บุพเพสันนิวาส "สายสกุลบุนนาค'ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ"

บุพเพสันนิวาส "สายสกุลบุนนาค'ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ"

เขียนโดย อับดุลกอเดร มัสแหละ



#โหนกระแสบุพเพสันนิวาส ๑.

"สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ" 
        กระแสละคร "บุพเพสันนิวาส"กำลังมาแรง ซึ่งจริงๆก็น่าจะเป็นการรับช่วงจากงาน "อุ่นไอรัก" ด้วยละครับ    บุพเพสันนิวาส สร้างปรากฎการณ์พหุวัฒนธรรมของสยามประเทศได้ดีมาก ทำให้เห็นว่ามุสลิม คือส่วนหนึ่งในการสร้างชาติ ร่วมกับพี่น้องทุกชาติพันธุ์
        แต่ก็มีปรากฎการณ์ที่มุสลิมเองต้องปรับวิธีคิดเช่นกัน เพราะมุสลิมมักจะคิดอะไรต้อง "ร้อยเปอร์เซ็น"เสมอนั้น มันไม่ใช่ มุสลิมยังอดมีอคติกับคำเรียก "แขก" ไม่ได้ ทั้งๆที่แขกคือการเรียกคนต่างชาติแถบๆอาหรับ เปอร์เชีย อินเดีย
        แต่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยคำว่า "แขก" หมายถึงมุสลิม หากลบแขกออกจากประวัติศาสตร์ชาติไทย มุสลิมก็หายไปจากชาติไทยทันที ฉะนั้นส่วนตัวผมไม่ซีเรียสกับคำว่าแขกมากนัก ยุคนั้นเรียกคนจีน ก็เรียก "เจ๊ก" ลบเจ๊กออกไปก็เท่ากับลบจีนออกไป เพียงแต่เจ๊กไม่ใช่เท่ากับความเชื่อ แบบเรียกแขกคือมีความเชื่อแบบอิสลาม ตามความเข้าใจ
         คำถามที่ว่า "สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ" ก่อนที่ผมจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ขอนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาให้ท่านได้อ่าน เพื่อเป็นการปูพื้น ให้เห็นชัดเจนก่อนว่า ในยุคสมัยก่อนโน้น คนมุสลิมก็เข้ามามีส่วนการบริหารบ้านเมืองแล้ว   ส่วนการแย่งชิง อำนาจ ที่มีขุนนางที่เป็นมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง จริงๆแล้ว มันก็มีทุกความเชื่อ ทุกชาติพันธุ์นั้นแหละเข้าไปเกี่ยว ในฐานะข้าราชบริพาร ที่รับใช้ในยุคนั้น
เราลองไปศึกษาจากประวัติศาสตร์กันสักนิดก่อนนะ....
        จากเฟสบุ๊ก โบราณนานมา ได้คลายข้อสงสัยว่า ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธ ทั้งที่ต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) โดยระบุว่า....
        เมื่อคืนได้ชมละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส แล้วมีฉากหนึ่งที่มี หลวงศรียศ ปรากฏตัวขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๒ แห่งอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลเฉกอะหมัดที่มีความเกี่ยวข้องกับสายสกุลบุนนาค และมีคนให้ความสนใจค่อนข้างมากเกี่ยว "สายบุนนาค" และหลายคนก็สงสัยว่า ต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) แต่ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธได้ แอดมินจึงอยากจะนำเสนอเรื่องนี้จ้า
          ต้นตระกูลบุนนาค คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามมาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

