ประวัติชุมชนวัดป่าเป้า”มีความสัมพันธ์กับชุมชนมุสลิมช้างเผือก

 ประวัติชุมชนวัดป่าเป้า”ส่วนหนึ่งกับความสัมพันธ์มุสลิมช้างเผือก


ตอน  1. พัฒนาการของชุมชน

    (1) พื้นที่ตั่งชุมชนป่าเป้าสมัยราชวงศ์ มังราย

      จากคติเรื่องทักษาเมืองที่ใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย  บริเวณที่ตั้งชุมชนป่าเป้าเป็นทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่”เดชเมือง”เป็นหัวเวียงของเชียงใหม่มีวัดเชียงยืนเป็นวัดประจำทิศจึงคงมีชุมชนที่เป็นศรัทธาวัดเชียงยืนอยู่แต่เดิม บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งวัดป่าเป้าเป็นพื้นที่หนองนํ้าเรียก ว่าหนองใหญ่หรือหนองเขียวที่พญามังรายพบเมื่อครั้งสำรวจพื้นที่สร้างเมืองถือว่าหนองนํ้าแห่งนี้เป็น หนึ่งในเจ็ดชัยมงคลของเมือง  ด้วยความเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และเป็นชัยมงคลดังกล่าวตำ นานราชวงศ์ปกรณ์จึงกล่าวว่าสมัยพญากือนากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย (พ ศ. 1898 - 1928) โปรดฯให้สร้างคุ้มหลวงไว้บริเวณแห่งนี้ใกล้วัดแห่งหนึ่งชื่อว่าวัดพราหมณ์                          

  เมื่อพญากือนาสิ้นพระชนม์ ณ คุ้มหลวงนอกกำแพงเมือง ยังไม่ทันได้ถวายพระเพลิงตามราชประเพณีก็ได้เกิดศึกแย่งครอบครองเมืองเชียงใหม่โดยท้าวมหาพรหมอนุชาของพญากือนาซึ่งครอง เมืองเชียงรายได้ยกทัพมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่ถูกแสนผานอง ผู้เป็นมหาเสนาบดีในขณะนั้นนำกำลังพลเข้าต่อสู้ท้าวมหาพรหมแตกพ่ายหนี  ไปขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพงั่ว) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นแสนผานอง เกรงว่าทางอยุธยาจะยกทัพมาติดพัน จึงรีบจัดการให้นำพระศพพญากือนาเข้ามาไว้ในเวียง แต่เนื่องจากมีข้อห้ามไม่ให้ศพเข้ามาทางประตูหัวเวียง(ประตูช้างเผือก) แสนผานองจึงให้เจาะกำแพงเมือง ตรงข้ามวัด พราหมณ์ ทำสะพานข้ามคูแล้ว เอาพระศพพระเจ้ากือนาใส่พระโกศทองคำเข้ามาไว้ในเวียง (หนังสือราชวงศ์ปกรณ์ . กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 2525)... ครั้นเมื่อเสร็จศึกแล้วจึงได้ทำพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพญากือนา และทำพิธีราชาภิเษกพญาแสนเมืองมา(พ. ศ. 1928 - 1944) โอรสของพญากือนาให้ขึ้นเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่

    (2)พื้นที่ใกล้เคียงที่ตั้งชุมชนวัดป่าเป้าสมัยพม่าปกครอง

    ร่องรอยที่กล่าวถึงพื้นที่ด้านเหนือของเมืองสมัยพม่าปกครองคือวัดกู่เต้าหรือวัดเวฬุวนารามวิหาร ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการแข่งขันกันสร้างเจดีย์ระหว่างพม่ากับคนในเชียงใหม่ โดยฝ่ายพม่าสร้างเจดีย์วัดกู่เต้า    ฝ่ายคนเชียงใหม่สร้างเจดีย์ในเมืองและออกอุบายสานเสื่อลำแพนหลายผืน ทาสี คล้ายอิฐหุ้มโครงไม้ไผ่ที่ทำเป็นโครงเจดีย์มองไกลคล้ายเจดีย์ใหญ่ (ดูวัดสำคัญของนเชียงใหม่เล่ม 1 เชียงใหม่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ 2538 หน้า 48) นับเป็นร่องรอยเกี่ยวกับพม่าอย่างหนึ่งที่ยังปรากฏอยู่   ขณะเดียวกันในเวลาต่อมาเมื่อมีการสำรวจวัดก็พบว่าวัดกู่เต้าอยู่ในหมวดอุโบสถวัดเชียงหมั้นและมีนิกายเงี้ยว   ซึ่งสะท้อนให้เห็นกลุ่มศรัทธาวัด ว่าต้องเป็นไทใหญ่ นอกจากวัดกู่เต้าแล้วบริเวณที่ปัจจุบันเป็นสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ในอดีตเป็นวัดร้างชื่อวัดศรีบุญเรือง ใน  พ.ศ. 2440 มีพระ 2 รูป เณร 1 รูป  ขึ้นกับวัดหัวข่วง ด้านตะวันออกของวัดมีสระบัวมาถึงวัดป่าเป้า  (ดูอรุณรัตน์  วิเชียรเขียว    และสุรพล  ดำริห์กุล  วัดร้างในเวียงเชียงใหม่   เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2529  หน้า 199-200)

