จุดกำเนิดศาสนาอิสลามในแผ่นดินจีน

 จุดกำเนิดศาสนาอิสลามในแผ่นดินจีน

   ......ศาสนาอิสลามเริ่มเผยแพร่เข้าสู่จักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-960) ในบันทึกของราชสำนักถัง ได้ระบุว่า มีคณะทูตอิสลามจากอารเบียเข้ามาถวายบรรณาการยังราชวงศ์ถังครั้งแรกในปี ค.ศ.651 เป็นปีที่ 2 ของรัชสมัยจักรพรรดิหยุงเว่ย ประมาณ 19 ปีหลังการเสียชีวิตของศาสนทูต มุฮัมหมัด และ 1 ปีหลังจากกองทัพอาหรับยึดจักรวรรดิ เปอร์เซีย ได้ จากบันทึกราชวงศ์ถัง คณะทูตดังกล่าวอ้างว่า อาณาจักรอิสลามของพวกเขาตั้งขึ้นมาเมื่อ 31 ปีก่อน ซึ่งนั่นหมายถึงว่า พวกเขาเดินทางมาถึงราชสำนักถังในสมัยของคอลีฟะฮฺอุสมาน ( ค.ศ.644-56) ตามความเชื่อของชาวจีนมุสลิมถือว่านั่นคือ ก้าวแรกของศาสนาอิสลามในประเทศจีน ผู้นำคณะทูตดังกล่าวคือ ซาอัด อิบน อาบี วักกัส เป็นสาวกใกล้ชิดของท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด คณะทูตเผยแพร่อิสลามทั้งหมดมี 15 คน เดินทางโดยทางเรือผ่านมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้เข้าสู่ท่าเรือ กวางเจา หรือ กวางโจว ทางตอนใต้ของจีน จากนั้นเดินทางทางบกไปยังเมืองหลวงของจักรวรรดิจีนสมัยนั้น คือเมือง ฉางอาน หรือ ซีอาน ในปัจจุบัน เพื่อไปเข้าเฝ้าองค์พระจักรพรรดิ 

      หลังจากพระจักรพรรดิ ก็สอบถามเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแล้ว โดยทั่วๆ ไปทรงยอมรับศาสนาใหม่นี้ เพราะพระองค์ดำริว่าพอไปกันได้ กับลัทธิขงจื๊อที่ทรงอิทธิพลอยู่ในประเทศจีนมานาน แต่พระองค์ทรงเห็นว่า การละหมาดวันละ 5 เวลา และถือศีลอด 1 เดือนเต็มนั้นมันเกินไปสำหรับพระองค์ พระองค์จึงไม่สนใจจะเปลี่ยนมานับถืออิสลาม แต่ทรงอนุญาตให้วักกัสและคณะทูตเผยแพร่อิสลามในแผ่นดินจีนอย่างเสรี วักกัสสอนศาสนาอิสลามที่เมืองกวางเจา เขาสร้างมัสยิดฮว่ายเฉิง หรือ มัสยิดอนุสรณ์ เพื่อรำลึกถึงท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด มัสยิดหลังนี้เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองจีนอายุ 1,400 ปี ตั้งอยู่บนถนนกวางตา เมืองกวางเจา ยังคงอยู่ในสภาพดีและชาวจีนมุสลิมยังคงใช้ละหมาดอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้  

      นักประวัติศาสตร์จีนมุสลิมบอกว่า วักกัสเสียชีวิตที่จีน ร่างถูกฝังอยู่ที่เมืองกวางเจา มีหลุมศพเป็นหลักฐาน ในขณะที่นักประวัติศาสตร์อาหรับบอกว่า วักกัสเดินทางกลับไปอารเบียและเสียชีวิตที่เมืองมาดีนา เพราะมีหลุมศพของเขาอยู่ที่นั่นเช่นกัน ชาวจีนมุสลิมที่ไปแสวงบุญที่มักกะฮฺก็ยืนยันว่ามีหลุมศพวักกัสที่มาดีนาจริงๆ เรื่องนี้อาจเป็นได้ว่า หลุมศพหนึ่งเป็นหลุมศพจริง อีกแห่งหนึ่งสร้างขึ้นมาเป็นอนุสรณ์ เช่นเดียวกับหลุมศพของ เจิ้งเหอ ที่ชานเมืองนานจิง ที่มิได้มีร่างของเขาฝังอยู่ที่นั่น เป็นหลุมศพที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์เท่านั้น 

