ลิเกลุงมัย ตระกูล "ศรีอรุณ" อีกตระกูลหลัก ของย่านมุสลิมช้างคลาน เชียงใหม่

 ตระกูล "ศรีอรุณ" อีกตระกูลหลัก ของย่านมุสลิมช้างคลาน เชียงใหม่ 


 
       คุณป้ายุพิน ศรีอรุณ ค้าขายอยู่ถนนเจริญประเทศ. 
   ชุมชนมุสลิมด้านหนึ่งติดถนนช้างคลาน อีกด้านหนึ่งติดถนนเจริญประเทศ
   
   ตระกูลหลักอีกตระกูลหนึ่ง คือตระกูล "ศรีอรุณ"
   
   เริ่มต้นจากนายยิตตารี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายตาแดง ศรีอรุณ อพยพมาจากประเทศบังคลาเทศเมื่อมาอยู่ย่านถนนเจริญประเทศได้แต่งงานกับนางคำป้อ ศรีอรุณ
   
   ด้านนางคำป้อ ศรีอรุณเป็นคนย่านเจริญประเทศละแวกนี้เดิม มีพี่น้อง ๓ คน คือ นางคำป้อ , นางทา และนางปิน ครอบครัวของนายตาแดงและนางคำป้อ ศรีอรุณ ประกอบอาชีพทำเนื้อ คือ ฆ่าวัวควายและนำเนื้อขาย
   
   นายตาแดงและนางคำป้อ มีบุตรธิดา คือ นายสมัย , นายสิน , นางเพชร , นางบัวชุม
   
   ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปคือ นายสมัย ศรีอรุณ เป็นคนชอบศิลปะและเรียนรู้การแสดงลิเก ต่อมาได้ตั้งคณะลิเกขึ้นชื่อว่า คณะสมัยสามัคคี
   
   นายสิน ศรีอรุณ แต่งงานกับนางแสงธรรม บุตรธิดา คือ นางยุพิน ศรีอรุณ , นายประเสริฐ ศรีอรุณ , นายประสิทธิ์ ศรีอรุณ , นางสุนี อาริชาติ ,นายวสันต์ ศรีอรุณ , นางศรีพรรณ , นางอำพรและนางอำพา ศรีอรุณ
   
   นางยุพิน ศรีอรุณ ปัจจุบันอายุ ๗๓ ปี รุ่นหลานของนายตาแดง โดยเป็นบุตรหญิงของนายสิน ศรีอรุณ เล่าว่าตอนเด็กเรียนที่โรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ จนถึงชั้นประถม ๓ ออกมาช่วยครอบครัวซึ่งมีอาชีพขายของชำ เล่าเกี่ยวกับย่านถนนเจริญประเทศว่า
   
   "สมัยเด็กถนนเจริญประเทศยังไม่ลาดยาง สองข้างทางมีร่องน้ำเหมือง ป้าเกิด พ.ศ.๒๔๘๒ พี่น้อง ๑๐ คน บางคนก็เสียชีวิต พ่อค้าขายของชำพวกฟืน ถ่าน ข้าวสาร แม่ทำขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวขายหน้าบ้าน
   
   จำได้ว่าสมัยนั้นรัฐบาลให้รางวัลครอบครัวที่มีลูกมาก ครอบครัวที่มีลูกมากที่สุดในย่านนี้ คือ นายกอและนางผง ศรีจันดร มีลูก ๑๓ คน รัฐบาลมีการประกวดลูกมาก ให้รางวัล ส่วนแม่ได้ที่ ๒ ลูก ๑๐ คน