    (3) พื้นที่ชุมชนวัดป่าเป้าและพื้นที่ใกล้เคียงสมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นเมือง

   หลังจากเจ้ากาวิละได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2325 เจ้ากาวิละและน้องๆ ได้ยกพลจากลำปางมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง  14 ปี เดือน 4 เดือน 20 วันเพื่อรวบรวมกำลังคนจากเมืองต่างๆ มาไว้ที่เชียงใหม่  เช่นนำมาจาก เชียงตุง  เมืองฝาง  เมืองสาด  เมืองพร้าว    เชียงราย  เชียงคำ    เชียงของ     เมืองปู     เมืองสาต    เมืองกาย     เมืองพะยาก    เมืองเลน    เมืองโก   เมืองยอง   เมืองขอน  เมืองยู้   เมืองลวย   เมืองวะ   เมืองตองกายเมืองสิบสองปันนาและ เมืองหัวเมืองทางฝั่งแม่นํ้าคง (แม่นํ้าสาละวิน)  เช่น เมืองยวม เมืองแหง  เมืองปาย  เมืองต๋วน  เมืองต้าฝั่ง   เมืองผาปู่น  เมืองยางแดง  เมืองสวยกะยาง   เมืองกิติ  บ้านงัวลาย ฯลฯ โดยนำกลุ่มคนที่มีฝีมือช่างไว้ในบริเวณระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก  ซึ่ง ในจำนวนคนดังกล่าวมีไทใหญ่อยู่ด้วย ดังนั้นนอกเหนือจากกลุ่มพ่อค้าไทใหญ่ ที่มีการติดต่อด้วยการค้าทางบกระหว่างเชียงใหม่กับเมืองต่างๆ สืบมาแล้วคนไทใหญ่จำนวนหนึ่งก็เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นเมืองแล้ว โดยส่วนหนึ่งมาดูด้านประตูช้างเผือก ประตูช้างม่อย  

      นอกจากกลุ่มไทใหญ่แล้วบริเวณย่านประตูช้างเผือกและที่ตั้งชุมชนป่าเป้า ซึ่งเป็นที่นํ้าท่วมไม่ถึงมีทุ่งนาอุดมสมบูรณ์  มีนํ้าไหลจากห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยนไหลผ่านไปลงหนองนํ้าใหญ่ชัยมงคล เอกสารเรียกว่า” ทุ่งเวสาลี”ต่อมาจึงมีพ่อค้ามุสลิมเชื้อสายปากีสถานและอินเดียประมาณ 4 - 5 (ครอบครัวนำโดยท่านนะปะชางหรือพ่อเลี้ยงเลานะมาตั้งถิ่นฐาน) ใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โดยระยะแรกไปนมาชที่มัสยิดช้างคลาน ต่อมาเมื่อมีพ่อค้ามุสลิมมาอยู่เพิ่มขึ้นจึงสร้างมัสยิดที่ประตูช้างเผือกเสาไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตอง ฝาขัดแตะ ไม่มีพื้น และต่อมา พ่อเลี้ยงเลานะได้ปรับปรุงเป็นอาคารทำด้วยไม้กระดานและได้รับการยกย่องเป็นอิหม่ามของสัปบุรุษแห่งนี้     


     ราว  พ.ศ . 2475 เมื่อพ่อเลี้ยงเลานะตาย ชาวมุสลิมช้างเผือก ได้เชิญท่านโมลวีกายิมมาคิน ชึ่งพำนักที่มัสยิดช้างคลานมาดำรงตำแห่งอิหม่ามประจำมัสยิสช้างเผือก ได้มีการปรับปรุงมัสยิดก่อพื้นด้วยอิฐ  เสาทำด้วยไม้  หลังคามุงกระเบื้อง ก่อทำแพงด้วยอิฐถือปูนล้อมรอบมัสยิด ต่อมาพ.ศ . 2494 คณะกรรมการสมัยฮัจยี  ศรีบุษย์ วารีย์เป็น ประธานได้ปรับปรุงก่อสร้างมัสยิดใหม่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมปากีสถานดังเห็นสืบมาในปัจจุบัน (ดูสุชาติเศรษฐมาลินี” ศาสนอิสลาม” ในมรดกศาสนาในเชียงใหม่ .เชียงใหม่: คณะอนุกรรมการด้านศาสนางานสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี พ.ศ.2539 หน้า 129 – 131)

