ย้อนรำลึกรอมฎอนในอดีต กับสังคมมุสลิมเมืองล้านนา

 RAMADAN STORIES

เรื่องเล่าบันดาลใจ

เติมไฟแห่งศรัทธา

-

ตอน : รอมฎอนล้านนา

โดย  : ชุมพล ศรีสมบัติ 

นักสื่อสารมวลชนประจำภาคเหนือ

-


บรรณาธิการ : มุฮัมมัดราชาห์ ฟิรเดาซ์

-

#รอมฏอนล้านนา


            หากจะกล่าวถึงเมืองล้านนา คงจะหมายรวมถึงผู้คน ที่มีภาษา วิถีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน แบ่งออกเป็น 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่อสอน เรียกว่าภาคเหนือตอนบน

-

            ในพื้นที่ทั้งแปดจังหวัด มีพี่น้องมุสลิมอาศัย อยู่ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดน่าน ที่ยังไม่มีมัสยิดเนื่องจากมีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งที่ออกมาต่อต้านการจัดสร้างมัสยิด (ด้วยกระแสอิสลามโมโฟเปีย) หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม จนไม่สามารถดำเนินการจัดสร้างได้

-

            ในจังหวัดเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเมืองล้านนา เป็นพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีมัสยิดที่จดทะเบียน และยังไม่จดทะเบียน เนื่องจากสิทธิในการครอบครองที่ดินไม่ชัดเจนอีกส่วนหนึ่งเป็นของมูลนิธิ รวมแล้ว มีที่จดทะเบียนจำนวน 14 มัสยิด ไม่ได้จดทะเบียน 1 มัสยิด สังกัดมูลนิธิ 5 มัสยิด รวมทั้งสิ้น 20 มัสยิด ประชากรมุสลิมในพื้นที่จากการสำรวจ ทะเบียนมัสยิด นับรวมทั้งประชากรแฝง ประมาณการ สามหมื่นคน บวกลบ

-

            เมื่อกล่าวถึงรอมฎอน แน่นอนว่า เป็นหนึ่งในบทบัญญัติ ที่มุสลิมต้องถือปฏิบัติกันทั่วโลก ในเมืองล้านนา ก็มีเรื่องราววิถีที่น่าสนใจไม่น้อยกว่า รอมฎอนในที่อื่น ๆ ด้วยเป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ มุสลิมที่อพยพเข้ามาสร้างตัวตน สร้างอาชีพเพื่อความมั่นคงของชีวิต

-

            รอมฎอนในเมืองล้านนา แต่ละครอบครัวแต่ละก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ด้วยฐานะ สิ่งแวดล้อมแต่โดยรวมแล้ว ทุกคนมีความสุขที่เดือนรอมฎอนที่รอคอยมาเยือน เพราะนั่นหมายถึง เดือนแห่งครอบครัว เดือนแห่งความจำเริญ เดือนที่ทุกคนในครอบครัว ต่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ลุกกินข้าวในตอนเช้าเพื่อประกอบศาสนกิจ แสวงหาความพึงพอพระทัยจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)      

-

            ด้วยเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ผมต้องขอเจาะเวลาหาอดีตของคนรุ่นก่อนว่าพวกเขามีประสบการณ์ และความประทับใจกับเดือนรอมฎอนอย่างไร 

#คุณจีระชัย ศรีจันทร์ดร ผู้อาวุโสท่านหนึ่งในย่านช้างคลานเล่าให้ฟังว่า

"ในสมัยก่อนผู้รู้ศาสนาในพื้นที่เป็นเรื่องที่หายากมาก ถ้าจะมาก็ต้องมาจากเมืองนอก โดยเฉพาะผู้รู้ของมุสลิมชมพูทวีปเรียกว่า "เมาลาวี"

