ประวัติการรับนับถือศาสนาอิสลามของชนชาติปาทาน

 ประวัติการรับนับถือศาสนาอิสลามของชนชาติปาทาน

      

      ที่มา : หนังสือ“รวมบทความและรายงานพิเศษ ศาสนาและปรัชญา”
      ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
   

      โดย อณัส อมาตยกุล
      อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
      คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


      

      ตลอดประวัติศาสตร์อิสลามที่ยาวนานราว 1400 กว่าปีนั้น ได้มีชนชาติต่าง ๆ ที่พากันเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามด้วยความศรัทธานับจากคริสตศตวรรษที่ 7 มาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 21 นี้เป็นจำนวนมากมาย อาทิ อาหรับ เปอร์เชียน(อิหร่าน) เบอร์เบอร์ เคิร์ด เติร์ก และชาวอินเดีย เป็นต้น ชนชาติต่างๆ เหล่านี้ต่างได้มีส่วนช่วยกันสรรค์สร้างประวัติศาสตร์ของประชาคมอิสลามที่ผ่านวันเวลาของความรุ่งโรจน์ ความร่วงโรย สันติภาพ สงคราม ความอ่อนโยนที่มนุษย์มีต่อกัน และความรุนแรง เฉกเช่นที่ชนชาติปาทานได้กลายเป็นชนชาติล่าสุดในโลกมุสลิม ที่เป็นหนึ่งในตัวเอกของเหตุการณ์ที่กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาได้รับผลของความรุนแรงอันเกิดจากสงครามที่สหรัฐอเมริกากระทำขึ้นในอัฟกานิสถาน เพื่อโค่นล้มรัฐบาลตอลิบานซึ่งมีแกนนำคนสำคัญๆ ของรัฐบาล กองทัพ และ ฐานเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากชนชาติปาทานที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน ชื่อของชนชาติปาทานจึงได้กลับมาสู่ความสนใจของชาวโลกอีกครั้ง

   

      ในส่วนของประเทศไทยก็ปรากฏว่า ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทาน ได้กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ในหมู่ชาวไทยมุสลิม บทบาทของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานก็ได้ทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ ภายในเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่คนเหล่านี้ได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะจากช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้แบ่งอินเดียออกเป็นประเทศอินเดีย ประเทศปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก ชาวปาทานจำนวนมากได้อพยพ เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานในประเทศไทย การศึกษาทำความรู้จักถึงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ จึงมีความสำคัญต่อโลกของเราใบนี้ที่กำลังตกอยู่ในภาวะไร้พรมแดน และแก่ประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน



      ชนชาติปาทาน

   

      ชนชาติปาทานคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ และทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน และทางภาคตะวันตกของปากีสถาน ภาษาของผู้คนกลุ่มนี้คือ ภาษาปุชโต (Pushto) หรือ ปาชตู (Pashto) ชาวปาทานส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลามสายสุนนี่ (Sunni) ในหมู่พวกปาทานเหล่านี้ มีกลุ่มที่เข้มแข็งจนสามารถตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้นปกครองราชอาณาจักรอัฟกานิสถานได้ จนถึงกึ่งศตวรรษที่ 20 นอกจากภายในอัฟกานิสถานแล้ว พวกปาทานยังได้ปกครองเมืองและแคว้นต่าง ๆ ในที่ราบของอินเดียด้วย


