เหตุการณ์กลุ่มราชนิกุลเมืองสายบุรี หนีราชภัยไปเมืองกลันตัน
บทความโดย รัศมินทร์ นิติธรรม
พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหาราชา มัตตาอับดุลวิบูลย์ขอบเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลมุฏฏอเล็บ) (ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th
หลังจากที่พระยาสายบุรี เติงกูอับดุลกอเดร์ (หนิละไม) ได้ถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หนิแปะ บุตรพระยาสายบุรี (หนิละไม) เป็นพระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหาราชา มัตตาอับดุลวิบูลย์ขอบเขตประเทศมลายู ผู้ว่าราชการเมืองสายบุรี ให้หนิปิน้องพระยาสายบุรี (หนิแปะ) เป็นพระรัตนมนตรี ผู้ช่วยราชการ และให้หนิอีตำ น้องพระรัตนมนตรี (หนิปิ) เป็นพระวิเศษวังศา ผู้ช่วยราชการเมืองสายบุรี
เมื่อพระยาสายบุรี (หนิแปะ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนั้น ได้ย้ายตำหนักจากบ้านยือรีงา (ยี่งอ) ไปสร้างตำหนักใหม่เรียกว่า “ตำหนักสะลิงดงบายู”ที่ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี
หลังจากเจ้าเมืองสายได้ย้ายตำหนักจากบ้านยือรีงาไปอยู่ที่ตำบลตะลุบัน ทำให้ชุมชนบ้านยือรีงาซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ดูแลและปกครองชุม ชนบ้านยือรีงาอีกต่อไป รัฐบาลสยามจึงได้แต่งตั้งนายนิกือจิ (นิการี) ชาวบ้านบูแม (ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๑ ตำบลยี่งอ จังหวัดนราธิวาส) เป็นผู้ดูแลชุมชนบ้านยือรีงา โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่กอง ได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นเศวกมาตย์ ซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่า “โต๊ะแม่กอง”
นายนิกือจิ (นิการี) หรือโต๊ะแม่กองหมื่นเศวกมาตย์ มีภรรยาชื่อนางนิปูเต๊ะ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนิบอซู ราชองครักษ์ของพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีฯ เจ้าเมืองสายบุรี (หนิแปะ) เดิมนิบอซูตั้งถิ่นฐานที่เมืองยือรีงา แต่ได้ติดตามเจ้าเมืองสายบุรีไปที่ตะลุบัน เมื่อคราวที่เจ้าเมืองย้ายตำหนัก โต๊ะแม่กองนิกือจิมีบุตรชายกับนางนิปูเต๊ะคนหนึ่งชื่อ นิแว นิกือจิ(ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อเป็นขุนละหารประชาเชษฐ์)
2.พระวิชิตภักดีศรีสุรวังษา รัตนาณาเขตประเทศราช (เต็งกู อับดุลกาเดร์) สวมหมวกซอเก๊าะสีดำ (ที่มา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตติมา ระเด่นอาหมัด)
3.พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา (เต็งกูเงาะซำซูดิน) เจ้าเมืองระแงะ (ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th
ในช่วงสมัยนั้นกรุงเทพฯ ได้ส่งพระยาสุขุมนัยวินิตมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี และพระยาสุขุมฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่ โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง
ในปี ค.ศ. ๑๙๐๐ เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ ๑๒.๕ เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม สร้างความไม่พอใจในหมู่เจ้าเมืองมลายูจนเกิดการต่อต้านรัฐบาลสยาม และนำไปสู่การจับกุมตัวเต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน เจ้าเมืองปัตตานี ในเช้าวันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) โดยพระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนำตัวมายังสงขลา และนำตัวมายังพิษณุโลกถูกพิพากษาจำคุก ๓ ปีในข้อหา "ขัดคำสั่ง" พระมหากษัตริย์สยาม
วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๔๕ พระยาสุขุมฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เดินทางไปจับกุมเติงกูเงาะห์ ซัมซูดิน เจ้าเมืองระแงะพร้อมบริวารรวม ๘ คน และในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเจ้าเมืองสายบุรี เติงกูอับดุลมุตตอเล็บก็ถูกจับกุมไปด้วย ทำให้หลังจากนั้นลูกหลานเจ้าเมืองสายบุรีรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จึงดำเนินการส่งลูกหลานเจ้าเมืองเพื่อลี้ภัยไปยังเมืองกลันตัน