   
   "ด้านหน้าโรงเรียนมงฟอร์ตเป็นบ้านของนายตาแดง ศรีอรุณ เป็นปู่ เมียชื่อคำป้อ เป็นหัวหน้าลิเกต่อมารุ่นลูกชายสืบทอดต่อมา คือ นายสมัย ศรีอรุณ ปู่ตาแดงมีที่เยอะ มาถึงรุ่นลูกหลานแบ่งขายไป แถวเจริญประเทศสมัยก่อนถือว่าไกลเมืองและเปลี่ยน สมัยก่อนไปดูหนังที่ควีน ตรงข้ามวัดแสนฝาง หนังเลิกต้องเดินกลับเพราะรถโดยสาร ๔ ล้อไม่กล้ามาส่งเพราะเปลี่ยวมากกลัวถูกปล้นจี้
   "สมัยเด็กและรุ่นสาวมักไปดูลิเกที่วัดพวกแต้ม ในตัวเมืองเชียงใหม่ ดูลิเกลุงสมัย ลุงของป้า นอกจากนี้ที่วัดหัวฝายก็ไปดูบ่อย ลิเกลุงมัยมักแสดงบ่อย จากบ้านต้องเดินข้ามทุ่ง หน้าหนาวข้าวออกรวงเหลืองอร่าม คนสมัยก่อนมีน้ำใจต่อกัน ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อก่อนญาติพี่น้องเดือดร้อนไม่มีที่อยู่ มาขอปลูกบ้านเล็กๆอยู่อาศัยในที่ดินของเราที่ว่างอยู่ ก็อนุญาตกัน ไม่ว่ากัน สมัยนี้ไม่ยอมกันแล้ว

ภาพจากลูกหลาน นัสรี่ พ่วงเฟื่อง
   
   "พูดถึงลิเกของลุงสมัยมีชื่อเสียงมาก อายุ ๗-๘ ขวบ เขาไปเล่นที่ไหนก็ตามไปดู ถือว่าเป็นคณะลิเกที่ดังที่สุดในเชียงใหม่ อีกคณะหนึ่งชื่อ ส่งอารี เคยไปดูที่วัดชัยมงคล แต่สู้ของลุงมัยไม่ได้ มีคนมาจ้างมากกว่า มักแสดงงานปอยหลวง ที่บ้านลุงสมัยสร้างบ้านพักให้ตัวลิเกอยู่อาศัยด้วย"
   
   ประวัติลิเกของนายสมัย ศรีอรุณ ชาวเมืองเชียงใหม่ทั่วไปเรียกว่าลิเก "คณะลุงมัย" แห่งบ้านช้างคลาน
   ล่วงมาประมาณ ๗๐ ปีก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ เด็กย่านละแวกย่านประตูเชียงใหม่ยันมาถึงแยกกลางเวียงได้มีโอกาสชมลิเกที่มาแสดงข้างวัดช่างแต้ม สมัยนั้นยังไม่มีมหรสพให้ดูมากมายเหมือนทุกวันนี้ การชมลิเกจึงเป็นความสุขสนุกสนานอย่างหาสิ่งใดมาเปรียบได้ยาก
 
   ลิเกที่มาแสดงเป็นคณะของลุงมัย บ้านช้างคลาน
   
   คนรุ่นนั้นปัจจุบันอายุ ๘๐ ปีเศษแล้ว คนหนึ่งคือ ลุงคำตั๋น อินทรตา บ้านอยู่หน้าวัดผ้าขาว ต่อมาย้ายไปอยู่ย่านประตูเชียงใหม่ เป็นผู้รอบรู้วิถีชีวิตของผู้คนละแวกด้านใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างดี เล่าว่า "สมัยนั้นข้างวัดช่างแต้มทางด้านทิศเหนือเป็นที่ว่าง เป็นที่ของนายเบี้ยว นางผง บ้านอยู่ทางใต้ของวัด บริเวณนี้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีลิเกมาแสดงให้ชาวบ้านละแวกนี้ดู เป็นที่ตื่นเต้นมากสำหรับเด็กในยุคนั้นเพราะไม่มีมหรสพให้ดูเหมือนสมัยนี้
   