      ปาทานในประวัติศาสตร์

      ต้นกำเนิดของชนชาติปาทานยังคงเป็นปริศนาและประเด็นการถกเถียง แต่ลักษณะทางภาษาศาสตร์เป็นประจักษ์พยานที่ดีว่า ภาษาของปาทานเป็นภาษา อินโด-ยูโรเปียน ในขณะที่ปาทานบางเผ่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับชนชาติเซมิติก (ยิว - อาหรับ) ทั้งนี้เพราะดินแดนในอัฟกานิสถาน ตะวันออกของอิหร่าน และตะวันตกของอินเดีย เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีการรบพุ่งรุกรานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งในจำนวนผู้เคยเข้ามารุกรานดินแดนนี้มี อิ หร่าน กรีก พวกฮินดูราชวงศ์ต่างๆ จากอินเดีย เติร์ก มองโกล อุซเบก ซิกข์ อังกฤษ รัสเซีย และ ผู้เข้ามาล่าสุดในตอนต้นของสหัสวรรษนี้คืออเมริกัน
      
      ชาวปาทานได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 982 ว่าเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาสุลัยมาน ผลงานที่เป็นที่ปรากฏเป็นลำดับแรกของปาทานที่แสดงต่อชาวโลกก็คือ การเป็นทหารในกองทัพของสุลต่าน มะห์มูด แห่งฆอสนะ กษัตริย์มุสลิมเติร์ก ผู้ทำสงครามพิชิตอินเดียจากมหาราชาฮินดู ทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อประมาณ ค.ศ. 1000 และตั้งวงศ์กษัตริย์อาฟกันปกครองอินเดียถึง 300 ปี ไม่ว่าราชวงศ์คอลญี หรือ ราชวงศ์โลดี ที่เสียแผ่นดินให้แก่ จักรพรรดิ์บาบัร แห่งวงศ์โมกุล เมื่อคริสตศตวรรษที่ 16 ก็ล้วนเป็นวงศ์กษัตริย์ปาทานทั้งสิ้น

   

      กล่าวได้ว่าชาวปาทานประสบความสำเร็จในการปกครองอินเดียก่อนที่จะได้ปกครองดินแดนในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเสียอีก นั่นคือเมื่อ ค.ศ. 1747 เมื่อ อะห์มัด ชาฮ์ อับดาลี ได้รวบรวมพลจากฐานที่ตั้งอยู่ในกันดาฮาร์ และพิชิตรวบรวมดินแดนที่อยู่ระหว่างอินเดีย อิหร่าน และอัฟกานิสถาน ขึ้น จากนั้นคนในราชวงศ์ของพระองค์ และกลุ่มตระกูลบริวารก็ได้ปกครองประเทศนี้มาจนถึง ค.ศ.1973

   

      อังกฤษได้เริ่มมีบทบาทต่อดินแดนของปาทานในช่วงที่อังกฤษต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนในอินเดีย ทำให้เกิดสงคราม อังกฤษ - อาฟกัน ขึ้นในปี 1879 สงครามสิ้นสุดลงโดยอังกฤษยอมรับอำนาจของปาทาน และตกลงที่จะไม่ล่วงล้ำอธิปไตยของปาทาน ที่ตั้งอยู่หลังเส้นแบ่งเขตดูรันด์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียของอังกฤษ

      มาตุภูมิของปาทาน

      ชนชาติปาทานตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานและทางตะวันออกเฉียงใต้ของ เฮรัต เมืองสำคัญทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ชุมชนของชาวปาทานยังกระจายไปไกลในทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำสินธุ และทางใต้พวกเขายังกระจายกันอยู่ในบริเวณ ซิบี (Sibi) และ กิวเอตต้า (Quetta) จนถึงกันดาฮาร์ หรือคันธาราราษฎร์ (Qandahar)

   

      ปาทานบางกลุ่มอาศัยอยู่ตามขอบดินแดนอิทธิพลของตน ที่อยู่ติดกับพรมแดนนานาชาติ เช่น เผ่าโมฮ์มันด์ (Mohmand) เผ่าซูเลมันเคล (Sulemankhel) และ อาคาคซายส์ (Achakzais) ภูมิประเทศในแถบนี้มักเป็นเทือกเขาสูงใหญ่ เช่น เทือกเขา อัลไพน์ - หิมาลายา ที่พาดผ่านตอนกลางของอัฟกานิสถาน ไปจนถึง เทือกเขาสุไลมาน (Sulaiman) ในปากีสถาน ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกปาทานอาจอยู่ไกลออกไปตลอดทางตะวันออก ถึงที่ราบในแคว้นสินธุ และทางใต้จนถึงที่ราบสูงอิหร่าน

