ปันเต (Panthay),จีนปางโหลง (Panglong),และจีนฮ่อ (Chin Haw) คือใคร? (ตอนที่ 1)

ปันเต (Panthay),จีนปางโหลง (Panglong),และจีนฮ่อ (Chin Haw) คือใคร? (ตอนที่ 1)
🌷ถิ่นกำเนิด
 ยูนนาน หรือ หยุนหนาน เป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 394,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 48,300,000 คน (ค.ศ. 2018) มีเมืองหลวงของมณฑลชื่อ คุณหมิง มณฑลยูนนานมีอาณาเขตติดต่อกับมณฑลและเขตปกครองต่าง ๆ ของประเทศจีน ได้แก่ กว่างซี กุ้ยโจว เสฉวน และทิเบต รวมถึงทางทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานประเทศพม่า ทางทิศใต้ติดกับ แขวงหลวงน้ำทา แขวงอุดมไซ และแขวงพงสาลี ของ สปป.ลาว และตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับ จังหวัดห่าซาง จังหวัดหล่าวกาย จังหวัดลายเจิว และจังหวัดเดี่ยนเบียน ของประเทศเวียดนาม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 25 กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิเช่น ฮั่น: 67%  อี๋: 11%  ไป๋: 3.6%  อาข่า: 3.4%  จ้วง: 2.7%  ไทลื้อ: 2.7% ม้ง: 2.5% หุย: 1.5% ทิเบต: 0.3% ปะหล่อง: 0.19% และอื่นๆ ใช้ภาษาจีนกลางสำเนียงตะวันตกเฉียงใต้และภาษาชนกลุ่มน้อยอีกประมาณ 25 ภาษาในการสื่อสาร จากสถิติการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 6 ในปี 2553 ยูนนานมีประชากรมุสลิม 1,900,000 คน และมีมัสยิดมากกว่า 867 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งมณฑล
🌷การเข้ามาของศาสนาอิสลาม
 ในบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหมดในยูนนาน ชาวหุย (Hui) เป็นชาติพันธุ์มุสลิมกลุ่มใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล พวกเขามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและนับถือศาสนาอิสลาม สันนิษฐานกันว่าชาวหุย มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันกับชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่ได้มีการผสมผสานทางสายเลือดกับชาวมุสลิมจากอาหรับ เปอร์เซีย และชาวเติร์กจากเอเชียกลาง พร้อมกับเปลี่ยนมาเป็นชาวมุสลิม
   ทำให้ หุย (Hui) กลายเป็นอีกชาติพันธุ์ที่แบ่งแยกต่างหากจากชาวฮั่น (Han) และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่าชาวหุย คือ ทายาทของชาวอาหรับและชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลามตามเมืองการค้าชายทะเลต่างๆในช่วงศตวรรษที่ 7-8 หรือผู้ที่เป็นทายาทของชาวตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ที่เป็นลูกผสมกับชาวฮั่นที่เปลี่ยนมาเข้ารับอิสลามตามแนวเส้นทางสายไหม ชาวหุยยังคงใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวัน และมีวิถีชีวิตที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนผสมผสานกับอาหรับ เปอร์เซีย และเอเชียกลาง เช่น การแต่งกาย อาหารการกิน คำศัพท์เฉพาะต่างๆที่นำเข้ามาใช้ปนกับภาษาจีน และที่สำคัญคือพวกเขาเป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่ ตามสำนักนิติศาสตร์อิสลามแบบหะนะฟี ชาวหุยส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน หนิงเซี่ย กานซู ยูนนาน และกระจัดกระจายอยู่ตามมณฑลต่างๆทางตอนกลางของจีน บรรพบุรุษของชาวหุยจำนวนมากเป็นนักรบมุสลิมในกองทัพของชาวมองโกลที่สามารถพิชิตอาณาจักรจีนจนได้สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองในศตวรรษที่ 13  ทหารมุสลิมเหล่านี้ได้แต่งงานกับสตรีในท้องถิ่นและรับเอาขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตของชาวจีนมาประยุกต์เข้ากับประเพณีของตนจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยที่ยังคงรักษาศาสนาอิสลามของตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
      ปัจจุบันมีชาวหุยอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานประมาณ 700,000 คน ตระกูลเก่าแก่ของมุสลิมชาวหุยบางตระกูลสามารถสืบสายบรรพบุรุษของพวกเขาย้อนกลับไปได้ถึงหนึ่งพันปีหรือมากกว่านั้น แต่การเพิ่มขึ้นของชาวหุยครั้งใหญ่ที่สุดในยูนนานนั้นเกิดขึ้นเมื่อกองทหารมุสลิมจำนวนมากจากเอเชียกลางที่อยู่ภายใต้กองทัพมองโกลของกุบไลข่านมาถึงยูนนานในปี ค.ศ. 1253 หลังจากนั้นพวกเขาก็สามารถพิชิตอาณาจักรต้าหลี่ (Dali) และยึดครองยูนนานไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กุบไลข่าน ผู้นำของชาวมองโกลและปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หยวน ได้ผนวกยูนนานเข้ากับจักรวรรดิมองโกลและได้แต่งตั้งซัยยิด อัจญาล (Sayid Ajjal) ชาวมุสลิมจากเมืองบูคอรอ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน) เป็นเจ้าเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความซาบซึ้งในอารยธรรมจีนของข่าน ผู้ว่าฯ ซัยยิด อัจญาล ได้สั่งให้สร้างมัสยิดขึ้นมากมายทั่วยูนนาน ไม่เพียงเท่านั้นเขายังให้การอุปถัมภ์วัดพุทธและวัดขงจื้อในคุนหมิง ตลอดจนการศึกษาแบบขงจื๊ออย่างแข็งขันด้วย ทำให้ในช่วงเวลานี้ยูนนานมีสถานะเป็นเมืองนานาชาติที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ผู้สืบทอดของเขาปฏิบัติตามนโยบายเดียวกัน และเมื่อราชวงศ์หยวนสิ้นสุดลงคุนหมิงและเมืองอื่นๆทั่วยูนนาน มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
     เมื่อกองทัพราชวงศ์หมิงบุกเข้าไปในยูนนานเพื่อขับไล่กองกำลังหยวน (มองโกล) ออกไป แต่พันธมิตรมุสลิมของพวกเขาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในยูนนานต่อไปโดยได้สลายตัวปะปนไปกับประชากรในท้องถิ่น เรียกว่า ชาวหุย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งอย่างถาวรของชาติพันธุ์จีนในยูนนาน หนึ่งในบุคคลสำคัญของชาวหุยที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์จีนก็คือ หม่า เหอ (Ma He) หรือ ที่ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น เจิ้งเหอ (Zheng He) จากเมืองจินหนิง เขาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองเรือสำรวจดินแดนของอาณาจักรจีนหลายครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 โดยกองทัพเรือของเขาสามารถแล่นไปไกลถึงชายฝั่งแอฟริกา
  🌷ที่มาของคำว่า ปันเต (Panthay)
 ชื่อ ปันเต หรือ ปันทาย  (Panthays) นั้นเป็นคำที่ใช้เรียก ชาวหุย (Hui) หรือ ชาวจีนมุสลิมที่อพยพไปยังประเทศพม่า ชาวจีนมุสลิมกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นชาวจีนมุสลิมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในพม่า ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ตังยัน (Tangyan) เมเมียว(Maymyo)  มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Taunggyi) และรัฐฉาน (Shan State) ซึ่งอยู่ใกล้กับมณฑลยูนนานของจีนที่เป็นแหล่งกำเนิดของบรรพบุรูษชาวจีนมุสลิมทั้งหลาย ชื่อปันเต (Panthay) เป็นคำภาษาพม่าซึ่งพูดเหมือนกับคำว่า Pang hse ของชาวไต ในรัฐฉาน เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชาวจีนมุสลิมที่มากับกองคาราวานจากมณฑลยูนนานของจีนมายังประเทศพม่า แต่ชื่อนี้ไม่ได้ถูกใช้หรือเป็นที่รู้จักกันในยูนนาน เพราะชาวมุสลิมจีนในยูนนานจะเรียกตัวเองว่า หุย และไม่เคยเรียกว่า ปันเต (Panthay) ได้มีการเสนอทฤษฎีต่างๆมากมายเกี่ยวกับที่มาของของชื่อนี้ เช่น ในภาษาภาษาพม่ามีคำว่า ปาที (Pathi) ซึ่งเป็นการเพี้ยนเสียงมาจากภาษาเปอร์เซียว่า Farsi หรือ Parsi ดังนั้นในสมัยโบราณชาวพม่าจึงเรียกชาวมุสลิมว่า ปาตี ที่ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้เรียกชาวจีนมุสลิม และเพี้ยนเสียงไปเป็น ปันเต (Panthay) อย่างไรก็ตามชาวจีนมุสลิมในยูนนานก็ไม่ได้เรียกตนเองว่าปันเต แต่พวกเขายังคงเรียกตัวเองว่า หุยซู (Huizu) ซึ่งแปลว่าชาวมุสลิมในภาษาจีนมาจนถึงปัจจุบัน 
