ปันเต จีนมุสลิมปางโหลง มาจากไหน

ปันเต (Panthay) จีนปางโหลง (Panglong) และจีนฮ่อ (Chin Haw) คือใคร? (ตอนที่ 2)
🌷จีนปางโหลง (ต่อ)
ปางโหลง เป็นเมืองศูนย์กลางของชาวจีนมุสลิมในพม่า หรือที่เรียกกันว่า พวกปันเต (Panthay) หรือ หุยซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษในขณะนั้นเมืองนี้ได้ถูกทำลายลงทั้งหมดในการรุกรานพม่าของกองทัพญี่ปุ่น ระหว่างปี 1942-1945 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลให้ดินแดนพม่าทั้งหมดต้องตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ 
      ในขณะนั้น หม่า กวงกุย (Ma Guanggui) ได้กลายเป็นผู้นำกองกำลังป้องกันตนเองของชาวหุย (จีนมุสลิม) โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของสาธารณรัฐจีน (ของนายพลเจียง ไค เช็ค) เพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ ปางโหลง (Panglong) ในปี 1942 เมื่อญี่ปุ่นสามารถยึดปางโหลงได้พวกเขาได้ทำลายเมืองทั้งเมืองด้วยการจุดไฟเผาและขับไล่ประชาชนชาวหุย กว่า 200 ครัวเรือนออกไปจากเมืองนี้ ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายกันอพยพหลบหนีภัยสงคราม บางส่วนอพยพกลับไปยังยูนนาน บางส่วนเข้าไปอยู่ในบริเวณตอนเหนือของรัฐฉานซึ่งเป็นเขตของชนชาติโกกั้ง (Kokang) ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับชาวจีนฮั่น        
      ในขณะที่บางส่วนได้อพยพต่อมาจนถึงภาคเหนือของไทย โดยคนไทยจะเรียกพวกเขาว่า “พวกจีนปางโหลง” หลานชายคนหนึ่งของ หม่า กวงกุย (Ma Guanggui) คือ หม่า เหยเย่ (Ma Yeye) ลูกชายของ หม่า กวงหัว (Ma Guanghua) ได้เขียนบรรยายประวัติศาสตร์การโจมตีของญี่ปุ่นต่อชาวหุยในปางโหลงในหนังสือชื่อ "หนังสือปางโหลง" ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2541 โดยใช้ขื่อตัวว่า ชาวหุยจากปางโหลง 
      เขาบรรยายว่า “การโจมตีของญี่ปุ่นในพม่าทำให้ครอบครัวชาวหุย (Hui) ต้องลี้ภัยออกจากปางโหลง ไปยังยูนนานอีกครั้ง”
🌷กองคาราวานค้าขายสินค้าของชาวหุย หรือ ปันเต
       ก่อนที่พม่าจะตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ กองคาราวานค้าขายทางไกลของชาวหุยจากยูนนานสามารถควบคุมเส้นทางการค้าทางบกในภูมิภาคบริเวณนี้ไว้ได้แทบทั้งหมด ด้วยความชำนาญในการเดินทางผ่านภูเขาสูงที่ทุรกันดารพวกเขาได้เปิดเส้นทางการค้าทางบกที่แสนยอดเยี่ยมและเป็นพื้นฐานให้เกิดเส้นทางการค้าที่ทันสมัยในปัจจุบันนี้ เครือข่ายกองคาราวานชาวจีนมุสลิมในยูนนานดูเหมือนจะดำเนินต่อไปได้ดีในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 กองคาราวานของพ่อค้าชาวหุยจากยูนนานได้เคลื่อนขบวนไปทั่วพื้นที่ตั้งแต่ชายแดนด้านตะวันออกของทิเบต ผ่านอัสสัม พม่า ไทย ลาว และตังเกี๋ย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม) ไปจนถึงมณฑลเสฉวน กุ้ยโจว และมณฑลกวางสีทางตอนใต้ของจีน สินค้าที่นำมาจากยูนนาน ได้แก่ ผ้าไหม ชา เครื่องใช้โลหะ เหล็กหยาบ สักหลาด ของสำเร็จรูปประเภทเสื้อผ้า ผลวอลนัท ฝิ่น ขี้ผึ้ง ผลไม้แช่อิ่มรวมทั้งอาหารและเนื้อแห้งชนิดต่างๆ
       สินค้าจากพม่าที่นำกลับไปขายยังยูนนาน ได้แก่ ฝ้ายดิบ ไหมดิบและไหมดัด อำพัน หยกและหินมีค่าอื่น ๆ ผ้ากำมะหยี่ หมาก ยาสูบ ทองคำเปลว สีย้อมไม้ ครั่ง งาช้าง อาหารประจำท้องถิ่น รังนก และฝ้ายดิบซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการอย่างมากในตลาดจีน 