   

      ความแตกต่างระหว่าง "อาฟกัน" กับ "ปาทาน"

   

      ในภาพรวมแล้ว คำว่า "อาฟกัน" อาจหมายรวมถึง "ปาทาน" ได้ ดังจะเห็นว่าบางครั้งเคยมีความหวั่นเกรงว่า การยึดอำนาจของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถาน อาจมีผลให้ประเทศนี้นอกจากจะเป็นรัฐอิสลามแล้ว ยังอาจเป็นรัฐปาทาน หรือ ปาทานิสถาน อีกด้วย

   

      นักวิชาการบางคนมีทรรศนะว่า คำว่า "อาฟกัน" มีความหมายเฉพาะพวกดุรรอนีย์ (Durranis) อันเป็นตระกูลของชนชั้นปกครองในอัฟกานิสถาน และสายตระกูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวดองกันเท่านั้น ส่วนคำว่า "ปาทาน" หมายถึง มหาสาขาของตระกูลต่าง ๆ โดยทั่วไป ของผู้ตั้งถิ่นฐานในอัฟกานิสถาน แนวคิดของทฤษฎีนี้เริ่มไม่มีน้ำหนักแล้วในศตวรรษใหม่ เนื่องจากมีแนวคิดที่ว่า ทั้ง "อาฟกัน" และ "ปาทาน" เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ที่เรียกต่างกันก็เพียงความหมายทางภาษาและวรรณคดี ที่ใช้เรียกพวก "ปาทาน" ที่เป็นชนชั้นปกครองประเทศ ว่า "อาฟกัน" สิ่งที่มาสนับสนุนทฤษฎีนี้ ก็คือ การที่เผ่าขนาดใหญ่ และมีอิทธิพล อย่างพวก ฆอลซาย (Ghalzai) นั้น ผู้คนก็รวมเรียกพวกเขาว่า "ปาทาน" เช่นกัน เผ่าอื่น ๆที่นับว่าสูงศักดิ์ อย่าง อาฟริดี (Afridi) บางกาษ (Bangash) ฆาฏัก (Khatak) วาซีรีย์ (Waziri) กาการ์ (Kakar) ฆันฑาปูร์ (Gandapur) ชีรานีย์ (Sherani) อุซตะรานี (Ustarani) และ เผ่าอื่น ๆ ก็รวมเรียก "ปาทาน" ด้วย


      ภาษา  
      จากการสำรวจเมื่อปี 1987 มีผู้ใช้ภาษาปุชโตอยู่ในโลกนี้ราว 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ 11 ล้านคนเป็นพลเมืองปากีสถาน อีก 9 ล้านคนอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่ผลจากสงครามกลางเมือง สงครามต่อต้านโซเวียต และ สงครามระหว่างกลุ่มมุญาฮิดีนต่างๆ ทำให้ปาทานอีกราว 2 ล้านคน อพยพจากอัฟกานิสถานเข้ามาในปากีสถาน
      
      การที่ชาวปาทานมีจำนวนถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ในอัฟกานิสถาน ทำให้พวกเขาเป็นชนชาติที่ใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุด จนสามารถมีเผ่าปาทานต่างๆหมุนเวียนเข้ามามีอิทธิพลปกครองอัฟกานิสถานในรูปของราชวงศ์กษัตริย์ หรือแกนนำของรัฐบาลมาจนถึงสมัยรัฐบาลตอลิบานในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ รวมเวลาได้ได้ราวสองร้อยปี