   "สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บนเวทีที่สร้างแบบง่ายก็ใช้ตะเกียงเจ้าพายุหรือเรียกกันว่าตะเกียงอีด้าประมาณ ๔-๕ ดวงจุดให้แสงสว่าง เริ่มแสดงประมาณ ๑ ทุ่มเลิกประมาณ ๕ ทุ่ม ลิเกคณะลุงมัยมาแสดงประมาณถึง ๑ เดือนเศษ มาแสดงโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าภาพนำมาแสดงให้ชาวบ้านชมกัน ลุงมัยเจ้าของลิเกเป็นคนบ้านช้างคลาน อาชีพหลักคือ ขายเนื้อ อาชีพเสริมคือ ลิเก คณะลูกศิษย์ของนายมัยรุ่นต่อมา คือ นายผัน นายหลง ซึ่งเคยแสดงเป็นตัวตลกคณะลุงมัย ต่อมาแยกมาตั้งคณะเอง" 
   น่าสนใจที่ลิเกเป็นการแสดงของทางภาคกลาง เหตุใดจึงมาเผยแพร่ที่เมืองเชียงใหม่ และมาอย่างไรกัน 
       ส่วนหนึ่งเชื่อว่าคณะลิเกเดินทางมาเปิดการแสดงหลังจากที่การเดินทางคล่องตัวขึ้นเนื่องจากรถไฟมาถึงเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ คนรุ่นเก่าอย่างเช่น พ.ต.ท.ศิริ ไชยศิริ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วอายุเกือบ ๙๐ ปี เคยเล่าว่า คณะลิเกหลักๆ สมัยก่อน คือ คณะนายนะ อยู่แถวช้างคลาน เป็นคนภาคกลาง เป็นลิเกเร่แสดงไปเรื่อยๆ โดยกั้นผ้าโดยรอบและเก็บเงินค่าเข้าชม ครั้งละ ๒๐ สตางค์
   ลิเกที่นิยมอีกคณะหนึ่งคือ ลิเกของทหารค่ายกาวิละ เป็นคณะลิเกนายนาค นายนาค เป็นทหาร ยศสิบตรี มักแสดงประจำที่ค่ายทหารกาวิละ ประมาณ ๑ ทุ่มถึง ๒ ทุ่ม ชาวบ้านเรียกว่า "ลิเกคณะโฮงทหาร" นอกจากนี้ที่ย่านถนนท่าแพ บริเวณบ้านเจ้าไชยสงคราม บิดาของเจ้าไชยสุริวงศ์ เคยสร้างเป็นโรงลิเก ที่มีลิเกมาแสดงเป็นประจำ เรื่องที่แสดง เช่นเรื่อง เจ้าเงาะ เรื่องหงส์ทอง บ้านของเจ้าไชยสงครามนี้ต่อมาเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของหลวงสงวนราชทรัพย์ , หลวงคุรุวาทย์พิทักษ์และหลวงประสิทธิ์บุรีรักษ์ หุ้นกันซื้อ 
   เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ อดีตศิลปินแห่งชาติและเคยเป็นช่างฟ้องประจำคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เคยเล่าให้ฟังว่า 
   "ลิเกเข้ามาเผยแพร่ในเชียงใหม่ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๙ แล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ อายุประมาณ ๑๔ ปี เป็นช่างฟ้องประจำคุ้ม ปีนั้นเจ้าดารารัศมีไปเป็นประธานงานปอยหลวง ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ พวกข้าหลวง คนครัว ไปกันทั้งหมด ไปพักบนดอยประมาณ ๕-๗ วัน เจ้าดารารัศมี สร้างตำหนักไว้บริเวณโค้งขุนกัน ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า ม่อนปักกะดิก เพราะรถมักไปหกคะเมนตีลังกากันตรงจุดนั้น ตำหนักเป็นเรือนไม้สัก ๒ ชั้น หลังสิ้นประชนม์แล้ว จึงรื้อไป ป้าทำหน้าที่ฟ้อนรับคณะศรัทธาจากวัดต่างๆ ที่นำครัวทานขึ้นไป ฟ้อนรับที่บริเวณบันไดนาค เรียกว่า ฟ้อนเมือง ฟ้อนเล็บธรรมดา ส่วนกลางคืนฟ้องม่านและฟ้องระบำนกเขา  
