ผู้นำ ผู้ตาม บทเรียนจากการละหมาด อบูอิสอาน อัยยูบ อันศอรีย์

 ผู้นำ ผู้ตาม บทเรียนจากการละหมาด

อบูอิสอาน อัยยูบ อันศอรีย์

อัลลอฮ์ (ซ.บ.)ทรงกำหนดบทบัญญัติเรื่องการละหมาด สำหรับปวงบ่าวของพระองค์ และมุสลิมทั้งหลายต่างยอมรับและนอบน้อมต่อพระองค์อย่างยาวนานและต่อเนื่อง การละหมาดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่างน้อยวันละ 5 เวลา แต่เราได้เรียนรู้อะไรนอกจากผลบุญที่เราได้รับในแต่ละช่วงเวลา ข้าพเจ้าขอนำเสนอบทเรียนอันน้อยนิดที่ข้าพเจ้าได้พิจารณาจากการละหมาด เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้ใคร่ครวญต่อยอดข้อคิดเหล่านี้

บทเรียนที่ 1 การอาซาน และการอิกอมะห์ 

อย่างที่เราทราบดีก่อนเริ่มการละหมาดจะต้องมีการอาซาน และการอิกอมะห์ ซึ่งคือการรวมตัวหรือรวมคน การรวมคนเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน เมื่อผู้คนมารวมกันจึงเกิดพลัง การนัดหมายหรือการประชาสัมพันธ์เพื่อการรวมคนจึงต้องมีรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสม ที่จะสื่อสารให้คนที่มีความสนใจเหมือนกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นเงื่อนไขที่สำคัญของการรวมคน หรือการนัดหมาย คือ การมารวมตัวกันอย่างถูกที่ และถูกเวลา มีความพร้อมเพียงกัน เริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมๆกัน แต่มีข้อสังเกตว่ามุสลิมนั้นมักมีปัญหาในเรื่องของการรักษาเวลาโดยเฉพาะในเรื่องของการนัดหมาย ซึ่งการนัดหมายของมุสลิมมักจะล่าช้าเสมอ หรือขาดความแน่นอน ทั้งที่เราถูกฝึกสอนในเรื่องกำหนดเวลาละหมาดที่แน่นอน เราอาซานและอิกอมะห์ตรงเวลา แต่ไปตามนัดหมายไม่ตรงเวลา

บทเรียนที่ 2 ความสะอาดและการชำระล้าง

ก่อนการละหมาดจำเป็นที่มุสลิมจะต้อง สวมใส่เครื่องนุ่มห่มที่เหมาะสมและสะอาด สถานที่ต้องสะอาด และที่สำคัญต้องชำระล้างให้สะอาดด้วยการทำน้ำละหมาด ดังนั้นบุคคลที่อาสาเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นผู้นำต้องสำรวจตัวเอง ซักฟอกตนเอง ให้หน้าใส มือสะอาด ผู้ตามก็ต้องเลือกผู้นำที่สะอาดทั้งกายและจิตใจ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน เช่นเดียวกับที่เราเห็นก่อนการเข้ามาของนักการเมืองทั่วโลก จำเป็นต้องมีการแสดงหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีอิหม่ามหรือคณะกรรมการมัสยิดใดเปิดเผยหรือซักฟอกตนเองก่อนและหลังการดำรงตำแหน่ง หากใครพยายามถามหาใบเสร็จ หรือบัญชีรายรับรายจ่ายมัสยิด ก็ถือว่าดูถูกดูแคลน ดังนั้นผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรในศาสนาอิสลามไม่ใช่บุคคลที่ควรถูกตรวจสอบจริงหรือ

บทเรียนที่ 3 ไม่อนุญาติให้มีสองญามาอัตในเวลาเดียวกัน

หลักการสำคัญที่ทราบกันดีว่าเมื่อมีการละหมาดญามาอัตเกิดขึ้น ไม่อนุญาติให้ผู้มาทีหลังจัดตั้งญามาอัตใหม่ จนกว่าญามาอัตนั้นจะได้สิ้นสุดการละหมาดไปหมดแล้ว สิ่งนี้ทำให้เห็นการสร้างเอกภาพในสังคมมุสลิม หากจะรวมตัวกันทำงานใดเรื่องหนึ่งก็สมควรอย่างยิ่งที่จะมีคณะทำงานในเรื่องนั้นเพียงชุดเดียว เช่นเรื่องของการบริหารจัดการซะกาต ไม่ควรมีความซ้ำซ้อน แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน แต่ควรร่วมมือร่วมใจกันในการทำให้ภาระกิจให้บรรลุผล 

