นักรบ รุ่นสุดท้าย กองพล93.ก๊กมินตั๋ง อดีตของการต่อสู้จีนคอมมูนิตส์
เมื่อความหมายของความเป็นชาติ คือเกียรติ และศักดิ์ศรีของชีวิต เส้นทางของลูกผู้ชายคนหนึ่งคงไม่ต้องคิดอะไรให้มากกว่า “ไม่สู้ก็ตาย…”
นิยามง่ายๆ เมื่อ ‘ชาติ’ ถูกรังแก การลุกขึ้นต่อสู้กับผู้รุกรานย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่หากต้องมาเสียเลือดเนื้อด้วยการหันกระบอกปืนเข้าใส่กันเองแล้ว ความละเอียดอ่อนทำนองนี้ค่อนข้างจะอยู่เหนือวิสัยของเหตุผลพอสมควร วันเวลากว่าค่อนศตวรรษของใครคนหนึ่งถูกผูกติดด้วยสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ใครบางคนที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น นักรบรุ่นสุดท้ายแห่งบ้านสันติคีรี
เรื่อง
ในรัศมี 300 เมตรล้วนมีแต่เสียงฝนหล่นกระทบกิ่งไม้ ฝนห่าใหญ่ในรอบหลายวันมานี้กำลังชะหน้าดินตามเนินตะปุ่มตะป่ำให้กลายเป็นกองเลนขนาดย่อมๆ กลืนร่างในชุดสีเขียวขี้ม้านับสิบที่ซุกตัวแน่นิ่งกระจัดกระจายอยู่ตามแนวชายป่า เกือบชั่วโมงก่อนฝนจะซาลงพอให้มองเห็นตัวป่าได้บ้าง หลายสายตาเริ่มสอดส่ายหากัน ทันทีที่เสียงแปลกประหลาดเริ่มใกล้เข้ามา ระบบเซฟในปืนของแต่ละคนถูกปลดออกพร้อมกระชับให้แน่นแนบกาย บางสายตาเล็งผ่านศูนย์นั่งแท่นในท่าเตรียมยิง ขณะนิ้วสอดเข้าโกร่งไกเพื่อรอเวลา
ชั่วอึดใจ เสียงลูกตะกั่วแหวกอากาศ และประกายไฟจากปากกระบอกปืนยาวขนาดเล็กก็ดังระงมขึ้น หลายคนลุกขึ้นวิ่งเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตรงหน้า ขณะที่บางคนร้องตระโกนด้วยความเจ็บปวดหลังกระสุนทะลวงชั้นเนื้อเข้าไปข้างในตัว ระเบิดที่ดังมาจากทุกทิศทาง ทำให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่อำพรางร่างทั้ง 2 ฝ่ายเอาไว้ เสียงสูดหายใจหอบถี่หลังเนินดิน สิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกภาคสนามชั่วโมงนี้คงใช้ได้ไม่ดีเท่าประสบการณ์ และสัญชาตญาณของตัวเอง เงาเลือนรางกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในม่านควัน หลังเพ่งสายตาดูจนแน่ใจแล้วเสียงปืนอีก 1 นัดก็ดังขึ้น…
การปะทะกันครั้งนั้นไม่ถึงกับถูกประทับตราในฐานะสมรภูมิแห่งความทรงจำ เพียงแต่เป็นวาบความคิดที่มักปรากฏขึ้นเมื่อถูกย้อนถามถึงคืนวันก่อนเก่าของนายพล หลุย ยี่ เถียน วัย 92 ปี อดีตนายทหารแห่งกองทัพพรรคก๊ก มิน ตั๋ง หรือกองพล 93 แห่งดอยแม่สลอง
“ไม่ฆ่าเขาเราก็ตาย” เขาเอ่ยถึงสัจธรรมในสงคราม
นับจากวันนั้น เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 30 ปีแล้วที่เสียงปืนของการสู้รบได้สิ้นสุดลง แต่เรื่องราวของกองทัพที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาก็ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อเรื่อยมา
กองทัพแห่งขุนเขา
แสงอาทิตย์ขับสีนวลทองให้ทะเลหมอกโอบล้อมหมู่ทิวเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนสุกเปล่งราวกับภาพวาดจากมือจิตรกรชั้นครูมาตั้งอยู่ตรงหน้า บรรยากาศอย่างนี้ ชาอุ่นๆ ในมือ กับใครบางคนมานั่งดูชั่วโมงรุ่งอรุณบนยอดดอยด้วยกันข้างๆ ก็น่าจะเป็นอีกทริปในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน
สุดสัปดาห์บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย จึงกลายเป็นหมุดหมายอีกแห่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าให้ขึ้นมาสัมผัสบรรยากาศความโรแมนติกแบบนั้น
นอกจากความสวยงามของธรรมชาติในวันนี้ที่ผิดแผกออกไปจากบรรยากาศเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ครั้งหนึ่ง แม่สลองเคยถูกจัดอันดับให้อยู่ในโซนพื้นที่สีแดง แนวปะทะระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์กับทหารฝ่ายรัฐบาลโดยอยู่ในเขตรับผิดชอบของกองพล 93
กองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) แต่เดิมเป็นกองทัพของรัฐบาลจีนภาคใต้ของจอมพลเจียง ไค เช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลจีนที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า หลังจากผืนแผ่นดินจีนกลายเป็นสีแดง เมื่อปี พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคก๊ก มิน ตั๋งได้ทำการสู้รบครั้งสุดท้ายที่แม่น้ำ หยวน เจียง ตอนกลางของมณฑลยูนาน โดยจีนคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ กองกำลังส่วนหนึ่งของก๊กมินตั๋งได้ฝ่าวงล้อมของฝ่ายตรงข้ามตามรอยตะเข็บของจีน-พม่า และเข้ามายังบริเวณตอนเหนือของประเทศไทย ก่อนที่จะปักหลักกระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว ประมาณ 30,000 คน จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองพล 93 จึงกลายเป็นทหารไร้สังกัด หนีการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงลับ ในเขตประเทศพม่า โดยมีอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยตามออกมาสมทบมากมาย จนได้จัดเป็นกองทัพได้ 5 กองทัพ ภายใต้คำบัญชาการของนายพล หลี่ หมี
ก่อนเข้าร่วมกองทัพ ในวัย 18 ปีของ หลุย ยี่ เถียน ก็ไม่ต่างจากลูกผู้ชายชาวจีนคนอื่นๆ ที่มีใจรักชาติเหนือสิ่งอื่นใด การการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้เขาและพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งจากมณฑลยูนนานบ้านเกิดไปเข้าโรงเรียนนายร้อยเพื่อรับใช้ชาติ
“เราเห็นความโหดร้ายของสงคราม เห็นประเทศชาติถูกรุกราน มันก็เป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายทุกคนอยู่แล้วที่จะต้องออกมาปกป้องประเทศ” เขาให้เหตุผล
หลังจากเรียนจบ งานแรกของเขาคือการปฏิบัติภารกิจใน นานกิง ก่อนจะย้ายกลับมาประจำการอยู่ที่ยูนนานเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการ ‘จราจล’ ของมวลชนเนื่องจากความไม่พอใจในระบบการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง และลุกลามใหญ่โตกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ทำสงครามปลดแอกประเทศจีน เขาได้เข้าร่วมกับฝ่ายจอมพลเจียงไคเช็ค โดยตรึงกำลังอยู่ทางตอนใต้ของจีน
“มันไม่มีเหตุผลในการเลือกข้างหรอก เราเป็นทหารของรัฐบาลกลางอยู่แล้ว หน้าที่ของเราก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการปราบปรามความไม่สงบ อีกอย่างถ้าผมเข้าไปอยู่ฝ่ายโน้นก็อาจจะโดนฆ่าตายไปนานแล้วก็ได้ เพราะที่นั่นมีนโยบายไม่ยอมรับคนที่มีการศึกษา คนที่มีฐานะร่ำรวย ยิ่งระดับนายทหารยิ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ” นายพลหลุยย้อนความทรงจำสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งนายทหารคนหนึ่งในกองทัพ
มุมมองของเขาถือว่า เหมาเจ๋อตุง เป็นนักการเมืองที่เก่งกาจคนหนึ่ง แต่วิธีการ และแนวคิดที่อยู่กันคนละขั้วทำให้เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
“เขาเป็นนักการเมืองที่เก่ง มีมุมมอง มีวิธีการนำเสนอที่สามารถจูใจผู้คนส่วนใหญ่ได้ เขาอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่วิธีการของจอมพลเจียงก็คือเผด็จการ สงครามจึงเกิดขึ้น และสุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้รับชัยชนะ”
ปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลง
จากการแตกพ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของกองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งทำให้ทหารต่างกระจัดกระจายออกไป กองทัพหลักของเจียง ไค เช็ค ได้ถอยไปปักหลักต่อสู้อยู่ที่เกาะไต้หวัน ขณะที่กองกำลังส่วนหนึ่งแตกทัพลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งติดกับชายแดนพม่า-ลาว
“เราถอยร่นลงมาเรื่อยๆ และกระจัดกระจายอยู่ชายแดนพม่า ไทย ลาว โดยมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่ เมืองสาด ประเทศพม่าก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เมืองเชียงลับที่ติดฝั่งแม่น้ำโขง” นายพลหลุยขยายความ