   "เรื่องลิเก พระราชชายา ไม่โปรด เห็นว่าไม่สุภาพ มีการยกส้นเท้าเวลาจะเดิน จะนั่ง พวกเรามักแอบไปดูกันหลังจากพระราชชายาบรรทมแล้ว จัดกระบะหมากไว้ให้แล้วก็สะกิดกันแอบไปดูลิเกที่มาเล่นในงานปอยหลวงวัดพระธาตุดอยสุเทพ คณะที่มาแสดง เรียก คณะโฮงทหาร ผู้เล่นเป็นทหารจากค่ายกาวิละทั้งสิ้น ชอบดูช่วงที่ตลกออกมาแสดง ตัวตลก ชื่อ จ่าเย็น สมัยนั้นยังเด็กดูไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก สักพักก็ต้องกลับมานอนเพื่อเตรียมตัวฟ้อนในวันรุ่งขึ้น"
   ย้อนมาถึงลิเกคณะลุงมัย อาจถือว่าเป็นลิเกในยุคกลางและยุคท้ายก็ว่าได้
   สอบถามคนสูงอายุที่อายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไปมักรู้จักคณะลิเกของลุงมัยและเชื่อว่าหากย้อนไป ๔๐-๖๐ ปี คณะลิเกของลุงมัยได้รับความนิยมมาก ถึงกับมีถ้อยคำที่พูดต่อกันมาว่า "พูดเป็นลิเกลุงมัยไปได้" หมายถึง คำพูดที่ไม่จริง โกหก เปรียบเหมือนเนื้อหาลิเกของลุงมัยที่อาจมีการแสดงที่เกินจริงตามเนื้อหาของเรื่อง 
   "ลุงมัย" ชื่อจริง คือ นายสมัย ศรีอรุณ เป็นชาวบ้านช้างคลาน บ้านอยู่ริมถนนเจริญประเทศ มีเชื้อสายอิสลามจากปากีสถานที่เรียกว่า แขกบังกาลี ทั้งนี้แขกที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมี ๒ สายหลักๆ คือ แขกบังกาลีและแขกปาทาน
     พ่อแม่ของลุงมัย ชื่อ นายตาแดง อีกชื่อหนึ่ง คือ ฮิตารี เป็นแขกอิสลาม ส่วนแม่เป็นคนพื้นเมือง ชื่อ แม่คำป้อ นายตาแดง มีอาชีพค้าขายเนื้อเหมือนแขกชาวช้างคลานทั่วไปที่ยึดอาชีพฆ่าวัวและนำเนื้อไปขายตามตลาดในเมืองเชียงใหม่หาเลี้ยงชีพมานับชั่วอายุคน จนสืบทอดมาถึงรุ่นลุงมัย ที่มีอาชีพขายเนื้อสืบมา
   พี่น้องของลุงมัยมีหลายคน ต่างเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น คือ นายสิน , นางบัวชุม , นางเพชรา , นางอารี , นายฤทธิ์ , นายหะรีมา เป็นต้น ด้านนายฤทธิ์ ศรีอรุณ เคยทำวงดนตรีรับแสดงตามงานต่างๆ ชื่อว่า "วงดนตรีคณะสมัยสามัคคี".
   
   
   พ.ต.อ.อนุ เนินหาด ผกก.จร.เชียงใหม่
   (ข้อมูลเพิ่มเติมแจ้งได้ที่ anunernhard@hotmail.com)
   
   http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=310 

ความคิดเห็น