    รากของภาษา
   

      ภาษา ปุชโต ถือเป็น สาขาหนึ่งของภาษาอิหร่าน ในตระกูลภาษา อินโด - ยูโร เปียน ภาษานี้มีสำเนียงหลัก ๆ ซึ่งแตกต่างกันดังนี้

   
      

         1. ภาษาปุชโต ของ ตะวันตกเฉียงใต้ของกันดาร์ฮาร์

      

         2. ภาษาปุชโต ของ ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ปุชโตของเมือง เปชาวัร

   
   

      ชาวปาทานส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถานจะพูดภาษาดารี ซึ่งเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาฟาร์ซี หรือ เปอร์เชียน ที่เป็นภาษาที่สองรองจากปุชโต ภาษาเปอร์เชียนเองก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อปุชโต ซึ่งทั้งสองภาษานี้ต่างก็ใช้อักษรอาหรับ (อลีฟ บาอ์ ตาอ์) ในการเขียน ยกเว้นอักษรบางตัวที่ชาวเปอร์เชียนและอัฟกานิสถานต้องประดิษฐ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีเสียงดังกล่าวในภาษาอาหรับ

   

      ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน และที่อยู่อาศัยของปาทาน

   

      แม้จะมีปาทานจำนวนหนึ่งเป็นชนชาติเร่ร่อน แต่ปาทานส่วนใหญ่เป็นชาวเมือง ปาทานเหล่านี้จะตั้งถิ่นฐานรวมกันตั้งแต่หมู่บ้านละ 2 ครอบครัว ไปจนถึง 400 ครอบครัว
      
      การตั้งถิ่นฐานจะคำนึงถึง
      1. แหล่งน้ำ
      2. หญ้าเลี้ยงสัตว์
      3. ทำเลหรือชัยภูมิในการป้องกันตนเอง
      4. เขตอิทธิพลของเผ่าหรือกลุ่มอื่น
      
      การตั้งถิ่นฐานจะเริ่มจากเครือญาติหรือเผ่าบริวาร การสร้างบ้านหรือตั้งกระโจม จะปฏิบัติตามประเพณี คือ ตั้งล้อมบ้านหรือกระโจมของผู้อาวุโสในเผ่า
      
      บ้านมักสร้างจากโคลน หรืออิฐดินดิบ สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ วงกบ บานประตู และ คานหลังคา ตามชนบท บ้านมักสร้างคล้ายป้อมปราการและมีหอคอยอยู่ที่มุมของบ้าน จะมีผนังแบ่งกั้นพื้นที่ใช้สอยตามความเหมาะสม มีส่วนที่กั้นไว้เพื่อรับรองผู้มาเยือน และส่วนเฉพาะภายในสำหรับสตรีตามวัฒนธรรมอิสลามที่เรียกว่า ซินานะฮ์ นอกจากนั้นยังมีส่วนของสัตว์เลี้ยงพวกแพะหรือวัวอีกด้วย ถ้าอยู่กระโจม ปาทานจะทอผ้ากระโจมขึ้นจากขนแพะดำที่พวกเขานิยมเลี้ยงไว้


      การสืบหาที่มาของชนชาติปาทาน

   

      เป็นที่แน่นอนว่าผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ของอัฟกานิสถาน และเทือกเขาฮินดูกูษ เทือกเขาสุไลมาน และที่ราบลุ่มสินธุนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนในชาติพันธุ์ อินโด - ยูโรเปียน หรือกล่าวรวม ๆ ว่าเป็นชาวอารยัน โดยมีข้อมูลสนับสนุนทางชาติพันธุ์วิทยา และหลักฐานทางภาษาศาสตร์ แต่เนื่องจากดินแดนแถบนี้ถือเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่ชนชาติต่าง ๆ เคลื่อนย้ายผ่านไปมา เพื่อทำการค้า หรือโยกย้ายแหล่งที่อยู่อาศัย และทำสงครามต่อกัน ทำให้มีชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผสมผสานปะปนอยู่มากมายอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