พวกเขาใช้เมืองเชียงลับเป็นฐานที่มั่นยืนหยัดต่อมาได้อีก 8 ปี จนถึงปี 2504 รัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้กองกำลังของนายพลหลี่ หมี พ่ายแพ้ และกองทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่กองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน และกองทัพที่ 5 ของนายพล ต้วน ซี เหวิน ที่ไม่ต้องการไปไต้หวันและได้นำกำลังอพยพหนีการกวาดล้างของพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยไต้หวันประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่ตกค้างเหล่านี้อีก
การ ‘ตัดหาง’ ดังกล่าวไม่ใช่การทอดทิ้งหรือปัดภาระอย่างที่เข้าใจกัน กลับเป็น ‘กลยุทธ์’ ที่ฝ่ายก๊กมินตั๋งใช้เพื่อป้องกันการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์
“เราได้รับสารลับจากจอมพลเจียง ให้ยึดฐานที่มั่นส่วนนี้เอาไว้ เพื่อรอโอกาสเข้าตีขนาบพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหากกองทัพแดงจะเข้าตีไต้หวันเราก็จะจู่โจมทางด้านยูนนานเพื่อเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง” นายพลหลุยอธิบาย
หากมองถึงความเป็นไปได้ เขายอมรับว่าในตอนนั้นถึงฝ่ายตนเองจะพลาดท่าก่อน แต่ดูจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้วในทางการทหารถือว่ายังมีโอกาสพลิกเกมกลับมาเป็นผู้ได้รับชัยชนะในภายหลังได้ ทหารในกองกำลังที่ 3 และ 5 จึงตรึงกำลังอยู่ไม่สลายไปไหน แต่คงไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ในเวลาต่อมา
หลังจากกองพล 93 ถูกกดดันจากรอบด้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด กองทัพที่ 3 ก็ถอยร่นมาจนถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกองทัพที่ 5 ได้ถอยมาปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ และพล.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้เจรจากับไต้หวัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนในปี 2513 อเมริกาก็ได้ตกลงเข้ามาช่วย รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองทหารจีนอยู่ได้ในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกองกำลังกันชนตามแนวชายแดน ป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.และพล.อ.อ. ทวี ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านสันติคีรี หมายถึงหมู่บ้านในขุนเขาที่สงบสุข ในขณะที่คนจีนเรียกว่าเรียกดอยนี้ว่า เหมย ซือ เล่อ เป็นความหมายเดียวกันว่า ดินแดนที่มีความสุข
หลังจากนั้น กองกำลังทหารจีน 93 ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่ากองทหารจีนคณะชาติก็ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมต่อสู้ต่อต้านเหล่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ (ผกค.) ในแถบจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง โดยสามารถลดอิทธิพล ผกค.บนดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่นลงได้มาก รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย
เส้นทางสู่อนาคต
ระยะทางราว 42 กิโลเมตรจากตัวเมือง ผ่านถนนเลียดไหล่เขาเข้าสู่แหล่งชุมชนชาวเขาขนาดย่อมที่ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขามานานนับทศวรรษ ในหมู่นักท่องเที่ยวรู้ดีว่า ที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้ของซื้อของขายในตลาดประจำหมู่บ้านมักเกี่ยวข้องกับชาเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งขาหมูหมั่นโถวตำรับจีนยูนนานอันเป็นเอกลักษณ์ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านสันติคีรีในวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง กลบภาพสมรภูมิอดีตให้เหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าสู่คนรุ่นหลังได้ฟัง