บอซูเป็นหนึ่งในองครักษ์ในการคุ้มกันลูกหลานเจ้าเมืองสายบุรีเพื่อหนี ภัยไปอยู่ที่เมืองกลันตัน ในการเดินทางครั้งนั้นมีองครักษ์คอยคุ้มกันประมาณ ๕-๖ ท่าน และมีลูกหลานเจ้าเมืองประมาณ ๑๐ท่านร่วมไปในการเดินทาง
3.พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา (เต็งกูเงาะซำซูดิน) เจ้าเมืองระแงะ (ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th)
ในการเดินทางครั้งนั้น นิบอซูได้จับนายนิแวซึ่งเป็นบุตรของหมื่นเศวกมาตย์เป็นตัวประกันร่วมไปในการ เดินทางครั้งนั้นด้วย เนื่องจากหมื่นเศวกมาตย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสยาม เป็นผู้ที่ชำนาญเส้นทางไปยังเมืองกลันตัน รวมทั้งมีญาติพี่น้องตามรายทางตั้งแต่ระแงะ บ้านบองอ เจาะไอร้อง ตลอดจนถึงสุไหงปาดี เพราะท่านโต๊ะแม่กองเป็นคนดั้งเดิมมาจากบ้านแบนู(ยานิง) เจาะไอร้อง และการที่กลุ่มองครักษ์ของเจ้าเมืองสายบุรีจำเป็นต้องจับนายนิแวเป็นตัว ประกันก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโต๊ะแม่กอง (หมื่นเศวกมาตย์) จะไม่กล้าติดตามไปจับกุม
ช่วงที่กลุ่มราชนิกุลสายบุรีลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองกลันตันนั้น การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น อาหารการกินก็ตามมีตามเกิด บางครั้งเมื่อเจอชาวบ้าน ชาวบ้านก็เลี้ยงข้าว แต่ด้วยบารมีของลูกหลานเจ้าเมือง เมื่อพบชาวบ้านจะได้รับการต้อนรับอย่างดีตลอดทาง จนกระทั่งถึงบ้านโต๊ะระแว้ง ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างเมืองลือแฆะห์ (ระแงะ) กับเมืองกลันตัน พ้นเขตอิทธิพลของรัฐบาลสยาม
ในเวลานั้นหัวหน้าองครักษ์ผู้คุ้มกันคือนายนิบอซูเกิดไม่สบายกะทันหันและ อาการค่อนข้างหนัก จึงจำเป็นจะต้องพักที่บ้านโต๊ะระแว้ง (โต๊ะรือแว้ง) โต๊ะระแว้งเป็นคนที่อพยพมาจากบ้านรือแว้ง (อยู่ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่
บ้านโต๊ะรือแว้งเป็นท่าเรือที่ส่งสินค้าไปยังบ้านโต๊ะโม๊ะ (เหมืองทอง) ที่นี่จึงมีความเจริญพอสมควร นิบอซูรักษาตัวอยู่ที่บ้านโต๊ะระแว้งหลายวันแต่อาการไม่ดีขึ้น บรรดาลูกหลานเจ้าเมืองจึงจำต้องทิ้งให้นิบอซูอยู่ที่นี่เพื่อพักรักษาอาการ ป่วย และกลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีได้เดินทางต่อไปเพื่อข้ามฝั่งแม่น้ำไปยัง เมืองกลันตัน
หลังจากที่รักษาอาการป่วยอยู่นานจนกระทั่งหายดีแล้ว นิบอซูก็ไม่ได้ติดตามกลุ่มราชนิกุลสายบุรีไปยังเมืองกลันตัน แต่ได้ตั้งรกรากและมีครอบครัวอยู่ที่อำเภอแว้ง โดยแต่งงานกับหญิงสาวที่นั่นและมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ชื่อนายนิแฮ บิน นิบอซู
ทางด้านนิแวซึ่งเป็นตัวประกันในกลุ่มราชนิกุลสายบุรีนั้น เมื่อไม่มีนิบอซูผู้เป็นญาติสนิทร่วมเดินทางไปด้วยก็ไม่มีความมั่นใจในความ ปลอดภัยของตนอีกต่อไป และในคืนนั้นเอง เมื่อทุกคนนอนหลับสนิท เหลือเพียงแต่ยามที่เฝ้า นายนิแวจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากกลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีไปตายเอาดาบ หน้า โดยหนีไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ทิศเหนือหรือทิศใต้ไปตามเส้นทางเกวียนในป่า จนกระทั่งเช้า กลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีจึงได้ทราบข่าวการหายตัวของนิแว แต่ก็ไม่ได้ออกติดตาม เนื่องจากทุกคนอยู่ในสภาพอ่อนล้าและพ้นเขตอิทธิพลของสยามแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีตัวประกันอีก กลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีได้เดินทางมุ่งหน้าต่อไปยังหมู่บ้านปาเซปู เต๊ะซึ่งอยู่ที่เมืองกลันตัน และได้ตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ได้กลับมาที่เมืองสายบุรีอีกเลย
รัศมินทร์ นิติธรรม
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
หมายเหตุจากผู้อ่าน :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕)
ที่มา
http://lek-prapai.org/watch.php?id=960
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น