   (4 ) ยุคสร้างวัดป่าเป้า

   ชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ที่อยู่ย่าน ประตูช้างเผือกกระยะแรกคงได้เป็นศรัทธาวัดกู่เต้า เพราะจากหลักฐานเรื่องหมวดอุโบสถ  ซึ่งสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2440 พบว่าวัดกู่เต้าเป็นนิกายเงี้ยวเพียงวัดเดียวในย่านนั้น ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) กองทัพเชียงใหม่ได้ยกกำลังไปกวาดต้อนผู้คนชาวไตหรือไทใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออของแม่นํ้าคง (แม่นํ้าสาละวิน) แถบบ้านแม่คะตวนเข้ามานครเชียงใหม่   ในครั้งนั้นได้มีการกวาดต้อนครอบครัวของแม่เฒ่าต้าวชึ่งเป็นภรรยาของต้าวหมอ มีพื้นเพดั้งเดิมเป็นคนเมืองลางเคือมาด้วย                           

    ครอบครัวของแม่เฒ่าต้าวและพ่อเฒ่าต้าวหมอได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณย่านประตูช้างเผือกแม่เฒ่าต้าวมีบุตรธิดารวมทั้งหมด 6 คน คือพ่อจางมน แม่จ่างอ่อง แม่นางนวล แม่นาง แก้ว วรรณา  ส่างสาม  และแม่นางไหล  (บัวไหล)  แม่นางแก้ววรรณาและแม่นางบัวไหลเป็นคนสวยงาม ต่อมาจึงได้รับเลือกให้เป็นนางสนมของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 คนในสมัยนั้นจึงเรียกแม่นางบัวไหลว่า “หม่อมบัวไหล” ซึ่งต่อมาใน พ.ศ2434 หม่อมบัวไหลได้เป็นผู้นำคนสำคัญร่วมกับชาวไทใหญ่ซ่อมแซมและสร้างวัดป่าเป้าขึ้นโดยการสนับสนุนของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ (ประวัติวัดป่าเป้า เอกสารอัดสำเนา)                          

     สำหรับการรบที่แม่คะตวนดังกล่าวนั้น  ภายหลังทางข้าหลวงอังกฤษประจำแคว้นตะนาวศรีได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ   กล่าวหาว่าเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพไปจับคนในบังคับอังกฤษ  ที่เป็นผู้หญิงและเด็กเอามาแบ่งปันกันในหมู่เจ้านาย   ทางกงสุลอังกฤษจึงขอให้รัฐบาลไทยชำระคดีและเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงินหลายหมื่นรูปี                 ต่อมารัฐบาลสยามจึงได้ส่งตราสารไปยังนครเชียงใหม่ขอให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปล่อยคนไตที่นำมาจากแม่คะตวนเสีย  ทางเจ้านายเชียงใหม่เกรงว่าจะเสื่อมเสียเกียรติยศของเจ้าหลวงจึงปล่อยเชลยศึกเหล่านั้นออกมาในรูปของการทำบุญให้ทานเพื่อเสริมดวงชะตาของเจ้าหลวงเชียงใหม่ (หอสมุดวชิรญาณจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 จ.ศ.1248 เลขที่ 1364 ร่างตราน้อยไปรเวศถึงพระเจ้านครเชียงใหม่ว่าด้วยให้ปล่อยเงี้ยวแม่กะตวนอ้างในประวัติวัดป่าเป้า เอกสารอัดสำเนา)     


            ชาวไทใหญ่ที่ถูกปล่อยตัวในรูปการให้ทานครั้งนั้น  ก็ได้ไปตั้งถิ่นฐานไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยส่วนใหญ่ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในย่านที่มีกลุ่มคนไทใหญ่อาศัยอยู่มาก่อนหน้าแล้วเช่นย่านช้างเผือกข่วงสิงห์ช้างม่อยฟ้าฮ่าม  วังสิงห์คำ  ท่าแพ  และมีบางส่วนได้อพยพไปอยู่ที่ เมืองสาตรหลวง สันทราย ดอยสะเก็ด  สันป่าตอง  แม่ริม  แม่แตง เชียงดาว และฝาง(ประวัติวัดป่าเป้า เอกสารอัดสำเนา)

