บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต่อชุมชน ตามนัยยะแห่งอัลกุรอานและพรบ.อิสลาม

 บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต่อชุมชน

  ตามนัยยะแห่งอัลกุรอานและพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาอิสลามพ.ศ. 2540

นิยามแห่งมัสยิด

      มัสยิดมาจากภาษาอาหรับมีความหมายตามรากศัพท์ คือ สถานที่สำหรับซุหยูด ส่วนซุหยูด หมายถึง การวางหน้าผากแนบพื้น. (ลิซาน อัลอรับ)
      อย่างไรก็ตามความในบริบททางศาสนาของมัสยิด คือ สถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับการละหมาดห้าเวลาอย่างถาวร (ศ.ดร.ซัยด์ อับดุลการีม อัซซัยด์ 2001 น.16)
       ความหมายในบริบททางศาสนาของมัสยิดดังที่กล่าวมาสอดคล้องกับความหมายของมัสยิดที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ซึ่งระบุว่า “มัสยิด หมายความว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจ โดยจะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติและเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม”
       โดยปกติการละหมาดวันศุกร์จะทำในสถานที่ซึ่งไม่มีการละหมาดห้าเวลาเป็นประจำไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนการระบุให้มัสยิดเป็นสถานที่สอนศาสนาก็เป็นการระบุถึงหน้าที่อย่างหนึ่งของมัสยิด ซึ่งจะได้กล่าวในลำดับต่อไป               
   สถานะของมัสยิดในชุมชนมุสลิม
          สิ่งหนึ่งที่บุคคลทั่วไปสังเกตได้ชัดเจนก็คือชุมชนมุสลิมทุกแห่งจะต้องมีมัสยิดอย่างน้อยหนึ่งหลังตั้งอยู่ และส่วนใหญ่ก็มักตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่ามัสยิดทรงความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารชุมชนนั้น ๆ
         ความสำคัญของมันยิดปรากฎชัดนับเนื่องแต่ยุคของบรมศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) มาแล้ว เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางถึงนครมดีนะฮ์ในปี ฮ.ศ. 1/ค.ศ. 622 สิ่งแรกที่ท่านลงมือทำในการสถาปนาสังคมแบบอิสลามก็คือการก่อสร้างมัสยิดที่เรียกกันว่า มัสยิดนะบะวีย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์บัญชาการของทุกเรื่องราวที่ทรงความสำคัญต่อสังคมมดีนะฮ์ในยุคนั้น
           พันธกิจของมัสยิดนั้นถือเป็นดัชนีชี้วัดการดำรงอยู่ของสังคมมุสลิม การสร้างความรุ่งเรืองแก่มัสยิดจึงนับเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนด้วย เหตุนี้เราจึงพบว่าอัลกุรอานได้จัดให้การบำรุงรักษา เอาใจใส่ และ ปฏิบัติตามพันธกิจแห่งมัสยิด เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาที่บุคคลมีต่อองค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้ตามนัยยะแห่งซูรอฮ์ อัต เตาบะฮ์ อายะฮ์ที่ 18 ความว่า “อันผู้ที่จะสร้างความรุ่งเรืองแก่มัสยิด ก็มีแต่ผู้ซึ่งศรัทธาต่ออัลลอฮ์และต่อวันอาคิรอฮ์ ดำรงละหมาด จ่ายซะกาต และไม่กริ่งเกรงสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์ทั้น คนเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับทางนำ”                
      บรมศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) เองก็รณรงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างมัสยิด โดยท่านบอกว่าผู้ใดที่ก่อสร้างมัสยิดหนึ่งหลังโดยมุ่งหวังในอัลลอฮ์เจ้า พระองค์จะทรงก่อสร้างที่พำนักในเขาดุจเดียวกันในสรวงสวรรค์ (หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
       ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนับแต่อดีตกาลมัสยิดมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างวีรชนผู้ยึดมั่นในอัลลอฮ์ ศรัทธาต่อวิถีชีวิตในท่วงทำนองที่พระองค์ทรงกำหนด เสียสละ และไม่เห็นการค้าพาณิชย์ ยิ่งใหญ่กว่าการเข้าเฝ้าพระองค์
      “ในอาคารที่ซึ่งองค์อัลลอฮ์ทรงอนุญาตให้ยกขึ้น และมีการกล่าวถึงพระนามแห่งพระองค์อยู่ในนั้น ประดาบุรุษต่างพากันสดุดีพระเกียรติคุณแห่งพระองค์ เป็นบุรุษผู้ซึ่งการค้าและการพาณิชย์ไม่ได้ทำให้พวกเขาหลงลืมการระลึกถึงอัลลอฮ์ ไม่ลืมการละหมาดและการจ่ายซะกาต พวกเขาหวั่นเกรงวันหนึ่ง วันซึ่งหัวใจและสายตาจะพลิกกลับ” (อัน นูร น.36-37)               
      ในความเป็นจริงการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงแก่ชุมชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ ไม่อาจขาดบุคคล
     ประเภทที่อัลกุรอานกล่าวถึงข้างต้นได้และเมื่อคนเหล่านั้นเป็นผลผลิตของมัสยิด มัสยิดจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจดูดายในสังคมมุสลิม
        ด้วยสถานะอันสูงส่งข้างต้น ทำให้เป็นสถานที่ซึ่งจำเป็นต้องเคารพและให้เกียรติยิ่งกว่าสถานที่อื่นใด นี่คือพื้นที่ซึ่งองค์อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยยิ่งกว่าพื้นที่ไหน ๆ เป็นเวทีแห่งความคิดและวิทยาการ อีกทั้งยังเป็นาถนอันก่อเกิดสายใยรักและความผูกพันของผู้คนเนื่องจากที่นี่คือสภาของชุมชนและเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความผาสุกของสังคม
       ดังนั้น บุคคลจึงไม่ควรนำสิ่งอันไม่พึงปรารถนาย่างการายเข้าใกล้มัสยิด แม้กระทั่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นกระเทียม “ใครที่รับประทานต้นไม้นี้ (กระเทียม) ก็ขอจงอย่าเข้าใกล้เราขณะอยู่ในมัสยิด” (หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม) สิ่งที่มุสลิมพึงปฏิบัติคือประดับตนเองด้วยสิ่งดีที่สุดมีอยู่ยามเมื่อจะไปมัสยิด
                  
