กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมกับการอพยพเข้าสู่เมืองล้านนา

กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมกับการอพยพเข้าสู่เมืองล้านนา

 🌺ชาวมุสลิมแห่งล้านนา🌺

   ประวัติศาสตร์ล้านนาเริ่มขึ้นเมื่อพญามังราย กษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) ทรงให้มีการสร้างราชธานีแห่งใหม่ชื่อ “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาอาณาจักรล้านนาซึ่งดำรงเอกราชอยู่ต่อมาอีกกว่า 600 ปีหลังจากนั้น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงประกาศยกเลิกบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่างๆทำให้ล้านนาซึ่งอยู่ในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยามต้องเปลี่ยนฐานะมาเป็นมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2442 และกลายเป็น 9 จังหวัดภาคเหนือในเวลาต่อมา

   🌷ในส่วนของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมนั้นไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มาถึงดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นครั้งแรกเมื่อใด แต่จากข้อความในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 1-3 ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในประเทศไทย ที่มีคำว่า “ปสาน” ซึ่งแปลว่าตลาด เชื่อกันว่ามาจากศัพท์ภาษาเปอร์เซียว่า Bazar (บาซาร) หรือที่ต่อมาเพี้ยนไปเป็น Pasar (ปาซาร) ในภาษามลายู    

   🌷ข้อความในจารึกมีว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มี ตลาดปสาน มีพระอจนะ  มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว(สวนมะพร้าว) ป่าหมากลาง(สวนลางสาด) มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน

มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก” 

   🌷ดังนั้นเมื่อสุโขทัยมีตลาด (ปสาน) ก็หมายความว่าในสมัยสุโขทัยน่าจะมีมุสลิมชาวเปอร์เซียหรือตะวันออกกลางเข้ามาค้าขายและตั้งบ้านเรือนในบริเวณตลาดดังกล่าว 

   🌷นอกจากนั้นในหอจดหมายเหตุและพงศาวดารยังพบว่าในสมัยสุโขทัยมีการค้าขายกับจีน มอญ ชวา มลายู จามปา และอาณาจักรโดยรอบ ปัจจุบันมีการค้นพบถ้วยชามกระเบื้องโบราณ (สังคโลก) ที่เคยเป็นงานหัตถกรรมของชาวสุโขทัยและเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปขายยังประเทศมุสลิมหลายแห่ง เช่น หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซียในปัจจุบันรวมทั้งดินแดนของชาวมุสลิมอื่นๆ 

   🌷จากหนังสือโบราณคดีอ่าวบ้านดอนของท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงการเข้ามาของชาวอินเดียและชาติอื่นๆ ความว่า เมื่อมองดูเศษกระเบื้องที่เกลื่อนกลาดตามชายทะเลเมืองตะกั่วป่าแสดงว่าชาวจีนได้นำเครื่องเคลือบของตนมาขายในพื้นที่นี้เมื่อ 1,600 ปีก่อน และชาวเปอร์เซียก็นำเครื่องลายครามของตนมาค้าขายเมื่อ 1,200 ปีก่อนเช่นกัน ชาวกรีกเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2-4 ไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ในขณะที่ชาวอาหรับมีหลักฐานแน่ชัดจากจดหมายเหตุของชาวอาหรับว่าเกี่ยวข้องกับแผ่นดินนี้มาตั้งแต่ 1,100 ปีมาแล้ว 

   🌷 หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายระหว่างสุโขทัยกับชาวมุสลิมมาช้านาน และในทางภูมิศาสตร์ศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันกับอาณาจักรล้านนา ทั้งยังมีความสัมพันธ์กันในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจมาอย่างช้านาน แม้จะยังไม่พบหลักฐานทางเอกสารหรือโบราณวัตถุที่ระบุระยะเวลาที่แน่นอนของการเข้ามาของมุสลิมในดินแดนล้านนา 