   อิสลามเข้าสู่ประเทศจีน 2 เส้นทาง คือ ทางบก ผ่านเส้นทางสายไหมทางภาคตะวันตกของจีน และ ทางทะเล ผ่านเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของจีน 

   เส้นทางสายไหมมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว สมัยราชวงศ์ฮั่น จีนเคยส่งทูตไปเยือนคาบสมุทรอารเบีย ต่อมาช่วงราชวงศ์ถัง การเดินทางและสื่อสารระหว่างจีนกับดินแดนแถบตะวันตกได้พัฒนาต่อไปอีก เส้นทางสายไหมเริ่มต้นจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน เอเชียกลาง เทือกเขาเทียนซาน สู่ฉางอาน เมืองหลวงของจักรวรรดิจีน พ่อค้ามุสลิมจำนวนมากเดินทางอย่างทรหดและมุ่งมั่นบนเส้นทางสายไหมอันยาวเหยียดนี้เข้ามาค้าขายยังเมืองจีน จากบันทึก Zi Zhi Tong Jian (ประวัติของกระจก) ระบุว่า มีชาวต่างชาติทำธุรกิจอยู่ในเมืองฉางอานช่วงราชวงศ์ถังประมาณ 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าอาหรับและเปอร์เซีย ราชสำนักถังได้จัดตั้ง"ฟานฟาง" (Fan Fang กรมการค้า) เพื่อดูแลการค้าของชาวต่างชาติเหล่านี้ 

   บันทึกของราชวงศ์ถังระบุว่า ช่วงระยะเวลา 148 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ.651-798 มีคณะทูตจากอารเบียมาเยือนราชสำนักถังถึง 37 ครั้ง

   ปีค.ศ.751 กองทัพจีนมีการสู้รบย่อยๆ กับกองทัพอาหรับที่ขยายดินแดนมาจนถึงเอเชียกลางแล้ว กองทัพอาหรับที่นำโดย ซิยาด ซาแลฮฺ เอาชนะกองทัพจีนได้ และจับเชลยศึกจีนได้จำนวนหนึ่ง สองคนในนั้นมีความรู้ด้านการทำกระดาษ และได้เปิดเผยวิธีการทำกระดาษแก่ชาวอาหรับก่อนจะได้รับการปล่อยตัวไป ชาวอาหรับนำความรู้นี้กลับไปตะวันออกกลางและต่อมามีการตั้งโรงงานทำกระดาษแห่งแรกในกรุงแบกแดด ซึ่งมีส่วนทำให้การศึกษาและวิทยาการของโลกมุสลิมก้าวหน้าที่สุดในโลกยุคกลาง 

   ปีค.ศ.755 จักรพรรดิเสียนจง แห่งราชวงศ์ถัง ผจญกับปัญหากบฏ อันลู่ซานและต้องลี้ภัยไปพำนักที่มณฑลเสฉวน พระองค์ได้ร้องขอความช่วยเหลือมายัง อัล-มันซูรฺ คอลีฟะฮฺองค์ที่สองแห่งราชวงศ์อับบาสิด แบกแดด ให้กองทัพมุสลิมส่งกำลังมาช่วยยึดเมืองฉางอาน คืน อัล-มันซูรได้ส่งทหารมาช่วย 4,000 คน เมื่อเสร็จศึกแล้วทหารมุสลิมส่วนใหญ่เลือกที่จะตั้งรกรากในเมืองจีน อิสลามจึงเผยแพร่สู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเป็นครั้งแรกโดยทหาร พ่อค้า และนักการทูตชาวอาหรับและเปอร์เซียกลุ่มนี้  

   ช่วงราชวงศ์ถัง พ่อค้าอาหรับและจีนคุมการค้าขายทางทะเลเริ่มจากอ่าวเปอร์เซียและทะเลอาหรับ ผ่านอ่าวบังกลาเทศ ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ สู่เมืองท่าของจีนเช่น กวางเจา ฉวนโจว และหยังโจว พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียจำนวนมากที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าขาย บางส่วนก็ตั้งรกราก สร้างครอบครัวถาวรที่เมืองจีน ดังนั้นนอกจากทางบกแล้ว อิสลามได้เผยแพร่สู่เมืองจีนอีกทางหนึ่ง ผ่านการค้าทางทะเล 