         ส่วนละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส แล้วมีฉากหนึ่งที่มี หลวงศรียศ ปรากฏตัวขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๒ แห่งอยุธยา ท่านมีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) จุฬาราชมนตรี   และหลายคนก็สงสัยว่าต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) แต่ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธได้ ข้อสงสัยนี้มีคำตอบในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา   มีความตอนหนึ่งว่า "ณ เดือนแปดแรมสิบค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองขึ้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโพธน์พระพุทธบาท เป็นกระบวนรับเสด็จพัก ณ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก เพลาเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกุล ครั้นสมโพธน์พระพุทธบาทครบเจ็ดวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพพระนครศรีอยุธยา"
            ในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทครั้งนั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนก็ต่างอยากตามเสด็จ แต่พระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ไม่มีชื่ออยู่ในจำนวนที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน พระยาเพ็ชร์พิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตามเสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่าพระยาเพ็ชร์พิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีดไทย จึงจะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชร์พิไชยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระบรมราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชร์พิไชยตามเสด็จไปด้วย ครั้นเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชร์พิไชยได้รับศีล ปฏิญาณ เป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นี่เป็นต้นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา และเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย และให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย
            ลูกหลานของท่านเฉกอะหมัดนับถือศาสนาอิสลามมาจนถึง พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ถือเป็นตระกูลเฉกอะหมัดชั้นที่ ๔ ท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และท่านให้ลูกชายท่าน ๒ คน คือ เสน กับ หนู เปลี่ยนมาเป็นพุทธ ส่วนคนโตคือ เชน ให้นับถืออิสลามต่อไป   ซึ่ง "เชน" บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ ๔ แห่งอยุธยา และบุตรของท่านชื่อ "ก้อนแก้ว" ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑
           ผู้สืบเชื้อสายท่านเฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ นั้นมีท่านหนึ่งที่ถือเป็นต้นสกุลบุนนาค คือ "นายบุนนาค" เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เมื่อตอนเด็ก ๆ นั้นนายบุนนาคเคยเป็นเพื่อนสนิทกับ นายสินบุตรจีนแต้ไหฮอง (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นขึ้นครองราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี) ส่วนเพื่อนอีกคนคือนายทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
          เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งผู้ที่เคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ นายบุนนาค หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม และ นายก้อนแก้ว หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑
         เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ รวมอายุ ๖๗ ปี ถือว่าท่านเป็นต้นสกุลนับชั้นที่ ๑ ของสายสกุลบุนนาค และนับเป็นชั้นที่ ๖ ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
        วงศ์เฉกอะหมัดอันรวมเป็นวงศ์เดียวกันมา ๕ ชั่วคนนั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๖ นี้ไปแยกออกไป ๕ สาย และเมื่อครั้งตั้งนามสกุลคนไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สายหนึ่ง ๆ ยังแยกออกเป็นหลายสกุล     จะเห็นได้ว่าสายตระกูลเฉกอะหมัด จะแตกออกเป็น ๒ สายในชั้นที่ ๔ ของวงศ์ตระกูล แตกออกเป็นที่นับถือศาสนาพุทธ และที่นับถือศาสนาอิสลาม
        สายที่นับถือศาสนาพุทธ คือ ท่านเสนกับท่านหนู บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น บุนนาค จาติกรัตน์ บุรานนท์ ศุภมิตร ภานุวงศ์ วิชยาภัย ศรีเพ็ญ ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลเข้ารับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาล และเป็นที่ยินดีเมื่อสกุลนี้มีผู้สืบสกุลที่รับราชการทำความดีความชอบจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" มากถึง ๓ ท่าน ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี"
          สายที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่าน เชน บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น อะห์หมัดจุฬา จุฬารัตน อากาหยี่ ชิตานุวัตร์ ช่วงรัศมี บุญยรัตกลิน ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ ๒๑ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในต้นรัชกาลที่ ๙ รวมทั้งสิ้น ๑๓ ท่าน
         สายสกุลนี้ ถือเป็นสกุลหนึ่งที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีต เนื่องเพราะบรรพชนในสกุลนี้ตั้งแต่ปฐมวงศ์เป็นต้นมาเข้ารับราชการสนองคุณแผ่นดินโดยแต่ละท่านล้วนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีอันถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการแทบทุกคน นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านเลยมา ๔๑๖ ปีแล้ว ถือเป็นสกุลหนึ่งที่มีเครือญาติมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
*ขอขอบคุณข้อมูลโดย: โบราณนานมา
มาถึงตรงนี้น่าจะได้คำตอบที่พอจะมองออกนะครับ แต่เราจะมาวิเคราะห์กันอีกที....




#โหนกระแสบุพเพสันนิวาส 2.