       (5)ยุคเทศาภิบาล

   ใน พ.ศ. 2416  รัฐบาลอังกฤษได้ทำสนธิสัญญากับรัฐบาลสยามเรียกว่าสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลสยามต้องส่งข้าหลวงมาควบคุมเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาซึ่งพัฒนาเป็นการใช้ระบบเทศาภิบาลปกครองดินแดนภาคเหนือในเวลาต่อมา  (ดูสรัสวดี   อ๋องสกุล  ประวัติศาสตร์ล้านนา  กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์  2539 )                 สนธิสัญญาเชียงใหม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่คนในบังคับคนอังกฤษที่เข้ามาเป็นแรงงานและทำการค้าขายในเมืองเชียงใหม่ ลำปางและลำพูนโดยจะได้รับความคุ้มครองในด้านความปลอดภัยจากภัยโจรผู้รายตามแนวชายแดน                

        นอกจากนั้นสนธิสัญญาเชียงใหม่ยังกำหนดว่าคนในบังคับอังกฤษที่มาจากพม่า เมื่อเดินทางมาเชียงใหม่ นครลำปางและลำพูน  ต้องมีหนังสือเดินทาง  คนในบังคับอังกฤษที่มีหนังสือทางสามารถเดินทางไปตามที่ต่างๆได้โดยรัฐบาลสยามต้องไม่ขัดขวาง (ดูสรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติ ศาสตร์ล้านนา.  กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์  2539 หน้า 358 )                            

    สนธิสัญญาเชียงใหม่ดังกล่าว ส่งผลให้คนในบังคับอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ชาวจีน อินเดียพม่า ไทใหญ่   ขมุ  ต่องสู่  และมอญ   เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่มากขึ้นในกรณีของชาวไทใหญ่ได้เข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย   ทำไม้   และเป็นพ่อค้าวัวต่าง  ต่อมา    ปี  พ.ศ. 2426 รัฐบาลสยามและอังกฤษตกลงทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่ 2 โดยรัฐบาลสยามยินยอมให้รัฐบาล อังกฤษจัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษขึ้นที่เชียงใหม่ได้ (สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา  หน้า 363) ซึ่งปีต่อมา พ.ศ.2427 อังกฤษก็ได้มีตั้งสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่                        นับแต่นั้นมาก็มีชาวไทใหญ่ ซึ่งจดทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษ   อพยพเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมือเชียงใหม่จำนวนมากขึ้น   ส่วนใหญ่ได้อาศัยอยู่ในย่านถนนท่าแพ  ช้างม่อย  และย่านช้างเผือก โดยในย่านช้างเผือกชาวไทใหญ่ได้ตั้งบ้านเรือนตั้งแต่ร่องกะแจะข้างมัสยิดจนถึงบริเวณอนุสาวรีย์ช้างเผือก  ชาวไทใหญ่ที่อพยพมาในยุคนี้  ถือเป็นบรรพบุรุษของลูกหลานชาวไทใหญ่บ้านช้างเผือก ในรุ่นปัจจุบัน (คำบอกเล่าของนายนิคม ไตรพิทักษ์ .  เจ้าของโรงแรมช้างเผือก  2544 ) ซึ่งชาวไทใหญ่เหล่านี้ส่วนหนึ่งก็ได้เป็นศรัทธาวัดป่าเป้าเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวไทใหญ่ที่จะได้มาพบปะกัน          

   โดยเหตุอังกฤษได้เข้ายึดครองพม่าเป็นส่วนหนึ่งในการปกครอง  อินเดียของอังกฤษ ตั้งแต่  พ.ศ.2428  ชาวไทใหญ่จึงถูกนับเป็นคนมีเชื้อชาติอังกฤษตั้งแต่นั้นมา  เอกสารทางการไทยจึงเรียกเจ้าอาวาสวัดป่าเป้า  ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองว่ามีเชื้อชาติอังกฤษและเป็นพระนิกายเงี้ยวพม่า โดยมีรายชื่อตามลำดับดังนี้ (1) พระดหว่านะเป็นเจ้าอาวาสช่วง พ.ศ.2436 - 2449 (2) พระอูวิชะยาเป็นเจ้าอาวาสช่วง พ.ศ. 2449 - 2477 (3) พระอูกุณะ เป็นเจ้าอาวาสช่วง พ.ศ. 2477- 2479 (4) พระอูหวุ่นณะเป็นเจ้าอาวาสช่วง พ.ศ. 2479 - 2482                         