      ตัวอย่างของชนชาติต่าง ๆ ซึ่งได้ทิ้งสายสกุลผสมผสานไว้ในดินแดนแถบนี้ได้แก่ เปอร์เซียน กรีก เติร์ก มองโกล อุซเบก ฯลฯ แต่เชื้อสายสำคัญที่สุด และน่าสนใจศึกษา เพื่อใช้สนับสนุนมูลเหตุการรับนับถือศาสนาอิสลามของชาวปาทานนั้นอาจได้แก่เชื้อสายอิสราเอล กรีก และอาหรับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ชาวปาทานมีกับชน ชาติอิสราเอล ในฐานะที่ศาสนาอิสลามยกย่องให้เกียรติชาวยิวว่าเป็น "อะห์ลุ อัล กิตาบ" หรือ ชาวพระคัมภีร์ และความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่สืบไปถึงชาวอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นการสืบอ้างไปถึงท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด วงศ์ญาติของท่าน สหาย และสาวก (เศาะฮาบะฮ์) ของท่านศาสดา ล้วนแต่เป็นมูลเหตุ และปัจจัยอันสำคัญประการหนึ่ง ในการที่บรรพบุรุษของชนชาติปาทานพากันเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

      

      เชื้อสายอิสราเอลในหมู่ปาทานบางกลุ่ม

   

      ในการมองดูรูปร่างหน้าตาของคนในตระกูลดุรรอนีย์ และฆอลซายส์ นั้น เราสามารถเห็นจมูกที่โด่งยาวและงุ้มอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติอิสราเอล โครงสร้างของเค้าหน้าคนเหล่านี้มิได้เพิ่งปรากฏในระยะหลัง หากแต่ได้เป็นเช่นนี้มานานนับพันปีแล้ว ดังจะเห็นได้จากเหรียญกษาปณ์ที่มีอายุราวคริสตศตวรรษที่ 1 มีรูปของกษัตริย์ในราชวงศ์กุษาณะ มีพระฉายาลักษณ์ที่ปรากฏพระนาสิกโด่งงุ้มอย่างชัดเจน ขณะที่โจเซฟ โวลฟ์ (Joseph Wolff) ได้บันทึกไว้ว่า "บรรดายิวทั้งหมดในตุรกิสถาน เชื่อว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากโตการ์มาฮ์ (Togarmah) บุตรโฆเมอร์ (Gomer) ซึ่งโฆเมอร์ผู้นี้มีชื่อปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เตารอต บทเยเนซิส 10, 3 เพียงแต่บันทึกต่าง ๆ ของพวกยิวถูกทำลายหมดในช่วงเวลาที่เจงกิสคานยึดครองตุรกิสตาน" (Kersten, 1983: 64)
      
      นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ชื่อ จี ที วิกเน่ (G.T. Vigne) ผู้เป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาสาขาภูมิศาสตร์ ได้บันทึกเรื่องราวระหว่างการเดินทางไปชูซิน (Chuzin) และ กาบูล (Kabul) ในอัฟกานิสถานว่า "บิดาของเอมิร่าห์ (Emirah) เป็นบิดาของพวกอาฟกันด้วย และบิดาของเอมิร่าห์นี้มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของ เนบูคัดเนซาร์ (Nebuchadnezzar) กษัตริย์แห่งบาบิโลน บิดาของเอมิร่าห์มีความภาคภูมิใจต่อการสืบเชื้อสายบนี อิสรออีล เขามีบุตรถึง 40 คน ทายาทผู้สืบเชื้อสายต่อจากเขาในลำดับที่ 40 มีชื่อว่า กีส (Kys) และกีสคนนี้มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด ศ็อลฯ" (Kersten, 1983: 65)
      