   🌷แต่จากกระแสประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยกับสุโขทัยรวมทั้งประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ก็มีบันทึกว่ากษัตริย์ 3 พระองค์ที่เป็นพันธมิตรกันในภูมิภาค คือ พญามังราย กษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงราย) ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนา พญางำเมือง กษัตริย์แห่งเมืองภูกามยาว (พะเยา) และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงมาร่วมกันวางแผนในการสร้างเมือง ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้ปกครองทั้งสามอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียงกันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจะต้องมีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกันทั้งด้านการศึกษา การค้า และวัฒนธรรม เนื่องจากสุโขทัยตั้งอยู่ด้านล่างและมีท่าเรือค้าขายระหว่างประเทศสะดวกซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเดินทางขึ้นไปค้าขายในดินแดนเพื่อนบ้านอย่างล้านนาทางภาคเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   

   🌷แม้ว่าจะยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีชุมชนชาวมุสลิมเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนล้านนาเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใดก็ตามที แต่ก็พอสันณิฐานได้ว่าน่าจะมีชาวมุสลิมจากดินแดนต่างๆเคยเดินทางผ่านมาในภูมิภาคนี้ตั้งแต่อดีตกาลแล้วก็เป็นได้


   🌷ปัจจุบันนี้ดินแดนล้านนาได้กลายมาเป็นภาคเหนือของประเทศไทยที่แบ่งการปกครองออกเป็น 9 จังหวัดอันประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ และ อุตรดิตถ์ มีประชากรทั้งหมด 6,342,000 คน (พ.ศ. 2561) โดยมีเชียงใหม่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด 

   🌷สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ระบุว่าปัจจุบันมีประชากรมุสลิมประมาณ 35,561 คน อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดใหญ่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีประชากรมุสลิมทั้งหมดประมาณ 19,371 คน จังหวัดเชียงรายมีประชากรมุสลิมทั้งหมดประมาณ  2,362 คน ประชากรมุสลิมที่เหลืออาศัยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดอื่นๆเช่นในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่อสอน, จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปางเป็นต้น

   🌷ทั่วทั้งภาคเหนือมีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆจำนวน 4 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย,จังหวัดเชียงใหม่,จังหวัดลำปาง,และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีมัสยิดที่จดทะเบียนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 32 แห่ง ได้แก่ เชียงราย 7 มัสยิด เชียงใหม่ 14 มัสยิด พะเยา 1 มัสยิด แพร่ 1 มัสยิด แม่ฮ่องสอน 3 มัสยิด ลำปาง 4 มัสยิด ลำพูน 1 มัสยิด และอุตรดิตถ์ 1 มัสยิด มีเพียงจังหวัดน่านเพียงจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ยังไม่มีมัสยิดแม้แต่แห่งเดียว 

🌺ชาติพันธุ์ต่างๆของชาวมุสลิมในดินแดนล้านนามีดังต่อไปนี้

🌺(1) ชาวจีนมุสลิมจากยูนนาน

       ชาวหุย หรือที่คนไทยมักจะเรียกพวกเขาว่า ชาวจีนฮ่อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า พ่อค้าชาวหุย (จีนมุสลิม) จากมณฑลยูนนานของจีนได้เริ่มออกเดินทางค้าขายโดยการนำสินค้าบรรทุกบนหลังม้าและล่อ เป็นกองคาราวานระหว่างจีน พม่าและล้านนา มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ในพม่าพวกเขาจะถูกรู้จักในนาม "ปันไท (Panthay) " ขณะที่ในภาคเหนือของไทยเรียกพวกเขาว่า “ฮ่อ” ต่อมาชาวจีนมุสลิมจากยูนนานได้พากันอพยพหลบหนีภัยสงครามและความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศจีนมายังภาคเหนือของไทยอีกหลายครั้งภายในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวจีนมุสลิมเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มพ่อค้าคาราวานต่างๆ ที่ใช้ม้าหรือล่อเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าผ่านมาทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเส้นทางที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ กลุ่มที่สอง ผู้ลี้ภัยชาวจีนมุสลิมระหว่างการปราบปรามกลุ่มกบฏปันไท (Panthay) นำโดยสุลต่านสุลัยมาน อิบนุ อับดุลเราะห์มาน หรือ Tu Wenxiu ผู้ก่อตั้งรัฐ Ping Nan ในยูนนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2399-2416 ก่อนจะถูกปราบปรามและยึดครองโดยราชวงศ์ชิง กลุ่มที่สาม ทหารของกองพลที่ 93 แห่งรัฐบาลจีนคณะชาติหรือพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพปฏิวัติจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงในปี 1949 ทำให้ต้องล่าถอยไปตามชายแดนไทย-เมียนมาร์ ส่วนหนึ่งเดินทางไปไต้หวันและอีกส่วนหนึ่งตั้งรกรากอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย




🌺(2) ชาวปัชตุน หรือ ชาวปาทาน

       ชาวปาทานส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากจังหวัดไคเบอร์ปักตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ในปากีสถานปัจจุบัน ชาวปาทานเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะพลเมืองของจักรวรรดิอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2398 เมื่อประเทศไทยลงนามสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษ ขณะนั้นปากีสถานยังรวมอยู่กับอินเดียภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ์อังกฤษ สันณิฐานว่าชาวปาทานกลุ่มแรกเข้ามาสู่ภาคเหนือในฐานะกรรมกรก่อสร้างทางรถไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะสมรสกับสตรีพื้นเมืองล้านนาและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆในภาคเหนือ อาทิเช่น ลำปาง เชียงใหม่ และเชียงราย ต่อมาหลังจากที่ปากีสถานได้รับเอกราชในปี 2490 ชาวปาทานจำนวนมากเริ่มทยอยอพยพออกจากปากีสถานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต และประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของพวกเขา ทำให้มีชาวปาทานอพยพเข้ามาเพิ่มเติมในชุมชนของชาวปาทานรุ่นก่อนและแพร่กระจายออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองต่างๆทั่วภาคเหนือ ปัจจุบันชาวมุสลิมเชื้อสายปาทานได้ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ชาวปาทานมักจะมีความชำนาญในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทำให้พวกเขามักจะผูกขาดอาชีพค้าเนื้อวัว,ควาย,แพะ,และแกะ ชาวปาทานมักจะเปิดแผงจำหน่ายเนื้อฮาลาลอยู่ในตลาดต่างๆแทบทุกจังหวัด ในด้านศาสนาอิสลามพวกเขามักจะร่วมกันสร้างมัสยิดของพวกเขาเองโดยใช้ชื่อว่ามัสยิดปากีสถานเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและปฏิบัติศาสนกิจตามเมืองสำคัญต่างๆที่มีชุมชนของพวกเขาตั้งอยู่

🌺(3) ชาวเบงกาลี

      ชาวมุสลิมกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในภาคเหนือของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2393 สมัยที่อินเดียยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ชาวเบงกาลีอพยพส่วนใหญ่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เมืองกัลกัตตาในแคว้นเบงกอลตะวันออกของอินเดีย และเมืองจิตตะกองปากีสถานตะวันออกซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบังกลาเทศในปี พ.ศ. 2514 ชาวเบงกาลีอพยพกลุ่มแรกๆเริ่มต้นจากการเข้ามาเป็นกรรมกรให้กับชาวอังกฤษต่อมาได้เริ่มต้นทำธุรกิจขนาดเล็กจนประสบผลสำเร็จมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่งคั่งในเวลามา ชุมชนเก่าแก่ของผู้อพยพชาวเบงกาลีในภาคเหนือ คือ ชุมชนมัสยิดช้างคลานและชุมชนมัสยิดช้างเผือกในตัวเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีชุมชนเล็กๆ อื่นๆ เช่น ดอยสะเก็ด สันกำแพง เป็นต้น พวกเขามักจะเลือกตั้งถิ่นฐานในทำเลที่ดีเพื่อดำเนินธุรกิจขนาดเล็กของพวกเขา เช่น ค้าขายและรับจ้างต่างๆ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ต่างๆของภาคเหนือจึงทำให้มีชาวมุสลิมอพยพกลุ่มอื่นๆเข้ามาอยู่อาศัยปะปนกัน ตลอดจนการแต่งงานแบบผสมผสานกับกลุ่มมุสลิมอื่นๆ เช่น มุสลิมไทย-มลายู, ปาทาน และ ชาวจีนมุสลิม ทำให้อัตลักษณ์เฉพาะของชาติพันธุ์บางอย่างของชาวมุสลิมเบงกาลีได้เจือจางลงไป จนบางครั้งไม่อาจนิยามได้ว่าเด็กคนไหนเป็นชาวเบงกาลีหรือเป็นชาวจีนฮ่อจึงค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดจำนวนสมาชิกชุมชนที่แน่นอนได้ 