    จนกระทั่งถึงช่วงครามโลกครั้งที่สอง จึงนับระบุเป็นเชื้อชาติไทใหญ่ดังปรากฏชื่อ เจ้าอาวาสองศ์ที่ 5 คือพระอูชะหยั่นต๊ะ เจ้าอาวาสช่วง พ.ศ 2482 - 2426 เชื้อชาติไทยแต่น่าสังเกตว่าได้ใช้นิกายพม่า แสดงถึงการยึดถือชื่อ ประเทศเป็นหลักของฝ่ายรัฐบาลไทยโดยไม่คำนึงถึงส่วนที่ชาติพันธุ์อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางการได้นับเป็นนิกายมหานิกาย โดยมีพระอธิการอินตา อินฺทวีโร เจ้าอาวาส (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน)

       (6)ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

        6.1 ชุมชนและความสัมพันธ์ในชุมชน

    จากคำบอกเล่าของคุณยายสอิ้ง นุสุริยาและคุณยายศรีนวล นันตารัตน์ ชึ่งมีบรรพบุรุษเป็นคนไทใหญ่ และอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านช้างเผือกมานานเล่าให้ฟังว่า  ในอดีตชาวไทใหญ่ในย่านช้างเผือกจะตั้งบ้านเรือนมีอาณาบริเวณตั้งแต่ประตูช้างเผือก เรื่อยไปตามแนวยาวของ ถนนช้างเผือกจนถึงบริเวณสถานีขนส่งช้างเผือกในปัจจุบัน)

     เดิมมีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน  สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่จะมุงด้วยหลังคาใบตองตึง  ยกเว้นบ้านที่มีฐานะเพียงไม่กี่หลังคาเรือนเท่านั้นที่ปลูกสร้างบ้านเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ เดิมถนนโชตยายังเป็นถนนดินไม่ได้ลาดยาง และจะมีต้นฉำฉาขึ้นเรียงรายไปตลอดสองฟากฝั่งถนนขนานคู่ไปกับแนวคูนํ้าเล็กๆข้างถนนซึ่งในสมัยก่อนชาวไทใหญ่ในย่านช้างเผือกจะใช้นํ้าจากคูนํ้าแห่งนี้ในการดำรงชีวิต  จนเมื่อมีการขยายถนนจึงมีมีสภาพที่เห็นดังในปัจจุบัน นอกจากนั้นที่บ้านช้างเผือกยังมีตลาดเหนือกับตลาดใต้ เป็นสถานที่สำหรับคนไทใหญ่ไปจับจ่ายซื้อของอุปโภบริโภคโดยทั่วไป                            

     สำหรับความสัมพันธ์ภายในชุมชน   ชาวไทใหญ่ในอดีตจะมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นฉันพี่น้อง ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน โดยจะมีการแต่งงานกันเองในหมู่คนไทใหญ่ด้วยกันทั้งที่ อาศัยอยู่ในย่านช้างเผือก ท่าแพ  ช้างม่อย ดอยสะเก็ด  นอกจากนั้นก็ยังมีความสัมพันธ์เชื่อมผ่านทางคณะศรัทธาวัดต่างๆที่เป็นวัดของไทใหญ่ เช่น  วัดป่าเป้า  วัดอุปคุตพม่า วัดทรายมูล วัดหนองคำชึ่งจะมีการไปมาหาสู่   ติดต่อทำการค้าวัวต่างด้วยกัน  รวมทั้งการไปช่วยงานบุญที่คณะศรัทธาของวัดไทใหญ่ในชุมชนต่างๆร่วมกันจัดขึ้น           

    ในยุคล่าอาณานิคมที่อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพล ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาประกอบกิจการทำไม้ ในประเทศพม่าและในดินแดนล้านนา  ในยุคนั้นชาวไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่จะเป็นคนในบังคับอังกฤษ   อังกฤษจะให้ชาวไทใหญ่มีการปกครองดูแลกันเอง  โดยมี  Headman  หรือที่ชาวไทใหญ่นิยมเรียกกันว่า”ปู่แมน”ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคน ในชุมชนชาวไทใหญ่ด้วยกันให้เป็นหัวหน้าทำหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของชาวไทใหญ่โดยทั่วไป ส่วนใหญ่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นHeadman  นั้นจัดเป็นคนไทใหญ่ที่อยู่ในย่านถนนท่าแพ ทั้งนี้เนื่องจากย่านท่าแพเป็นชุมชนใหญ่  มีคนไทใหญ่มาอาศัยอยู่มากและชาวไทใหญ่ที่นี้มีฐานะดีกว่าที่อื่นๆ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งที่มีกลุ่มคนไทใหญ่เข้ามาไทใหญ่เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยก่อนชุมชนอื่นๆ(คำบอกเล่าของคุณนิคมไตรพิทักษ์เจ้าของ โรงแรมช้างเผือก อายุ50 ปี 2544)                       