ล่าสุด พื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ของหมู่บ้านสันติคีรีได้อยู่ในโครงการปลูกป่ากองบัญชาการกองทัพไทย เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดูแลโดยคนในชุมชนเอง โดยมีนายพลหลุย หรือ อรุณ เจริญทังจรรยา ประธานกรรมการหมู่บ้านเป็นคนดูแล
เขาเปิดเผยถึงสาเหตุของการเข้าเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งว่า เพราะความเป็นครอบครัวเดียวกันระหว่างคนไทยกับกองพล 93 ที่มีตลอดมา
“สงครามสิ้นสุดแล้ว และที่นี่ก็มี 2 กองทัพไม่ได้ มี 2 กฎหมายไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นบรรทัดฐานเดียว เราจึงเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย อีกอย่างทุกคนในกองพลไม่เคยคิดจะกลับไปไต้หวันหรือจีน เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว ภารกิจสิ้นสุดแล้ว เราก็ถือว่าเราเป็นคนไทย ก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะกลับไปจีน หรือไต้หวัน ถ้าจะกลับไปก็จะไปในฐานะแขกคนไทย”
กว่า 30 ปีที่เขาดึงตัวเองออกจากสงครามมาใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง สิ่งที่รู้สึกอยู่ตลอดก็คือความสงบสุขของชีวิต ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเหมือนอย่างแต่ก่อนอีก
“ตอนนี้คนในหมู่บ้านก็ถือเป็นรุ่นที่ 2-3 แล้ว เขาก็ขึ้นมาเป็นระดับผู้นำหมู่บ้านแทน เราถือว่ามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ได้ออกจากภารกิจ ไม่ต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาเหมือนอย่างแต่ก่อน”
ช่วงเวลาที่ผ่านมาถือว่าคุ้มไหม?
“เหตุการณ์ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แล้วมันก็จบสิ้นไปนานแล้ว เราก็ต้องถือว่ามันเป็นความทรงจำไป”
รอยยิ้มหลังคำตอบนั้นก็ปรากฏขึ้น
โดย ปีศาจชายแดน http://www.oknation.net/blog/chaiphoto/2009/01/07/entry-1
http://www.oknation.net/blog/chaiphoto
—————————————————————————————-
อดีตเรื่องของก๊กมินตั๋ง
ในปี พ.ศ.2492 ขณะนั้นประเทศจีนได้เกิดการแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งเป็นรัฐบาลจีนขณะนั้น ภายใต้การนำของนายพล เจียงไคเช็ค พรรคก๊กมินตั๋ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง ทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังทหารของตนเองและสู้รบกันเพื่อแย่งชิงประชาชนและอำนาจ การปกครองประเทศจีน ฝ่ายของนายพลเจียงไคเช็คมีกำลังทหารส่วนหนึ่งเรียกว่ากองพลหน่วยที่ 93 ได้ปฏิบัติการอยู่แถบคุนหมิง มณฑลยูนาน ทั้งสองฝ่ายต่างรบสู้กันอย่างดุเดือด และในที่สุดฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง ก็เป็นผู้ชนะพรรคก๊กมินตั๋งจึงได้ถอยหนีไปอยู่เกาะไต้หวัน และนายพลเจียงไคเช็คก็ได้เป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในเวลาต่อมา
กอง พลที่ 93 อพยพติดตามไปไต้หวันไม่ทัน หรือโดนเจียงไคเช็คทิ้งก็ไม่อาจทราบได้ จึงตั้งกองกำลังอยู่ที่ยูนาน จากนั้นก็ถูกกองทัพจีนคอมมิวนิสต์คุกคามอย่างหนักจึงต้องสู้ไปพลางถอยไปพลาง สุดท้ายก็ถอยไปเข้าเขตของพม่าตอนบนพม่าก็ไม่ยอมเพราะถือว่าเป็นการรุกล้ำ อธิปไตยจึงส่งกำลังมาต่อสู้เพื่อพลักดันให้ออกจากพม่าสู้หลายครั้ง แม้ว่าพม่าจะเป็นฝ่ายรุก กองพล 93 เป็นฝ่ายถอย แต่สุดท้ายก็พลักดันออกจากพม่าไม่สำเร็จ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับไทยด้วย เพราะมีกองกำลังบางส่วนที่ถอยเข้ามาในเขตรอยต่อของไทยกับพม่า
เช่นบริเวณดอนตุง ดอยแม่สลอง เป็นต้น
