ซินเดอเรลล่า เย่เชี่ยน ปลาบู่ทอง ความสัมพันธ์กันของนิทานทั้งสามในมุมมองของจีน
เรื่องราวของนิทานเรื่อง ซินเดอเรลลา ที่เป็นนิทานของชาวยุโรปแล้วก็ถูก วอลท์ ดิสนีย์ นำไปทำหนังการ์ตูนจนดังไปทั่วโลก ที่แท้เค้าโครงแบบเดียวกันนี้ก็มีการถูกเล่าขานมาในเมืองจีนเป็นเวลากว่าพันปีแล้ว ยาวนานกว่าที่สืบหลักฐานนิทานในยุโรปมาได้ซะอีก.
คนจีนสามารถสืบหลักฐานได้ว่า นิทานเรื่องรองเท้าคู่น้อยของเย่เชียน อยู่คู่กับชาวจีนมานมนาน เรื่องราวก็แทบไม่ได้แตกต่างจาก ซินเดอเรลลา สักเท่าไร เย่เชียน เป็นหญิงสาวที่บิดาเสียชีวิตและต้องอยู่กับแม่เลี้ยงและพี่สาวต่างแม่ที่คอยกดขี่ข่มเหง พึ่งพาใครไม่ได้มีแต่ปลาตัวหนึ่งที่เป็นเพื่อน แต่ก็ถูกแม่เลี้ยงใจร้ายจับปลาไปฆ่าทิ้งซะอีก.
เย่เชี่ยน เสียใจมากนำเอาซากปลามาเก็บไว้ แต่ปลานั้นกลับเป็นปลาเทวดาที่ดลบันดาลให้เย่เชี่ยนได้แต่งตัวสวยงามไปร่วมงานชุมนุมหาคู่ของหนุ่มสาว แต่บังเอิญไปพบกับแม่เลี้ยงและพี่สาวในงานจึงต้องวิ่งหนีออกจากงาน และทิ้งรองเท้าไหมที่เล็กกว่าปกติไว้ในงาน.
ต่อมามีคนเก็บรองเท้านั้นไปให้เจ้าชาย เจ้าชายได้ยินกิติศัพท์เจ้าของรองเท้าจึงประกาศตามหาเจ้าของด้วยการนำรองเท้าใบน้อยไปสวมหาเจ้าของ ในที่สุดเย่เชี่ยนก็ได้แต่งงานอยู่กินกับเจ้าชายอย่างมีความสุข.
ส่วนนิทานซินเดอเรลล่า สร้างแรงบันดาลใจให้กับสาว ๆ ชาวบ้านทั้งหลายในยุโรปที่คิดฝันจะแต่งงานกับเจ้าชาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในยุโรปโบราณนั้น ระบบชนชั้นนั้นเข้มแข็งมาก ชนชั้นกษัตริย์จะแต่งงานกับวงษ์กษัตริย์ด้วยกันเท่านั้น ก็เลยมีการดองกันไขว้กันไปมาเต็มไปหมดในชาติต่าง ๆ ของยุโรป.
แต่ในจีน เรื่องราวของเย่เชี่ยน กลับเป็นแรงบันดาลใจให้สาวจีนคิดว่า ผู้หญิงสวยคือผู้หญิงที่เท้าเล็กเหมือนเย่เชียน ก็เลยทรมาณตัวเองมัดเท้าเพื่อให้ใส่รองเท้าคู่น้อยได้.
คนจีนผูกพันกับนิทานเรื่องนี้มากขนาดนี้ แต่ทว่าเมื่อสืบต้นตอของนิทานเรื่องนี้จริง ๆ เขาพบว่า ผู้หญิงจีนที่ชื่อเย่เชียน นั้นหามีไม่ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อของสาวจีนและจีนไม่มีงานเลี้ยงให้หนุ่มสาวพบปะกัน นิทานเรื่องนี้คนจีนไปนำมาจากนิทานของชาวจ้วง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ ซึ่งมีประเพณีงานเลี้ยงพบปะจับคู่ของหญิงสาวและชายหนุ่มอยู่จริง ๆ และเชื่อกันว่า เย่เชียน นั้นมีตัวตนอยู่จริง.
ชาวจีนเชื่อว่า ชาวยุโรปน่าจะนำนิทานนี้ผ่านไปกับเส้นทางสายไหม จนกลายเป็นนิทานพื้นบ้านของชาวอิตาลี แต่ก็ได้มีการตัดเรื่องการเลี้ยงปลาของออกไป เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของนางฟ้าประจำตัวของซินเดอร์เรลล่าแทน รองเท้าผ้าไหมก็เปลี่ยนเป็นรองเท้าแก้ว.
แต่เรื่องราวของเย่เชียน ก็มีคล้าย ๆ กันในนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องปลาบู่ทอง เรื่องของปลานั้นยังอยู่ แต่ปลาตัวนั้นก็คือแม่ของนางเอกคือนางเอื้อย และเรื่องราวก็ไม่ได้จบแค่การรับเอื้อยเข้าไปเป็นพระชายา.
อาจเป็นได้ว่า ไทยเรารับเอาเรื่องราวของเย่เชี่ยนมา หลายคนคงคิดว่าก็มาจากนิทานของจีนน่ะสิไม่ต้องคิดมากเลย แต่นิทานเรื่องนี้มีต้นตำหรับคือชาวจ้วง และชาวจ้วงนั้นไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นชนชาติหนึ่งในกลุ่มของชนชาติไทยโบราณนั่นเอง ดังนั้นนิทานเรื่องนี้อาจจะเป็นนิทานที่สืบขานกันในกลุ่มของชาวไทยเราเองมานานแล้ว.
ซินเดอเรลล่า เย่เชี่ยน ปลาบู่ทอง
นำมาจากผู้ใช้นามปากกา มิสกัน มูนปริ้นซ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น