ภาพจากกูเกิล
    

    ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น  Headmanจะได้รับความเคารพนับถือจากคนไทใหญ่มากในวันสงกรานต์  ทุกๆ ปี    ชาวไทใหญ่จะเดินทางไปรดนํ้าดำหัว  Headman  ที่ท่าแพ  ต่อมาเมื่อมีการจัดการปกครองท้องที่  มีตำแหน่งนาย อำเภอ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาแทนที่  ดังนั้นภายหลังจากที่  จองชุนนะ  Headman  คนสุดท้ายถึงแก่กรรมลงเมื่อประมาณ  60 กว่าปีมาแล้ว ตำแหน่งHeadman  จึงได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด (คำบอกเล่าของคุณ ยายสอิ้ง นุสุริยา . อายุ  79 ปี  และคุณ ยายศรีนวล นันตารัตน์ . อายุ  73  ปี  2544)

 6.1 เศรษฐกิจชุมชน

            บรรพบุรุษของชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในย่านช้างเผือก - ป่าเป้าส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขายเริ่มจากการเป็นพ่อค้าวัวต่าง ทำกิจการค้าไม้ ต่อมาจึงได้ทำหนังพอง เครื่องปั้นดินเผาทำรองเท้ากาบโปก (รองเท้าแตะที่ทำมาจากหนังควาย) การทำยาแผนโบราณตามสูตรยาของไทใหญ่และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำนา   อย่างไรก็ตามจากคำบอกเล่า   ชาวไทใหญ่บ้านช้างเผือกสมัยก่อนแทบทุกครัวเรือนจะประกอบอาชีพหลายอย่าง   ไม่ได้ยึดทำอาชีพหนึ่งอาชีพใดแต่เพียงอย่าง เดียว

    จากการสัมภาษณ์คุณนิคม  ไตรพิทักษ์  ซึ่งเป็นลูกหลานชาวไทใหญ่และอยู่อาศัยในย่านช้างเผือกมานาน  ได้เล่าให้ฟังว่า  บรรพบุรุษในรุ่นย่าของคุณนิคมนั้นได้อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านช้างเผือกในช่วงหลังจากที่มีการเปิดสถานกงสุลอังกฤษในเชียงใหม่แล้ว    โดยคุณปู่คุณย่าของคุณ นิคมได้เดินทางมาจากเมืองเงี้ยว  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐฉานของพม่า    ปู่และย่าคุณนิคมได้เข้ามาเชียงใหม่เพื่อประกอบอาชีพทำการค้า เพราะเห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการค้าขายได้คล่องสะดวกกว่า    นอกจากนั้นที่เมืองเงี้ยวเจ้าฟ้าเรียกเก็บค่าภาษีสูงมากมีการขูดรีดภาษีอย่างหนัก  ปู่และย่าคุณนิคมจึงตัดสินใจขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ในเมืองเงี้ยว แล้วเดินทางเข้ามาเชียงใหม่โดยเข้ามาในลักษณะ   เป็นคนในบังคับอังกฤษและมีหนังสือเดินทางเข้ามาด้วย   ในระยะแรกได้เริ่มต้นทำการค้าที่ดอยสะเก็ดก่อน    จากนั้นจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านช้างเผือก (คำบอกเล่าของคุณนิคม ไตรพิทักษ์ 2544)                            

     สำหรับอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษในรุ่นปู่ย่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษรุ่นแรก นอกจากจะเป็นพ่อค้าวัวต่าง ทำกิจการป่าไม้ แล้วยังทำหนังพองขาย (คำบอกเล่าของคุณนิคม ไตรพิทักษ์ 2544) ซึ่งคำบอกเล่าดังกล่าวสอดคล้องกับครอบครัวนุสุริยา   ที่เล่าว่าบรรพบุรุษคือปู่และย่าเดินทางมาจากเมืองเงี้ยวเข้ามาอยู่บ้านช้างเผือกเพื่อเข้ามาทำการค้าบรรพบุรุษของครอบครัวนุสุริยา นอกจากจะมีที่นาจ้างคนอื่นทำแล้วยังทำหนังพองและปั้นหม้อขายที่บ้านช้างเผือก  ขณะเดียวกันพ่อของลุงอิ่นคำ ก็เป็นพ่อค้าวัวต่าง ด้วย(คำบอกเล่าของป่ายง นุสุริยา และลุงอิ่นคำ นุสุริยา2544)ต่อมาเมื่อการคมนาคมขนส่งเจริญมากขึ้น   มีการสร้างทางรถไฟสายเหนือเชื่อมระหว่างกรุงเทพ - ลำปางและลำปาง เชียงใหม่ เมื่อเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ- เชียงใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2464 ทำให้การค้าวัวต่างระหว่างเชียงใหม่กับมะละแหม่งลดความสำคัญลงอย่างมาก  แต่การค้าวัวต่างระหว่างอำเภอก็ยังคงมีความสำคัญอยู่  ตราบจนเมื่อประมาณ ปี  พ.ศ. 2498 - 2503  ได้มีการก่อสร้างถนนทางหลวงเชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอต่างๆ  เมื่อแล้วเสร็จ เริ่มมีการใช้รถยนต์ รถบรรทุกในการขนส่งสินค้ามากขึ้น  ทำให้การค้าวัวต่างหมดความสำคัญลงในที่สุด  ในกรณีพ่อลุงอิ่นคำเอง ได้เลิกการค้าวัวต่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  และได้หันกลับมายึดอาชีพทำหนังพองขายอย่างที่ปู่ของลุงอิ่นคำและคนอื่นๆในชุชนได้เคยทำมา (คำบอกเล่าของลุงอิ่นคำ นุสุริยา  2544)