                  “ลูกหลานอาดัมเอย พวกเจ้าจงใช้เครื่องประดับ ณ ทุก ๆ มัสยิด” (อัลกุรอาน อัลอะรอฟ : 31)             
       และเมื่อกลับจากเดินทางไกลจุดแรกที่ควรแวะก็คือมัสยิด เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งอัลลอฮ์ที่ทรงอำนวยให้การเดินทางกลับมีสวัสดิภาพและเริ่มต้นกิจกรรมที่ดีอีกครั้ง ณ พระราชฐานของอัลลฮ์แห่งนี้
                  
     พันธกิจของผู้บริหารมัสยิดต่อชุมชน
                  
     - พันธกิจตามนัยยะแห่งอัลกุรอาน               
           พิจารณาจากสถานะและบทบาทของมัสยิดนับเนื่องแต่สมัยของบรมศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าผู้บริหารมัสยิดอยู่ในตำแหน่งผู้สืบทอดภารกิจแห่งบรมศาสดาในขอบเขตบริเวณที่ตนเองรับผิดชอบ เป็นภารกิจที่อิหม่ามอัล มาวัรดีระบุไว้ว่าหมายถึง “การพิทักษ์ปกป้องศาสนาและดำเนินนโยบายทางโลก” (อัลมาวัรดี )
        ศาสนาดำรงอยู่ได้ก็ด้วยศาสนิกนั้น ๆ ปฏิบัติตนตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่าง ๆ ตามที่ศาสนบัญญัติ การนับถือศาสนาจะหาค่ามิได้ หากบุคคลมีศาสนาแค่ริมฝีปาก แต่วิถีชีวิตกลับสวนทางกับหลักธรรมคำสอน การพิทักษ์ปกป้องศาสนาในทางปฏิบัติจึงเป็นการบริหารสังคมให้ผู้คนดำรงตนอยู่ในกรอบกติกาแห่งศีลธรรมจรรยาตามที่ศาสนาพร่ำสอน
        เป็นเช่นนี้เองมัสยิดจึงดำรงอยู่ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนทั้งในแง่ศาสนาและการบริหาร ซึ่งบทบาทดังกล่าวจะสัมฤทธิผลเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหารที่มีอิหม่ามเป็นหัวหน้าคณะเป็นสำคัญ ยิ่งการบริหารมัสยิดบรรลุวัตถุประสงค์มากขึ้นเท่าใด ความเข้มแข็งของชุมชนก็ยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว ในทางกลับกันยิ่งมัสยิดถูกปล่อยวางบทบาทมากเท่าใด ชุมชนก็จะประสบกับความอ่อนแอมากขึ้นเท่านั้น
        อัลกุรอานกำหนดคุณลักษระของผู้ที่จะสร้างความรุ่งเรืองแก่มัสยิดไว้ 4 ประการ ตามนัยยะที่ปรากฎในอายะฮ์ที่ 18 แห่งซูรอฮัตเตาบะฮ์                
        “อันผู้ที่จะสร้างความรุ่งเรืองแก่มัสยิดแห่งอัลลอฮ์ได้ก็มีแต่ผู้ศรัทธามั่นในอัลลอฮ์และวันสิ้นโลก ดำรงการละหมาด จ่ายซะกาตและไม่กริ่งเกรงสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น...”               
         มิต้องสงสัยว่าการกำหนดคุณลักษณะเช่นนี้เป็นการชี้นำผู้บริหารมัสยิดไปในตัวด้วยว่าภารกิจของพวกเขาก็คือ              
         1) การสร้างชุมชนที่เติบโตจากรากอุดมการณ์เตาฮีด
         2) ดำรงไว้ซึ่งละหมาด
         3) มีการจัดระบบซะกาต
         4) บริหารกิจการต่าง ๆ ตามบัญญัติอิสลามโดยไม่หวั่นเกรงสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์ (ซุฮาฯ) เท่านั้น
                  โดย  ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ  

                  หัวหน้าศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้
       หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ
      สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

ความคิดเห็น