สถาปัตยกรรมสะท้อนชาติพันธุ์: อาคารละหมาดสำหรับสตรี มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) เชียงใหม่

 เมื่อหลายปีก่อน มีโอกาสรับใช้ คุณ Shirin Sanasen นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศตุรกี โดยรับเป็นสารถี นำท่านไปเยือนมัสยิดในพื้นที่อำเภอฝาง แม่อาย และพื้นที่ในเมืองบางส่วน คุณ Shirin ได้ส่งต่อทั้งภาพและเรื่องราวของมัสยิดท่าตอน ผ่านมาในเฟสบุ๊ค จึงขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ส่งต่อมายังพี่น้องอ่านดูครับ

      #สถาปัตยกรรมสะท้อนชาติพันธุ์: อาคารละหมาดสำหรับสตรี มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) เชียงใหม่

โดย Shirin Sanasen

      หากใครได้ไปเยือนมัสยิดท่าตอน อำเภอแม่อาย จะพบกับเก๋งจีนที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับตัวมัสยิด ดูขัดแย้งกันเล็กน้อยเนื่องจากมัสยิดท่าตอนเป็นอาคาร คสล.ทรงธรรมดา (สร้าง พ.ศ.2518) ที่พบได้ทั่วไปในภาคเหนือ แต่ฝั่งตรงข้ามกลับเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่ดูโดดเด่นกว่ามัสยิดมาก...นี่คืออาคารละหมาดสำหรับมุสลิมะฮ์ (ผู้หญิง)

ภูมิหลังในการสร้างอาคารละหมาดหลังนี้คือทางมัสยิดต้องการสร้างโรงเรียนฟัรดูอีน (โรงเรียนสอนศาสนา) หลังใหม่ และต้องการให้สุภาพสตรีในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุอัลลัฟ (นับถือศาสนาอื่นมาก่อนจะเข้ารับอิสลามในภายหลัง) ให้มีโอกาสได้ฟังเทศนาธรรมทุกวันศุกร์ จึงประสงค์ที่จะสร้างอาคารละหมาดขึ้นสำหรับสตรีโดยเฉพาะ

ผู้ออกแบบเป็นสัปบุรุษในชุมชนท่าตอน แนวคิดในการออกแบบคืออาคารเป็นตัวสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน เขากล่าวว่า "ชุมชนของเรามีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน แม้ปัจจุบันจะเป็นรุ่นที่ 4 แล้วแต่เรายังคงรักษาวัฒนธรรมของเราไว้อย่างเข้มแข็ง ทั้งอาหาร ภาษา รวมถึงสำเนียงในการอ่านอัลกุรอานแบบจีน สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่คงทนถาวร แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้มากกว่าเพียงการบอกเล่าว่าเรามาจากไหน มัสยิดในประเทศจีนก็ยังสร้างเป็นทรงเก๋งจีน ชุมชนมุสลิมจีนของเราก็น่าจะมีมัสยิดทรงจีนบ้าง" 


อาคารละหมาดสำหรับสตรีในมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2558 สร้างโดยช่างที่มีประสบการณ์สร้างศาลเจ้าจีน เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นที่ละหมาดสำหรับผู้หญิง เมี๊ยะหร็อบเรียบง่ายแบบมัสยิดในจีนคือเป็นเพียงช่องโค้งที่ด้านในมีแผ่นป้ายเขียนข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน ด้านหลังอาคารมีที่อาบน้ำละหมาดพร้อมทางลาดสำหรับ wheelchair ส่วนชั้นบนเป็นโรงเรียนสอนศาสนา รูปแบบของอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิดในปักกิ่งและกวางโจว ประดับและใช้สีสันแบบสถาปัตยกรรมจีน หลังคากับเท้าแขนค่อนข้างใหญ่เมื่อเที่ยบกับสัดส่วนของอาคาร เนื่องจากผู้ออกแบบต้องการเน้นหลังคาให้โดดเด่น ลายที่กรอบประตูกับหน้าต่างก็เป็นลายอายุวัฒนะแบบจีนที่สอดคล้องกับลายเรขาคณิตของศิลปะอิสลาม ทั้งยังมีโคมไฟแบบจีนเล็กๆ น่ารัก ประดับอยู่ข้างประตูของอาคารละหมาดอีกด้วย ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่ละหมาดสำหรับผู้หญิง เป็นที่ฟังธรรมในวันศุกร์และเรียนศาสนา



ผู้ออกแบบยังเผยว่าในอนาคตหากมีการบูรณะหรือสร้างมัสยิดท่าตอนหลังใหม่ ก็เป็นไปได้ว่าจะสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีนให้สอดคล้องกับอาคารละหมาดของสตรีหลังนี้ #


ชิรีน รายงาน


หมายเหตุ: โดยทั่วไปผู้หญิงสามารถละหมาดในอาคารมัสยิดหลังเดียวกับผู้ชายได้โดยใช้พื้นที่ด้านหลังที่กั้นด้วยม่านหรือฉาก หรือละหมาดบนชั้นสอง แต่สำหรับมุสลิมในภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามสำนักฮานาฟี (แพร่หลายในภาคเหนือของไทย อินเดียและปากีสถาน) นั้นไม่นิยมให้สตรีละหมาดในพื้นที่เดียวกับบุรษ ดังนั้นหากมัสยิดมีพื้นที่มากพอ ส่วนใหญ่จะสร้างอาคารละหมาดอีกหลังหนึ่งสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ พบเห็นได้ทั่วไปตามมัสยิดในภาคเหนือของประเทศไทย


อ้างอิง: สัมภาษณ์อิหม่ามมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์, คุณชุมพล ศรีสมบัติ นักข่าวพลเมือง และคุณไผ่ ผู้ออกแบบอาคารละหมาดสำหรับสตรีในมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์





เพจข่าวมุสลิมเชียงใหม่

www.muslimchiangmainews.net





ความคิดเห็น