 6.2.2 การทำหนังพองขาย

     หนังพองเป็นอาหารประเภทหนึ่งของชาวไทใหญ่   ทำมาจากหนังควายแห้งแล้วนำมาทอด ในอดีตชุมชนไทใหญ่ย่านช้างเผือก-ป่าเป้าที่อาศัยตามแนวถนนช้างเผือกเกือกแทบทุกบ้านจะยึดอาชีพการทำหนังพองขาย ซึ่งส่วนมาจะทำกันในช่วงฤดูแล้ง   เนื่องจากถ้าทำในหน้าฝนหนังพองจะมีความชื้นสูงเสียหายได้ง่าย   สำหรับหนังควายที่ใช้ในการทำหนังพองจะรับซื้อมาจากที่อื่นแตกต่างกันออกไปตามความสะดวกของแต่ละบ้าน เช่นที่บ้านลุงอิ่นคำ เมื่อต้องการชื้อหนังควายแห้งจะแจ้งข่าวบอกไปตามอำเภอรอบนอก ต่อจากนั้นก็จะมีพ่อค้านำหนังมาส่งจนถึงที่บ้าน(คำบอกเล่าของลุงอิ่นคำ  นุสุริยา  2544) หรืออย่างในกรณีบ้านของคุณนิคมเอง  จะไปติดต่อ ซื้อขายกับพ่อค้าคนจีนที่อยู่แถวสถานีรถไฟครั้งหนึ่งซื้อประมาณ  10-20 พับขึ้นไป  ซึ่งพ่อค้าคนจีนก็จะนำหนังควายแห้งมาส่งให้จนถึงที่บ้านเช่นเดียวกัน  ส่วนฟืนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทอดหนังพอง  ส่วนใหญ่ชาวบ้านในชุมชนป่าเป้า  -  ช้างเผือกจะรับชื้อมาจากคนเมืองคนที่อยู่แถววัดอุโมงค์ โดยจะบรรทุกขนใส่เกวียนมาส่งถึงบ้าน (คำบอกเล่าของคุณนิคมไตรพิทักษ์ 2544 และป้ายง  นุสุริยา  2544)         


      การขายหนังพองจะมีการขายใน 2 ลักษณะ  คือแบบที่ทอดแล้วกับที่ยังไม่ทอด  ซึ่งก็จะมีลูกค้าประจำมารับซื้อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง หนังพองทอดแล้วจะนำไปใส่บรรจุไว้ใน“บู้ง”ภาชนะ สาน ซึ่งทำจากไม้ไผ่  แล้วทาด้วยขี้วัว  หรือมิฉะนั้นก็นำไปไว้ในภาชนะมีรูปทรงคล้ายกระทะขนาดใหญ่ที่ทำมาจากปี๊บนํ้ามัน ต่อเมื่อมีคนมาซื้อก็จะร้อยหนังพองเป็นพวงด้วย” ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ  ลูกค้าที่มาซื้อหนังพองมีทั้งคนเมืองจากบ้านกู่เต้าและจากที่อื่น   โดยจะเป็นพ่อค้าคนกลางนำหนังพองไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง (คำบอกเล่าของป้ายง นุสุริยา 2544)                               ประมาณหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา กิจการทำหนังพองบ้านช้างเผือก-ป่าเป้า ได้รับผลกระทบจากการที่คนภายนอกชุมชนจากที่อื่นได้เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น  ทำให้การทำหนังพอง ซึ่งมีกรรมวิธีที่ต้องใช้ความร้อนจากฟืนเป็นเชื้อเพลิง เวลาทำมีควันไฟมาก  ดังนั้นจึงได้รับการร้องเรียนไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดอัคคีภัยขึ้น เทศบาลนครเชียงใหม่จึงขอร้องให้เลิกทำ  หรือให้ย้ายไปทำที่อื่น ทำให้ชาวบ้านชุมชนบ้านช้างเผือก-ป่าเป้าหลายครอบครัวต้องเลิกกิจการไป ซึ่งครอบครัวนุสุริยาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้   และบางส่วนได้ขายที่ดินและย้ายออกไปอยู่นอกเมืองแถวแม่เหี่ยะ  ป่าแงะ  ในกรณีของครอบครัวคุณนิคมเอง  ได้ย้ายกิจการไปทำอยู่ที่อำเภอแม่ริม เป็นต้น  (คำบอกเล่าของคุณ นิคม ไตรพิทักษ์ 2544 และป้ายง นุสุริยา 2544)           