🌺(4) ชาวมุสลิมจากพม่า

      ภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิมอพยพจากประเทศพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ชาวมุสลิมอพยพจากพม่ามีหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวพม่า ชาวโรฮิงญา และชาวกระเหรี่ยง ชาวมุสลิมอพยพจากพม่าถือเป็นกลุ่มผู้อพยพที่ประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการไร้สัญชาติ, การเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย, ปัญหาความยากจน,ขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนปัญหาสาธารณสุข เป็นต้น พวกเขามักจะถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวและไม่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับชุมชนมุสลิมในท้องถิ่นได้ ดังนั้นชาวมุสลิมอพยพจากพม่าส่วนใหญาจึงมักจะเลือกประกอบอาชีพเป็นแรงงานราคาถูกในท้องถิ่น ปัจจุบันมีชาวมุสลิมอพยพจากพม่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆในภาคเหนือเป็นจำนนหลายพันคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของพวกเขาเป็นแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ทำให้มักจะตกเป็นเหยื่อแห่งการเลือกปฏิบัติและความอคติทางเชื้อชาติ บางครั้งพวกเขาจะถูกเรียกว่า "พวกกะลา" ซึ่งถือเป็นคำเรียกในเชิงดูถูกจากคนไทยกลุ่มอื่นๆ

🌺(5) ชาวไทยมุสลิม (ไทย – มลายู)

        ชาวมลายูส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพ,อยุธยา,และทางภาคใต้ของประเทศไทยในอดีต บรรพบุรุษของพวกเขาจำนวนมากเคยตกเป็นเชลยของไทยเมื่อดินแดนของพวกเขาการล่มสลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามเมื่อสองศตวรรษที่แล้ว ปัจจุบันชาวมลายูในประเทศไทยถูกเรียกว่า “ไทยมุสลิม” ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการบังคับกลืนกินโดยรัฐไทย ชาวมลายูกลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนา ในราวปี พ.ศ. 2438 เป็นกลุ่มชนชั้นนำชาวมลายูจำนวน 80 คนที่ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษในรัฐปาหัง ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในอาณานิคมมลายาของจักรวรรดิอังกฤษ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระราชทานราชานุญาตให้กลุ่มชาวมลายูเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อลี้ภัยในภาคเหนือของไทย พร้อมทั้งพระราชทานเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าครองชีพสำหรับพวกเขาด้วยโดยให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ที่มาจากเอเชียใต้ในเมืองเชียงใหม่โดยให้ใช้มัสยิดร่วมกัน เนื่องจากผู้อพยพชาวมลายูกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงในสังคมมลายูมีคนรับใช้และบางคนเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ด้านศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ บรรดาสามัญชนในท้องถิ่นจึงพากันเรียกพวกเขาว่า “เจ้านาย” ต่อมาลูกหลานของพวกเขาก็ได้แต่งงานและผสมกลมกลืนไปกับชาวมุสลิมเชื้อสายปาทาน,เบงกาลีและจีนฮ่อ ชาวมลายูรุ่นต่อมาที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือของไทยส่วนใหญ่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางจังหวัดในภาคกลางเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่จำนวนประชากรในกลุ่มของพวกเขามีไม่มากนักดังนั้นจึงไม่มีชุมชนเฉพาะเป็นของตนเองและ ชาวมลายู หรือ ไทยมุสลิมส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการและทำงานในองค์กรท้องถิ่นต่างๆ เช่น โรงเรียนของรัฐและเอกชน ธนาคาร โรงพยาบาล และเทศบาล นอกจากนั้นยังมีชาวไทยมุสลิมจากภาคใต้จำนวนหนึ่งที่อพยพขึ้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือเพื่อทำงานเป็นครูสอนศาสนาเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้กับคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ




🌺(6) ชาวเขา

      ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เรียกว่าชาวเขาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 10 ชนเผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง, ม้ง (แม้ว), เมี่ยน (เย้า), ลีซู (ลีซอ), ลาหู่ (มูเซอ), อาข่า (อีก้อ), ลัวะ, ถิ่น, ขมุ และมลาบรี (ผีตองเหลือง) มีประชากรรวม 923,257 คน กลุ่มชาวเขาที่มีประชากรมากที่สุดคือเผ่ากะเหรี่ยง มีประชากร 438,131 คน ในอดีตชาวเขาส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาใด ๆ แต่มีความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณและที่มีอยู่ในธรรมชาติรวมถึงบรรพบุรุษของพวกเขา การเข้ารับอิสลามของชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเริ่มขึ้นเมื่อชาวเขาเผ่าม้ง ที่บ้านแม่เปา ตำบลพญาเม็งราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามกันทั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2531 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้มีกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามประมาณ 70 คนจากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนชาวเขาเหล่านี้ หลังจากนั้นข่าวคราวของชาวเขาเข้ารับอิสลามก็แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทำให้มีชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ทั้งจากภาคกลางและภาคใต้เข้ามาสานต่อภารกิจเผยแพร่ศาสนาในจังหวัดต่างๆของภาคเหนือเป็นประจำทุกปี มัสยิดแห่งแรกสำหรับมุสลิมชาวเขาถูกสร้างขึ้นที่บ้านเวียงหมอก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายในปี 2536 หลังจากนั้นมัสยิดอื่นๆ ก็ถูกสร้างขึ้นในหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านปางสา บ้านห้วยมะหิ่นฝน อำเภอแม่จัน และจังหวัดเชียงราย และที่บ้านแสงไทร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นต้น มุสลิมชาวเขาในภาคเหนือของไทยมาจากทุกเผ่าแต่ยังไม่มีการสำรวจสถิติอย่างเป็นทางการเพราะทางราชการยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถิติของชนกลุ่มน้อยในการนับถือศาสนาต่างๆและยังมีปัญหาเรื่องสถานะพลเมืองของชาวซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์หรืออาจมีเพียงแค่สถานะเป็นคนต่างด้าวเท่านั้น

     🌷นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆอีกมากมายที่ไม่ได้นำเสนอในที่นี้ อาทิเช่น ชาวมุสลิมจากอินเดียบางกลุ่ม คือ ชาวกุจราตี, ชาวปันจาบี, ชาวทมิฬ และอื่นๆ บางครั้งเรียกรวมกันว่าชาวฮินดูสตานี หรืออีกบางส่วนก็มีการแบ่งย่อยออกไปตามลัทธิความเชื่อในศาสนาเช่น กลุ่มดาวูดีโบราห์ เป็นต้น ผู้คนเหล่านี้ต่างร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมและศาสนาที่เป็นของตัวเองและเป็นสีสันของชุมชนมุสลิมแห่งล้านนามาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้


วัลลอฮุอะอฺลัม


วันอิดรีส ปะดุกา

13 พฤศจิกายน 2022

เชียงใหม่

ความคิดเห็น