มัสยิดอิสลามปากกอง อ.สารภี เชียงใหม่ ตำนานมุสลิมเมืองล้านนา

 #มัสยิดอิสลามปากกอง อ.สารภี เชียงใหม่ ตำนานมุสลิมเมืองล้านนา

โดย ชุมพล ศรีสมบัติ

    #หนุ่มหนึ่งจากประเทศบังคลาเทศ เดินทางมาพานพบประสพรักกับสาวริมเหมือง ลำพูน ออกลูก ออกหลาน จนเกิดเป็นชุมชนมุสลิมแห่งเดียวในอำเภอสารภี

    กล่าวถีงชุมชนมุสลิมบ้านปิงหลวง หรือ ที่ชาวเชียงใหม่เรียกติดปากกันว่า มัสยิดหนองแบน ตั้งอยู่ใน หมู่ที่ ๗ ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เล่ากันว่า ก่อนที่จะเป็นชุมชนมุสลิมดังเช่นปัจจุบันนี้ มีปฐมบทเกิดขึ้นของชุมชนเริ่มจาก

       เมื่อ ประมาณกว่า 150 ปีมาแล้ว ชาวภารตะท่านหนึ่งจากเมืองกัลกัตตา ชื่อ ท่านลาซอน อาลี ได้อพยพเข้ามาในเมืองเชียงใหม่กับเพื่อนอีกสองคน ได้เข้ามาพำนักอยู่ที่ ชุมชนมุสลิมช้างคลาน 

      ซึ่งในสมัยนั้น มีท่าน มุฮัมมัด อุสมาน อาลี เมยายี เป็นผู้กว้างขว้างอยู่ ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ขุนศรีจันทร์ดร”จากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้น (ต้นตระกูล ศรีจันทร์ดร)

      หลังจากที่ท่านลาซอน อาลีได้พำนับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ตามวิสัยของคนเบงกาลี ซึ่งเป็นผู้ที่ชำนาญในการหาปลาอีกทั้งยังเป็นตนที่ขยัน สำคัญอุปนิสัยซื่อสัตย์อดทน กิติศัพท์อันนี้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหลวงอินทนนท์ เจ้าเมืองที่ปกครองในสมัยนั้น 

       จึงได้โปรดให้ท่านไปเฝ้าดูแลรักษาหนองปลาของท่านที่บ้านหนองแบน เขตอำเภอสารภีซึ่งเป็นหมู่บ้านติดต่อกับเมืองลำพูน 

       ทุกปีราวเดือนมกราคม ท่านจะนำเรือบรรทุกปลาส่งให้เจ้าหลวงมิได้ขาด ทำให้เจ้าหลวงโปรดปราณ เป็นอย่างยิ่ง ประทานที่ดินให้จำนวนมากท่าน

     อยู่เป็นโสดหลายปี ต่อมาก็พบหญิงถูกใจ นามว่า “แม่แสง” คนบ้านริมเหมือง เขตเมืองลำพูน และเกิดความสนิทสนมและรักกัน จึงได้ไปสู่ขอแม่แสง พร้อมนำเข้ารับอิสลาม สอนการปฏิบัติศาสนกิจให้ครบ

       มีพยานรักร่วมกันชายหญิง จำนวน 12 คน เป็นชาย 6 คนและหญิง 6 คน ต่อมาก็มีชาวต่างชาติ บ้านเดียวกับท่าน อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านหนองแบนอีกหลายท่าน และนี่คือจุดกำเหนิดของชุมชนแห่งนี้

       ชุมชนมุสลิมแห่งนี้เป็นชุมชนมุสลิมที่ห้อมล้อมไปด้วยพี่น้องต่างศาสนิก ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกของสังคมมุสลิมทางภาคเหนือ ที่มีการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาอย่างสมานฉันท์ดุจดังพี่น้อง เนื่องจากมีการสืบผ่านสายสัมพันธ์โดยการแต่งงาน นับตั้งแต่รุ่นที่ ๑ ชุมชนแห่งนี้ถึงแม้นจะเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่ก็ได้ผลิตบุคคลากรที่สร้างคุณประโยชน์เข้าสู่สังคมภาคเหนืออย่างมากมาย และยังเป็นอีกแหล่ง ที่ผลิตผู้รู้ทางศาสนาที่จบมาจากประเทศอาหรับหลายท่าน อีหม่ามคนปัจจุบัน จบวิชาสาขาอัล-ฮาดีษ จากมหาวิทยาลัยมาดีนะฮฺ ประเทศซาอุดี้อาราเบีย

        ความเป็นมุสลิมในเมืองล้านนาจึงมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากมุสลิมในพื้นที่อื่น เนื่องจากมุสลิมส่วนใหญ่ จะมีบรรพบุรุษ์ฝ่ายแม่เป็นคนพื้นเมือง คนไทยยอง ลัวะ ฯลฯ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความต่าง ไม่น่าแปลกใจว่า สังคมแห่งนี้ เมืองนี้ มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาอย่างยาวนาน


ข้อมูลอ้างอิง

-จาก หนังสือ มรดกศาสนาในเชียงใหม่ ภาคที่ 1 ประวัติและการพัฒนาศาสนาในโอกาสสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี 1839-2539 จัดทำโดย

 คณะทำงานฝ่ายรวบรวมประวัตและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ ภาคศาสนาอิสลามโดยสุชาติ เศรษฐมาลินี

ความคิดเห็น