       สำหรับสาเหตุผลที่ทำให้การค้าของกองคาราวานจากยูนนานต้องหยุดตัวลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการยุติการค้าโดยเส้นทางบาโม ในเขตว้า เนื่องจากพระเจ้ามินดอนของพม่าทรงเกรงว่าเส้นทางการค้านี้จะนำไปสู่การขยายอิทธิพลของอังกฤษไปยังพม่าตอนบนและที่อื่นๆ พระองค์ทรงต้องการจำกัดเขตการค้าขายของอังกฤษเอาไว้แค่แถบเมืองท่าตอนล่างและกรุงย่างกุ้งเท่านั้น พระองค์ไม่ต้องการให้พม่านำกองเรือกลไฟของอังกฤษไปทางเหนือจนถึงกรุงมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้าทางบกในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นกองทัพพม่าของพระองค์จะควบคุมสถานการณ์ได้ยาก หลังจากนั้นสงครามและความขัดแย้งต่างๆเช่น สงครามกับอังกฤษ การรุกรานพม่าของกองทัพญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งการเปลี่ยนขั้วการปกครองในจีนเองก็เป็นสาเหตุให้การค้าขายโดยกองคาราวานม้าต่างและล่อของชาวหุย หรือ ปันเต ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย
🌷การอพยพเข้าสู่ล้านนา (ภาคเหนือของไทย)
       การสิ้นชีวิตของ ตู้ เหวิน ซิ้ว หรือ สุลต่านได้ทำลายความหวังของชาวหุย ที่มีต่อฟื้นฟูอาณาจักรอิสลามของพวกเขาในยูนนานขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้จำนวนผู้อพยพชาวหุยจากยูนนานลงมาทางใต้สู่ดินแดนพม่า เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ผู้อพยพมาใหม่มักมาแบบครอบครัวโดยมาทางเมืองบาโมหรือทางรัฐว้า ในต้นศตวรรษที่ 20 ศูนย์กลางของชาวหุยในดินแดนพม่าหลังจากที่อพยพมาจากยูนนานอยู่ที่เมืองปางโหลง (Panglong) ซึ่งมีจำนวนประชากรชาวจีนมุสลิมกลุ่มนี้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด รองลงมาคือกรุงมัณฑะเลย์ก่อนที่เมืองนี้จะถูกยึดครองโดยกองทัพอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่ 3 และพื้นที่ภายในพระราชวังหลวงส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายลงโดยการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองปางโหลง
 การตั้งถิ่นฐานของชาวหุย ซึ่งในตอนนั้นได้ถูกรู้จักในชื่อใหม่โดยชาวพม่าและชนพื้นเมืองอื่นๆว่า พวกปันเต ยังคงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1920 ความบาดหมางได้เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างพวกเขากับพวกว้าที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ในปีพ.ศ. 2469 เหตุการณ์นี้ได้ปะทุขึ้นเป็น "สงครามว้า-ปันเต" ซึ่งฝ่ายว้าเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เมื่อที่ปางโหลงไม่สามารถทำการค้าด้วยกองคาราวานค้าขายทางไกลได้อย่างอิสระและสงบสุขดังเช่นในอดีต ทำให้ชาวปันเต (Panthay) บางส่วนเลือกที่จะขยายถิ่นฐานของตนลึกเข้าไปในดินแดนพม่ามากยิ่งขึ้น ชาวปันเตที่มีเงินทุนได้เข้าไปลงทุนและบางส่วนได้เข้าไปขายแรงงานในเหมืองเงินทางตอนเหนือของรัฐฉาน (Shan) และเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น (Kachin) บางคนเป็นเจ้าของโรงเตี๊ยมและตั้งรกรากอยู่ในใจกลางของพม่า เช่นที่ ลาเสี้ยว (Lashio) เชียงตุง (Kengtung) บาโม (Bhamo) และตองยี (Taunggyi)
      ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าของคนงานในเมืองเหล่านี้ กองคาราวานของชาวปันเตจึงยังคงสัญจรผ่านไปมาและเพื่อค้าขายกับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นตลอดจนชนพื้นเมืองไต (ไทใหญ่ ไทเขิน) และชาวกะเหรี่ยง ขนานไปตามลำน้ำสาละวิน จนถึงศูนย์กลางเศรษฐกิจของพม่าในเมืองใหญ่ๆตามที่ราบลุ่มพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ที่ซึ่งพวกเขาประสบความสำเร็จทางการค้า มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะพ่อค้าและบางคนสามารถดำรงตำแหน่งทางสังคมในระดับสูง เส้นทางคาราวานการค้าของชาวปันเตยังคงดำเนินต่อไปโดยผ่านเส้นทางการค้าสู่ดินแดนล้านนา หรือภาคเหนือของไทยผ่านเชียงตุง แม่สะเรียง และเชียงใหม่ 
       ในช่วงการปกครองของอังกฤษในพม่า ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวปันเตเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองและเชี่ยวชาญในการค้าทุกระดับ ตั้งแต่เป็นพ่อค้าคนกลางในตลาดอัญมณีไปจนถึงเป็นเจ้าของร้านค้าต่างๆทั้งปลีกและส่ง เป็นเจ้าของที่พักนักเดินทาง เป็นนักขยายพันธุ์ม้าและล่อ รวมทั้งพ่อค้าเร่ขายสินค้า ด้วยกองคาราวานสินค้า พวกเขาได้ขยายธุรกิจการค้าทางบกของพวกเขาไปจนถึง "สามเหลี่ยม" ซึ่งเป็นรอยต่อของ 3 ประเทศคือ พม่า ลาว และไทย
       จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า พ่อค้าชาวหุย (จีนมุสลิม) จากมณฑลยูนนานของจีนได้เริ่มออกเดินทางค้าขายโดยการนำสินค้าบรรทุกบนหลังม้าและล่อ เป็นกองคาราวานระหว่างจีน พม่าและล้านนา มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ผู้อพยพชาวจีนมุสลิมเหล่านี้ได้เข้ามาสู่ดินแดนล้านนาโดยแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
       กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มพ่อค้าคาราวานต่างๆ ที่ใช้ม้าหรือล่อเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าผ่านมาทางสิบสองปันนา ปางโหลง เชียงตุง และเมืองต่างๆในพม่า ก่อนจะเดินทางต่อมายังดินแดนล้านนาทางอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่อง ซึ่งเป็นเส้นทางที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ 
        กลุ่มที่สอง ผู้ลี้ภัยชาวจีนมุสลิมระหว่างการปราบปรามกลุ่มกบฏหุย หรือ ปันเต (Panthay) นำโดยสุลต่านสุลัยมาน อิบนุ อับดุลเราะห์มาน หรือ ตู้ เหวิน ซิ้ว (Tu Wenxiu) ผู้ก่อตั้งรัฐผิงหนาน (Ping Nan) ในยูนนานตั้งแต่ปี 1856-1873 ก่อนจะถูกปราบปรามและยึดครองโดยราชวงศ์ชิง              กลุ่มที่สาม ทหารของกองพลที่ 93 แห่งรัฐบาลจีนคณะชาติหรือพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพปฏิวัติจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงในปี 1949 ทำให้ต้องล่าถอยไปตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ส่วนหนึ่งเดินทางไปไต้หวันและอีกส่วนหนึ่งตั้งรกรากอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย 
         กลุ่มที่สี่ คือชาวปันเต หรือ หุย จากพม่าที่ลักลอบข้ามแนวชายแดนป่าใหญ่ที่ไม่มีตำรวจเข้ามาในประเทศไทยและลาวเพื่อหลบหนีการประหัตประหารของกองทหารญี่ปุ่นในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีดินแดนพม่าของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
🌷คำว่า จีนฮ่อ มาจากไหน (ต่อตอนที่ 3)

วันอิดรีส ปะดุกา
เชียงใหม่
3 ธันวาคม 2022

*อ้างอิงอยู่ท้ายบทความ

ความคิดเห็น