       "สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ"
กระแสละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้สร้างปรากฎการณ์หลายประการ เช่น ค่านิยม การสนใจประวัติศาสตร์ คือเราต้องยอมรับ ว่าประวัติศาสตร์ในห้องเรียน ไม่มีรายละเอียด ว่าใครเป็นใคร นับถือศาสนาใด เราจึงรับรู้เพียงแค่ชื่อ ตำแหน่ง ความเก่ง ความไม่เก่ง แต่ไม่รู้ว่าคนนั้นนับถือศาสนาใด โดยเฉพาะมุสลิมแทบไม่มีในวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน
       ต้องถือว่า นักวิชาการที่ทำหลักสูตร มีอคติลึกๆกับมุสลิม โดยปริยาย หากนักวิชาการที่ทำหลักสูตร มีความคิดแบบพหุความเชื่อ การทำหลักสูตรต้องออกมาอีกอย่าง ออกมาแบบทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว
       กระแสละคร "บุพเพสันนิวาส" ทำให้คนไทยที่รักความเป็นธรรม มองด้วยสายตาที่เป็นธรรม ก็ได้รับรู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้ มุสลิมก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก   แต่ที่ผมกังวลเป็นการส่วนตัวคือ การเมืองเชิงแนวคิด(นิกาย)ทางศาสนา ที่ทำให้สิ่งที่น่าจะมองในมุมดี กลับกลายเป็นมุมเสีย โดยเฉพาะแนวคิด ที่อยู่คนละแนว ตรงกันข้ามกัน
        ผมคงไม่ต้องอธิบายแนวคิด หรือนิกายแล้วนะครับ (แต่ถ้าเพื่อนๆต่างศาสนิกต้องการทราบก็ยินดีอธิบาย) มีนิกายที่เข้ามาในสยามยุคนั้นก็ทั้งสุนนี่ และชีอะต์ อันนี้ทางฝั่งอาหรับ-เปอร์เชีย กลุ่มมุสลิมพวกนี้ก็เดินทางมาค้าขายแบบปกติ แต่เมื่อทำความดีความชอบ ก็ทรงโปรดให้รับใช้ใกล้ชิด และมีอำนาจในที่สุด     ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ๔๐๐ กว่าปี ความเข้มข้นทางด้านศรัทธาก็อาจจะลดลงไปตามสภาพสังคม ไม่ต้องดูไกล แค่หันมามองรอบๆตัวเรา ก็จะพบความเข้ม ความจางได้ชัดเจน แม้แต่ตัวผมเองก็มองรอบตัวด้วยความเป็นห่วง
          เพราะประวัติศาสตร์ที่เรากำลังกล่าวถึงคือมุสลิม และเป็นคนที่มีบทบาทในการบริหารสยามประเทศ พูดแบบชาวบ้านคือ "คนดัง" มาถึงยุคปัจจุบัน ตระกูลที่สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ตรงนี้ ต่างก็เป็นเจ้าขุนมูลนาย เป็นข้าราชการมากมาย ความเป็นกลุ่มคนที่ "ดัง" จึงได้รับความสนใจ เลยเกิดคำถามว่า ทำไม่ต้นตระกูลมุสลิม จึงกลายเป็นพุทธเกือบหมด