   ช่วงราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.618-1279) ถือเป็นยุคแรกของศาสนาอิสลามในประเทศจีน มุสลิมในประเทศจีนสมัยนั้นประกอบด้วยพ่อค้า ทหาร และคณะทูตจากอารเบีย เปอร์เซีย และประเทศอื่นๆ เมื่อมาถึงประเทศจีนพวกเขาจะอาศัยรวมกันหนาแน่นในชุมชนของตัวเอง ยังรักษาศรัทธาในศาสนาและการดำรงชีวิตแบบมุสลิมของตนไว้ สาเหตุหลักที่พวกเขาเดินทางมาเมืองจีนก็เพื่อค้าขาย ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ศาสนา

      ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ถูกต่อต้านจากชนชั้นปกครองของจีน และยังได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนและแต่งงานกับชาวจีนท้องถิ่น ส่วนใหญ่พ่อค้ามุสลิมตั้งถิ่นฐานในเมืองท่าแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่น กวางเจา ฉวนโจว หังโจว หยังโจว และเมืองหลวงของจีนคือ ฉางอาน (ซีอาน) ชาวจีนเรียกพวกเขาว่า ฟานเค่อ หรือ ชาวต่างชาติจากดินแดนรอบนอก บางคนแต่งงานและมีลูกหลานสืบทอดกันต่อมา ชาวจีนเรียกลูกหลานคนเหล่านี้ว่า ถูเชิงฟานเค่อ ซึ่งหมายถึง ชาวต่างชาติจากดินแดนรอบนอกที่เกิดในประเทศจีน การที่พ่อค้าอาหรับ และเปอร์เซียมีความแตกต่างจากชาวฮั่นทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี พวกเขาจึงต้องมีชุมชนของตัวเองเพื่อที่จะปฏิบัติศาสนกิจและปฏิบัติตัวตามหลักอิสลามทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การแต่งงาน พิธีงานศพ และกิจกรรมอื่นๆ ชาวมุสลิมเหล่านี้ได้สร้างมัสยิดและอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง พวกเขายังมีศาลของพวกเขาเองเพื่อตัดสินในคดีเกี่ยวกับการแต่งงาน การหย่า มรดก และคดีความอื่นๆ ที่ต้องใช้กฎหมายอิสลาม ซึ่งยืนยันให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวมุสลิมในจีนในช่วงเวลานั้น มัสยิดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยนั้นยังคงมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้เรียกว่า สี่มัสยิดโบราณของจีน ซึ่งได้แก่ 

   1. มัสยิดฮว่ายเฉิง เมืองกวางเจา สร้างในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-960)

   2. มัสยิดฉิงจิง หรือ มัสยิดอัล-อัซฮาบ เมืองฉวนโจว สร้างสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127)

   3. มัสยิดเซี่ยนเหอ เมืองหยังโจว สร้างสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ1127-1279)

   4. มัสยิดเฟิงหวง เมืองหังโจว สร้างสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ1271-1368) 

   พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียที่มาเมืองจีนทางเรือนี้มีอิทธิพลด้านการค้าขายมาก และผูกขาดธุรกิจนำเข้าและส่งออกของจีน ช่วงราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) มีการตั้งจัตุรัสและตลาดต่างชาติขึ้นมาที่กวางเจา และมีสำนักงานอำนวยการทั่วไปด้านชิปปิ้งเพื่อควบคุมดูแลความเคลื่อนไหวของสินค้าที่ท่าเรือ และดูแลพิธีการค้าทั้งหมด ซึ่งตำแหน่งผู้อำนวยการของสำนักงานนี้ต้องเป็นชาวมุสลิมเสมอ ช่วงราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งเหนือ การค้ากับต่างประเทศของจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียนำ ผ้าไหม ศิลปวัตถุ เครื่องลายครามของจีน และสินค้าอื่นๆ ล่องเรือไปขายยังตะวันออกกลาง และยุโรป และนำ สมุนไพร เครื่องเทศ ไข่มุก และสินค้าอื่นๆ กลับมาขายยังเมืองจีน ชาวอาหรับและเปอร์เซียกลายเป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าที่ทำกำไรมหาศาล และทำให้พวกเขาได้เผยแพร่ศาสนาด้วย และเนื่องจากพวกเขาเป็นพวกที่มีวินัยและมีสถานภาพทางเศรษฐกิจสูง พวกเขาจึงได้รับความนับถือจากชาวฮั่น ช่วงราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งไม่ปรากฏความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติในสังคมจีน 