      ดร.เจมส์ บรีเย่ (James Bryee) และ เคธ จอห์นสัน (Keith Johnson) เขียนไว้ในหนังสือของเขา หน้า 25 ในหัวข้อ อัฟกานิสถาน ดังนี้ : "ชาวอาฟกันระบุว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ซาอูลแห่งอิสรออีล และเรียกตนเองว่า บนี อิสรออีล" (Kersten, 1983: 66)

   

      การสืบเชื้อสายจากท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด

   

      นอกจากทรรศนะที่มีต่อการเป็นเชื้อสายชาวอิสราเอล หรือ บนี อิสรออีล ของอาฟกัน หรือ ปาทานบางกลุ่มแล้วยังมีความเชื่ออีกว่า คนเหล่านี้อีกบางกลุ่มสืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด เช่น พวก เชรรานีย์ (Sherrnis) หรือ เชรวานีย์ กาการ์ (Kakars) การรานีย์ (Karrani) ดาวาย (Dawai) ตาริน (Tarin) มิยานา (Miyana) และ บาตานี (Batani) พวก ฆันดาปูร์ (Gandapur) และ อุซตารานา (Ustarana) เป็นกลุ่มซัยยิดเช่นกัน เพราะแตกออกมาจากเชรรานีย์ ส่วนพวกบังกาช อ้างว่ามีที่มาจากพวกกุรอยช์ (The Encyclopaedia of Islam, 1987) คำว่า "ซัยยิด" นี้ เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง เจ้านาย ต่อมาคำนี้มักนิยมใช้เรียกขาน คนในตระกูลของหลาน ๆ ท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกลางและศตวรรษต้น ๆ ของสมัยใหม่ ปัจจุบันคำนี้ใช้ในความหมายว่า "คุณ" หรือ "นาย" ในสำนวนเขียนและพูดของภาษาอาหรับ แต่สำหรับมุสลิมในเอเชียใต้แล้ว คำนี้ยังคงใช้ในความหมายของลูกหลานท่าน ศาสดา นบี มุฮัมมัด อยู่

      ทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้ารับอิสลามของชนชาติปาทาน

   

      ศาสนาอิสลามเริ่มเข้าสู่ดินแดนอัฟกานิสถาน ที่เป็นมาตุภูมิของชาวปาทาน ตั้งแต่สมัย เคาะลีฟะห์ (กาหลิบ) อุษมาน บุตร อัฟฟาน (644 - 56 ) ทั้งนี้อาจมิได้หมายถึงดินแดนอัฟกานิสถานส่วนกลาง หากแต่เป็นดินแดนทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ์เปอร์เซีย

   

      ในครั้งนั้น เคาะลีฟะห์ อุษมาน ได้สั่ง อับดุล เราะห์มาน บุตร สมุเราะห์ ข้าหลวงเมืองบัสรา (แคว้นอิรัค) ให้เข้ายึดดินแดนที่อยู่ในอาณัติของเปอร์เซียทันทีหลังการล่มสลายของราชวงศ์สัสซานิด อาณาจักรเปอร์เซียถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอิสลาม อับดุลเราะห์มาน ได้ล้อมเมืองซารานด์ซึ่ง ปัจจุบันคือเมือง ซาฮิดาน ไว้ระยะหนึ่ง ก่อนจะสามารถยึดเมืองได้ จากนั้นจึงรุกคืบไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น กีช อาราโคเซีย และ ดาวาร์ ปัจจุบันคือเมือง ซามีนดาวาร์ จนถึงดินแดนของอาณาจักรกุษาณะ ของอินเดีย

   

      กษัตริย์องค์สุดท้ายของวงศ์กุษาณะได้เข้ารับอิสลาม (The Encyclopaedia of Islam, 1987: 161) และถือเป็นข้อสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าการเข้ารับอิสลามของผู้นำประเทศ ทำให้พลเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งรวมถึงชนชาติต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้ผสมผสานกันเข้าเป็นชนชาติปาทาน พากันเข้ารับอิสลามตามผู้นำรัฐ

   