เช่นเดียวกันการมีญามาอัตเดียวก็ทำให้ต้องมีอิหม่ามหรือผู้นำเพียงหนึ่งเดียว เป็นการสร้างเอกภาพ บุคคลที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำต้องมีความรู้ในกิตาบุ้ลลอฮ์ และซุนนะห์ นั้นหมายความว่าเราจะได้ผู้นำที่มีความรู้ มีศรัทธา และมีคุณธรรม ส่วนคนที่มีความรู้ในเรื่องอื่นๆก็มาเป็นคณะทำงาน มาให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในเรื่องที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ แต่สุดท้ายเราก็ต้องการคนที่มีศรัทธา มีคุณธรรมเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันเราพบว่าเมื่อแต่ละคนอยากเป็นผู้นำในชุมชนเดียวกัน ทางออกก็คือ การแยกมัสยิดแม้จะห่างกันแค่เพียงมีถนนกั้น เพื่อให้ตนเองได้เป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานประจานและทำลายเอกภาพของสังคมมุสลิมตลอดมา แล้วอีกเมื่อไหรเราจะสามารถ ลบล้างคำพูดที่ว่า “รวมกันไม่ใช่แขก แตกกันไม่ใช่เจ๊ก”

บทเรียนที่ 4 อิกอมะห์ เมื่อเห็นอิหม่าม

บิลาลจะทำการอิกอมะห์ เมื่อเห็นท่านนบีเดินมา พวกเขาจะรอคอยไม่ว่าจะนานเพียงใด จะไม่มีการอิกอมะห์หากท่านนบียังไม่ปรากฏ หรือท่านไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดมาทำหน้าที่แทนท่าน จะไม่มีการตะโกนเรียกหรือการกดดันใดๆ บทเรียนนี้ทำให้เรามองเห็นในเรื่องการยอมรับอำนาจ การให้เกียรติแก่ผู้นำ ผู้ตามจะไม่ดำเนินการใดๆโดยพละการหากไม่ได้รับคำสั่งจากผู้นำในภาวะปกติ หากแต่ว่าการดำเนินการใดๆจะต้องได้รับมติหรือการอนุญาติจากผู้นำ ปัจจุบันเรามักพบว่าคณะกรรมการประจำมัสยิดอาจตัดสินใจดำเนินการกิจการต่างๆโดยปราศจากการอนุมัติของอิหม่าม หรือบางมัสยิดมองอิหม่ามเป็นเพียงอิหม่ามรับจ้างนำละหมาดเท่านั้น แต่อำนวจที่แท้จริงกับอยู่กับบุคคลที่มองไม่เห็น ไม่แสดงตัว หรือผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้มัสยิด ซึ่งการแสดงบทบาทผิดที่ ผิดเวลาเช่นนี้ถือเป็นการทำลายโครงสร้างทางสังคมมุสลิมอย่างร้ายแรง

บทเรียนที่ 5 ผู้ที่ก้มเงยก่อนอิหม่าม ในวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ) ศรีษะของเขาจะถูกเปลี่ยนเป็นศรีษะของลา

บทเรียนนี้อัลลอฮ์(ซ.บ.)ทรงประจานชนที่โง่เขล่าเมื่อพวกเขาได้เลือกผู้นำมาแล้วแต่เขาไม่ตาม ไม่ยอมรับ ประหนึ่งกบเลือกนาย การไม่ยอมรับในตัวผู้นำนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกผู้นำ ซึ่งเกณฑ์ในการเลือกผู้นำเปลี่ยนไปจากคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์และรอซูลที่ให้เลือกคนที่รู้อัลกุรอ่านมากที่สุด และมีความรู้ในซุนนะในอันดับต่อมา  แต่ในปัจจุบันเราเลือกคนที่มีอำนาจ บารมี มีอิธิพล มีญาติพี่น้องมาก มีเชื้อสายตระกูลผู้ก่อตั้งชุมชน มีเงินทองมีทรัพย์สมบัติมาก จึงทำให้ได้คนผิดประเภทมาเป็นผู้นำและสร้างปัญหา จนทำให้เกิดการไม่ยอมรับ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกระบวนการเลือกผู้นำที่เป็นที่ยอมรับเป็นสิ่งสำคัญเมื่อได้ผู้นำแล้วก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับและทำตามตราบที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการศาสนา

บทเรียนที่ 6 การจัดแถวในละหมาด

ก่อนการละหมาดอิหม่ามต้องเป็นผู้ตรวจสอบความพร้อมของแถวว่ามีความชิดและมีความตรงที่สุด สิ่งนี้บ่งบอกถึงระเบียบวินัย ความรักใคร่สามัคคี ความสนิดชิดใกล้ ที่มุสลิมรู้จักเป็นอย่างดีในเรื่องการเข้าแถวของคนทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีเรื่องของชนชั้นวรรณะ ไม่ว่ารวยหรือยากจน กษัตร์หรือยาจกก็สามารถเคียงข้างกัน มีความเท่าเทียมกัน ณ ที่พระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.) มีเพียงหลักการของความเหมาะสมคือ การให้ผู้อาวุโสอยู่แถวหน้า เยาวชนและเด็กๆอยู่ช่วงกลาง และสตรีอยู่หลังสุด บ่งบอกถึงการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย แม้จะถูกฝึกถูกสอนอย่างนี้ แต่ก็น่าแปลกใจที่เรากลับพบว่าชุมชนมุสลิมเป็นชุมชนที่ยังขาดระเบียบวินัย ของส่วนรวมกลายเป็นของส่วนตัว เราเข้าแถวเฉพาะเวลาละหมาด แต่เวลารับแจกสิ่งของอาหารเลี้ยงละศิลอด หรือผลประโยชน์อื่นๆเช่น ทุนทำฮัจญ์ ทุนการศึกษา เรามักแย่งชิงกัน ไม่เหลือแบ่งปันให้คนข้างหลัง เอาเปรียบกันและกัน เด็กไม่เคารพให้เกียรติผู้อาวุโส ผู้อาวุโสไม่แสดงความรักความเมตตาต่อเด็กๆ กลุ่มสตรีมักถูกละเลย

บทเรียนที่ 7 เมื่ออิหม่ามอ่านผิดหรือทำผิด

หากเกิดความผิดพลาดขึ้นในการนำของอิหม่ามไม่ว่าการอ่านผิด หรือหลงลืมจำนวนร๊อกกะอัต ให้มะมูม(ผู้ตาม)มีการเตือนได้ทั้งชายและหญิง แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้นำจะมีอำนาจในการตัดสินใจและผู้ตามมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม แต่ต้องอยู่ในกรอบหรือรูปแบบที่เหมาะสมตามหลักการของศาสนาและผลประโยชน์ของส่วนรวม หากมีการตัดสินใจผิดพลาดผู้ตามก็มีหน้าที่ทักท้วง ตักเตือนให้ได้สติ ทบทวนและกลับไปแก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ถูกต้องสมบูรณ์ ดังนั้นอิสลามไม่ใช้หลักการที่ว่าผู้นำถูกทุกข้อ หรือผู้นำไม่เคยผิด และผู้นำยังจะมีความชอบธรรมตราบที่ยังคงรักษาแนวทางแห่งกิตาบุ้ลลอฮ์และซุนนะห์ไว้ หากฝ่าฝืนแล้วก็มีโอกาสถูกปลดได้เช่นกัน