ลองถ้ากลุ่มตระกูลพวกนี้ "โนเนม" ไม่ดัง รับรองว่าคำถามนี้ก็ไม่เกิด ถ้าเราวางความรู้สึกแบบกลางๆ ไม่เข้าข้างตัวเองแบบเต็มๆ มันก็มีคำตอบง่ายๆ คือ...
         ๑. ด้วยระยะเวลา ๔๐๐ กว่าปี กับสังคมพหุ ที่เป็นคนส่วนน้อย ย่อมจะเข้าใจง่ายว่า ความเชื่อมันก็อ่อนลงเป็นธรรมดา
        ๒. ด้วยบริบทการปกครองในอดีต ที่อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ กลุ่มบุคคลพวกนี้ย่อมจะทำอะไรตามอำเภอใจยาก คิดแบบ "ปลง"ได้ ก็ต้องบอกว่าเหลือแค่นี้ก็บุญแล้ว
        ๓.สิ่งที่ต่างกันมากเท่าที่เห็นคือศูนย์กลางของกลุ่มพวกนี้ ไม่ค่อยปรากฎให้เห็น เพราะมุสลิมไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็ต้องสร้างมัสยิด เพราะเป็นสถานที่ทำนมัสการ และอบรมสั่งสอน ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นศาสนาสถานของกลุ่มมุสลิมในยุคนั้น นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ถูกกลืนไป
        การถูกกลืนผมมองปรากฎการณ์นี้แบบไม่ทะเลาะ คือมันเป็นเรื่องปกติ เพราะอิสลามไม่ได้บังคับในความเชื่อ ลองคุณไม่เชื่อใครจะไปบังคับได้ หากเราคิดว่า "ฮิดายะฮ์" มันคือสิทธิของพระองค์  ในสภาพความเป็นจริงมีมุสลิมที่หมดสภาพจากการเป็นมุสลิม เพราะฝ่าฝืนกฎ "มุรตัด" ก็มีมากมาย เพียงแต่มุสลิมอาจจะไม่ยอมรับข้อเท็จจริงนี้      แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีคนในความเชื่ออื่นหันมาเข้ารับศรัทธาในอิสลามก็มากมาย เพียงแต่อันนี้ หากมุสลิมได้ข่าวก็พากันกระจายข่าวกันออกไป
           ผมจึงขอมองปรากฎการณ์นี้แบบไม่ชวนทะเลาะ แต่ให้เข้าใจความเป็นไป สังคมใดที่หย่อนยานเรื่องการศึกษาศาสนา มันก็ทำให้คนในสังคมนั้น เบาในศรัทธา   ไม่ว่าสังคมอิสลาม สังคมพุทธ เหมือนกัน แต่ในอิสลาม การที่จะต้องรู้ศาสนามันเป็นสิ่งบังคับ(ฟรัดูอีน) เราจึงมองเห็นการเรียนศาสนาเกิดขึ้นในทุกชุมชน     คำว่า "ฟรัดูอีน" คือบังคับเฉพาะแต่ละคน คนเป็นมุสลิม จึงถูกบังคับให้ศึกษาจนรู้หลักการขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำตัวเองให้รอดพ้นจาก "อาญาทางศาสนา"ให้ได้ มุสลิมจะมีแค่ว่าตัวเองเป็นมุสลิม ส่วนอย่างอื่นไม่รู้เรื่อง มันก็ไม่พ้น "อาญาทางศาสนา"แน่นอน     ถ้าดูในอดีตวัดคือที่สอน ความรู้พุทธขั้นพื้นฐานให้กับชาวพุทธ ชาวพุทธในอดีต จึงมิใช่เป็นพุทธแค่ชื่อ แต่เขาสามารถนำความรู้ทางศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเดียวกับมุสลิมเรียน "ฟรัดูอีน"
           อีกประการหนึ่ง สังคมไทยในอดีตระบบจารีตประเพณีค่อนข้างแข็ง เมื่อรวมกับระบบการปกครองที่เฉียบขาด คนที่เป็นข้าราชการ หรือข้าแผ่นดิน ถ้าจะก้าวหน้าต่อไปในอาชีพข้าราชการ(ยุคนั้น) ก็ต้องเลือกเอาว่าจะไปทิศทางไหน   เพราะระบบจารีต ในอดีตหลายอย่างไม่เอื่อต่อหลักศาสนาของมุสลิม เราจึงมองเห็นปรากฎการณ์ ที่มุสลิมเลือกรับราชการเฉพาะที่ไม่ขัดต่อการเป็นมุสลิมมากนัก โดยเฉพาะในสายของพระยาจุฬาราชมนตรี    ส่วนสายที่เลือกเอาความก้าวหน้าทางราชการ ก็ยอมรับในจารีตของระบบการปกครอง เราจึงมองเห็นคนดังๆ ตระกูลดัง ที่อยู่ในสาระบบข้าราชการสยาม มากมายที่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีที่มาจากต้นตระกูลที่เป็นมุสลิม พูดแบบชัดเจนคือถ้าจะยังคงความศรัทธาที่เข้มข้น ก็ต้องไม่เป็นข้าราชการ(ในยุคนั้น)
           สมมุติคนในสายสกุล บุนนาค จาติกรัตน์ บุรานนท์ ศุภมิตร ภานุวงศ์ วิชยาภัย ศรีเพ็ญ ฯลฯ ไปเป็นชาวไร่ ชาวนาหมด คำถามนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะมันจะหายไปกับความไม่ดัง ท่านลองสังเกตุสิครับ ทุกวันก็มีคนเข้ารับอิสลาม แต่ก็ไม่เป็นข่าว ไม่มีใครรู้ แต่ลองดารามารับสิ ดังแน่นอน ยิ่งหากพระเอก- นางเอกบุพเพสันนิวาส เกิดมาเป็นอิสลาม รับรองดังระเบิด แต่นาย-นางโนเนม มาเป็น ก็งั้นๆ... ผมมองคำถามที่ว่า "สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ" เป็นเรื่องปกติ เพราะ "นายบุนนาค" เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) และต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม
       นายบุนนาค ก็มิใช่มุสลิม มาตั้งรุ่นพ่อเขาแล้ว การที่คนในสกุลบุนนาคมิใช่มุสลิมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าคนในสกุลบุนนาค มาเป็นมุสลิมสิถึงแปลก ถึงแม้ว่าเขาจะมีที่มาจากมุสลิมก็ตามแต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในทางสายเลือด พวกเขาก็คือเครือญาติกัน เหมือนเช่นมนุษย์ทั้งโลกนี้ ตามความเชื่อของอิสลาม เขาสืบเชื้อสายเครือญาติมาจากมนุษย์คนเดียวกันคือ "อาดัม" ลูกหลานอาดำ จึงมีทุกความเชื่อ

จะไปแปลกใจทำไมกับลูกหลาน เฉก อะห์หมัด และลูกหลาน สุลต่านสุไลมาน ชาร์...

ภาพบทความจาก อับดุลกอเดร มัสแหละ
เฟสบุค https://www.facebook.com/profile.php?id=100009615667397
ที่มาของบทความ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1933022497028254&id=100009615667397

ความคิดเห็น