   ในปีที่ 4 ของศักราชเจิ้งเหอ ราชวงศ์ซ่ง มีลูกหลานฟานเค่อถึงรุ่นที่ 5 แล้ว ราชสำนักซ่งได้ออกประกาศ "กฎหมายมรดกสำหรับฟานเค่อรุ่นที่ 5" เพื่อจัดการเรื่องมรดกของลูกหลานพ่อค้าต่างชาติเหล่านั้น ช่วงนี้เด็กมุสลิมที่เกิดในเมืองจีนเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสังคมจีนโดยรับการศึกษาแบบจีนที่กวางเจาและฉวนโจว ซึ่งพ่อค้ามุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น มีโรงเรียนสำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะเรียกว่า "ฟานเสว"หรือ โรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติ เปิดโอกาสเฉพาะเด็กมุสลิมเท่านั้นให้เข้าศึกษาได้ ซึ่งก่อนจะจัดตั้ง "ฟานเสว" ทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องขออนุญาตจากราชสำนักก่อน การตั้งโรงเรียนฟานเสวขึ้นมาก็เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กมุสลิมเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ให้เด็กเหล่านี้พัฒนาตัวเองให้เข้ากับสังคมจีนส่วนใหญ่ 

    วัตถุประสงค์สุดท้ายของโรงเรียนฟานเสวก็เพื่อให้เด็กมุสลิมเข้าสอบจอหงวนเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งทั้งราชสำนักถังและซ่งเปิดโอกาสให้เด็กต่างชาติเข้าสอบร่วมกับเด็กจีนได้ แม้ระบบการสอบสำหรับพวกเขาไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ แต่การจัดโควตาให้ในแต่ละปีก็ทำให้พวกเขาเข้าสู่วงการเมืองชั้นสูงของจีนได้ การแต่งงานระหว่างชาวมุสลิมต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองจีนกับชาวจีนท้องถิ่นเป็นเรื่องธรรมดามากในสมัยนั้น พ่อค้ามุสลิมรุ่นแรกๆ มักเดินทางมาเพียงคนเดียว พวกเขาร่ำรวยและมีสถานภาพทางสังคมสูง ทำให้การแต่งงานกับชาวท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายดายมาก พวกเขาอาจแต่งงานกับสาวชาวบ้านทั่วไป ลูกข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่ลูกหลานของราชวงศ์จีน และสาวมุสลิมบางทีก็แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ใช่มุสลิมได้หากชายคนนั้นเปลี่ยนมารับอิสลาม เพราะอิสลามกำหนดให้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าชายหรือหญิง ต้องรับอิสลามก่อนหากจะแต่งงานกับมุสลิม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรมุสลิมในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

   นอกจากนี้การมีทาสก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรมุสลิมในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ผู้ที่ยอมตัวเองเป็นทาสเพราะความยากจนเมื่อมาอยู่ภายใต้ครอบครัวมุสลิมแล้วจะรับอิสลามตามไปด้วย ชาวมุสลิมในสมัยราชวงศ์ซ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคมจีนทุกวงการเช่น การเปิดโรงเรียน การสอบจอหงวน การแต่งงานกับชาวจีน ทำให้ประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้นมหาศาล และนำไปสู่การกำเนิดของชนชาติใหม่ในเมืองจีน นั่นคือ"ชาวหุย"ครับ

   

   ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ

   ที่มา

   https://www.facebook.com/muslimyunnancm/posts/912945098795279?comment_id=1046079758815145¬if_t=share_comment¬if_id=1467066147636164

ความคิดเห็น