บทเรียนที่ 8 เมื่ออิหม่ามเสียน้ำละหมาด

เมื่ออิหม่ามเสียน้ำละหมาดอันเป็นเหตุให้เสียละหมาดด้วย อิหม่ามก็จะต้องสละตำแหน่งของตนคือไปทำน้ำละหมาดใหม่ ในขณะที่คนที่อยู่ข้างหลังอิหม่าม ส่วนใหญ่จะเป็นบิลาลที่ทำหน้าที่อิกอมัต จะต้องขึ้นมาทำหน้าที่แทน และเมื่ออิหม่ามกลับมาจากการทำน้ำละหมาดใหม่ก็จะกลับมาเป็นมะมูม (ผู้ตาม) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าควรมีการเตรียมการผู้นำแถวสอง และสามารถผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำและผู้ตาม โดยไม่ยึดติดกับการสืบทอดตำแหน่งแบบสายตระกูล อิหม่ามหลายคนมักยัดเยียดความเป็นอิหม่ามให้ลูกหลานของตนหรือญาติพี่น้องเพื่อรักษาอำนาจของตน ทั้งที่ไม่มีความสามารถแต่แท้จริงตำแหน่งนี้มีภาระที่จะต้องตอบคำถามต่อหน้าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งเกีรยติยศ แต่เป็นตำแหน่งของการเป็นผู้รับใช้ชุมชนและสังคม

บทเรียนที่ 9 เมื่ออิหม่ามถูกตัดหน้าระหว่างละหมาด

เมื่ออิหม่ามถูกเดินตัดหน้าถือเป็นเหตุให้เสียละหมาดทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในรูปแบบ การสร้างเมี๊ยหรอบ หรือการวางเครื่องกั้น เพื่อป้องกันอิหม่ามถูกตัดหน้า สิ่งนี้บอกให้เรารู้ว่าอัลลอฮ์ทรงให้เกียรติผู้นำ ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ไม่ให้ใครมาดูถูกเหยียดหยามผู้นำเพราะนั้นคือการดูถูกคนทั้งชุมชน หากเราไม่ดูแลให้เกียรติอิหม่ามของเราแล้วใครจะมาให้เกียรติ ชุมชนของเรา ยิ่งเราอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยแล้วจำเป็นต้องยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังเกตได้ว่าคดีความที่ฟ้องร้องกันในศาลของแต่ละชุมชนนั้นมีแต่มุสลิมในชุมชนนั้นเองที่เป็นผู้ฟ้องร้อง ทำลายชื่อเสียงกัน ขณะที่คนต่างศาสนิกยกย่องให้เกียรติ อิหม่าม ผู้นำศาสนา จุฬาราชมนตรี กลับถูกมุสลิมด้วยกันเหยียดหยามพ้องร้องทำให้เสี่ยมเสีย ซึ่งแน่นอนเสื่อมเสียถึงมวลมุสลิมทั้งหมด เช่นเดียวกับที่อิหม่ามถูกเดินตัดหน้าขณะละหมาด

บทเรียนที่ 10 เมื่อละหมดเสร็จอิหม่ามหันหน้ามาทางมะมูม(ผู้ตาม)

แบบอย่างนี้เพื่อให้อิหม่ามได้สำรวจทุกข์สุขของผู้ตามว่าอยู่ดีมีสุขหรือไม่ หากขาดละหมาดหลายเวลาก็ต้องสอบถามเพื่อนบ้านว่าเป็นอย่างไร เจ็บไข้ได้ป่วยจึงไปเยี่ยม ดังนั้นอิสลามให้ผู้นำสำรวจความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไม่ใช่สำรวจแต่ความสมบูรณ์ของตึกอาคาร หออาซาน นอกจากการปฏิบัติศาสนกิจแล้วจำเป็นที่ผู้นำต้องสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะพัฒนาศักยภาพของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของมะมูมให้ดีขึ้นทั้งกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ

 ทั้งสิบบทเรียนเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่จะทำให้เราท่านได้พอมองเห็นถึงการใช้ฮิกมะห์ (วิทยปัญญา) ในการดำเนินชีวิตของมุสลิม หากเข้าใจว่าการปฏิบัติศาสนกิจเช่นการละหมาดจ่ายซะกาต ถือศิลอด หรือการทำพิธีฮัจญ์คือพิธีกรรม ก็ได้รับเพียงผลบุญเป็นการตอบแทน แต่หากใคร่ครวญพิจารณาให้มากขึ้นก็จะทราบว่าในคำสังใช้ของพระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.)มีปรัชญาแฝงไว้รอให้เรานำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณของเราให้สูงส่งขึ้น เป็นประชาชาติตัวอย่างที่ถูกส่งมาเพื่อเป็นความเมตตาแก่มนุษยชาติทั้งมวล....(วัลลอฮุอาลัม)

ความคิดเห็น