      การขยายตัวของอิสลามไปสู่ผู้คนในดินแดนอัฟกานิสถานยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แต่เนื่องจากความกว้างใหญ่ไพศาลของดินแดนและความทุรกันดาร ทำให้การขยายของศาสนาไปยังผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ไกลจากเมืองหรือเส้นทางการค้าโบราณ เป็นไปได้ช้า จนถึงสมัย เคาะลีฟะห์ มุอาวิยะฮ์ บุตร อบู ซุฟยาน (661 - 80 ) ผู้เป็นปฐมแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้บัญชาให้นำอิสลามไปมอบให้ถึงผู้คนในกาบูล โดย อุบัยดุลเลาะฮ์ บุตร อบู บักเราะฮ์ ได้เป็นผู้นำสาส์นไปยังราชาแห่งกาบูล แต่การแนะนำศาสนาอิสลามครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ และเขาถูกราชาแห่งกาบูล จับเป็นตัวประกัน ซึ่ง อุบัยดุลเลาะฮ์ ต้องจ่ายค่าไถ่ตนเองและผู้ติดตาม ให้แก่ราชาแห่งกาบูลเป็นเงินจำนวนถึง 700,000 ดิร์ฮัม

   

      ระยะเวลาหลังจากนี้ไปจนถึงคริสตศตวรรษที่ 9 ที่วงศ์กษัตริย์ใน วรรณะพราหมณ์แห่งกาบูลได้ล่มสลายลง เนื่องจากการกบฏของพลเมืองฮินดูในภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน และเป็นข้อสนับสนุนแนวคิดที่ว่า เมื่อโลกทัศน์และแนวคิดแบบฮินดูในหมู่ประชาชนอัฟกานิสถานขาดผู้อุปถัมภ์ หรือขาดอำนาจรัฐและรัฐนิยมเพื่อการเกื้อกูลแล้ว ชนเผ่าต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน จึงทะยอยกันเข้ารับอิสลามกันจนหมดสิ้น ยกเว้นผู้คนในแคว้นกาฟิริสถาน ที่คงเป็นฮินดูอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 จากนั้นจึงเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลาม และ ชื่อของแคว้นนี้ก็ได้รับการเปลี่ยนเป็น นูริสถาน (หรือประเทศแห่งแสงสว่าง) แทนชื่อเดิม (Romodin, 1985: 63) หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งว่า อัฟกานิสถานเพิ่งกลายเป็นประเทศมุสลิมครบทุกเมืองและทุกแคว้น ในปลายศตวรรษที่ 19 นี้เอง

   

      แนวคิดของ เบอร์เนส

   

      เอ. เบอร์เนส ( A. Burnes) ระบุว่า การปรากฏตัวของชนชาติอิสราเอลในบริเวณที่เป็นมาตุภูมิของชาวปาทาน ก็เนื่องมาจากการอพยพระลอกแล้วระลอกเล่า จากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์ ไปสู่บริเวณที่เรียกว่า โฆเร (Ghore) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกาบูล พวกเขายังคงสืบทอดความเป็นชาวอิสราเอล หรือ บนี อิสรออีล หรือความเป็นชาวพระคัมภีร์ (อะห์ลุอัล กิตาบ) มาจนถึงปี ค.ศ. 682

   

      ณ เวลานี้เองที่ เชค คอลิด บุตร อับดุลลอฮ์ เดินทางมาถึงอัฟกานิสถาน และท่านได้เทศนาเชิญชวน บนี อิสราอีล แห่งอัฟกานิสถานนี้ ให้เข้ารับอิสลาม ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ในขณะที่ชาวปาทานอื่น ๆ ที่มิได้อ้างเชื้อสายมาจาก ชาวอิสราเอล เช่น กลุ่มชาติพันธุ์อารยัน หรือ อินโด - ยูโรเปียน อื่น ๆ ได้รับแสงสว่างและทางนำของอิสลาม ตั้งแต่สมัยท่าน อุษมาน บิน อัฟฟานฯ ผู้ได้อนุญาตให้ อับดุล - เราะห์มาน บุตร สมุเราะห์ ข้าหลวงเมืองบัสรา แคว้นอิรัค นำกองทัพไปพิชิตซิจิสตาน ซึ่งในครั้งนั้น อับดุล - เราะห์มาน บุตร สมุเราะห์ สามารถยึดซารันญ์ หรือ ซาฮิดานในปัจจุบัน (Kersten, 1983: 64)
      