 6.2.3 การปั้นหม้อ                          ชุมชนไทใหญ่บ้านช้างเผือก-ป่าเป้าบางครอบครัวได้มีอาชีพปั้นหม้อที่ทำมาจากดินเผาขายด้วยเล่ากันว่าผู้ที่นำเทคนิควิธีการปั้นหม้อเข้ามาเผยแพร่ในชุมชนไทใหญ่ป่าเป้า บ้านช้างเผือกเป็นคนแรกคือลุงจองคำยี่การทำหม้อของชาวไทใหญ่จะใช้ดินที่อยู่ภายในบ้านของตัวเองวิธีการทำเริ่มจาการขุดหน้าดินเป็นหลุมลึกลงไป แล้วจึงเอาดินเหนียวที่อยู่ด้านล่างนำขึ้นมาตากแดดให้แห้งสนิทดี จากนั้นจึงนำดินไปทุบแตกให้ละเอียดแล้วนำไปร่อนต่อจากนั้นจึงนำส่วนที่ร่อนแล้วไปผสม กับนํ้านวดปั้นให้เป็นก้อนและนำไปขึ้นรูปเป็นทรงภาชนะต่างๆ ตามต้องการเสร็จแล้วจึงนำ ไปเผาไฟ ผลผลิตหม้อดินที่ได้ ส่วนใหญ่จะนำไปขายที่ห้องแถวไม้ย่านถนนราชวงศ์ ปัจจุบันอาชีพปั้นหม้อ ในชุมชนไทใหญ่ได้สูญหายไปหมดแล้ว โดยเลิกทำเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว เนื่องจากมีภาชนะอื่นที่ผลิตจากโรงงาน เช่น หม้ออลูมิเนียมเข้ามาแทนที่และขาดการสืบทอดต่อจากคนรุ่นหลัง

   6.2.4 การทำรองเท้ากาบโป

          รองเท้ากาบโปก เป็นรองเท้าแตะที่ทำมาจากหนังควาย   ส่วนใหญ่รองเท้าชนิดนี้จะทำขึ้นเพื่อถวายพระภิกษุ ในสมัยก่อนรองเท้ากาบโปกจะทำกันเฉพาะที่ชุมชนไทใหญ่บ้านช้างเผือก-ป่าเป้านั้นโดยนำไม้ไผ่ ไม้ซาง มาชุบนํ้าแล้วนำไปตัดเป็นพื้นรองเท้า  จากนั้นจึงนำหนังควายมาหุ้มทั้งด้านปลาย และด้านล่าง แล้วใช้หนังเย็บติดกัน

 6.2.5 การทำนา

      ชุมชนชาวไทใหญ่บ้านช้างเผือก - ป่าเป้า   มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำนา ซึ่งการสัมภาษณ์ป้ายง    นุสุริยา ได้เล่าว่า ที่บ้านเป็นชาวไทใหญ่ครอบครัวเดียวกันเท่านั้นที่ทำนา โดยมีที่นาอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนโกวิทธำรงค์ในปัจจุบัน   ซึ่งการทำนาก็ไม่ได้ทำเอง   แต่จะจ้างคนเมืองแถววัดกู่เต้ามาทำให้ โดยให้ค่าแรงคนละ 4 – 5 สตางค์แดง ต่อวัน

     ประมาณ ปี พ.ศ. 2491 ที่บ้านป้าโหย่ง นุสุริยายังมีการทำนาปลูกข้าว เลี้ยงวัว และทำหนังพองอยู่ตราบจนกระทั่งประมาณปี 2500 เศษๆ จึงได้มีการขายที่นาไป (คำบอกเล่าของป่ายง   นุสุริยา 2544)

         

คัดลอกจาก http://watpapao.org/watcommunity.html

ความคิดเห็น