-

            "วัฒนธรรมความเชื่อและการปฏิบัติของมุสลิมสายอินเดียทั้งหมดทุกเผ่า ที่มาอยู่ในเชียงใหม่คือต้องเชื่อฟังผู้รู้ ดังนั้นการจัดการศาสนพิธีก็ต้องฟัง เมาลาวี เมาลานา จะเป็นผู้ชี้นำในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ "

-

            "ในเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ทุกคนมีความสุขมาก แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนไปรวมกันกินข้าวที่มัสยิด เหมือนปัจจุบัน แต่จะใช้วิธีการจัดคิว เช่น วันนี้บ้านนี้เลี้ยง ละหมาดเสร็จมาบ้านนี่ ซึ่งเขาจะทำกันทุกบ้านที่มีกำลังความสามารถ สลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ผู้คนหมุนเวียน กันเยี่ยมเยือน ร่วมรับประทานอาหารละศีลอด พูดคุยกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อัแน่นแฟ้นของพี่น้องมุสลิมในชุมชนและต่างชุมชน ทำให้เกิดเอกภาพในการอยู่รวมกันในสังคมที่เราเป็นชนกลุ่มน้อย

-

            ในชุมชนมุสลิมจีนพื้นที่อำเภอฝาง ได้พูดคุยกับคุณ ชัชวาลย์ ซึ่งเติบโตมาในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า "เด็ก ทุกคนในชุมชนมุสลิมจีนที่บ้านยาง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพราะต้องไปเรียนภาษาจีน เรียนอัลกุรอานอ่าน ต่อด้วยภาษาไทย ตอนเย็นต้องมาเรียนศาสนาอีกรอบ

-

            ในเดือนรอมฎอน เด็ก ๆ จะได้รับการบริการเรื่องอาหารละศีลอดก่อนผู้ใหญ่ เดือนรอมฏอนเราจะได้กินเนื้อกัน เนื้อในสมัยก่อนหากินไม่ง่ายนักหากไม่มีงานบุญงานแต่งคงไม่ได้กิน เพราะฐานะคนในชุมชนไม่ดีนัก ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวสวน

            ช่วงรอมฎอนญาติผู้ใหญ่ที่มีฐานะทางเชียงใหม่ เชียงรายจะมาเป็นเจ้าภาพ ทำให้มีอาหารดีๆ กินได้ตลอดทั้งเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เด็กทุกคนในยุคของเรามิอาจลืมเลือน

-

            เดือนรอมฏอนเราได้สัมผัสความรักความสามัคคีกัน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตอนแก้บวช ทุกเย็น ถ้าพวกเราไปเยี่ยมบ้านผู้ใหญ่ใจดีก็จะหยิบสตังค์เป็นรางวัลให้เด็ก ๆ ที่ถือศีลอด คนละ 5 บาท 10 บาท เป็นรางวัลในการทำความดี และเป็นหนึ่งของคำสอนศาสนาที่ส่งเสริมเรื่องบริจาคทาน ด้วยผลบุญมากมาย พอสิ้นสุดรอมฎอน บางบ้านที่มีฐานะ คณะกรรมการมัสยิดมีการมอบฮาดียะห์ (ของขวัญ) สำหรับเด็กที่ถือศีลอดได้มากที่สุด ลดหลั่นกันไป เป็นขัวญกำลังใจในการทำดีต่อไป 

-

            #สอบถามพี่น้องมุสลิมใหม่ กับ ประสบการณ์ และความประทับใจในเดือนรอมฎอน #คุณชัยณรงค์ (ดานิส) เล่าว่า

-

            เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงเลยครับ เข้ารับอิสลามได้เกินหนึ่งเดือนแล้ว ก็เผอิญพบกับเดือนรอมฎอน วันแรกที่ถือศีลอด ตื่นมาตีสี่ มากินข้าวที่บ้านแฟน  การถือศีลครั้งแรก เป็นอะไรที่ทรมสนสุด ๆ วัน ๆ ไม่คิดอะไรเลยเลย ดูแต่เวลาทั้งวันเลย เมื่อไหร่ตะวันจะตกดิน เมื่อไหร่จะได้เวลา แต่วันแรกของเดือนรอมฎอนก็ได้ละหมาด 5 เวลาครบเลย และก็ได้มาละศีลอดที่มัสยิดอัตตักวา ไม่เคยพบไม่เคยเจอเขาเลี้ยงกันจริง ๆ เลี้ยงเอาจนอิ่ม