      แนวคิดของเบอร์เนส มีข้อน่าสังเกตและน่าสนใจในประเด็นที่ว่า บรรพบุรุษของชนชาติปาทาน รับนับถือศาสนาอิสลามอย่างสันติด้วยความสมัครใจ และด้วยความศรัทธา จากการเชิญชวนของบุคคล นั่นคือ เชค คอลิด แนวคิดหรือทฤษฎีการรับอิสลามของชนชาติต่าง ๆ ผ่านมือของศรัทธาชนผู้เคร่งครัด อย่าง เชค คอลิด ผู้นี้ ยังมีอีกมากและมิใช่แนวคิดใหม่ หรือเป็นการนำเสนอทฤษฎีการขยายตัวอิสลามโดยไร้ความรุนแรง เพื่อลดภาพพจน์เดิม ๆ ที่ผู้คนมักนึกถึงการแผ่ขยายของศาสนาอิสลาม เพียงแต่อาจเป็นปรากฏการณ์และพัฒนาการของศาสนาอิสลาม ที่นักวิชาการทั้งมุสลิม และผู้มิใช่มุสลิมให้ความสำคัญน้อยกว่าปรากฏการณ์และพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ อย่างเช่น รัฐศาสตร์


      สรุป
      
      การรับนับถือศาสนาอิสลามของชนชาติปาทาน จึงอาจสรุปได้ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

   
      

         1. ความผูกพันทางสายเลือดและชาติพันธุ์ที่ชาวปาทานส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของชาวอิสราเอล พวกเขาจึงเป็น อะห์ลุ อัล กิตาบ หรือ ชาวพระคัมภีร์ และพวกเขาควรศรัทธาต่อศาสดา นบี มุฮัมมัด ในฐานะศาสดาท่านสุดท้ายที่พระคัมภีร์ต่าง ๆ ของชาวอิสราเอลโบราณระบุไว้ว่าท่านจะมาปรากฏในภายภาคหน้า
         
         2. ความผูกพันทางสายเลือดและชาติพันธุ์ ที่ชาวปาทานส่วนหนึ่งเชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากหลาน ๆ ของท่านศาสดา นบี มุฮัมมัด หรือจากสหายและสาวก (เศาะฮาบะฮ์) ของท่านศาสดาหรือแม้แต่จากชาวอาหรับ ก็ทำให้พวกเขาไม่รีรอที่จะรับนับถือศาสนา ที่ศาสดาเป็นชาวอาหรับและพระคัมภีร์เป็นภาษาอาหรับ
         
         3. บทบาทของผู้นำศาสนา หรือบุคคลผู้มีความเคร่งครัดในศาสนา ดังตัวอย่างของ เชค คอลิด ที่ทำให้ชาวปาทานพากันรับนับถือศาสนาอิสลามด้วยศรัทธาและความพึงพอใจ

   
   

      บรรณานุกรม

   

      Kersten, H. (1983). Jesus Lived in India. Munich: Langen Muller.
      
      Romodin, V. A. (1985). A History of Afghanistan. Moscow: Progress Publishing .
      
      The Encyclopaedia of Islam. (1987). "Afghanistan". Vol. 1. Leyden: E.J.Brill.


      credit

      นำมาจาก

http://www.duangden.com/PhilosophyReligious/Islam.html


ความคิดเห็น