَ رَبِّكَ ثَوَابًا وَخَيْرٌ أَمَلًا} ـ سورة الكهف آية 46
ความหมาย “ทรัพย์สมบัติและลูกหลานคือ เครื่องประดับแห่งการดำรงชีวิตในโลกนี้ และความดีทั้งหลายที่จีรังนั้น เป็นการตอบแทนที่ดียิ่ง ณ.ที่พระเจ้าของเจ้าและเป็นความหวังที่ดียิ่ง” (อัลกุรอานซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟิ โองการที่46)
 ความฝันมักจะอยู่พร้อมกับการงานที่อ่อนแอ และมักจะทำให้ลืมชีวิตในโลกหน้า อารมณ์ใฝ่ต่ำจะปิดกั้นสัจธรรม  ศรัทธาชนทั้งหลายพึงระวัง กิเลศตัณหาในบริบทที่หลงผิดในด้านท้อง(เช่นบริโภคนิยมหรือสุรุ่ยสุร่าย) และอวัยวะเพศ (การผิดประเวณี)  ท่านทั้งหลายจงให้เกียรติต่อบทบัญญัติ ของอัลลอฮ และอย่าได้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆของพระองค์ จงรักษาสิทธิของมุสลิม และเพื่อนบ้าน วันนี้เป็นโอกาสของการทำงานและการพากเพียร ส่วนวันพรุ่งนี้(โลกหน้า)คือการสอบสวนและการตอบแทน พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ว่า
{ وَقُلِ اعْمَلُوا فَسَيَرَى اللَّهُ عَمَلَكُمْ وَرَسُولُهُ وَالْمُؤْمِنُونَ وَسَتُرَدُّونَ إِلَى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُونَ }ـ سورة التوبة آية 105
ความหมาย “และจงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงทำงานเถิด แล้วอัลลอฮฺจะทรงเห็นการงานของพวกท่าน และศาสนทูต(รอซูล)ของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) ก็จะเห็นด้วย และพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านในสิ่งที่พวกท่านทำไว้” (อัลกุรอานซูเราะฮฺ  อัตเตาบะฮฺ โองการที่105)
ในอัลหะดีษ(วจนะของท่านศาสนทูต) ได้ระบุว่า
«لن تزُول قدَمَا عبدٍ يوم القيامة حتى يُسألَ عن أربع: عن عُمره فيما أفناه، وعن شبابِه فيما أبلاه، وعن مالِه من أين اكتسبَه وفيمَ أنفقَه، وعن علمِه ماذا عمِلَ فيه»
ความหมาย “เท้าทั้งสองของบ่าวคนหนึ่งคนใดจะยังไม่ถูกเคลื่อนในวันโลกหน้า(วันกิยามะฮฺ) จนกว่าจะถูกถามถึงสี่ประการ เขาจะถูกถามถึงอายุของเขาว่าเขาให้มันสูญสิ้นไปในสิ่งใด  เขาจะถูกถามถึงช่วงวัยหนุ่มสาวของเขาว่า เขาให้มันสูญเสียไปด้วยกับสิ่งใด  เขาจะถูกถามถึงทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้แสวงหามาได้จากที่ใด และเขาได้ใช้จ่ายมันไปในด้านใด  เขาจะถูกถามถึงวิชาความรู้ของเขาว่าเขาได้ประพฤติ ปฏิบัติในสิ่งที่เขารู้อย่างไร”
 ท่านทั้งหลายจงกระทำสิ่งที่ดีเลิศที่สุดให้กับตัวของท่านทั้งหลายไว้ตามความสามารถ อย่าให้ความภิรมย์ของโลกดุนยา(โลกนี้)มาหลอกลวงท่านทั้งหลาย เหมือนกับที่มันได้หลอกลวงกลุ่มชนที่ประสบความหายนะมาแล้ว
_______________________________________
(คัดลอกต้นฉบับภาษาอาหรับจาก  www. )

ความคิดเห็น