-

              "การสัมผัสรอมฎอน แรก มาถึงหน้ามัสยิดมีของขายเต็มไปหมด ได้กลิ่นเนื้อย่าง ป้าน้อยลอยมา เพิ่มความอยากความหิวขึ้นมาอีก 

-

             การละศีลอดที่มัสยิดอัตตักวาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเมื่อได้เวลาละศีลอดเขาจะตีระฆัง *(ระฆังในที่นี้จะเป็นกังสะดาร มากกว่าเพรามีลักษณะแบน เป็นทองเหลืองรูปร่างคล้ายทรงโดมมัสยิดเสียงดังวาล ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในกลุ่มของมุสลิมเชื้อสายจีน ตีเพื่อบอกเวลาละหมาด เข้าบวช ออกบวช เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ที่มากับชุมชนมุสลิมจีน ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว กังสดาล เลยหายไปจากความทรงจำของชุมชนไป) 

-  

            บอกเวลาละศีลอดก่อนอะซาน พอเสียงระฆังดังเท่านั้นแหละ ดื่มน้ำผ่านเข้าลำคอรู้สึกมีความสุขมาก ร่างกายสดชื่นขึ้นมาตามด้วยผลไม้ รู้สึกดีขึ้น กินยังไมทันเสร็จเสียงอะซานดังขึ้นต้องรีบไปละหมาด ตอนนั่นยังไม่รู้เลยว่าทำน้ำละหมาดถูกหรือเปล่า พอละหมาดสามร๊อกอัต ยังไม่รู้เลยว่ามีละหมาดสุนนะห์ ก็รีบลงมาจองโต๊ะกินข้าวเลย ก็ผ่านพ้นไปด้วยดีสำหรับวันแรก รู้สึกลำบากหน่อยหนึ่งในช่วงสองสามวันแรก พอวันที่สี่ที่หาก็ปรับตัวได้ เริ่มสบาย 

-

            ความรู้สึกแรก ก็ทึ่งว่าคนมุสลิมเขาทำได้อย่างไงนะ อดอาหารทั้งวันแล้วไปกินตอนเย็น แล้วก็ทำให้เราได้ย้อนคิดว่า แล้วคนที่ไม่มีอะไรจะกิน เขามีความรู้สึกอย่างไร ก็ได้บทเรียนว่า คนเราต้องมีการแบ่งปัน เผื่อเหลือผู้ที่ยากจน อันเป็นสัจธรรมคำสอนในอิสลามไม่ให้ทิ้งคนยากคนจน"

-

            ความหลากหลายในสังคมล้านนา ทั้ง ชาติพันธุ์ วิถีวัฒนธรรม และศาสนา หาได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วกันกันไม่ โดยเฉพาะในสังคมมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้ หาใช่จะมีเฉพาะชาติพันธุ์เดียวไม่ แต่มีทั้ง มุสลิม เชื้อสายจีน อินเดีย เบงกาลี มาลายู พม่า ต่างอยู่ภายใต้อัลอิสลาม ที่มาสลายกลุ่ม สลายชนชั้น นำสังคมสู่ความสันติสุข อันเป็นนิรันดร์ ...อินขาอัลลอฮฺ

-

RAMADAN STORIES

-

เรื่องเล่าบันดาลใจ

เติมไฟแห่งศรัทธา

-

ตอน : รอมฎอนล้านนา

โดย  : ชุมพล ศรีสมบัติ 

นักสื่อสารมวลชนประจำภาคเหนือ

-

บรรณาธิการ : มุฮัมมัดราชาห์ ฟิรเดาซ์

-

ความคิดเห็น