 จากบันทึกชื่อ "ประวัติปันเต (Panthay)" เขียนโดย หมิง กวน เชี่ย (Ming Kuan-Shih) ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ในเมืองเมเมียว (Maymyo) ของพม่า ได้บันทึกไว้ว่า สุลต่านสุลัยมาน อิบนุ อับดุลเราะห์มาน หรือ ตู้ เหวิน ซิ้ว (Tu Wenxiu) ผู้ก่อตั้งรัฐผิงหนาน (Ping Nan) ในยูนนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2399-2416  ได้นำกำลังต่อสู้กับกองทัพแห่งราชวงศ์ชิงของจีนอย่างกล้าหาญ แต่ต้องประสบความปราชัยให้กับความเกรียงไกรของกองทัพชิงในท้ายที่สุด ดังนั้นครอบครัวของผู้ที่ภักดีต่อเขาจำนวนหนึ่งนำโดย หม่า หลิน จี (Ma Lin-Gi) ได้พาผู้คนอพยพหลบหนีจากการสังหารหมู่โดยจักรวรรดิชิง ลี้ภัยไปยังพม่าเพื่อเอาชีวิตรอด หม่า หลิน จี (Ma Lin-Gi) ได้ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนของพวกว้า (Wa) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เขาได้หย่ากับภรรยาคนแรกที่นามสกุล หยวน (Yuan) และได้แต่งงานกับหญิงหม้ายจากตระกูล ติง (Ting) ต่อมาพวกเขามีลูกชายสองคน คนโตชื่อ หม่า เหม่ ติง  (Ma Mei-Ting) เกิดในปี 1878 และลูกชายคนที่สองชื่อ หม่า เฉิน ติง (Ma Shen-Ting)  เกิดในปี 1879 ต่อมาลูกชายคนโตกลายเป็นผู้นำชุมชน Panthay ที่นั่น  ในช่วงที่รัฐ ผิงหนาน (Ping Nan) ในยูนนานยังมีอำนาจปกครองตนเองอยู่นั้น สุลต่านสุลัยมาน (Tu Wenxiu) ได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเป็นมิตรกับรัฐใกล้เคียงทั้งหมาย พระองค์ได้ส่งพันเอก หม่า ถู ตู้ (Ma Too-tu) ซึ่งเป็นนายทหารอาวุโสคนหนึ่งไปเป็นทูตพิเศษและตัวแทนของพระองค์ ไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์คองบอง ณ เมืองมัณฑะเลย์ นครหลวงของอาณาจักรพม่า พร้อมกับภารกิจสำคัญในการสร้างมัสยิดของชาวมุสลิมจีน การก่อสร้างมัสยิดใช้เวลาประมาณสองปีจึงแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นมัสยิดแห่งที่สองที่สร้างขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์นับถึงวีนนี้ก็เป็นเวลาถึง 134 มาแล้วที่มัสยิด Panthay ยังคงอยู่คู่กับชุมชนชาวจีนมุสลิมในพม่า
    🌷ชาวมุสลิมในยูนนานก่อนการรุกรานของต้าชิง (อาณาจักรจีนสมัยราชวงศ์ชิง)
 ชาวจีนมุสลิม (หุย) ในมณฑลยูนนานมีชีวิตอยู่อย่างผาสุกและมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านการค้าและการเมืองจนทำให้มีการขยายตัวของประชากรอย่างมากมายตลอดช่วงสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1280–1644) เมื่อมาร์โคโปโล (Marco Polo) ได้ไปเยือนยูนนานในช่วงต้นของราชวงศ์หยวน เขาสังเกตุเห็นการมีอยู่ของชุมชนมุสลิมที่เขาเรียกว่า "พวกซาราเซ็นส์" มากมายท่ามกลางประชากรจีนกลุ่มอื่นๆ ขณะที่ราชิดุดดีน ฮามาดานี (Rashid al-Din Madani) นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซีย (เสียชีวิต ค.ศ. 1318) ได้บันทึกไว้ในหนังสือ Jami' al-Tawarikh ว่า "เมืองหยาฉีที่ยิ่งใหญ่ในยูนนานนั้นมีแต่ชาวประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เท่านั้น” สันนิษฐานว่าเขาอาจหมายถึงพื้นที่รอบๆ เมืองต้าลี่ (Dali) ทางตะวันตกของยูนนาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของการตั้งถิ่นฐานของชาวหุย (จีนมุสลิม) ในยูนนาน
       ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ของ Panthays ในพม่าและล้านนานั้นก็เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกกับยูนนาน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกเขา ชาวจีนมุสลิมในมณฑลยูนนานมีชื่อเสียงและความสามารถในการค้าขายและการทหาร ด้วยคุณสมบัติทั้งสองประการนี้ทำให้พวกเขาเป็นพ่อค้าที่เชี่ยวชาญในการค้าขายทางบกโดยการนำกองคาราวานม้าต่างและลาผ่านภูเขาสูงอันทุรอันกันดาร เพื่อขนสินค้าต่างๆเช่น ใบชา,ผ้าไหม,ยาสมุนไพร,เครื่องเทศ,เครื่องเงิน และอื่นๆ ไปค้าขายระหว่างยูนนาน,หลวงพระบาง,เชียงตุง,มันฑะเลย์,ไปจนถึงเชียงใหม่ในดินแดนล้านนา พ่อค้าชาวจีนเหล่านี้บางส่วนได้สมรสกับสตรีพื้นเมืองตามดินแดนต่างๆที่คาราวานของพวกเขาเดินทางผ่านไป ทำให้เกิดชุมชนต่างๆของชาวมุสลิมจีนเกิดขึ้นตลอดเส้นทางการค้า จนกระทั่งบางชุมชนได้สูญหายไปเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในยุคต่อมา ทำให้ชาวจีนมุสลิมบางส่วนต้องอพยพไปยังดินแดนอื่นๆเช่น ในพม่า,ภาคเหนือของไทย,และประเทศไต้หวัน เป็นต้น
      🌷จีนปางโหลง (Panglong)
 ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 19 แรงกดดันด้านประชากรต่อชาวหุยมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในยูนนานเพิ่มขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการอพยพเข้ามาของชาวจีนฮั่นจากถภาคกลางของจีน ประกอบกับความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มขึ้นต่อการปกครองของราชวงศ์ชิง นำไปสู่การก่อจลาจลของชาวปันเต Panthay ในภูมิภาค Qianshui ในปี พ.ศ. 2398 ภายในเวลาเพียงแค่สองปีศูนย์กลางการก่อจลาจลได้แผ่ขยายไปทางตะวันตกของมณฑลภายใต้การนำของ ตู้ เหวิน ซิ้ว (Du Wenxiu) ผู้สถาปนารัฐผิงหนาน โดยมีต้าหลี่เป็นเมืองหลวง และสถาปนาตัวเองเป็น "สุลต่านสุลัยมาน" ประมุขของอาณาจักรมุสลิมแห่งนี้ จนกระทั่งอาณาจักรของเขาต้องถูกพิชิตลงโดยราชวงศ์ชิงในอีกสิบห้าปีต่อมา หลังจากนั้นยังมีการจลาจลอีกหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับหุย เช่น การจลาจล Dungan (พ.ศ. 2405–2420) และกบฏ Panthay ซึ่งเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของจีน อันมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจต่อความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติของราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นชาวแมนจูและข้าราชการชาวฮั่นของพวกเขา ต่อชาวหุยซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม กบฏ Panthay เริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างคนงานเหมืองดีบุกชาวฮั่นและชาวหุยในปี พ.ศ. 2396 ซึ่งกลายเป็นกบฏ ในปีต่อมา มีการสังหารหมู่ชาวหุยโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของราชวงศ์ชิงในยูนนานที่รับผิดชอบในการปราบปรามการจลาจล หนึ่งในผู้นำของการจลาจลคือนักวิชาการยูซุฟ หม่า เต้อฉิน  (Yusuf Ma Dexin) ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ตู้ เหวินซิ่ว (Dù Wénxiù) แต่แล้วในที่สุดยูซุฟ หม่า เต้อฉิน (Yusuf Ma Dexin) ก็ตกลงยอมจำนนต่อราชวงศ์ชิงในปี พ.ศ. 2404 ขณะนั้นบรรดาผู้นับถือศาสนาอิสลามชาวปันเต (Panthay) หลายคนถูกกดขี่ข่มเหงโดยชาวฮั่น ทำให้ชาวปันเต (Panthay) จำนวนมากได้ตัดสินใจลี้ภัยพร้อมกับครอบครัวเข้าไปสู่ดินแดนพม่าเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายยุคราชวงศ์คองบอง (Konbaung)  และตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐว้า จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2418 พวกเขาได้ตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองปางโหลง (Panglong) ในรัฐฉาน จึงทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกใหม่สำหรับชาวจีนมุสลิมที่นั่นว่า “ชาวจีนปางโหลง” ซึ่งความจริงแล้วพวกเขาก็คือชาวหุย หรือ ชาวจีนมุสลิม ที่เคยถูกเรียกว่าปันเต หรือ ปันเท เมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรพม่า

(มีต่อ ตอนที่ 2)

วันอิดรีส ปะดุกา
เชียงใหม่
1 ธันวาคม 2022

*อ้างอิงอยู่ท้ายบทความ

ความคิดเห็น