สำหรับการอพยพของกองกำลังที่ 93 มาจากจีนนั้น ในเวลาเดียวกันก็มีชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นกองทหารอพยบตามมาด้วย ทั้งนี้เพราะชาวบ้านเหล่านั้นไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของจีน คอมมิวนิสต์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางทหารของกองพลที่ 93 คือ นายพลหลี่มี่เป็นที่นับถือของชาวบ้านในเป็นอย่างมาก ดังนั้นกองพล 93 จึงประกอบไปด้วยทหารของกองพลเอง ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา และกองกำลังต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายกันไปเพราะถูก คอมมิวนิสต์คุกคาม เข้ามารวมตัวอยู่ด้วยกัน เช่น นายพลหลี่เหวินฝาน ได้นำกองกำลังอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านเข้ามาร่วมกับนายพลหลี่มี่ด้วย การอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยนั้น กระจายอยู่ตามแนวชายแดนต่าง ๆ คือ อำเภอแม่อาย อำเภอแม่จันอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน (จังหวัดเชียงราย) อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่และเทือกเขาบางส่วนในเขตจังหวัดน่าน
ในช่วงที่ ไต้หวันทำการอพยพชาวกองพลที่ 93 ไปสู่ประเทศไต้หวันนั้น ได้มีชาวไร่ชาวนาบางส่วนที่มากับพวกทหารของกองพลที่ 93 ไม่ได้อพยพไปด้วย กลับตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองไทย ทั้งนี้เพราะหลายคนมีครอบครัวที่นี่ หลายคนเกิดที่นี่ และคิดว่าตนเองแท้จริงไม่ได้เป็นทหารของกองพลที่ 93 การไปไต้หวันเหมือนกับเป็นส่วนเกินและต้องไปเริ่มต้นใหม่ และหลายคนรักที่จะอยู่ประเทศไทย
ช่วงนั้นได้มีขบวนการผู้ก่อการ ร้ายคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาในประเทศไทย และชาวบ้านเหล่านี้ก็ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ ประกอบกับได้รับการฝึกอบรมแบบทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกตามแบบของโรงเรียนนายร้อยหวังผู่ จึงมีความพร้อมที่จะทำการรบและป้องกันตนเอง รัฐบาลจอมพลถนอมในขณะนั้นได้ทำการติดต่อชาวบ้านเหล่านี้ให้อยู่ที่เมืองไทย เพื่อร่วมกันต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงปักหลักอยู่ต่อที่ประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับไต้หวันเพื่อหา ข้อสรุปเกี่ยวกับชาวจีนอพยพที่ยังเหลืออยู่ในเมืองไทย รัฐบาลไต้หวันได้สรุปว่ากลุ่มชาวจีนดังกล่าวให้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ไทย รัฐบาลไทยจึงได้สั่งให้กลุ่มชาวจีนที่อพยพอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และ เชียงราย
เพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้อพยพ รัฐบาลไทยจึงตั้งให้กองบัญชาการที่ดอยแม่สลอง กองบัญชาการทหารสูงสุดนำโดย พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เสธฯ บ.ก.ทหารสูงสุด และ พล.ท. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองเสธฯ เป็นผู้ดูแล โดยประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด
มี ผู้นำที่มีชื่ออยู่สองคน คือ นายพลหลี่เหวินฝาน และ พันเอกเฉินโหม่วซิว ได้เป็นผู้นำของชาวจีนที่เหลืออยู่ในเมืองไทย ขณะนั้นมีการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก และเนื่องจากคอมมิวนิสต์ไม่ถูกกับชาวจีนที่อพยพ จึงมักสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ นา ๆเพื่อโยนความผิดให้กับชาวจีนกลุ่มนี้ เช่น ปล้นสะดม ฆ่าผู้นำชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลไทย โดยคนทั่วไปในขณะนั้นรู้จักชาวจีนกลุ่มนี้ในนามของกองพลที่ 93 แต่แล้วคนไทยก็รู้ว่าหลงกลพวกคอมมิวนิสต์เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ
หน่วยงานของจังหวัดได้รับการติดต่อขอเข้ามอบตัวจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่บ้านห้วยกว้างตำบล แซว อำเภอเชียงแสน ทำให้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2512 นายประหยัด สมานมิตร ผู้ ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย พ.ต.อ. ศรีเดช ภูมิประหมัน ผู้กำกับตำรวจภูธรเชียงราย นายทหารจากกองทัพภาคที่3 และคณะ รวมทั้งสิ้น 8 นายได้เดินทางเพื่อเข้าไปต้อนรับการกลับตัวกลับใจของกลุ่มผู้ก่อการร้ายดัง กล่าว การเดินทางไปครั้งนี้ผู้นำชาวจีนอพยพได้ทำการทักท้วงมิให้คณะของผู้ว่าเข้า ไปในเขตของคอมมิวนิสต์ เพราะรู้ว่าเป็นกลลวงแต่ทางคณะไม่ฟังคำทักท้วงจึงได้เดินทางเข้าไปในบริเวณ พื้นที่ที่ ผกค. ตกลงจะทำการมอบตัวแต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ทั้งคณะถูก ผกค. สังหารเกือบหมดเหลือรอดมาได้แต่เพียงนายอำเภอเมืองเชียงรายเพียงคนเดียว เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยรู้ว่าคอมมิวนิสต์ร้ายแรงเพียงใด
เมื่อ เรื่องนี้เกิดขึ้นทางกองบัญชาการทหารสูงสุดได้มีคำสั่งให้ชาวจีนอพยพที่เคย ได้รับการฝึกแบบทหาร ออกช่วยปราบปรามโดยเข้าร่วมกับกองกำลังทหารและตำรวจ ซึงการปราบปรามผู้ก่อการร้ายใช้เวลายืดเยื้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ไปจนถึง พ.ศ.2516 เหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจึงได้สงบลง
เมื่อสิ้นสุดการปราบปรามผู้ก่อการร้ายสงบลงแล้ว รัฐบาลไทยก็ได้ให้กองกำลังจีนอพยพ(กองพล93)จัดตั้งเป็นหมู่บ้านยุทธการ ได้แก่ หมู่บ้านผาตั้ง หมู่บ้านแม่แอบ สำหรับ หมู่บ้านแม่สลอง เดิมที่เรียกว่า หมู่บ้านหินแตก จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น หมู่บ้านสันติคีรี โดย พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้กำหนดชื่อหมู่บ้าน
ปี พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้ชาวจีนอพยพจัดตั้งเป็นกองกำลังอาสาสมัครไทย จำนวน 4 กองร้อย ร่วมกับกองกำลังกองทัพภาคที่ 3 เพื่อออกกวาดล้างผู้ก่อการร้ายที่เขาค้อ และที่เขาหญ้า จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลการกวาดล้างได้รับชัยชนะตามเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำหนด
ทางรัฐบาล ไทยมองเห็นความสำคัญและผลงานที่ได้กระทำต่อบ้านเมืองของกลุ่มชาวจีนอพยพหรือ ที่รู้จักในนามของกองพล 93 กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงตั้งคณะกรรมการเพื่อแปลงสัญชาติให้เป็นคนไทย ในพ.ศ. 2514 , 2518 , 2520 สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2521 โดยทางราชการจะออกบัตรประจำตัวชัวคราวให้กับนายทหารจีน(กองพล93) ใช้ในการออกจากเขตกำหนด(ดอยแม่สลอง) โดยใช้บัตร(ตามภาพ)แสดงแทนบัตรประชาชนไทย
หลังจากนั้นอีก 8 ปี จึงได้อนุมัติให้ทำบัตรประชาชนไทยถาวร แก่ชาวจีนอพยพ(กองพล93) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529
โดยออกให้กับครอบครัวของนายทหารก่อน จากนั้นจึงออกให้ประชาชนจีนที่ติดตามกองทัพมานั้นเป็นลำดับไป
สำหรับ บัตรประจำตัวนายทหารจีน(กองพล93) ที่ทางราชการออกให้ก่อนหน้านั้น(ตามภาพ) ทางราชการได้เรียกกลับคืน โดยเปลี่ยนกับบัตรประชาชนไทยถาวรในเวลาเดียวกันนั้น
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ กองทัพภาคที่ 3 จึงได้มอบอำนาจการปกครองหมู่บ้านอดีตทหารจีน(กองพล93)บางหมู่บ้านให้กับ กระทรวงมหาดไทย ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น หมู่บ้านสันติคีรี ( ดอยแม่สลอง ) เป็นหมู่ที่ 18 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ตามข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชาวจีนอพยพ(กองพล 93) เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้มีบัตรประชาชนไทยถาวรได้ในปี พ.ศ.2529 (2514-2520 เป็นช่วงของการอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย)
ที่มา http://yui000.exteen.com/ ปริศนา ชาติกำเหนิด สนธิ ลิ้มทองกูล้น
ภาพประกอบค้นจากกูลเกิ้ลไม้เกี่ยวข้องกับบทความ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น